‘เดินสู่อิสรภาพ’ ไปกับประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญาผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย 4/4

พอกลับมาถึงบ้านที่เชียงใหม่แล้วชีวิตอาจารย์มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างครับ

ผมพูดจากความรู้สึกจริงๆ เลยนะ เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าผมรักภรรยามาก
ปฏิบัติหน้ที่ของสามีดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงปฏิบัติได้ ในแง่ของจิตใจนะ
ผมเป็นคนนุ่มนวลอ่อนโยนต่อภรรยาเสมอ แต่พอกลับมา ผมพบว่าก่อนหน้าที่ผมจะออกไปเดิน
จริงๆ ผมก็ทำสิ่งที่รุนแรงกับภรรยา แต่ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง เช่น
ภรรยาผมชอบไปทานอะไรตามประสาผู้หญิง ผมเป็นนักบวชกินง่าย
ก็รู้สึกว่าจะทานอะไรให้มันยุ่งยากซับซ้อน แต่ผมไม่เคยบ่นนะ
เวลาภรรยาต้องการไปทานอะไรไกลๆ ผมก็มีความรู้สึกอยู่ในใจว่า
ทำไมภรรยาถึงไม่เปลี่ยนนิสัยหรือปรับตัวเองเหมือนกับตำหนิอยู่ลึกๆ
ผมพบว่าความรู้สึกเช่นนี้มันไม่มีเลยเมื่อผมกลับมา
ผมสำนึกว่าก่อนหน้านี้ผมหยาบคายมาก แม้ผมจะไม่พูด จะไม่ทำอะไรให้เธอรู้สึก
แต่จิตที่คิดว่าภรรยาไม่ควรมาเสียเวลาหาอาหารที่มันไกลไป
มันเป็นความรู้สึกที่หยาบของมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่มีความละเอียดอ่อนพอ จริงๆ
แล้วเรารักเธอมากเพียงพอเราก็จะมีความสุข มีความเต็มใจ
มีพลังที่จะทำอะไรบางอย่างร่วมกัน

ชีวิตที่ดีงาม
มันไม่ใช่เรื่องของเหตุผลที่เราสร้างขึ้นมาเองแล้วไปกำกับคนอื่น
แต่ชีวิตคู่ที่ดีคือชีวิตที่เรามีความสุขและความรู้สึกอะไรบางอย่างร่วมกันที่ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล
ไม่ต้องมีเหตุผลมาอธิบายความผิดความถูกหรอก แต่มีจิตดวงหนึ่งที่ผูกพันกัน
แล้วก็มีความรู้สึกผิดร่วมกัน รู้สึกถูกร่วมกัน การผสานอารมณ์เป็นอันเดียวกันได้เป็นอะไรที่มหัศจรรย์

เมื่อก่อนภรรยาผมเป็นคนชอบเที่ยว
ผมเป็นคนไม่ชอบขับรถ แต่มีหน้าที่เป็นพนักงานขับรถ เวลาจะไปเที่ยวไหน
ผมก็บอกว่าอย่าขับรถไปเลย ขึ้นรถทัวร์ รถไฟ
เครื่องบินไปดีกว่าแต่ภรรยาผมอยากให้ขับรถไปเองเพราะจะหยุดตรงไหนก็ได้
ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากกลับมาก็คือ ผมชวนภรรยาขับรถไปเที่ยวกัน
ขับจากเชียงใหม่ไปทั่วประเทศเสียบฝั่งอ่าวไทยไปสุดที่สงขลา
แล้วข้ามไปฝั่งอันดามันถึงสตูล ผมขับอยู่ 27 วันจนเป็นไข้ แต่ผมมีความสุขมาก

