Hisako Motoo มือขวาตลอด 30 ปีของช่างภาพปรมาจารย์สุดอื้อฉาว Nobuyoshi Araki

Highlights

  • Nobuyoshi Araki หรือ 'Araki' คือปรมาจารย์ช่างภาพผู้โด่งดังที่สุดและอื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น จากผลงานภาพถ่ายอีโรติกที่เปิดเปลือยร่างของหญิงสาวอย่างโจ่งครึ่ม จนเป็นที่โจษจันทั้งในและนอกเกาะญี่ปุ่น
  • ตลอดอาชีพการทำงาน อารากิตีพิมพ์ผลงานเหล่านี้ในรูปแบบของหนังสือรวมผลงานภาพถ่ายจำนวนมากกว่า 500 เล่ม และจัดนิทรรศการมานับครั้งไม่ถ้วน
  • แม้จะอยู่ในยุคดิจิทัล แต่อารากิยังชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยฟิล์มมากกว่าเพราะสามารถถ่ายทอดตัวแบบและแสงเงาได้ดีกว่า
  • Hisako Motoo คือมือขวาของอารากิตลอด 30 ปีที่ผ่านมาและได้ช่วยงานอารากิทุกเรื่อง ตั้งแต่การคิวเรตผลงานเพื่อจัดนิทรรศการไปจนถึงการพิมพ์หนังสือและงานอื่นๆ ในปี 2014 เธอยังเปิดแกลเลอรี art space AM ที่โฟกัสการจัดแสดงงานระหว่างเธอและอารากิด้วย

เมื่อเอ่ยชื่อของ Nobuyoshi Araki คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะกล่าวว่าชายผู้นี้เป็นศิลปินภาพถ่ายระดับตำนานผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของญี่ปุ่นจากผลงานภาพถ่ายแนวอีโรติกอาร์ตที่หมิ่นเหม่อยู่บนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะและความอนาจาร ทั้งภาพนู้ดของหญิงสาวที่เปิดเผยร่างเปลือยเปล่าอย่างตรงไปตรงมา หรือภาพถ่ายหญิงสาวที่ถูกผูกมัดรัดตรึงด้วยเส้นเชือกอันเป็นศิลปะเชิงสังวาสและรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ของญี่ปุ่น ที่ถูกนำเสนออย่างจะแจ้งรุนแรงจนหวิดจะวิตถาร หากแต่ก็งดงามเย้ายวนชวนตื่นตะลึงไปพร้อมๆ กัน

ผลงานของเขากระตุ้นมุมมองใหม่ๆ ในการประเมินคุณค่างานภาพถ่ายในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น ทั้งจากสายตาคนในและนอกประเทศ และดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลกอย่างทรงพลัง อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อช่างภาพรุ่นหลังเป็นอย่างมาก ด้วยการทำงานอันแหกขนบ ท้าทายกฎเกณฑ์ของศิลปะภาพถ่าย ไปจนถึงคัดง้างกับค่านิยมเก่าๆ ในสังคมญี่ปุ่น ยังไม่รวมถึงการผสมผสานงานภาพถ่ายเข้ากับภาพยนตร์ การวาดภาพ และศิลปะการเขียนตัวอักษรด้วยมือ (calligraphy) จนกลายเป็นผลงานในรูปแบบใหม่ที่ไม่ตายตัวอยู่กับการถ่ายภาพนิ่งเท่านั้น

Nobuyoshi Araki

โนบุโยชิ อารากิ หรือที่คนรู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า ‘อารากิ’ เกิดในปี 1940 ที่กรุงโตเกียว เขาจบการศึกษาด้านภาพยนตร์และภาพถ่ายที่มหาวิทยาลัยชิบะ ในปี 1963 และเข้าทำงานที่บริษัทเอเจนซีโฆษณาชื่อดังอย่าง Dentsu ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาได้พบกับ ‘Yoko’ ซึ่งต่อมากลายเป็นภรรยาและเป็นแรงบันดาลใจแรกเริ่มในการถ่ายภาพของเขา

