กรอดูหนังชีวิตของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับและนักเขียนบทที่ตั้งเป้าว่าจะเดินตามฝันมาเกือบ 20 ปีแล้ว

หนังเป็นศาสตร์ศิลปะที่ยาก เพราะไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด หนังเรื่องแรกที่ดัง ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าหนังเรื่องที่สองหรือเรื่องที่สามจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่มีใครยืนยันว่าเส้นทางนี้ควรไปทางไหน หรือต้องเดินทางอย่างไร เป็นเส้นทางปีนเขาคอร์สสุดแอดวานซ์ในชีวิตของ เต๋อนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

แม้จะไม่ได้เรียนทำหนังมาโดยตรง เขาขวนขวายให้ตัวเองได้ลองทำอยู่เสมอ โปรดักชันตอนนั้นจึงจะเป็นการถ่ายหนังที่ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ แม้จะโดนเปรียบเทียบกับคนเรียนหนังอยู่บ้าง ถูกรุ่นพี่วิจารณ์อยู่บ่อยๆ เขาก็ไม่ได้นั่งทนทุกข์อยู่กับคำพูดเหล่านั้น แต่เขาลุกขึ้นมาพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีขึ้น

ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้เขาอยู่ในวงการมาหลายสิบปีจนมีหนังสร้างชื่ออยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี (หนังสั้น), 36 , Mary is happy, Mary is happy , The Master และหนังที่สร้างชื่อให้เข้ามากที่สุดอย่าง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย.. ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ หนังที่มีคำวิจารณ์หลากหลายที่สุดเรื่องหนึ่ง และเป็นหนังที่ให้ความมั่นใจกับเขาได้ว่า ‘น่าจะเป็นคนทำหนังไปได้ตลอดชีวิต’

Take 1 : นักเล่าเรื่อง

ความรู้สึกของเด็กชายเต๋อเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หนังในจอแก้วคือสิ่งมหัศจรรย์ เขาเติบโตมาในยุคที่หนัง CG กำลังเฟื่องฟู เมื่อโตขึ้นและเริ่มรู้จักกับหนังอินดี้ หนังทุนน้อย ที่เน้นการเขียนบทมากกว่าโปรดักชัน ซึ่งเขารู้สึกว่าความฝันว่าอยากจะเป็นคนทำหนังนั้นมีความเป็นไปได้

“เราอยากเป็นคนทำหนัง เพราะเรามีเรื่องอยากจะเล่าเยอะ เวลาเราไปเจอเรื่องที่น่าสนใจ เราก็รู้สึกว่าอยากจะเล่าต่อ อยากให้คนอื่นได้รู้ด้วย คือเราสนุกที่จะต่อเรื่องให้มันน่าสนใจมากขึ้น เป็นความสนุกแบบหนึ่งที่ผู้กำกับหรือนักเขียนบทสามารถทำสิ่งนี้ได้”

แต่ความฝันกับความเป็นจริงมักจะสวนทางกันอย่างประหลาด ช่วงที่เขาต้องเลือกคณะเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมหนังและเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากนัก เขาจึงเลือกที่จะเรียนคณะอักษรศาสตร์มากกว่าคณะนิเทศศาสตร์ที่ตรงกับสายของการทำหนังมากกว่า “ตอนนั้นมันเป็นยุคที่เศรษฐกิจมันไม่ค่อยดีมาก คนทำงานโฆษณาก็โดนเลย์ออฟเยอะ ที่บ้านเราก็มีฐานะกลางๆ อีกอย่างในยุคนั้นการทำหนังก็ค่อนข้างยาก คือพี่ๆ ผู้กำกับหลายคนก็ต้องไปอยู่วงการโฆษณาก่อนถึงจะได้กำกับ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ห่างไกลเรามาก จึงเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์เพื่อให้ที่บ้านสบายใจด้วย บวกกับเราก็อยากเรียนเหมือนกัน คือมันน่าจะให้ความรู้เราได้ในเรื่องความเข้าใจมนุษย์ แล้วก็น่าจะช่วยในเรื่องการเขียนบทภาพยนตร์ได้”

Take 2 : คนนอก

คนที่ทำหนังส่วนใหญ่ในยุคนั้นก็ต้องเป็นคนจากวงการโฆษณาหรือเป็นคนที่เรียนทำหนังมาโดยเฉพาะ อย่างต้อม เป็นเอก หรือเจ้ย อภิชาติพงศ์ ความเป็นคนนอกทำให้เขาหวั่นใจไม่น้อยว่าสุดท้ายแล้ว จะได้ทำภาพยนตร์และมีคนดูจริงๆ อย่างที่ใจฝันไว้

