Carnival : ร้านรองเท้าผ้าใบสุดเอ็กซ์คลูซีฟของเมืองไทย

เชื่อว่าบรรดาสาวกสนีกเกอร์คงรู้จักร้าน Carnival เป็นอย่างดี เพราะนี่คือร้านมัลติแบรนด์สัญชาติไทยที่ได้รับสิทธิ์ในการขายรองเท้าผ้าใบระดับเอ็กซ์คลูซีฟหายากหลายรุ่น บางรุ่นสร้างปรากฏการณ์ระดับลูกค้าค้างคืนรอหน้าร้านมาแล้ว เช่น รองเท้า adidas NMD สุดฮอตที่เปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เรื่องราวและแนวคิดเบื้องหลังของร้านรองเท้าผ้าใบตัวท็อปของไทยที่ปัจจุบันเติบโตจนมีหลายสาขา หลากคอนเซปต์เป็นอย่างไร เราเปิดประตูร้านคาร์นิวัล สาขาสยามสแควร์ ซอย 7 เข้าไป ชวน ปิ๊น–อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ร่วมก่อตั้งร้านมานั่งคุยให้หายข้องใจแล้ว

เริ่มจากความหลงใหล

“เราคิดว่ารองเท้าผ้าใบกับผู้ชายเป็นของคู่กัน ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เราชอบแบรนด์รองเท้า Converse เก็บสะสมรองเท้าคอนเวิร์สมาหลายรุ่นตั้งแต่ตอนนั้น จนมีโอกาสไปเรียนที่อังกฤษกับเพื่อนที่ชอบรองเท้าเหมือนกัน เราก็ช้อปปิ้งด้วยกัน พอกลับมาเมืองไทยซึ่งสมัยนั้นไม่ค่อยมีรองเท้าผ้าใบให้เลือก เราก็คิดว่า อยากเปิดร้านที่ขายรองเท้าคอนเวิร์สโดยเฉพาะ หารองเท้ารุ่นแปลกๆ จากทั่วโลกมาขาย นี่เป็นความฝันช่วงแรกๆ ของเราตอนเปิดร้านคาร์นิวัลสาขาแรกเมื่อ 10 ปีก่อนในชื่อ Converse Carnival”

ให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง

“สิ่งที่เราตั้งใจทำให้คาร์นิวัลต่างจากร้านอื่นเป็นอันดับหนึ่งคือเรื่องของประสบการณ์ เวลาคุณเข้ามาซื้อ มาสัมผัสคาร์นิวัล คุณจะได้ประสบการณ์แบบคาร์นิวัลที่ไม่เหมือนร้านอื่นๆ กลับไป เราสร้างคาแรกเตอร์และประสบการณ์ให้ลูกค้าจากทุกอย่างในร้าน ตั้งแต่ถุงใส่ของ ตัวร้าน พนักงาน จนถึงรูปทุกรูปที่โพสต์ในสื่อ ซึ่งถ้าให้มอง เราว่าคาแรกเตอร์ของคาร์นิวัลคือคนที่บ้ารองเท้า ตามแฟชั่น แล้วก็สนุกสนาน มีแก๊งเพื่อน ซึ่งมันก็คือคาแรกเตอร์ของเรานั่นแหละ เราชอบอะไร สนใจอะไร ร้านก็เป็นแบบนั้น”

 

สิ่งที่เราชอบ อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบ

“เวลาเลือกรองเท้ามาขายที่ร้าน เราใช้รสนิยมเจ้าของร้านได้แค่ส่วนหนึ่ง เพราะเราอาจมองว่ารองเท้าคู่นี้ขายได้ แต่สุดท้ายมันอาจขายไม่ได้ ที่เหลือเราต้องใช้ประสบการณ์กับการคาดเดา ต้องผ่านการขายของเหลือมาเยอะ จนมีประสบการณ์ รู้ว่ารุ่นแบบนี้ไม่น่าจะขายได้ ถึงแม้เราจะชอบก็ตาม”

ความรักอย่างเดียวไม่พอ

“ที่จริงแล้ว ถ้าจะเปิดร้านรองเท้าผ้าใบ การเป็นคนรักรองเท้าผ้าใบทำให้เราได้เปรียบแน่นอน เพราะว่าไม่ว่าเรารักอะไร เราจะชำนาญกับสิ่งนั้น ทำให้ทำได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้รักมัน แต่ความรักเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในการทำธุรกิจ ผมมองว่าต้องใช้การศึกษาค้นคว้าและความพยายามด้วย คือเราต้องศึกษาให้รู้จริง ทั้งเรื่องตลาด เรื่องเงินทุน คุณต้องรู้วิธีการทำธุรกิจ ศึกษาว่าทำยังไงให้ธุรกิจไปรอด ถึงจะทำได้ ไม่ใช่แค่อยากทำแล้วมาทำ แล้วผมบอกได้เลยว่า ร้านรองเท้าเป็นธุรกิจที่เราต้องง้อซัพพลายเออร์ ในบางธุรกิจ ซัพพลายเออร์ต้องมาประเคนของให้คุณถึงที่ ต้องมาง้อคุณ คุณเป็นลูกค้าเขา แต่ไม่ใช่กับแบรนด์รองเท้า เขาเป็นเจ้าใหญ่ระดับโลก เราต้องง้อเขา และก็ต้องง้อฝั่งลูกค้าด้วย ต้องบริหารความสัมพันธ์กับทั้งสองฝั่ง”

ต้องพิสูจน์ตัวเอง

“การเป็นเจ้าของร้านรองเท้าผ้าใบไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าคุณจะดีลตกลงกับแต่ละแบรนด์ได้ แล้วเราต้องพิสูจน์ให้เขาเชื่อใจ เพราะการจะเปิดร้านมัลติแบรนด์ขายรองเท้า 5 ยี่ห้อ ลองคิดดูว่าคุณเดินเข้าไปหาแบรนด์ที่หนึ่ง ทำไมเขาต้องขายให้คุณ ในเมื่อเขามีร้านอื่นวางสินค้าอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่ใช่ผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว มันก็ยาก การเริ่มจากศูนย์นี่ยากมาก เราถึงไม่เห็นร้านใหม่ๆ เกิดขึ้น คนอยากขายรองเท้าผ้าใบกันเยอะแยะ ขายในเน็ตกันเยอะแยะ แต่ไม่มีใครเปิดร้านได้ คนที่มาเปิดร้านใหม่ๆ ในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็นขาใหญ่ที่ถ้าไม่ได้มาจากต่างประเทศก็อยู่ในธุรกิจนี้ มีสายสัมพันธ์กับแบรนด์ต่างๆ อยู่แล้ว เขาถึงมาทำได้ ส่วนเราเองก็ผ่านการพิสูจน์จากการขายแบรนด์คอนเวิร์สมาก่อน แล้วเราก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดียในการขายแบบจริงจัง พอแต่ละแบรนด์เห็นว่าสายสัมพันธ์ของเรากับลูกค้าในโซเชียลมีเดียแข็งแรงขนาดนั้น เขาก็ไว้ใจเรา แบรนด์ใหม่ๆ เองก็อยากมาขายด้วย”

 

ก้าวต่อไป

“เป้าหมายของเราคือ อยากทำการ collaboration กับแบรนด์รองเท้า เราดูร้านต่างประเทศเป็นโมเดลอยู่แล้วตั้งแต่คิดจะเปิดร้าน ร้านดังๆ ที่นั่นจะได้จับมือกับ Nike กับ adidas การทำ collaboration เป็นสิ่งที่พิเศษ จะมีคาแรกเตอร์ของสองแบรนด์มารวมกัน จากรองเท้าไนกี้ธรรมดา มีแค่คาแรกเตอร์ของไนกี้ พอมันถูกใส่คาแรกเตอร์ของอีกหนึ่งแบรนด์ลงไป ก็เหมือนเอาสองสิ่งมาผสมกัน มันจะได้แฟนจากทั้งสองแบรนด์ หรือถึงไม่ใช่สาวกแบรนด์ไหนเลย แต่มองว่าทั้งคู่มารวมกันแล้วลงตัว มันก็กลายเป็นสิ่งน่าสนใจขึ้นมา เหมือนที่ Nike เคยจับมือกับ Gucci พอมารวมกันแล้วก็ดูพิเศษ คนก็จะชอบ สิ่งนี้ถือเป็นความฝันสูงสุด เราก็พยายามไปเรื่อยๆ

“ทุกวันนี้เราเติบโตก้าวกระโดดอยู่ทุกปี และถึงในอนาคตจะมีกระแสอื่นเข้ามา แต่เราคิดว่ารองเท้าผ้าใบจะไม่เงียบหายไป รองเท้าผ้าใบไม่มีวันตายอยู่แล้ว

“ถ้าจะเปิดร้านรองเท้าผ้าใบ การเป็นคนรักรองเท้าผ้าใบทำให้เราได้เปรียบแน่นอน เพราะว่าไม่ว่าเรารักอะไร เราจะชำนาญกับสิ่งนั้น ทำให้ทำได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้รักมัน แต่ความรักเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในการทำธุรกิจ ผมมองว่าต้องใช้การศึกษาค้นคว้าและความพยายามด้วย”


Carnival

ประเภทธุรกิจ : ค้าปลีกประเภท Multi Brand
คอนเซปต์ : ร้าน Multi-Brand ที่มีรองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษวางจำหน่าย
เจ้าของ : อนุพงศ์ คุตติกุล
เว็บไซต์ : carnivalbkk.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!