มนุษย์/ต่าง/ด้าว โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนังสือที่ใช้ภาพคอลลาจบอกเล่าการเดินทางของชีวิตได้อย่างจัดจ้านน่าสนุก

มนุษย์/ต่าง/ด้าว โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนังสือที่ใช้ภาพคอลลาจบอกเล่าการเดินทางของชีวิตได้อย่างจัดจ้านน่าสนุก

‘มนุษย์/ต่าง/ด้าว : เรามาอย่างสันติ’ โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากสำนักพิมพ์น้องใหม่มาแรง Avocado Books คือหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ต่อเนื่องมาจนถึงวางแผงตามร้าน และทำให้ต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 อย่างรวดเร็ว

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หรือ ‘อาจารย์ปวิน’ เป็นอดีตนักการทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะลาออกจากราชการมาเป็นนักวิชาการที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และย้ายมาประจำศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในปี 2555 ถึงปัจจุบัน 

โดยหลังรัฐประหารปี 2557 เขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และพำนักอาศัยอยู่ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เรื่อยมานับตั้งแต่นั้น 

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทางของชีวิตของคนที่ต้องห่างบ้านไปนานๆ แบบมากกว่าการไปท่องเที่ยวหรือศึกษาต่อ ทั้งก่อนและหลังลี้ภัย เรียกว่าเป็นงานเขียนสนุกๆ บอกเล่าประสบการณ์ที่นอกเหนือไปจากงานวิชาการ และไม่การเมืองจ๋า 

อย่างไรก็ตาม สโลกแกนที่ใช้กำกับหนังสือไว้อย่าง ‘เรามาอย่างสันติ’ นั้น ทางสำนักพิมพ์ได้ให้ความหมายว่า ‘เบาได้เบาจารย์!’

แต่สิ่งที่สะดุดตาอย่างย่ิงของหนังสือเล่มนี้ก่อนที่จะได้เข้าไปอ่านเนื้อในก็คือ อาร์ตเวิร์กที่ส่วนใหญ่เป็นภาพคอลลาจมันๆ จัดจ้าน และดูสนุก ซึ่งหากใครรู้จักคาแรกเตอร์ของ ‘อาจารย์ปวิน’ ในโลกโซเชียล จะรู้สึกว่า ภาพประกอบเหล่านี้สะท้อนความเฟียร์ซ ปากจัด และจิกกัด ของผู้เขียนออกมาได้อย่างดี

นี่คือผลงานการออกแบบของ Shake & Bake Studio สตูดิโอออกแบบที่มีผลงานน่าสนใจมากมาย ซึ่งเราอยากชวนคุณไปย้อนดูกระบวนการทางความคิดในการผลิตงานภาพของหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น

บรีฟที่เปิดกว้าง 

ก่อนทำหนังสือเล่มนี้ Shake & Bake Studio ร่วมงานกับอะโวคาโด บุ๊กส์ มาตั้งแต่ตอนออกแบบโลโก้และคาแรกเตอร์สนุกๆ ของสำนักพิมพ์ นั่นคือตัว ‘น้อนโด้’ สิ่งมีชีวิตไฮบริดระหว่างอะโวคาโดกับสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ได้รับรางวัลทั้ง DEmark ของไทย และ G-Mark ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็เคยออกแบบปกหนังสือ 2 เล่ม ออกแบบปกและรูปเล่มอีก 1 เล่ม จึงรู้มือกันเป็นอย่างดี  

สำหรับหนังสือมนุษย์ต่างด้าว บรีฟจากทางสำนักพิมพ์มี 2-3 อย่าง

  • สำนักพิมพ์แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 พาร์ต ซึ่งทางสตูดิโอนำมาคิดต่อจากโครงสร้างที่ว่านี้ จึงเสนอให้เป็นหนังสือที่เปิดได้ทั้งจากด้านหน้าและด้านหลัง แล้วตั้งชื่อทั้ง 3 พาร์ตนั้นใหม่เป็น ภาค ดิฉันชื่อปวิน, ภาค ดิฉันเป็นมนุษย์/ต่าง/ด้าว และภาค Pavin Universe 
  • สำนักพิมพ์ไม่ได้กำหนดจำนวนหน้ามาในตอนแรก แต่กำชับว่าอย่าหนามาก เพราะค่าพิมพ์จะสูงทำให้ราคาขายต้องสูงตาม คนจะไม่ซื้อ และอยากออกให้ออกขายทันงานหนังสือเดือนตุลาคม
  • ปกและรูปเล่มเปิดกว้างให้กับทางสตูดิโอ

