Youth Brush กับวันครบรอบ 10 ปีที่เชื่อว่าเป้าหมาย ‘ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลง’ ได้เสมอ

ถ้าให้นึกถึงศิลปินไทยสักวงหรือสักคนที่ขยันปล่อยผลงานชนิดว่า ‘รู้จักเว้นระยะความคิดถึงแบบพอดี’ ไม่ห่างหายแต่ก็ยังเรียกได้ว่าสม่ำเสมอ วงดนตรีโฟล์ก-อะคูสติกอย่าง ‘Youth Brush’ ที่มีสมาชิกหลักหนึ่งเดียวอย่าง ดุ่ย–วิษณุ ลิขิตสถาพร คือรายชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง

ทว่าในวันนี้ที่วงเดินทางมาถึงขวบปีที่ 10 พอดีเป๊ะ การนิยาม Youth Brush ว่าเป็นโฟล์ก-อะคูสติกคงดูผิดไปจากความเป็นจริงมากเหมือนกัน เพราะถ้าได้ติดตามฟังเพลงที่เจ้าตัวปล่อยในช่วง 1-2 ปีก่อน เชื่อว่าทุกคนจะสัมผัสได้เหมือนๆ กันว่า เพลงฟังสบายเหล่านั้นได้ถูกแต่งแต้มมิติและสีสันด้วยเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกหรือดนตรีแบบที่วัยรุ่นสมัยนี้ชอบมากขึ้น

แม้ดนตรีจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เราชื่นชมเจ้าตัวเสมอนั่นคือลายเซ็นหรือวิธีการเล่าเรื่องในเพลงที่ว่าด้วยความรัก ความหวังดี และการส่งต่อกำลังใจผ่านเนื้อเพลง ยังคงเป็น Youth Brush (คนดี) คนเดิม วัดกันด้วยหลักฐานชิ้นล่าสุดอย่าง อีพีอัลบั้ม The Canonical Five of the Sky ที่ดุ่ยตั้งใจปล่อยออกมาให้แฟนๆ ฟังเมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อเยียวยา แก้ใจเฉายามอยู่บ้าน

แต่ท่ามกลางความหม่นๆ ของวงการดนตรีบ้านเรา ดุ่ยคาดหวังอะไรจากอาชีพนักดนตรีและการปล่อยอีพีอัลบั้มนี้ ฟังคำตอบของเจ้าตัวจากบทสนทนาด้านล่างได้เลย

เคยคิดไหมว่าอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Youth Brush เดินมาได้ยาวนานขนาดนี้

น่าจะรักการทำเพลงมั้งครับ หรืออาจจะไม่ได้รักก็ได้

เรารู้สึกว่าวันนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราไปแล้ว ทุกครั้งที่แต่งเพลงเพราะ หมายถึงเป็นเพลงที่ฟังแล้วเพราะสำหรับเรา เราจะภูมิใจในตัวเองมาก มีความสุขมากๆ เวลาที่เปิดฟังเพลงตัวเอง อย่างเวลาที่ผ่านมา หลายๆ ครั้งที่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรช่วยเราได้มากเท่ากับการแต่งเพลงแล้ว มันช่วยให้ลืมเรื่องทุกข์ได้นาน นานกว่าออกไปดื่มเหล้าให้เพื่อนปลอบ เวลาแต่งเพลงเราจะจมกับเพลงนั้นจนหายเศร้า คงจะเป็นอย่างนั้นนะ

อีกส่วนคือเรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้สังคมมันเล็กลง คนอย่างเราไม่ค่อยเจอใครเพราะเวิร์กฟอร์มโฮมตลอด ตอนทำงานซาวนด์ดีไซน์ก็ทำอยู่ที่ห้อง ดังนั้นสิ่งที่จะพาไปเจอคนข้างนอกเลยหนีไม่พ้นเรื่องการเล่นดนตรีนี่แหละ เลยทำมันต่อมาได้เรื่อยๆ 

บวกกับเรามองเห็นความไปได้ด้วยว่า Youth Brush ต้องไปได้อีกเพราะมีคนเชียร์บ่อยๆ เรารู้สึกเหนื่อยแทนเขาน่ะ อยากทำให้เขาภูมิใจบ้าง งั้นต้องไปต่อให้ได้ ซึ่งกราฟของเรามันจะขึ้นแบบทางราบ ค่อยๆ ขึ้นทีละนิด และเราเองก็ภูมิใจกับการเดินทางแบบนี้ 

อยากจะเป็นคนเงียบๆ ไม่อยากพรีเซนต์มาก ไม่ใช่กลัวมันออกมาไม่ดีนะ กลัวเขินเวลาที่กลับมามองมันอีก (หัวเราะ) งั้นเอาเท่าที่ทำได้แล้วกัน

พอเราทรีตดนตรีเป็นอาชีพ คุณคาดหวังอะไรกับการทำสิ่งนี้

ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าต้องการอะไร (หัวเราะ) ความจริงแล้วเราเป็นคนที่เปลี่ยนจุดหมายบ่อยด้วยแหละ บางเวลาก็อยากโกแมสแล้ว บางเวลาก็อยากทำเพลงไปทัวร์ต่างประเทศ คือแต่ละจุดหมายก็มีโพรเซสที่ต่างกันออกไป

ถ้าเราอยากโกแมส เราต้องแต่งเนื้อเพลงอีกแบบหนึ่ง ทำดนตรีอีกแบบหนึ่ง หรืออยากทัวร์ต่างประเทศก็ต้องทำเพลงอีกแบบ เน้นการเรียบเรียงที่ไม่เหมือนใคร แต่พอเป็นอะไรที่ทำด้วยตัวเองเราจะรู้สึกว่าปลายทางมันยืดหยุ่นได้ เปลี่ยนได้อยู่

งั้นถ้าเราสโคปมาที่อีพีอัลบั้มล่าสุด จุดประสงค์ของอัลบั้มนี้คืออะไร

คือปีก่อนหน้าที่ยังไม่มีโควิด-19 เราเลยอยากบิลด์ให้วงเป็นอินดี้ที่แมสมากหน่อย ไม่ได้เป็นแมสถึงขนาดวงแมสนะครับ แต่เรามีเพลงที่แต่งเก็บๆ ไว้แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้มาชัวร์ อยากจะปล่อยอีกหลายเพลง บวกกับการค่อยๆ เปลี่ยนไดเรกชั่นวงให้มันซัพพอร์ตกับเพลงที่อยากจะปล่อยมาทีหลังด้วย การเปลี่ยนจากโฟล์กมาเป็นฟูลแบนด์ เลยพยายามบิลด์สิ่งนี้มาเรื่อยๆ เช่น เนื้อเพลงยุคหลังๆ จะเป็นเนื้อเพลงที่คนเข้าใจและเข้าถึงง่ายมากขึ้น พาร์ตดนตรีก็จริงจังมากขึ้น

แต่กลายเป็นว่าช่วงที่คิดว่าจะปล่อยก็ดันมีเหตุการณ์โควิด-19 มาพอดี และอย่างที่รู้กัน ทั้งการเมือง ทั้งโรคระบาด ถึงเราปล่อยเพลงออกไปก็ไม่มีคอนเสิร์ตให้เล่นอยู่ดี งั้นเก็บไว้รอสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยปล่อยดีกว่า

แต่ในขณะเดียวกัน ลึกๆ เราก็คิดว่าถ้าเราเลือกที่จะไม่ปล่อยเพลง งั้นเราทำเพลงที่ปล่อยออกไปแล้วไม่ต้องคาดหวังว่ามันจะฟีดแบ็กดีดูไหม อยากให้คนฟังรู้สึกว่าเป็นเพลงที่เปิดทิ้งได้ ไม่รู้จะฟังอะไรก็ฟังเพลงในอัลบั้มนี้ สุดท้ายเลยออกมาเป็นอีพีอัลบ้ัมล่าสุด คือมาจากการที่เราแค่อยากจะทำเพลงเท่านั้นเลย

youth brush

พอเป็นอัลบั้มที่ไร้ความคาดหวัง โพรเซสการทำงานถือว่าชิลล์กว่าอัลบั้มอื่นไหม

ถ้าพูดถึงโพรเซสก็ทำรวดเร็วกว่าครับ มันเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาจากคอร์ดวนๆ แต่ทั้งนี้เราตั้งใจทำมากนะครับ (หัวเราะ) ซึ่ง The Canonical Five of the Sky ถือเป็นอัลบั้มแรกที่เราตั้งใจให้ทุกเพลงอยู่ในไดเรกชั่นเดียวกันหมดด้วย ปกติจะทำเพลงหลายๆ แนว หลายๆ ไดเรกชั่นแล้วค่อยเอามารวมเป็นอัลบั้มทีหลัง แต่กับอีพีนี้ ถ้าตั้งใจฟังก็น่าจะสัมผัสได้ว่าตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้ายเป็นเพลงที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงอาร์ตเวิร์กด้วย มันไปด้วยกันได้หมดเลย

สนใจคอนเซปต์การลำดับเพลงและอาร์ตเวิร์กที่สื่อถึงช่วงเวลาเช้าจรดเย็น คุณได้ไอเดียนี้มายังไง