“คนอื่นเขาไม่สนว่าคุณเป็นใครมาจากไหน” เต๋อเล่าถึงช่วงเวลาที่เขาคิดว่าตัวเองนั้นช่างเป็นคนนอกวงสุดๆ สำหรับเด็กอักษรทำหนังไปเจอเด็กฟิล์มทำหนัง โปรดักชันและทักษะการถ่ายทำก็เรียกว่าคนละชั้นกัน ไหนจะเป็นเพื่อนรอบๆ ตัวที่เติบโตในหน้าที่การงานแล้ว

เราไม่เก่งเลย” นี่คือคำที่เต๋อบอกเมื่อเราถามว่า การทำหนังสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมานั้นยากแค่ไหน “งานช่วงแรกๆ ของเราคือเราถ่ายแบบไม่รู้เทคนิคเลย เช่น เวลาถ่ายในที่มืดๆ เราก็เอากล้องตั้งถ่ายเลย เพราะเราไม่รู้เลยว่าแสงสลัวๆ ที่เราเห็นในหนังมันผ่านการจัดไฟมาเยอะมาก ซึ่งความผิดพลาดเหล่านั้นเรารู้ว่ามันต้องใช้อะไรบ้าง เป็นบทเรียนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังต้องฝึกอีกเยอะ

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราเป็นคนนอกอย่างสิ้นเชิงเลย คือไม่รู้จะเข้าไปในวงการหนังยังไงเลยด้วยซ้ำ มันไม่สนุก เป็นตัวเองนี่แหละที่คอยพูดกับตัวเองว่า ‘ทำได้แค่นี้หรอวะ’ ตัวเองมีปัญหาอะไรหรือเปล่า หรือรู้น้อยไปหรือเปล่า แต่สิ่งที่ทำให้เราอยากจะทำมันต่อไปก็เพราะว่าเราชอบมันมากๆ อยากเป็นคนทำหนังมากๆ เท่านั้นเอง”

Take 3 : สู้กับความฝันกันสักตั้ง

“หลังจากเรียนจบ เราตั้งปณิธานของตัวเองว่า จะอยู่กับการทำหนังไปสัก 1 ปี คือโฟกัสสิ่งนี้อย่างเดียวจริงๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ลำบากยากแค้นเหมือนกัน เราเชื่อว่าปีที่หนึ่งของการเป็นฟรีแลนซ์มันยากนะ เพราะคุณจะไม่ได้มีงานเยอะแยะมากมาย บางเดือนได้เงิน 4,000 – 5,000 บาท บางเดือนก็น้อยกว่านั้นด้วย แล้วการเป็นฟรีแลนซ์ มันเหมือนเราล่องเรือไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะถึงปลายทางหรือเปล่า เหมือนเราอยู่บนทะเลที่กว้างมาก ล่องเรือผิดทางหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางเดือนที่มันว่างๆ เราก็พยายามไม่อยู่นิ่ง คือมีประกวดหนังเราก็ส่งประกวด ไม่ได้รองานฟรีแลนซ์ทำพรีเซนต์อย่างเดียว แต่คิดว่าเรากำลังต่อสู้ในสิ่งที่เราอยากทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันไม่มีอะไรง่ายเลย”

เมื่อลอยอยู่ในทะเลอันกว้างใหญ่และมองไม่เห็นปลายทาง งานที่เลี้ยงชีวิตจริงๆ อย่างการตัดต่อหรือทำพรีเซนเทชันก็ไม่ใช่งานที่เขารัก จนวันหนึ่งเขาคิดที่ล้มเลิกการทำหนังไปแล้วด้วยซ้ำ “เคยมีบางเดือนที่ไปสมัครงานประจำด้วยนะ เริ่มส่งพอร์ตฯ ไปแล้วด้วย” แต่เมื่อยังลองไม่   ครบปีตามที่เขาตั้งปณิธานไว้ เขาจึงสู้กับใจตัวเอง กัดฟันลุกขึ้นมาทำให้สุดความสามารถก่อน ดีกว่ามานั่งเสียใจทีหลัง

Take 4 : มีที่ยืน

ระหว่างที่เป็นฟรีแลนซ์อยู่นั้น เขาส่งหนังสั้นประกวดในหลายๆ เวที จนเมื่อเขาสมัครเข้าไปฝึกตัดต่อที่ค่ายหนัง GTH เก้ง-จิระ มะลิกุล และวรรณ-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้กำกับและนักเขียนบทมือฉมังจำหนังสั้นของเต๋อได้ จากหนังสั้นแนวทดลองเรื่อง Seeในเวทีประกวด Fat Film Festival เมื่อ พ.ศ. 2549 วิธีคิดของเขาเตะตานักเขียนบทมือฉมังสองคนนี้จนถูกชวนให้ไปฝึกเขียนบท จนเต๋อได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ดังๆ มากมายอย่าง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ , Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ฯลฯ จึงได้ฝึกฝนฝีมือจากอาจารย์ในชีวิตจริง

