Your Name Engraved Herein หนังไต้หวันที่ขับเคลื่อนสิทธิ LGBTQ+ นอกจอภาพยนตร์

Highlights

  • ใครที่ติดตามวงการภาพยนตร์ไต้หวันอย่างใกล้ชิดอาจพอได้ชมเทรลเลอร์ของภาพยนตร์ LGBTQ+ แห่งปีของไต้หวันเรื่อง Your Name Engraved Herein ที่เข้าโรงช่วงปลายปีที่ผ่านมากันบ้าง แต่สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคย เราแนะนำให้คุณกาปฏิทินวันที่ 23 ธันวาคมนี้ไว้เพราะหนังเรื่องนี้จะเข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์ให้ได้ดูกันทั่วโลก
  • สำหรับผลตอบรับ แม้เกิดปัญหาต้องเลื่อนฉายหนังจากเดือนมิถุนายนมาเป็นปลายเดือนกันยายน แต่ตัวเลข 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวันน่าจะพอการันตีได้ว่า Your Name Engraved Herein ไม่ใช่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กหรืออินดี้ที่เจาะกลุ่มคนดูแค่ชาว LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังสื่อสารไปถึงคนดูได้ทุกกลุ่มอย่างกว้างขวางนอกโรงภาพยนตร์ด้วย

ใครที่ติดตามวงการภาพยนตร์ไต้หวันอย่างใกล้ชิดอาจพอได้ชมเทรลเลอร์ของภาพยนตร์ LGBTQ+ แห่งปีของไต้หวันเรื่อง Your Name Engraved Herein ที่เข้าโรงช่วงปลายปีที่ผ่านมากันบ้าง แต่สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคย เราแนะนำให้คุณกาปฏิทินวันที่ 23 ธันวาคมนี้ไว้เพราะหนังเรื่องนี้จะเข้าฉายทางเน็ตฟลิกซ์ให้ได้ดูกันทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เราเลยเขียนบทความนี้เพื่อเชียร์ให้ทุกคนไม่พลาดชมกัน

เพราะนี่คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของไต้หวันที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านดอลลาร์ และสร้างปรากฏการณ์ให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไต้หวันคึกคัก แถมยังขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของชาว LGBTQ+ ไต้หวันไปพร้อมกัน

หนังดราม่าที่สอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และการเมืองของไต้หวัน

Your Name Engraved Herein (刻在你心底的名字) คือผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Liu Kuang-Hui (Patrick Liu) ที่ดัดแปลงพล็อตเรื่องมาจากชีวิตจริงของเขาเองที่ต้องต่อสู้กับทัศนคติของสังคมที่มีต่อเกย์มาอย่างยาวนาน หนังพาคนดูย้อนกลับไปไต้หวันในยุคหลังยกเลิกกฎอัยการศึก (Martial Law: 1949-1987) ที่ความตื่นรู้เรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และการยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศยังไม่แบ่งบานเท่าปัจจุบัน 

หลิวสร้างตัวละครหลักอย่าง A-Han ให้เป็นภาพแทนของวัยรุ่นในยุคนั้นที่ตั้งคำถามต่อเพศสภาวะของตัวเอง เมื่อเขาเริ่มรู้สึกดีกับ Birdy เพื่อนชายที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนร่วมชมรมโยธวาทิตจนกลายเป็นเพื่อนซี้ในที่สุด

บรรยากาศของโรงเรียนคาทอลิกที่เรื่องรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้าม หอนักเรียนชายที่เคร่งครัดไปด้วยกฎระเบียบ กดทับฮอร์โมนส์พลุ่งพล่านของวัยรุ่น ครอบครัวแบบจีนที่คาดหวังกับบทบาทของลูกชายไว้สูง บวกกับสภาพสังคมที่ถูกควบคุมด้วยการเมืองช่วงผลิบาน จึงไม่แปลกที่ในยุคนั้นใครที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศย่อมถูกมองจากสังคมและตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งรังแก ทำให้ A-Han เองต้องปิดกั้นความรู้สึกลึกๆ ของตัวเองไว้ทั้งในรั้วโรงเรียนและรั้วบ้าน หนังยังตั้งใจใส่บางเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิเพื่อคนรักเพศเดียวกันให้เท่าเทียมกับหญิงชายไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในสังคมไต้หวันขณะนั้น ในฉากที่ A-Han และ Birdy เดินทางไปกรุงไทเปเพื่อร่วมพิธีศพของอดีตประธานาธิบดี เจียง จิงกั๋ว (Chiang Ching-kuo) บุตรชายของผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งแห่งไต้หวัน–เจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-shek) ที่หลายคนคุ้นชื่อดี

เรื่องราวในหนังจะจบลงยังไงนั้น ขอแนะนำให้ไปติดตามชมกันเอง สิ่งที่เราว่าน่าสนใจคือถึงแม้หนังจะมีแม่เหล็กดึงดูดคนดูด้วยหน้าตาของนักแสดงนำ งานภาพสุดคราฟต์ที่พาเรากลับไปชมสภาพเมืองของไต้หวันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน หรือซีนสุดโรแมนติกของสองนักแสดงที่พากันไปถ่ายทำที่เกาะเผิงหู (Penghu Island) แต่มากกว่าการตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘รักแรกที่ทุกคนจำได้ฝังใจ’ คือการที่หนังสะท้อนให้เห็นสภาพสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมืองของไต้หวันในยุคที่เริ่มรู้จักคำว่าประชาธิปไตย และชี้ให้เห็นว่าคนไต้หวันเองก็ผ่านการต่อสู้ ความเจ็บปวด และต้องแลกอะไรหลายอย่างมาเพื่อสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่ต่างจากสังคมไหนๆ เช่นกัน

ภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์แห่งปี

เพราะเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในหลายประเทศซบเซาในปีนี้ ที่ไต้หวันก็ไม่ต่างกัน แม้จะเกิดปัญหาต้องเลื่อนฉายหนังจากเดือนมิถุนายนมาเป็นปลายเดือนกันยายน แต่ตัวเลข 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวันน่าจะพอการันตีได้ว่า Your Name Engraved Herein ไม่ใช่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กหรืออินดี้ที่เจาะกลุ่มคนดูแค่ชาว LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังสื่อสารไปถึงคนดูทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง (ขณะที่เขียนบทความนี้ภาพยนตร์ก็ยังยืนโรงฉายอยู่เกิน 2 เดือนแล้ว) แม้แต่ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ก็ยังโพสต์เชิญชวนคนไต้หวันให้ไปดูหนังเรื่องนี้ในเพจเฟซบุ๊กของเธอเอง

หรือมองในแง่รางวัล Your Name Engraved Herein ถูกส่งชื่อเข้าชิงถึง 5 สาขาในเวที Golden Horse Awards 2020 และสามารถคว้ารางวัล Best of Cinematography จากงานภาพทรงพลัง และรางวัล Best Original Film Song จากเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกับหนัง (刻在你心底的名字) โดย Crowd Lu ศิลปินไต้หวันชื่อดัง เพลงนี้ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ใน Spotify ของไต้หวันตั้งแต่ช่วงหนังเข้าฉายจนถึงตอนนี้อย่างที่ยังไม่มีเพลงไหนโค่นได้ และยังกลายเป็นเพลงประจำชาติเพลงใหม่ของชาว LGBTQ+ ที่ไม่ว่าไปผับบาร์ไหน ทุกคนก็ร้องตามกันได้ทั่วร้าน ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแจ้งเกิดให้ 2 นักแสดงนำ Edward Chen และ Tseng Jing-hua ให้โด่งดังเป็นพลุแตกและขึ้นปกแม็กกาซีนแทบทุกฉบับจนตามซื้อเก็บไม่หวาดไม่ไหว

ภาพยนตร์ที่ขับเคลื่อนให้ชาว LGBTQ+ ในโลกจริง

สารภาพว่าเราเองหลังจากที่ดูจบยังรู้สึกข้องใจเล็กๆ ว่าพล็อตเรื่องที่เล่ามาทั้งเก่าช้ำและอาจดูช้าไปด้วยซ้ำที่สังคมไต้หวันจะมาพูดเรื่องการ come out ของชาว LGBTQ+ ในปี 2020 นี้ที่ไต้หวันเองผลักดันกฎหมายการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน (same-sex marriage legalization) ได้เป็นประเทศแรกของเอเชียตั้งแต่ปี 2019 หรือในงาน Taiwan LGBT Pride 2020 ที่ไทเปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราก็ยังเห็นชาวไต้หวันหลายคนออกมาเรียกร้องว่าพวกเขาสมควรได้รับสิทธิที่ดีกว่านี้ (We deserve better life!) จนเราเริ่มตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่านี้?

โดยส่วนตัวเราคิดว่าภาพยนตร์นี้ทำหน้าที่สื่อสารเนื้อหาและสุนทรีตามที่ผู้ชมแต่ละคนรับสารได้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการที่นอกโรงภาพยนตร์ นักแสดงนำ ผู้กำกับ และทีมงานยังเป็นกระบอกเสียงให้กับชาว LGBTQ+ เพื่อขับเคลื่อนสิทธิทางเพศของสังคมไต้หวันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งการจัดฉายหนังรอบพิเศษ จัดทอล์กหรือเสวนาตามมหาวิทยาลัย และการร่วมเดินขบวนในงาน LGBT Pride ทั่วไต้หวันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งงานใหญ่ที่ไทเป ไถหนาน และเกาสง (ซึ่งทั้งสองเมืองหลังยังเต็มไปด้วยคนรุ่นเก่าที่ไม่เปิดใจยอมรับชาว LGBTQ+) สิ่งนี้เองที่เราว่าน่าสนใจและไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในประเทศแถบเอเชียที่คนในวงการบันเทิงหรือสื่อจะออกมาผลักดันเรื่องนี้สู่สาธารณะ โดยไม่ได้เป็นแค่การสร้างกระแสให้กับนักแสดงนำเท่านั้น

