กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการภาพถ่ายที่น่าสนใจชื่อ「181° 〜 New Dimensions of Nature Landscapes」นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของ Yoshiki Hase ศิลปินภาพถ่ายชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล
โยชิกิ ฮาเสะ ทำงานเป็นช่างภาพอาชีพในนิวยอร์กตั้งแต่ปี 2000 ก่อนที่จะเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี 2007 โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือภาพถ่ายแนวคอนเซปต์ชวลที่ก้าวพ้นขอบเขตของภาพถ่ายเชิงพาณิชย์และไม่ยึดติดกับการตลาดโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมาเขาได้แสดงผลงานนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มในหอศิลป์หลากหลายแห่งทั่วโลก ทั้งโตเกียว, ไทเป, ปารีส, อัมสเตอร์ดัม และนิวยอร์ก และได้รับรางวัลเกี่ยวกับการถ่ายภาพสำคัญๆ จากหลายเวที
ผลงานโดดเด่นของเขามีหลายชุด เช่น ซีรีส์ ENA ที่โยชิกิเดินทางไปอาศัยในเมืองเอนะ เมืองชนบทเล็กๆ กลางหุบเขาของญี่ปุ่นและถ่ายภาพบุคคลธรรมดาในสภาพแวดล้อมชนบทอันสุดแสนจะธรรมดา หากแต่อากัปกิริยาของคนในภาพหรือลักษณะการจัดวางองค์ประกอบกลับดูแปลกประหลาดเหนือจริง สะท้อนให้เห็นมุมมองและความประทับใจของศิลปินที่มีต่อชุมชนแห่งนี้
หรือจะเป็นซีรีส์ almost nature ที่นำวัตถุฝีมือมนุษย์สร้างไปจัดวางในภูมิทัศน์ให้หลอมรวมเข้ากับธรรมชาติ แล้วถ่ายภาพเพื่อสำรวจหนทางในการนำเสนอแบบแผนความคิดของมนุษย์ที่มีต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา
ในนิทรรศการ「181° 〜 New Dimensions of Nature Landscapes」ครั้งนี้เขาจัดแสดงภาพถ่ายถึง 2 ซีรีส์ที่เล่าความสนใจอย่างลึกซึ้งต่อจิตวิญญาณธรรมชาติ อย่างซีรีส์ 181° ที่ถ่ายทอดภาพภูมิทัศน์แปลกตาน่าพิศวงร่วมกับวัตถุรูปทรงเรขาคณิตที่เขาทำขึ้นและนำไปจัดวาง กลายเป็นผลงานที่ผสมผสานความเวิ้งว้างกว้างไกลของธรรมชาติเข้ากับวัตถุที่สะท้อนเจตจำนงของมนุษย์อย่างกลมกลืน
ส่วนภาพถ่ายซีรีส์ที่ 2 มีชื่อว่า DESSIN ซึ่งโยชิกิก้าวเข้าสู่มิติใหม่ของงานภาพถ่ายภูมิทัศน์ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีองค์ประกอบเป็นกลุ่มเส้นสายซึ่งจะแปรเปลี่ยนไปตามแรงกระตุ้นของสิ่งรอบตัว ทั้งสายลมและแสงแดด คล้ายยกหน้าที่ให้ธรรมชาติเป็นผู้รังสรรค์งานแต่ละชิ้น ส่วนศิลปินมีหน้าที่เฝ้ารอจังหวะและบันทึกภาพห้วงขณะอันน่ามหัศจรรย์เอาไว้
ในโอกาสที่โยชิกิเดินทางมายังเมืองไทยเพื่อร่วมงานเปิดนิทรรศการ เราได้รับคำชวนจากภัณฑารักษ์สาวรุ่นใหม่ไฟแรงของนิทรรศการอย่างผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ให้ได้สนทนากับศิลปินอย่างใกล้ชิดถึงแนวความคิดและแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานภาพถ่ายอันน่าทึ่งเหล่านี้
ชื่อนิทรรศการ 181° หมายถึงอะไร
ปกติเราจะคุ้นเคยกับคำว่า 180 องศา ซึ่งก็คือเส้นแนวนอนสุดขอบสายตาในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ผมใส่สิ่งที่ผมเรียกว่า 1 องศาเข้าไป ซึ่งก็คือบางอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นในธรรมชาติ เหมือนที่ผมสร้างวัตถุบางอย่างแล้วใส่เข้าไปในพื้นที่ภูมิทัศน์จริงๆ ที่ผมถ่ายรูปเพื่อสร้างทัศนียภาพที่มีความสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
ทำไมคุณถึงสนใจที่จะใส่วัตถุเหล่านี้เข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติ
เพราะผมคิดว่าถ้าไม่มีวัตถุเหล่านั้นงานของผมก็จะกลายเป็นภาพถ่ายภูมิทัศน์ธรรมดา เหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไป ผมมักรู้สึกโดยสัญชาตญาณว่าผมต้องการให้บางอย่างอยู่ในภูมิทัศน์เหล่านั้น อาจเป็นตัวผมเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็ได้ นั่นเป็นธรรมชาติในการทำงานศิลปะของผม
ได้ยินว่าคุณสร้างวัตถุเหล่านั้นขึ้นมาเองด้วย
ใช่ ผมทำขึ้นมาเอง ผมจะทำแยกชิ้นส่วนเก็บเอาไว้ในรถยนต์ซึ่งมีขนาดไม่ค่อยใหญ่เท่าไหร่ (หัวเราะ) เวลาขับไปถึงสถานที่ถ่ายรูปก็จะประกอบวัตถุเหล่านั้นเข้าด้วยกันและติดตั้ง มันเป็นกระบวนการ ก่อนที่จะถ่ายรูปที่ค่อนข้างยุ่งยาก
ก่อนที่จะทำวัตถุเหล่านี้ขึ้นมาคุณได้ไปสำรวจสถานที่ที่จะถ่ายรูปก่อนไหมเพื่อให้วัตถุเข้ากับพื้นที่เหล่านั้น
แน่นอน ด้วยความที่ชอบขับรถท่องเที่ยวมากๆ เมื่อเจอโลเคชั่นที่ดีผมก็จดบันทึกเอาไว้ หรือบางทีเวลาฟังเพลงผมมักจินตนาการรูปทรงหรือรูปร่างของวัตถุบางอย่าง ในชั่วขณะนั้นบางทีผมก็เกิดความคิดแวบขึ้นมาในใจ (ดีดนิ้ว) ว่าวัตถุนี้น่าจะอยู่กับโลเคชั่นนั้น ผมก็จะทำวัตถุขึ้นมาและนำไปถ่ายภาพในสถานที่เหล่านั้น
คุณชอบฟังดนตรีแนวไหนเหรอ
ผมชอบหลายแนวนะ ทั้งดนตรีร็อก อิเล็กโทรนิก เทคโนฯ แอฟริกัน เวิลด์มิวสิก คลาสสิก ผมฟังหมดเลย ดนตรีเป็นแรงบันดาลใจสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานของผม
มีการร่างภาพเอาไว้ก่อนที่จะถ่ายภาพไหม
มีนะ ปกติก่อนถ่ายภาพผมจะโน้ตและร่างภาพเอาไว้ แต่ผมวาดรูปไม่สวยเท่าไหร่นะ (หัวเราะ) ก็วาดแบบหยาบๆ ผมวางแผนไว้ก่อนด้วยว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น วัสดุที่ใช้ในการสร้างวัตถุในภาพถ่าย ทีมงานที่ช่วยผมทำงาน รถขนของหรือรถยกในกรณีที่งานชิ้นใหญ่ บางครั้งผมก็ใช้เวลาเตรียมงานราว 4-5 เดือนจนถึง 1 ปีสำหรับภาพเดียว