อารากิเป็นที่รู้จักจากสไตล์ภาพถ่ายที่บันทึกชีวิตประจำวันของตัวเองในรูปแบบคล้ายไดอารี ที่เรียกว่า Shi-shashin หรือแปลได้ว่า ‘ภาพถ่ายตัวฉัน’ ถึงแม้จะฟังดูธรรมดาสามัญ แต่เมื่อถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา มันก็กลายเป็นงานที่ไม่ธรรมดาเลยแม้แต่น้อย ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “หากชีวิตไม่น่าสนใจ ภาพถ่ายก็ไม่น่าสนใจ”

ตลอดอาชีพการทำงาน อารากิตีพิมพ์ผลงานเหล่านี้ในรูปแบบของหนังสือรวมผลงานภาพถ่ายจำนวนมากกว่า 500 เล่ม ทั้งหนังสือ Sentimental Journey (1971-2017) ที่เปรียบเสมือนไดอารีชีวิตของอารากิและภรรยานับตั้งแต่วันเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปฮันนีมูน การมีเซ็กซ์ จนกระทั่งวันที่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1990 เขายังถ่ายทอดวันเวลาช่วงสุดท้ายในชีวิตของเธอออกมาในหนังสือ Winter Journey (1991) หรือหนังสือรวมผลงานที่เจาะลึกโลกโลกีย์อันสุดอื้อฉาวของญี่ปุ่นอย่างถึงแก่นอย่าง Tokyo Lucky Hole (1990) และหนังสือที่สำรวจเรื่องราวของตัวตน ชีวิต และความตาย ในภาพรวมของอาชีพการทำงานกว่า 40 ปีของเขาอย่าง Self, Life, Death (2005) เป็นอาทิ 

ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ที่มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยจะได้ชมผลงานของเขาในนิทรรศการ Life by Film by Nobuyoshi Araki ที่จัดแสดงผลงานชุดใหม่ล่าสุด 30 ภาพของอารากิในวัย 79 ปี โดยเน้นถ่ายทอดเรื่องราวส่วนตัวและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งรอบตัวของเขาผ่านกล้อง Leica M7

Nobuyoshi Araki

แม้ช่วงที่ผ่านมาอารากิจะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และสูญเสียการมองเห็นของตาขวา หากแต่ผลงานของเขา–แม้จะไม่เหมือนผลงานในวัยหนุ่ม–ก็ยังคงเปี่ยมล้นไปด้วยพลังชีวิตและแสดงถึงความหลงใหลในการถ่ายภาพในทุกลมหายใจ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “การถ่ายภาพคือการมีชีวิต เช่นเดียวกับการหายใจและการเต้นของชีพจร”

ความพิเศษคือ ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ Hisako Motoo ศิลปิน เอดิเตอร์ และคิวเรเตอร์คู่บุญของอารากิที่ทำงานกับเขามาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เดินทางมาเมืองไทยเพื่อรับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ของงานโดยเฉพาะ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับช่างภาพชื่อดังคนนี้ให้แฟนๆ ชาวไทยฟังอีกด้วย

เพื่อให้รู้จักเธอมากขึ้นอีกนิด ฮิซาโกะสร้างชื่อจากผลงานทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น จากโครงการศิลปะแปลกใหม่ที่ขยายกรอบความคิดในการสร้างสรรค์มากมาย และเป็นผู้ก่อตั้ง artspace AM ที่แสดงศิลปะภาพถ่ายที่อารากิร่วมงานกับฮิซาโกะ​โดยเฉพาะ

เป็นโชคดีของเราที่ได้มีโอกาสสนทนากับฮิซาโกะถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการ Life by Film รวมถึงเรื่องราวแบบเจาะลึกในการเป็นประจักษ์พยานกับวิถีชีวิตธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของศิลปินภาพถ่ายระดับปรมาจารย์ผู้นี้

ชีวิตของอารากิที่ไม่ได้ถูกบันทึกลงในแผ่นฟิล์มเป็นอย่างไร ฮิซาโกะรู้ดีกว่าใคร

Nobuyoshi Araki

 

นิทรรศการ Life by Film มีที่มาที่ไปยังไง

ย้อนกลับไปประมาณช่วงต้นปี 90 อารากิซังเริ่มใช้กล้องไลก้าเพื่อถ่ายภาพและสื่อสารเรื่องชีวิตของตัวเอง จากนั้นเขาก็มีนิทรรศการแสดงภาพถ่ายจากกล้องไลก้าครั้งแรกคือ Life by Leica ถัดมาเป็นนิทรรศการ Love by Leica และนิทรรศการครั้งสุดท้ายก่อนนิทรรศการนี้คือ Last by Leica ที่ตั้งชื่อว่า Last (สุดท้าย) ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกล่าวอำลาต่อชีวิตนะ แต่ตอนจัดนิทรรศการนี้ประมาณ 4-5 ปีที่แล้วเป็นยุคที่คนเริ่มใช้กล้องดิจิทัลกันมากขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นดิจิทัลเกือบหมด เขาก็เลยทำนิทรรศการกึ่งๆ เป็นการกล่าวอำลากล้องฟิล์ม แต่ในปัจจุบัน กล้องฟิล์มก็กลับมาเป็นที่นิยมในคนบางกลุ่ม และเขาก็มีโอกาสกลับมาทำงานกับไลก้าอีกครั้ง เขาเลยกลับมาพร้อมกับนิทรรศการ Life by Film ในครั้งนี้

 

พูดถึงกล้องดิจิทัล อารากิซังคิดยังไงกับกล้องดิจิทัล เขาใช้กล้องดิจิทัลบ้างไหม

ถามว่าใช้ไหม ก็ใช้นะ แต่ส่วนใหญ่จะเหมือนเป็นการใช้เพื่อทำตามโจทย์มากกว่า ถ้ามีใครวานให้ทำเขาถึงจะใช้กล้องดิจิทัล แต่โดยส่วนตัวเขาไม่ได้อยากใช้หรอก เวลาทำงานของตัวเอง อารากิซังไม่เคยใช้กล้องดิจิทัลเลย

 

ถ้าเป็นงานจ้างถึงจะใช้กล้องดิจิทัลเหรอ

ไม่เชิงเป็นงานจ้างอะไรขนาดนั้น แต่เป็นเหมือนงานของเพื่อนหรือคนใกล้ชิดของเขาที่ทำเว็บไซต์ ทำสื่อดิจิทัล แล้วอยากให้เขาช่วยมากกว่า จริงๆ เขาไม่ค่อยรับงานใครเท่าไหร่ เขาแค่อยากช่วยเพื่อน ก็เลยมีแค่นานๆ ทีที่จะใช้กล้องดิจิทัล

 

การที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนจากระบบแอนะล็อกไปเป็นดิจิทัลเกือบหมด มีผลกระทบอะไรกับชีวิตและการทำงานของอารากิซังบ้างไหม

อารากิซังเองไม่ได้รู้สึกเกลียดชังการเปลี่ยนแปลงหรือการที่โลกหมุนไปนะ เพราะเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและหมุนเวียนเปลี่ยนไป ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คืออารากิซังไม่มีมือถือ ไม่มีคอมพิวเตอร์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา เขารู้สึกว่าเขาใช้ไม่สะดวก 

ถ้าจะเจาะจงไปที่กล้องดิจิทัลเลย เขารู้สึกว่ากล้องดิจิทัลมีฟังก์ชั่นและคุณภาพความละเอียดดีเกินไป เหมือนว่าใครถ่ายก็ออกมาชัด หรือถ้าถ่ายในที่มืด กล้องก็ปรับให้กลายเป็นสว่างขึ้นมาได้ ซึ่งธีมหลักในการทำงานของเขาจะเน้นในเรื่องแสงและเงา เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างความมืดกับความสว่าง ดังนั้นการที่กล้องดิจิทัลถ่ายออกมาได้ชัดเจนและสว่างเกินไปจะทำให้เห็นเงาและความมืดน้อยลง ซึ่งไม่เหมาะกับงานของเขา

 

Nobuyoshi Araki

 

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เป็นผลงานใหม่หรือเป็นการรวบรวมงานเก่าจากหลายๆ ช่วงเวลา

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เป็นชิ้นงานใหม่ทั้งหมด เพราะโดยส่วนตัว อารากิซังจะไม่ชอบนำผลงานเก่ามาจัดแสดง จะมีบ้างก็นานๆ ที แต่ก็ต้องทำงานชิ้นใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปด้วยอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถึงแม้ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้จะไม่ใช่ผลงานล่าสุดของอารากิซัง เพราะกว่านิทรรศการครั้งนี้จะเกิดขึ้นก็ต้องใช้เวลายาวนาน แต่ผลงานที่แสดงในนิทรรศการนี้ก็เป็นผลงานที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน

 

ภาพถ่ายหลายชิ้นในนิทรรศการนี้ดูแล้วไม่รู้เลยว่าเป็นคนอายุเกือบแปดสิบถ่าย โดยเฉพาะภาพถ่ายนู้ดที่ดูเหมือนเป็นงานที่เขาทำสมัยหนุ่มๆ เลย

งานบางชิ้นเป็นซีรีส์ที่เขาทำมานานเกือบสิบปีแล้ว อย่างเช่นซีรีส์ภาพนู้ดชุดหนึ่งที่มีชื่อ เอ่อ… ถ้าจะให้แปลตรงๆ ก็คือ ‘เมียชาวบ้าน’ (หัวเราะ) เขาจะประกาศรับสมัครผู้หญิงที่แต่งงานแล้วซึ่งสมัครใจมาเป็นแบบถ่ายภาพนู้ดกัน พวกเธอจะโพสท่าที่ตัวเองชอบแล้วให้อารากิซังถ่ายภาพ ซีรีส์นี้เป็นซีรีส์ที่อารากิซังรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ถ่ายเพราะว่ามันสนุกและเขารู้สึกว่าผู้หญิงเหล่านี้ช่างน่าอัศจรรย์มาก ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ก็จะมีภาพถ่ายจากซีรีส์นี้รวมอยู่ด้วย

 

ในนิทรรศการ Life by Film คุณมีการเตรียมงานกับอารากิซังยังไงบ้าง

เวลาทำนิทรรศการ ฉันกับอารากิซังต้องคุยกันก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยากนำผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของเขามาจัดแสดง ปกติแล้วเราจะให้กรอบอารากิซังไปกว้างๆ ว่าพื้นที่ของแกลเลอรีมีขนาดเท่านี้นะ สมมติว่าแกลเลอรีรองรับชิ้นงานได้ 100 ชิ้น อารากิซังก็จะทำงานออกมาให้เราเลือกประมาณ 300 ชิ้นบ้าง 500 ชิ้นบ้าง แล้วคิวเรเตอร์ก็จะมาคัดเลือกผลงานอีกที แต่ท้ายที่สุด คนที่จะตัดสินใจและตรวจสอบครั้งสุดท้ายก็จะเป็นอารากิซังตลอด 

ในนิทรรศการนี้โจทย์เป็นการพูดเรื่องชีวิตและเป็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องไลก้า ทาง Leica Gallery ก็จะกำหนดขนาดและจำนวนของภาพที่จะแสดงมาให้ ด้วยความที่มีโจทย์เฉพาะเจาะจง อารากิซังก็เลยไม่ได้ทำงานเผื่อมาให้เยอะเท่าไหร่

 

การที่ภาพทั้งหมดในนิทรรศการเป็นภาพขาว-ดำนี่เป็นโจทย์ของทางไลก้าด้วยไหม

จะว่าไปก็ไม่ได้เป็นโจทย์ที่ทาง Leica Gallery กำหนดมานะ คือทางไลก้าบอกว่าจริงๆ อารากิซังจะใช้กล้องอื่นก็ได้ แล้วแต่เลย แต่อารากิซังและทีมงานก็คิดว่านานๆ ทีมีโจทย์มาให้ทำก็น่าสนุกดี เพราะบางทีถ้าขอบเขตกว้างไปก็อาจจะทำงานยาก เขาก็เลยทำงานตามโจทย์ของไลก้า 

ส่วนเรื่องผลงานที่เป็นภาพถ่ายขาว-ดำทั้งหมดนั้นเป็นโจทย์ที่ตั้งกันขึ้นมาเอง ไม่เชิงว่าเป็นกฎนะ แต่ว่าเป็นไปโดยธรรมชาติในการใช้กล้องไลก้าของอารากิซังที่เขาจะถ่ายภาพด้วยฟิล์มขาว-ดำค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ด้วยความที่ครั้งแรกที่อารากิซังใช้กล้องไลก้า เขาใช้มันถ่ายภาพพอร์เทรตและต้องการขับเน้นตัวแบบที่เขาถ่าย เขาจึงเลือกใช้ฟิล์มขาว-ดำ เพราะขับเน้นตัวแบบได้มากกว่าฟิล์มสี

 

Nobuyoshi Araki

Nobuyoshi Araki

 

คุณพบกับอารากิซังครั้งแรกเมื่อไหร่ อะไรทำให้คุณทำงานกับอารากิซังมายาวนานถึง 30 ปี

เราเจอกันในปี 1991 แล้วก็ทำนิทรรศการด้วยกันในปี 1992 ก่อนหน้านี้จริงๆ ฉันก็ทำงานอื่นมาเยอะเหมือนกัน ทั้งคิวเรตงานให้ศิลปินญี่ปุ่นและศิลปินต่างประเทศมากมาย เพราะฉันชอบทำนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่ได้เจาะลึกไปถึงมุมมองของศิลปินแต่ละคน แต่พอได้เริ่มทำงานกับอารากิซังก็รู้สึกสนุก ก็เลยทำงานด้วยกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 1990 จนถึงช่วงประมาณปี 2010 ก็มีจุดที่เริ่มรู้สึกว่าเราทำงานกับคนคนนี้สนุกที่สุดแล้ว 

เหตุผลแรกคือในแง่ความสัมพันธ์ในการทำงาน อารากิซังค่อนข้างจะไว้ใจฉัน นั่นหมายความว่า ฉันก็จะได้สื่อสารในสิ่งที่ตัวเองอยากทำด้วยความคิดของตัวเองได้เยอะ อีกอย่างคือด้วยความที่อารากิซังทำงานหลากหลาย นอกจากการคิวเรต ฉันยังต้องดูแลเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องการพิมพ์ การดีไซน์ หรือการใส่แนวความคิดเข้าไปในผลงานทุกขั้นตอน ฉันเลยรู้สึกว่าการทำงานกับอารากิซังทำให้ฉันได้ก้าวข้ามกรอบการเป็นคิวเรเตอร์และได้ทำอะไรเยอะกว่าที่เคย ซึ่งเป็นสิ่งที่สดใหม่สำหรับฉัน งานของอารากิซังเป็นอะไรที่ไร้ขอบเขตจริงๆ เหมือนเราทำงานกับเขาหนึ่งชิ้น แต่มันพูดถึงทุกเรื่อง มีความเป็นไปได้ทุกอย่าง

เพราะอย่างนี้ ฉันก็เลยรู้สึกว่าถ้าฉันทำงานกับอารากิซัง ฉันคงไม่ต้องไปทำงานกับคนอื่นอีกต่อไปแล้ว และในปี 2014 ฉันเปิดแกลเลอรีของตัวเองชื่อ artspace AM โดย A หมายถึง Araki และ M คือ Motoo ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ฉันเลยไม่ได้คิวเรตงานให้คนอื่นเลยนอกจากอารากิซังคนเดียว

 

ผลงานอารากิซังหลายชิ้นมีความอื้อฉาว รุนแรง และโจ่งแจ้ง โดยเฉพาะเรื่องเพศ ในช่วงแรกที่เขาทำงานประเภทนี้ คนญี่ปุ่นมองเขาอย่างไร

ภาพที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างภาพนู้ด ภาพนู้ดกลางแจ้ง หรือภาพ Kinbaku หรือศิลปะการมัดเชือกของญี่ปุ่น ที่อารากิซังเริ่มทำในยุค 80s เป็นที่จับตามองมากๆ ในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน เขาโดนตำรวจเรียกตัวบ้างเพราะสิ่งที่เขาทำเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ และทำให้เกิดคำถามในสังคมญี่ปุ่น ว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างสื่อลามกกับศิลปะ ตอนนั้นคนญี่ปุ่นก็ยังไม่เข้าใจกันเท่าไหร่ จนศิลปินหรือสื่อต่างประเทศมาเห็นงานของอารากิซังและมีการวิพากษ์วิจารณ์ ให้ค่าผลงานของเขา พอเขาได้รับการจับตามองจากต่างประเทศ ชื่อเสียงของเขาถึงได้ย้อนกลับเข้ามาในสังคมญี่ปุ่นอีกที 

ในช่วงประมาณยุค 90s คนถึงเริ่มเข้าใจว่าอารากิซังไม่ใช่แค่นักถ่ายภาพโป๊ แต่เป็นศิลปินคนหนึ่ง ทำให้เขาได้รับการยอมรับมากขึ้น จนภาครัฐเกิดการพูดคุยกันว่าเราจะสามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างสื่อลามกกับศิลปะยังไงบ้าง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและพูดออกมาเป็นรูปธรรมยากว่าอะไรที่เข้าข่ายภาพลามกหรือศิลปะ แต่งานของอารากิซังก็ทำให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น และทำให้งานศิลปะประเภทนี้ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่น

 

เท่าที่ดูจากงานของอารากิซังที่ผ่านมา เราคิดว่าเขาคงไม่สนใจว่าใครจะมองงานของเขาว่าเป็นสื่อลามกหรือศิลปะมั้ง ในฐานะคิวเรเตอร์ของเขา คุณคิดว่าจำเป็นต้องมีเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับสื่อลามกไหม

ในฐานะคิวเรเตอร์ ฉันรู้สึกว่าจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเส้นแบ่งว่าอะไรเป็นสื่อลามกหรือศิลปะหรอก แต่พูดในฐานะเพื่อนร่วมงานที่ไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานของเราโดนตำรวจจับ (หัวเราะ) ฉันก็คิดว่าต้องมีการทำความเข้าใจในการดำเนินงานว่าเราจะสื่อสารกับผู้ชมหรือสังคมรอบข้างได้ยังไง ถ้าจะย้อนกลับมาพูดถึงงานของอารากิซังโดยเฉพาะ ฉันคิดว่างานของเขาไม่มีเส้นแบ่งอะไร ไม่ว่าจะเป็นภาพนู้ด ท้องฟ้า ดอกไม้ หรือภาพสแนปช็อตตามท้องถนนล้วนไม่ต่างกัน

 

 

คุณคิดว่างานของอารากิซังเปลี่ยนทัศนคติหรือปลดปล่อยมุมมองของคนญี่ปุ่นในการเปิดเผยเรื่องเพศให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้มากขึ้นไหม

ฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปตามกาลเวลานะ ตัวเขาเองไม่เคยพยายามจะเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับต่างประเทศเท่าไหร่ ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจว่ามีความแตกต่างกันยังไง แต่ถ้าย้อนกลับไปช่วงที่เขาเริ่มทำงานชุดนี้ในช่วงยุค 80s ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากการมีศูนย์รวมความเชื่อหรือสิ่งที่ทำให้ประเทศมีความคิดเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกัน สังคมญี่ปุ่นมีความเป็นอิสระมากขึ้น ประกอบกับการที่เศรษฐกิจดีขึ้นจึงทำให้เกิดอุตสาหกรรมทางเพศ เกิดงานแบบนี้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน มุมมองทางเพศในตอนนั้นก็ยังเป็นมุมมองในเชิงถ้ำมองหรือแอบมองมากกว่า แต่งานของอารากิซังเอาความเปิดเผยทางเพศออกมานำเสนออย่างจะแจ้ง ประจันหน้าเราอย่างจัง ฉะนั้นถ้าถามว่างานของอารากิซังช่วยปลดปล่อยคนไหม มันก็ไม่เชิงหรอก แต่งานของเขาทำให้คนได้ทำความเข้าใจ และกลับมาคิดถึงคอนเซปต์ความเป็นอิสระในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้เยอะเหมือนกัน

แต่พอเขาดังขึ้น ข้อเสียที่ตามมาก็กลายเป็นว่าภาพที่ว่านี้กลายเป็นตัวแทนของญี่ปุ่น คนอื่นๆ ก็คิดว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เรื่องเพศหรืออุตสาหกรรมทางเพศมักจะถูกผูกโยงเข้ากับความรุนแรง อาชญากรรม การกดขี่ทางเพศ หรือการเหยียดเพศซึ่งอารากิซังไม่ค่อยเห็นด้วย ที่ผ่านมาก็มีคนที่เข้าใจผิดแบบนี้เยอะ แต่ในช่วงหลังๆ คนก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่อารากิซังพยายามพูดและพยายามนำเสนอผ่านงานของเขาว่าเรื่องเพศไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาชญากรรม การกดขี่ทางเพศ หรือการเหยียดเพศเสมอไป แต่มันเป็นแก่นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์มากกว่า

 

ได้ยินมาว่าก่อนหน้าที่ช่างภาพญี่ปุ่น Kishin Shinoyama จะถ่ายภาพ Hair Nude (ภาพเปลือยที่เห็นขนในที่ลับ) ตีพิมพ์ในหนังสือเป็นคนแรกๆ ภาพเปลือยด้านหน้าเต็มตัวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น การที่กฎหมายเซนเซอร์ของญี่ปุ่นในยุค 80s เข้มงวดเช่นนี้ส่งผลอะไรกับการทำงานของอารากิซังบ้างไหม 

อันที่จริง คิชิน ชิโนยามะ ไม่ได้เป็นคนแรกที่ถ่ายภาพเปลือยแบบนี้นะ แต่บังเอิญเขาใช้ดาราชื่อดังเป็นนางแบบ (Kanako Higuchi และ Miyazawa Rie) แล้วหนังสือมันขายดีเป็นหมื่นเล่มเลย ฉันเลยคิดเอาเองว่าตำรวจคงริบไม่ไหว ตามไปเก็บกลับมาไม่ได้ หลังจากนั้นก็กลายเป็นว่าถ้าไม่ใช้ภาพนู้ดที่เห็นอวัยวะเพศแบบอล่างฉ่างหรือภาพที่คนมีเพศสัมพันธ์กันจริงๆ ก็สามารถวางขายได้ แต่ในขณะเดียวกัน กฎหมายศุลกากรจะเข้มงวดกว่า คือสามารถเผยแพร่ได้ แต่ไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกได้ 

 

หมายความว่าอารากิซังเคยถ่ายภาพแบบ Hair Nude เผยแพร่มาก่อนหน้าคิชิน ชิโนยามะ ใช่ไหม

ใช่ 

 

แล้วตอนนั้นเขาโดนตำรวจจับหรือมีปัญหากับทางการบ้างไหม

ก็มีบ้าง อย่างทีมที่ตีพิมพ์หนังสือก็เคยโดนตำรวจเรียก อารากิซังเองเวลาไปถ่ายนู้ดกลางแจ้งก็เคยโดนจับเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ได้รับการปล่อยตัว ก็โดนค่าปรับบ้าง

 

 

ในเมืองไทย เวลาคนทำสื่อภาพนู้ดออกมาขายในเชิงพาณิชย์แล้วมีปัญหากับทางการ พวกเขามักจะอ้างว่าสิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่ภาพอนาจารแต่เป็นงานศิลปะ ที่ญี่ปุ่นมีอะไรทำนองนี้บ้างไหม

ไม่ค่อยมีนะ ด้วยความที่ญี่ปุ่นในปัจจุบันมีนักวิจารณ์ศิลปะมากขึ้น และมักจะมีการเขียนวิจารณ์ศิลปะอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นเลยไม่มีข่าวออกมาว่ามีการทำอุตสาหกรรมทางเพศหรือทำสื่อภาพนู้ดออกมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นแล้วมาสวมรอยว่าเป็นศิลปะ มันแบ่งแยกกันค่อนข้างชัดเจน

 

พูดถึงอุตสาหกรรมทางเพศ ไม่นานมานี้เราเพิ่งได้ดูซีรีส์เรื่อง The Naked Director ที่เป็นเรื่องราวของ Toru Muranishi อดีตราชาหนังโป๊ของญี่ปุ่น เขาเป็นคนในยุคเดียวกับอารากิซังด้วยใช่ไหม

อ๋อ ใช่ๆ ฉันรู้จักเขานะ แต่ยังไม่เคยดูซีรีส์นี้เลยก็ค่อนข้างพูดยากนะว่าจะแบ่งแยกกันยังไง แต่จริงๆ ถ้ามองให้ดีๆ จะเห็นว่าคนกลุ่มนั้นเขาทำสิ่งเหล่านี้เป็นธุรกิจมากกว่าน่ะ

 

ตอนที่ดูหนังสั้น Life by Film เราเพิ่งรู้ว่าอารากิซังสูญเสียการมองเห็นของตาข้างขวาไป การที่ตาของเขามองไม่เห็นไปข้างหนึ่งทำให้วิธีการทำงานหรือการมองโลกของเขาเปลี่ยนไปไหม

ปกติเวลาที่อารากิซังมองผ่านกล้องเขาจะใช้ตาข้างซ้ายมอง ดังนั้นในแง่การถ่ายรูปก็เหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ แต่ในชีวิตประจำวันก็ค่อนข้างจะลำบาก เพราะเขาจะมองไม่เห็นข้างหนึ่ง ทำให้ระยะสายตาแคบลง เขาเลยคิดเทคนิคและแนวทางการถ่ายรูปที่ด้านหนึ่งของภาพไม่อยู่ในเฟรม เบลอ หรือมืดไปเลย นั่นเป็นสิ่งที่เขาปรับตัวในการสร้างผลงาน 

เขามักจะเอาภาวะการป่วยของตัวเองมาล้อเลียนในผลงานตลอดเวลา อย่างตอนที่เขาเป็นมะเร็งและนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เขาก็ได้แรงบันดาลใจในการทำงานมาจากการนอนอยู่ในโรงพยาบาลนั่นแหละ ตอนนั้นเขาถ่ายรูปที่เป็นเหมือนบันทึกประจำวัน รายงานว่าในแต่ละวันสภาพร่างกายของเขาเป็นยังไง มีหนังสือรวมภาพถ่ายของเขาที่มีชื่อว่า Isaku หรือ ‘ผลงานหลังความตาย’ ออกมาเล่มหนึ่งเพื่อล้อเลียนตัวเองตอนที่กำลังป่วยอยู่ แต่เขาก็ไม่ตายเขาเลยออกหนังสือ Isaku เล่ม 2 ออกมา เพื่อเป็นมุกตลกว่า เออ ยังไม่ตายสักที! (หัวเราะ) ตอนที่เสียตาข้างขวา เขาก็เอาแรงบันดาลใจตรงนั้นมาทำเป็นนิทรรศการ Love on the Left Eye (2014) 

 

 

เป็นคนที่มีอารมณ์ขันเอามากๆ เลยนะ

แต่ว่าเวลาเขาโกรธก็น่ากลัวมากนะ คือเป็นคนที่ค่อนข้างจะสุดโต่ง เวลาขำก็ขำมาก แต่เวลาจริงจังก็จริงจังเอามากๆ คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเขาน่าจะเป็นคนลามกเพราะถ่ายภาพโป๊เปลือย แต่เวลาเขาทำงานเขาจะจริงจังและมีสมาธิมาก เขาจะนิ่ง สงบ บางครั้งดูไร้อารมณ์จนเหมือนเป็นหุ่นยนต์เลย เหมือนรอบตัวเขามีแต่กล้องกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น แต่เวลาปกติ ฉันว่าเขาเหมือนเด็กคนหนึ่งเลย เป็นคนง่ายๆ ตรงไปตรงมา รู้สึกอะไรก็บอกอย่างนั้น เห็นผู้หญิงสวยก็บอกว่าสวย เห็นอะไรดีก็บอกว่าดี (ยิ้ม)

 

หลังจากนิทรรศการนี้ อารากิซังกับคุณจะมีผลงานอะไรออกมาให้เราได้ติดตามอีกไหม

เดือนตุลาคมนี้เรากำลังจะมีนิทรรศการของอารากิซังที่เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เป็นครั้งแรก และตอนนี้เราก็มีนิทรรศการสัญจรที่เมืองต่างๆ ในประเทศจีน ทั้งปักกิ่ง เสฉวน เซี่ยงไฮ้ รวมถึงที่ญี่ปุ่นด้วย ถ้าใครจะตามไปดูก็ยินดีมากๆ เลย

ต้องบอกว่าฉันอยากจะทำงานกับอารากิซังไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ฉันอยากให้เขามีชีวิตอยู่ไปนานๆ เพราะฉันเองก็ยังเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากเขา

 


นิทรรศการ Life by Film by Nobuyoshi Araki จัดแสดงที่ Leica Gallery Bangkok ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม – 27 พฤศจิกายน 2562 (10:00-20:00 น.) สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดได้ทาง Leica Gallery Bangkok

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!