Reference แบบหนังสืบสวนสอบสวน

investigation board แบบในหนังสืบสวนสอบสวน รวมทั้งพวกภาพถ่าย UFO ที่เป็นภาพขาวดำ ความละเอียดไม่ชัด คือเรเฟอเรนซ์ที่ผู้เขียน ส่งมาพร้อมกับเนื้อหาและภาพพอร์เทรต

ทางสตูดิโอคิดว่าเป็นไอเดียที่เอามาพัฒนาได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ investigation board ที่ตอนแรกตั้งใจจะใช้ภาพจาก stock image แล้วมารีทัชรูปต่างๆ ของผู้เขียนใส่เข้าไป

แต่ปรากฏว่าน้องคนหนึ่งในทีมทำบอร์ดแบบนี้ขึ้นมาจริงๆ โดยเอาบอร์ดติดกับผนังบ้านแล้วถ่ายรูปมาให้ดู ทีมจึงคิดว่าทำจริงเลยดีกว่า แล้วสั่งซื้อแผนที่ที่ตั้งใจเอามาเป็นแบ็กกราวนด์และโครงเรื่องหลักของภาพประกอบที่จะใช้ในหนังสือเล่มนี้ ทั้งแผนที่โลก แผนที่ยุโรป และแผนที่กรุงเทพฯ จากร้านเครื่องเขียนออนไลน์ โดยกะว่าจะทำหนึ่งบอร์ดสำหรับแต่ละภาคในเล่ม และใช้วิธีถ่ายรูปแบบ zoom in, zoom out, crop, close up เป็นภาพเปิดในแต่ละบท แล้วพรินต์รูปที่ได้จากปวินมา mapping ลงตามจุดต่างๆ ในสเกลที่ถูกย่อลงมาเพื่อให้ภาพเกือบทุกภาพสามารถติดลงไปบนแผนที่ตามโลเกชั่นต่างๆ ที่ผู้เขียนบรรยายไว้ในเรื่องได้

แต่พอเอาไปทำ layout แล้ว ปรากฏว่าภาพรวมมีแต่บอร์ดที่ต่อให้ถ่ายครอปหรือมุมไหนๆ ลงไป พอหลายหน้าเข้า หนังสือก็ขาดเสน่ห์ไปมาก เพราะดูซ้ำไปซ้ำมา ทางสตูดิโอจึงล้มแบบตัวเอง เปลี่ยนใหม่หมดโดยไม่เสียดาย แล้วใช้ภาพนี้ในส่วนที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น

จากนั้นจึงออกแบบและทดลองทำภาพประกอบในแบบ collage และ digital painting ที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับทั้งเนื้อหาทั้ง 3 ภาค โดยให้เนื้อหาของภาพไปด้วยกันกับเนื้อหาของผู้เขียน และถ่ายทอดความ ‘แซ่บ’ แบบปวินออกมาให้ได้ 

แบบสเก็ตช์ที่เสนอให้บรรณาธิการและผู้เขียนดูว่า ทำภาพประกอบตามเรฟเฟอร์เรนซ์แล้วออกมาเป็นยังไง

เลย์เอาต์ที่ต้องปรับใหม่เพราะคนอาจไม่เก็ต

หน้าตาแบบแรกที่นำเสนอ ทางสตูดิโอตั้งใจจะทำให้เป็นหนังสือที่ anti-design ลองออกแบบให้เหมือนคนไม่ใช่กราฟิกดีไซเนอร์มาทำ อะไรที่พูดกันมาว่า ไม่ให้ทำ ไม่เหมาะสมในการออกแบบหนังสือ ก็จะลองทำ และลองทำพวกตัวอักษรแบบที่เคยเห็นกันบน powerpoint ในยุคสมัยหนึ่ง ใช้สีสดๆ ฟุ้งๆ พูดง่ายๆ ว่าให้มันดูกากๆ หน่อย เหมือนมีม เหมือนคนออกแบบไม่เป็น

ที่เลือกวิธีนี้ก็เพราะต้องการที่จะสะท้อนบางอย่างของความเป็นปวิน นั่นคือ การไม่จำเป็นต้องทำแบบที่คนเขาว่าว่าดี หรือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่อต่อๆ กันมา สุดท้ายได้รับคอมเมนต์จากผู้เขียนว่า ดู childish หรือดูเด็กน้อยไป ทำให้ต้องรื้อแบบแล้วทำใหม่ เพราะคนอื่นก็อาจจะไม่เก็ตเหมือนกัน แต่ยังคงไว้ให้เป็นเท็กซ์ที่อ่านง่าย จะแอนตี้ดีไซน์ก็ได้แต่ไม่ต้องไร้เดียงสาขนาดนั้น

