คุยกับบ๊อบ วรากฤช แห่ง V.A.C. แบรนด์สตรีทแวร์หัวขบถที่ผสานการเมืองเข้ากับสตรีทแฟชั่น

Highlights

  • V.A.C. คือแบรนด์สตรีทแฟชั่นหัวขบถของ บ๊อบ–วรากฤช วิวัฒนาเกษม ที่เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะดร็อปคอลเลกชั่นสุดกวนที่คอลแล็บกับเพจล้อการเมืองชื่อดังอย่าง NARUTU และขายหมดเกลี้ยงในวันเดียว
  • แรกเริ่มร้านมีสโลแกนว่า ‘Strip in, Swag out’ คือพยายามจะเป็นสถานที่ที่ต่อให้คุณไปโดนปล้นมาจนไม่เหลืออะไร แต่ถ้าคุณเดินเข้ามาใน V.A.C. คุณก็จะสามารถออกจากร้านเราไปแบบเท่ๆ ได้เลย
  • V.A.C. กำลังจะไปในทิศทางที่ไม่ใช่แค่เป็นร้านรองเท้าอีกต่อไป ภายใต้ฉากหน้าที่ดูไม่ซีเรียสจริงจัง กลับคือความพยายามที่จะผสานประเด็นทางการเมืองเข้ากับสตรีทแฟชั่นอย่างแนบเนียน

“ตุลาฯ นี้ก็จะครบรอบสิบปีพอดี” คือคำตอบของ บ๊อบ–วรากฤช วิวัฒนาเกษม ต่อคำถามที่ว่า ร้าน V.A.C. เปิดมาแล้วกี่ปี

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา บ้างอาจจดจำ V.A.C. ในฐานะศูนย์รวมรองเท้าบาสเกตบอลใจกลางสยาม บ้างอาจมองว่า V.A.C. เป็นร้านขายสินค้าสตรีทแวร์สุด swag และบ้างก็อาจรู้จัก V.A.C. ในฐานะแบรนด์สตรีทแฟชั่นหัวขบถ ที่เมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งจะดร็อปคอลเลกชั่นสุดกวนที่คอลแล็บกับเพจล้อการเมืองชื่อดังอย่าง NARUTU และขายหมดเกลี้ยงในวันเดียว

ความยียวนก็เรื่องหนึ่ง แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกหน่อยจะพบว่าภายใต้ฉากหน้าที่ดูไม่ซีเรียสจริงจัง กลับคือความพยายามที่จะผสานประเด็นทางการเมืองเข้ากับสตรีทแฟชั่นอย่างแนบเนียน นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่เราอยากจะนั่งพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ V.A.C. ขึ้นมาโดยทันที ไม่ว่าจะต่อประเด็นที่เขาคือหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการสตรีทแฟชั่นของประเทศไทย ต่อการที่เขาปลุกปั้น V.A.C. จนกลายเป็นแบรนด์สตรีทแวร์อันดับต้นๆ และต่อความมุ่งมั่นของเขาที่อยากจะให้วงการสตรีทหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น

นี่คือบทสนทนาของเรากับชายหนุ่มที่ใครๆ รู้จักเขาในชื่อบ๊อบ V.A.C.

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน คุณคิดอะไรในวันที่เปิดร้าน V.A.C.

เราไม่ได้คิดอะไรเลย แค่รู้สึกว่า ณ ตอนนั้นมันไม่มีร้านรองเท้าที่สเกลใหญ่ หมายความว่า มันไม่มีร้านใหญ่ๆ สำหรับรองเท้าแฟชั่น เมื่อสิบปีก่อนสนีกเกอร์และสตรีทแวร์มันเบบี๋มาก ยังไม่มีคำว่าสตรีทแวร์ในประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับเราที่ไปเรียนเมืองนอกมาตั้งแต่เด็กๆ และทำงานอยู่กับ Nike ประมาณห้าปี ได้มีโอกาสเดินทางค่อนข้างบ่อย เราพบว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์กลับมีช็อปรองเท้าผ้าใบที่ไม่ใช่รองเท้ากีฬา แต่เป็นรองเท้าผ้าใบแฟชั่นเยอะมากๆ นั่นเท่ากับว่าการใส่รองเท้าผ้าใบในชีวิตประจำวันในประเทศเหล่านี้มันได้รับการยอมรับ