การขับรถไปคราวนี้มีโอกาสได้เจอคนที่อาจารย์เคยพบตอนเดินบ้างไหม

ผมตั้งใจขับรถพาอาจารย์สมปองไปขอบคุณคนเหล่านั้นที่ช่วงชีวิตผม
เนื่องจากว่าบางจุดไม่สามารถขับรถไปได้ และคนที่ผมเจอส่วนใหญ่เจอกันบนถนน
ไม่ใช่สถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของเขาจริงๆ ผมเลยได้เจอคนที่ผมเคยเจอแค่ 30 – 40
เปอร์เซ็นต์ ถ้าผมไม่กลับไป ผมจะรู้สึกสูญเสียโอกาสเป็นอย่างยิ่ง
การกลับไปของผมทำให้ความสงสัยในใจของคนเหล่านั้นหมดไป

ตอนที่ผมเดิน
ผมมีโอกาสได้พบกับเจ้าของร้านอาหารที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พอคุยกันสักพัก
แกก็เสนอที่จะทำอาหารให้ผม ผมปฏิเสธเพราะวันนี้ผมทานแล้ว พอผมเดินไป
แกก็บอกว่าข้างหน้ามีวัดบ่ออิฐอยู่ห่างไป 5 – 6 ก.ม. น่าจะไปพักได้
การกลับไปเจอแกคราวนี้ ทำให้ผมรู้ว่าวันรุ่งขึ้น แกตื่นมาตั้งแต่ตี 4
ทั้งที่แกไม่เคยตื่นเช้าขนาดนั้นเพราะร้านแกปิดดึก
วันนั้นแกมีความรู้สึกแปลกประหลาดมาก แกบอกว่าผมตัวดำ หน้าตาดำคล้ำ
แต่เวลาแกเห็นผมยิ้ม เห็นผมพูด แกรู้ว่าผมมีความสุข
แล้วแกก็ไม่เคยเห็นใครมีความสุขแบบผม แกมีความสุขที่ได้เจอผม
ก็เลยตื่นแต่เช้ามาทำอาหารอย่างดีจัดใส่ปิ่นโตให้ผม
พอสว่างก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปวัดบ่ออิฐ ไปถึงแกเสียใจมาก
เพราะพระที่วัดบอกว่าผมจากวัดไปแล้วแกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่มีโอกาสได้ให้อาหารกับผม
ผมกลับไปอีกที แกบอกว่าวันนี้ต้องกินอาหารที่แกทำให้ได้นะ

นั่นทำให้ผมพบว่าการเดินของผมไม่ใช่เป็นการเดินที่เหลวไหล
แต่มันสามารถแสดงอะไรบางอยางให้เห็นได้โดยไม่ต้องพูด เช่น เรามีความสุข
เรามีความผ่องใสเบิกบานให้คนอื่นเห็น มันก็ช่วยให้เขามีความรู้สึกเชื่อมั่นในการมีชีวิตอยู่มากขึ้น
ผมไม่ได้บอกว่าแค่เจ้าของร้านอาหารที่ปะทิวคนเดียวเพียงพอที่จะพิสูจน์แล้วนะ
แต่หลายคนที่ผมเดินผ่านไปแล้ว วันหนึ่งผมกลับมาหาเขาอีกครั้ง
บางคนก็เข้ามากอดผมด้วยความรู้สึกดีใจ
บางคนเล่าให้ผมฟังว่าตอนนั้นเขากลัวกังวลยังไง บางคนเล่าว่าเมื่อผมจากไปแล้ว
เขาพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไรบ้าง
แล้ววันหนึ่งผมก็กลับไปพบพวกเขาแล้วบอกว่าผมเป็นอย่างที่ผมพูดนั่นแหละ
นี่คือการกลับมาขอบคุณว่าผมเดินถึงเป้าหมายแล้ว ชีวิตหลังจากนี้ไป
ผมจะพยายามใช้ให้เป็นประโยชน์กับทุกคน เขาเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยสร้างชีวิตแบบนี้ให้ผม

ในเมื่อการเดินทางมันงดงามขนาดนี้
อาจารย์คิดอยากจะเดินทางอีกสักครั้งไหมครับ

ผมต้องการจะเดินไปอินเดียอีกครั้งหนึ่ง
ไปเพื่อสัมผัสอินเดียที่แท้จริงในมิติเชิงจิตวิญญาณให้ลึกซึ้ง
ชีวิตของผมในอินเดียมันสอนผมเยอะมาก แล้วบทเรียนของอินเดียยังไม่ยุติ ผมอยากกลับไปชีวิตแบบนักบวชหรือแบบวณิพกที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่แล้วเรียนรู้อะไรจริงๆ ในสถานที่จริงๆ ที่มีความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย
ถ้าผมมีชีวิตเหลือกลับจากอินเดีย ผมจะใช้ชีวิตส่วนที่เหลือเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์
เพราะชีวิตส่วนที่เหลือของผมเป็นชีวิตที่เพื่อนมนุษย์มอบให้
วันที่ผมหิวเหมือนจะขาดใจตาย แล้วมีผู้ให้อาหารผม
ผมมักจะพูดเสมอว่าชีวิตที่เหลือจากนี้พี่ให้ผม
ผมจะใช้ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
คำพูดนี้ผมพูดซ้ำนับเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง แล้วผมไม่ได้พูดเฉพาะวาจา
แต่ผมพูดจากจิตของผมจริงๆ ผมจะพยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อาจารย์จะรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยวิธีการไหนครับ

ผมคงเดินทางตามใจตัวเองพอแล้วล่ะ
ต่อไปนี้ผมอยากเดินทางไปพบกับคนที่คิดว่าการพบผมมีคุณค่าและความหมาย คน 3 กลุ่มที่ผมพบมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่าอยากไปพบคือ
เด็ก คนแก่ และคนพิการ ผมเคยหยุดคุยกับเด็กที่ริมแม่น้ำปิง
แล้วมีย่าหรือยายมาดุเด็กแล้วเรียกเข้าบ้าน ผมรู้สึกเลยว่าย่ายายเป็นห่วงหลาน
ไม่อยากให้คุยกับคนบ้า แต่ผมรู้ว่าเด็กมีความสุขที่ได้คุยกับผม วันนั้นผมอาจจะถูกรังเกียจหรือถูกกังวลระแวง
แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนรู้แล้วว่าตาประมวล แกไม่ได้น่ากลัวอะไร ถ้ามีเด็กอยากคุยกับผม
ผมก็จะไป

ส่วนคนแก่
ผมเดินไปเจอเด็ก 2 คน พอคุยกับเขา เขาชวนผมไปกินน้ำในบ้าน พ่อแม่เขาก็ออกมาคุย
แล้วก็มียายนอนอยู่บนเตียง พ่อแม่ของเด็กเอาน้ำดื่มเอาขนมมาให้ผมกิน
ตอนที่ผมไปลาคุณยายกลับ ผมยังจำภาพได้แม่นเลย แกนั่งอยู่บนเตียง
แกล้วงมือไปข้างหลังเอาส้มสีทองผลหนึ่งที่ลูกหลานซื้อมาให้
แล้วกำใส่มือเหมือนไม่ให้หลานเห็น แกใช้คำว่า เอาไปกินนะ จะได้มีแรงเดิน
ผมรู้เลยว่าเป็นคำพูดที่ประเสริฐมาก แกบอกว่าตอนยายสาวๆ ก็เคยเดิน
แต่ตอนนี้เดินไม่ได้แล้ว ผมรู้เลยว่ามันเป็นอะไรที่ละเอียดลึกซึ้ง

อีกคนเป็นพระภิกษุอายุเกือบ
90 ปี ทั้งวัดท่านอยู่รูปเดียว ท่านนอนอยู่กับที่ไปไหนไม่ได้ ตอนเช้าผมไปลาแก
แกเอามือจับไหล่ผมแกใช้คำว่าครูอยู่ต่ออีกสักวันไม่ได้รึ ผมรู้เลยว่าหลวงพ่อรูปนี้อบอุ่นและรู้สึกดีเมื่อมีคนอยู่ด้วย
ผมเลยอยู่ต่ออีกวัน ช่วยแกทำความสะอาดห้อง แกบวชมา 60 กว่าพรรษาแล้ว
ผมสะเทือนใจมากตรงที่หลวงพ่อบอกว่า ท่านอยากกลั้นใจตายเพราะไม่อยากเป็นภาระ
ตัวเองลุกจากเตียงไม่ได้ จะเข้าห้องน้ำก็ลำบาก ผมคุยกับแกนานมาก แกถึงกับเอากระป๋องที่ใส่กุญแจกุฏิวิหาร
แกบอก ยกให้ครู ครูมาบวชอยู่ที่นี่เลย ผมอธิบายให้แกฟังว่า
ภารกิจของผมคือการเดินฉะนั้นผมจึงไม่สามารถอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้
แต่พอถึงที่หมายแล้ว ถ้าผมสามารถกลับมาหาแกได้ ผมก็จะกลับมา
ผมไม่ได้หมายความแค่คนแก่ 2 คนนี้ แต่มีคนแก่อีกจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับชีวิตรันทด
ร่างกายไม่มีพลัง ไม่มีสมรรถนะเพียงพอที่จะเคลื่อนย้ายได้อย่างที่ตัวเองเคยทำได้
แต่จิตใจเขายังมี เลยอึดอัดคับข้อง เพราะเขาเคยทำได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้
เขาจมอยู่ในความทุกข์ ผมอยากไปพบไปพูดคุย เพื่อให้เขารู้ว่าชีวิตที่ผ่านมาของเขาทั้งหมดมันดีมาก

ส่วนคนพิการคงไม่ต้องพูดถึง
ถ้าผมมีเวลาพอ ถ้าชีวิตยังไม่จบสิ้นในเร็ววันนี้
ผมปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะเดินไปพบคนเหล่านี้ไม่ว่าที่ไหนในประเทศไทย
ขอให้ผมได้รู้ว่ามีคนพิการอยู่ที่อำเภอไกลมากๆ
มีเด็กหรือคนแก่ที่รู้เรื่องราวของผมแล้วอยากคุยกับผม
ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ผมก็จะไป ขอให้รอ อย่าเพิ่งคร่ำเครียด
ชีวิตยังมีความหมายที่จะได้พบกัน

ก่อนเดินทางไปสมุย อาจารย์ตั้งใจว่าต้องการจะเรียนรู้ชีวิต
พอเดินทางถึงจุดหมายแล้ว อะไรคือความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อาจารย์ได้พบครับ

ผมจำได้ว่าวันที่ผมปิดคอร์ส
ปิดกระบวนวิชา มีนักศึกษาไปร่วมฟังบรรยายและร่วมกิจกรรมในวันนั้นเยอะมาก
ผมรู้ว่าลึกๆ แล้วมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งจะขอร้องให้ผมเลิกล้มความคิดที่จะลาออก
สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่ผมรักและเขาก็รักผมก็คือ
ผมจากบ้านมานานแล้ว แต่ผมยังมีความจำที่ไม่เคยลืมเลือน ตอนที่ผมเป็นเด็ก
ผมเคยนั่งริมทะเลแล้วมองไปในทะเลสุดขอบฟ้า ผมมีความปรารถนาที่จะไปให้ถึงสุดขอบฟ้าที่ขอบน้ำและขอบฟ้าบรรจบพบกัน
ผมอยากรู้ว่ามันจะพบกันตรงไหนวันนี้ผมกลายเป็นคนแก่แล้ว ผมอยากกลับไปสมุยอีกครั้ง
เพื่อไปพบกับเด็กชาวเกาะคนนั้น ไปเล่าให้เขาฟังว่าเวลาที่ผ่านมานับ 50
ปีที่เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ความจริงมีอยู่
2 อย่างก็คือ ความจริงเชิงภาววิสัย เป็นความจริงที่เป็นของมันโดยไม่เกี่ยวกับเรา
แต่เราไปรับรู้มัน เช่น กลางวัน กลางคืน เราจะรับรู้หรือไม่ มันก็มีกลางวันกลางคืน
ความจริงประเภทนี้มันบีบคั้นเราพอสมควร เมื่อมันไม่เป็นอย่างที่เราคิด เช่น
เรากลัวความมืด เราถึงไม่อยากให้มืด แต่มืดเมื่อถึงเวลามืด
ความจริงอีกประเภทคือเป็นความจริงเชิงจิตวิสัย หรือเชิงจินตนาการ เช่น ผี
อยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่พอเรานึกถึงผี ผีทำให้เราหวั่นไหว ความหวาดหลัว ความมั่นคง
ความไม่แน่นอนที่เราพูดถึงก็เป็นความจริงเชิงจินตนาการ
ผมพบว่าเราสามารถทำให้ความจริงสองอย่างนี้มันสัมพันธ์กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ในโลกของความเป็นจริง
มีความบีบคั้น ความกดดัน แต่ถ้าเรามีความจริงเชิงจินตนาการที่มีพลังพอ เราก็จะสามารถเผชิญกับความจริงของโลกได้
เช่น ความตายเป็นความจริงเชิงภาววิสัย ทุกคนต้องตาย แต่มิได้หมายความว่าทุกคนต้องตกใจกลัวจนตัวสั่น
เราสามารถเผชิญกับความตายด้วยจิตใจที่เบิกบานได้ ถ้าเรามีจินตนาการที่ดีพอ

มีหลักปรัชญาอินเดียอันหนึ่งบอกว่า
มีคำ 3 คำที่เราต้องทำให้มันเกิดความหมายที่ดี คือ สัจจะ ชีวิต และ สุนทรีย์
สามสิ่งนี้ต้องบาลานซ์กัน ชีวิตเราเป็นแกนอยู่ตรงกลาง ความจริงอยู่ข้างหนึ่ง
ความงามอีกข้างหนึ่ง ถ้าชีวิตเอียงไปทางความจริงมาก ชีวิตเราจะเจ็บปวด ขมขื่น
แห้งแล้ง เป็นชีวิตที่ไม่มีอะไรเลย ถ้าเราเอียงไปทางความงามมาก มันจะฝันเฟื่อง
เลื่อนลอย เคว้งคว้าง ทำยังไงถึงจะทำให้สองสิ่งนี้มีสมดุลภาพที่ถ่วงดุลกันได้
เมื่อเราเจอข้อเท็จจริงที่เจ็บปวดก็ใช้ความคิดเชิงจินตนาการช่วยให้เห็นความงาม
แต่เมื่อใดที่ความงามมันพาเตลิดเปิดเปิง
ก็ใช้ความจริงเป็นกรอบกำชับให้มันอยู่ในร่องในรอย

ชีวิตของเรา 60
หรือ 70
ปีเป็นช่วงเวลาพอเหมาะพอควรที่เราจะได้เรียนรู้ทั้งข้อเท็จจริงและจิตใจที่งดงาม
การเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์บนโลกใบนี้ก็ดี การมีชีวิตอยู่ก็ดี
การที่จะได้ตายจากไปก็ดี เป็นความสวยงามทั้งนั้น การได้พบกัน คุยกัน รักกัน
มันสุดแสนมหัศจรรย์ ความจริงที่ผมพบก็คือ
ทำยังไงให้ความจริงมันอยู่บนความสมดุลระหว่างความจริงที่มันเป็นของมันเองกับความจริงที่เราสร้างขึ้นมา

เมื่อเดินทางกลับถึงเกาะสมุย อาจารย์บอกอะไรกับเด็กชายคนนั้นครับ

ผมได้บอกเด็กน้อยชาวเกาะว่า
ขอบน้ำแห่งความเป็นจริงและขอบฟ้าแห่งจินตนาการบรรจบกันที่ในใจเราเอง

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 79 มีนาคม 2550)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR