เราเชื่อว่าใครไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครบ่อยๆ ต้องคุ้นกับชื่อ EARLY YEARS PROJECT ดีแน่ๆ
EARLY YEARS PROJECT คือโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ที่เริ่มโดยหอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนไปบนเส้นทางการทำงานศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคัดเลือกผลงานจากศิลปินรุ่นใหม่หลากสาขา จากหลายพื้นที่ให้เข้าเวิร์กช็อปทักษะ แลกเปลี่ยนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์
นอกจากนี้ โครงการยังให้ทุนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เปิดพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์ โดยแบ่งเป็นสามระยะ (ในปีแรกและปีที่สองมีระยะเดียว) เพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ค่อยๆ พัฒนาผลงานระหว่างแสดงงาน และท้ายที่สุด คือการคัดเลือกศิลปินผู้มีผลงานโดดเด่น โดยมีรางวัลเป็นประสบการณ์การทำงานในระดับนานาชาติ
และ จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส คือศิลปินเจ้าของผลงาน Eye Your Ear ที่โดดเด่นจากบรรดาศิลปินรุ่นใหม่จำนวน 8 คน จนได้รับรางวัลเป็นทุนในการเป็นศิลปินพำนักในต่างประเทศ (Artist Residency) จากโครงการ EARLY YEARS PROJECT #4: PRAXIS MAKES PERFECT ปี 2562 ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ
หากเดินเข้าห้องสีดำสนิทในพื้นที่จัดนิทรรศการชั้น 7 นั่นแหละคือ Eye Your Ear ผลงานศิลปะที่จันถ่ายทำภาษามือและนำมาฉายบนจอ งานนี้เธอเริ่มต้นจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการจินตนาการผ่านภาษา โดยสำรวจและทดลองความเป็นไปได้ในเชิงกวีของภาษาที่ไม่ใช้เสียง (nonvocal) โดยเน้นภาษามือไทย (Thai sign language) เป็นหลัก และขยายขอบเขตไปถึงอวัจนภาษา (non-verbal language) ในรูปแบบต่างๆ ผลงานชุดนี้ถูกนำเสนอในรูปแบบของศิลปะจัดวางหลายจอ (multi-channel video installation) ที่เล่นกับขอบเขตอันคลุมเครือของความหมายที่ถูกสื่อผ่านท่าทาง การคาดเดา การตีความ การแปล หรือการพยายามรับรู้ด้วยความรู้สึก
มากกว่านั้น Eye Your Ear ตั้งคำถามว่า อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่เข้าใจการสื่อสาร เราสามารถพึ่งพาประสาทสัมผัสไหนได้บ้าง และมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างความสัมพันธ์บางอย่างโดยใช้เพียงสัญชาตญาณและร่างกายในการพยายามทำความเข้าใจภาพแทนภาษา
Eye Your Ear ได้รางวัลด้วยเหตุผลว่าผลงานแสดงให้เห็นถึงการวิจัยเชิงลึก การไตร่ตรอง การพยายามเจรจากับประเด็นที่ละเอียดอ่อน และระหว่างงาน เธอยังค้นพบสิ่งที่ส่งผลถึงการพัฒนาผลงานและการทำงานของศิลปินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นและภาษาของผลงานมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพัฒนาต่อและสื่อสารกับผู้ชมมากขึ้น
ที่มาของผลงานที่ลึกซึ้งระดับที่ต้องใช้หูและตารับรู้คืออะไร
โปรดใช้หูและตาของคุณในการรับชม
ทำไมคุณถึงสนใจการใช้ภาษามือ
เราสนใจเรื่องการใช้ภาษาอยู่แล้ว เรื่องวิธีการที่ภาษาสอนหรือปรับวิธีที่เรามองโลกหรือวิธีที่เรานึกถึงสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมรอบตัวซึ่งภาษาสร้างความคิดบางอย่างให้เรา ยกตัวอย่างเช่น เราเคยอ่านมาว่าภาษาของเผ่าหนึ่งในออสเตรเลียมีความเชื่อมโยงกับทิศทางอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ถ้าเราถามเด็กอายุ 3 ขวบในเผ่านั้นว่าทิศเหนือไปทางไหน เขาจะตอบได้ทันที เพราะภาษาของพวกเขาสร้างการรับรู้ทิศทางของเขาขึ้นมา หรือความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาของเขาจะแตกต่างกับของเรา สำหรับเรา อดีตจะอยู่ข้างหลัง อนาคตจะอยู่ข้างหน้า แต่เวลาของเขาจะควบรวมกับทิศทางและพรมแดน ประมาณว่า อดีตอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนอนาคตอยู่ทางทิศตะวันตก
แล้วกับภาษามือล่ะ
คนที่ใช้ภาษามือจะมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกับเรา เขาจะเข้าใจและเก็บรายละเอียดของข้อมูลในขอบเขตที่กว้างกว่าคนที่ใช้ภาษาพูด อีกเรื่องที่เราสนใจคือลักษณะของการเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีความเป็นนามธรรม แต่ก็สื่อสารและแสดงอะไรบางอย่างออกมา อย่างเช่น การเต้นรำ เราสนใจความสัมพันธ์ที่ภาษามือมีการเคลื่อนไหวลักษณะนั้น
พูดเรื่องภาษา ศิลปินบางคนก็เอาภาษาหรือตัวหนังสือมาใช้ในเชิงวิชวล ไม่ได้ใช้เพื่อการอ่าน แต่ให้ผู้ชมดูรูปทรงของมันแทน
เราคิดว่าเราก็ใช้ภาษาในแง่นั้นเหมือนกันนะ เพราะว่าในบางส่วนของวีดีโอเรา คนที่รู้ภาษามือจะสามารถอ่านรู้เรื่อง สื่อสารได้จริงๆ แต่บางส่วนก็จะเป็นแค่ภาพมือขยับที่ยากที่จะตีความออกมาเป็นความหมาย บางส่วนเราก็ตัดใบหน้าของผู้ใช้ภาษามือออกไป หรือตัดต่อวิธีการสื่อสารให้มองเห็นไม่ชัดเจน ภาษามือที่เห็นก็จะกลายเป็นการใช้วิชวลมากกว่า
สำหรับคุณ ความหมายของภาษาไม่สำคัญเท่ากับการเคลื่อนไหวร่างกายเหรอ
ในกรณีนี้ใช่ ส่วนตัวเราสนใจวิธีที่เราเข้าถึงภาษามือได้มากกว่า แต่เราก็สนใจเรื่องความหมายเหมือนกันนะ เหมือนเรายังอยู่ในขั้นกำลังทดลองค้นหาด้วยการให้คนใช้ภาษามือสองคนคุยกันด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติ แล้วเราพยายามทำความเข้าใจ เหมือนเป็นการเฝ้าสังเกตการณ์ไปก่อน ส่วนการไปแตะเรื่องความหมายของภาษาอาจจะเป็นขั้นต่อไป
ก่อนหน้าที่จะทำงานชุดนี้คุณเข้าใจหรืออ่านภาษามือออกไหม
ได้แบบเบสิกมากๆ เคยไปเรียน ไปอบรมมาแป๊บหนึ่ง
ไปเรียนเพื่อเอามาทำงานชุดนี้เหรอ
ส่วนหนึ่ง แต่ก่อนหน้านี้เราสนใจอยากเรียนภาษามือมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาส เคยเรียนแค่คำสองคำ เราก็คิดว่าเราควรจะพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้นตอนที่ทำโครงการนี้เต็มตัว
แปลว่าการทำงานกับภาษามือก็เหมือนเป็นการสำรวจพรมแดนที่คุณไม่เข้าใจ
ใช่ เราคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะหนึ่งในคำถามของงานนี้คือถ้าเราไปเจออะไรที่เราไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรืออะไรก็ตาม รูปแบบการกระทำหรือการรับรู้ของเราจะเปลี่ยนไปยังไง ถ้าเรานั่งอยู่ใกล้ๆ คนสองคนที่คุยภาษาที่เราไม่เข้าใจ การที่เราเข้าไม่ถึงความหมายของภาษาเหล่านั้นทำให้เราต้องเพ่งความสนใจให้กับสิ่งที่เหลืออย่างน้ำเสียงหรือจังหวะแทน
งานของคุณดูมีลักษณะเป็นงานในลักษณะ research-based art ที่ต้องใช้ข้อมูลการค้นคว้าและวิจัย คุณมีกระบวนการในการทำงานยังไงบ้าง
ก็มีหลายส่วนค่ะ ทั้งการทำงานกับผู้พิการทางการได้ยินสองคนที่เราถ่ายทำเขาใช้ภาษามือคุยกัน นอกจากนี้เราก็สัมภาษณ์คนหูหนวกอีกหลายคน ถามเขาถึงประสบการณ์การเป็นคนหูหนวกในสังคมที่คนส่วนใหญ่ได้ยินเป็นปกติ ความสัมพันธ์ที่เขามีต่อภาษาของเขา ความสัมพันธ์ที่เขามีต่อการศึกษา ต่อคนรอบข้าง เช่น เขาจะสื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจเขายังไง
อีกที่ที่เราไปดูก็คือวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาจะมีการอบรมภาษามือให้ทั้งคนที่จะเป็นล่ามภาษามือและผู้พิการทางการได้ยินจะเป็นครูสอนภาษามือ เราก็ไปดูว่าเขาสอนกันยังไง ค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีของภาษามือไทยจนได้ไปเจอการสร้าง ‘พื้นที่ของการเล่าเรื่อง’ (narrative space) ในภาษามือ
การเล่าเรื่องในภาษามือจะมีความสำคัญในการสร้างพื้นที่ว่าเรื่องเกิดในบริเวณนี้ มีองค์ประกอบนี้เข้ามา อย่างในภาษาพูด ถ้าเราพูดถึงคนนั่งเก้าอี้เราก็จะพูดถึงกิริยาการนั่งก่อนพูดถึงเก้าอี้ แต่ในภาษามือไทยต้องมีเก้าอี้ก่อนเราจะถึงนั่งได้ ภาษามันมีตรรกะที่แตกต่าง น่าสนใจ และมีการสร้างมโนภาพของพื้นที่ที่น่าสนใจเหมือนกัน มันเน้นวิชวลและสเปซค่อนข้างมาก
ไม่เหมือนภาษาพูดที่เน้นในเรื่องของความหมายและเนื้อหา
จริงๆ ภาษามือก็ต้องทำความเข้าใจความหมายและเนื้อหาเหมือนกัน แต่มันต้องผ่านประสบการณ์ในการที่เราจะเล่าเรื่องให้คนอื่นจินตนาการได้ว่าคุณกำลังเล่าเรื่องนี้อยู่ มันจะมีเรื่องของรายละเอียด เรื่องขนาด เรื่องสี อะไรต่างๆ ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
ถ้าเปรียบเทียบ ภาษาพูดเหมือนเป็นการทำให้คนเห็นภาพด้วยการใช้เสียงหรือถ้อยคำ ภาษามือก็ใช้การมองเห็นทำให้คนได้ยินเสียงแทนหรือเปล่า
เราไม่คิดว่าภาษามือทำให้คนได้ยินเสียงนะ แต่เป็นการทำให้คนได้สื่อสารมากกว่า คือการสื่อสารด้วยภาษามือมันไม่ผ่านการใช้เสียง ผู้พิการทางการได้ยินบางคนอาจจะเคยได้ยินตอนเด็กๆ แล้วอาจจะเป็นโรค หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ประสาทการได้ยินของเขาเสียไปก็มีเหมือนกัน แต่ผู้พิการทางการได้ยินส่วนใหญ่เขาจะไม่ได้ยินมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น ความรับรู้เกี่ยวกับเสียงของเขาไม่ได้มีความสำคัญขนาดนั้น อย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ผ่านหูแน่ๆ
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือก่อนเราจะเริ่มทำการวิจัย เราคิดเอาเองว่าผู้พิการทางการได้ยินต้องชอบอ่านหนังสือมากแน่ๆ แต่พอได้ไปคุยเราพบว่าผู้พิการทางการได้ยินบางคนบอกว่าเขาไม่ชอบการอ่านหนังสือ การอ่านยากสำหรับเขา เขาชอบดูภาพมากกว่า เพราะภาษาเขียนมีความเชื่อมโยงกับเสียงมากๆ การที่เราจะเข้าใจหรือเข้าถึงภาษาเขียนหนึ่งให้ได้นั้นเกี่ยวข้องกับการที่เราพูดและได้ยินมัน ไม่งั้นจะเป็นความยุ่งยาก เหมือนขาดตรรกะอะไรบางอย่างไป
เหมือนเวลาเราหัดอ่านหนังสือ เราต้องหัดด้วยการอ่านออกเสียงก่อน
ใช่ การหัดอ่านออกเสียงก่อน มันทำให้เราเข้าใจและจำคำได้
คุณเคยบอกว่าภาษามือเหมือนการเต้นรำ แต่การเต้นรำโดยพื้นฐานก็เกิดจากการฟังเสียงดนตรีไม่ใช่เหรอ แล้วผู้พิการทางหูเขาทำยังไงในเมื่อเขาไม่ได้ยินเสียง
จะบอกว่าภาษามือเหมือนการเต้นรำก็คงไม่ถูก แต่มันเป็นหนึ่งในแง่มุมที่เราสนใจจะมองมัน ในเรื่องของคนหูหนวก ดนตรี และการเต้นรำ วิธีที่เรามองการเต้นรำในปัจจุบันนั้นแยกออกมาจากเรื่องของดนตรีค่อนข้างมาก เหมือนมันกลายเป็นเรื่องของจังหวะและท่าทางมากกว่า อย่างเช่นเราเห็นบาริสต้าคนนี้ทำกิริยาซ้ำๆ เราก็สามารถมองเป็นการเต้นรำแบบหนึ่งได้เหมือนกัน เราเลยคิดว่าการจำกัดการเต้นรำในกรอบความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายกับเสียงดนตรีอาจจะเป็นแนวคิดที่ออกจะคลาสสิกไปสักหน่อย
เหมือนเราเคยค้นเจอว่ามีนักเต้นในอเมริกาคนหนึ่งที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน เขาเต้นฮิปฮอปโดยใช้การจำจังหวะจากแรงสั่นสะเทือนของเสียงจากลำโพง สำหรับเรามันเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ ว่าเราสามารถสัมผัสได้ถึงเสียงโดยที่ไม่ต้องได้ยินผ่านหู แต่ผ่านร่างกายของเราได้
หรือนักเล่นเพอร์คัสชั่น (เครื่องดนตรีประเภทเคาะหรือตี) คนหนึ่งที่เขาเริ่มฝึกดนตรีจากการตีกลองโดยใช้มือสัมผัสหน้ากลอง ตอนนี้เขาเล่นมาริมบา (เครื่องดนตรีตะวันตกที่มีลักษณะคล้ายกับระนาด) โดยเขาสามารถแยกแยะโน้ตจากแรงสั่นสะเทือนที่ผ่านขึ้นมาบนนิ้วของเขาได้ มันน่าสนใจว่าเวลาเราขาดประสาทสัมผัสใดสัมผัสหนึ่งไป ประสาทสัมผัสที่เหลือจะถูกนำมาใช้งานทดแทนได้
ในฐานะคนที่ได้ยิน มันสามารถเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ของเราได้ อย่างเมื่อก่อนเรามักคิดว่าผู้พิการทางการได้ยินนั้นไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับเสียงเลย ซึ่งไม่จริง เพราะเขารู้สึกได้ผ่านร่างกาย หรือในอีกหลายรูปแบบ
หลังจากทำการค้นคว้า ผลลัพธ์ที่คุณนำมาถ่ายทอดในงานชุดนี้คืออะไร
ตอนนี้งานในระยะสุดท้ายที่นำเสนอออกมาเหมือนเป็นการเข้าไปค้นคว้า เข้าไปแตะและทำความเข้าใจภาษามือและโลกของคนหูหนวก แล้วพยายามจะเก็บองค์ประกอบบางอย่างที่เราคิดว่าน่าสนใจ และพยายามค้นหาว่ามันทำงานด้วยกันยังไง แต่เรารู้สึกว่างานเรายังไปไม่ถึงจุดที่นำเสนออะไรใหม่ๆ หรือไอเดียใหม่ๆ มันยังอยู่ในจุดที่เราทดลองกับมันอยู่
จากที่คุยกัน คุณใช้คำว่าภาษามือไทย แสดงว่าภาษามือในแต่ละชาติมีความแตกต่างกันเหรอ
แตกต่างค่ะ ปกติคนจะคิดว่าภาษามือเป็นภาษาสากล แต่ในความเป็นจริงแต่ละประเทศจะมีภาษามือของตัวเอง แม้กระทั่งภาษามืออังกฤษ แบบอเมริกันกับแบบบริติชยังไม่เหมือนกันเลย แต่มันก็สมเหตุสมผลนะ เพราะแต่ละท้องถิ่นก็มีวิธีการใช้ภาษาต่างกันอยู่แล้ว ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ฯลฯ ที่แตกต่างกัน แต่จากที่เคยคุยกับคนหูหนวกหลายคนที่เขาพูดภาษามือได้หลายภาษา เขาก็บอกว่าถึงแม้ภาษามือในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกันก็จริง แต่ว่าเขาสามารถเรียนรู้ได้เร็วเพราะมันมีตรรกะคล้ายๆ กัน ซึ่งทำให้เขาสามารถเรียนภาษามือต่างประเทศได้ง่ายกว่าการเรียนภาษาต่างประเทศที่ต้องใช้การพูดและการฟัง
ภาษาที่นำเสนอในผลงานชุดนี้คือภาษามือของไทยหรือต่างประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นภาษามือไทยค่ะ ทั้งในแบบทางการ ที่ผสมกับภาษามือของอเมริกันประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และภาษามือแบบท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันก่อนที่จะมีการทำพจนานุกรมภาษามือ ผู้พิการทางการได้ยินหลายคนที่ครอบครัวของเขาพูดภาษามือไทยแบบทางการไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนมา แต่ก็มีการใช้ภาษาที่เขาเรียกว่า ภาษามือบ้าน ซึ่งเป็นแค่การตกลงกันว่าสัญลักษณ์มือนี้แทนความหมายอะไร เป็นภาษามือแบบพื้นฐานที่ใช้ในบ้านกันเอง
เหมือนการทำท่าตักข้าวเข้าปาก ยกแก้วดื่มน้ำ?
ใช่ๆ กินข้าว ดื่มน้ำ พ่อ แม่ เป็นภาษามือที่ไม่เป็นทางการ แต่ถ้ายกตัวอย่างของภาษามือแบบท้องถิ่นที่ยังมีอยู่ในหมู่บ้านสองสามแห่งในอีสานที่มีผู้พิการทางการได้ยินเยอะมาก เขาจะมีภาษามือของเขาเองที่ไม่เหมือนภาษามือไทยแบบทางการ และในแต่ละภาคก็จะมีรายละเอียดที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไป
การใช้ภาษาพูดในการสื่อสาร แค่เปลี่ยนน้ำเสียง โทนเสียง หรืออารมณ์ในการพูดก็สามารถเปลี่ยนความหมายได้แล้ว ในภาษามือมีอะไรแบบนี้ไหม
มี และสำคัญมากด้วย ภาษามือเนี่ย ถ้าเราใช้แต่มือความหมายจะไม่ครบ ต้องใช้สีหน้าด้วย ถ้าเราสื่อสารคำคำหนึ่งด้วยมือ แล้วสีหน้าไม่ไปด้วย คนรับสารก็จะไม่เข้าใจ อย่างถ้าเราบอกว่า สนุก แล้วเราทำหน้าหงอยๆ ก็ไม่ใช่ไง สีหน้าต้องไปด้วยกับสิ่งที่เราสื่อสารอยู่ตลอดเวลา อย่างคำว่า ยาก เนี่ย ยิ่งคิ้วเราขมวดมากเท่าไหร่คือยากเท่านั้นน่ะ การใช้มือ สีหน้า หรือเวลาที่เขาพูดอะไรที่ใส่อารมณ์เข้าไป เวลาใช้ภาษามือ ท่าทางก็จะเร็วขึ้น ใหญ่ขึ้น แรงขึ้น เหมือนเขาใส่อารมณ์หรือน้ำเสียงลงไปในท่าทางที่เขาเคลื่อนไหวร่างกาย
แบบนี้จะเรียกว่าภาษามือก็คงไม่ถูกซะทีเดียวนะ
ใช่ๆ เพราะมันใช้ทั้งร่างกายในการสื่อสาร
คุณบอกว่าในงานบางส่วนของคุณที่ตัดภาพมาฉายให้เห็นแค่เฉพาะมือ เลยทำให้ไม่สามารถสื่อสารความหมายได้ นี่เป็นความตั้งใจทำให้คลุมเครือใช่ไหม
ใช่ค่ะ เป็นความตั้งใจด้วยการที่เราแยกโฟกัสไปแค่บางส่วนของร่างกาย เพราะคนที่ใช้ภาษามือบางคน เวลาใช้ภาษา ปากของเขาก็จะขยับไปพร้อมๆ กัน หรือมีการส่งเสียงบางอย่างที่เป็นจังหวะหรือคำออกมาด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยสังเกตเห็น การที่เราโฟกัสแค่ที่มือ เพราะเราต้องการดูรายละเอียดของวิธีที่เขาใช้มือ ว่ามีการเปลี่ยนแปลง มีจังหวะแบบไหนบ้าง เหมือนวิธีเดียวกับที่เราทำกับภาษาพูด ถ้าเราตัดองค์ประกอบบางอย่างออกไป อย่างเวลาถ่ายวิดีโอคนคนหนึ่งที่กำลังพูดแล้วตัดเสียงออก เราก็แค่คอยสังเกตว่าปากหรือท่าทางของเขาขยับยังไงแทน
หลังจากแสดงในนิทรรรศการนี้แล้ว งานชุดนี้จะพัฒนาต่อไปยังไงบ้าง
สำหรับเรา ระยะที่สามของผลงานชุดนี้มีหลายองค์ประกอบที่เราอยากจะสำรวจ เราคิดว่าถ้าเราทำโครงการนี้ต่อไปก็คงจะหยิบอะไรที่เราเคยแค่ ‘แตะๆ’ มาแล้ว มาสำรวจแบบลงลึกขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นแบบฝึกหัดภาษามือไทยรุ่นแรกๆ ที่ไม่มีรูปประกอบ มีแค่คำบรรยายประมาณว่า ‘แบมือขวาออก แล้วเอามือซ้ายมาวางตรงนี้’ ซึ่งเราอ่านแล้วเรารู้สึกเหมือนฉากการเต้นรำเลย เราเลยสนใจว่า ถ้าเราเอาเนื้อหาตรงนี้ให้คนที่เป็นนักเต้นมาตีความ จะออกมาเป็นยังไง
อีกอย่างที่สนใจคือเรื่องของพื้นที่ และความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ มีเรื่องหนึ่งที่เราค้นคว้ามาแล้วยังไม่ได้ใช้ในโครงการนี้คือมีนักวิจัยที่เป็นผู้พิการทางการได้ยินในอเมริกา เขาพูดถึงวิธีที่คนหูหนวกอยู่และเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ เช่น มีกรณีศึกษาว่าเวลาคนหูหนวกบางคนเข้าไปในร้านกาแฟ เขาจะไม่นั่งตรงกลางสถานที่ทันที แต่จะพยายามเลือกนั่งให้หลังชนกำแพง เพื่อจะได้เห็นพื้นที่ภายในสถานที่นั้นทั้งหมด เพราะเขาไม่สามารถรับรู้สิ่งที่จะเข้ามาข้างหลังได้ด้วยการฟังเสียง แต่ถ้าเขามากันสองคนขึ้นไป เขาสามารถนั่งตรงกลางร้านได้ แต่คนที่นั่งด้วยต้องสังเกตให้อีกคน ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ข้างหลังอีกคน เขาต้องสื่อให้คนนั้นได้รับรู้ด้วย เราคิดว่าน่าสนใจมาก เหมือนเป็นการแบ่งความรับผิดชอบ เป็นการดูแลและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นมารยาทที่คนหูหนวกต้องทำกันโดยปกติ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอยากสำรวจต่อไปอีก
ในความเข้าใจของคนทั่วไป ศิลปินคือคนที่วาดรูป หรือทำงานออกมาเป็นวัตถุขายเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่งานของคุณมีลักษณะที่แตกต่างออกไป คุณสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานศิลปะแบบนี้ไหม
ไม่ได้แน่นอน (หัวเราะ) แล้วเราก็ไม่ได้สนใจจะทำวัตถุอย่างอื่นออกมาขายด้วย ในเรื่องความเป็นอยู่เราก็ต้องรับงานเสริมอย่างอื่นมาทำ มีทั้งงานวิจัย งานแปลภาษา รับถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ อะไรแบบนี้
เป็นเพราะประเทศเรายังไม่ค่อยยอมรับงานศิลปะที่มีความแปลกแตกต่าง หรืองานที่ไม่อยู่ในขนบแบบนี้หรือเปล่า เลยทำให้งานแบบคุณขายไม่ได้
ไม่นะ เราคิดว่าเป็นทุกที่ ตอนอยู่ฝรั่งเศสเพื่อนที่เรียนศิลปะทุกคนก็ต้องทำงานเสริม แม้กระทั่งคนที่ทำงานประติมากรรม หรือ object ก็ตาม ก็มีอยู่บ้างสองสามคนที่ขายงานได้ เลี้ยงตัวเองได้จากการทำงานศิลปะอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่ก็ทำงานเสริมกันทั้งนั้น
เรียกว่าทำงานหาเงินเพื่อเอามาหล่อเลี้ยงงานศิลปะและแพสชั่นของตัวเอง
ใช่ ที่เราทำเพราะเราสนใจ และมันให้ความหมายกับเรา ให้ไปทำอย่างอื่นก็ไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน (หัวเราะ) ในระยะยาวก็อยากจะทำงานแบบนี้เป็นหลักให้หล่อเลี้ยงตัวเองได้ เพราะก็มีศิลปินบางคนที่ทำงานในลักษณะนี้แล้วอยู่รอดได้เหมือนกัน ก็อาจจะต้องพึ่งสถาบัน หรือหาคนที่สนใจงานแบบนี้ที่พร้อมจะให้ทุนสนับสนุนในการทำงาน
คิดว่าถ้าอยู่เมืองนอกจะมีโอกาสมากกว่าไหม
โอกาสก็น่าจะมีแหละ แต่จากประสบการณ์ที่เราอยู่เมืองนอกมา วงการศิลปะมันอิ่มตัวมาก เพราะถึงแม้ในต่างประเทศจะมีทุน มีโอกาสเยอะกว่าก็จริง แต่คนที่จบด้านนี้มาก็มีเยอะกว่ามากๆ เหมือนกัน ช่วงเวลาที่กลับมาเมืองไทย เรารู้สึกว่ามันมีพื้นที่ในการที่เราจะทำหรือแสดงอะไร แล้วมีคนที่จะมาดู มาคุยด้วยมากกว่า ถ้าอยู่ที่โน่นก็คงจะจมๆ หายไปกับคนอื่น แต่ก็แล้วแต่ด้วย ว่างานที่เราทำมันโดนหรือกระทบใครไหม อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของจังหวะด้วย
คุณคิดว่าผู้ชมดูงานของคุณสามารถเข้าใจหรือเข้าถึงงานของคุณได้ไหม
ไม่รู้เหมือนกัน ก็อยากจะไปคุยกับผู้นำชมในหอศิลป์เหมือนกัน ว่างานเรามีผลตอบรับจากผู้ชมยังไงบ้าง แต่เท่าที่เห็น ผู้ชมบางคนเดินผ่านไปเลยก็มี (หัวเราะ) เพราะงานแบบนี้คงต้องใช้เวลานิดหนึ่งกับการที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขาอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าจะมีอะไรที่ดึงดูดได้ก็อาจจะเป็นเรื่องของรูปทรงและการเคลื่อนไหว
เราคิดว่าบางทีการดูงานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจอะไร ถ้าเรามีอารมณ์ความรู้สึกกับสิ่งนั้น เราก็สามารถที่จะมองความสวยงามและถูกมันดึงดูดโดยไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผลว่าทำไม ก็คิดว่าต้องมีคนที่เข้าถึงงานเราได้บ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่ามีเยอะแค่ไหนเหมือนกัน
คุณคิดว่าแก่นในงานคุณเป็นวิชวลหรือคอนเซปต์ชวล
กึ่งๆ มั้งคะ อาจจะไม่ใช่วิชวลหรือคอนเซปต์ชวลเสียทีเดียว เราคิดว่างานของเราเป็น perceptual (การรับรู้) มากกว่า คือเราสนใจว่างานนี้ของเราเข้าไปเปลี่ยนการรับรู้ของคนดูได้ไหม จากการดูอะไรที่เร็วๆ มาดูอะไรที่ช้าๆ บ้าง หรือพอเขามาดูงานเรา แล้วออกไปเห็นสภาวะที่อยู่ข้างนอกที่มีความใกล้เคียงกัน เขาคิดถึงงานเราไหม เราสนใจในการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของประสบการณ์มากกว่า จะเป็นการมองเห็น ความคิด พื้นที่ หรืออะไรก็ตามแต่
พอได้รางวัลนี้แล้วคุณคาดหวังอะไรบ้าง
ก็หวังว่าจะช่วยให้เรามีโอกาสในการทำงานอีก เพราะเราไม่ได้หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานศิลปะแบบนี้ การที่เราได้โอกาส มีคนชวนไปทำงาน ไปเป็นศิลปินพำนักในต่างประเทศเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถทำงานได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่ และโอกาสในการได้เจอผู้คนต่างๆ
มีแผนจะแสดงงานนิทรรศการใหม่เร็วๆ นี้ไหม
ยังไม่มีค่ะ แต่มีแผนว่าอาจจะลองกลับมาดูงานชิ้นนี้ แล้วทำออกมาใหม่ เพราะตอนนี้มันเป็นงานจัดวางแบบหลายจอก็เลยอยากจะลองทำให้เป็นหนังสั้นแบบจอเดียวดู ว่ามันจะเวิร์กไหม
Eye Your Ear เป็นหนึ่งในโครงการศิลปะที่อยู่ในนิทรรศการ Early Years Project #4…Praxis Makes Perfect ที่จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 7 ไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม – 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ติดตามงานอื่นๆ ของจันได้ที่นี่