ด้วยความที่ไลฟ์สไตล์ของเราไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่ชอบถูกตีกรอบ การใส่สูทผูกไทด์ไปทำงานมันไม่เคยอยู่ในหัว ยิ่งพอทำงานกับ Nike ซึ่งลูกค้าที่เราดูแลบางเจ้าเป็นร้านสนีกเกอร์ แต่ก็จะเป็นแค่ร้านเล็กๆ ซีเลกชั่นของรองเท้ายังไม่เยอะ เราเลยมองว่าตรงนี้แหละคือโอกาส จนเกิดเป็นร้าน V.A.C. ในที่สุด

 

นิยามของร้าน V.A.C. ในวันนั้นคืออะไร

ตอนนั้นเรามีสโลแกนว่า ‘Strip in, Swag out’ คือพยายามจะเป็นสถานที่ที่ต่อให้คุณไปโดนปล้นมาจนไม่เหลืออะไร แต่ถ้าคุณเดินเข้ามาใน V.A.C. คุณก็จะสามารถออกจากร้านเราไปแบบเท่ๆ ได้เลย

ช่วงที่เปิดร้านใหม่ๆ คุณกลัวว่าร้านจะไปไม่รอดไหม

คำว่ากลัวไม่เคยมีอยู่ในหัวนะ แต่ถามว่าคิดถูกหรือเปล่า นั่นเป็นคำถามที่เราถามตัวเองมาตลอดสิบปี เพราะว่าธุรกิจที่เรามอง เราไม่ได้มองว่าทำหนึ่งปีผ่านไปแล้วมันสำเร็จ หรือสามปีผ่านไปแล้วมันสำเร็จ แต่ทุกๆ ปีที่ผ่านไปมันเป็นก้าวเล็กๆ ที่ก้าวไปเรื่อยๆ

พูดตรงๆ คือเราไม่รู้หรอกว่าอีกห้าปีต่อจากนี้ภาพของร้าน V.A.C. ที่มีในหัวมันคืออะไร เราเองก็ยังตอบไม่ได้ เพราะช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมามันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ร้านเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันถูกบีบด้วยสถานการณ์จากภายนอก มันถูกบีบด้วยการเติบโตของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นต่อให้วันนี้เราบอกว่าในอีกห้าปี V.A.C. จะเป็นแบบนี้นะ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ระหว่างทางมันอาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงเราไปอีกก็ได้

อย่างเช่นในช่วงที่เรากำลังจะเปิดร้าน V.A.C. เซ็นสัญญาเสร็จแล้วยังไม่ทันเปิดเลย ปรากฏว่ามีม็อบ สยามถูกปิด เปิดร้านไม่ได้ แต่งร้านไม่ได้ เราเริ่มต้นโดยการเสียค่าเช่าฟรีๆ ไปประมาณสามเดือน

 

เป๋ไหม

ไม่ได้เป๋ มันอาจมีความเหนื่อยแหละ แต่นั่นคือการทำงาน ส่วนหนึ่งเราอาจโชคดีที่ได้ทำงานกับ Nike ซึ่งหล่อหลอมว่าการทำงานจริงๆ มันเป็นยังไง เราเคยทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงห้าทุ่มโดยที่ไม่มีโอที ทำงานโดยที่รู้สึกสนุกกับงานในระดับที่เงินเดือนไม่ได้สำคัญกับเราจริงๆ แต่นั่นเพราะเราโชคดีด้วยที่ไม่ได้มีรายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบมากนัก สำหรับเราช่วงเวลาที่ทำงานกับ Nike มันทำให้รู้ว่ายิ่งทำงานหนักสุดท้ายไม่ว่าเราจะอยู่ไหน ความสามารถและประสบการณ์มันก็จะยังอยู่กับเรา เรานำอะไรหลายๆ อย่างที่ได้รับจากช่วงที่ทำงานอยู่ Nike มาปรับใช้กับการทำงานทุกวันนี้

 

เช่นอะไรบ้าง

หลักๆ เลยคือ ถ้าอยากจะสำเร็จก็ต้องทำงานหนัก การที่ได้ทำงานกับคนขยัน เก่ง และมีมายด์เซตที่ดีถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีสำหรับเรามาก เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้พบกับอะไรเหล่านี้ อีกเรื่องคือห้าปีที่เราทำงานกับ Nike เราได้ทำงานทั้งในแผนกรีเทล แผนกเซลส์ และแผนกมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องโชคดีที่ได้ทำงานทั้งสามแผนกนี้ เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจน่ะ คุณจะเก่งแค่ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ จะขายเก่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงให้ลูกค้ามาซื้อของที่ร้านล่ะ คุณก็ต้องรู้เรื่องมาร์เก็ตติ้ง คุณต้องรู้ว่าการตลาดคืออะไร แตกต่างจากการขายยังไง รวมไปถึงการได้คลุกคลีกับงานรีเทลอย่างงานจัดการสินค้าหน้าร้านก็มีประโยชน์กับเรา ประสบการณ์ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด

ในฐานะที่คุณคลุกคลีอยู่กับวงการสตรีทแวร์ในประเทศไทยมากว่าสิบปี คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างของวงการสตรีทแวร์ในอดีตและปัจจุบัน

เราคิดว่าเหตุผลที่คนเข้ามาในวงการสตรีทแวร์มันเปลี่ยนไป อย่างในช่วง 3-5 ปีแรกของ V.A.C. คนที่ซื้อรองเท้าเพราะใจรักมีมากกว่าตอนนี้เยอะ แต่ปัจจุบันด้วยความที่สนีกเกอร์เป็นสินค้าที่อยู่ในกระแส คนเลยซื้อเพราะอยากอยู่ในกระแสมากกว่า สมัยก่อนคือคุณมี Air Jordan นะ คุณมี Nike นะ คุณมี Adidas นะ เพียงแต่เขาจะเลือกสนีกเกอร์คู่นั้นๆ จากเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่พอสมัยนี้กลับเลือกสนีกเกอร์อะไรก็ได้ที่จะขายรีเซลต่อได้ มันคนละเหตุผลแล้ว

 

เมื่อความนิยมของสตรีทแวร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันสร้างแรงกดดันให้กับคุณและแบรนด์ V.A.C. ไหม

เราไม่ได้มองว่ามันกดดันขึ้นนะ เพราะเราทำงานมาสิบปี รู้ว่าทุกอย่างมีไซเคิลของมัน รองเท้าแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Nike กับ Adidas กราฟมันจะขึ้น-ลงสลับกันตลอด ถ้า Nike ขึ้น Adidas จะลง แต่ถ้า Nike ลง Adidas จะขึ้น เช่น 3-4 ปีก่อน ในยุค NMD, Ultraboost และ Yeezy มันเป็นช่วงที่ Adidas บูมมาก Nike ก็จะแผ่วหน่อย แตกต่างจากปัจจุบันที่ Nike กลับมาครองตลาดอีกครั้ง เพียงแต่ถ้าพูดถึงสตรีทแวร์ทั้งหมด เราคิดว่าช่วงนี้กำลังเป็นขาลงนะ แค่ตอนนี้มันยังลงไม่สุด ยังต้องดูกันต่อไปว่าจะลงไปสุดเมื่อไหร่ แล้วมันจะกลับมาอีกทีเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ก็ราวๆ 2-3 ปี เป็นธรรมชาติของมัน

 

สำหรับคุณ อะไรคือเสน่ห์ของสตรีทแวร์ไทย

น่าจะเป็นเรื่องราคา มีแค่ 300 บาท เผลอๆ เราซื้อเสื้อสวยๆ ได้ตัวหนึ่งแล้ว เราคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพราะไม่ต้องลงทุนเยอะ ถ้าอย่างอเมริกาเสื้อยืดตัวหนึ่งก็ 20 เหรียญแล้ว อีกอย่างคือประเทศเรามีสินค้ามือสองถูกๆ มีจตุจักรและตลาดนัดต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย อีกประเด็นคือประเทศไทยจะมีอิสระทางความคิดในการแต่งตัวเยอะกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศของเราไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยข้อจำกัดทางศาสนาเทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ

 

อยากชวนคุยเรื่องประเด็นการเมืองบ้าง อย่างคอลเลกชั่น NARUTU ที่ผ่านมา อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณจับคู่ประเด็นการเมืองกับสตรีทแฟชั่นเข้าด้วยกัน

ถ้าเป็นคนที่ติดตาม V.A.C. จะรู้ว่า NARUTU ไม่ใช่คอลเลกชั่นการเมืองคอลเลกชั่นแรกที่เราทำ เพราะเราจะมีคอลเลกชั่นกะลาแลนด์ที่ออกมาอยู่เรื่อยๆ เวลาที่เราอยากจะเสียดสีหรือจิกกัดอะไร แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองหรอก เพราะเราคิดว่าในเมื่อแฟชั่นคือการ express ตัวตนของตัวเอง ซึ่ง V.A.C. culture คือการหยิบเอาจิตวิญญาณก้อนหนึ่งของเรามาใส่ในแบรนด์ แล้วทำไมเราจะแสดงความคิดเห็นของเราที่มีต่อทุกๆ เรื่องไม่ได้ การเมืองมันอยู่ในชีวิตเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะนำเสนอมันออกมาอย่างไม่รุนแรง

สาเหตุที่เรานำเสนอเรื่องการเมืองผ่านแฟชั่นเพราะเราอยากให้คนในวงการสตรีทแวร์หันมาสนใจการเมืองสักนิดหนึ่ง อย่างสำนักข่าวก็อาจนำเสนอประเด็นการเมืองผ่านบทความ V.A.C. ก็เลือกจะนำเสนอผ่านเสื้อผ้าและแฟชั่น

จริงๆ แล้วเราทำคอลเลกชั่นกะลาแลนด์มา 5-6 ปีแล้วด้วยซ้ำ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเรารับอะไรหลายๆ อย่างในสังคมไทยไม่ได้ แต่เราก็ไม่แคร์หรอกว่าคอลเลกชั่นนี้จะขายดีหรือไม่ดี ไม่แคร์ว่าคนอื่นจะมอง V.A.C. ว่าเป็นอะไร เพราะนี่คือตัวตนของเรา และตัวตนของเราคือตัวตนของแบรนด์ เราไม่ได้ต้องการจะเอาใจคนหมู่มากเพราะต้องการรายได้เพิ่ม นั่นไม่จำเป็น ต่อให้เราได้เงินน้อยลงก็ช่างมัน ถ้าเราจะยังสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อยู่ เรายอมสูญเสียรายได้และถือว่าคนกลุ่มนั้นไม่ใช่ลูกค้า V.A.C.

แต่เราก็จะเข้าใจนะ ถ้าเขาจะตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าเราเพราะเคยออกคอลเลกชั่นกะลาแลนด์และ NARUTU ความขบถมันคือ identity ของแบรนด์ เราคิดเพียงแค่นี้ ไม่ได้คิดหรอกว่าการพูดประเด็นการเมืองช่วง 5-6 ปีก่อนจะเป็นเรื่องเสี่ยง เพราะ V.A.C. ทำอะไรเสี่ยงๆ มาตลอด

ทำไมคุณถึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าพูดง่ายๆ การเมืองมันคือวิถีชีวิต มันคือสิ่งที่เราต้องเจออยู่ทุกวัน จริงๆ มันไม่ใช่คำว่าการเมืองด้วยซ้ำ แต่มันคือ ‘ความเป็นอยู่’ ความเป็นอยู่ของคนๆ หนึ่งในประเทศที่หากผู้นำประเทศเขาไม่ได้แคร์ความสุขหรือความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน สิ่งที่เราเจอในทุกๆ วันน่ะ มันแทบจะหาความสุขไม่ได้เลยนะ

สมมติเราตื่นขึ้นมาไปทำงาน ถ้าเป็นคนที่ไม่มีรถเขาก็ต้องเจอกับปัญหาการคมนาคมไม่ครอบคลุม ราคา BTS แพงเกินรายได้ไม่พอ ยังวิ่งไม่ทั่วถึงอีก ส่วนคนที่ขับรถไปทำงาน คุณก็ต้องขับรถ 1-2 ชั่วโมงมาทำงานในเมืองอีก เพราะอะไรล่ะ ก็เพราะความเจริญมันไม่กระจายไปสู่พื้นที่ภายนอก หรือสมมติคุณมีครอบครัว ทำไมเราต้องส่งลูกๆ เข้าไปเรียนในโรงเรียนแค่ไม่กี่โรงเรียน ทั้งๆ ที่เราอาศัยอยู่รอบนอก โรงเรียนดีๆ มันควรจะครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ใช่เหรอ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ แต่รวมถึงต่างจังหวัด ทุกๆ วินาที ทุกๆ ก้าวเดินของเรามันคือความเป็นอยู่ แล้วเราจะมีความสุขได้ยังไงถ้าจะต้องมาเจอกับอะไรที่ชวนหงุดหงิดแบบนี้ อาหารก็แพง บ้านเมืองก็สกปรก การเดินทางไม่โอเค ความปลอดภัยก็ไม่มี แล้วความยุติธรรมก็ไม่รู้หายไปไหนอีก

เราถึงบอกว่าสุดท้ายแล้วการเมืองมันจึงไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครจะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้ เพราะทุกคนล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เพียงแต่มันจะมีคนที่ชินไปกับมัน คิดว่านี่แหละเมืองไทย โตมาก็เป็นแบบนี้แล้วก็เลยก้มหน้าและยอมรับโดยไม่คิดจะทำอะไร หรืออาจจะคิดว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีประโยชน์เพราะมันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ก็อย่างที่บอก เราเข้าใจนะ เพียงแต่สำหรับตัวเราเองในฐานะที่เราเป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่งและพอจะมีคนมองเห็น เราก็ทำเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้จะเรียกร้องอะไรจากคนอื่น ถ้าเขาจะคิดว่าตัวเองมีภาระหรือมีสิ่งที่ต้องแลกมาเยอะเกินไปหากเขาจะแสดงออกทางการเมือง เพียงแต่ถ้าเราใช้สิทธิของเรา พื้นที่ของเราให้เป็นประโยชน์ แล้วทุกๆ คนสามารถทำแบบนี้ได้ มันถึงจะมีวันไปต่อ

 

คุณเจอแรงปะทะอะไรบ้างไหมกับการนำเสนอการเมืองบนแบรนด์ V.A.C.

ส่วนใหญ่จะมีสื่อนี่แหละที่มาถามว่าทำไม V.A.C. ถึงทำ เพราะหลายๆ อย่างมันคงดูแรงในสายตาคนอื่น แต่เท่าที่เจอมักจะมาในลักษณะของคอมเมนต์ใต้บทความที่มาสัมภาษณ์ ด่าเราบ้าง มาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับเราบ้าง แต่อย่างคอลเลกชั่น NARUTU เราก็ไม่เห็นใครมาว่าประเด็นอะไรนะ เห็นมีแต่คนใส่ไปม็อบกัน ซึ่งมันคงประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่การเมืองกำลังพีค แล้วกลุ่มลูกค้าของเราก็อาจเป็นกลุ่มที่ไม่แฮปปี้กับสถานการณ์ปัจจุบัน มันเลยไม่มีผลกระทบอะไร

ที่คุณบอกว่าอยากให้คนในวงการสตรีทแวร์สนใจการเมืองมากขึ้น มองว่า ณ ปัจจุบันมันไปถึงจุดนั้นหรือยัง

ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนมันดีกว่าอยู่แล้ว มันเพิ่มมาจากแต่ก่อนแหละ หลายๆ เรื่องที่เราเห็นในโซเชียลฯ ก็เห็นว่าคนให้ความสนใจมากขึ้น ยิ่งพอมันกลายเป็นกระแสแล้วด้วย เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือคนที่สนใจหรือแสดงตัวว่าสนใจน่ะ จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เขาสนใจจริงๆ แล้วเราจะทำยังไงให้เขาสนใจจริงๆ เราเคยได้ยินเด็กๆ บางคนคุยกันนะ ว่าที่ลงภาพตัวเองชูสามนิ้วน่ะเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการชูสามนิ้วหมายความว่าอะไร การชูสามนิ้วในช่วงนี้สำหรับบางคนมันเลยไม่ต่างกับแฟชั่นที่ไปซื้อ Yeezy มาใส่กันแค่เพราะมันอวดได้ เราอยู่ในยุคที่ใช้ชีวิตกันอย่างผิวเผิน เพียงแต่ว่าถ้าความผิวเผินที่ว่านี้จะช่วยให้คนๆ หนึ่งลงลึกไปกับประเด็นหนึ่งๆ ได้ นั่นก็เป็นเรื่องที่โอเคนะ สำหรับเราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

 

คุณภูมิใจกับคอลเลกชั่นการเมืองของ V.A.C. ไหม

เราไม่ได้คิดว่าตัวเราทำให้คนหันมาสนใจการเมือง แต่ถ้าถามว่าภูมิใจกับอะไร ในฐานะแบรนด์และในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่ไม่ได้คิดว่าการเมืองของประเทศเรามันถูกต้อง เรารู้สึกภูมิใจที่ไม่กลัว กล้าจะเอาแบรนด์ของตัวเองมาเสี่ยงกับประเด็นนี้ และยังทำมันอยู่ตลอด

 

ทุกวันนี้ถ้าพูดถึง V.A.C. คิดว่าคนจะนึกถึงอะไร

นึกถึงเรามั้ง (ยิ้ม) คงจะนึกถึงความกวน ความจัดจ้าน เพราะเสื้อผ้าของเราไม่ค่อยเรียบ เราไม่ได้ขายโลโก้ แต่ขายลวดลายเสียมากกว่า V.A.C. culture มันคือตัวเรา ซึ่งตัวเรามันคือความขบถอยู่แล้ว ไม่ค่อยคิดอะไรเหมือนกับใคร เราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับใคร แล้วเราก็ไม่จำเป็นจะต้องต่างเพียงเพื่อจะให้ต่าง เราแค่เกิดมาเป็นแบบนี้

 

จากวันแรกที่ก่อตั้งแบรนด์ V.A.C. จนถึงทุกวันนี้ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง และมีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยไหม

V.A.C. คงจะโตขึ้นในแง่ของความคิด มองภาพได้กว้างขึ้น แต่ถ้ามองจากในมุมของลูกค้าแล้ว เราคิดว่า V.A.C. กำลังจะไปในทิศทางที่ไม่ใช่แค่เป็นร้านรองเท้าอีกต่อไป เราอาจจะเติบโตในฐานะของร้านขายรองเท้าแหละ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เรารู้ว่าจริงๆ แล้ว V.A.C. กำลังก้าวไปสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่า ถ้ามองดูรอบๆ ร้านจะเห็นว่าเราไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าและรองเท้าอีกต่อไป แต่มันจะมีของแต่งบ้าน มี accessories ต่างๆ แล้วในอนาคตก็จะมีสินค้าแคมป์ปิ้งเข้ามา เราเลยคิดว่าในมุมของลูกค้าเมื่อก่อนเราอาจเป็นสามเหลี่ยมแต่ตอนนี้เราอาจเป็นวงกลมแล้ว ซึ่งในอนาคตเราก็อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกก็ได้

 

ทุกวันนี้ความสนุกของคุณกับแบรนด์ V.A.C. คืออะไร

การได้ออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ เรายังตื่นเต้นตลอดกับดร็อปใหม่ๆ กับการได้ร่วมงานกับแบรนด์ที่เราชอบ และกับการได้เห็นคนเข้าใจ V.A.C. มันทำให้เราดีใจ V.A.C. ไม่ใช่แบรนด์ที่รีเซลได้ เราไม่ใช่แบรนด์ที่พ่อค้าแม่ค้าจะมาต่อคิวไปขายต่อ เพราะฉะนั้นการที่ V.A.C. ขายอะไรหมด มันจึงเป็นเพราะลูกค้าเขาชอบจริงๆ เวลาที่สินค้าขายหมดเราเลยรู้สึกดีว่าในยุคที่ทุกคนอยากแต่งตัวให้ดูรวยให้ดูฮิป แบรนด์เล็กๆ อย่างเราที่ไม่ได้อ้างอิงกระแสก็ยังคงขายได้เรื่อยๆ เราแค่อยากให้คนกล้าใส่ในสิ่งที่เขาอยากจะใส่โดยที่เขาไม่ต้องมานั่งคิดว่าคนอื่นจะมองเขายังไง

 

ในวงการสตรีทแวร์ไทย คุณมองว่าตำแหน่งแห่งที่ของ V.A.C อยู่ตรงไหน

ส่วนตัวเรามองว่า V.A.C. คือลูกนอกคอก เป็นลูกที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีพี่น้อง 4-5 คน Carnival อาจเป็นลูกที่น่ารักของครอบครัว ส่วน V.A.C. ก็คงเป็นลูกคนรองที่ไม่ได้แคร์อะไร พี่ชายจะเก่งแค่ไหน พ่อแม่จะชื่นชมเขาแค่ไหน เราดีใจกับเขาด้วย แฮปปี้กับความเจริญก้าวหน้าของเขา ไม่ได้เกลียด และยังคงรักในฐานะพี่น้อง เพียงแต่เราก็แฮปปี้ที่เราเป็นแบบนี้ เราก็จะป้วนเปี้ยนอยู่ตรงนี้แหละ ยังอยู่ในจุดที่สายตามองเห็นนะ แต่เราก็จะไม่อยู่ในแสงไฟตลอดเวลา ทำในสิ่งที่โจ่งแจ้งมากไม่ได้ ทำอะไรสนุกๆ ของเราไป (ยิ้ม)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน