เบื้องหลัง ‘DARK HUMOUR’ หนังสือที่หยิบความดาร์กในชีวิตมาวาดผ่านแก๊กตลกร้ายของ นิค ขายหัวเราะ

หากใครเป็นแฟนการ์ตูน ขายหัวเราะ อยู่แล้ว เชื่อว่าเมื่อเห็นแก๊กตลกร้าย ประชดประชัน เสียดสี แสบๆ คันๆ คงนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจาก ‘นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์’ หรือ ‘นิค ขายหัวเราะ’ เจ้าพ่อเเก๊กการ์ตูนดาร์กที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี

ตลอดเวลาที่ผ่านมา นิคได้สร้างสรรค์ผลงานมากมายและมอบเสียงหัวเราะให้กับทุกคนเสมอมา เรียกได้ว่าแฟนการ์ตูนหลายๆ คนเติบโตมาพร้อมกับเขา จากเด็กต่างจังหวัดที่ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนของบรรลือสาส์นจนกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้เขาหลงรักการวาดรูป เริ่มจากการเขียนการ์ตูนการเมือง การ์ตูนเล่มละบาท ตลอดจนตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเป็นนักเขียนการ์ตูน ขายหัวเราะ ใครจะไปคิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในวันนั้นทำให้เขาอยู่กับอาชีพนี้มานานกว่า 40 ปี และยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยฤกษ์งามยามดีในวาระที่ ขายหัวเราะ กำลังจะครบรอบ 50 ปี จึงได้รวบรวมคอลเลกชั่นผลงานการ์ตูนทั้งเก่าและใหม่ของนิคมาทำเป็นหนังสือ ‘DARK HUMOUR’ ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์เฉพาะตัวของเขาให้ทุกคนได้เก็บสะสมกัน ความน่าสนใจคือเนื้อหาและบทสนทนานิคเขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งเล่ม

เราจึงอยากชวนเขามาพูดคุยถึงเบื้องหลังของหนังสือเล่มน้ี รวมไปถึงการเดินทางอันยาวนานบนเส้นทางอาชีพวาดการ์ตูนของเขาด้วยเช่นกัน

CHAPTER 1 : ก่อนจากมาเป็นนิค (ขายหัวเราะ)

แก๊กตลกในมุมมองที่แปลกแตกต่าง เล่นกับจิตใต้สำนึกของคนบนลายเส้นง่ายๆ ตัวการ์ตูนนิครูปร่างอ้วน พูดจาจัดจ้าน ประชดประชัน รวมถึงบุคลิกกวนๆ มีมักจะพบเจอเหตุการณ์วุ่นวายตลอดเวลาที่เราเห็นใน ขายหัวเราะ ดูขัดแย้งกับตัวจริงของเขาที่ดูภายนอกเป็นเพียงผู้ชายเรียบร้อย พูดน้อย และดูใจดีคนหนึ่ง

“ตัวการ์ตูนนิคกับชีวิตจริงต่างกันเยอะ ในตัวการ์ตูนจะทำนั่นทำนี่ตลอดเวลา ไปเจอเหตุการณ์ไม่หยุดหย่อน แต่ตัวจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ตัวจริงไม่ค่อยได้ไปไหน ตัวการ์ตูนพูดมาก บื้อ แต่ตัวจริงไม่ค่อยพูด คนก็คิดว่าครอบครัวเป็นแบบในการ์ตูน ซึ่งในความจริงก็ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย เมคขึ้นมาทั้งนั้น แต่ก็ภูมิใจว่าเมคขึ้นมาแล้วคนสามารถอินตาม รู้สึกว่าตัวการ์ตูนเหล่านี้เป็นเพื่อน มีชีวิตอยู่จริงๆ”

ด้วยความที่นิคเติบโตมาในจังหวัดนครราชสีมา ในยุคสมัยที่ความบันเทิงของเด็กตามต่างจังหวัดนั้นมีไม่กี่อย่าง สำหรับเด็กชายนิคคือหนังสือการ์ตูนของบรรลือสาส์น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชื่นชอบการวาดรูปมาตั้งแต่ตอนนั้น 

“ผมเป็นคนชอบวาดรูป การชอบวาดรูปสำหรับผมไม่ได้แยกว่าเป็นการ์ตูนรูปแบบไหนหรือเป็นงานศิลปะอะไร ด้วยความที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ตอนนั้นก็มีหนังสือจากสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นเนี่ยแหละที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัด ยุคนั้นเราอ่านของลุงพ.บางพลี แล้วก็รู้สึกทำไมมันสนุกอย่างนี้ จำได้ว่าเริ่มวาดรูปเล่นๆ ตั้งแต่ ป.3 ซื้อหนังสือการ์ตูนของบรรลือสาส์นมาดูว่าแบ่งช่องยังไงแล้วก็ลอกตามเป็นหน้าเลย วาดเสร็จก็ให้เพื่อนดู ทำให้หนังสือการ์ตูนเป็นงานวาดรูปแรกๆ ที่เราสัมผัสได้แล้วก็ชอบมัน ผมเริ่มจากตรงนั้น

“หลังจากเรียนศิลปะที่ราชภัฏโคราช ความสนใจก็แตกแขนงเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะด้วย ซึ่งการ์ตูนเป็นสิ่งที่ผมฝึกและชอบอยู่แล้ว แต่ก็ก้ำกึ่งกับงานศิลปะรูปแบบอื่น ตอนนั้นผมเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยเพราะต้องหาเงินเรียน ผมทำงานเขียนการ์ตูนการเมืองท้องถิ่น แล้วก็ทำงานเครื่องปั้นดินเผาที่ด่านเกวียน 

“นอกจากงานศิลปะแล้วผมดันไปชอบหนังด้วย เรียกว่าเป็นนักดูหนังเลย เรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตก็มาจากการชอบดูหนัง ตอนนั้นยังไม่มีช่องทางให้ได้ทำอะไรสักเท่าไหร่ เราเขียนการ์ตูนได้ก็ต้องลุยเขียนการ์ตูนก่อน แต่พอเขียนการ์ตูนแล้วมันยาว มีรายได้ใช้ชีวิตก็มาจากการเขียนการ์ตูนที่หล่อเลี้ยงตัวเอง”

CHAPTER 2 : จากการ์ตูนใสๆ สู่การ์ตูนสายดาร์ก

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่า แก๊กของนิคจะมีความตลกร้าย ประชดประชัน และจะตบท้ายด้วยการฉีกออกไปแบบเดาทางไม่ถูกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร 

“ก่อนหน้านี้ผมเขียนด้านเพื่อชีวิตมาก่อน หลังจากนั้นก็หันมาเขียนการ์ตูนตลก พอเป็นอาชีพก็คิดอยู่อย่างหนึ่งว่า เขียนอะไรก็ได้ที่มันตลก สามารถเอามาเป็นตลกได้หมดทุกอย่าง เอามาดัด ตบมุก ผูกมุมมองใหม่ หรือทแยงขึ้นไป มุมมองจากเด็กมองผู้ใหญ่ จากสัตว์มองคน จากคนต่างสถานะมองกันและกัน เขาจะมองภาพออกมาไม่เหมือนกัน ตรงจุดนี้เป็นวิธีที่คิดว่าอะไรก็ได้ที่เป็นตลกก็สามารถเอามาเขียนได้หมดทุกอย่าง

“ช่วงนั้นเราก็เขียนสะสมต้นฉบับไว้เยอะมากแล้วก็เข้ามาเสนอสำนักพิมพ์ในกรุงเทพฯ ตอนนั้นก็เป็นการ์ตูนเล่มละบาท ส่งอยู่สองสามครั้งถึงจะผ่านได้เป็นนักเขียน แต่ก็ยังกลับไปใช้ชีวิตและไปเรียนต่อ จนกระทั่งช่วงหนึ่งก็ถึงเวลาที่ต้องเข้ากรุงเทพมาทำงานอย่างจริงจัง แต่ก็ยังส่งการ์ตูนเล่มละบาทต่อเนื่องไป”

หลังจากที่เขาเขียนการ์ตูนเล่มละบาทจนประสบความสำเร็จแล้ว ก็ได้เริ่มเอาจริงเอาจังกับการเขียนการ์ตูนตลก เป็นเวลาถึงสองปีที่เขานำงานมาเสนอกับ ขายหัวเราะ แล้วไม่ผ่าน แต่นิคก็ไม่ย่อท้อที่จะฝึกฝนลายเส้นของตัวเองอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดเขาก็ได้ร่วมงานกับขายหัวเราะและทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้   

“หลังจากเราเขียนเล่มละบาทรอดแล้ว คราวนี้ก้าวขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่งที่เราชอบก็คือการ์ตูนตลก ตอนนั้นหนังสือ ขายหัวเราะ ก็มีอยู่แล้วในท้องตลาด เราก็เลยมาเสนอกับ ขายหัวเราะ เสนอกับบก.วิธิตเนี่ยแหละ ปรากฏว่าก็ไม่ได้เพราะเรายังอ่อน ครั้งแรกมันยังไม่เป็นรูปแบบการ์ตูนที่สวยงาม ที่ชัดเจน       

“อย่างการ์ตูนเล่มละบาท ผมเขียนในแนวของนิยายภาพ คือคนมีรูปร่างสัดส่วนที่ตรงกัน อนาโตมี่ถูกต้องอะไรแบบนั้น แต่พอเป็นการ์ตูนมันต้องปรับ เด็กสมัยใหม่ถ้าต้องเขียนการ์ตูนก็ต้องเขียนการ์ตูนเลย แต่พอไปเขียนภาพที่เป็นนิยายภาพให้เหมือนจริงก็เขียนไม่ได้ แต่ของผมจะมาทางนั้นก่อนแล้วค่อยมาปรับเป็นการ์ตูนทีหลัง จะสังเกตเห็นว่าการ์ตูนของผมจะมีรูปร่าง มีสัดส่วน มีอนาโตมี่หน่อย ถ้าเขียนตัวคนยืนอยู่จะเอนยังไงก็รู้สึกได้ว่าเอนแต่ไม่ล้ม จะมีความเหมือนจริงเข้ามามีส่วนในการ์ตูนด้วย”

CHAPTER 3 : กว่าจะมาเป็น DARK HUMOUR

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้คือการรวบรวมงานทั้งเก่าและใหม่ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาทำเป็นหนังสือ โดยใช้คอนเซปต์ตลกร้ายที่เป็นอารมณ์ขันขั้นที่สองของมนุษย์ที่จะลึกไปกว่าอารมณ์ขันปกติ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในรูปแบบหนังสือการ์ตูน และ Stand-up Comedy โดยเฉพาะสังคมต่างประเทศ 

ภายในเล่มจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ โชคดีโชคร้าย หรือความจริงของชีวิตในสังคมที่ทุกคนต้องเผชิญ เขาย้ำว่าใครที่เป็นแฟนการ์ตูน ขายหัวเราะ อยู่แล้วก็จะได้เห็นเรื่องเล่าของเขาในมุมมองใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างแน่นอน

“สำหรับเรื่องนี้เป็นแก๊กทั่วไปในมุมที่ลึกลงไปอีก เป็นแนวที่มันดาร์กขึ้นมา มันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับสังคมอย่างเดียว จะเกี่ยวกับจิตใจของคนก็ได้ ถ้าคนที่ไปเจอสถานการณ์แบบนั้นจะคิดยังไง เป็นยังไงก็เอามาเขียน ถ้าเป็นแนวเรื่องสั้นจะเกี่ยวกับจิตใจด้านมืดของคนมากกว่า เพียงแต่ว่าเอาเหตุการณ์เข้าไปผสมให้เรื่องมันเดินต่อไปได้”

นอกจากการวาดการ์ตูนที่ใส่ใจในทุกหน้าแล้ว เขายังเขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งเล่ม แต่หนึ่งส่ิงที่สะดุดตาเราที่สุดคงหนีไม่พ้นการใช้สีที่มีความสดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งเขานับเป็นคนแรกๆ ที่บุกเบิกการวาดรูปด้วยสีผสมอาหาร เราสงสัยว่าเขามีเทคนิคยังไงบ้าง

“บางทีผมเขียนไปคนดูไม่รู้เลยว่าใช้สีอะไร ผมใช้สีหมึกตราม้าสำหรับให้ความเรียบแล้วก็แต่งด้วยสีไม้อีกที แต่สีพื้นจะใช้สีผสมอาหารก่อนเพื่อเวลาแต่งด้วยสีน้ำแล้วมันจะได้ไม่เห็นความขาวของกระดาษ

“การใช้สีผสมอาหารมันจะให้ความสด ถ้าระบายชำนาญแล้วจะสามารถเกลี่ยให้เนียนได้ แต่อย่าไปผสมสีกันเพราะจะเกลี่ยไม่ได้ ตอนแรกผมใช้สีย้อมเสื่อด้วยซ้ำไป ตอนหลังมีสีเป็นขวดก็สะดวกขึ้น สีน้ำยังให้ความสดเท่านี้ไม่ได้เลย แล้วมันใช้กับงานพิมพ์ได้ดีด้วย เพียงแต่ว่าถ้ามันถูกแสงนานๆ มันจะซีดลง ความคงทนไม่เท่าสีน้ำ 

ระหว่างนั้นเขาหยิบหนังสือขึ้นมาพลิกดูทีละหน้าแล้วอธิบายต่อ

“หลายสิบปีก่อนลายมือผมก็ไม่ได้เป็นแบบนี้หรอก แต่คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด เราก็เลยคิดถึงลายมือด้วย ก็เลยมาฝึกเพราะเราไม่อยากเอาเปรียบคนอ่าน ขนาดแบล็กกราวผมก็ต้องวาดใส่เพราะอยากให้มันสมบูรณ์”

“วาดรูปมานานขนาดนี้ คุณเห็นพัฒนาการลายเส้นของตัวเองยังไงบ้าง”

“สำหรับผมคิดว่าตัวเองพัฒนาช้า เพราะเริ่มมาจากเขียนแนวเหมือนจริง เขียนไปเรื่อยๆ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะตัดทอน เรียนรู้ว่าเราก็สามารถเขียนแนวที่ไม่ต้องลงรายละเอียดขนาดนั้นก็ได้ ดีไซน์ให้มันน่ารักด้วยก็ได้ การ์ตูนไม่ต้องมีอนาโตมี่ก็ได้ ซึ่งการพัฒนานี่ไปแบบไม่รู้ตัวเลย อาจจะเป็นเพราะว่าเราเขียนใน ขายหัวเราะ เยอะด้วย อย่างการ์ตูนสามช่องเขียนเต็มตัวมันก็ยาวหัวชนฝา เราจะทำยังไงให้มันสั้นลง ก็ดีไซน์ให้มันสั้นลงหน่อยวาดเป็นตัวป้อมๆ มันก็ขยับของมันมาเองเรื่อยๆ”

CHAPTER 4 : เมื่อมุกตลกเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แน่นอนว่ามุกตลกหรืออารมณ์ขันของคนก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ด้วยความที่นิคยึดอาชีพนักวาดการ์ตูนใน ขายหัวเราะ มาหลายสิบปี เราจึงอยากรู้เขาเห็นความนิยมมุกตลกของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง 

“ผมว่ามันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนะ พอเป็นยุคสมัยใหม่ความรู้สึกขำก็เปลี่ยนไป ยุคสมัยนี้บางทีแตะอะไรนิดนึงเขาก็รู้สึกขำแล้ว แต่พอเราดูก็รู้สึกว่ามุขนี้มันตื้นเหลือเกิน มันขำได้แหละแต่ก็ไม่ถึงขนาดต้องหัวเราะ แล้วความขำเขาออกมาในแนวแบบลักษณะของบุคคลมากกว่า บุคคลนี้ก๋ากั่น เป็นเด็กผู้หญิงที่ไม่ค่อยเรียบร้อย ซึ่งสมัยก่อนรูปแบบการนำเสนอมันคนละอย่างกัน”

“คุณคิดว่าคนสมัยใหม่เส้นตื้นหรือเส้นลึกมากกว่ากัน” เราถามชวนเขาคิดต่อ

“ผมคิดว่าคนสมัยใหม่มีการศึกษาก็น่าจะเส้นลึกมากขึ้น เพราะว่าเรียนรู้สังคมได้มากขึ้น แต่สังคมสมัยนี้รู้สึกว่าช่องว่างมันห่างเยอะ ช่องว่างคือคนจนก็จนเหลือเกิน คนรวยก็ถีบตัวรวยขึ้นมา จะรวยด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ คราวนี้การมองตลกของเขาก็ไม่เหมือนกัน การมองความสบายใจของเขาก็ไม่เหมือนกัน บางทีการกินเหล้าสำหรับคนในสังคมนึงคือการหาความสบายใจ การแก้ปัญหา แต่อีกสังคมนึงบอกว่า เฮ้ยไม่ใช่ กระจอก ทำตัวไม่ดีเอง ความสบายใจคือต้องมีเงินเพื่อจะไขว่คว้าหาอะไรก็ได้ให้ลูกหลาน อย่างนี้มันมองต่างกัน”

“พอมุกตลกเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีประเด็นเรื่องอะไรที่เราต้องระวังเป็นพิเศษมั้ย” 

“อย่างแก๊กที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ต้องระวังมากขึ้น เพราะว่ายุคนี้การมองแบบนี้จะเป็นดราม่ากันได้ หรือเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การมองเรื่องงานกับผู้หญิงอะไรแบบนี้ อย่างเมื่อก่อนพ่อบ้านมีเมียน้อย เมียหลวงต้องตามตีเกิดเป็นปัญหาอะไร ยุคสมัยนี้แบบนี้ไม่ได้ เราต้องเอามุมมองใหม่ใส่เข้าไป 

“ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะมีคนส่งจดหมายมาเตือนบ้าง อย่างเช่น เรื่องการลบหลู่ ซูเปอร์แมนบินผ่านเจดีย์ผ้าคลุมหลังไปเกี่ยวกับเจดีย์ก็ไม่ได้ จะต้องมีฝ่ายศาสนาเข้ามาบอกอย่างนี้ๆ นะ นี่มันเป็นแก๊กตลกที่สากล ซูเปอร์แมนของฝรั่งก็ยังรับไม่ได้ เมื่อก่อนถ้ามีคนตอบจดหมายมา คนเห็นด้วยร้อยคน คนไม่เห็นด้วยคนสองคน ผมว่ายุคนี้ก็เป็นแบบนี้เหมือนกันแต่สมัยนี้มันได้ออกสื่อไง มันเกิดการถกเถียงในหมู่กว้างขึ้นมา แบบนี้มันบาปนะ ตกนรกนะ ไม่ต้องไปถึงขนาดนั้น จบตรงนี้ก็คือจบ เพราะเราทำงานเกี่ยวกับจิตใจเพื่อให้คนสนุกสนานในช่วงเวลาหนึ่งแค่นั้นเอง” 

CHAPTER 5  : พยายามคิดทุกอย่างเหมือนตอนเริ่มต้น

ถ้านับตั้งแต่การ์ตูนเล่มละบาทจนถึงตอนนี้เขาเขียนการ์ตูนมายาวนานกว่า 40 ปี ลายเส้นของนิคพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยการกลายเป็นหนึ่งในลายเซ็นของขายหัวเราะ วัดได้จากจำนวนแก๊กที่เขาเขียนมานับไม่ถ้วน เราสงสัยว่าเขาเคยมีช่วงที่ตันบ้างไหม

“เคยครับ แล้วก็คิดว่าทุกคนก็ต้องเคย ในชีวิตก็ตันหลายครั้งด้วยแต่มันไม่ได้อยู่ยาว มันจะมาเป็นช่วงๆ ซึ่งเราไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยให้ผ่านไปไม่เกินวันสองวันก็จะค่อยๆ คิดออกมาได้เอง ตอนคิดมุกคิดแก๊กอะไรต่างๆ มันก็มีทั้งตันแล้วก็ไหลลื่น มันผสมกันอยู่ในช่วงชีวิต ซึ่งเราสามารถจัดสรรได้ว่าช่วงนี้งานกำลังดีนะ มันก็ไหลลื่นออกมาได้ดี ถ้าช่วงตันก็ไม่ปล่อยให้มันตันนาน” 

