‘Survival คิด’ คิดยังไงให้รอด? เมื่อ 5 แบรนด์ดังเผยคู่มือเอาตัวรอดด้วยความคิดสร้างสรรค์

‘Survival คิด’ คิดยังไงให้รอด? เมื่อ 5 แบรนด์ดังเผยคู่มือเอาตัวรอดด้วยความคิดสร้างสรรค์

Highlights

  • ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำเอาหลายคนเสียศูนย์ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงทั้งๆ ที่ยังสานฝันไม่สำเร็จ พนักงานหลายคนต้องเก็บของกลับบ้านโดยที่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ ทุกคนล้วนต้องใช้ชีวิตกับความกลัว จน ‘ความไม่แน่นอน’ ได้กลายเป็น ‘ความแน่นอน’  
  • ร่วมเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาของธุรกิจที่ a day หยิบมาเล่าให้ฟังกัน ต้องบอกว่าเจ็บจริง ปรับตัวจริง และสำเร็จจริงในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาแบบสดๆ ร้อนๆ เรียกน้ำย่อยกันด้วย 5 ไอเดียสุดสร้างสรรค์ จาก 5 แบรนด์ดังที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ความคิด ผ่านบันทึกคู่มือที่เรียกว่าประสบการณ์ พวกเขารับมือกับวิกฤตอย่างไร ปรับตัวและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีไหน วันนี้เราจะไปเจาะลึกพร้อมหาคำตอบไปด้วยกันใน ‘Survival คิด’

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไวรัสโควิด-19 ทำหลายคนเสียศูนย์ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงทั้งๆ ที่ยังสานฝันไม่สำเร็จ พนักงานหลายคนต้องเก็บของกลับบ้านโดยที่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ ทุกคนล้วนต้องใช้ชีวิตกับความกลัว จนเรียกได้ว่า ‘ความไม่แน่นอน’ ได้กลายเป็น ‘ความแน่นอน’ ในชีวิตไปเสียแล้ว

คำถามที่ต้องตอบให้ได้จึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติตัวในยุคหลังโควิด หรือที่กำลังเรียกกันหนาหูว่า new normal บางคนเลือกรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงด้วยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล บางคนพยายามหาเทคนิค เคล็ดลับ และสูตรสำเร็จที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด จนลืมคิดไปว่านอกจากเรื่องข้อมูล ทักษะ และเทคนิคทางการตลาดแล้ว ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือยังชีพสำคัญที่ช่วยให้ใครหลายๆ คนสร้างก้าวใหม่และข้ามวิกฤตไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องเริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นความคิด หันมาสนใจเพิ่มพูนความรู้รอบตัว พร้อมทำความรู้จักกับความเป็นไปได้ต่างๆ ในอนาคต นอกจากนั้นยังต้องหมั่นทบทวนทักษะที่ตัวเองมี รวมถึงฝึกทักษะในการประกอบอาชีพใหม่ๆ อีกด้วย

เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกคนที่เชื่อในพลังของความคิดสร้างสรรค์ a day จึงอยากชวนทุกคนมาปลดความตึง วางความเครียด พร้อมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สนุกๆ ผ่านคอร์สเรียนสุดพิเศษที่เตรียมมาให้ ด้วยความช่วยเหลือจาก CEA Online Academy โครงการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

Survival คิด’ จึงถือกำเนิดขึ้น พร้อมไอเดียที่ว่าความคิดสร้างสรรค์คือทางรอดสำคัญในยุค new normal

ร่วมเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาของธุรกิจที่ต้องบอกว่าเจ็บจริง ปรับตัวจริง และสำเร็จจริงในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาแบบสดๆ ร้อนๆ เรียกน้ำย่อยกันด้วย 5 ไอเดียสุดสร้างสรรค์ จาก 5 แบรนด์ดังที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ความคิด ผ่านบันทึกคู่มือที่เรียกว่าประสบการณ์ พวกเขารับมือกับวิกฤตยังไง ปรับตัวและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีไหน วันนี้เราจะไปเจาะลึกพร้อมหาคำตอบไปด้วยกัน

 

ส่งกำลังใจผ่านไอศครีมแบบ Guss Damn Good แบรนด์ที่ใช้เรื่องเล่านำรสชาติ

หลายคนที่ชื่นชอบของหวานต้องเคยได้ยินชื่อแบรนด์นี้ เพราะเป็นแบรนด์ไอศกรีมที่ไม่ได้ขายแค่ความอร่อยอย่างเดียว แต่ยังขายเรื่องราวที่แฝงมากับแต่ละรสชาติอย่างเข้มข้น ต้องบอกว่าความพิถีพิถันในการทำไอศกรีมและแนวคิดการใช้ storytelling ที่ผ่านการสร้างสรรค์อย่างหนักหน่วงของทีมงานคือองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างคุณค่าให้ Guss Damn Good เป็นที่จดจำของแฟนของหวาน 

แน่นอนว่าในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์นี้ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอาหารทั่วไป แต่พวกเขาเลือกที่จะใช้ความสร้างสรรค์เอาชนะวิกฤต หยิบความรู้สึกอยากให้กำลังใจมาร้อยเป็นเรื่องราว กลายเป็นไอศครีมรสชาติใหม่ชื่อ This too shall pass อีกทั้งยังสร้างแพ็กเกจสินค้าแบบ Cheer up box ที่ไม่ว่าลูกค้าจะกักตัวอยู่ที่ไหนก็สามารถได้รับถ้อยคำให้กำลังใจและความอร่อยที่ทำให้ลืมเศร้า จากการรวมตัวสุดยอดไอศครีมของ Guss Damn Good เรียกว่าสร้างความประทับใจใหม่และความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้มากขึ้นไปอีก 

ครั้งนี้ ระริน ธรรมวัฒนะ และ นที จรัสสุริยงค์ สองผู้ก่อตั้งพร้อมที่จะมาแชร์ประสบการณ์การทำแบรนด์กันแบบเจาะลึก ตั้งแต่แนวคิดก่อตั้ง ทิปและเทคนิคดีๆ ในการสร้างเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า อะไรที่พวกเขาทำแล้วเวิร์ก ไปจนถึงการปรับตัวในยุคโควิดของการดำเนินธุรกิจและแผนการในอนาคต 

 

จัดมิวสิกเฟสติวัลออนไลน์แบบ Fungjai ธุรกิจดนตรีที่เคยพึ่งพาโลกออฟไลน์เป็นหลัก

ท่ามกลางวิกฤตโควิดครั้งนี้ นักดนตรีและธุรกิจดนตรีถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง รายได้แต่ละเดือนที่นักดนตรีหลายคนเคยได้รับกลายเป็นศูนย์ในพริบตา เพราะไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตและงานเทศกาล อีเวนต์ต่างๆ ได้อย่างเคย ท็อป–ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ก่อตั้ง Fungjai ชุมชนดนตรีนอกกระแสและบริษัทที่ให้บริการการจัดคอนเสิร์ต ได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมมิวสิกเฟสติวัลออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตรายได้ของศิลปิน

ท็อปจะมาแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองที่น่าสนใจในเส้นทางธุรกิจของตัวเอง ให้ทุกคนได้รู้จักความสำคัญของการทำธุรกิจให้เป็นทางเลือกของลูกค้า เริ่มตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในโลกของดนตรีเพื่อมองหาความสนใจและความท้าทายใหม่ๆ ขุดคุ้ยทุกอุปสรรคและจุดตัดแห่งการตัดสินใจที่ Fungjai ก้าวผ่านมา รวมถึงเคล็ดลับสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจแวดวงดนตรีทางเลือกเติบโตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

 

โปรโมตให้คน CF ถล่มทลายแบบ ROMPBOY แบรนด์สตรีทแฟชั่นที่ไม่เคยเรียนมาร์เก็ตติ้ง

คอสตรีทแฟชั่นย่อมรู้จักและผ่านประสบการณ์การ CF สินค้าของ ROMPBOY ไม่ทันกันมาทั้งนั้น บู้–ธนันต์ บุญญาธนาภิวัฒน์ หรือที่ใครหลายคนรู้จักในนามของ บู้ มือเบสวง SLUR จะมาเปิดเผยเบื้องหลังความคิดและแผนการตลาดออนไลน์ของแบรนด์ ROMPBOY ความสำเร็จที่เขาไม่เคยลงเรียนคอร์สการตลาดออนไลน์มาเลยแม้แต่คอร์สเดียว ผู้ที่กำลังประกอบธุรกิจ รวมถึงแฟนๆ ของแบรนด์จะได้ทราบกันก็คราวนี้ว่าทำไมเขาถึงเลือกผลิตในจำนวนจำกัดและให้ความสำคัญกับไอเดียที่สดใหม่อยู่เสมอ 

นอกจากนั้นบู้ยังแชร์หลักการ ‘การเป็นผู้นำ’ ในโลกแฟชั่น ที่เป็นปัจจัยหลักอันแข็งแรงของ ROMPBOY เป็นไอเดียที่เขาใช้ในการดึงความสนใจและกระตุ้นการซื้อของลูกค้าได้ อีกทั้งยังเล่าถึงความคิดที่ผู้ประกอบการทุกคนควรให้ความสำคัญก่อนที่จะทำธุรกิจแฟชั่นออนไลน์อีกด้วย

ต้องบอกว่าแฟชั่นเป็นอีกหนึ่งวงการที่โดนโควิดและความเป็นดิจิทัลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกค้าไปโดยสิ้นเชิง ผู้คนแทบไม่ยึดโยงอยู่กับความสุขในการสัมผัสเนื้อผ้าหรือการลองเสื้อผ้าในร้านอีกต่อไปแล้ว ประสบการณ์และข้อแนะนำของ ROMPBOY น่าจะจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นทุกคนให้สามารถปรับตัวกระโดดเข้าสู่สมรภูมิได้อย่างเหมาะเจาะ

 

ออกแบบกราฟิกให้เป็นดั่งลมใต้ปีกของธุรกิจตามแบบ Practical Design Studio

ภาวะแบบนี้ทำให้หลายคนเริ่มสร้างธุรกิจส่วนตัวในโลกออนไลน์ หวังจะหารายได้เสริมกันมากขึ้น แต่จะทำให้แบรนด์ของตัวเองเป็นที่รู้จักได้ยังไงภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือดและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน กราฟิกที่ดีคือคำตอบหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจของทุกคนโดดเด่นขึ้นมาได้ 

กราฟิกสามารถเป็นลมใต้ปีกให้การเติบโตของธุรกิจได้มากแค่ไหน มีความลับอะไรที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ควรรู้ในการใช้กราฟิกกับสินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด คราวนี้เราชวน อาจารย์ติ๊ก–สันติ ลอรัชวี กราฟิกดีไซเนอร์คนไทยคนเดียวที่เคยได้แสดงผลงานที่งาน Graphic Trial 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น เขาจะเป็นผู้ที่มาอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับเราเรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิง ว่าแท้จริงแล้วความลับและความสัมพันธ์ระหว่างงานกราฟิกและการเติบโตของธุรกิจนั้นเป็นมาอย่างไร

นอกจากนั้นอาจารย์ติ๊กยังเตรียมความรู้เบื้องลึก รวมถึงมุมมองและหลักการดีๆ มาแชร์สำหรับคนที่ทำงานกราฟิกดีไซน์ทุกคนเช่นเดียวกัน เผยให้เห็นว่าสิ่งสำคัญอย่าง ‘ความเรียบง่าย’ และ ‘ความยืดหยุ่น’ สามารถนำมาประยุกต์และใช้ออกแบบในลักษณะที่สนับสนุนการต่อยอดและการก้าวหน้าของธุรกิจแบบไหนได้บ้าง 

 

วิธีปรับโมเดลธุรกิจให้ทุกคนรอดไปด้วยกันแบบ Once Again Hostel ที่พักที่เกื้อกูลชุมชนโดยรอบ

Once Again Hostel เป็นโฮสเทลชื่อดังย่านสำราญราษฎร์ที่คุ้นหูคุ้นตากันดี ทั้งในนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ปัจจุบันโฮสเทลนี้ได้กลายเป็นสถานที่เพื่อช่วยเหลือชุมชนผู้ประกอบการรายย่อยใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ก่อให้เกิดแอพพลิเคชั่นออนไลน์ในชื่อ Locall.bkk

ศา–ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel จะมาแชร์ไอเดียที่สำคัญในการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลคือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับพฤติกรรมลูกค้าและโมเดลธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด พร้อมทั้งประสบการณ์การก่อตั้งโฮสเทลและการบริหารจัดการทรัพยากรในภาวะวิกฤตให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของตัวธุรกิจและแง่สังคม 

แนะนำให้ลองมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำธุรกิจไปด้วยกัน แล้วจะรู้ว่าการปรับตัวโดยคำนึงถึงสังคมและปัจจัยต่างๆ รอบด้านเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทุกธุรกิจสามารถเติบโตอย่างมั่นคงได้ 


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทุกธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงผ่านระยะเวลาต่างๆ คือการหมั่นปรับตัวตามโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทันเสมอ การมาของ ‘Survival คิด’ ในครั้งนี้ก็หวังที่จะได้ชวนให้ผู้ประกอบการทุกวงการที่กำลังเครียดหันมาคิดหาวิธีใหม่ๆ ในการซับน้ำตาเยียวยาความเสียหายและเห็นเส้นทางสนุกๆ ในการต่อยอดธุรกิจในอนาคตมากขึ้น

ตอนนี้บอกได้เลยว่า หมดเวลาเครียดแล้ว วันนี้ถึงเวลาคิด! ใครสนใจอยากเรียน ลงทะเบียนฟรีได้เลยที่ bit.ly/2NS0LKI

AUTHOR