ฟังดูแล้วไม่เหมือนการทำงานถ่ายภาพแต่เป็นการทำโครงการศิลปะแนวคอนเซปต์ชวลที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อในการนำเสนอความคิดมากกว่า
ใช่ๆ หลายคนก็มักแนะนำให้ผมทำงาน photo montage (เทคนิคการตัดต่อภาพถ่าย) หรือ digital collage (การตัดต่อภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์) แต่ผมไม่ชอบใช้เทคนิคแบบนั้นเพราะผมแค่ต้องการพิสูจน์ว่ามีห้วงขณะเช่นนี้เกิดขึ้นในโลกจริงๆ
ตอนที่ยังเป็นเด็กผมค่อนข้างเป็นคนเก็บตัวจากคนอื่นและสังคมรอบข้าง และชอบจินตนาการสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ในโลกนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณไม่รู้จักและผมแค่ต้องการพิสูจน์มัน ซึ่งการถ่ายภาพเป็นหนทางที่ดีมากๆ ในการพิสูจน์ว่ามีห้วงขณะเหล่านี้อยู่จริงๆ
ภาพถ่ายมันค่อนข้างแตกต่างจากการวาดภาพ ผมคิดว่าภาพถ่ายของผมค่อนข้างแปลก แต่มันก็ยังคงมีแก่นสารของความจริงอยู่ เพราะผมถ่ายมันจริงๆ
เหมือนทำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้เป็นจริงขึ้นมา
ใช่ๆ
คุณใช้กล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิทัลถ่ายภาพ
ผมใช้ทั้งสองแบบนะ ผมยังใช้เทคนิคอีกหลายๆ อย่าง แม้บางครั้งผมจะถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัล แต่ผมก็พิมพ์รูปถ่ายด้วยเทคนิค digital C-type print ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ดีที่สุดระหว่างการถ่ายภาพแบบดิจิทัลและฟิล์ม แต่เวลาถ่ายภาพผมจะจัดวัตถุให้อยู่ในพื้นที่จริงๆ โดยไม่มีการแต่งเติมอะไรเข้าไปทีหลัง
คุณไม่รีทัชภาพเลยเหรอ
ก็มีปรับแต่งความเข้ม แสงเงา ของภาพแบบเดียวกับที่ผมล้างอัดรูปจากกล้องฟิล์ม อย่างในภาพแรกของซีรีส์นี้คุณจะเห็นว่าวัตถุในภาพต่อขึ้นจากชิ้นส่วน 4 ชิ้น ซึ่งจริงๆ ผมสามารถทำให้เส้นรอยต่อนี้หายไปได้ถ้าต้องการภาพที่สะอาดเรียบร้อย แต่ผมทิ้งมันเอาไว้ให้เป็นอย่างที่มันเป็น
วัตถุพวกนี้คุณใช้วัสดุอะไรทำบ้าง
ปกติผมไม่ค่อยเปิดเผยวัสดุของตัวเองนะ (หัวเราะ) แต่ผมก็มักใช้เหล็ก ไม้ และกระดาษหนาๆ ผสมรวมกัน มันต้องมีน้ำหนักมากหน่อยเพื่อตั้งไว้ได้อย่างมั่นคงและนิ่งพอที่จะถ่ายภาพได้ เพราะถ้ามันเบาก็จะโดนลมพัดปลิวหายไป
แต่ในภาพถ่ายบางภาพวัตถุบางชิ้นก็เป็นผ้าที่ปลิวไปตามลมเหมือนกัน
ใช่ๆ วัสดุนี้เป็นผ้า แต่ผมก็พ่นสเปรย์ให้บางส่วนของผ้าแข็งไม่พลิ้วไปตามลม บางส่วนก็นิ่มยืดหยุ่นและเคลื่อนไหวไปตามลมได้ ผ้าที่คุณเห็นในภาพนี้กำลังร่วงลงมานะ ผมก็แค่จับห้วงขณะนั้นเอาไว้ ดูเหมือนมันกำลังร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว นี่แหละคือห้วงขณะที่เรามักจะมองไม่เห็น
วัตถุในภาพถ่ายแต่ละภาพของคุณมีความหมายอะไรแฝงอยู่ไหม
ตอบค่อนข้างยากอยู่นะ (หัวเราะ) วัตถุส่วนใหญ่มีรูปทรงเรขาคณิต ผมไม่รู้ว่ามันเป็นตัวแทนของอะไรหรือหมายถึงอะไร แต่อย่างไรก็ดีรูปทรงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันในสังคมมนุษย์มากกว่าจะพบเห็นในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ อย่างเช่นวัสดุอุตสาหกรรม เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ผมมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวแทนของสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา คุณจะไม่เห็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม แบบนี้ในธรรมชาติเท่าไหร่
บางครั้งผมตั้งคำถามว่าถ้าวัตถุเหล่านี้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแล้วงานสร้างสรรค์ของผมนับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติหรือเปล่า และถ้ามนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติสิ่งที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นด้วยหรือเปล่า
แล้วคุณหาคำตอบได้หรือยัง
ค่อนข้างตอบยากเหมือนกันนะ แต่มันก็เป็นชะตาชีวิตของเราที่จะต้องหาคำตอบเหล่านี้ต่อไป
ได้ยินว่าหลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จแล้วคุณจะเก็บวัตถุเหล่านั้นออกไปจากพื้นที่ที่มันเคยอยู่ ไม่ได้อยู่ที่นั่นอีกต่อไป
ผมคิดว่านั่นเป็นแก่นสาร เป็นข้อดีของภาพถ่าย คือมันจับห้วงขณะนั้นเอาไว้ก่อนที่จะหายไป มันเศร้ามากนะ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์เพราะเราไม่มีทางมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์
ต่อให้คุณชอบใครบางคน สักวันหนึ่งห้วงขณะของความชอบนั้นก็ต้องสูญหายไปเสมอ ผมจึงใช้ภาพถ่ายจับห้วงขณะอันแสนสั้นเหล่านั้นเอาไว้
เราสังเกตว่าในภาพถ่ายของคุณบางภาพก็มีคนอยู่ด้วย แต่บางภาพก็มีแต่วัตถุ
ในงานชุดนี้ผมไม่ค่อยถ่ายภาพคนด้านหน้าหรือภาพที่มองเห็นหน้าคนเท่าไหร่ ถึงจะเป็นแบบนั้นแต่คนที่ดูรูปก็สามารถรับรู้ได้อยู่ดีว่าสิ่งที่อยู่ในภาพคือมนุษย์ นี่เป็นสภาวะของจิตไร้สำนึกหรือสัญชาตญาณของมนุษย์ที่น่าสนใจมาก
สิ่งที่ผมสนใจอีกอย่างคือความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับวัตถุที่อยู่ในภาพ ว่าอะไรที่ทำให้เราแยกแยะความแตกต่างได้
แต่ทำไมบางภาพก็ไม่มีคนอยู่ล่ะ
อืม เพราะผมคิดว่าในโลเคชั่นนั้นไม่จำเป็นต้องมีคนน่ะ (หัวเราะ)
คุณบอกว่าใช้เวลาวางแผนยาวนานสำหรับแต่ละภาพ เคยมีบ้างไหมที่ภูมิทัศน์เหล่านั้นเปลี่ยนสภาพไปเวลาที่คุณกลับไปถ่าย
มีบ่อยๆ เลย
แล้วคุณทำยังไง
ผมก็แค่ยอมแพ้ (หัวเราะลั่น) ผมก็ไปถ่ายภาพที่อื่นแทน มีหลายครั้งที่ผมกลับไปในโลเคชั่นที่เคยดูไว้แล้วมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ผมก็แค่ทิ้งมันเอาไว้ข้างหลัง การเผชิญกับโลเคชั่นก็เหมือนกับการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มันเป็นการเผชิญหน้าแค่ในช่วงขณะนั้นเท่านั้น คุณไม่มีวันกลับไปที่เดิมที่เคยไปได้
เช่นเดียวกับที่เราไม่มีทางก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้อีกครั้งถึงแม้แม่น้ำสายนั้นจะอยู่ที่เดิม
ถูกต้อง! ผมคิดว่าภาพที่ผมถ่ายมีชีวิตชีวากว่าตัวผม ผมไม่อยากพูดอะไรที่เป็นปรัชญาหรอกนะ แต่ห้วงขณะที่ผมถ่ายภาพเหล่านั้นเป็นช่วงเวลาที่มีชีวิตชีวา และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก
คุณเคยกลับไปถ่ายภาพแบบเดิมในโลเคชั่นเดิมซ้ำอีกครั้งไหม
ไม่นะ ถ้าผมถ่ายภาพในโลเคชั่นนั้นแล้วมันออกมาดีนั่นคือภาพสุดท้ายที่ผมจะถ่าย ต่อให้บางครั้งผมกลับไปถ่ายภาพในโลเคชั่นเดิมบ้าง แต่ก็จะเป็นภาพคนละแบบที่มีผลลัพธ์และคอนเซปต์แตกต่างกันออกไป
โลเคชั่นเหล่านั้นคือที่ไหนบ้าง
ทุกภาพถ่ายในญี่ปุ่น ผมอยากออกไปถ่ายภาพที่ประเทศอื่นๆ เหมือนกัน แต่ตอนนี้มันยังเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะผมต้องเตรียมตัวเยอะ ต้องมีทีมงาน มีอุปกรณ์มากมาย มีรถยนต์เพื่อเดินทาง มันเลยค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ถึงอย่างนั้นผมก็เดินทางถ่ายภาพไปทั่วญี่ปุ่น และทุกภาพผมจะถ่ายออกมาให้ดูแล้วไม่อาจระบุสถานที่ได้ บางครั้งดูเหมือนถ่ายบนดาวดวงอื่น นั่นเป็นสิ่งที่ผมชอบ ถ้ามีสถานที่แบบนี้ในเมืองไทยผมก็อยากไปถ่ายรูปเหมือนกันนะ (หัวเราะ)
ก่อนหน้านี้คุณเคยมาเที่ยวเมืองไทยไหม
ไม่เคย นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมาเมืองไทย
คุณเคยถ่ายภาพกับภูมิทัศน์เมือง สถาปัตยกรรม หรือสิ่งก่อสร้างบ้างไหม
ผมเคยถ่ายภาพแบบสแนปช็อตบ้างนะ แต่ผมไม่คิดว่าน่าสนใจเท่าไหร่ก็เลยไม่ถ่ายนัก ผมมักออกจากเมืองไกลๆ เพื่อไปถ่ายภาพมากกว่า บางทีผมก็แค่เอาองค์ประกอบบางอย่างจากเมืองไปยังที่เหล่านั้น
ภาพถ่ายชุด DESSIN ของคุณก็น่าสนใจ มันเกี่ยวข้องกับอะไร
DESSIN เป็นซีรีส์ที่ 2 ต่อจากซีรีส์ 181° สำหรับผมภาพถ่ายซีรีส์นี้ค่อนข้างเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ เพราะระหว่างถ่ายทำภาพในชุด 181° ผมพบโลเคชั่นดีๆ หลายแห่ง โลเคชั่นเหล่านั้นมีท้องฟ้า เมฆ และลม ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ผมเลยคิดว่าน่าจะหยิบเอาความประทับใจเหล่านั้นมาใส่ในภาพถ่ายด้วย
แต่ก็เช่นเดียวกับภาพถ่ายในซีรีส์แรกที่ผมไม่สามารถใส่อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นลงไปด้วยการแค่ถ่ายภาพภูมิทัศน์อย่างเดียว ผมจึงใส่วัตถุบางอย่างเข้าไป โครงสร้างวัตถุนี้เป็นเหมือนการอุปมาอุปมัยของสายลมและสีสันอันอลังการของธรรมชาติ โครงสร้างนี้ถูกถือเอาไว้ถึง 4-5 ชั่วโมง จนเมื่อรู้สึกว่าเป็นห้วงเวลาที่ใช่ผมก็ถ่ายภาพเอาไว้ นี่ผมก็เอาโครงสร้างนี้ในขนาดเดียวกันมาแสดงในนิทรรศการด้วย
คนที่ถือโครงสร้างเขย่ามันหรือแค่ถือเอาไว้เฉยๆ
แค่จับโครงมันไว้เฉยๆ เลยแต่มันเคลื่อนไหวเพราะลมแรงมาก บางครั้งลมก็พัดแรงจนโครงสร้างล้มลงไปเลย มันเป็นอะไรที่ดูเหมือนเมฆ ผมอาจบอกได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หลังจากมันอยู่ตรงนั้นมาสักชั่วโมงสองชั่วโมงแล้ว
แต่รูปทรงของมันก็เป็นรูปทรงเรขาคณิตอยู่
ใช่ สี่เหลี่ยม วงกลม
แล้วสีสันของมันมีความหมายอะไรแฝงอยู่ไหม
สีเป็นตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกของผมต่อโลเคชั่นนั้นๆ ผมรู้สึกสดชื่นแจ่มใสและตื้นตันเลยเลือกสีชมพูและเหลือง
คุณเคยดูหนัง 2001: A Space Odyssey ไหม วัตถุในภาพนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่องนี้เลย
เคยๆๆ มันเหมือนเครื่อง monolith ใช่ไหม (เครื่องยนต์ในภาพยนตร์ที่สร้างโดยสิ่งมีชีวิตนอกโลก) ก่อนหน้านี้เคยมีคนบอกผมเกี่ยวกับหนังของ Kubrick เรื่องนี้เหมือนกัน หลังจากนั้นผมก็เลยไปหามาดู มันมีหน้าตาเหมือนกันมากๆ เลย (หัวเราะ) เป็นเรื่องบังเอิญมากๆ จนตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่า monolith คืออะไรด้วยซ้ำ นั่นเป็นสิ่งที่ผมสนใจเพราะผมก็ไม่รู้ว่าวัตถุในภาพนี้ของผมคืออะไรเหมือนกัน
คุณไม่อยากให้ความหมายกับวัตถุในภาพถ่ายของคุณ
ใช่ ผมไม่ให้ความหมายเลยแม้แต่ภาพเดียว นั่นเป็นเหตุผลที่งานทั้งหมดไม่มีชื่อ มีแต่ชื่อซีรีส์ เพราะผมไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไรดี ปกติการตั้งชื่องานจะเป็นตัวกำหนดทิศทางให้ผู้ชมติดตาม แต่ผมไม่ต้องการชี้นำผู้ชม
ผมคิดว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมไม่เข้าใจในชีวิตและคิดว่ามันโอเคนะ มันเป็นหนทางในการใช้ชีวิตที่ปลอดโปร่งเพราะคุณไม่สามารถทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้หรอก มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณไม่รู้และไม่เข้าใจในโลกนี้
และคุณก็ไม่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจมันด้วย
ใช่ นี่เป็นทัศนคติพื้นฐานของผมในการใช้ชีวิตและการทำงานศิลปะ
นิทรรศการ「181° 〜 New Dimensions of Nature Landscapes」ของโยชิกิ ฮาเสะ จัดแสดงที่ RCB Galleria ชั้น 2 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2019 – 2 มกราคม 2020