คอนโดราคา 100 ล้านที่มีลิฟต์ยกรถขึ้นไปเก็บในตึกแบบอัตโนมัติ
ทริปเรือสำราญสุดหรู ค่าห้องเหยียบคืนละ 100,000 บาท
ซูชิโอมากาเสะระดับมิชลินหนึ่งดาวที่หนึ่งมื้อต้องจ่ายถึง 12,000 ต่อคน
คอนเทนต์ที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่การอวดอ้างความรวยของใคร แต่เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ที่ช่องยูทูบ BoomTharis พาไปสัมผัสโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาทผ่านไลฟ์สไตล์และความสนใจของ บูม–ธริศร ธรณวิกรัย รวมไปถึงพ่อแม่ พี่น้อง และคนรอบตัว
คงไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาวถึงความสำเร็จของเขาเพราะเพียงแค่ 3 ปีกว่าๆ ช่องของเขาก็มีคนกดติดตามถึง 1.27 ล้านคน คลิปที่มีคนดูมากที่สุดมียอดวิวถึง 7.2 ล้านวิว และเรียกตัวเองว่าทำงาน ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ได้อย่างเต็มตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เร็วๆ นี้ บูมถูกเชิญให้เป็น 1 ใน 11 สปีกเกอร์ของงาน TMRW Creators Camp 2021 แคมป์ที่เกิดขึ้นเพื่อผลักดันเหล่าครีเอเตอร์ให้เติบโตในวงการได้อย่างมีคุณภาพ
ซึ่งเขามาแชร์ประสบการณ์และเคล็ดลับ Storytelling ที่ตัวเองใช้จริง ประสบความสำเร็จจริง
ที่ผ่านมาคนมักนิยามช่องของเขาอย่างง่ายที่สุดว่าเป็นช่องไลฟ์สไตล์แบบ ‘หรูหรา’ เพราะแค่ทัมบ์เนลก็เห็นแล้วว่าคลิปหนึ่งเขาพาไปดูโครงการบ้านราคาหลักร้อยล้าน อีกคลิปพาไปกินอาหารติดดาวมิชลิน จากนั้นก็พาไปตัดสูทถึงลอนดอน หรือแม้กระทั่ง vlog ช่วงที่ต้องทำงานอยู่บ้าน คนก็ยังสังเกตเห็นว่าโต๊ะ เก้าอี้ทำงานทั้งชุดเป็นยี่ห้อที่บวกลบแล้วราคาหลักแสน!
แต่ไม่ใช่ว่าความหรูหราคือหัวใจ เพราะแน่นอนว่าทุกคลิปคอนเทนต์มีที่มาจากความสนใจ ความชอบ และความสนุกของบูมเอง ซึ่งเขาเล่าวิธีคิดและวิธีทำให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ในแคมป์ฟังแบบไม่หวง แต่เพราะมีครีเอเตอร์ที่พลาดการเข้าแคมป์ไปหลายคน เราจึงชวนเขามาแบ่ง Creator’s Stories ที่ใช้ประจำในการทำคอนเทนต์ผ่าน 3 ผลงานต่อไปนี้ เผื่อใครที่กำลังอยากเปิดช่อง หรือหาวิธีพัฒนาช่องของตัวเองอยู่จะหยิบไปปรับใช้ได้เลย
Creator’s Stories No.1 : ฮุกที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน
ใน TMRW Creators Camp 2021 บูมเข้าเรื่องแรกด้วยเทคนิคที่เขาใช้ในทุกคลิป นั่นคือ ‘ฮุก’ เครื่องมือกระตุกให้คนสนใจ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาแบบลงลึก
“ผมยอมรับว่าผมเป็นคนที่เอาราคามาพาดหัวและผมก็ตั้งใจด้วย” เขาบอกทันทีเมื่อเราพูดถึงแบรนดิ้งหรูหราของช่อง
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาสูงแบบไม่ธรรมดานั้นยั่วยวนให้หลายคนอยากกดคลิปเข้ามาดูเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังงานสถาปัตยกรรมและดีไซน์ละเอียดยิบของบ้านหรู หรือเรื่องราวกว่าวัตถุดิบโลคอลจะมาอยู่ในอาหารจานตรงหน้า
แต่ที่สำคัญกว่านั้นสำหรับบูมคือ ราคายังมีฟังก์ชั่นเป็น ‘มาตรฐาน’ ให้คนเข้าใจสิ่งที่เขาอยากเล่าได้ตรงกัน
“ผมคิดว่าตัวเลขเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน ไม่ว่าจะคุณจะรวยหรือจน คุณจะรู้ว่าเงิน 100 ล้านมีมูลค่าประมาณเท่าไหร่ แต่ถ้าสมมติผมพูดว่า ‘คอนโดหรู’ ภาพที่ทุกคนเห็นจะไม่ใช่ภาพแบบเดียวกันแน่
“ต้องยอมรับว่าราคามันมีผลกับความน่าสนใจ แค่บอกว่าบ้านราคา 100 ล้านมันก็น่าสนใจแล้วเพราะมันไม่ธรรมดา ตัวเลขเหล่านี้เป็นวิธีที่ผมใช้พูดกับคนดู เหมือนบอกว่าลองหันมาดูสิ่งที่ผมกำลังจะพูดหน่อยซึ่งพอเราพาเขาเข้ามาสู่โลกของเราแล้วผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะมานั่งบอกว่า โห มันแพงจังเลย แต่เราอยากจะบอกว่าที่มันราคาเท่านี้มันมีเหตุผลเพราะอะไร คุณค่าของมันคืออะไร สมมติถ้าคุณได้มาที่นี่ คุณต้องมาดูสิ่งนี้ที่ทำให้มันมีมูลค่า
“ดังนั้นเวลาจะทำคอนเทนต์เรื่องสถานที่ เกณฑ์หนึ่งที่ผมใช้เลือกคือราคา แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการหาสิ่งใหม่ที่ทำให้คนได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะสมมติว่าวันนี้ผมทำคอนเทนต์เรื่องบ้านราคา 100 ล้านไปแล้ว ราคานี้มันก็ไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป คนดูก็จะอยากรู้ว่าแล้วบ้านราคา 200 ล้าน 300 ล้านมันเป็นยังไงซึ่งผมไม่ได้หามาให้ทุกคนได้ตลอด (หัวเราะ) ดังนั้นพอเห็นบ้านที่น่าสนใจ ราคาไม่ธรรมดา ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องดูว่าราคานี้สมเหตุสมผลไหม เรามีอะไรไปตอบคนดูไหมว่าที่นี่ราคาแพงเพราะอะไร เช่น คอนโดนี้ราคา 50 ล้าน มันอาจจะไม่ได้แพงเท่าบ้านหลังที่แล้วนะแต่เขามีลิฟต์ที่ยกเอารถของตัวเองขึ้นไปจอดในบ้านได้
“หรือมีอยู่คลิปหนึ่งที่ผมชอบการเล่าเรื่องของตัวเองมาก เป็นคลิปที่เล่าเรื่องบ้านราคา 20-30 ล้าน มันอาจจะเทียบไม่ได้กับบ้านราคาร้อยล้านที่เราเคยทำมา แต่ว่ามันเป็นบ้านจัดสรรที่มีลูกศิษย์ของมาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) มาจัดบ้านให้ ผมยอมรับว่าเขาใช้เรื่องนี้เป็นมาร์เก็ตติ้งในการดึงให้คนมาสนใจ แต่ผมก็รู้สึกว่าแล้วมันมีใครทำมาร์เก็ตติ้งแบบนี้บ้าง ผมเลยอยากเอาเรื่องนี้มาเล่าให้คนฟังว่ามันมีคนทำแบบนี้ คนก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ผมก็ได้คนดูกลุ่มใหม่ด้วยที่เป็นคนที่ชอบจัดบ้านซึ่งมาดูวิดีโอนั้น”
Creator’s Stories No.2 : ความตื่นเต้นใหม่ในเรื่องเดิม
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เหมือนว่า ‘โอมากาเสะ’ หรือมื้อซูชิที่แค่เข้าไปนั่งเชฟจะเป็นผู้เสกทั้งมื้ออาหารให้ กลายเป็นคำที่เมนสตรีมขึ้นมา ชนิดที่พูดแล้วแทบไม่ต้องอธิบายความหมายกันต่อ
และถ้าจะให้เครดิตใครสักคนที่ทำให้คำนี้ฮิตติดปากขึ้นมาได้ หนึ่งในนั้นต้องมีช่องของบูม ธริศร แน่ๆ
“คอนเทนต์ที่มีคนขอมากที่สุดคือขอให้เราไปกินโอมากาเสะร้านต่อไปหน่อย” บูมเล่าให้ฟังถึงคอมเมนต์ที่เจอได้บ่อยที่สุดในช่อง ฟังแล้วก็ไม่น่าแปลกใจเมื่อคิดว่าเขาและพี่น้องคือคนกลุ่มแรกๆ ที่ทำคอนเทนต์แนะนำร้านโอมากาเสะอย่างจริงจัง เมื่อบวกกับรีแอ็กชั่นตาเป็นประกายของกลุ่มพี่น้องเวลาชิมซูชิแต่ละคำ คลิปโอมากาเสะก็กลายเป็นคลิปประเภทที่ลงทีไรก็มีคนดูเป็นล้านคนทุกที
ราคามื้ออาหารเป็นฮุกที่ดึงดูดใจก็จริง แต่สิ่งที่ทำให้คนดูชอบคลิปของเขาน่าจะเพราะวิธีการเล่ามากกว่า อย่างที่บูมเล่าในแคมป์ว่าเขามักจะวาง narrative structure หรือเส้นเรื่องในวิดีโอย่างละเอียดไม่ต่างจากคนทำหนัง ตั้งแต่การปูเรื่อง (set up) การสร้างปมขัดแย้ง (conflict) ไปจนถึงการคลี่คลายปมนั้นๆ (resolution)
แต่แล้วเมื่อทำคลิปแนะนำร้านซูชิและร้านอาหารญี่ปุ่นไปถึงจุดหนึ่ง เขาก็พบว่าคอนเทนต์อาหารญี่ปุ่นคงไม่ตอบโจทย์ความรู้เรื่องอาหารที่เขาและคนดูมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คอนเทนต์อาหารแบบใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตื่นเต้นใหม่ๆ ให้กับเรื่องอาหารที่เป็นหนึ่งในคอนเทนต์หลักของช่อง
และความตื่นเต้นแปลกใหม่นี่เองคือสิ่งที่เขาอยากแนะนำให้เหล่าครีเอเตอร์ลองหยิบไปใช้ดู
“ผมมักจะบอกทุกคนว่ากินโอมากาเสะร้านที่ 1 มันน่าตื่นเต้นมาก ร้านที่ 2 ยังตื่นเต้นอยู่ ร้านที่ 3 เริ่มเฉยๆ แล้ว จากนั้นรีแอ็กชั่นในร้านต่อๆ ไปจะเริ่มดรอปลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณจะยังอยากกินกับผมอยู่หรือเปล่า ผมไม่ได้นึกถึงแต่คนดูหน้าใหม่แต่นึกถึงคนดูกลุ่มเดิมที่เขาติดตามเรามาด้วย ถ้าเราต้องมานั่งอธิบายซ้ำเรื่องเดิมเขาก็คงเบื่อ ผมเลยต้องหาเรื่องมาเล่าให้คุณฟังเพิ่มขึ้น หรือจากที่เมื่อก่อนจะชอบตั้งประเด็นเกี่ยวกับราคาอาหารก็เริ่มเปลี่ยนแนวให้มีอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง ลองเล่าวัฒนธรรมการกินอีกแบบหนึ่งให้คนดู พอเราไปเจอของใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่ เราก็เอาเรื่องนี้มาเล่าให้คนดูฟัง ผมกับคนดูเรียนรู้ไปพร้อมกัน
“ผมคิดว่าพอเราแคร์คนดูกลุ่มเดิม มันมีข้อดีคือความรู้สึกใกล้ชิด เช่น เฮ้ย! ผมรู้ว่าคุณเคยดูเรื่องนี้มาแล้ว งั้นผมจะเล่าเรื่องต่อไปเลยนะ เหมือนเราเข้าใจกัน ซึ่งเขาก็จะตื่นเต้นในเรื่องที่เราตื่นเต้น เพราะมันก็เป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา”
Creator’s Stories No. 3 : ความจริงจังที่มากพอๆ กับจำนวนไลฟ์สไตล์
ใครเคยเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องการซื้อบ้านในอินเทอร์เน็ต มีโอกาสน้อยมากที่คุณจะไม่เคยเจอชื่อบูม ธริศร
ก่อนจะเปิดช่องของตัวเองในปี 2017 บูมเคยทำงานให้กับเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องบ้านชื่อ thinkofliving.com (นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงมีอินไซต์เรื่องสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน) อยู่หลายปีกระทั่งเริ่มอิ่มตัวกับเรื่องบ้าน แต่ยังอินเรื่องการเอาเรื่องสนุกๆ ที่ได้พบเจอมาเล่าให้คนดูฟังเขาจึงออกมาเปิดช่องของตัวเองในที่สุด
หลังจากคิดทบทวนไปมาถึงเรื่องชื่อของช่องใหม่ สุดท้ายชื่อ BoomTharis ก็ดูจะเป็นชื่อที่เหมาะกับการเล่าเรื่องไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากที่สุด
แต่อย่างที่รู้ ชีวิตของคนเรานั้นมีมากมายหลายมุมจนความตั้งใจที่ดูเรียบง่ายอย่างการเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองกลายเป็นเรื่องยากสำหรับครีเอเตอร์หลายคน เมื่อคอนเทนต์ไปแตะเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ทีจนคนดูสับสนตามว่าคอนเซปต์ของช่องพูดถึงเรื่องอะไรกันแน่
แล้วบูม ธริศรทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง–กิน เที่ยว ช้อปปิ้ง อยู่บ้าน ชงกาแฟ ขับรถ ฯลฯ–ให้ประสบความสำเร็จได้ยังไง?
“หมายถึงทำยังไงให้คอนเทนต์ของเราไม่จับฉ่ายใช่ไหม” หนึ่งในสปีกเกอร์ของ TMRW Creators Camp 2021 ถามกลับ
“ผมบอกได้เลยว่ามันจะดูจับฉ่ายครับ แต่เราจะต้องทำคอนเทนต์เรื่องนั้นให้บ่อยมากๆ จนคนดูรู้ว่าช่องนี้มันเป็นแบบนี้ ลองคิดง่ายๆ สมมติผมบอกว่าผมทำช่องเกี่ยวกับร้านอาหาร แต่คุณเปิดเข้าช่องผมมาแล้วเจอวิดีโอแค่ 3 ตัว มันอาจจะเป็นคอนเทนต์เรื่องร้านอาหารก็จริงแต่คุณจะรู้สึกไหมว่านี่เป็นช่องเกี่ยวกับร้านอาหาร ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเข้าช่องมาแล้วเจอวิดีโอเกี่ยวกับร้านอาหารอยู่ 20 ตัว คุณจะเริ่มรู้แล้วว่า อ๋อ ช่องนี้เขาพูดถึงร้านอาหารด้วย ต่อให้มันเป็นวิดีโอ 20 ตัวจากใน 100 ตัว ก็ตามแต่จำนวนนี้มันเยอะพอที่จะทำให้คนเห็นว่าคุณจริงจังเรื่องอะไร
“เพราะฉะนั้นยิ่งพูดถึงหลากหลายประเด็นมันก็ยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะดูจับฉ่าย สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ในช่วงแรกๆ คือรูปแบบการนำเสนอ เช่น สมมติว่าวิดีโอ 20 ตัวนี้เป็นวิดีโอคนละหัวข้อหมดเลยแต่มีรูปแบบเดียวกัน เช่น เป็น vlog หมดเลยหรือถ่ายเซลฟี่ตลอดทั้งทริป คนดูจะรู้สึกว่าคุณมีคอนเทนต์หลากหลายก็จริงแต่ว่าคุณมีรูปแบบแบบนี้ที่ทำให้เขาเข้าใจช่องของคุณมากขึ้น”
ถ้ายังไม่เห็นภาพ เขาขอให้เราลบภาพความสำเร็จตอนนี้ออกไปแล้วลองนึกถึงภาพช่องของบูม ธริศรในวันแรก ภาพที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ครีเอเตอร์ที่กำลังจะเริ่มต้นใหม่ในวันนี้ได้ดีที่สุด
“ณ วันแรกที่บูม ธริศรเริ่มช่องก็เหมือนกัน โอ้โห เดี๋ยวเราก็พูดเรื่องอสังหาฯ เสร็จปุ๊บไปกินโอมากาเสะ เสร็จปุ๊บมี vlog บูม ธริศรจับฉ่ายมากในช่วงแรกๆ ผมผ่านจุดนั้นมาก่อนแต่ผมรู้สึกว่าผมได้พิสูจน์ให้คนเห็นว่าเราก็จริงจังในแต่ละหมวดของคอนเทนต์ที่เราชอบนะ
“ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วคนดูเขารอดู commitment (ความจริงจัง) ของเราต่างหาก เช่น คอนเทนต์เรื่องต่างๆ ของคุณมาบ่อยแค่ไหน แล้วเขาก็จะไปนิยามเอาเองว่าช่องเราเป็นแบบไหน”
แล้วคุณล่ะนิยามช่อง BoomTharis ว่าอะไร
ลองย้อนกลับไปดูคอนเทนต์ของเขาอีกรอบแล้วหาคำตอบกัน
สำหรับใครที่พลาดโอกาสสมัครเข้าร่วม TMRW Creators Camp ยังสามารถติดตามไฮไลต์รวมไปถึงคอนเทนต์สร้างสรรค์ๆ ของแคมป์ได้ที่เพจ TMRW Thailand และ RAiNMaker