ไม่นาน เขาก็เริ่มทำหนังสั้นและหนังยาวเป็นของตัวเอง

 

Take 5 : คำวิจารณ์เป็นสิ่งที่ดี

‘ห่วยเว่ย หรือ หนังแม่งบ้าบอ’ เป็นคำวิจารณ์ที่เต๋อได้ยินอยู่เรื่อยๆ

“หลายคนบอกว่า หนังเรื่อง Mary is happy, Mary is happyคือ หนังที่แม่งสร้างมาเพื่อหลอกเด็กไปดู หรือวิจารณ์ว่า นี่มันหนังที่ทำเพื่อเด็กแนวชัดๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้แม่งโคตรไม่เด็กเลยนะ มันเป็นหนังกึ่งทดลองที่เราไม่คิดว่าเด็กๆ จะดูได้ แต่พอฉายไปแล้ว ฟีดแบ็กจากเด็กๆ หรือวัยรุ่นก็ดี เราก็ดีใจแหละ เพราะหนังเรื่องนี้คอนเซปต์จัดมาก ฮาร์ดคอร์แบบนี้เรารู้อยู่แล้วว่าต้องมีคนไปไม่ถึงฝั่งฝันแน่ๆ แล้วเราก็อาจจะยังไม่เก่งพอให้เรื่องมันพอใจกับทุกคนได้ บางทีที่เราดูก็มีวิจารณ์ตัวเองว่า ซีนไหนมันห่วยบ้าง เราตัดสินใจผิด แต่ถ้าเราอยู่กับคำวิจารณ์เหล่านั้น มันเสียเวลา น่าจะเรียนรู้มัน ปรับปรุงมันมากกว่า”

เขายอมรับว่าหนังของเขามีสไตล์เฉพาะตัวที่มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบอยู่แล้ว แม้คำวิจารณ์หนักๆ ในช่วงแรกๆ จะกระทบใจเขาอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาเข้าใจว่าไม่สามารถเข้าไปนั่งในใจทุกคนได้ เขาจึงรับคำวิจารณ์มาปรับปรุงตัวอยู่เสมอ คอมเมนต์ไหนที่เน้นการด่าทอมากกว่า เขาก็ปล่อยไป ส่วนคอมเมนต์ไหนที่มีเหตุมีผลและเอามาพัฒนาฝีมือได้ ก็หยิบมาใช้

Take 6 : อยากเป็นคนทำหนังไปตลอดชีวิต

ฟรีแลนซ์ฯ เป็นหนังใหญ่ที่ทำให้เขารู้ว่า ด้วยสไตล์ไม่แมสแบบนี้ก็ขายได้ และน่าจะเป็นคนทำหนังไปตลอดชีวิตได้

“มันเป็นเป้าหมายใหม่ของเรา ตอนนี้พยายามคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวเองสามารถทำหนังไปจนแก่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ทำเพียง 1 ปีแล้วเห็นผล บางทีมันใช้เวลาเป็นสิบปี เพราะกว่าที่เราจะมาทำหนังเรื่อง ฟรีแลนซ์ฯ นับกลับไปตั้งแต่ตอนความสนใจอยากจะทำหนังก็เกือบยี่สิบปี

“แม่งไม่มีอะไรง่ายว่ะ บางที่เวลาเจอน้องๆ ที่อยากเป็นผู้กำกับ เราก็จะบอกว่า บางอย่างมันต้องใช้เวลาจริงๆ บางทีเราต้องรอไปเรื่อยๆ ว่าเมื่อไรจะถึงเวลาของเรา บางครั้งแย่ๆ หน่อยก็คิดกับตัวเองว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้หรือเปล่า บางคนรอมา 10 ปีก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นเลย

“เราทำหนังมาหลายเรื่องแล้วก็จริง แต่เรื่องที่ห้ามันอาจจะไม่เวิร์กเลยก็ได้ เพราะทุกครั้งทำหนังเรื่องใหม่ มันก็เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ต้องถามว่าสิ่งที่คุณรักคือสิ่งนี้ไหม ถ้าคุณรักมันแล้วได้ทำ แม้จะมองไม่เห็นจุดหมายเลย คุณก็จะมีความสุข”

ภาพ สลัก แก้วเชื้อ

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER