ฟังหัวใจที่อธิบายตัวตนของ พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี แห่ง Fungjai

ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องถูกต้องเพียงใดในสายตาคนอื่น กับการที่ใครสักคนซึ่งจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และจบปริญญาโทอีก 2 ใบจากสหรัฐอเมริกา จะยอมปฏิเสธงานที่อาจทำให้เขาร่ำรวยในวิชาชีพ เพื่อได้ทำในสิ่งที่เขาเชื่อลึกๆ ว่าตัวเองอาจมีส่วนเปลี่ยนแปลงวงการได้ นั่นคือวงการเพลงนอกกระแส

แต่ไม่ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร พายปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Fungjai อาณาจักรเพลงนอกกระแสในประเทศไทยก็เลือกเส้นทางอย่างที่ว่ามาข้างต้น และที่สำคัญ

เขาไม่เคยนึกเสียใจ-ไม่เคยเสียดาย

มันคือความฝันเรา มันคือสิ่งที่เราอยากทำ

เมื่อพบเจอกัน ชายหนุ่มยิ้มทักทายก่อนจะเดินนำผมไปยังร้านกาแฟที่อยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศของฟังใจย่านอารีย์ หลังจากนั้น บทสนทนาเกี่ยวกับความฝันของเขาจึงเริ่มขึ้น สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจไม่น้อยคือเมื่อได้รู้ว่าเขาเรียนจบปริญญาตรีและโทในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และปริญญาโทอีกใบทางด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จากสหรัฐอเมริกา

ที่ประหลาดใจไม่ใช่เพราะว่าประเมินคนอย่างเขาต่ำเกินไป แต่เพราะเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของเขาล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับดนตรีซึ่งไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับวุฒิการศึกษาที่เขามี และพูดก็พูดเถอะ หากเขาทำงานในระบบแบบเพื่อนฝูงที่จบมา ป่านนี้เขาอาจกลายเป็นผู้บริหารหรือวิศวกรเงินเดือนมากมายก็เป็นได้

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ

ชายหนุ่มคลั่งไคล้ดนตรีชนิดเข้าเส้น แม้พ่อแม่จะไม่สนับสนุนให้เดินบนเส้นทางนี้ เนื่องจากอย่างที่รู้กัน หากไม่ใช่ศิลปินโด่งดังระดับร็อกสตาร์ คนในวงการดนตรีบ้านเราก็ถือเป็นอาชีพที่เปราะบางและไม่มั่นคง แต่เขาก็มั่นคง และพยายามเอาตัวเข้าไปอยู่ใกล้ๆ สิ่งที่รัก ช่วงที่เรียนปริญญาโทใบที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกา เขาได้ฝึกงานกับบริษัทเกี่ยวกับดนตรีซึ่งทำสิ่งที่เรียกว่า Electronic Press Kits อยู่ 8 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือน และประสบการณ์ในช่วงนั้นทำให้เขาอยากหาทางออกบางประการให้วงการเพลงในประเทศบ้านเกิด

“เราค้นพบว่าการที่วงการดนตรีจะอยู่ได้มันต้องประกอบไปด้วยหลายอย่าง ทั้งเรื่องสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อย่างเช่นที่อเมริกา มันก็จะมีบล็อกความรู้มากมายที่ให้เราได้เข้าไปอ่านเก็บความรู้ มีการนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างคนที่ทำอาชีพดนตรี มีวิถีปฏิบัติ มีวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้วงดนตรีสามารถที่จะทัวร์ได้ มีสถานที่ให้เล่น มีคนมาดู ทำให้เราค้นพบว่าทางออกจริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่สร้างรากฐานของคน เลยได้ไอเดียที่จะทำแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งมีเครื่องมือหลายๆ อย่างที่ช่วยทำให้ศิลปินมีรายได้ได้”

นั่นเป็นเหตุผลให้เมื่อเขากลับมาประเทศบ้านเกิด แทนที่เขาจะไปหางานประจำทำ เขากลับมุ่งมั่นสร้างบล็อก indiecampfire.wordpress.com ซึ่งเป็นพื้นที่นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับวงการดนตรีนอกกระแส และในหน้าแนะนำตัวเขาเองในบล็อกนั้น บรรทัดแรกเขาเขียนว่า

“ผมอยากปฏิวัติวงการดนตรีอินดี้ไทย ให้ศิลปินอินดี้เป็นอาชีพที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ผมไม่สามารถจะอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่เชื่อได้นานๆ

ในช่วงที่ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้ทำบล็อกนำเสนอเรื่องดนตรีนอกกระแส แทนที่จะเป็นช่วงที่เขามีความสุข แต่มันกลับกลายเป็นตรงกันข้าม

“ช่วงนั้นแม่ก็ด่าทุกวันว่าทำไมไม่หางานทำ มัวแต่อยู่กับความฝันทำไม แม่บอกผมว่า แม่ไม่ภูมิใจในตัวลูกเลยนะ เป็นคำที่เจ็บมาก ก็ถามแม่อีกทีนึงว่าแม่พูดจริงหรือเปล่า แม่ก็บอกว่าจริง ช่วงนั้นผมเป็นภาวะซึมเศร้าด้วย ก่อนนอนไม่อยากนอนก็จะร้องไห้ ตื่นมาก็ไม่อยากลุก” พายย้อนเล่าถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก

“ตอนนั้นคิดไหมว่าถ้าเราไปสมัครงานประจำทำอย่างที่แม่ว่าก็จะหลุดพ้นจากสภาวะนี้” ผมถามเขา

“ผมอยากพยายามพิสูจน์ตัวเองก่อน เราคิดว่ามันทำได้ มันคือความฝันเรา คือสิ่งที่เราอยากทำ ผมไม่สามารถจะอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่เชื่อได้นานๆ ผมเรียนวิศวะมา แต่ผมก็ทำได้ไม่กี่ปี มันเบื่อ ทนไม่ไหว รู้สึกว่าขี้เกียจตื่น พอจะนอนก็ขี้เกียจนอน ไม่อยากนอนเพราะเดี๋ยวมันต้องตื่นไปทำงาน อะไรแบบนี้ พอทำงานเสร็จวันศุกร์ก็ต้องกินเหล้า วันเสาร์ก็กินเหล้า อะไรแบบนี้เพื่อให้มันสนุก แล้ววันจันทร์ถึงศุกร์ก็ไปทำงาน มันไม่มีความสุข ก็เลยอยากทำอะไรที่แบบเราเชื่อ ทำอะไรที่แบบเราอยากทำ”

“มันคุ้มหรือที่เราต้องทนลำบากกับสิ่งที่เราเชื่อขนาดนี้” ผมชวนให้เขาย้อนทบทวน

“อาจจะไม่คุ้มก็ได้ครับ แต่ผมเลือกว่าผมอยากจะทำ Indiecampfire เพราะผมรู้สึกว่าวงการดนตรีไทยมันมีทางออกนะ แต่มันต้องทำตั้งแต่รากฐาน มันต้องทำตั้งแต่ภาพรวมตั้งแต่ภาพใหญ่ลงมายันภาพเล็ก และภาพเล็กขึ้นไปภาพใหญ่ แต่มันไม่มีใครทำ เพราะมันไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ แต่ผมคิดว่ามันมีทางเป็นไปได้ แค่ไม่มีใครไปจับทีละจุดมาต่อกัน ถ้าไม่มีใครทำ กูทำก็ได้”

จากการมุ่งมั่นทำบล็อก Indiecampfire โดยไม่สนใจเสียงรอบข้างนั่นเองที่สั่งสมคอนเนกชันในวงการดนตรีนอกกระแสให้กับเขา และทำให้เขาเข้าใกล้ความฝันโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รู้จักกับฟังใจในยุคก่อตั้ง

“ตอนนั้นท็อป (ศรันย์ ภิญญรัตน์ CEO ของฟังใจ) เขาเริ่มทำฟังใจเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง นั่นคือต้องการสร้างที่ปล่อยเพลงให้ศิลปินอินดี้ เพื่อเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ได้ฟัง เราก็คิดว่า เฮ้ย เริ่มจากจุดเดียวก่อนน่าจะดีที่สุด ผมจึงเขียนเมสเสจทางเฟซบุ๊กไปสมัครงานกับเขา แนะนำตัวว่าประวัติผมเป็นแบบนี้ เคยทำแบบนี้มา ผมอยากจะทำงานด้วย”

จากข้อความที่กด send ไปในวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมบริหารยุคเริ่มต้นก่อการ www.fungjai.com เว็บไซต์มิวสิกสตรีมมิ่งสำหรับดนตรีนอกกระแสรายแรกในประเทศไทย และจากจุดนั้นทำให้ความฝันของเขาที่ต้องการเห็นแพลตฟอร์มซึ่งแก้ปัญหาต่างๆ ในวงการเพลงก็เริ่มมีเค้าความจริง

ผมอยากให้ผลงานที่ผมสร้างไว้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ต้องจำชื่อผมก็ได้

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชายหนุ่มอินกับวงการเพลงนอกกระแสและอยากให้ศิลปินในวงการอยู่ได้อย่างยั่งยืน เป็นเพราะเขาเข้าอกเข้าใจความยากลำบากของคนในวงการเป็นอย่างดี เนื่องจากครั้งหนึ่งเขาเคยทำวงกับเพื่อนในนามวง Cigarette Launcher

“ถามว่าทำไมฟังใจถึงมีนักดนตรีมากมายเป็นพนักงาน เกือบครึ่งหนึ่งเลยแหละที่เป็นนักดนตรี ผมว่าคงเป็นเพราะคนที่จะเข้าใจความเจ็บปวดของนักดนตรีด้วยกันก็คือนักดนตรีด้วยกันแหละครับ คือช่วงที่ผมทำวง Cigarette Launcher ผมก็พอจะรู้ว่านักดนตรีรู้สึกยังไงเวลาอยู่บนเวที เขารู้สึกยังไงเวลาเจอแฟนเพลง เขารู้สึกยังไงเวลามีคนชอบเพลงเขา เขามีความรู้สึกยังไงเวลามีแฟนเพลง เวลาคนฟังเพลงตอบรับพลังงานที่เขาส่งออกไปบนเวที มันคือทุกอย่างอ่ะ มันคือประสบการณ์ทั้งหมด ถ้าจะถามว่าผมเรียนรู้อะไรบ้าง มันก็คือทุกอย่างที่ว่า”

วันนี้เมื่อพูดถึงวงการเพลงนอกกระแส ฟังใจคือชื่อแรกที่ใครๆ ต่างนึกถึง ความเชื่อของเขาและเพื่อนพ้องที่ร่วมกันสร้างมาเริ่มผลิดอกออกผล ฟังใจไม่ได้เป็นแค่มิวสิกสตรีมมิ่งเพียงอย่างเดียวแล้วในวันนี้ แต่ยังสร้างพื้นที่แสดงสดให้ศิลปินภายใต้ชื่อคอนเสิร์ตเห็ดสดที่ได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงอินดี้อย่างล้นหลาม และยังมีสหภาพนักดนตรีที่ชื่อ Malama สำหรับรองรับศิลปินอิสระที่ไม่สังกัดค่ายจะได้สร้างผลงานของตัวเองได้

เมื่อถามเขาว่าตั้งแต่ทำฟังใจมา มีโมเมนต์ไหนบ้างไหมที่ทำให้เขารู้สึกหัวใจเต้นแรง ชายหนุ่มนิ่งคิดไม่นานก่อนส่ายหน้าแล้วบอกว่า

ไม่มีเลย ทุกอย่างมันคือขั้นเล็กๆ ของก้าวใหญ่ๆ อีกทีนึง เราก็จะดีใจทุกครั้งที่มีคนมาให้กำลังใจเรา มาบอกว่าขอบคุณที่มีอยู่ ขอบคุณที่ช่วยเหลือ ขอบคุณที่มีพื้นที่ให้กับพวกเขา ขอบคุณอะไรแบบนี้ จริงๆ ความสุขของผมคือคนเห็นคุณค่าของเรานั่นแหละ คือคนเห็นว่าเราทำอะไร และรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ผมจะดีใจมาก แค่นั้นเองครับ”

“มีคำพูดหนึ่งที่ผมเคยได้ยินบอกว่าคนเราตาย 2 ครั้ง ตายครั้งแรกเมื่อเราหมดลมหายใจ กับตายอีกครั้งเมื่อคนลืมชื่อเรา ในตอนนั้นผมคิดว่าผมอยากจะตายครั้งเดียว เพื่อให้คนยังจำชื่อเราได้ แต่พอมาคิดดู จริงๆ แล้วเวลาผมไปงาน ผมอยากเป็นแค่แฟนเพลงคนนึง ไม่ต้องรู้จักใคร ผมแค่มาดูดนตรีก็แฮปปี้ของเราแล้ว ผมอยากให้ผลงานที่ผมสร้างไว้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันดีต่อประเทศไทยจริงๆ ดีต่อโลกจริงๆ”

“ไม่ต้องจำชื่อผมก็ได้” ชายที่ผมจดจำชื่อได้แม่นยำในวันนี้ ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

“มีคนบอกว่าคนเราตาย 2 ครั้ง
ตายครั้งแรกเมื่อเราหมดลมหายใจ
กับตายอีกครั้งเมื่อคนลืมชื่อเรา
แต่พอมาคิดดู ผมแค่อยากให้ผลงาน
ที่ผมสร้างไว้เกิดขึ้นจริงๆ
ไม่ต้องจำชื่อผมก็ได้”

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

 

AUTHOR