“แล้วคุณเคยคิดอยากเลิกวาดการ์ตูนไปทำอย่างอื่นบ้างมั้ย” เราถามด้วยความสงสัย

“พอดีผมทำงานไม่มากแห่ง ผมเข้า ขายหัวเราะ แล้วก็อยู่ยาวเลย เพื่อนหรือใครก็ตามที่มาถึงอายุเท่านี้มักจะบอกว่าเกษียณกันได้แล้ว แต่ผมไม่มีความคิดแบบนั้นแล้วก็จะไม่คิดแบบนั้น ผมคิดว่าอยากทำไปเรื่อยๆ ไม่กลัวว่าแก่แล้วจะตกยุค ทำอะไรไม่ทันสมัย ไม่ล้ำสมัย ผมพยายามคิดทุกอย่างเหมือนตอนเริ่มต้น ไม่ว่าจะเขียนการ์ตูน หรือทำตัวเองให้รู้สึกเหมือนช่วงเริ่มต้นเขียนใหม่ๆ มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา เมื่อก่อนเราคิดยังไงก็พยายามบอกตัวเองให้คิดแบบนั้น 

“ความคิดที่ว่าพอแล้วนะชีวิตไม่ต้องไปอะไรปล่อยว่างได้แล้ว บางอย่างมันก็เป็นแบบนั้น แต่สำหรับเรื่องการทำงานเราจะไม่คิดแบบนั้นเลย เราจะคิดว่ายังอยู่ในวัยทำงาน ยังมีความเป็นหนุ่มอยู่ตลอดอะไรอย่างนี้ ผมไม่มีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ เรื่องเครียดหรืออะไร ปัญหาอย่างเดียวก็คือทำยังไงให้เราคิดการ์ตูนตลกไปได้เรื่อยๆ ซึ่งมันก็ไม่เป็นปัญหาอีกนะ มันก็ขยับไปทีละขั้นสามารถแก้ไขได้ ถึงมีปัญหาสักแป๊บเดี๋ยวมันก็ไปได้ เราไม่เอามันมาเป็นปัญหาเลย

CHAPTER 6 : ความสุขในรูปแบบหนังสือ

ไม่เพียงมุกตลกที่เปลี่ยนไป แต่พฤติกรรมคนอ่านก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในยุคปัจจุบันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำให้การอ่านของเราสะดวกสบายมากขึ้น ถึงแม้ว่ารูปแบบการอ่านออนไลน์จะมีข้อดีมากมาย แต่สำหรับนิคและอีกหลายๆ คนที่ชื่นชอบการอ่านในรูปแบบหนังสือก็ยังมองว่าหนังสือเล่มช่วยสร้างประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีในการอ่านได้มากกว่า

“อ่านการ์ตูนในออนไลน์ คนอ่านก็อ่านแบบสั้นลง แล้วก็กระจายการอ่านเป็นรูปแบบอื่น จากที่ผมสังเกตดูการ์ตูนตลกพวกเขาก็ยังชอบนะ ยังอยู่ได้ตลอด แค่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นเอง

“ผมคิดว่าคนที่เคยซื้อ ขายหัวเราะ ในราคา 10 บาท 15 บาท อ่านจบทั้งเล่มแล้วเขาได้หัวเราะก๊ากผมว่าก็คุ้มแล้ว พอใจแล้วที่คนอ่านรู้สึกได้ขนาดนั้น จะให้คนพอใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ลักษณะการอ่านแบบหยิบขึ้นมาอ่านด้วยความใส่ใจ สนุกไปกับหนังสือ การอ่านในรูปนี้ที่มันขาดหายไป ผมคิดว่าคนพร้อมที่จะอ่านเยอะพอสมควร รูปแบบการอ่านหนังสือยังตอบโจทย์ได้ดีกว่า

“หนังสือเล่มนี้เป็นความภาคภูมิใจของผมมากๆ หวังว่าแฟนการ์ตูนรุ่นๆ เดียวกันหรือรุ่นที่เคยรู้จักกันมาดีอยู่แล้วก็จะได้อิ่มเอมกับการ์ตูนเล่มนี้ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่มาอ่านก็จะได้รู้ว่ามันมีการ์ตูนที่มีรูปแบบนี้ในประเทศไทยที่ผมคิดว่าดีอยากให้ลองศึกษา ลองอ่านกันดู ทุกวัยสามารถอ่านและมีความสุขกับเล่มนี้ได้ แก๊กทุกแก๊กที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ผมเขียนเองยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจเลย” เขาปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

สามารถสั่งซื้อหนังสือได้แล้วที่ store.minimore.com 

[คำเตือน : หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับผู้อ่านที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี และผู้มีภาวะซึมเศร้า เพราะมีเนื้อหาประกอบไปด้วยความรุนแรง การตายในรูปแบบต่างๆ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน]

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