สิ่งประกอบร่างตัวตนของ วิน-วิชยุตม์ เอี่ยมอ่อง แชมป์โลกประกอบกันพลา

ภายในบ้านพักย่านสีลมของ วิน-วิชยุตม์ เอี่ยมอ่อง เราถูกโอบล้อมด้วยหุ่นยนต์ประกอบกันดั้ม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กันพลา’ จำนวนมาก มองไปทางไหนก็เห็นแต่กันพลาที่ประกอบและทำสีเสร็จสมบูรณ์ สวยงาม

และที่มุมหนึ่งมีถ้วยรางวัลรูปทรงส่วนหัวของกันดั้มตั้งไว้ โดยมีป้ายเขียนกำกับไว้ว่า ‘Gunpla Builders World Cup 2015’

ว่ากันว่าตัวตนของเราเป็นเช่นไร สิ่งนั้นย่อมสะท้อนออกมาในผลงาน และจากเรื่องเล่าของเขาในบ้านขนาดกะทัดรัดทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเขามีความคล้ายกับผลงานที่เขาทำไม่น้อย

กันพลาคือศิลปะ

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้ชายหนุ่มหันมาสนใจการต่อกันพลา คงต้องย้อนไปไกลถึงตอนเขาอยู่ในวัยเพียง 13 ตอนนั้นเขาเป็นเด็กที่หลงรักการสะสมโมเดลที่ชื่อ Warhammer ซึ่งเป็นโมเดลที่เป็นเกมจำลองการรบ

จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเติบโตขึ้น ได้รู้จักกับ Gundam Build Fighters ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ในเนื้อเรื่องตัวละครประกอบสร้างกันดั้มในแบบของตัวเองขึ้นมาต่อสู้กัน ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาหลงใหลอยู่แล้ว เขาจึงเริ่มต้นซื้อกันพลามาประกอบ แล้วชีวิตก็ไม่เคยห่างจากสิ่งนี้อีกเลย

“บางคนเขาบอกว่าผมเล่นของเล่น ซึ่งเขาก็พูดถูกนะ เพราะจะมองว่ามันเป็นของเล่นก็ได้ มองเป็นโมเดลก็ได้ หรือมองเป็นศิลปะก็ได้ แล้วแต่มุมมองของคน ตอนนี้ผมอายุ 33 เลยวัยเด็กมาโคตรนาน แต่แม่เรายังคงเห็นเราเป็นเด็กอยู่ แม่ผมบอกว่าอะไรรู้มั้ย

“ลูก ลูกยังเล่นตุ๊กตาอยู่อีกเหรอ” เขากัดฟันยิ้มแค้นเคืองในสิ่งที่แม่พูดแล้วก็หัวเราะ ก่อนจะบอกว่านั่นคือที่มาของคอนเซปต์ของผลงานที่ทำให้เขาคว้ารางวัล ‘Gunpla Builders World Cup 2015’ มาครองได้

“งานที่ผมส่งไปประกวดผมทำสีเป็นลายไม้ ซึ่งผมต้องการสื่อสารให้คนอื่นเห็นว่านี่คืองานที่ต้องใช้ทักษะ อย่างเวลาเราเห็นคนปั้นเซรามิก เรารู้สึกว่าเขาเป็นช่างฝีมือใช่มั้ย หรือเราเห็นคนทำงานไม้ เรารู้สึกว่ามันยากใช่มั้ย ซึ่งการต่อกันพลาก็เหมือนกัน เพียงแต่มันเปลี่ยนจากเซรามิก จากไม้ เป็นพลาสติก ผมอยากจะสื่อให้แม่ผมรู้ว่ากันดั้มมันไม่ใช่แค่โมเดล ไม่ใช่แค่ของเล่น มันไม่ใช่ตุ๊กตา แต่มันเป็นศิลปะ”

และแม้ใครหลายคนจะมองกันพลาด้วยสายตาว่ามันคือของเล่นหรือสิ่งที่มีไว้สำหรับ ‘เด็ก’ แต่ชายหนุ่มผู้เป็นแชมป์โลกบอกว่า สิ่งที่เขาทำคืองานอดิเรก และงานอดิเรกสำคัญกับทุกคน ทุกชีวิต

“สำหรับผม ผมเป็นนักจิตบำบัด บางทีจะมีคนไข้มาหา หรือบางครั้งผมจะต้องไปเล็คเชอร์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งงานที่ทำจะซีเรียสและเป็นทางการนิดหนึ่ง แล้วการมีงานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพเลยมันทำให้ผมได้พัก ถ้าทำงานอย่างเดียว ผมจะบำบัดใครไม่ได้เลย

“ผมเชื่อว่าคนทุกคนควรจะมีอะไรสักอย่างที่แตกต่างจากสิ่งที่เราทำในงาน งานอดิเรกจะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่คนเดียว ที่เรามีความสุขคนเดียว ไม่มีใครในโลกนี้ควรบอกว่าคุณควรหยุดเพราะว่าสิ่งที่คุณทำเป็นเด็ก แล้วทำไมเราถึงต้องเป็นผู้ใหญ่เหรอ

“คำว่าผู้ใหญ่แปลว่าอะไร” เขาถามด้วยรอยยิ้ม “ผมจะเป็นผู้ใหญ่ตอนที่มันจำเป็นเท่านั้น”

ความล้มเหลวมีความเท่

หากใครเห็นเขาขณะประกอบกันพลาจะรู้สึกว่ามันคืองานอดิเรกที่เขาทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เอามันอยู่มือ ซึ่งเขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขามีวันนี้คือ ความล้มเหลว

ล้มเหลวแล้วลุก ล้มเหลวแล้วเรียนรู้ ล้มแล้วข้ามผ่านช่วงเวลานั้นไปโดยไม่ฟังเสียงคนที่มองด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจ

“คนที่เป็นอัจฉริยะ คนที่เก่งมาก หรือว่าคนที่เป็นมืออาชีพของอะไรสักอย่างก็คือคนที่ล้มเหลวมากกว่าคนอื่น ผมจะไม่ฟังคนที่ไม่เคยล้มเหลว สมมุติคนที่รวยมาแต่ตั้งแต่เด็ก ทำอะไรก็สำเร็จหมด ผมจะไม่มีวันฟังเขาแน่นอน เพราะเขาไม่รู้ความเจ็บใจ และความพยายามของการล้มเหลว

“สิ่งที่หล่อหลอมผมคือความล้มเหลว สมมุติว่าเป็นพวกกันพลาของผม สิ่งที่คุณเห็นว่าผมทำไปแข่งหรือว่าอะไรพวกนี้แล้วเห็นว่ามันสวยงาม ความจริงมันเป็นเพียงปลายทางซึ่งเป็นผลมาจากการทดลองที่ล้มเหลว ผมไม่ค่อยได้ฟังใคร ผมชอบทดลองด้วยตัวเอง และหากมันจะล้มเหลว มันก็เป็นความล้มเหลวของผม”

แน่นอน คำว่า ‘ไม่ฟังใคร’ ในที่นี้เขาไม่ได้ดื้อรั้นโดยไม่ศึกษาสิ่งที่ทำ แต่เขาหมายถึงการทำสิ่งที่เชื่ออย่างแน่วแน่ แม้จะเสี่ยงล้มเหลวก็มุ่งมั่นทำในสิ่งที่เชื่อเพื่อพิสูจน์ให้รู้ด้วยตัวเองว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร

และเขาบอกเราว่า คนที่เท่จริงๆ คือคนที่ผ่านความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นจนวันหนึ่งประสบความสำเร็จ

“การล้มเหลวเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราเรียนรู้ว่า เราไม่ควรทำอะไร แล้วบางครั้งตอนประกอบกันพลา การที่เราล้มเหลวมันจะเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เราได้เอฟเฟกต์หนึ่งขึ้นมา แล้วเห็นว่า เฮ้ย! มันดูเท่ดีว่ะ”

จงจำว่าผมเป็นคนที่มีความสุข

จากวันที่คนมองสิ่งที่เขาทำเป็นเพียงของเล่นสำหรับเด็ก เป็นตุ๊กตาที่คนซึ่งเติบโตแล้วเขาไม่เล่นกัน วันนี้ วินได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่างานอดิเรกที่เขามีแพสชันกับมัน พาเขามาได้ไกลเพียงใด และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหากเราแน่วแน่ในสิ่งที่เชื่อ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร

เมื่อชวนเขาคุยถึงรางวัลที่ใครหลายคนชื่นชม รางวัลที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อย่างรางวัล Gunpla Builders World Cup 2015 เขายิ้มถ่อมตัวแล้วบอกว่า

“รางวัลที่ได้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะต่อให้ได้หรือไม่ได้ผมก็จะทำของผมไปเรื่อยๆ ที่ผมไปแข่งผมไม่ได้อยากชนะ แต่ผมอยากไปแข่งเพราะผมอยากเห็นผลงานของคนอื่น ได้ใกล้ชิด ได้เรียนรู้ว่าคนอื่นเขาใช้เทคนิคอะไร และที่สำคัญที่สุด ผมได้เพื่อน ได้เจอกับคนที่ชอบในงานอดิเรกเดียวกัน”

อย่างที่เขาว่า ในการแข่ง Gunpla Builders World Cup 2015 เขาได้เจอผู้คนมากมาย ผู้คนที่ไม่ได้มองการต่อกันพลาของเขาเป็นเพียงของเล่นสำหรับเด็ก ผู้คนที่ไม่ได้มองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของเด็กไม่รู้จักโต และการคว้าแชมป์จากการแข่งขันนี้เอง ที่ทำให้สื่อมวลชนในประเทศไทยหลายสำนักพร้อมใจกันติดต่อขอสัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่เรืองราวของเขา

และหนึ่งในสิ่งที่น่าจดจำที่สุดสำหรับวิน คือตอนที่คุณแม่ของเขาซึ่งเรียกกันพลาว่า ‘ตุ๊กตา’ มาตลอดชีวิต บอกกับชายหนุ่มสั้นๆ แต่ประทับอยู่ในความรู้สึกจนวันนี้ หลังจากเห็นผลงานที่คว้าแชมป์โลกของเขาว่า

“กันพลามันเป็นงานศิลปะเหมือนกันนี่”

“ใช่แม่ มันคืองานศิลปะ” ชายหนุ่มหัวเราะเสียงดังเมื่อเล่าถึงประโยคที่ตอบกลับแม่ไปในวันนั้น ในที่สุดเขาก็ทำให้แม่ยอมรับสถานะศิลปะของสิ่งที่ทำได้สำเร็จ

แม้ใครต่อใครจะจดจำว่า เขาคือแชมป์โลกของเวทีประกอบกันพลา แต่เขากลับบอกว่า “ไม่ต้องจดจำว่าผมเป็นแชมป์โลกก็ได้”

“แล้วอยากให้คนจดจำคุณในฐานะอะไร” ผมถามทิ้งท้ายก่อนปล่อยให้เขาประกอบกันพลาตัวใหม่ล่าสุดที่ทำคั่งค้างอยู่

“ผมอยากให้คนจำว่าผมเป็นคนที่มีความสุข กันดั้มทำให้ผมมีความสุข ไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะคิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นเด็ก เพราะเขาไม่ได้อยู่ในชีวิตเรา โมเดลที่ผมทำไม่ได้ไปตั้งในบ้านของเขา

“เราทำสิ่งที่เราแฮปปี้ก็โอเคแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงว่าใครจะพูดอะไร”

ผมอยากให้คนจำว่าผมเป็นคนที่มีความสุข
กันดั้มทำให้ผมมีความสุข ไม่ต้องสนใจว่า
คนอื่นจะคิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นเด็ก
เขาไม่ได้อยู่ในชีวิตเรา
โมเดลที่ผมทำไม่ได้ไปตั้งในบ้านของเขา

ภาพ สลัก แก้วเชื้อ

 

AUTHOR