ส่วนการออกแบบการจัดวางเนื้อหา ก็พยายามทำให้เนื้อหากับภาพไปด้วยกัน แบบที่อ่านเท็กซ์แล้วไม่ต้องไปหาภาพที่พูดถึงในหน้าอื่น แต่จะอยู่ในหน้านั้นเลย 

“สำนักพิมพ์ตามใจเรา ทีแรกเขายังเสนอมาเลยว่าพวกภาพถ่ายของอาจารย์ปวินหรือภาพประกอบ เอาไปไว้หน้าเปิดบทอย่างเดียวมั้ย ที่เหลือก็โปรยเท็กซ์ ไม่ต้องมีภาพแทรก งานของเราจะได้ไม่หนักเกินไป แต่เราคิดว่าถ้าอ่านแล้วเห็นภาพตรงหน้านั้นเลยจะได้อรรถรสกว่า เหมือนไปนั่งคุยกับอาจารย์ปวินแล้วอาจาย์เขาเล่าไปเปิดรูปในมือถือให้เราดูไป” ตัวแทนของทีม Shake & Bake Studio กล่าว 

ปกที่ยังไงก็ต้องขายของด้วย 

สำหรับหน้าปกนั้น ตอนแรกทางทีมสตูดิโอตั้งใจจะให้มีแต่หน้าของผู้เขียนแบบไม่มีหน้า กับไม่มีปาก จะมีแว่นหรือไม่มีแว่นก็ได้ แล้วให้ชื่อหนังสือกับผู้เขียนตัวเล็กๆ อาจจะอยู่เฉพาะตรงสันปกด้วยซ้ำ สิ่งที่อยากจะเล่นคือ คนที่เป็นแฟนคลับจะยังจำได้มั้ยว่านี่คืออาจารย์ปวิน และจะมีวิธีทำยังไงให้หนังสือเล่มนี้ยังขายได้ในร้านหนังสือที่อาจจะไม่ต้อนรับ จึงเป็นที่มาของหน้าปวินแบบไม่มีหน้า

แต่ทางบรรณาธิการก็ยืนยันว่าอยากให้มีชื่อเรื่องบนปก ซึ่งทางทีมออกแบบก็เข้าใจเหตุผลดี เพราะเวลาสั่งหนังสือทางออนไลน์ ภาพใน thumbnail ก็เล็กอยู่แล้ว ถ้าไม่มีชื่อเรื่องอีกอาจจะดูโหดร้ายไป มันก็จะเป็นหน้าโล่งๆ เกลี้ยงๆ ซึ่งไม่สื่อสารกับคน หรือเวลาคนไปซื้อที่ร้านก็อาจจะบอกคนขายยากอีก เช่น “เอาเล่มนั้นน่ะ ที่เป็นหน้าคนไม่มีหน้า” สุดท้ายจึงเป็นการประนีประนอมกันและออกมาเป็นแบบที่เห็น 

ตัว lettering รอบแรกๆ ที่ทำขึ้นมาประกอบในหน้าหนังสือ
Lettering ตัวอักษรที่ custom ขึ้นมาในการออกแบบระยะแรกที่ไปในทาง anti-design ตั้งใจทำให้ดูไม่เหมาะกับรสนิยมทางด้านกราฟิกที่ว่ากันว่าดี  
พัฒนามาจากคำว่ามนุษย์ต่างด้าว และมนุษย์ต่างดาว ลองเอาดาวทรงกลมมาจัดเรียงกันเป็นตัวอักษรตามที่เห็น นำไปใช้บ้างในบางส่วนของ layout

ภาพประกอบที่ไม่ได้ใช้

พอเลือกไม่ใช้แค่ investigation board และเลือกจะไม่ anti-design วิธีการที่ทางสตูดิโอเลือกใช้สำหรับภาพประกอบก็คือ collage ทั้งแบบดิจิตัลและ handmade ใช้ทั้งพวกภาพกากและภาพคุณภาพดี ภาพ public domain มาสร้างให้เกิดเนื้อหาแบบที่ทีมต้องการ

วิธีคิดแต่ละภาพจริงๆ ก็คือการเอาภาพตัวอาจารย์ปวินที่โพสต์ท่าต่างกรรมต่างวาระจับมาคอลลาจลงบนภาพอื่นที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นมีม ภาพกากๆ มังงะของนาโอกิ อุราซาวะ หรือเคซูเกะ อิตางากิ สไตล์แมกกาซีนยุค 2000s อย่าง THE FACE งานออกแบบของ M/M Paris และหน้าปกโมเดิร์นด็อกชุดแรก

