ทำอะไรตามใจมากขึ้น เป็นตัวเองได้สุดๆ ไปเลย บทบาทศิลปินเดี่ยวครั้งแรกของ fluffypak

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ที่ได้ฟังซิงเกิล บ้าบอที่สุด ครั้งแรกในชื่อ fluffypak ฉันทั้งดีใจและแปลกใจที่สมาชิกวงดนตรี Jelly Rocket ที่ฉันชอบยังทำเพลงอยู่ แถมรับบทร้องเองเสียด้วย

หลังจากนั้นเธอก็ปล่อยซิงเกิลตามมาอีกหลายเพลง ได้แก่ บุคคลอันตราย, ได้ไหม, คนเหงา, เธอจะไป จนในที่สุด fluffypak ก็มีอัลบั้มแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวชื่อ Daydream Blue

ในบรรดาทุกเพลงที่ฟังมา ได้ไหม เป็นเพลงที่ฉันฟังซ้ำบ่อยที่สุด อาจเพราะดนตรีฟุ้งๆ แบบดรีมป๊อป ชวนให้คิดถึงเอกลักษณ์ของ Jelly Rocket ที่ตอนนั้น ภัค–ณภัค นิธิพัสกร รับตำแหน่งเป็นมือซินธ์และเป็นคนเริ่มเพลงส่วนใหญ่

รักเท่าไรก็ไม่มีผล
ให้ไปเท่าไรก็คงไม่อาจเปลี่ยนใจเธอ
รักฉันก็ไม่มีเหตุผล
ห้ามใจเท่าไรก็ยังคง เหมือนเดิม

แน่นอน หนึ่งในวงดนตรีที่คนมักบ่นคิดถึงมากที่สุดทุกปีคงหนีไม่พ้น Jelly Rocket เพราะด้วยความเข้ากันของสมาชิกวงกับผลงานเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ ทว่าแม้จะพักวงไปหลายปีแล้ว แต่คนที่รักและเรียนจบด้านดนตรีมาอย่างภัคคงเลิกเล่นดนตรีไม่ได้

ล่าสุด fluffypak เพิ่งปล่อยเพลง แอบมอง ซิงเกิลน่ารักๆ ฟังแล้วรู้สึกสดใส ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากเพลงที่ผ่านๆ มาที่มักให้ความรู้สึกหม่นเหงา เศร้าๆ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภัคได้เติบโตและเปลี่ยนไปยังไงบ้าง เธอก้าวขึ้นมาหน้าเวทีพร้อมเล่าให้เราฟัง

หลังจากที่เคยทำงานกลุ่มมาสามคน พอมาทำงานเดี่ยวแล้วเป็นยังไงบ้าง

มันก็แตกต่างไปจากเดิม จากที่เคยมีเพื่อนๆ ช่วยคิดช่วยตัดสินใจร่วมกัน ก็กลายเป็นเราตัดสินใจคนเดียว ซึ่งเราเป็นคนตัดสินใจไม่เก่งอยู่แล้ว เลยมักให้เพื่อนๆ ที่มาช่วยทำเพลงคิดด้วยกันว่าเอาแบบไหนดี อีกอย่างพอทำคนเดียวมันก็เหนื่อยกว่า เพราะเมื่อก่อนเป็นงานกลุ่ม แต่เราว่ามันก็เป็นคนละรสชาติแหละ

ข้อดีของการทำเพลงคนเดียวคืออะไร

เพลงที่ออกมามันได้แบบที่ใจเราต้องการมากขึ้น เป็นตัวเราสุดๆ ไปเลย ถึงจะถามความเห็นจากคนอื่นบ้าง แต่สุดท้ายกับ fluffypak เราเป็นคนตัดสินใจเองทั้งหมดจริงๆ ไม่ได้มีส่วนผสมของเพื่อนๆ เหมือนตอนทำ Jelly Rocket ที่มาตัดสินใจร่วมกัน

คุณกลัวหรือเกร็งกับผลตอบรับในการทำงานเพลงเดี่ยวว่าจะไม่เหมือนตอนทำวงไหม

กับ fluffypak มันออกแนวทำเพราะอยากทำ เป็นไดอารีมากกว่า ไม่ได้คิดมากเรื่องผลตอบรับเท่าไหร่ ไม่เคยเอาตอนทำวงมาเปรียบเทียบกัน เพราะเราคิดว่าไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ตอนนั้นมันก็มีรสชาติของแต่ละคนผสมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าดี แต่พอเป็นเราคนเดียวมันก็เป็นอีกรสชาติหนึ่ง

นิยามได้ไหมว่ารสชาติเหล่านั้นเป็นยังไง

ยากจัง เพราะว่ามันคล้ายกัน (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ตอน Jelly Rocket เราเป็นคนแต่งเพลง เป็นคนขึ้นเพลง แล้วเพื่อนๆ ช่วยกันทำ ซึ่ง Jelly Rocket ก็คือสิ่งที่เราชอบ พอมาทำ fluffypak เลยคล้ายกัน เพราะเราก็ทำสิ่งที่ชอบอยู่

ช่วงที่ Jelly Rocket พักวงไป คุณทำอะไรบ้าง

นอกจากเล่นดนตรีแบ็กอัพ เราได้ไปทำโปรเจกต์เพลงประกอบโฆษณาและละคร เพิ่งปล่อยให้ฟังในยูทูบไปไม่นานนี้ เป็นอัลบั้มเพลงบรรเลงชื่อว่า Peace Piece และได้ลองทำเพลงประกอบหนังทีสิส ซึ่งต้องขอบคุณน้องๆ ที่ชวนไปทำเพราะไม่เคยทำมาก่อน พอทำแล้วก็ชอบ เพราะเราชอบทำเพลงบรรเลงอยู่แล้ว

ทำไมถึงชอบเพลงบรรเลง

เราเรียนเปียโนแจ๊สมา บวกกับรู้สึกว่าดนตรีมันเล่าเรื่องโดยไม่ต้องมีคำร้องได้ เปิดกว้างดี ไม่ได้เจาะจงว่าจะพูดว่าอะไร แต่เพลงจะทำให้คนฟังรู้สึกและจินตนาการต่อได้เองโดยที่รู้สึกเชื่อมโยงกับเพลง เหมือนเป็นแค่อารมณ์ที่ส่งมาให้คนฟัง

ระหว่างเล่นเพลงที่ต้องร้องไปด้วยกับเล่นเพลงบรรเลง คุณชอบทำอะไรมากกว่ากัน

ปกติเราชอบเขียนเพลงแต่งเพลงนะ พอได้มาลองร้องเพลงจริงๆ ก็รู้สึกว่าเราไม่ค่อยชอบร้อง แต่มันก็ต้องร้องแหละ (หัวเราะ) ไม่งั้นเขาจะได้ยินได้ยังไงว่าร้องว่าอะไร นั่นถือเป็นสิ่งที่ค้นพบเกี่ยวกับตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็ชอบเพลงบรรเลง แต่คิดว่าคนเราควรทำอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าทำอย่างเดียวอาจจะทำให้ถึงจุดอิ่มตัวเร็ว

แต่ตอนอยู่ Jelly Rocket คุณก็ร้องด้วยไม่ใช่เหรอ

เราชอบร้องคอรัส แต่พอได้มาร้องหลักก็พบว่าหนักหน่วง (หัวเราะ) ที่ผ่านมาให้เพื่อนที่ร้องคอรัสช่วยติว อีกอย่างเพลงที่เราแต่งขึ้นเป็นเพลงร้องมันก็ต้องร้อง แต่ถามว่าชอบแสดงขนาดนั้นไหม ในวันนี้อาจยังมีความเกร็งอยู่เพราะต้องไปอยู่ข้างหน้า ปกติเราไม่ชอบสบตาคนด้วยซ้ำ ชอบร้องคอรัสแล้วยืนข้างหลัง

แล้วเวลาคิดเพลงต้องคิดให้เข้ากับเสียงตัวเองไหม 

เวลาแต่งเพลงเราไม่ได้คิดมากขนาดนั้น คิดแค่ว่าแต่งสิ่งที่อยากแต่งออกมา แล้วค่อยมาปรับตอนหลัง ซึ่งเอาจริงตอนแต่งเราก็นึกถึงขอบเขตเสียงของตัวเองอยู่ คงไม่ diva ขนาดนั้น

อยากให้คุณนิยามแนวเพลงของ fluffypak หน่อย

ซินธ์ป็อบ แต่จะเน้นซินธ์หรือเสียงเอฟเฟกต์มากขึ้น อย่างตอน Jelly Rocket จะมีพาร์ตกีตาร์ที่เด่นเท่าๆ กัน แต่พอเป็นโปรเจกต์เดี่ยวจะตามใจฉันนิดหนึ่ง อยากได้อะไรก็ใส่เข้าไปเลย จะเห็นได้ว่าแนวเพลงหลากหลายขึ้น จะมีกรูฟๆ บ้าง ไม่ร็อกอย่างเดียว หรือลดความร็อกลงไปด้วย แต่คิดว่าที่ลดความร็อกลงเพราะเราโตขึ้นด้วย เหมือนตอนเด็กๆ เราจะรู้สึกซ่า อยากได้ยินอะไรดังๆ นึกถึงตอนที่อยู่ Jelly Rocket แล้วปวดคอ เพราะตอนเล่นสดคือโยกเต็มที่มาก พอเป็นตอนนี้บวกกับยุคสมัยด้วยก็เลยมีความกรูฟมากขึ้น 

แต่ส่วนใหญ่เพลงของคุณดูเศร้าๆ ไม่ค่อยสมหวัง เป็นเพราะอะไร

เรามักจะแต่งเพลงเวลาไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ เวลาที่มีความสุขเราจะไปกินบุฟเฟต์ แต่หลังๆ เราพยายามแต่งเพลงที่มีความสุขบ้างเพราะเวลาที่เรารู้สึกไม่ดีแล้วเปิดเพลงฟัง เราก็อยากฟังเพลงที่เชียร์อัพ เลยรู้สึกว่าอยากมีเพลงแบบนั้นบ้าง

พูดได้ไหมว่าคุณแต่งเพลงเพื่อเป็นการระบาย

คิดว่ามันคือการระบายสำหรับเราเหมือนกัน เพราะเวลาที่เครียดและไม่รู้ว่าจะจัดการอารมณ์ยังไงเราก็จะแต่งเพลง เพื่อให้มันไปอยู่บนกระดาษแทน

เพลงคุณมักจะมีวลีติดปากของยุคสมัยอย่าง ‘บ้าบอที่สุด’ หรือ ‘ยังไม่ได้นอนเลยจะสิบโมงเช้า’ เป็นความตั้งใจที่ใส่เข้ามาทำให้ติดหูหรือเปล่า

ตั้งใจแต่ก็ไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น เรารู้สึกว่ามันขำดีเลยหยิบมาใช้ ไม่ได้คิดไปไกลว่าอยากให้ติดหู เพราะเราค่อนข้างแต่งเพลงตามใจฉันมากเลย ไม่ได้คิดอะไรเท่าไหร่ คิดแค่ว่าคำนี้มันขำดี ช่วงนั้นวลีพวกนี้มันดังก็เลยเอามาใส่ เพราะรู้สึกว่าเข้ากัน อีกอย่างคือใช้มันบันทึกช่วงเวลาของยุคสมัยได้ด้วย อย่างเพลง MSN ที่ถ้าเป็นตอนนี้คงไม่มีใครแต่งเพลงเกี่ยวกับสิ่งนี้แล้ว ซึ่งเพลงเรามีความเป็นไดอารีสูง ฟังแล้วจะรู้ว่าเพลงนี้อยู่ตรงช่วงไหนของชีวิต มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง

แล้วคุณได้อิทธิพลจากดนตรีหรือสื่อใดๆ ในการทำเพลงบ้างไหม

ได้ เราว่าเรื่องนี้ก็ส่งผลสูง เพราะรู้สึกว่าการที่จะทำเพลงเพลงหนึ่งออกมา มันมาจากวัตถุดิบในหัวเรา แล้ววัตถุดิบเหล่านี้ก็มาจากการเสพสิ่งต่างๆ เข้ามาแล้วมันกลั่นรวมกันกลายเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นใหม่อีกทีหนึ่ง ช่วงที่เราทำ Daydream Blue เราฟังวง Superorganism เยอะ พวกเขาเจ๋งมาก เป็นวงที่สมาชิกอยู่กันคนละประเทศแล้วรวมตัวกันทำเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตข้ามโลก แต่สุดท้ายพวกเขาก็มาอยู่รวมกัน มันดูหลากหลายดี

แล้วเพลง แอบมอง ที่อยู่ในอัลบั้มใหม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากอัลบั้ม Daydream Blue บ้าง

เปลี่ยนไม่เยอะมาก แต่เราไม่เคยโซโล่เปียโนมาก่อน ตั้งแต่ช่วงทำ Jelly Rocket มาถึง fluffypak เพิ่งมีเพลงนี้ที่ลองโซโล่เปียโน ปกติไม่เคยเลย อาจเพราะเรียนมาก็เลยเขินๆ ที่ต้องมาโชว์ แต่ที่ตัดสินใจใส่เข้าไปเพราะ arrange มานานมาก พอลองเล่นดูแล้วมันเวิร์ก รวมถึงคิดว่าอัลบั้มนี้อยากเล่นดนตรีให้มากขึ้น เพราะอัลบั้มที่แล้วเพลงที่มีโซโล่เยอะๆ เลยคือเพลง เธอจะไป ที่ตอนท้ายได้โซโล่ซินธ์ยาวๆ เลยคิดว่าอัลบั้มนี้อาจจะโซโล่ให้มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับเพลงด้วย ปีนี้คิดว่าทุกคนน่าจะได้ฟัง

ตั้งแต่ทำ fluffypak มา คุณมีเรื่องประทับใจมากๆ บ้างหรือเปล่า

ได้เจอ MILK! ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่ดูแลเรา ตอนยุค Jelly Rocket ก็เคยทำงานด้วย แต่ในฐานะ fluffypak เราดีใจที่ได้ร่วมงานกับ MILK! เพราะช่วงปีแรกเราทำทุกอย่างเองแล้วเหนื่อยมาก รู้สึกว่าบางอย่างตั้งใจจะทำแล้วมีเรื่องรุมเร้าก็เลยไม่ได้ทำ แต่พอมี MILK! มาช่วยดูแลจัดการก็รู้สึกว่าเป็นระบบระเบียบมากขึ้น อะไรที่คิดว่าอยากทำในใจเขาก็ทำให้

คิดว่าตัวเองโตขึ้นจากช่วง Jelly Rocket ยังไงบ้าง

เราสามารถปล่อยวางหลายๆ อย่างในชีวิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจ เอาจริงเราก็ยังดีลกับความเครียดได้ไม่ดีพอ แต่คิดว่าการโตขึ้นของเราคือการเข้าใจมากขึ้นว่าในทุกๆ วันเราควรหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ อย่าไปจมกับความทุกข์นานเกินไป

ส่วนในแง่การทำงานเพลง เราคิดว่าตัวเองมีความอะลุ่มอล่วยมากขึ้น ตอนเด็กๆ เราจะอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอโตขึ้นก็รู้สึกว่าการทำงานกับคนอื่นมันต้องช่วยๆ กัน เราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะเอาอย่างนี้อย่างนั้น ต้องดูแลกันไป มีความเป็นพี่เป็นน้องในวงและทีมงาน

มีคนคิดถึง Jelly Rocket อยู่เรื่อยๆ คุณมองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกยังไง

เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เราแฮปปี้มากที่ได้ทำ Jelly Rocket ในช่วงอายุนั้น คิดว่าเป็นอัลบั้มที่ภูมิใจและแฮปปี้กับงานตัวเอง เราทำเต็มที่แล้ว เก็บไว้ในความทรงจำ ตอนนี้เป็น fluffypak แฟนคลับก็น่ารัก มาซัพพอร์ตให้กำลังใจ บางคนชอบเพลงเราแล้วมารู้ทีหลังว่าเราคือมือคีย์บอร์ด Jelly Rocket ก็มี ซึ่งเราโอเคหมด เพราะเราทำเพลงเพราะอยากทำ ยิ่งมีคนชอบเราก็ดีใจ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone