กระตุ้นโดพามีนไปกับเครื่องประดับผลึกน้ำตาล จาก ‘ประดับสุข’

คุณว่าน้ำตาลและเครื่องประดับมีอะไรที่เหมือนกัน

มองเผินๆ อาจดูไม่น่าใช่สิ่งที่มีจุดร่วมกันได้ สิ่งหนึ่งมีไว้รับประทาน อีกอย่างมีไว้ตกแต่งร่างกาย แต่ในแง่ความรู้สึกแล้ว สองสิ่งนี้กลับเชื่อมโยงกันด้วย ‘ความสุข’ ความสุขที่ได้ลิ้มรส และความสุขที่ได้มีไว้บนร่างกาย 

พูดถึงเครื่องประดับเรามักนึกถึงอัญมณีแวววาว ล้ำค่า แต่ ‘ประดับสุข’ แบรนด์เครื่องประดับผลึกน้ำตาลของ ฟ้า-วรวิกรานต์ คงพุฒิคุณ นักออกแบบเครื่องประดับ เชื่อว่าแม้ไม่ได้ทำจากวัสดุหายาก แต่ผลึกน้ำตาลก็สามารถถ่ายทอดความงามและมีความหมายในตัวเองได้เช่นกัน

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อินกับเครื่องประดับอาจมองว่าเป็นเพียงเครื่องเรือนที่ตกแต่งบนร่างกายเท่านั้น แต่สำหรับฟ้าเชื่อว่าเครื่องประดับเป็นเหมือนไอเทมที่ไม่ว่าจะใส่เมื่อไหร่ก็ทำให้เธอมีความสุข

ด้วยความชื่นชอบเครื่องประดับตั้งแต่เด็ก ทำให้ได้เรียนสิ่งชอบอย่างการออกแบบอัญมณีตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงโปรเจกต์ในการเรียนปริญญาโท ฟ้าหยิบเอาสิ่งที่เธอชอบทั้งสองอย่างนี้มาไว้ด้วยกัน นั่นคือการทำเครื่องประดับผลึกน้ำตาล

จุดเริ่มต้นของเครื่องประดับ ชิ้นนี้มาจากความรู้สึกไร้สุขช่วงกักตัวระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด ฟ้าจึงมองหาสิ่งที่พอจะเยียวยาใจเธอได้ขณะนั้น นั่นคือของหวานซึ่งเปี่ยมไปด้วยความสารแห่งความสุขที่เธอชอบนั่นเอง 

ประดับสุขเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการจัดแสดงในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีค (Chaingmai Design Week) จนเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ Pinkoi เว็บซื้อขายสินค้าดีไซน์ชื่อดังของเอเชีย ติดต่อให้ลงขายบนเว็บไซต์ที่มีผู้เยี่ยมชมจากทั่วโลก 

นอกจากความชื่นชอบของหวานแล้ว ความเป็นลูกอีสาน หลงรักละครอมฤตาลัย ก็กลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เกิดเป็นเครื่องประดับผลึกน้ำตาลแวววาว รูปร่างแปลกตาอย่างที่เราไม่ค่อยเห็นได้บ่อยๆ ด้วยความน่าสนใจ

จากผลึกน้ำตาลเล็กๆ กลายเป็นเครื่องประดับที่โดดเด่นท่ามกลางโลกของจิวเวลรี่วิบวับได้อย่างไร ตามเราไปคุยกับเจ้าของแบรนด์ประดับสุขพร้อมกัน

ถ้าเครื่องประดับชิ้นไหนอยู่บนร่างกาย แสดงว่าเราพึงพอใจ

ย้อนกลับไปเด็กหญิงฟ้าคือเด็กที่ถูกรายล้อมไปด้วยงานศิลปะ ทั้งในบ้านของอาจารย์สอนศิลปะ กิจกรรมยามว่างคือการร้อยลูกปัด ตั้งแต่ 3-4 ขวบ เมื่อโตขึ้นฟ้าก็เริ่มหลงใหลเรื่องราวเบื้องหลังเครื่องประดับแต่ละชิ้นที่มักแฝงมาด้วยพลังบางอย่าง อย่างเรื่องเวทย์มนต์หรือเรื่องราวมูเตลู แล้วลูกปัดกลมจิ๋วก็จุดประกายให้ฟ้าเลือกเรียนด้านการออกแบบจิวเวลรี่ 

“ตอนเด็กๆ เราชอบดูการ์ตูน ดูละคร จนประมาณป.2 เราเจอละครเรื่องอมฤตาลัย  เขาเป็นเหมือนคนปกครองเมืองที่ใส่ศิราภรณ์ มีเวทย์มนต์ แล้วเรารู้สึกว่าเขาสวย พอจากเรื่องนั้นเราก็ไปชอบแฮร์รี่พอตเตอร์ต่อ แล้วเราก็ชอบสังเกตการแต่งตัว โดยเฉพาะเครื่องประดับ มันก็อาจจะเป็นภาพจำที่ทำให้รู้สึกว่าเราจะชอบเครื่องประดับ และอะไรที่เกี่ยวกับเวทย์มนต์ สายมู ความเชื่อไปด้วย” 

“ช่วงม.ปลายที่จะต้องเลือกเรียน ตอนแรกจะเรียนสถาปัตย์ แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เลยเปลี่ยนเทอมสุดท้ายเลยว่าเรียนจิวเวลรี่ ในระหว่างเรียนก็รู้สึกโอเคมาก เลือกถูกมากเพราะว่ามันต่อยอดได้เรื่อยๆ เลย แบบที่เราชอบ”

“นอกจากเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน ของตกแต่งอื่นๆ หรือของเล็กๆ ที่มันเพิ่มสิ่งต่างๆ ให้น่าสนใจเราชอบหมดเลย” 

“เรามองว่าฐานะของเครื่องประดับ ถ้าเครื่องประดับชิ้นไหนอยู่บนร่างกาย แสดงว่าเราพึงพอใจที่จะให้มันอยู่บนร่างกาย มันก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความสุขเหมือนกัน เรามีแล้วเรามั่นใจ การที่ใครสักคนจะเลือกสิ่งต่างๆ ให้ตัวเองมันต้องเลือกจากความชอบ มันต้องมีความสุขอยู่แล้ว จนทำให้เราอยากจะตกแต่งลงไป”

เครื่องประดับที่ทำให้มีความสุขจึงกลายเป็นตัวตนของฟ้า และถ่ายทอดออกมาทุกครั้งกับเครื่องประดับที่เธอออกแบบ เช่นเดียวกับเครื่องประดับจากผลึกน้ำตาลที่ฟ้าทำขึ้นในช่วงที่เรียนปริญญาโทในสาขาการออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

“ที่มาของชื่อเกิดจากเรานิยามตัววัสดุผลึกน้ำตาลว่ามันคือความสุข แล้วเราทำเครื่องประดับด้วย เลยกลายเป็นชื่อประดับสุข”

หากจำได้ช่วงโควิดนอกจากจะเป็นวิกฤตที่ทำให้วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว หลายๆ นวัตกรรมก็เกิดขึ้นช่วงนี้ด้วย ฟ้าได้รับโจทย์ให้ออกแบบ ‘เครื่องประดับในยุคโควิด-19’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เธอเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับการทำเครื่องประดับผลึกตาล 

“ตอนแรกเราก็ยังไม่คิดไม่ออก เราเลยมาปรึกษากับที่บ้านว่าจะทำเรื่องอะไร แล้วเขาก็พูดขึ้นว่าเราชอบกินของหวานนี่ เราก็เลยมาสังเกตตัวเองว่าช่วงโควิด เวลาที่เครียดเรามักจะหยิบของหวานมากิน ก็เลยมานั่งคิดต่อว่า สิ่งที่ทำให้ของสิ่งนั้นหวานคือตัวน้ำตาล เลยปิ๊งไอเดียจากตรงนั้นเลย  ต่อมาเราก็ค้นข้อมูลว่าน้ำตาลมันมีแบบไหนบ้าง จากนั้นเราก็ลองเอาน้ำตาลไปทดลองดูสิว่ามันจะออกมารูปแบบไหน จะคงทนไหม”

“แล้วน้ำตาลเชื่อมโยงกับความสุขด้วย ตอนที่เราศึกษาเราเจอว่าช่วงที่เรากิน ของหวานมันกระตุ้นการหลั่งของสารโดพามีนซึ่งทำให้เราความสุข เราเลยเลือกใช้ผลึกน้ำตาล เพราะมันเหมือนกับการระลึกถึงความสุขในช่วงโควิดที่ผู้คนมีความเครียดได้เหมือนกัน”

น้ำตาลเป็นวัสดุที่เราคาดเดาไม่ได้ 

ฟ้าเล่าว่าเครื่องประดับทุกชิ้นมีความหมายในตัวเอง ไม่ว่าชิ้นนั้นจะทำจากวัสดุใดก็ตาม แต่สิ่งที่ฟ้าให้ความสำคัญคือเครื่องประดับที่สามารถดึงบุคลิกของผู้สวมใส่ออกมาได้

“แบรนด์เราส่วนใหญ่เครื่องประดับต้องดึงดูดคนที่มีบุคลิกหรือความชอบที่คล้ายๆ กัน จากแนวคิดของเครื่องประดับชิ้นนั้น เช่นคนอาจจะชอบความหมายของอัญมณีสีแดง อย่างทับทิม ที่เกี่ยวกับความรักหรือมิตรภาพ ในขณะที่น้ำตาลของเรา มันสื่อถึงความสุข ซึ่งมันก็เป็นทางเลือกให้กับหลายๆ คนได้”

แม้เครื่องประดับผลึกน้ำตาลจะมีความหมายที่ดี แต่ฟ้าบอกว่ากว่าจะได้งานสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย การทำเครื่องประดับจากผลึกน้ำตาลเป็นครั้งแรกทำให้ฟ้าต้องศึกษาระหว่างทางเพิ่มเติม ต่างจากการออกแบบเครื่องประดับที่มีวัสดุที่มีอยู่ตามท้องตลาดอยู่แล้ว

“กระบวนการทำเราว่ามันยากหมดนะ มันต้องใช้คำว่าอดทนและสม่ำเสมอกับทุกๆ อย่างอยู่แล้ว แต่น้ำตาลมันเป็นวัสดุที่เราคาดเดาไม่ได้ บางทีมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ เราเลยต้องทำมากกว่าปกติ เพราะต้องมาคัดเลือกเองว่ามันจะตรงตามแบบที่เราจะเอาออกตลาดไหม ความยากมันเลยต่างจากจิวเวลรี่ที่ทำจากโลหะหรืออัญมณี”

วิธีการทำเครื่องประดับผลึกน้ำตาลจะเรียบง่าย แต่ก็ต้องใช้ความอดทนทุกขั้นตอน เริ่มจากการออกแบบตัวดักผลึก ซึ่งทำจากลวดและลูกปัด จุ่มลงไปในน้ำที่ผสมน้ำตาลแล้ว เพื่อทำให้น้ำตาลมาเกาะตัวดัก ผลที่ได้คือน้ำตาลจะค่อยๆ มาจับที่ตัวดักผลึกและแผ่ขยายออกเป็นรูปทรงต่างๆ ก่อนนำไปเคลือบเพื่อให้มีความคงทน 

“เราทำให้น้ำตาลมาเกาะที่ตัวดักผลึกได้ แต่เราไม่สามารถควบคุมเหลี่ยมมุมของน้ำตาลได้ อย่างเช่นเราเอาลูกปัดจุ่มลงไป น้ำตาลจะดักกับลูกปัด แต่เราจะไม่เห็นลูกปัดตัวนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นตัวดักมันเลยไม่สำคัญเท่ากับเหลี่ยมมุมของผลึกที่แตกต่างกัน ”

“อย่างงานเรา เซ็ตนี้ตัวดักเหมือนกันหมดเลย” ฟ้าเล่าพลางชี้งานที่เธอนำมาด้วยในวันนี้ให้เราดู  “แต่เหลี่ยมมุมไม่เหมือนกันสักอัน แล้วจำนวนของวันก็ให้ผลึกที่ต่างกันด้วย ถ้าทิ้งไว้นานหรือเอาขึ้นมาเร็วกว่าก็มีลักษณะที่ต่างกัน ปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ หรืออุณหภูมิ ถ้าเราแช่เย็นบางทีมันจะกลายเป็นเกร็ดน้ำตาลแห้งๆ มันไม่ขึ้นเป็นผลึก เราเลยทดลองทั้งเอาไปแช่เย็น แล้วก็เอาออกมาวางไว้บนมุมห้อง แล้วมันเวิร์กกว่า”

“ผลึกที่ได้จะมีความเฉพาะ ไม่เหมือนใคร จะเป็นจุดเด่นที่ทำให้คนชอบ เพราะเขารู้สึกว่าถ้าซื้อไปมีความไม่ซ้ำใคร และเขาได้ใส่เครื่องประดับที่เกี่ยวกับความสุขนะ มันคือสิ่งใหม่ สิ่งที่แตกต่างจากสิ่งอื่น”

“อีกอย่างมันมีกระบวนการทางเคมีน้อย ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกสำหรับหลายๆ คนที่แพ้สารเคมี หรือในปัจจุบันก็มีคนที่ชื่นชอบแนวคิดเพื่อสุขภาพ เขาอาจจะไม่ชอบกินน้ำตาล แต่อยากจะมีเก็บไว้ เพราะเขากินไม่ได้ เพราะว่าแนวคิดที่เราทำคือเป็นเครื่องประดับที่ใช้สำหรับการระลึกถึงด้วย”

ฟ้าสรุปสั้นๆ ว่าความสนุกของการทำผลึกน้ำตาลคือการที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทุกครั้งที่ทำผลึกจะออกมาในรูปแบบไหน และจะออกแบบตัวเรือนอย่างไรให้เข้ากับผลึกน้ำตาลชิ้นนั้นๆ

“เพราะความควบคุมไม่ได้ มันเลยทำให้เราสนุกและสามารถคิดต่อได้เรื่อยๆ บางทีเราอาจจะต้องออกแบบทีหลัง เพื่อมาซัพพอร์ตตัวเรือนทีหลังเพราะเราเอาตัวน้ำตาลเป็นหลัก”

ท้อได้แต่ก็ต้องทำ แค่นั้นเลย

ประดับสุข เกิดจากโปรเจกต์ระหว่างเรียน การนำเครื่องประดับผลึกน้ำตาลมาเป็นธุรกิจจึงไม่ได้เป็นความตั้งใจของฟ้าตั้งแต่ต้น จนกระทั่งได้ส่งผลงานเข้าประกวดในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีค ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนสนใจงานที่ฟ้ากำลังทำอยู่

ตอนแรกเครื่องประดับผลึกน้ำตาลอาจจะยังไม่ได้เชื่อมโยงกับโจทย์ของเชียงใหม่ดีไซน์วีคเท่าไหร่ แต่มันท้าทายตัวเองว่าเราจะทำยังไง เราเลยออกแบบเป็นปิ่นปักผม ซึ่งเป็นเครื่องประดับล้านนา รูปทรงดอกไม้มันแสดงถึงความอ่อนหวาน แล้วการสื่อเรื่องของสีเขียวและสีแดงเหมือนผลของต้นไม้ที่มีความมงคล เรารีบออกแบบวันนั้นเลย ตัววัสดุเราจะใช้น้ำตาลในการแทนแร่หรือเพชร พลอย แล้วก็ได้รับคัดเลือกเป็นโชว์เคสได้แสดงในงาน เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้แสดงงาน”

“ฟีดแบ็กตอนนั้นค่อนข้างดี คือมีคนสนใจจนนามบัตรหมด มีแอปพลิเคชัน Pinkoi ติดต่อให้มาขายในแอพเขา เราได้รับการติดต่องานนั้นเป็นงานแรกเลย หลังจากนั้นก็มีโอกาสดีๆ ที่ติดต่อเข้ามา แล้วที่รู้ว่าน่าจะโอเคถ้าเราจับทางนี้ต่อ มีการเชิญชวนให้เข้าไปขายของ หลังจากนั้นรุ่นพี่ชวนไปส่งวัสดุที่ TCDC บางรัก ได้เป็นฐานข้อมูลเรื่องวัสดุบนเว็บไซต์ TCDC และมีโอกาสได้เป็น 1 ใน 5 ไฮไลต์ของงานเขาด้วยค่ะ”

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นประดับสุข ถือเป็นแบรนด์เครื่องประดับน้องใหม่ที่น่าจับตามอง เราอดถามไม่ได้ว่าฟ้าได้ตกผลึกจากงานของเธอบ้างในระหว่างทางที่ผ่านมา

“แรงใจสำคัญมาก” ฟ้าคิดไม่นานก่อนตอบ

“ระหว่างที่ทำเราท้อได้นะ เราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ท้อ เคยคิดว่าจะไม่ทำเครื่องประดับผลึกน้ำตาลต่อด้วย จนเราลองส่งงานไปหลายที่มาก เพราะเราอยากจะพิสูจน์ว่ามีใครสนใจไหม ที่มันมาได้จนคนมองเห็นเยอะขนาดนี้ เป็นเพราะเราไม่หยุด ท้อได้แต่ก็ต้องทำ ลุกขึ้นมาทำไปเรื่อยๆ แค่นั้นเลย แต่ก็ต้องมีการวางแผนไว้ด้วยนะ ไม่ใช่ทำโดยที่เราไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน เราอยากแนะนำให้ใครที่กำลังมาทางนี้ให้ลองส่งงานประกวดดีกว่า ถ้าโพสต์งานใน Instagram เลย อาจจะไม่มีคนเข้าใจ แต่ถ้าเราอยู่ในฐานข้อมูล พอเราจะเอามาพัฒนาต่อคนอาจจะเข้าใจมากกว่า”

“เริ่มต้นเราอาจจะลองตั้งเป็นเป้าหมายเล็กๆ ก็ได้ พอมันทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะมีเป้าหมายถัดมาอีกเรื่อยๆ เอง” ฟ้าทิ้งท้าย

ติดตามเพิ่มเติมที่: https://www.instagram.com/pradap.suk/ หรือ https://th.pinkoi.com/store/pradap-suk

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream