gout.club แบรนด์ของคนเป็นเกาต์ที่อยากบอกว่าโรคเกาต์อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

เกาต์คือโรคข้ออักเสบซึ่งเป็นผลจากระดับของกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ โดยปกติจะพบในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือในเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป

แต่สำหรับ ปัน–ปาณศานต์ พัฒนกุลชัย ที่เพิ่งจะมีอายุแค่ 25 ปี การที่อยู่ๆ ต้องมาพบว่าตัวเองเป็นเกาต์จึงชวนให้เหวออยู่สักหน่อย

“เราได้ยินเรื่องเกาต์มานานแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็จะชอบล้อเลียนมันเพราะรู้สึกว่าคำมันน่ารักและเล่นกับภาษาไทยได้สนุกดี เกาต์อย่างโน้น เกาต์อย่างนี้ แต่ปลายปีก่อนอยู่ดีๆ เราก็เป็นเกาต์ขึ้นมา” ปันย้อนเล่าเรื่องราวให้เราฟัง

มันเกิดขึ้นระหว่างไปทริปต่างจังหวัดกับที่บ้าน ขณะกำลังนั่งอยู่ในรถเท้าของเขาก็รู้สึกปวดขึ้นมาทันใด เพียงแต่ตอนนั้นปันคิดแค่ว่าคงไปนั่งทับเส้นอะไรเข้า เพราะพอนั่งประคบเท้าไปสักพักอาการก็เหมือนจะหาย ปันยังไม่ได้เชื่อมโยงอาการของตัวเองเข้ากับเกาต์แต่อย่างใด 

gout.club

“แต่หลังจากนั้นไม่นานมีวันหนึ่งเราไปกินราเม็งที่ร้านหนึ่ง ซึ่งซุปมันเข้มข้นมาก กระดูกหมูแน่นๆ เลย ปรากฏว่าคืนนั้นประมาณตีสาม อยู่ๆ เราก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะปวดเท้ามากๆ เหมือนกับมีใครมานั่งทับ แต่พอเปิดไฟดูก็พบว่ามีแค่ผ้าห่ม แต่เพียงแค่ผ้าห่มเบาๆ มันยังปวดเลย 

“จากนั้นเราเลยลองไปเอกซเรย์เท้าที่โรงพยาบาลดูเพราะสงสัยว่ากระดูกเป็นอะไรหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าทุกอย่างปกติดี เลยลองไปเจาะเลือดดู ปรากฏว่ากรดยูริกในเลือดเราสูงมากๆ พอไปคุยกับหมอเขาเลยบอกว่าเราน่าจะเป็นเกาต์แหละ” ปันอธิบาย

gout.club

แม้จะตกใจอยู่สักหน่อยพอได้รู้ว่าตัวเองเป็นเกาต์ ถึงอย่างนั้นรอบตัวเขาก็พอจะมีเพื่อนที่เป็นโรคนี้อยู่บ้าง มันจึงไม่ถึงกับแปลกแยกเท่าไหร่ ปันเล่าว่าในตอนที่เขาไปบอกเพื่อนๆ ว่าตัวเองเป็นเกาต์นั้น ปฏิกิริยาที่เขาพบแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ หนึ่ง–กลุ่มคนที่ไม่เคยเป็นเกาต์ที่ดูจะงงๆ ว่าคนอายุเท่านี้ก็สามารถเป็นเกาต์ได้ด้วยเหรอ และสอง–กลุ่มคนที่เป็นเกาต์อยู่แล้วซึ่งดูจะเฮฮาและให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี

“อย่างกลุ่มแรกพอรู้ว่าเราเป็นเกาต์ ถึงจะงงๆ หน่อยแต่เขาก็พยายามชวนเราไปออกกำลังกาย กับกลุ่มที่สองนี่จะตลกหน่อย เพราะเขาก็จะเดินมาจับไหล่ ตบแขนเราเลย ‘welcome to gout club man!’ (หัวเราะ) ซึ่งพอได้ยินคำพูดนี้บ่อยๆ เข้าก็เลยลองมาคิดเล่นๆ ว่า เฮ้ย หรือเราลองทำเป็นแบรนด์ดูไหมล่ะ”

gout.club เริ่มต้นจากจุดนี้

เพราะโรคเกาต์อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

“เราอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสื่อสารว่าโรคเกาต์มันใกล้ตัวกว่าที่คิดนะ” ปันเล่าถึงจุดตั้งต้นของ gout.club

gout.club

อย่างที่ได้เล่าไปว่าโดยปกติแล้วโรคเกาต์จะพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มที่เกาต์จะปรากฏในคนอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจึงนำมาซึ่งความตั้งใจที่ปันอยากจะนำเสนอประเด็นนี้ให้สังคมได้รับรู้

“ซึ่งการจะนำเสนอประเด็นใดๆ ให้ผู้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเนี่ย เรามองว่าแฟชั่นและเสื้อผ้าคือสิ่งที่เข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด”

จากความคิดนั้นจึงนำมาซึ่งสินค้าชิ้นแรกของแบรนด์ นั่นคือเสื้อยืดสีขาวโอเวอร์ไซส์ที่มาพร้อมโลโก้ gout.club สีแดงด้านหน้า พร้อมกับลวดลายของตัวละคร Patrick Star จากการ์ตูนเรื่อง SpongeBob SquarePants ที่กำลังมีอาการปวดเกาต์สกรีนอยู่ที่ด้านหลัง

“สาเหตุที่เราใช้ตัวละคร Patrick Star เพราะคอนเซปต์หนึ่งที่เราวางไว้คือเราอยากจะนำเสนอตัวละครที่มองแล้วรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเกาต์ อย่างน้ำหนักตัวก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดโรคเกาต์ได้ เพราะฉะนั้นตัวละครบางตัวซึ่งเราอาจรู้สึกว่าความอ้วนทำให้มันน่ารักเนี่ย ในความเป็นจริงตัวละครเหล่านี้อาจกำลังมีโรคอะไรอยู่ในร่างกายก็เป็นได้” ปันเล่าถึงคอนเซปต์ของแบรนด์

แต่ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของแบรนด์จะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น นั่นก็ไม่ได้แปลว่าปันอยากจะให้โปรดักต์ของแบรนด์มีเพียงแค่เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่อย่างเดียว

“ตอนที่เริ่มต้นทำแบรนด์นี้ เราก็ดูตัวอย่างจากแบรนด์อย่าง Supreme แหละ เพราะเราชอบที่โปรดักต์ของ Supreme ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าแต่ยังมีสินค้าอื่นๆ ด้วย เราเลยมอง gout.club เป็นแบรนด์ที่ผลิตโปรดักต์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคเกาต์ อย่างตอนนี้ที่เราผลิตออกมาแล้วคือผ้าพันข้อเท้า แต่เราก็คิดอยากจะทำโปรดักต์อื่นๆ ตามมาอีก เช่น ตลับยา หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำสเปรย์สำหรับฉีดแก้ปวดเหมือนกัน เพราะมันจำเป็นมากๆ ช่วงที่เป็นเกาต์เราก็ใช้”

พ้นไปจากโปรดักต์ชิ้นต่างๆ เหล่านี้แล้ว ปันยังได้ผลิตสติ๊กเกอร์ไลน์ที่ล้อกับคำว่า ‘เกาต์’ เช่น เกาต์ง่วง เกาต์หิว และเกาต์เจ็บ อย่างที่เขาเล่าว่าชอบคำคำนี้เพราะมันดูพลิกแพลงได้หลากหลายดี ส่วนสาเหตุที่ปันเลือกใช้สีแดงเป็นสีประจำแบรนด์เพราะมันสะท้อนถึงอาการเกาต์ได้อย่างชัดเจนดี

“เวลาที่เป็นเกาต์มันจะมีสีแดงเรื่อๆ ขึ้นตามจุดต่างๆ ของร่างกาย อย่างของเพื่อนเราที่เป็นเกาต์ก็จะมีสีแดงขึ้นบริเวณนิ้วโป้ง ส่วนของเราก็จะเป็นสีแดงบริเวณข้างเท้า” ปันอธิบาย

เพราะการเป็นเกาต์มันเจ็บปวด

การสร้าง awareness ให้กับโรคเกาต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปันตัดสินใจปั้นแบรนด์ขึ้นมาเพราะเขามองว่ามันเป็นการ parody

“เราวางไดเรกชั่นให้มันมีความ parody อยู่ในตัว เพราะเกาต์มันเป็นโรคน่ะ ซึ่งมันก็ไม่ควรจะเอามาล้อเลียนหรอก แต่เราก็พยายามจะหยิบจับมานำเสนอให้น่าสนใจขึ้นผ่านโปรดักต์ต่างๆ อีกอย่างคือด้วยความที่เกาต์เป็นโรคที่เราเคยประสบด้วยตัวเอง เราเลยเข้าใจว่าจริงๆ แล้วการเป็นเกาต์มันเจ็บปวดนะ มันทรมานจริงๆ เราเลยอยากให้ผู้คนรอบๆ ตัวตระหนักถึงการมีอยู่ของโรคนี้และหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น”

นอกจากนี้ปันยังมองว่าถ้าสักวันหนึ่ง gout.club กลายเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและมีคนสนใจโปรดักต์ของแบรนด์มากขึ้นได้ แบรนด์ของเขาก็อาจจะช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ให้กับคนที่เป็นเกาต์ซึ่งในปัจจุบันอาจรู้สึกเขินอายและไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเป็นโรคนี้ มันคงจะดีไม่น้อยหากวันหนึ่งแบรนด์นี้จะกลายเป็นฟันเฟือนเล็กๆ ที่ช่วยให้เกาต์กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงในสังคมมากขึ้น

“เราอยากให้มันสร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นมาเหมือนกันนะ แต่ในความเป็นจริงก็มีเพื่อนๆ ทักมาถามว่า เฮ้ย กูไม่เป็นเกาต์ แต่ถ้ากูใส่เสื้อของแบรนด์มึงแล้วกูจะเป็นหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ตอบไปว่ามึงไม่เป็นหรอก แต่อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยสร้าง awareness ให้กับผู้คนรอบๆ ตัวได้รู้จักโรคเกาต์มากขึ้น เอาจริงๆ เราคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่สั่งเสื้อของแบรนด์ไปก็ไม่ได้เป็นเกาต์หรอก”

แม้ว่าตอนนี้แบรนด์ gout.club ของปันจะยังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ในอนาคตปันก็วาดภาพไว้แล้วประมาณหนึ่งว่าเขาอยากจะพาแบรนด์ไปถึงจุดไหน

gout.club

“นอกจากการทยอยผลิตโปรดักต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกาต์แล้ว อีกความตั้งใจหนึ่งของเราคือ อยากจะไปร่วมงานกับร้านอาหารคลีนสักร้านเหมือนกัน เช่น ให้เขาคิดเมนูอาหารสักอย่างขึ้นมา อาจตั้งชื่อว่า anti gout meal ที่จะประกอบด้วยวัตถุดิบต่างๆ ที่สามารถช่วยลดกรดยูริกได้ อีกอย่างคือมีคนมาบอกเราเหมือนกันว่าน่าจะลองเพิ่มเรื่องการ educate เกี่ยวกับโรคเกาต์ด้วย ซึ่งเราก็อยากทำเหมือนกัน เพียงแต่เราก็ยังต้องศึกษาข้อมูลให้มากกว่านี้อีกหน่อย” ปันบอกเล่าถึงเป้าหมายในวันข้างหน้าของแบรนด์

“แต่ถึงตอนนี้เราหวังเพียงแค่ว่า gout.club จะช่วยให้ผู้คนจดจำคำว่า ‘เกาต์’ ได้มากขึ้น ให้สังคมรับรู้ถึงอันตรายของโรคนี้มากขึ้น เท่านี้ก็พอแล้ว”

gout.club

AUTHOR