ระหว่างเราทำอัลบั้มก็คิดนั่นคิดนี่ไปเรื่อยๆ ตอนแรกก็คิดเพลงเฉยๆ อยากจะตั้งชื่ออัลบั้มว่า peace อะไรสักอย่าง แล้วก็วาดอาร์ตเวิร์กอัลบั้มเสร็จไปแล้ว 2 อันด้วยนะ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่สวย เลยลองวาดใหม่โดยเริ่มจากฟังเพลงก่อน วางไดเรกชั่นภาพกับตัวเองคร่าวๆ ว่าอยากจะให้ภาพมันออกมาดูสงบและโมเดิร์น ไม่แก่หรือเด็กไป ก็เลยวาดท้องฟ้าขึ้นมา มีต้นไม้ เก้าอี้ ทะเล เฮ้ย อันนี้สวย แล้วก็ตั้งชื่ออัลบั้มให้เข้ากับอาร์ตเวิร์ก จากนั้นก็มานั่งตีความเพลงในอัลบั้มว่าเพลงนี้น่าจะเหมาะกับเวลาเช้ามืดหรือตอนเย็น อาร์ตเวิร์กของแต่ละเพลงก็เอาสีทะเลและท้องฟ้ามาเป็นตัวเชื่อม

youth brush
youth brush
youth brush

คุณตั้งใจให้เนื้อเพลงเกือบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษด้วย มุมหนึ่งมันคือการท้าทายตัวเองไหม 

อย่างที่บอกไปว่าอัลบั้มนี้ไม่คิดจะให้มันดัง คือเวลาแต่งเพลงเราจะเริ่มจากการฮัมเป็นภาษาต่างดาวก่อน อาจเพราะว่าเราฟังเพลงสากลเยอะด้วย เสียงที่เปล่งออกมาเราจะพยายามทำให้มันใกล้เคียงกับคำภาษาอังกฤษสักคำ เลยคิดว่าไหนๆ ก็ตั้งใจทำให้มันใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษแล้ว อัลบั้มนี้ลองทำเป็นภาษาอังกฤษเลยละกัน

แล้วส่วนตัวชอบเพลงไหนมากที่สุดในอัลบั้ม

น่าจะชอบ How are you doing? ถ้าตีความจากแต่ละเพลง Sundrive คือผู้ใหญ่ ไม่วัยรุ่นเลย ส่วน Cupid summer นี่ก็วัยรุ่นมากเหมือนกัน แต่ How are you doing? มันอยู่ตรงกลางของสองฝั่งนี้ ดนตรีมีความบอสซ่าอยู่เบาๆ แล้วเราใส่เสียง sampling ของเครื่องสายมาด้วย มีความคลาสสิกหน่อยๆ ดูโตมากขึ้น ถ้าพูดตรงๆ ตอนทำเรานึกถึงเพลงของ Kings of Convenience มีโน้ตน้อยๆ เลยชอบเพลงนี้มากเป็นพิเศษ

คุณเคยพูดว่า ‘ถ้าไม่มีความรัก Youth Brush อาจไม่มีเพลงมากถึง 4-5 อัลบั้ม’ ความรักมันสำคัญกับคุณยังไงบ้าง

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดออกไปว่าเราอยากเกิดมาเป็นคนรักที่ดี เพราะตอนนั้นที่พูดเราก็ยังตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ คือบางคนอาจจะอยากเกิดมาเพื่อประสบความสำเร็จ มีตังค์ร้อยล้าน เปิดร้านกาแฟ หรือเป็นนักบินอวกาศ แต่มุมหนึ่งเรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับความรักมาก ดังนั้นเราอยากเป็นคนที่มีความรักที่ดีว่ะ เรื่องอย่างอื่นเลยไม่ค่อยมีไฟหรอก (หัวเราะ) และเพลงเราคือการเล่าเรื่องความคิดในหัว ดังนั้นเลยทำเพลงรักออกมาได้ยาวๆ

แล้วเพลงที่เต็มไปด้วยประโยคให้กำลังใจ เช่น เธอของเธอ, รางวัล มันมาจากเรื่องราวในชีวิตคุณด้วยไหม

ถ้าเป็นเพลงปลอบตัวเอง ส่วนใหญ่จะมาจากบทสนทนาจริงๆ ที่เราเคยเจอ อย่าง เธอของเธอ ท่อนที่เขียนว่า “แข็งแรงคืออะไรไม่รู้” มันมีคนพูดแบบนี้กับเราจริงๆ เขาบอกว่าไม่รู้เลยว่าความแข็งแรงคืออะไร ตอนนี้เขาอ่อนแอมากๆ แล้วเราก็บอกเขาไปว่า ที่มึงยังอยู่แสดงว่ามึงเข้มแข็งจริงๆ นะเว้ย ตอนนั้นเราพูดได้แค่นี้จริงๆ ก็จำบทสนทนานั้นแล้วก็เอามาแต่งเป็นเพลงต่อ

หรืออย่างเพลง รางวัล สำหรับเรามันมีความหมายในฐานะบทสรุปของความเป็นวงด้วย คือถ้าใครฟังเพลงเรามาตั้งแต่อัลบั้มแรก จะรู้สึกว่าเพลงเราส่วนมากเป็นเพลงเกี่ยวกับการอวยพร ขอให้นู่นขอให้นี่ อยากทำให้เธอมีความสุขล้วนๆ

เรารู้สึกว่า Youth Brush มันกลายเป็นวงที่ปลอบใจคน เวลาเจอหน้ากันคนชอบมาทักหรือขอให้ร้องเพลงให้ฟังหน่อย ซึ่งส่วนใหญ่เราจะได้ร้องเพลงในวันที่เขาเหนื่อยหรือรู้สึกเศร้าเท่านั้น ในวันที่แฮปปี้เขาจะไม่มาให้เราร้องเพลงให้ฟังเท่าไหร่ (หัวเราะ) วงมักจะอยู่ในโพสิชั่นนั้น เราเลยเขียนประโยค “อาจได้ร้องให้เธอฟังในสักวัน อาจเป็นวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ” ใส่ลงในเพลง รางวัล

รู้สึกยังไงที่เพลงของเรากลายเป็นที่พึ่งทางใจของคนอีกหลายคน

ไม่รู้จะรู้สึกยังไงเลยครับ แต่ดีใจเสมอที่มีคนฟังมันเยอะขึ้น

ในฐานะคนที่ยืนอยู่ทั้งวงการศิลปะและดนตรี อย่างที่รู้กันว่าบ้านเรา แรงซัพพอร์ตสองวงการนี้มันน้อยนิดมาตลอด การที่มันจะดีขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ คุณคิดว่ามันต้องพึ่งพาอะไรบ้าง

เรารู้สึกว่าคนที่ทำให้วงการเหล่านี้ขับเคลื่อนไปได้ดีมี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนผลิต กลุ่มสองคือคนที่เสพ และกลุ่มสามคือผู้ใหญ่ในบ้านเรา ซึ่งกลุ่มหลังสุดเป็นเรื่องใหญ่มากเลย เรามองว่ารัฐบาลควรมองเห็นว่ามันเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำให้ประเทศเรามีอะไรมากขึ้น ซึ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้เราว่าคงต้องคุยกันยาวแน่นอน

แต่เราขอพูดในฐานะคนผลิตแล้วกัน คนผลิตคือคนที่เรียนศิลปะมา ซึ่งคนเรียนศิลปะในรุ่นๆ หนึ่งที่มีประมาณ 120 คน ยึดอาชีพศิลปินได้จริงๆ คงมีไม่เกิน 5 คนต่อรุ่นแน่ๆ ซึ่งเรามองว่าส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวคนผลิตเลย เขาอาจไม่ได้ตั้งใจ ไม่เด็ดเดี่ยว หรือไม่มั่นคงพอว่ากูจะต้องเป็นศิลปิน ก็เลยทำให้งานศิลปะในบ้านเรามันมีออกมาน้อยและไม่หลากหลายแนว

แต่ทีนี้เราก็ต้องตั้งคำถามกันด้วยนะว่า ทำไมคนไม่มีแพสชั่นในการทำศิลปะกัน ซึ่งก็จะเจอว่าโครงสร้างหลายๆ อย่างบ้านเรามันไม่สนับสนุนให้เราทำงานศิลปะเลย คนยังมองไม่เห็นคุณค่ามากพอ คนทำก็ท้อเพราะทำแล้วมันไม่อิ่ม เลยล้มเลิกกันไป สุดท้ายมันคือเรื่องโครงสร้างแหละ

พอมองรอบตัวตอนนี้ เพื่อนร่วมอาชีพหลายคนไม่มีงาน ยอมตัดใจขายเครื่องดนตรีตัวโปรด เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ล้มหายตายจากดนตรี

เราว่าคนเหล่านี้ไม่หายไปหรอกเพราะดนตรีเป็นหัวใจของเขา ก็วัดจากตัวเองนี่แหละ ถึงตอนนี้ไม่ได้เล่นดนตรี ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ แน่นอน มึงเจอกู เราว่าทุกคนเป็นแบบนี้ เพียงแต่วันนี้เราอาจจะต้องยอมสละเครื่องมือทำกินเพื่อต่อชีวิตไปบ้างก็เท่านั้นเอง

เพราะต่อให้วันนี้ขายหมูปิ้งได้รายได้ดีมากๆ แต่ถ้าสักวันหนึ่งได้มีโอกาสเล่นดนตรี พวกเราก็ต้องกลับมาเล่นอยู่แล้ว ความรักตรงนี้ไม่หายไปแน่นอนครับ

AUTHOR