ส่วนหลายๆ ภาพที่ไม่ได้ถูกเลือกนำไปใช้นั้น อาจจะเนื่องด้วยเหตุผล เช่น องค์ประกอบดูซ้ำกับภาพอื่น จำเป็นต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง หรือบางภาพก็ต้องระมัดระวังเรื่องประเด็นที่เซนสิทีฟ เป็นต้น

ภาค PAVIN UNIVERSE จะเป็นภาพที่ใช้ digital painting ที่สีจัดจ้านมาก จึงต้อง test print กับโรงพิมพ์ว่าถ้าพิมพ์ออกมาจาก RGB เป็น CMYK จะเป็นยังไง ผลก็คือ สบาย 

ภาพที่ใช้ในเล่ม

ภาค ดิฉันชื่อปวิน

เป็นภาคแรกช่วงก่อนเป็นมนุษย์ต่างด้าว ภาพประกอบในภาคนี้ใช้ investigation board ที่ใส่โทนสีเหมือนหนังนักสืบ และใช้ภาพดิจิทัลคอลลาจที่ใช้วิธีคิดที่อยากให้ดูแล้วนึกถึงความเป็นมีมและการผลิตซ้ำของภาพกากที่มีเลเยอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช้คอลลาจแบบ handmade ไดคัทปวินและถ่ายรูปเอาไปทำต่อใน iPad ก็มี ในภาคนี้ปวินยังคงเป็นปวิน แต่ช่วงบทสุดท้ายของภาคจะเริ่มมีการเปลี่ยนสภาพ

ปวินบินได้ ได้ไอเดียมาจากมังงะเรื่อง Pluto โดย นาโอกิ อุราซาวะ

ภาค ดิฉันเป็นมนุษย์ต่างด้าว

ทีมตั้งใจที่จะใช้ปวินในท่าโพสต์ต่างๆ มาทำให้เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ แบบที่ใช้ภาพและเอกสารในยุคสมัยที่คนมีประสบการณ์กับ UFO และสิ่งมีชีวิตนอกโลก รวมทั้งภาพ UFO มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ทำให้ปวินบินได้ บินไปนอกโลกก็ได้ และเป็นปวินที่ไม่มีหน้าเพราะถูกทำให้เป็นอื่นไปแล้วโดยรัฐและคนในสังคมบางส่วน 

ภาค PAVIN UNIVERSE 

ภาคนี้คือจักรวาลของปวิน มีทุกเรื่องนอกเหนือไปจาก 2 ภาคแรก เป็นภาคที่คิดว่าถ้าปวินกลายเป็นแบรนด์ PAVIN แล้ว จะออกมาเป็นยังไง โดยที่การออกแบบภาพประกอบในภาคนี้จะ free flow สุดๆ ทดลองกันหลายรูปแบบจนมาลงตัวในแบบที่เห็น คือ เยอะ ร่วมสมัย แซ่บ จัดจ้าน และไม่ประนีประนอม

ความท้าทายของโปรเจกต์นี้ 

“ความท้าทายน่าจะอยู่ที่ทำยังไงให้คนที่เขาไม่ได้เป็นแฟนคลับอาจารย์ปวินมาซื้อ” ตัวแทนของทีมออกแบบ Shake & Bake Studio กล่าว

“คีย์เวิร์ด ‘เรามาอย่างสันติ’ เป็นคำประนีประนอม อยากให้ลองเข้ามาทำความรู้จักคนที่คุณจะเกลียดหรือไม่เกลียดตอนหลังก็ได้ แต่ว่าส่วนมากคนเรามักจะเกลียดกันโดยไม่รู้เหมือนกันว่าเกลียดกันเพราะอะไร แค่คนบอกๆ กันมา เลยเกลียดบ้างดีกว่า

“เราอยากให้คนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับเขา เห็นแค่ตัวดีไซน์ หรือเห็นข้างใน แล้วอยากจะซื้อเก็บไว้เพราะมันเป็นหนังสือที่น่าเก็บ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องน่าอ่านหรือใครเขียนเลยก็ได้ แต่มันเป็นวิธีพรีเซนต์หนังสือเล่มหนึ่งในแบบที่อยากคนไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองด้วยซ้ำมาซื้อได้” 

สุดท้ายทาง Shake & Bake Studio ก็ได้ให้เครดิตกับทางอะโวคาโด บุ๊กส์ ว่า เชื่อในรสนิยมบางอย่างและความกล้าของทางสำนักพิมพ์ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราได้เห็นหนังสือที่มีงานดีไซน์จัดจ้านถึงใจแบบนี้ออกมานั่นเอง

AUTHOR