ทั้ง Edward Chen และ Tseng Jing-hua สองนักแสดงนำที่ถึงแม้พวกเขาจะเป็น straight และมีประสบการณ์การแสดงไม่มากนัก แต่ก็สามารถถ่ายทอดบทบาทของตัวละครที่สับสนในเพศสภาวะและแบกหนังทั้งเรื่องไว้ได้อย่างดี พวกเขายังให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นของ LGBTQ+ โดยบอกว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็สมควรได้รับความรักและถูกปฏิบัติอย่างไม่แตกต่างกัน

Edward Chen ยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาเองก็มีประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้และเปิดใจยอมรับเพศสภาพของพี่สาวตัวเองที่ชอบผู้หญิงเหมือนกัน หลังจากที่ทั้งคู่เคยมีปัญหาและไม่พูดคุยกันมาหลายปี และพี่สาวเขาก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับตัวละคร A-Han ในภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับเขา รวมถึงหลิวผู้กำกับวัย 50 เป็นคนหนึ่งที่เข้าใจดีว่าการถูกมองจากสายตาคนรอบข้างยังคงเป็นกำแพงที่ชาว LGBTQ+ ในไต้หวันหลายคนก้าวข้ามไม่พ้น แต่เขาก็ยืนยันที่จะสนับสนุนให้ทุกคนกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองและพูดเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผยในครอบครัว

หน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของชาว LGBTQ+ ในไต้หวันที่รวมตัวกันในนาม ‘Taiwan Equals Love’ สำรวจความคิดเห็นของชาวไต้หวันล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 พบว่า 92.8 เปอร์เซ็นต์ของคนไต้หวันมองว่าเรื่องกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ‘ไม่มีผลกระทบ’ ต่อพวกเขา และมีเพียง 1.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มองว่าตัวเองได้ประโยชน์ รวมถึงคนไต้หวันกว่าครึ่ง (50.2 เปอร์เซ็นต์) มองว่าเรื่องนี้ ‘ไม่มีผลกระทบ’ ต่อสังคมไต้หวันโดยรวม และมีเพียงแค่ 11.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นว่าการขับเคลื่อนกฎหมาย same-sex marriage จะส่งผลดีต่อสังคมไต้หวัน ซึ่งแปลได้ว่ากฎหมายนี้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนไต้หวันทุกคนมากเพียงพอ

ทัศนคติต่อการยอมรับเพศสภาวะที่แตกต่างก็น่าสนใจ 65 เปอร์เซ็นต์บอกว่ายอมรับได้ถ้ามีคนในครอบครัว เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเพื่อนร่วมงานเป็น homosexual แต่สำหรับครอบครัว สัดส่วนของคนที่ยอมรับได้ว่าลูกตัวเองเป็นเกย์อยู่ที่ 49.2 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างกับอีกกลุ่มที่มองว่ายากที่จะรับได้ (47.3 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งไม่แปลกสำหรับไต้หวันที่คนรุ่นเก่าจะยังคาดหวังและยึดติดกับค่านิยมทางเพศที่ไม่ได้เปิดกว้างมากเท่าที่คนนอกอย่างเราคิด

การขับเคลื่อนกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกันจึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ยังมีข้อจำกัดอีกมากมายที่ต้องเดินหน้ากันต่อ (โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแต่งงานระหว่างคนไต้หวันกับชาวต่างชาติ) Jennifer Lu ตัวแทนจากแคมเปญ Taiwan Equality Campaign (彩虹平權大平台) ที่เคยขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายนี้จนผ่านสภาฯ บอกว่า ก้าวต่อไปที่สังคมไต้หวันต้องไปให้ถึงคือการยอมรับตัวตนของชาว LGBTQ+ ไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมทางเพศเท่านั้น แต่หมายถึงการที่สังคมจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

แม้ว่าธงสีรุ้งจะโบกสะบัดไปทั่วไทเปในงาน Pride Parade ที่จัดขึ้นทุกปี แต่สิ่งที่ชาว LGBTQ+ ในไต้หวันต้องการจริงๆ ไม่ได้จบลงแค่การออกมาเดินขบวนในหนึ่งวัน เพราะยังมีอีกหลายคนที่กำลังต่อสู้เพื่อ ‘ความเท่าเทียม’ ทั้งในรั้วบ้านและกรอบของสังคม ซึ่งเราในฐานะคนนอกอาจมองไม่เห็น

นี่คือคำตอบว่าทำไมคนไต้หวันหลายคนถึงยังไม่หยุดต่อสู้เพื่อสิทธิของชาว LGBTQ+ ที่พวกเขาควรได้ ที่แม้จะยังต้องต่อสู้อีกยาวไกลแต่พวกเขามีความหวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าทุกคนออกมาส่งเสียงในแบบของตัวเองได้ดังพอ

อ้างอิง

ent.ltn.com.tw

gq.com.tw

international.thenewslens.com/

newtalk.tw

taipeitimes.com

vogue.com.tw

AUTHOR