คุยกับ 10 คอนเทนต์ครีเอเตอร์จาก TMRW Creators Camp 2021 แคมป์สู่การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพ

คุยกับ 10 คอนเทนต์ครีเอเตอร์จาก TMRW Creators Camp 2021 แคมป์สู่การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพ

TMRW Creators Camp 2021

ในยุคนี้ ขอแค่มีมือถือและเรื่องที่อยากเล่า เท่านี้ก็สร้างคอนเทนต์เป็นอาชีพได้แล้ว

เมื่อสปอตไลต์ไม่ได้ส่องไปที่คนมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังสาดไปถึงนักทำคอนเทนต์อิสระ (ที่หลายคนอาจมีฟอลโลว​์เวอร์มากกว่าดาราเสียอีก) คำว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ จึงกลายเป็นอาชีพจริงๆ แถมยังเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่เยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับชาวดิจิทัลเนทีฟผู้เติบโตมากับยูทูบและเฟซบุ๊กมากกว่าการดูทีวี 

แต่เพราะใครๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้ เส้นทางนี้จึงมีการแข่งขันกันมากขึ้นตามไปด้วย TMRW บริการธนาคารดิจิทัลเพื่อดิจิทัลเจเนอเรชั่นจากธนาคาร UOB จึงเปิด TMRW Creators Camp 2021 แคมป์สู่การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพที่จะช่วยสนับสนุนทั้งด้านทักษะความรู้เกี่ยวกับอาชีพนี้และด้านการเงิน โดยครีเอเตอร์หน้าใหม่กว่า 100 ชีวิตที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ฟังเคล็ดลับจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นเก๋าอย่างบูม ธริศร, เคน นครินทร์ จาก THE STANDARD, โค้ดดี้ อรรถพล จากช่อง GoodDayOfficial, เอ็ดดี้ ญาณวุฒิ หรือ พี่เอ็ด 7 วิ, อู๋ spin9, ซอฟ softpomz, ซี ฉัตรปวีณ์ และช่อง Asayhi Channel

นอกจากนี้ พวกเขายังได้โจทย์ให้ทำคอนเทนต์สนุกๆ ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 10 คนเข้ารอบสุดท้ายที่เราได้ไปชวนคุยถึงแรงบันดาลใจในการทำคอนเทนต์และสิ่งที่ได้รับกลับไปจากแคมป์นี้มาฝาก

‘พี่น้องป.4’ เพจพี่น้องตัวป. ที่หยิบเอาความสัมพันธ์พี่น้องมาเล่าได้อย่างสนุกสนาน

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า พี่น้องป.4 คือเพจที่พูดถึงพี่น้องวัยประถม เพราะคำว่า ป.4 ย่อมาจากชื่อของ 4 พี่น้องที่ชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษรป.ปลา ปอนด์ ปาล์ม ปอย และปาย

จิ๋ว–อุมาพร สิริทวีชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ (ที่จริงเธอมีชื่อว่า ปาย แต่เพราะเป็นน้องคนเล็กของบ้านพ่อจึงเรียกเธอว่าจิ๋ว) เล่าว่าหลายคนชอบทักว่าครอบครัวของเธอเล่นมุกกันตลก พี่ชายคนโตจึงชวนพี่น้องทั้ง 3 ทำเพจขึ้นมา

เพจพี่น้องป.4 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยทำคอนเทนต์วิดีโอที่พูดถึงประสบการณ์ในความสัมพันธ์ของพี่น้อง เช่น รีวิวความดีความเลวของการมีพี่น้อง, เกมทายใจพี่สาวน้องสาว, แถลงการณ์จากพี่ชายพี่สาวแห่งชาติ และด้วยอินไซต์ตรงใจพี่น้องหลายคน บางคลิปจึงมียอดแชร์ไปถึง 20,000 คน

“จิ๋วเคยทำงานเป็นครีเอทีฟของเพจอาสาพาไปหลงมาก่อนเลยเห็นว่าอาชีพครีเอเตอร์มันเป็นไปได้ เราจึงตั้งความหวังกับพี่น้องป.4 ไว้สูงมาก หวังว่ามันจะเป็นอาชีพในอนาคต แต่ผ่านมา 1 ปีก็ยังไม่ถึงเป้าหมายเท่าไหร่” จนวันหนึ่งจิ๋วเห็นประกาศรับสมัคร TMRW Creators Camp พอดี เธอจึงคิดว่าโครงการนี้อาจจะเป็นบันไดอีกขั้นที่ทำให้เป้าหมายของเธอประสบความสำเร็จ

ตอนที่พี่น้องป.4 ได้เข้ารอบสุดท้าย เธอจึงเริ่มมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำและคิดว่าแม้แคมป์จะจบลงแต่เส้นทางของเธอและพี่น้องน่าจะเดินทางสู่ประตูความสำเร็จได้ในอีกไม่นาน

‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ เพจที่ใช้ข้ออ้างในการโทรถามสูตรอาหารเพื่อบอกรักแม่

คณิน พรรคติวงษ์ คือเจ้าของเพจ แม่ เมนูนี้ทำไง ที่มีคอนเซปต์ชัดเจนในการเล่าเรื่องด้วยบทสนทนาทั่วๆ ไประหว่างเขากับแม่ โดยใช้วิธีการโทรถามถึงสูตรทำกับข้าวเป็นตัวร้อยเรียงเรื่องราว กับภาพวิดีโอที่แสดงให้เห็นขั้นตอนการทำเมนูนั้นๆ ซึ่งเรียบง่าย ดูทำตามได้ และน่ากิน

คณินฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เขาจึงอยากสร้างเพจที่รวบรวมชิ้นงานต่างๆ ไว้ทำพอร์ตโฟลิโอก่อนจะได้ไอเดียว่าอยากทำคอนเทนต์คุยกับคนที่บ้าน เนื่องจากเหตุการณ์ที่แม่ประสบอุบัติเหตุ จึงทำให้รู้ว่าบทสนทนาของตนและแม่ได้ห่างหายไปนาน สุดท้ายเมื่อเอาไอเดียทุกอย่างมารวมกัน เพจแม่ เมนูนี้ทำไง จึงเกิดขึ้น

แม้จะเพิ่งทำเพจได้ไม่นาน แต่กระแสตอบรับคลิปวิดีโอแรกที่เขาโทรถามสูตรหมูผัดปลาอินทรีย์กลับสูงจนน่าตกใจ นั่นทำให้เขาเริ่มทำวิดีโอตัวอื่นๆ ตามมา ก่อนจะเห็นข่าว TMRW Creators Camp 2021 ที่มีรางวัลชนะเลิศเป็นเงินสดกว่า 1 ล้านบาท แถมยังได้เรียนรู้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์มืออาชีพ

“การเข้าแคมป์ช่วยเราได้เยอะมาก ปกติเราทำคอนเทนต์แบบชิลล์ๆ อยากลงก็ลง ซึ่งมันไม่ดี พอได้เข้าแคมป์ก็ทำให้มีกรอบ ฝึกให้เราเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทำให้รู้ว่ามีคนรอดูคอนเทนต์เราอยู่ ทำให้เราใส่ใจกับเพจมากกว่าเมื่อก่อน”

ระหว่างที่เข้าร่วมแคมป์ คณินและผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ต้องฝึกทำโจทย์ของแต่ละเวิร์กช็อปด้วย นอกจากนี้เขายังต้องทำชิ้นงานนำเสนอโปรดักต์ของ TMRW ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเพราะคณินรู้สึกว่าโปรดักต์ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเขาที่ทำงานสายสร้างสรรค์ไม่น้อย 

“ปกติเวลาจดรายรับ-รายจ่ายเราต้องแยกไปบันทึกอีกแอพฯ ไม่รวมกับแอพฯ ธนาคาร แต่แอพฯ TMRW รวมไว้ในที่เดียวกันเลย ซึ่งจริงๆ มันควรเป็นแบบนี้ตั้งนานแล้ว เพราะเราจะได้ดูยอดเงินในบัญชีและรายรับ-รายจ่ายในทีเดียว อีกอย่างการดีไซน์ข้างในก็น่ารักเหมือนกำลังเล่นเกม อย่างเวลาเก็บเงินได้จะมีการอัพเลเวลเพื่อสร้างเป้าหมายมันส่งผลในแง่จิตวิทยาดีนะ ทำให้คนรุ่นใหม่สนุกกับการเก็บเงินมากขึ้น”

@happybeww

 

ได้แต่ยกมือ แล้วบอกสาธุ ##ทำบุญ ##เข้าใจผิด ##พ่อลูกสายฮา

♬ original sound – Biu Beww

‘happybeww’ช่อง TikTok ที่สื่อสารความสุขผ่านเรื่องราวของสองพ่อลูก

บิ๊ว–นวสรณ์ ธนฉัตรสมบูรณ์ คือเจ้าของช่อง @happybeww บน TikTok ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อนแต่มีผู้ติดตามสูงถึง 1.5 ล้านคน เอกลักษณ์ของช่องคือการหยิบยกสถานการณ์ใกล้ตัวของครอบครัวที่มีผู้สูงวัยมาแสดงบทบาทสมมติสื่อสารความสุขให้กับผู้รับชม โดยมีบิ๊วและพ่อที่เธอเรียกว่า ‘ป๊า’ วัย 75 เป็นตัวละครหลัก

“เราใหม่ในวงการนี้ ถ้าบิ๊วมีโอกาสเข้าแคมป์ก็น่าจะได้ฟังประสบการณ์ดีๆ จากวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเรามองว่าสำคัญ มันเหมือนมีคนมาหยิบยื่นแผนที่ให้” นี่คือเหตุผลที่เธอเข้าร่วม TMRW Creators Camp 2021 

สำหรับบิ๊ว การทำชิ้นงานตามโจทย์ภายในแคมป์ทำให้เธอได้เห็นเสน่ห์ของ TMRW “สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือ TMRW เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ทำให้เรามีเวลา เรามองว่าเงินมันหาเพิ่มได้ แต่เวลาคือสิ่งที่หาเพิ่มไม่ได้ อย่างตอนสมัครบัตร TMRW ผ่านแอพพลิเคชั่นแต่ว่าต้องไปยืนยันตัวตนที่ตู้ kiosk เราไม่มีเวลาไปก็มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาถามว่าสะดวกให้เขาเข้ามายืนยันตัวตนที่ออฟฟิศให้ไหม ทำให้เรารู้สึกประทับใจ” 

นอกจากนี้บิ๊วยังเสริมถึงความประทับใจในการเข้าร่วมโครงการนี้ว่าทำให้เธอได้รับทั้งความรู้ แง่คิดในการเอาไปปรับใช้กับช่องจากวิทยากร และประสบการณ์ดีๆ ที่จะนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป

‘I Am Sneakers’ เพจของคนรักรองเท้าสนีกเกอร์

ซัน–ไพโรจน์ อินทร์ทอง คือคนรักรองเท้าสนีกเกอร์ที่นอกจากจะตามซื้อรองเท้ารุ่นเจ๋งๆ แล้ว เขายังเอาแพสชั่นมาทำคอนเทนต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กเพจชื่อ I am Sneakers

เขาก็นิยามช่องของตัวเองว่า ‘เพจคนบ้ารองเท้า ชอบท่องเที่ยว ถ่าย Video Blog ร้านรองเท้าแบบงงๆ มาให้ดูในชื่อ SNKVLOG’ และยังขยายเป็นรายการพอดแคสต์เรื่องรองเท้า และทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์อย่างการท่องเที่ยวด้วย

แม้จะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มานานแต่ซันยอมรับว่าตัวเองยังไม่แน่ใจนิยามของอาชีพนี้เท่าไหร่นัก หลังจากลาออกจากงานประจำมาทำเพจอย่างจริงจังและได้เห็นประกาศรับสมัคร TMRW Creators Camp 2021 ซันจึงเข้าร่วมทันทีเพื่อหาคำตอบ

“ด้วยความที่ผมทำเพจคนเดียว ปัญหาที่เจอบ่อยคือไอเดียตัน คิดไม่ออกว่าจะทำคอนเทนต์อะไร พอมาเข้าร่วมแคมป์นี้และได้เวิร์กช็อปกับครีเอเตอร์หลายๆ คน ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองคิดไม่เป็นระบบ เขาจะสอนแพตเทิร์นหรือแนวคิดบางอย่างที่ช่วยจัดความคิดให้เป็นระบบมากขึ้น”

นอกจากได้เรียนรู้ทักษะจากครีเอเตอร์มืออาชีพที่มาสอน การเข้าร่วมแคมป์ครั้งนี้ยังทำให้ซันได้เรียนรู้ทักษะของครีเอเตอร์ร่วมแคมป์อีกหลายคน และสิ่งที่เขาประทับใจเป็นพิเศษคือการได้สร้างคอนเนกชั่นร่วมกับคนในวงการเดียวกันจนกลายเป็นชุมชนที่สนับสนุนกัน

“ผมได้คำตอบแล้วว่านิยามของครีเอเตอร์ไม่ใช่ผู้สร้างคอนเทนต์อย่างเดียว แต่เราสร้างคอมมิวนิตี้ที่ไม่ได้มีแค่พวกเราแต่ยังมีผู้ชมที่มามีส่วนร่วมกันจนเป็นชุมชน”

ตามติดชีวิตฉลามแม่เลี้ยงเดี่ยวในเพจ ‘Single Mom Shark’

Single Mom Shark คือเพจที่ พลอยไพลิน ทองหยอด สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องอยู่แต่บ้านเพราะสถานการณ์โควิด-19 เธอนำตุ๊กตาปลาฉลามตัวใหญ่และตัวเล็กมาสร้างคาแร็กเตอร์แม่เลี้ยงเดี่ยวกับลูกเล็ก และจัดท่าถ่ายรูปเล่าเรื่องราวฉลามไปช้อปปิ้ง ทำอาหาร หรือกระทั่งไหว้บรรพบุรุษ จากที่ทำเล่นๆ มันกลับกลายเป็นคอนเทนต์ที่คนชื่นชอบและเฝ้ารอจนเพจเติบโตในช่วงเวลาแค่ 1 ปี

และเพราะเห็นว่าเพจมีโอกาสไปต่อได้ แต่เธอไม่มีประสบการณ์การทำคอนเทนต์มาก่อน พลอยไพลินจึงสมัครเข้าร่วมแคมป์ครั้งนี้

เราเห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่คนติดตามเยอะๆ มีประสบการณ์เจ๋งๆ มาสอนก็เลยสนใจมาก อยากได้ความรู้เพิ่ม เพราะตอนเริ่มทำเพจเราไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน อีกอย่างคือฟรีด้วย ก็เลยสมัครแบบไม่คิดเลย

แคมป์นี้สร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้เรา ทำให้เรารู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว เรากำลังทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและลูกเพจที่เห็นคอนเทนต์เพจแล้วมีความสุข ตอนแรกเคยคิดว่าจะทำต่อดีไหม เพราะอาจจะหนักเกินไปสำหรับเราที่ต้องทำงานประจำ แต่พอเข้าแคมป์นี้ก็เห็นอนาคตมากขึ้นว่าเราโตไปกับเพจได้ ทำมันต่อไปเรื่อยๆ ได้ โดยที่เรามีความสุขด้วย

นอกจากจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของมืออาชีพ เธอยังได้เรียนจากโจทย์ให้ครีเอตคอนเทนต์เกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น TMRW และโปรดักต์วงเงินสินเชื่อ TMRW CashPlus ในแบบฉบับของเพจตัวเอง ซึ่งหลังจากลองใช้งานแล้วเธอพบว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์การใช้เงินของคนรุ่นใหม่มาก เราชอบหลงๆ ลืมๆ ไม่ค่อยจดบันทึกรายจ่าย สมมติจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ รายเดือนก็ต้องย้อนไปดูบิลเก่าๆ ว่าจ่ายไปหรือยัง จ่ายวันไหน แต่แอพฯ นี้มีฟีเจอร์ที่ช่วยบันทึกไลฟ์สไตล์การใช้เงินของเราและคอยเตือนว่าต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง”

‘ท้อแท้ The Salary Peach’ เพจการ์ตูนแก๊กที่เล่าชีวิตท้อๆ ของมนุษย์เงินเดือนผ่านลูกท้อและผองเพื่อน

“แคมป์นี้เป็นโอกาสให้ผมได้ต่อยอดผลงาน สักวันหนึ่งผมอยากเห็นตัวคาแรกเตอร์อยู่บนสินค้า ป้ายโฆษณาบนรถไฟฟ้า บนบัตรเครดิต TMRW หรือกลายเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เหมือนคิตตี้หรือโดราเอมอนครับ”

ธีรวัฒน์ ธนติพุกนนท์ คือเจ้าของ ท้อแท้ The Salary Peach เพจที่เล่าเรื่องราวชีวิตมนุษย์เงินเดือนแสนอลหม่านผ่านตัวละครเอก ‘ท้อแท้’ พนักงานออฟฟิศหัวลูกท้อและผองเพื่อนพนักงานออฟฟิศ แม้คอนเทนต์หลายครั้งจะชวนเครียดแต่ก็สอดแทรกความตลกขบขันให้ผู้อ่านจนเป็นซิกเนเจอร์ของเพจ เห็นได้จากผลงานทั้งสองชิ้นที่พาเขาเข้ามาสู่รอบ 10 คนสุดท้ายใน TMRW Creators Camp 2021 

หากถามว่าแคมป์นี้ให้อะไรเขามากที่สุด ธีรวัฒน์บอกว่าเขามีความกล้าในการผลิตคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้นหลังจากได้เรียนรู้เวิร์กช็อปในสัปดาห์ที่ 3 โดยอู๋ spin9 และซอฟ softpomz และได้ลองทำวิดีโออย่างรวดเร็วในแบบของตัวเอง

“จริงๆ ผมไม่ถนัดงานวิดีโอเลย เพราะเป็นสายวาดและคิดคอนเทนต์มากกว่า แต่พอได้ลองทำก็รู้สึกชอบที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ จากตอนแรกที่ไม่กล้าเลย ตอนนี้ในอนาคตเลยคิดว่าอยากทำแอนิเมชั่นการ์ตูนเล่าด้วย เพราะฉะนั้นแค่เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ก็ถือว่าเราได้เรียนรู้แล้ว”

เจาะลึกเรื่องจิวเวลรีไปกับเพจ ‘Jewelyze Gold & Jewelry’

“ผมมีโอกาสได้เรียนเรื่องเครื่องประดับจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) แล้วรู้สึกชอบ คิดว่ามีเสน่ห์ จากนั้นเลยลองขายผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ก่อนจะมาทำช่องยูทูบ ถึงอย่างนั้นผมคิดว่าตัวเองยังอ่อนประสบการณ์ด้านการทำคอนเทนต์เลยสมัครเข้ามาร่วมแคมป์เพราะอยากรู้ว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตัวท็อปของวงการเขามีวิธีคิดและวิธีนำเสนอไอเดียยังไง” 

อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่อย่าง ชิน เดชขจรวุฒิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากภาควิชาบัญชีและบริหารธุรกิจหลักสูตรนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นเจ้าของ Jewelyze Gold & Jewelry เล่า

และชินก็ไม่ผิดหวัง เพราะตลอดการเวิร์กช็อป 4 สัปดาห์ เขาได้เรียนรู้เยอะมากจากคลาสของวิทยากรโดยเฉพาะซอฟ softpomz ที่แชร์เรื่องการวางแผนถ่ายทำ โคดดี้ ผู้ก่อตั้ง GoodDayOfficial ที่สอนวิธีการเบรนสตอร์มไอเดียร่วมกับทีม รวมถึงบูม ธริศรที่เน้นย้ำความสำคัญเรื่องการวางโครงสร้างเนื้อหาให้ชัดเจน รวมถึงยังชอบที่ได้ปรึกษากับวิทยากรแบบตัวต่อตัว

เมื่อมาถึงโจทย์ที่ต้องทำคอนเทนต์นำเสนอโปรดักต์ของ TMRW ในแบบของตัวเอง ชินเลือกนำเสนอฟีเจอร์แฮชแท็กที่ทำให้ระบุรายรับ-รายจ่าย แยกหมวดหมู่ชัดเจน เพราะนอกจากธุรกิจเครื่องประดับแล้ว เขายังเปิดบริษัทเทรดดิ้งกับเพื่อนที่ต้องแยกบัญชีค่าใช้จ่ายกัน รวมถึงเขายังชอบฟีเจอร์หมวดหมู่ค่าใช้จ่าย 5 แบบที่ทำให้รู้ว่าเดือนหนึ่งใช้จ่ายกับอะไรไปบ้างด้วย

ชินทิ้งท้ายกับเราว่าเขาภูมิใจในตัวเองมากที่ผ่านเข้ามาสู่รอบ 10 คนสุดท้าย พร้อมยืนยันว่าการเข้าร่วมแคมป์ครั้งนี้ช่วยปลดล็อกศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์และการทำงานอย่างเป็นระบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในช่อง Jewelyze Gold & Jewelry ต่อไป

‘ลงทุนศาสตร์ – Investerest’ เพจที่พาไปเรียนรู้ศาสตร์การลงทุนอย่างลึกซึ้ง

“สิ่งสำคัญของการทำเพจอาจไม่ใช่ความเก่งหรือความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นคำถามที่ว่าเราจะยืนระยะยาวอย่างไรไม่ให้เบื่อไปซะก่อน” กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์ – Investerest เพจอายุ 7 ปีที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคนบอกเล่าสาเหตุในการตัดสินใจกระโดดเข้าร่วม TMRW Creators Camp

ในบรรดาเวิร์กช็อป กิตติศักดิ์ชอบกิจกรรมที่นำโดย บูม ธริศร และเคน นครินทร์มากที่สุด เพราะช่วยเน้นย้ำถึงหัวใจของการทำคอนเทนต์และยืนยันว่าตัวเขาเดินมาถูกทาง ในขณะเดียวกันสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักเขียนอย่างเขาหนีไม่พ้นเวิร์กช็อปการทำวิดีโอในอาทิตย์ที่ 3 และ 4 ซึ่งเขาต้องพยายามอย่างสุดความสามารถ

“สิ่งที่ผมได้จากแคมป์นี้คือแรงบันดาลใจในการทำงาน การได้มาเจอกับคนที่ทำงานสายเดียวกัน เห็นการทำงานแต่ละชิ้นอย่างพิถีพิถัน ทำให้เรายังอยากเดินอยู่บนถนนเส้นนี้ต่อไป รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เหนื่อยอยู่คนเดียวแต่ยังมีเพื่อนร่วมวงการที่คอยผลักดันสังคมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งถอดใจไปก่อนแล้วกัน” กิตติศักดิ์ทิ้งท้าย

‘ShawChannel’ ช่องยูทูบแบ่งปันความรู้และเทคนิคการตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ

ชอ–ปฏิพัทธ์ กฤตยาพิพัฒน์กุล คือเจ้าของช่องยูทูบ ShawChannel ช่องที่เล่าเรื่องราวเทคนิคการตัดต่อวิดีโอฉบับเป็นกันเอง รวมถึงแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวประทับใจที่ตัวเองพบเจอในชีวิตประจำวัน

แม้จะดูเป็นหน้าใหม่ในวงการยูทูบเบอร์ แต่ชอเล่าว่าการหยิบจับเนื้อหาคอนเทนต์เป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยอยู่บ้างจากการทำงานเบื้องหน้าของรายการเคเบิลทีวีในอดีต ขณะนั้นกระแสของยูทูบเริ่มมา เขาและทีมเลยลองนำวิดีโอรายการและเนื้อหาที่ไม่ได้ออกทีวีมาเผยแพร่ในยูทูบเพื่อให้คนเห็นมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีทิศทางชัดเจน 

หลังจากโบกมือลากับที่ทำงานเดิม เขาก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ มาเปิดช่องตัวเอง แต่คล้ายกับใครหลายคน เมื่อมาลงมือทำเองทุกขั้นตอนก็ทำให้เขาประสบปัญหาเรื่องการค้นหารูปแบบช่อง เสียง และสไตล์ของตัวเอง นี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจสมัคร TMRW Creators Camp 2021 เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“ทุกเวิร์กช็อปคือตื่นเต้นหัวใจจะวาย” เขาเล่าแล้วขำ “แต่เวิร์กช็อปที่พิเศษที่สุดน่าจะเป็นเวิร์กช็อปที่สอง โจทย์คือให้หยิบสิ่งของที่อยู่รอบตัวมาทำเป็นคอนเทนต์ ผมก็เลยยึดเอาหลักการของโจทย์นี้มาใช้กับทุกโจทย์ต่อมาที่ได้รับมอบหมาย” ชอถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ

ชอทิ้งท้ายความประทับใจในการเข้าร่วมโครงการว่าช่วยให้เขาได้นำวิธีตัดต่อและสไตล์ที่เขาจินตนาการเลือนรางในความคิดมาทำจริง เป็นสนามทดลองที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจนทำให้รู้ว่าควรจะต้องปรับปรุงยังไง

“บางทีเราต้องการแค่แรงผลักเบาๆ อย่าง TMRW ที่มาแตะด้านหลังแล้วบอกว่าเอาสิ ทำเลย แล้วพอทำออกมาก็รู้แล้วว่าทำได้ ฉันยังทำได้อีกเยอะเลย ได้โปรดจัดแคมป์นี้ทุกๆ ปีเลยนะครับ ผมว่ามันน่าจะมีประโยชน์สำหรับใครหลายๆ คน”

‘ม่อนม่อน’ เพจการ์ตูนแก๊กสุดกวนของนักเขียนการ์ตูนที่ขี้เกียจที่สุดในปฐพี

ม่อน–กิติศักดิ์ เอสันเทียะ คือตัวตนเบื้องหลังของเพจ ‘ม่อนม่อน’ เพจนักเขียนการ์ตูนที่ขี้เกียจที่สุดในปฐพี เอกลักษณ์ของเพจคือการเล่าเรื่องราวใกล้ตัวกระตุกรอยยิ้มผ่านการ์ตูนแก๊กหน้าเดียว โดยมีดีเอ็นเอของความกวน

การ์ตูนของม่อนเคยอยู่ในหน้ากระดาษ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก เมื่อช่วงสิบปีก่อนก่อนเขาจะตัดสินใจกระโดดมาทำคอนเทนต์ในเฟซบุ๊กเพิ่มเติม “ด้วยความที่รูปแบบการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ของคนเปลี่ยนแปลง คนอ่านหนังสือน้อยลง การที่เขาต้องซื้อหนังสือเพื่อจะเห็นคอนเทนต์ของเรามันดูจะช้าเกินไปและก็น่าจะสร้างชื่อเสียงได้น้อยกว่าการทำคอนเทนต์ออนไลน์ รวมๆ ก็คืออยากดังครับ แต่ว่าทำมาตั้งนานแล้วก็ยังไม่ดังสักทีครับผม (หัวเราะ)” 

ม่อนเล่าเคล้าเสียงหัวเราะพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหลายๆ เพจการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ล้วนเน้นไปที่หัวใจอย่างคอนเทนต์มากกว่าความสวยงามของลายเส้น และเมื่อเขาคิดคอนเทนต์ไม่ออกเลยตัดสินใจสมัครเข้าร่วม TMRW Creators Camp 2021 เพื่อฝึกทักษะเพิ่มเติม

“ความประทับใจแรกที่มีต่อแคมป์คือการได้เห็นว่า ‘ทะเลมันใหญ่กว่าบ่อน้ำที่เราอยู่’ เราเหมือนปลาดุกตัวใหญ่ที่อยู่ในบ่อน้ำหลังบ้านและเพิ่งได้ว่ายออกไปสู่ท้องทะเลโดนปลาฉลามกิน นอกจากนี้พอได้เห็นความยอดเยี่ยมของเพื่อนๆ ในแคมป์ก็รู้สึกประทับใจมาก ผมเชื่อว่ามีคอนเทนต์ครีเอเตอร์อีกหลายคนที่ยังหาเข็มทิศในชีวิตของตัวเองไม่เจอคอนเทนต์เลยสะเปะสะปะ ถ้าเขาเกิดมีโอกาสได้เข้าแคมป์แบบนี้อีกน่าจะเกิดยอดนักทำคอนเทนต์อีกหลายคน 

“แต่ถ้าคุณเป็นสายการ์ตูนอย่าเข้ามานะ เดี๋ยวมาแย่งงานผม (หัวเราะ)” ม่อนทิ้งท้ายติดตลก


TMRW ยังคงมุ่งที่จะพัฒนาและสนับสนุน ทั้งในเรื่องการมอบโซลูชั่นทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ รวมถึงการจัดกิจกรรมอย่าง TMRW Creators Camp เพื่อสนับสนุนความฝันของคนรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จในอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์

สำหรับใครที่พลาดโอกาสสมัครเข้าร่วม TMRW Creators Camp ยังสามารถติดตามไฮไลต์ย้อนหลังประจำสัปดาห์รวมไปถึงคอนเทนต์ดีๆ ของแคมป์ได้ที่เพจ TMRW Thailand และ RAiNMaker

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