วิธีคิดเบื้องหลัง softpomz แชนแนลรีวิวของที่ขยันหาของแปลกมาป้ายยา

เครื่องสร้างดนตรีบนร่างกายมนุษย์, เซ็ตทุบหินเพื่อหาคริสตัลแท้ๆ จากถ้ำ, รถเรียงโดมิโน่อัตโนมัติ, ราเมงรสไอติม และปากกากินได้ เหล่านี้คือตัวอย่างคอนเทนต์รีวิวสุดแปลกจาก softpomz หรือ ซอฟ–โศภิษฐ์รสกร โชติธนฤทธิ์ ยูทูบเบอร์สาวที่มีการรีวิวเป็นเสมือนซิกเนเจอร์ประจำตัว 

แต่ที่จริง นอกจากคอนเทนต์รีวิวที่เธอทำจริงจังถึงขั้นสร้างแชนแนล SoftpomzChannel แยกมาเพื่อสรรหาของแปลกใหม่มารีวิวโดยเฉพาะ ในช่องหลักของเธอยังมีคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์จำพวกคลิปล้อเลียน พากิน ดื่ม เที่ยว เล่นชาเลนจ์ที่คอยสร้างสีสันให้แชนแนลอยู่ไม่ขาด แถมยังมีคนจำนวนมากคอยติดตามดูกิจกรรมที่เธอหยิบจับมาต่อยอดเป็นคอนเทนต์เยอะไม่แพ้การรีวิว

เพราะเบื้องหลังการทำคอนเทนต์และสร้างแชนแนลทั้งสองช่องให้มีคนติดตามได้กว่า 3 ล้านคน มีมากกว่าแค่ตั้งกล้อง ติดไมค์ แล้วหยิบสินค้าขึ้นมาเล่นโชว์ ในโอกาสที่เธอถูกเชิญไปเป็น 1 ใน 11 สปีกเกอร์ของงาน TMRW Creators Camp 2021 แคมป์สู่การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเล่าเคล็ดลับวิธีทำช่องให้ปัง ตอบคำถามตั้งแต่กระบวนการคิดคอนเทนต์ด้วยความครีเอทีฟ ไปจนถึงการดูหลังบ้านเพื่อให้ส่งสารถึงผู้ติดตามได้อย่างแม่นยำ เราจึงชวนเธอมาแบ่ง Creator’s Stories เปิดทริคนั้นอีกครั้งเป็นรอบเก็บตก เพื่อที่เหล่าครีเอเตอร์ที่พลาดแคมป์ไปจะได้นำไปต่อยอดใช้กับช่องของตัวเอง

Creator’s Stories No.1 : เห็นของน่าสนใจ เก็บข้อสงสัย ไปเมาท์กับคนดู

ในบรรดาสินค้าที่มีอยู่มากมาย ‘first impression’ คือเกณฑ์สำคัญที่ softpomz ใช้เป็นหลักในการเลือกหยิบสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งขึ้นมารีวิว ด้วยเพราะการรีวิวของเธอมีลักษณะเหมือนการชวนเพื่อนเมาท์ถึงความพิเศษที่ปรากฏอยู่บนตัวสินค้ามากกว่าจะบอกแค่คุณสมบัติหรือข้อมูลให้คนดูรับรู้เฉยๆ

“เราสนใจในดีไซน์และฟังก์ชั่นของมัน ถ้าสินค้าชิ้นนั้นทำให้เราสนใจหรือเอ๊ะได้ ซอฟว่ามันก็น่าจะมีอะไรให้เรานำไปต่อยอดเป็นคอนเทนต์ หรือมีเรื่องให้ไปชวนคุย ไปตั้งข้อสงสัยกับคนดูได้ต่อ เช่น สินค้าเป็นช้อนกินข้าวที่มีรูตรงกลาง เราก็จะ อ้าว แล้วจะกินยังไง มันจะเกิดคำถามตามขึ้นมา ซึ่งคำถามนี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะมีเรื่องราวไปถ่ายทอดและเล่าต่อ หรือถ้าเป็นสินค้าที่คนรีวิวกันเยอะมากอย่างไอโฟน วิธีเล่าของซอฟก็จะไม่ใช่การเล่าแบบ technical term แต่จะเป็นการเล่าแบบ แกๆ ตอนเราเด็กๆ มือถือที่มีเสาอากาศหรือมีแค่กล้องเดียวก็ไฮโซมากแล้วนะ ใครมันจะไปคิดว่าตอนนี้มือถือมันจะมีตั้งสามกล้อง ลองนึกดูสิ สามกล้อง มันเท่ากับว่าแต่ก่อนแกต้องพกเลนส์สามเลนส์เลยนะ” ซอฟอธิบายด้วยน้ำเสียงสดใส จำลองสถานการณ์ให้เราเห็นกันจะจะ

“เราจะใส่ความสนุกสนานลงไปด้วย ตอนที่เห็นของครั้งแรกแล้วตื่นเต้นยังไงซอฟก็อยากให้คนดูได้รับความตื่นเต้นแบบนั้น การมีความสุขในสิ่งที่ทำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เป็นหลักที่ซอฟใช้ในการทำงานเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าคุณทำคอนเทนต์รีวิวด้วยความรู้สึกว่าคุณไม่ได้มีความสุขในสิ่งที่ทำ นอกจากจะทำให้ไม่สามารถทำคอนเทนต์ได้ในระยะยาวเพราะไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เวลาเราพูดอะไรคนดูเขารับรู้ได้ถึงเอเนอร์จี้หรือประกายบางอย่าง ถ้าเรากำลังรีวิวหรือทำในสิ่งที่ไม่ได้อินก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนดูเขาจะหยุดดูเรา”

นอกจากนั้นซอฟยังบอกว่าเธอให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คำในการสื่อสารมาก เนื้อหาหรือประเด็นที่จะชวนคุยในการรีวิวสินค้าชิ้นนั้นๆ จะต้องไม่ไปสร้างความเจ็บปวด หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร

“ตอนนี้การรีวิว หรือการเป็นครีเอเตอร์สำหรับซอฟ มันอยู่ในสเตจของการทำเป็นงานแล้ว เราจึงต้องมีความเป็นมืออาชีพ ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ ของหนึ่งชิ้นมีมิติให้เล่าได้หลายแบบ มีมิติชวนคุยได้หลากหลาย เวลารีวิวซอฟจะเลือกใช้คำในการสื่อสารให้ดี เพราะสิ่งที่เราพูด อาจไปย่ำยีความรู้สึกของใครบางคนได้ ในเมื่อความตั้งใจของเราคืออยากจะเอนเตอร์เทน อยากจะสร้างความสนุกให้กับคนดู ดังนั้นเราจึงต้องตรองสารที่เราจะส่งออกไปให้ดี”

Creator’s Stories No.2 : เป็นตัวแทนออกไปสัมผัสประสบการณ์ที่คนดูไม่กล้าทำ

นอกจากคอนเทนต์รีวิวของเล่น หรือสินค้าแปลกๆ ในแชนแนล SoftpomzChannel ซอฟยังมีอีกหนึ่งแชนแนลคือ softpomz สำหรับคอนเทนต์ประเภทไลฟ์สไตล์ หรือก็คือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดจากความชอบ สิ่งที่สนใจ หรือกิจกรรมที่เธอไปทำมา แล้วนำมาเสนอผ่านมุมมองความเป็นตัว softpomz  

“ซอฟใช้หลักคิดคล้ายๆ กับตอนทำคอนเทนต์รีวิว คือคอนเทนต์ที่เราทำจะไม่ไปส่งผลกระทบทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี เช่น การไปคาเฟ่งู คลิปที่เราทำก็จะไม่ได้บอกว่า คนกลัวงูเป็นคนบ้า ชอบงูได้ยังไง แต่เราจะพูดในเชิงว่า เราเป็นคนกลัวงู แต่วันนี้เราจะลองมาเปิดใจ เรียนรู้ ทำความรู้จักสัตว์ชนิดนี้ดู เผื่อว่าเราจะรักงูได้เหมือนที่ทุกคนรัก หรือการกินน้ำแปลก มันก็จะเป็นน้ำโซดารสชาติแปลกๆ ที่มีวางขายอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราเอายาธาตุน้ำขาวมาปั่นกับทุเรียน แล้วใส่น้ำแดงให้มันแปลกเอง เราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะถ้าเกิดคนดูเขาเอาไปทำตามแล้วเขาไม่ปลอดภัยขึ้นมานั่นถือว่าเราเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความอันตรายต่อผู้อื่นเลย”

“สิ่งที่ซอฟทำมันคือการขายประสบการณ์กึ่งรีวิวให้ดูว่า เฮ้ย แก มันเป็นอย่างนี้ เหมือนเป็นตัวแทนหมู่บ้านที่ออกไปสัมผัสประสบการณ์นั้นๆ แทนคนดู แล้วเอามาแชร์ มาบอกต่อ โดยที่เราจะพยายามทำให้คนดูจับต้องได้ รู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วยกันกับเรา ใช้คำว่า แกคิดเหมือนกันไหม ถ้ารู้บอกหน่อย คีย์เวิร์ดเหล่านี้จะทำให้คนรู้สึกว่าเรากำลังคุยกับเขา ซึ่งจะยิ่งทำให้เขารู้สึกใกล้ชิดกับเรามากยิ่งขึ้น รู้สึกสนิท และอยากติดตามดูเราต่อ” 

ความสนิทใจนี้เอง ที่เมื่อผูกจับกับความเป็นตัวตนของครีเอเตอร์แต่ละคนแล้ว แม้จะเป็นคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกันอย่างกิน ดื่ม เที่ยว แต่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมคนดูจึงยังต้องมาดูคอนเทนต์นี้ในช่องของเธอต่อ 

“ซอฟมองว่าการรับมือและการแสดงออกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ในกรณีที่เราทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ขึ้นมาจากความสนใจของเรา แม้จะเป็นหมวดที่มีคนทำเยอะ แต่คนดูก็คงอยากจะเห็นว่าเราจะถ่ายทอดความเป็นตัวเองนั้นออกมายังไง ดังนั้น ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นตัวตน จึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ” ซอฟสรุปให้ฟัง

Creator’s Stories No.3 : ใช้ข้อมูลหลังบ้าน เป็นกุญแจไขเข้าไปในหัวใจคน 

ไม่เพียงคอนเทนต์ที่พาไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยกัน แต่คอนเทนต์หมวดไลฟ์สไตล์ของซอฟยังนับรวมไปถึงการเล่นชาเลนจ์ แข่งขันกันสนุกๆ ระหว่างทีมงาน เช่น รายการ #อะไรก็ไม่รู้ บนแชนแนลเธอเอง

หลักคิดของรายการนี้เกิดขึ้นจากว่า นอกเวลางานซอฟและเพื่อนๆ ทีมงานรักในการดูการ์ตูนอนิเมะเป็นชีวิตจิตใจ และเริ่มต้นอวดกันว่าใครดูเยอะกว่ากัน หรือหากฟังเพลงประกอบจะตอบได้หรือเปล่าว่าเพลงนี้เป็นของการ์ตูนเรื่องใด จึงเกิดเป็นคอนเทนต์ใหม่ ที่เธอและเพื่อนจะมาแข่งวัดความเป็นแฟนพันธุ์แท้ โดยตั้งใจว่าจะทำขึ้นเพื่อความสนุกของตัวเองและกลุ่มเพื่อนเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรมากมาย แม้แต่ชื่อรายการก็ยังเป็นอะไรก็ไม่รู้ 

“ตอนที่ทำซอฟไม่รู้เลยว่าวงการอนิเมะไทยมีคนเสพมากน้อยแค่ไหน เราทำไปด้วยความชอบ แต่ไม่ได้มั่นใจเรื่องยอดเลย จนกระทั่งพบว่าฟีดแบ็ดดีกว่าที่คิดมากๆ กลายเป็นเราได้เปิดกลุ่มความสนใจใหม่ๆ คนที่ดูการ์ตูนเยอะๆ เหมือนเราแล้วไม่รู้จะไปคุยกับใครก็มาดูเรา อย่างคลิปชาลเลนจ์เราแข่งกันกับเพื่อนก็จริง แต่ในความเป็นจริงคนดูเขาก็เล่นไปพร้อมๆ กับเราด้วย ทำให้เขามีเอนเกจเมนต์กับเราผ่านคอมเมนต์ต่อไปอีก

“คอนเทนต์รูปแบบนี้ไปทัชกับความเป็นมนุษย์ของคน ตรงกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะชื่นชอบการแข่งขัน” เธอบอกพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะเล่าให้ฟังถึง 3 องค์ประกอบที่ซอฟมองว่าจะช่วยส่งให้คอนเทนต์ที่ทำนี้ทัชใจคนยิ่งขึ้นไปอีก หรือก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ซุปวิวดี’ ที่เธอนำมาเล่าในแคมป์นั่นเอง

หนึ่ง ทัชใจคนด้วยคีย์เวิร์ด เช่น ตอนนี้คนกำลังสนใจเรื่องเซิร์ฟสเกต การที่เราตั้งชื่อโดยใช้คำเหล่านี้ก็จะเพิ่มแนวโน้มให้คนอยากเข้าไปดู 

สอง ทัชใจด้วยทัมบ์เนลที่น่ากด นอกจากชื่อที่เขาสนใจแล้วทัมบ์เนลยังดึงดูด อยากกดเข้าไป

และทัชที่สาม คือเนื้อหาคอนเทนต์ที่ดึงดูดความสนใจคน 

“จะเห็นเลยว่ากว่าคนจะได้ดูคอนเทนต์ของเราเราต้องทำให้เขาผ่านสองด่านแรกมาให้ได้ก่อน เช่น เราทำคอนเทนต์จากการ์ตูนเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร เพราะด้วยความที่มันเป็นการ์ตูนที่ดังมาก เราจึงคิดว่ามีโอกาสที่คนดูจะทัชได้มากตาม แต่ถ้าหน้าปกเราไปแปะเป็นรูปปิกาจู คนที่เขาสนใจเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร เขาเจอรูปนี้เขาก็คงไม่กดเข้ามาดู เพราะเขาไม่รู้ว่าข้างในจะมีสิ่งที่ตรงกับสิ่งที่เขาสนใจหรือเปล่า ดังนั้นเราจึงต้องใส่สิ่งที่จะทำให้เขาทัชได้แฝงอยู่ในทุกสเตจ” 

ซึ่งวิธีการตรวจเช็กว่าสิ่งที่ทำกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือดึงดูดใจคนมากพอหรือยัง ก็คือการใช้ข้อมูลหลังบ้านมาประกอบ

“ข้อมูลหลังบ้านเป็นตัวบอกว่ามีคนสนใจเราเยอะแค่ไหน ทัมบ์เนลของเราน่าดึงดูดหรือเปล่า ยอดวิวที่มีเขาดูคลิปเราจริงๆ ใช่ไหม หรือแค่หลงเข้ามาเพราะแท็กและคีย์เวิร์ดแต่สุดท้ายไม่ได้ดูคอนเทนต์ของเรา ซอฟมองว่าการที่เรามองความสำเร็จของคลิปว่ายอดวิวเยอะ มีคอมเมนต์ มันเป็นการวัดผลที่ตื้นไปแล้วกับยุคปัจจุบันที่แพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นสื่อหลัก ในเมื่อหลังบ้านเขามีเครื่องมือที่ช่วยซัพพอร์ตเราขนาดนี้ และเราอยากจะทำตรงนี้เป็นอาชีพ ก็น่าจะต้องศึกษามันหน่อย เพราะถ้าเราอ่านสถิติหลังบ้านได้ เราจะสามารถเห็นทิศทางในการทำแชนแนลไปได้ถูกทาง”

และเมื่อทำให้คนสนใจได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ซอฟฝากไว้คือต้องพัฒนาและทำการบ้านกับคอนเทนต์นั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีกด้วย อย่างการเตรียมโจทย์ต่างๆ ก็ใช่ว่าจะให้ใครก็ได้มาเตรียม เพราะอย่าลืมว่าเรากำลังพูดคุยกับคนที่ชอบเรื่องนี้เหมือนๆ กัน เป็นต้น

จากเคล็ดลับทั้งหมดที่เธอว่ามา ช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นเลยว่าการจะทำวิดีโอคอนเทนต์ให้ปังไม่สามารถเกิดขึ้นได้แค่การตั้งกล้องถ่ายแล้วพูดสิ่งที่คิด แต่ทุกขั้นตอนต้องผ่านการวางแผนและเตรียมการมาอย่างดี ไม่ว่าจะในแง่ของข้อมูล การนำเสนอ ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้าน ซึ่งหากคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นครีเอเตอร์ทดลองทำตามสิ่งที่เธอหยิบมาเล่าให้ฟังแบบไม่หวงนี้ดู การเป็นครีเอเตอร์มืออาชีพคงไม่ไกลเกินฝัน 



สำหรับใครที่พลาดโอกาสสมัครเข้าร่วม TMRW Creators Camp ยังสามารถติดตามไฮไลต์รวมไปถึงคอนเทนต์ดีๆ ของแคมป์ได้ที่เพจ TMRW Thailand และ RAiNMaker

AUTHOR