คำตัดสินและคำถามที่ผลักดัน ‘ต๋อง Ristr8to’ ก้าวสู่แชมป์โลกลาเต้อาร์ต

Highlights

  • ตลอด 10 ปีหลังบาร์กาแฟ นอกจากจะต้องต่อสู้กับการฝึกฝนตัวเองแล้ว ต๋อง Ristr8t0 ยังต้องต่อสู้กับคำถามและคำตัดสินจากคนรอบข้าง เขาเก็บเสียงเหล่านั้นเป็นแรงกระตุ้นให้ตัวเองทำสิ่งที่รักต่ออย่างไม่หยุดหย่อน
  • ความล้มเหลวจากการเปิดร้านกาแฟร้านแรกของตัวเองที่ออสเตรเลียคือบทเรียนสำคัญ เขากลับไทยมาเปิดร้านกาแฟสไตล์ออสเตรเลียที่ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ในวงการกาแฟไทยสมัยนั้น ต๋องฝ่าฝันกับคำพูดของคนรอบตัวที่ไม่เชื่อว่า 'เขาจะทำได้' จนวันนี้การขายกาแฟหลักพันแก้วกลายเป็นเรื่องธรรมดาของร้านไปแล้วเรียบร้อย
  • การได้อันดับหนึ่งจากเวทีการแข่งขันบาริสต้าระดับโลกปี 2017 หรือการมีเงินทองไม่ได้มีความหมายกับชีวิตเขาในระยะยาว เพราะแพสชั่นของเขาคือการทำทุกๆ สิ่งให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน แถมไม่มีวี่แววว่าจะหยุดพัฒนาตัวเองเพื่อลงแข่งลาเต้อาร์ตในเวทีแข่งขันอื่นๆ

ในฉากหน้า ต๋อง–อานนท์ ธิติประเสริฐ คือเจ้าของร้าน Ristr8to คาเฟ่สุดเท่ย่านนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยดีกรีร้านกาแฟของบาริสต้าผู้เป็นแชมป์โลกลาเต้อาร์ตจากรายการ 2017 World Latte Art Championship การขายกาแฟพันแก้วต่อวันกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเขา

ในฉากหลัง เขาคือเด็กหนุ่มที่ทิ้งใบปริญญาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มาจับ pitcher เทลาเต้อาร์ต เริ่มต้นฝึกฝนตัวเองหลังเคาน์เตอร์ในคาเฟ่เล็กๆ ล้มเหลวจากร้านกาแฟร้านแรกของตัวเองที่ออสเตรเลีย เจอเรื่องผิดพลาด ฝ่าฟันกับคำพูดคนรอบตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาสิบปี เฉกเช่นคนที่ไม่ยอมอ่อนข้อกับอุปสรรค 

แต่เชื่อไหมว่า แม้ในวันที่เขาประสบความสำเร็จบนเวทีระดับโลกมาหลายครั้งหลายครา คำพูดจากคนเหล่านั้นยังคงเดินตามหลังอยู่ เขาเลือกที่จะฟัง และแปรเปลี่ยนมันเป็นแรงกระตุ้นให้ตัวเองเดินรุดไปข้างหน้า เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อ

ทั้งหมดนี้คือนิยามความเท่ของบาริสต้าคนไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งที่เราอยากแบ่งปัน และตัวหนังสือหลังจากนี้คือสิ่งที่ยืนยันว่าหนทางแห่งความสำเร็จของเขาไม่ง่ายดายเลย

พลังของเด็กหนุ่มที่ใครบอกให้หยุดก็ไม่ฟัง

“ผมเรียนวิศวะเพราะแม่อยากให้เรียนครับ แต่ตอนปีสาม ผมรู้ตัวว่าวิศวกรไม่ใช่อาชีพที่ผมชอบ เลยอยากเป็นสจวร์ต อยากทำตามความฝันตอนเด็กที่อยากเที่ยวรอบโลกด้วย แต่ภาษาอังกฤษผมย่ำแย่มาก (หัวเราะ) อาชีพที่อยากทำต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษก่อน สามเดือนหลังเรียนจบผมเลยตะบี้ตะบันอ่านหนังสือ หาความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ผมว่าผมเป็นคนเพี้ยนประมาณหนึ่งนะ เวลาชอบอะไรก็จะอยากทำมันทุกวันๆ มันเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนชีวิตผมมากเลย

“ผมอยากจริงจังกับการเรียนภาษามากขึ้นเลยขอที่บ้านไปออสเตรเลีย ที่บ้านไม่ค่อยว่าอะไรกับการตัดสินใจนี้ แต่จริงๆ เขาก็บ่นว่าทำไมไม่ไปสมัครงานเป็นวิศวกร ผมตอบเขาไปว่าขอเรียนภาษาก่อนน่าจะดีกว่า

“ระหว่างที่เรียน ผมสมัครงานเป็นเด็กล้างจานในร้านอาหารไทย พอทำได้สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าถ้ายังอยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ เราแย่แน่ๆ เพราะที่ร้านก็มีแต่คนไทย แต่ผมไปออสเตรเลียเพราะอยากพูดภาษาอังกฤษ เลยตัดสินใจลาออก จำได้ว่าพี่ๆ คนไทยที่ทำงานเรียกผมไปคุยในครัว ‘คิดดีแล้วเหรอที่ลาออก เพราะงานที่นี่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสมัครเข้ามาทำได้นะ เชื่อพี่เหอะ อย่าไปไหนเลย’ ผมรู้สึกในใจว่าทำไมทุกคนต้องกะเกณฑ์ว่าสิ่งที่เราได้ทำในตอนนั้นคือดีแล้ว ผมไม่ชอบเลยเวลาที่มีคนบอกผมแบบนี้

“หลังจากนั้นผมไปสมัครงานเป็น all-rounder (คนทำงานจิปาถะ) ในคาเฟ่ ผมมีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลายและได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างที่หวังไว้ด้วย ทุกเช้าที่ร้านจะมีผมและบาริสต้าอีกคนที่เข้าร้านไวกว่าคนอื่นๆ ทุกวันผมได้เห็นเขาเซตเครื่องชงกาแฟ ปรับเครื่องบด ทำลาเต้อาร์ต ผมรู้สึกว่ามันเจ๋งมาก กาแฟแก้วแรกที่ผมได้กินก็คือกาแฟของบาริสต้าคนนี้ เขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเป็นบาริสต้า

“เขาได้ตำแหน่งแชมป์โลกลาเต้อาร์ตมาครองเลยตัดสินใจลาออกจากร้าน ผมก็เลยขอลาออกด้วย พนักงานทุกคนเขาดีใจกับเรานะ ถ้าเรามีเป้าหมายใหม่ทุกคนก็หวังดีอยากให้เราไปได้ดี มันทำให้ผมเห็นความแตกต่างในนิสัยคนไทยและคนออสเตรเลีย”

คำดูถูกที่ชวนพิสูจน์ความตั้งใจ

“ผมลงทุนเปิดคอกเทลบาร์และคาเฟ่กับเพื่อนที่ออสเตรเลีย แต่กิจการเราไปได้ไม่ค่อยสวย โชคดีที่โลเคชั่นร้านดีมากๆ ผมตัดสินใจขายร้านเอาเงินมากลบหนี้ ตรงนี้เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญในชีวิตเลย ครั้งต่อไปจะไม่หุ้นกับใครแล้ว ผมบินกลับเมืองไทยและตั้งใจว่าจะเปิดคาเฟ่ของตัวเอง แต่ก็มีปัญหากับที่บ้านซ้ำอีก เพราะเขาอยากให้ผมเป็นวิศวกร

“เราทะเลาะกันรุนแรง ผมเลยเอาเงินเท่าที่ผมมีมาเปิดร้าน Ristr8to ซึ่งก่อนหน้านั้นผมก็เริ่มลงแข่งลาเต้อาร์ตที่ออสเตรเลีย ผมอยู่ที่นู่นมาเกือบสี่ปี ซึมซับวัฒนธรรมคาเฟ่ของเขามาเยอะ นี่เป็นเหตุผลที่ผมอยากเปิดคาเฟ่สไตล์ออสเตรเลียที่เน้นขายกาแฟแบบ single origin และลาเต้อาร์ต ซึ่งในปี 2011 สิ่งนี้ยังเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับวงการกาแฟบ้านเรา

“มีคนในวงการกาแฟพูดกับผมว่า ‘คนไทยเขากินกาแฟกับนมข้นมาตั้งแต่จำความได้ อยู่ๆ คุณจะให้คนไทยกินกาแฟร้อนได้ยังไง ยังไงก็ไม่มีทางทำได้’ หรือคำจากคนอื่นอย่าง ‘เป็นแค่ร้านลาเต้อาร์ต กาแฟใช้ไม่ได้หรอก’ ความรู้สึกมันเหมือนกับวันที่ผมลาออกจากร้านอาหารไทยที่ออสเตรเลีย คนบางคนมัวตัดสินคนอื่นๆ จากประสบการณ์ของตัวเอง และเชื่อกันแบบผิดๆ ว่าถ้าคนก่อนหน้าทำไม่ได้ คนที่มาทีหลังก็ทำไม่ได้เหมือนกัน

“วันแรกที่เปิดร้าน ผมขายกาแฟได้ 8 แก้วเองครับ แต่ลึกๆ ผมไม่อยากยอมแพ้เลย ผมเชื่อว่าลาเต้อาร์ตเป็นสิ่งที่เชื่อมคนทั่วไปให้เข้าสู่โลกของ specialty coffee ได้ง่ายที่สุด ผมคงรู้สึกเสียดายมากกว่าถ้าความรู้ที่เราเก็บเกี่ยวจากประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องกาแฟไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับวงการกาแฟไทยเลย”

อุปสรรคข้างทางที่แชมป์โลกลาเต้อาร์ตต้องฝ่าฟัน

“หลังจากเปิดร้านไม่นานผมก็ลงแข่งลาเต้อาร์ตอีก สุดท้ายปีนั้นผมก็ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยและคว้าอันดับที่ 6 ของโลกมาได้ เสียงที่ผมได้ยินจากคนข้างหลังบางคนคือ ‘ไม่ได้ที่หนึ่งหรอก เห็นไหมว่าไม่เก่งจริง’ ทั้งๆ ที่ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนประเทศไทยเข้าไปอยู่ในรายชื่อ final six (ผู้ชนะอันดับที่ 1-6 จะได้รับการบันทึกชื่อในรายการแข่งขัน) ตอนแรกๆ หงุดหงิดนะ แต่ในใจก็คิดว่าเดี๋ยวคราวหน้าผมจะได้อันดับที่สูงกว่านี้ให้ดู

“ปี 2015 คือปีที่สองที่ผมลงแข่ง คราวนี้ผมได้อันดับที่ 5 จริงๆ ผมคาดหวังแล้วว่าคว้าแชมป์โลกมาได้แน่ๆ แต่ด้วยความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมทำบนเวทีทำให้โอกาสนั้นหายไปเลย ปีต่อมาผมก็ตัดสินใจลงแข่งอีก คราวนี้หล่นไปอยู่ที่ 11 เลยครับ เจ็บปวดมาก (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นผมแทบไม่สนใจเลยว่าใครจะว่ายังไง เพราะคำพูดเดิมๆ เหล่านั้นทำอะไรผมไม่ได้แล้ว

“ผมกลับมาอ่านบทสัมภาษณ์อดีตแชมป์โลก เขาบอกว่าซ้อมวันละสิบชั่วโมงเป็นเวลาสองเดือน เททิ้งเกือบสองหมื่นแก้ว ผมฉุกคิดว่าบางครั้งผมอาจจะโทษคนอื่นมากเกินไป เราซ้อมน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่ทุ่มเททำมันมาเป็นเดือนๆ ความล้มเหลวบางทีมันก็สะใจ โดยเฉพาะเวลาที่เราลุกขึ้นจากมันได้

“แข่งเสร็จปีนั้นผมเตรียมตัวเพื่อการแข่งในปีถัดไปเลย เวลาเห็นอะไรเจ๋งๆ ก็เก็บมันมาครีเอตเป็นลายลาเต้อาร์ต หรือคิดหาวิธีการพรีเซนต์ที่ใส่เรื่องราวเข้าไปให้มันน่าสนใจ พยายามทำให้ทุกๆ วินาทีในสิบนาทีของการแข่งขันนั้นไม่มีช่องโหว่ให้กรรมการหักคะแนน จนในที่สุดก็ได้อันดับที่ 1 อย่างที่ตั้งใจไว้”

บทสรุปที่ไม่ใช่บทสุดท้าย

“ผมมองว่าทุกๆ คำพูดและความผิดพลาดมีความดีในตัวมัน อย่างน้อยที่สุดชีวิตเราต้องไม่ล้มซ้ำรอยเดิม มันคงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าเราจะเก่งหรือไม่เก่งยังไงเราคงหนีไม่พ้นคนที่คอยสรรหาคำพูดมาดูถูกความสามารถเรา เวลามีใครมาดูถูกเราก็แค่เปลี่ยนมันให้เป็นแรงผลักดัน แล้วก็ ‘ลงมือทำ’ ให้เขาดู

“ถ้าถามผมว่าความสำเร็จคืออะไร สำหรับผม เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ผมให้ความสำคัญกับความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ผมชอบตรงนี้ เร็วๆ นี้ผมก็กำลังจะแข่งอีกรายการ Coffee in Good Spirit เวลามีคนมาถามว่าทำไมยังลงแข่งอยู่ ผมมักถามเขากลับไปว่า ‘แล้วทำไมเราจะต้องหยุด’

“ตอนนี้ผมเป็นคนที่นอนเฉยๆ ไม่ได้แล้ว ผมอยากทำให้ทุกอย่างดีขึ้นในทุกวัน หาไอเดียใหม่ๆ มาป้อนให้ร้าน ทำ Ristr8to ให้เป็นคาเฟ่ที่ดี การมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบไปเรื่อยๆ วิถีชีวิตแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งได้แหละมั้ง”

แค่ทำในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในความคิด ลงมือทุ่มเทให้กับมันอย่างสุดใจ และมองทุกอุปสรรคในแง่ดี นี่คือความเท่ที่เราสัมผัสได้จากชายที่อยู่ตรงหน้าเราคนนี้ เหมือนกับแบรนด์ AXE ที่เชื่อเสมอว่าเราทุกคนมีความเท่ในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่เหมือนใคร แค่มั่นใจในตัวเราที่เป็นเราก็พอ

ขอบคุณสถานที่ Khom Coffee

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวจากเชียงใหม่เจ้า นอนไว ตื่นเช้า และชอบสะดุ้งมาตอบไลน์ตอนตีหนึ่ง รักงานแฮนด์เมด สินค้ามือสองและของพื้นเมือง มีความตั้งใจเก็บเงินเพื่อซื้อตู้เย็น