วิธีคิดที่ทำให้ spin9 กลายเป็นช่องที่หลายคนเชื่อและชอบจนกลายเป็น super loyalty fan

“สวัสดีครับ ผมอู๋ spin9 ครับ”

สำหรับใครที่สนใจแวดวงไอที ยานยนต์ หรือเครื่องบิน เราเชื่อว่าแทบทุกคนน่าจะรู้จัก อติชาญ เชิงชวโน หรือ ‘อู๋ spin9’ ผู้ที่มักหยิบประสบการณ์และเรื่องราวของทั้ง 3 แวดวงมาบอกเล่ากึ่งรีวิวให้กับผู้ชมได้รับรู้ผ่านวิดีโอคอนเทนต์ ทั้งเนื้อหาที่ถูกใจ โปรดักชั่นที่สวยงาม และความเพลิดเพลินยามรับชม ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัจจุบัน spin9 มีผู้ติดตามกว่าครึ่งล้าน จนไม่ว่าเขาจะพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไร ทุกคนก็พร้อมดู ฟัง เชื่อ และซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นตามที่อู๋แนะนำ

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่เพราะหัวเรื่องเหล่านี้หรอกที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เพราะถ้าพินิจดูเนื้อหา โปรดักชั่นและความเพลิดเพลินที่ถูกถ่ายทอดออกมา ทั้งหมดล้วนมีความเป็นอู๋และวิธีคิดของเขาที่เป็นดั่งสูตรสำเร็จของช่องซ่อนอยู่ทั้งหมด

spin9

และด้วยเรื่องราวสูตรสำเร็จนี้เอง ที่ทำให้อู๋ถูกเชิญไปสอนและแชร์ประสบการณ์ที่งาน TMRW Creators Camp 2021 โครงการที่เปิดโลกสู่เส้นทางครีเอเตอร์มืออาชีพให้กับครีเอตอร์หน้าใหม่ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตัวท็อปของไทยคนหนึ่ง โดยเฉพาะในสายรีวิวเทคโนโลยี สายการบินชั้นหนึ่ง หรือสินค้าลักซ์ชัวรีต่างๆ ซึ่งในแคมป์นี้นอกจากได้สาระไปเต็มๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสได้แบ่งเวิร์กช็อปเป็นกลุ่มย่อยๆ เรียกได้ว่าถาม-ตอบอย่างใกล้ชิดกันอย่างจุใจ

ในวันนี้เราชวนอู๋มาแชร์ Creator’s Stories เคล็ดไม่ลับในการทำคอนเทนต์ 3 ข้อ ซึ่งรับรองว่าสิ่งที่อู๋เล่าให้เราฟังนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแน่นอน

Creator’s Stories No.1 : รู้ให้เยอะกว่าเรื่องที่เล่า และต้องเยอะกว่ามากๆ ด้วย

“คอนเทนต์ครีเอเตอร์มีหลายแบบ แต่ผมคิดว่าตัวเองเป็น Informative Content Creator หรือครีเอเตอร์เชิงข้อมูลนะ” ก่อนจะเริ่มเฉลยวิธีการทำงาน อู๋บอกกับเราด้วยประโยคข้างต้นและอธิบายต่อ

“ปกติผมไม่ใช่คนอ่านหนังสือแต่ผมเป็นคนอ่านข้อมูล อย่างเวลาอ่านอะไรไม่เข้าใจ ด้วยนิสัยผมเป็นคนหยิบเอาความสงสัยนั้นไปหาคำตอบต่อเพื่อเสริมให้ตัวเองเข้าใจทั้งหมด รู้ให้ลึกที่สุด ดังนั้นพอมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตัวตนของผมก็ถูกส่งผ่านออกไปด้วย”

นี่เองคือเคล็ดลับข้อแรกที่อู๋แนะนำกับเรารวมถึงในงาน TMRW Creators Camp 2021 เพราะจากตัวตนตั้งต้นนี้ เขาบอกเราว่ามันทำให้เขายึดถือเรื่องการเตรียมตัวเพื่อความถูกต้องของข้อมูลเป็นอันดับต้นๆ ในการผลิตคอนเทนต์ ไม่ว่าจะพูดหรือนำเสนอด้วยภาพแบบไหน สิ่งที่ออกมาทั้งหมดต้องมีข้อมูลซัพพอร์ตและเชื่อถือได้ นั่นทำให้บางครั้งประโยคแค่ครึ่งบรรทัดเขาต้องใช้เวลาเป็นวันเพื่อทำให้แน่ใจในการพูดออกมา

spin9

“ผมยกตัวอย่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับแวดวงเทคโนโลยีแล้วกัน สมมติว่าผมต้องรีวิวหูฟังไร้สาย ถ้าสมมติว่าผลิตภัณฑ์นี้เขียนมาว่า ‘มีเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีเจ้าไหนใช้มาก่อน’ ด้วยความเป็นผม ผมจะไม่เล่าออกไปทั้งอย่างนั้น แต่ผมจะเช็กข้อมูลก่อน

“เพราะคำว่า ‘ไม่เคยมีเจ้าไหนใช้มาก่อน’ สิ่งที่ผมต้องหาข้อมูลเพิ่มคือคำพูดนี้เป็นคำพูดที่จริงไหม ถ้าจริงแล้วเจ้าอื่นล่ะ เขาใช้อะไร เทคโนโลยีนี้แตกต่างกับเทคโนโลยีอื่นแบบไหน ดี-เสียต่างกันยังไง ซึ่งเอาแค่ประโยคนี้ผมก็ต้องใช้เวลาหาข้อมูลเป็นวันแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนได้ยินแค่ครึ่งประโยคบางมันมาจากเวลาการเตรียมตัวที่มากกว่านั้นมากหรือมาจากความรู้ทั้งชีวิตที่ผมศึกษามาเลย ดังนั้นไม่ว่าจะแวดวงไอที ยานยนต์ หรือเครื่องบินที่ผมสนใจและทำเป็นคอนเทนต์ ผมจะซีเรียสกับเรื่องนี้มากๆ”

spin9

และสิ่งนี้เองที่นำไปสู่คำตอบของคำถามที่หลายคนสงสัยว่าก่อนถ่ายทำควรมีสคริปต์หรือไม่ อู๋เองหยิบประเด็นนี้มาแชร์ในแคมป์ว่าสำหรับเขา การเขียนสคริปต์ก็เหมือนการทำการบ้านเพื่อให้รู้ได้เยอะที่สุดและสร้างความเชื่อน่าเชื่อถือให้กับคนดู ทั้งยังช่วยเสริมความมั่นใจขณะที่เล่าด้วย

“ในมุมมองคุณ ทำไมข้อมูลถึงสำคัญ” เราถามให้อู๋สรุปความคิด

“ผมมองว่ามันคือการรู้ให้ลึกและกว้างที่สุดเพื่อที่จะได้เลือกเรื่องเล่าที่เหมาะสม”

และนี่เองคือเทคนิคข้อต่อไปของเขา

Creator’s Stories No.2 : เล่าให้น้อยกว่าเรื่องที่รู้ แต่ต้องตรงกับความต้องการของคนฟัง

“หลังจากรู้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะพูดถึงของชิ้นไหน จำเป็นมากที่ผมจะต้องรู้ว่าคนดูคือใคร เพื่อที่ผมจะได้จำลองตัวเองเป็นเขาและเลือกคอนเทนต์ที่มีอยู่ในหัวให้ถูกต้องกับสิ่งที่เขาอยากรู้”

แน่นอนว่าการพูดถึงข้อมูลที่คนฟังอยากรู้อาจฟังดูไม่ใช่เทคนิคที่ใหม่อะไร แต่อู๋บอกกับเราว่าในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แท้จริงแล้วหลักการนี้ทำได้ยากมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากการพูดให้โดนใจแล้ว สำหรับเขา ‘การไม่พูดในบางเรื่อง’ ก็รวมอยู่ในหลักการข้อนี้เช่นกัน 

“ยกตัวอย่างเช่นหูฟังอีกครั้ง สมมติเป็นหูฟังไร้สาย สำหรับผมมีแง่มุมให้เล่าถึงเรื่องนี้เยอะมาก เช่น ผมสามารถเล่าประวัติศาสตร์หูฟังก็ได้ เล่าเทคโนโลยีของมันก็ได้ เล่าเวอร์ชั่นบลูทูธของมันก็ได้ เล่าได้หมดเลย แต่ถ้าเล่าทั้งหมดนี้ผมว่า 15 นาทีผ่านไปก็ไม่ถึงความเป็น ‘หูฟัง’ สักที และคนดูจะเริ่มรู้สึกแล้วว่าผมไม่ใช่เพื่อนเขา ผมไม่รู้ความต้องการของเขา

“กลับกันถ้าผมเล่าถึงคุณภาพเสียง เล่าถึงความสะดวกตอนใช้ เล่าถึงความยาวในการใช้ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ผมคิดว่านี่คือแง่มุมที่ควรพูดมากกว่า เพราะคนดูจะรู้สึกว่าผมอยู่ข้างเขา ผมมาตอบความสงสัยให้เขา และผมรู้จักเขา”

เพราะความเชื่อนี้เองที่ทำให้วิดีโอของ spin9 ทุกตัวมักใช้เวลากับขั้นตอนการเตรียมสคริปต์นานที่สุด อู๋บอกว่าเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเขียนสิ่งที่คนต้องการลงไปในสคริปต์วิดีโอความยาวไม่ถึง 10 นาที และนั่นไม่ได้แค่เฉพาะเรื่องไอทีเท่านั้น จะเป็นคอนเทนต์ยานยนต์หรือเครื่องบินเขาก็เน้นตรงจุดนี้ไม่ต่างกัน

“อย่างเวลาผมต้องรีวิวรถสักคัน ถามว่าผมจะรีวิวตามขั้นตอนปกติก็ได้นะ ก็ถ่ายด้านหน้ารถ ด้านข้างรถ ด้านหลังรถ ในตัวรถ และลองขับให้ดู บางทีเท่านี้ก็อาจพอแล้ว แต่มันก็จะกลับไปที่เรื่องเดิมว่าถ้าผมนำเสนอแบบนี้ ผมจะดูเป็นนักเล่าเรื่องที่ไม่เข้าใจคนฟังทันที

“ดังนั้นถ้าผมต้องรีวิวรถ ผมจะดูก่อนว่ารถนี้กลุ่มคนซื้อจะเป็นใคร อย่างสมมติเป็นซูเปอร์คาร์ แน่นอนว่าคอนเทนต์ที่ผมพูดต้องเป็นเรื่องราคาหรืออัตราการเร่งความแรง แต่ถ้าเป็นซิตี้คาร์ สิ่งที่ผมห้ามลืมพูดเด็ดขาดคืออัตราการเผาผลาญน้ำมัน ซึ่งในทางกลับกัน ถ้าผมพูดเรื่องอัตราการเผาผลาญน้ำมันตอนรีวิวซูเปอร์คาร์ นั่นก็ไม่ได้เหมือนกัน

“เพราะสำหรับผม การที่เราเล่าเรื่องให้ตรงกับความต้องการของคนดูนั้นจะนำมาซึ่งความเชื่อใจ และความเชื่อใจคือสิ่งที่สำคัญกับครีเอเตอร์มากๆ มันทำให้คนจำเราได้และเป็น super loyalty fan ในที่สุด”

Creator’s Stories No.3 : อย่าหยุดเล่า อย่าหยุดรู้ และอย่าหยุดพัฒนา

จาก 2 เคล็ดลับที่เล่าไปข้างต้น นั่นเองคือลายเซ็นที่หลายคนจำ spin9 ได้ เพราะถ้าลองไปดูคอมเมนต์ในทุกๆ วิดีโอของเขา เสียงชื่นชมในแง่เนื้อหาที่ลึกและถูกใจถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ใครหลายคนสถาปนาตัวเองเป็นแฟนของช่องนี้

แต่นอกจากความยอดเยี่ยมที่ตัวเองเคยได้สร้างไปแล้ว อู๋บอกว่าหลักคิดต่อจากนั้นถือเป็นอีกหนึ่งชี้เป็นชี้ตายในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์เช่นกัน

“แม้จะได้ความมั่นใจจากคนดูมาแล้ว ผมคิดว่าอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าลืมเตือนตัวเองว่าเรายังคงตัวเล็กมาก และอย่าทำให้ยอดผู้ติดตามหรือเงินมาทำให้เราตัวใหญ่ขึ้นจนพูดอะไรก็ได้ 

“เช่น สมมติมีปากกาด้ามหนึ่งมาจ้างให้ผมรีวิว เมื่อลองแล้วผมเจอข้อดีของมันทุกอย่างเลย เขียนง่าย น้ำหนักเบา สวย แต่มีข้อเสียแค่จุดเดียวคือเวลาใช้หมึกจะเลอะมือ ถามว่าผมไม่พูดเรื่องนี้ได้ไหมด้วยความเกรงใจที่มีต่อลูกค้า ก็ได้นะ แต่ผมไม่ทำ 

“ผมคิดง่ายๆ ว่าถ้าคนดูคลิปนี้ 50,000 คนแล้วขอแค่ 50 คนก็พอที่จะซื้อปากกาตามคำพูดของผม ผมจะเห็นภาพพวกเขาทำปากกาเลอะมือและสงสัยว่าทำไม spin9 ไม่เตือนเรื่องนี้ นั่นเท่ากับว่าผมเสียคนดูไปแล้ว 50 คน ดังนั้นผมจะไม่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเด็ดขาด”

เพราะหลักคิดตรงนี้เองที่ทำให้ปัจจุบัน spin9 ยังคงรักษามาตรฐานของตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอ แถมยังพัฒนาขึ้นไปในทุกๆ ด้าน และอู๋มองว่าสุดท้ายทุกเทคนิคจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าครีเอเตอร์ขาดความสม่ำเสมอและความตั้งใจดีในการนำเสนอมันออกมา

“ถ้าเปรียบเป็นร้านเค้กที่มีร้านเค้กสวยกับร้านเค้กอร่อย ผมคิดว่าตัวเองเป็นร้านเค้กอร่อยแล้ว แต่ผมก็กำลังพัฒนามันให้เป็นทั้งเค้กที่อร่อยด้วยและสวยด้วย

“ทุกวันนี้ผมจึงไม่เคยปล่อยผ่านคอนเทนต์ที่ผิดหรือคิดว่าน่าเบื่อเลย ผมยังคงชอบในสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ และยังคงตรวจคอนเทนต์โดยจินตนาการตัวเองเป็นคนดูอย่างสม่ำเสมอ ผมยังหาวิธีพัฒนาคอนเทนต์อยู่ตลอด ทั้งคุณภาพโปรดักชั่นไปจนถึงวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ขึ้น อย่างล่าสุดผมก็เพิ่งไปเรียนดริฟต์รถกับขับเครื่องบินเพราะความชอบและเพื่อจะได้รีวิวได้จริงมากขึ้น  

“ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างคอนเทนต์ที่ลงตัวทั้งนั้น และนั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องมี” อู๋สรุปให้เราฟัง


สำหรับใครที่พลาดโอกาสสมัครเข้าร่วม TMRW Creators Camp ยังสามารถติดตามไฮไลต์รวมไปถึงคอนเทนต์ดีๆ ของแคมป์ได้ที่เพจ TMRW Thailand และ RAiNMaker

AUTHOR