หากหมุนนาฬิกาย้อนกลับไปในช่วงนี้ของปีที่แล้ว นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของ เฌอเอม–ชญาธนุส ศรทัตต์ เพราะชื่อของเธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคมไทย
เป็นที่รู้จักในนามของนางแบบสาวไทยโกอินเตอร์
เป็นที่รู้จักในนามของหนึ่งในผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย เวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2020
เป็นที่รู้จักในนามของหญิงสาวผู้กล้าหาญที่แหกขนบการตอบคำถามของเวทีการประกวดนางงามไทย
และเป็นที่รู้จักในนามของหญิงสาวผู้ตกเป็นประเด็นร้อนทั้งเรื่องความสัมพันธ์และการประกวด
แน่นอน จากการแสดงออกของเธอ ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่มั่นใจ ไหวพริบในการตอบคำถาม จุดยืนทางการเมือง ทั้งหมดล้วนแล้วชัดเจนพอที่จะทำให้คนชอบเธอจนอยากยกให้เป็นไอดอลหรือชังจนไม่อยากได้ยินชื่อ
หลังจากช่วงเวลานั้นจนถึงตอนนี้ เป็นเวลาครบ 1 ปีพอดีที่คนไทยรู้จักชื่อของเฌอเอม ตอนนี้บางคนอาจลืมเลือนเธอไปแล้ว บางคนอาจยังจดจำเธอได้ บางคนอาจจะจดจำเธอในบทบาทใหม่ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ในวงการนางงามครั้งใด ชื่อของเฌอเอมก็พร้อมหวนกลับมาอยู่ในวงสนทนาแทบทุกครั้ง
เพราะหลังจากเหตุการณ์การประกวดครั้งนั้น เธอได้ใช้ชื่อเสียงที่ได้รับออกมาสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล การไปร่วมงานเสวนาต่างๆ การไปร่วมชุมนุมทางการเมือง การเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญสำคัญทางการเมือง หรือจนกระทั่งขึ้นเวทีปราศรัย พร้อมแสดงอารยะขัดขืนด้วยการนั่งและนอนบนพื้นเมื่อเพลงชาติไทยดังขึ้น จนกลายเป็นประเด็นร้อนในอินเทอร์เน็ต
ปีนี้เป็นปีที่เธออายุครบ 27 ปี เหลือสัญญางานนางแบบเป็นปีสุดท้าย และทำงานเป็นแอ็กทิวิสต์เรื่องนักโทษการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ค่อนข้างเต็มตัว
ใช่ เธอเป็นที่รู้จักในหลากหลายบทบาท
แต่ตัวเฌอเอมเองล่ะ เธอรู้จักตัวเองยังไงบ้าง
เราขอใช้โอกาสนี้ไปทำความรู้จักกับเฌอเอมในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกัน
“วัยเด็กคือการเร่ร่อนในโลกใบใหญ่อย่างโดดเดี่ยว”
เฌอเอมเป็นลูกหลงที่อายุห่างจากพี่สาวและพี่ชายมากกว่าสิบปี เติบโตมาในบ้านครอบครัวไทยๆ ที่มีปู่เป็นทหาร ดังนั้นครอบครัวเธอเป็นสายอนุรักษนิยมและมีความเข้มงวดมาก ไม่ว่าจะคำถามเรื่องใดก็มักถูกต่อว่าและทำโทษด้วยการตีมาตลอด
ตอนเด็กๆ คุณเป็นเด็กแบบไหน
ไม่แน่ใจว่าจะนิยามตัวเองยังไงดี แค่รู้สึกว่าคนอื่นน่าจะมองเราเป็นเด็กที่แปลกแยกจากสังคม แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแปลกอะไร เพราะไม่เข้าใจว่าโลกมันเป็นไปยังไงหรือสังคมคิดอะไรอยู่ มันเลยทำให้เรารู้สึกไม่อยากคอนเนกต์กับคนอื่น เพราะหลายๆ ทีที่เข้าไปแล้วมักโดนหัวเราะเยาะ เราเลยเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว อยู่กับตัวละครกับสังคมสมมติในหนังสือการ์ตูนมากกว่า
มันคือความรู้สึกว่าวัยเด็กของเราผิดที่จุดไหนไม่รู้ แต่รู้ตัวอีกทีก็ผิดไปแล้ว
วัยเด็กของเราจึงเป็นการเร่ร่อนในโลกใบใหญ่และอยู่อย่างโดดเดี่ยวเหลือเกิน เคยมีความรู้สึกว่าบางทีเราควรจะใจเย็นกว่านี้ นอบน้อมกว่านี้ ควรเอาใจคนเก่งกว่านี้ แต่อีกใจก็คิดว่าทำไมต้องอยู่ใต้ระบบล่ะ ในเมื่อเราเข้าใจระบบนั้นไม่ได้และไม่มีใครพยายามทำให้เราเข้าใจได้อย่างแท้จริง
ถ้าเป็นภาษาคนไทยคืออยู่ไม่เป็นนั่นแหละ เราเป็นอย่างนี้ซะทุกเรื่อง สุดท้ายมันเลยกลายเป็นเหมือนปมในใจ เราไม่สามารถรอมชอมกับสถานการณ์ได้
แล้วอะไรคือที่ยึดเหนี่ยวที่ทำให้คุณเติบโตมาได้
เราโตมากับหนังสือ ด้วยความที่พี่สาวอ่านการ์ตูนผู้หญิง พี่ชายอ่านนิยายกำลังภายใน และผู้ใหญ่ในบ้านมีหนังสืออมตะอย่าง เปลวเทียน ทวิภพ สี่แผ่นดิน แต่พอเลือกหนังสือได้เองก็อ่านการ์ตูนมาตลอด เพราะมันสนุกกว่า
หนังสือส่งผลกับเรามาก ที่สำคัญเลยคือการมีตัวอย่างให้เรียนรู้ เพราะเราไม่มีตรงนั้น เราเลยเรียนรู้จากสื่อบันเทิง แต่พอเอาสิ่งที่ไม่มีจริงไปทำกับคนจริงๆ แล้วไม่ได้รีแอ็กชั่นที่เป็นไปตามหนังสือ นั่นทำให้เราเลือกถอยออกมาอยู่ดี ไม่คิดกระโดดเข้าไปเรียนรู้อีก กลายเป็นว่าสุดท้ายเราอยู่กับการ์ตูนมากกว่าความเป็นจริง และรับเอาแนวคิดจากการ์ตูนมาตลอด
เช่นแนวคิดอะไรบ้าง
คงเป็นความขบถในการ์ตูนผู้ชายหรือโชเน็น พวกเรื่องการต่อสู้ มิตรภาพลูกผู้ชาย การบุกบ่าฝ่าฟันเพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่งหรือเหนือกว่าอะไรสักอย่าง ซึ่งทำให้เราต้องแหวกแนว อยากเด่น จนเป็นที่มาของคำว่าจูนิเบียว เพราะเราอยากเท่เหมือนในการ์ตูน ไม่ใช่คำว่าเบียวที่ถูกสังคม appropriate ไปใช้จนผิดเพี้ยนเหมือนในปัจจุบัน
ส่งผลให้โลกของเราที่มีพื้นที่อิสระทางความคิดและจิตใจมันอยู่ในหนังสือไปแล้ว เราเลยใช้ชีวิตให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมในการ์ตูนมากกว่าสังคมจริงๆ เสียอีก
ถ้าให้ทบทวน การเติบโตมาในโลกของการ์ตูนส่งผลดีหรือผลเสียต่อคุณมากกว่ากัน
เอาเป็นว่าถ้าไม่มีการ์ตูน เราอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่ใช่เราตอนนี้แล้วก็ได้ เพราะในตอนนั้นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตทั้งหมดของเราอยู่ในการ์ตูนหมดเลย เพราะเราไม่เข้าใจบรรทัดฐานการใช้ชีวิตของสังคมภายนอกว่าอะไรดี-ไม่ดี ทำไมเราถึงผิดอยู่เสมอ ทำไมไม่มีใครเห็นความสำคัญในสิ่งที่เราพูด
แต่ในโลกของการ์ตูน เรากลับรู้สึกว่ามีตัวละครที่คิดหรือใช้ชีวิตคล้ายเรา ซึ่งมันทำให้เราฟังเขามากกว่า เพราะฉะนั้นเราจะอยากเห็นเขาตลอดเวลา ถึงขนาดพรินต์ภาพตัวละครใส่กระดาษ A4 แล้วแปะไว้บนเพดาน ตื่นมาปุ๊บจะได้เห็น แล้วที่ลายมือเราสวยแบบทุกวันนี้ เพราะตอนนั้นมีความรู้สึกว่าตัวละครที่เราชอบน่าจะชอบคนลายมือสวย ก็เลยไปนั่งคัดลายมือ
นี่คือสิ่งที่เชปเรา ความโดดเดี่ยวของสังคมผลักไสเราไปสู่สิ่งนี้
มีการ์ตูนเรื่องไหนที่คุณชอบเป็นพิเศษไหม
หลายเรื่องเลย แต่จะประทับใจเรื่องที่ตัวละครพูดประโยคที่ทำหน้าที่เหมือนปลอบใจเรา ยกตัวอย่างเรื่อง Magi: The Labyrinth of Magic มีตัวละครหนึ่งที่มีปมหนักมาก ชีวิตบัดซบ ตามขนบโชเน็นคือตัวร้ายแน่ๆ ซึ่งพอมาเจอกับพระเอกที่มุ่งทำแต่ความถูกต้อง พระเอกก็เสนอความช่วยเหลือ ทำนองว่าจะช่วยทุกอย่าง เพราะในโลกนี้ ถ้าจิตใจนายตกลงสู่ความดำมืด นายจะถูกพลังชั่วร้ายกัดกิน จนสุดท้ายพอทำลายความชั่วร้ายหมดจากโลกแล้ว ตัวละครที่เราชอบก็ถามพระเอกกลับว่า ถ้าในโลกนี้ไม่มีการร่วงหล่นไปสู่การเป็นปิศาจ ถ้าเราเป็นแค่มนุษย์เศร้าๆ คนหนึ่งจะได้ไหม การที่นายคิดว่าอะไรสักอย่างมันดี แล้วเข้ามายุ่งเรื่องของคนอื่นโดยที่เขาไม่ได้ขอ เข้ามาแตะเรื่องที่บอบบางที่สุดของคนอื่น เพราะนายคิดว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง มันทำให้ฉันเกลียดนายมากกว่านายไม่พูดอะไรซะอีก ประมาณนี้น่ะ
ตอนได้ยินครั้งแรก เราคิดเลยว่านี่จะเป็นประโยคที่เราไม่มีทางได้ยินในชีวิตจริง มันปลอบประโลมมาก เพราะเราไม่เคยต้องการให้ใครมาบอกว่าเราจะมีชีวิตที่ดีได้ยังไง ไม่ได้ต้องการให้ใครมาขยี้ส่วนที่เปราะบางและสำคัญที่สุดของเราเพียงเพราะเขาคิดว่ามันดีสำหรับเรา โดยที่เขาไม่มองที่ความเจ็บปวดของเรา เราแค่ต้องการคนที่ซัพพอร์ตให้หาความหมายของชีวิต เราต้องการสร้างทัศนะของสิ่งนี้ขึ้นมา
“เราไม่สามารถสมบูรณ์ได้สักที”
เพราะความหลงใหลในการ์ตูน เฌอเอมจึงฝึกวาดรูปและเข้าเรียนมัธยมปลายในสายแอนิเมชั่น เพื่อที่จะสอบเข้าคณะด้านศิลปะ และทำอาชีพนักวาดการ์ตูนตามความฝันที่อยากเห็นโลกในจินตนาการของตัวเอง
ในตอนนั้นเธอเป็นคนเก่งของรุ่นก็ว่าได้ เพื่อนๆ ชื่นชม อาจารย์ก็ยอมรับในฝีมือ ดังนั้นเมื่อสอบติดสาขาวิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอจึงไม่แปลกใจมากนัก
แต่จากภาพฝันที่วาดหวังไว้ว่าตัวเองจะได้รับการยอมรับในสังคมเสียที เพราะผ่านการการันตีมาแล้ว ก็กลับพังทลายลงเมื่อได้เข้าไปเรียนที่นี่
คุณสอบเข้าคณะที่หวังไว้ได้ แต่เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
อยากบอกก่อนว่าสำหรับเรา สังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมแพ้ไม่ได้ ถ้าคุณยอมแพ้จะเสียทุกอย่าง เพราะไม่มีพื้นที่ให้คนที่อยากทดลองและยอมรับความล้มเหลว ถ้าล้มเหลวคือตราบาป เราเลยรู้สึกว่าตัวเองพลาดไม่ได้ ถึงก่อนหน้านั้นจะมีหลายครั้งรู้สึกว่าตัวเองพลาด แต่เราก็ไม่เคยออกมาจากสิ่งนั้น อย่างตอนประถมชีวิตเราไม่ดีก็ไม่ยอมย้ายโรงเรียน เพราะไม่เห็นทางใหม่ๆ
แต่มหาวิทยาลัยเป็นที่แรกที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเป็นหน้าผาเราก็จะกระโดดลงไป เราจะออกจากที่นี่ไม่ว่ายังไงก็ตาม
มันแย่มากจริงๆ อย่างตอนรับน้องช่วงปี 1 ก็ทำให้เราเริ่มเจอทางตันของการใช้ตรรกะคิดแล้ว เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเราอยู่ตรงนี้ ซึ่งตอนนั้นเราก็หลอกตัวเองว่ามันคืออุปสรรคที่ต้องผ่านไป อย่าใช้ความคิดและเหตุผล แล้วเราผ่านไปได้ด้วยนะ เวิร์กมาก แต่นี่แหละเป็นสิ่งที่โซตัสต้องการ
เพราะกลายเป็นว่าพอขึ้นปี 2 เราเป็นแบบรุ่นพี่ที่เคยไม่ชอบเลย เพราะรู้สึกว่านี่คือครรลองที่ควรเป็น เรากลายเป็นรุ่นพี่ที่ดุๆ กร่างๆ สำหรับรุ่นน้อง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นคนที่ถูกมหาวิทยาลัยทำร้ายด้วย เป็นนักศึกษาที่อาจารย์ไม่ชอบเพราะเป็นนางแบบ อยู่ในบทบาทที่ขัดแย้งกัน
ความขัดแย้งตรงนั้นส่งผลต่อคุณยังไง
เราเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวตนเราที่นี่มันคืออะไรกันแน่ เหมือนถึงจุดหนึ่ง เราก็เสียความคิดไปแล้ว จะกลับมาคิดต่อยอดใช้ตรรกะก็ไม่ได้ เพราะพอตรรกะถูกทำลายไปช่วงหนึ่งมันทำให้เราเสียจุดยืน แล้วความสูญเสียตอนนั้นคือการที่เราไม่มีที่ทาง มีแต่ความเจ็บปวด และการเข้ามาเป็นนางแบบในตอนนั้นก็หดหู่มาก ทำให้สุดท้ายเราไม่อยากอยู่ที่นี่ เราอยากชัตดาวน์ เราเลยลาออก
หลังจากนั้นมันติดในสัญชาตญาณของเราเลยนะ ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดภาวะถูกจู่โจม เราจะออกทันที ไม่มีปัญหากับการถอย กลายเป็นพวกเอะอะก็ลาออก ใช้ชีวิตไม่เคยเต็มร้อย ใช้ชีวิตในความล้มเหลวมาตลอด จนถึงจุดที่คนมองว่าเราประสบความสำเร็จ เราก็ยังมองว่าตัวเองไม่เคยประสบความสำเร็จ
ทำไม
เพราะเรานึกออกแต่ความว่างเปล่า เราไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไม่ได้มีชีวิตที่มั่นคงเป็นของตัวเอง ทำให้ต้องมองหาแบบอย่างเพื่อทำตามตลอด
ตอนเด็กๆ เราพยายามเป็นเด็กประถมมัธยมที่ดีและเพื่อนที่น่ารัก หรือพยายามจะเป็นตัวการ์ตูนที่ชอบ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ตอนมัธยมปลายพยายามเป็นเด็กสยาม เปลี่ยนลุคชั่วข้ามคืนแบบที่เปิดเทอมมาเพื่อนช็อกกันหมด พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ทำตัวชิคๆ คูลๆ แบบเด็กศิลปากร พอเป็นนางแบบก็กลับมาแต่งตัวดีๆ เพราะอยากเป็นนางแบบที่ดี แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่เข้าใจนางแบบคนอื่นๆ เลยไม่สามารถเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบได้สักที
เพราะข้างในเราไม่มีอะไรเลย
“ถ้าได้อยู่ในที่ที่ดีแล้ว หรือเป็นเราเองที่เพ้อฝัน”
ด้วยรูปร่างที่สูงเข้าเกณฑ์มาตรฐานนางแบบ เฌอเอมจึงถูกชวนเข้าวงการนางแบบตั้งแต่เด็ก แต่ติดตรงที่ครอบครัวไม่ยอม จนถึงช่วงมัธยมปลายที่ได้ลองเข้าวงการบันเทิงครั้งแรกและไม่ประสบความสำเร็จ แต่ตัวเธอเองก็ไม่ได้ใส่ใจหรือคาดหวังกับมันมากนัก เพียงแค่ไหลไปตามความตื่นเต้นของเพื่อนๆ ที่ถือว่ามีอิทธิพลกับชีวิตวัยรุ่นในตอนนั้นมาก ก่อนจะได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในฐานะนางแบบตอนเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงนั้นเองที่ทำให้ชื่อ ‘เฌอเอม’ ถือกำเนิดขึ้น
พอฟังมาแบบนี้ แปลกใจนะที่คุณเลือกเข้าวงการนางแบบ
เราคงอยากได้รับการยอมรับมั้ง แต่กลายเป็นว่าช่วงฝึกเราก็ซัฟเฟอร์ทุกวันจนไม่สามารถให้คุณค่าหรือทำให้เต็มที่ได้อยู่ดี เหมือนโลกเป็นศัตรูกับเราไปแล้ว ยิ่งเราถูกสวมทับด้วยสังคมนางแบบ สังคมมหาวิทยาลัย และสังคมที่บ้านที่ขัดแย้งกันทั้งหมด เราเลยถูกครอบงำด้วยระบบอำนาจนิยมที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองผิด แต่หลายครั้งก็รู้สึกว่าแล้วทำไมความผิดของคนอื่นถึงไม่ผิดล่ะ นั่นยิ่งทำให้เราขบถ ความจริงแล้วการคิดเรื่องผิดหรือถูกนั่นแหละที่มันกัดกร่อนเรา หลายๆ อย่างมันก็ปะทะกันด้วยธรรมชาติของตัวเอง แต่ตอนนั้นเราไม่รู้จักการรับแรงกระแทก
รู้สึกเหมือนเป็นหนูแฮมสเตอร์ที่วิ่งบนกงจักรในทุกๆ สังคมเลยนะ ไม่ว่าจะเดินแบบเพิ่มขึ้นกี่งาน ได้รับเชิญไปที่ไหน แต่ในด้านตัวตนและชีวิต เราไม่เคยไปไกลกว่าจุดเดิม ต่อให้มีเงินมากขึ้น ได้ซื้อของแพงๆ พยายามเป็นนางแบบไฮโซ ใช้ชีวิตโดยการทำงาน ดื่ม กิน อยู่กับป๊อปคัลเจอร์ แต่ก็ยังไม่เจอสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญอยู่ดี จนบางทีก็รู้สึกว่าถ้าได้อยู่ในที่ที่ดีแล้ว มันเป็นเราเองหรือเปล่าที่เพ้อฝัน เป็นเราเองที่ไม่เห็นคุณค่า
แล้วคุณจัดการกับความรู้สึกนี้ยังไงถึงทำงานด้านนี้ต่อได้
ครั้งหนึ่งเราไปเกี่ยวพันกับเรื่องความขัดแย้งในวงการ มีหลายฝั่งเลย มีนางแบบด้วยกันด้วย ซึ่งปกติเวลาเกิดดราม่า คนในวงการจะเงียบ ไม่ว่าจะแฟร์หรือไม่ก็ตาม เพราะเขาเชื่อว่ามันทำให้บรรยากาศการทำงานเสีย ผลปรากฏว่าตอนนั้นเราก็คิดแบบนั้น ก็เรามีชีวิตที่ดีแล้วนี่ จะคิดถึงเรื่องแย่ๆ คิดเรื่องความไม่เท่าเทียมเหมือนที่เคยคิดไปทำไม คนที่ป้ายสีเราคงไม่ตั้งใจหรอก แต่พอเวลาผ่านไป เหตุการณ์นั้นทำให้เราตื่นรู้เลยว่า ตราบใดที่คนอื่นปิดตา ทำเป็นไม่เห็น ใครจะทำอะไรก็ได้เลยใช่ไหม นี่คือสังคม คือวิถีที่เราต้องอยู่จริงเหรอ
มันส่งผลกระทบต่อเรามาก เหมือนเรายอมแพ้แล้ว และใช้ชีวิตเหมือนนางแบบคนอื่นๆ ไปเลย
สรุปคุณอยู่ในวงการนางงามมากี่ปีแล้ว
เกือบสิบปีมั้ง แต่มีช่วงที่จะอำลาวงการหลายรอบ ทั้งจากการโดนแบนโดยการเมืองและตอนประกวด เหมือนภาพลักษณ์เราดูเป็นคนหัวรุนแรงไปแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนมันก็คงใช่แหละ จนมีคนชวนประกวดนางงามนั่นแหละ ทั้งที่รู้ว่าไม่ค่อยตรงกับเรา แต่เราก็ตอบตกลง เพราะเชื่อมั่นในตัวคนที่ชวนมากๆ คิดว่าถ้าเขาอยู่กับเรา ทุกอย่างต้องโอเค แต่สุดท้ายก็มีเรื่องที่ทำให้ต้องแยกจากกัน อารมณ์เหมือนแฟนเก่าที่รักมาก แต่ก็เจ็บมากด้วย มันรู้สึกแย่ที่เราถูกปฏิบัติแบบนั้น แต่กระแสการประกวดมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็โดนคำวิจารณ์ไปเยอะแล้ว จะถอยก็มีทิฐิ จะเดินหน้าก็ทรมานใจ แต่ก็ตัดสินใจที่จะเดินหน้าดีกว่า นั่นเลยทำให้เราสิ้นหวังและซัฟเฟอร์ตั้งแต่ตอนนั้น เพียงแค่ไม่มีใครรู้เท่านั้นเอง
“จะมีชื่อเสียงไปเพื่ออะไร”
จากการตอบคำถามที่ฉะฉาน ตรงไปตรงมา ชนิดที่เรียกว่าแหกขนบนางงามไทย ทำให้เฌอเอมกลายเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้ายของเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2020 และเป็นที่รู้จักในกลุ่มแฟนคลับนางงามและคนในสังคมอย่างรวดเร็ว
เกือบทุกคลิปการตอบคำถามของเธอกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย แม้แต่คนที่ไม่ติดตามวงการนางงามก็ยังหันมาสนใจเธอจากคำตอบที่แสดงถึงทัศนคติทางสังคมและการเมืองอย่างคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่าเฌอเอมคือคนหนึ่งที่สร้างภาพจำใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์เวทีนางงามไทยก็คงไม่เกินจริงไปนัก
ถ้าคนที่ผลักดันให้คุณประกวดนางงามไม่อยู่แล้ว อะไรที่ทำให้คุณยังสู้ต่อ
ฟางเส้นสุดท้ายสำหรับเราไม่ใช่เรื่องที่คนดูถูกเรา บอกว่าเราไม่มีความสามารถ เป็นนางแบบไม่มีงานแล้วไปสมัครนางงาม เราไม่ได้ใส่ใจเสียงพวกนั้น แต่มันเป็นเพราะเราก็สงสัยในตัวเองมาทั้งชีวิตว่าเราเก่งไหม เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีใครฟังเราเลย แต่วันที่มีคนฟังเราก็ได้รู้แล้วว่าตัวเองเก่ง มีค่า เราต้องการเวลา 1 เดือนในการเข้าไปในการประกวดเพื่อที่จะได้เป็นตัวเองแล้วจบ ไม่ได้คิดเป็นจริงเป็นจังว่าหลังประกวดแล้วจะเป็นยังไง เราอาจจะมีแผน แต่เราไม่ได้คิดถึงมันจริงๆ ประกวดจบ ตื่นมาวันรุ่งขึ้นก็แค่กลับไปทำงาน
มีเหตุการณ์ไหนอีกไหมที่ทำให้คุณรู้สึกว่า นี่คือผลลัพธ์ของการตัดสินใจมาประกวดในครั้งนี้
ตอนที่เพื่อนเราติดคุก มันเลยเกิดความรู้สึกที่ว่าเรามีพลังในการทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง ถ้าตอนนั้นไม่ใช่เฌอเอม จะมีคนรู้ไหมว่าเพื่อนเราติดคุกอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเพื่อนเราคนนี้อยากให้เราเป็นดารา เพราะเขาเสียดายโอกาสที่เราควรได้มาหรือไขว่คว้าเอาไว้
พูดง่ายๆ ว่าเพื่อนคนนี้ทำให้คุณกลับมาทบทวนชีวิตอีกครั้ง
(พยักหน้า) เพื่อนเราชื่อ ฟ้า พรหมศร ได้รับหมายคดี ม.112 และถูกคุมขัง (ปัจจุบันได้รับการประกันตัวแล้ว) เขาไม่ได้เป็นเพื่อนเรามาก่อน แต่เป็นแฟนนางงามของเรา เราถึงได้คิดตลอดว่าผู้คนที่เจอในชีวิต วันหนึ่งเขาอาจให้อะไรกับเราก็ได้ และแม้ต่อให้เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุด ก็จะมีบางสิ่งที่เราได้กลับมาเสมอ
จากเหตุการณ์ที่เพื่อนต้องเข้าคุกนี่แหละทำให้เราตระหนักได้ว่า เรามีชื่อเสียงไปเพื่ออะไร มันไม่ใช่แค่การคอลเอาต์หรือแสดงความคิดเห็นแบบที่เราทำเป็นประจำในฐานะประชาชน แต่ตอนที่เพื่อนเราเข้าคุก เราหวังอยากให้คนเห็น ให้คนมาสนใจ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าการตั้งใจทำอะไรสักอย่างแล้วมีชื่อเสียง ยอมแลกชีวิตส่วนตัว ความไม่สบายใจ หรือความทรมาน มันมีประเด็นอยู่
การเจอความสำคัญในสิ่งที่ตัวเองทำเปลี่ยนความคิดคุณขนาดไหน
ตอนที่ประกวดเรามองว่า การประกวดทำให้ได้ทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นและยอมรับความสามารถของตัวเอง แต่ตอนนี้ถ้ามองย้อนกลับไป เราคิดว่ามันคือ the right time ที่ลิขิตมาแล้ว เพื่อทำให้เราได้มาอยู่ตรงนี้และรู้จักพี่ฟ้า การที่เขาถูกจำคุกคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราเลือกกำหนดชีวิตหลังจากที่อยู่ในวงการบันเทิงเพราะอิทธิพลจากคนนอกมาตลอด
มันเป็นความรู้สึกที่ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะเลือกใช้สิ่งที่ยังมีอยู่ยังไง สู้ให้เต็มที่กับโอกาสที่เหลือ ดาราบางคนอาจคิดได้ตั้งนานแล้ว แต่เราต้องผ่านหลายๆ เรื่องจนมาถึงจุดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 ปี ถึงได้เห็นค่าของโอกาสในปีสุดท้ายที่ยังทำงานเป็นนางแบบได้ นี่คือเส้นสายสุดท้ายแล้วที่เราจะเห็นค่า เอนจอย โฟกัส และทำทุกอย่างด้วยความรู้สึกที่เป็นอิสระ ไร้ซึ่งเงื่อนไข เป็นครั้งแรกเลยที่เรารู้สึกว่านางแบบคือการงานของชีวิต
ครบรอบการประกวดหนึ่งปีพอดี อยากรู้ว่าทัศนคติต่อการประกวดนางงามของคุณตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
เราเข้าใจว่าในยุคนี้สังคมมองว่าการประกวดนางงามคือการส่งเสริมแนวคิด beauty standard (มาตรฐานความงาม) ซึ่งเรายอมรับว่าเรายังคิดไม่ตกกับเรื่องนี้ แต่ก็รู้สึกว่ายอมรับได้ เพราะอย่างน้อยตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถทำให้ทุกคนตะเกียกตะกายหาโอกาสในชีวิตได้อย่างอิสระ เท่าเทียม รวมถึงยังไม่สามารถซัพพอร์ตคนให้มีชีวิตที่ดี ทำตามความฝัน มันต้องเปิดโอกาสและพื้นที่ให้คนขึ้นไปไล่คว้าความฝัน มันคือโอกาสเดียวที่คนจะได้ขึ้นไปพูดในสิ่งที่คิดท่ามกลางสปอตไลต์
อย่าได้ถามว่าบางคนมาประกวดทำไมถ้าไม่เห็นด้วยกับแนวทางทั้งหมดของวงการหรือเวที ถ้าสปอตไลต์ยังอยู่ในกำมือของคนกลุ่มเล็กๆ หรือแนวคิดที่ไม่เปิดรับคนนอกให้เข้ามาขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงค่านิยม การถามแบบนั้นกับคนที่ไม่มีทางเลือกก็เหมือนถ่มน้ำลายลงมาจากหอคอยงาช้าง มันคือการพยายามยึดอำนาจการเป็นเครื่องชี้นำสังคมไว้กับกลุ่มอิทธิพลและบีบให้คนที่มีอภิสิทธิ์น้อยกว่าต้องเข้ามาพึ่งพา โอนอ่อนเอาเอง มันไม่ใช่การพัฒนาไปด้วยกัน หนำซ้ำยังวิจารณ์โครงสร้างและแนวคิดพวกนี้ตรงๆ ไม่ได้
และที่มันมีเรื่องบุคลิกหน้าตาเข้ามาเกี่ยวข้องก็เพราะการประกวดนางงามคือการหาไอคอน มันต้องหาคนที่มีแรงดึงดูดมานำสังคม อย่างน้อยตอนพูดตอนเดินในคนเป็นร้อยเป็นพันคนนั้นต้องโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งยากมากที่รูปลักษณ์ภายนอกจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้
แต่เราเชื่อว่าถ้าสังคมไทยพัฒนาแล้ว บริบทของเวทีนางงามจะเปลี่ยนไป ถามว่าต้องยุบเลยไหม เราคิดว่าไม่ต้อง เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าพื้นที่ตรงนี้เปิดกว้างมากพอให้ใครมาพูดอะไรก็ได้ มันจะเป็น open space ที่ดี เหมือนกับการเลือกตั้งนักการเมืองที่คุณเลือกจะเชียร์ใครสักคนเพราะไอเดียและการนำเสนอ แล้วเขาจะเป็นกระบอกเสียงให้คนอีกมากมายที่มีปัญหาแบบคุณ รวมถึงเป็นแนวร่วมในการพัฒนาสังคมที่คุณอยากเห็น
เราเลยไม่ต่อต้านเรื่องนางงาม ขอแค่มันไม่มีขนบที่ปิดกั้น คร่ำครึ หรืออคติมากเกินไป ควรเป็นที่ที่ผู้หญิงได้ไปยืนพูดความคิดของคุณเอง เพราะมันคือเสรีภาพที่คุณใช้ได้ในสังคมที่จะไม่มีใครหัวเราะเยาะ
“ใครจะมองว่าเราดีหรือฉลาดไม่พอก็ไม่เป็นไร”
หลังจากจบการประกวดนางงาม เฌอเอมที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ก็เริ่มใช้ชื่อเสียงของตัวเองในการออกมาแสดงจุดยืนและเรียกร้องทางการเมืองอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งยังลงมาทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ โดยเธอได้กลายเป็นหนึ่งในคณะทำงานทางด้านนี้ รวมถึงร่วมงานกับหน่วยงานฝั่งประชาธิปไตยอยู่เสมอ
คุณพอจำได้ไหมว่ามีความเข้าใจทางการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
มันเป็นการสั่งสมความสงสัยหลายๆ ด้านมากกว่า เพราะการเมืองไทยมันเชื่อมต่อกัน อย่างเรื่องความอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ การเมือง ศาสนา หรือสิทธิเสรีภาพ ก็อยู่ในโครงเดียวกัน เมื่อก่อนเรามองไม่เห็นหรอก แต่พอโดนทุบไปเรื่อยๆ พื้นความเชื่อเราปริแตกไปเอง ทุกอย่างเชื่อมกันโดยอัตโนมัติแบบที่เราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างช่วงที่เราใช้ชีวิตเองมากขึ้นเพราะโตแล้วกับทำงานเป็นนางแบบ ไปๆ มาๆ ระหว่างต่างประเทศกับไทย เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างและความคิดคนค่อนข้างเยอะ ตอนอยู่ฮ่องกงเราไปไหนก็สบายมาก มีอิสระและเวลาในแบบที่ไม่เคยมีในไทยมาก่อน มันทำให้เราเกิดความคิดแบบพลเมืองโลก แต่พอกลับมาอยู่ไทยเราต้องเผชิญกับรถติด ความเหลื่อมล้ำแบบที่แค่ขับรถเข้าเมืองก็สัมผัสได้ นอกจากนั้นยังเจอฝุ่น PM2.5 ที่ไม่ว่าใครก็ประสบปัญหาเดียวกันหมด ขณะเดียวกันเราก็เจอปัญหาส่วนตัวอีก จนเริ่มมีอาการแพนิก นอนไม่หลับ ซึ่งแจ้งตำรวจไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น
เราเลยรู้สึกว่าการเกิดมาในประเทศนี้ช่างขาดเสรีภาพมากมายเหลือเกิน จากที่เคยเชื่อว่าสังคมควรมีชนชั้น เราเกิดเป็นไพร่ต้องลำบากถูกแล้ว เราเริ่มรู้แล้วว่าทุกคนเกิดมาโชคดีไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นมันเลยต้องมีระบบที่รองรับและกลับไปทำงานให้คนที่ไม่มีโอกาสสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งนี่น่าจะเป็นจุดที่เราเริ่มมองเห็นสังคมในมิติทางการเมือง แล้วเกิดความเข้าใจต่อโครงสร้างมากขึ้น
ทำไมคุณถึงออกมาเรียกร้องประเด็นชาติพันธุ์ทั้งที่เกิดและโตในเมือง
มันไกลตัว แต่ว่าตอนที่ฟังพวกเขาเล่า เรากลับเห็นภาพ
พวกเขาคือคนที่ถูกผลักออกเพราะรัฐบาลหรือสังคมเราดำรงด้วยระบบรวมศูนย์ ตอนเด็กๆ เราก็รู้สึกคล้ายแบบนั้น ถึงเราเป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตดีระดับหนึ่ง แต่ในสังคมเราก็โดนผลักและทารุณจิตใจจนหลังชนขอบมาตลอด เราเลยค่อนข้างคอนเนกต์กับชาวกะเหรี่ยงมาก
เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาส เราก็เลยไม่ลังเลที่จะขึ้นไปพูดเป็นปากเป็นเสียงให้เขา โดยเราก็ศึกษาข้อมูลมาแล้วและเชื่อมโยงได้ว่า เรากับชาวกะเหรี่ยงโดนขนบ ระบบอนุรักษนิยม ความเป็นชาติไทย ประเพณีเดี่ยว และอำนาจนิยม กดทับมาตลอด มันเลยไม่ใช่ปัญหาแค่ของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นปัญหาที่เราไม่พอใจด้วย
พอได้รับความสนใจเยอะๆ คุณมีความรู้สึกกลัวบ้างไหมกับบทบาทที่เลือก
มีนะ แต่ที่ทำต่อได้ก็เพราะทนไม่ไหวและไม่เห็นว่าอนาคตจะดีกว่านี้ เราเลยขอสู้มากกว่าที่จะถอย ดีกว่ามารอให้ภัยเหล่านี้หายไป เป็นแนวคิดที่สู้เพื่อวันนี้ ปกป้องตัวเองดีกว่าจนตรอกแล้วค่อยมาทำ เพียงแต่การต่อสู้ของเราจะไม่ไปตามดูว่าคนอื่นเขาคิดอะไรยังไงบ้าง
ทำไมถึงไม่ตาม
เพราะทุกวันนี้เราละอายใจที่ทำไม่เท่าคนอื่นแต่มีคนมาเรียกเราว่า นางฟ้าประชาธิปไตย มันเป็นการตีคุณค่าที่เราไม่ชอบ เราทำน้อยกว่าคนอื่นมาก และเราก็ไม่ได้มาตรงนี้เพื่อให้ใครชอบ ถ้าเราเป็นกระบอกเสียงหรือซัพพอร์ตใครได้ก็ยินดี แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้ทำอะไรมากเป็นพิเศษ แต่น่าจะเป็นเพราะคนให้ความสำคัญกับเราต่างหากเลยทำให้คิดว่าเราทำเยอะ แสงส่องลงมามากมายเต็มไปหมด ปัจจุบันเราเลยไม่อยากใส่ใจกับตรงนี้มาก คิดว่าทำเท่าที่สบายใจและจะอยู่ในเฉดประชาธิปไตยของเราต่อไป ไม่ต้องใช้ชีวิตให้เป็นไปตามความคาดหวังของคนอื่น ใครจะมองว่าเราดีหรือฉลาดไม่พอก็ไม่เป็นไร
แต่ยังยืนยันว่าจะทำงานตรงนี้ต่อไป
ใช่ ไม่เลิกเด็ดขาด ต่อให้วันหนึ่งเหตุการณ์มันจะรุนแรงกว่านี้ก็ตาม
“เกิดมาเป็นคนแล้วต้องไปให้ไกลที่สุด”
ปัจจุบันเฌอเอมได้บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานเป็นนางแบบที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เรียกว่าเป็นการมาทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันอีกครั้ง หลังจากชีวิตหยุดชะงักไปในช่วงโควิด-19 ที่เมืองไทยแทบทำอะไรไม่ได้เลย
ที่นั่นทำให้เธอได้กลับมาสัมผัสการใช้ชีวิตจริงๆ อีกครั้งและกลายเป็นเฌอเอมที่ไม่ยอมอยู่ในพันธนาการของใคร หรือค่านิยมใด หรือกระทั่งความเป็นคนไทยก็ตาม
จากที่รู้สึกหลงทาง ตอนนี้คุณรู้สึกยังไงกับตัวเองบ้าง
รู้สึกเหมือนทุกอย่างมันสงบ เราเป็นคนที่ถ้าไม่ได้สัมผัสโลกภายนอกก็จะไม่รู้สึกถึงคลื่นลมในชีวิต พออยู่คนเดียวแล้วนาฬิกาก็ไม่เดิน ไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เลยไม่ได้มีความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบกับตัวเอง เหมือนปล่อยเวลาผ่านไป แต่ในอีกมุมก็รู้สึกว่า พอเป็นแบบนี้ตัวเองก็ไม่ได้เติบโตหรือทำอะไรเท่าที่ควร new normal เลยยังไม่ค่อยลงตัวกับเราสักเท่าไหร่
เหมือนพอห่างจากไทยมากๆ เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยประกวดนางงามมาก่อน เหมือนเราไม่เคยมีปีที่แล้ว เพราะตื่นมาก็เปิดหน้าต่าง ชงกาแฟ อ่านหนังสือ รอทำงาน อากาศดี ฟ้าสวย ไม่มีอะไรให้นึกถึงนอกจากทำหน้าที่ในหนึ่งวันให้ดีที่สุด มองแค่เป้าหมายระยะสั้นว่าจะเป็นนางแบบที่ดี ไม่ต้องดังแต่มีงาน มีเงิน ไม่ต้องให้ครอบครัวลำบากก็พอ เรากลับมาจัดการภายในมากขึ้น ไม่ใช่แค่กิจกรรมในชีวิต แต่เป็นการจัดเรียงความคิดและความเห็นที่เรามีกับสิ่งต่างๆ และเราก็เลือกที่จะหยุดคิดบางเรื่อง เรียกว่ามาครั้งนี้ไม่ได้คิดอะไรเลยนอกจากมาพักสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำมานานมากแล้ว
เราพอเข้าใจได้ว่า ทำไมคนไทยที่มาใช้ชีวิตในต่างประเทศถึงไม่หวนกลับไปมองรายละเอียดในไทยมากนัก เราเคยเดินอยู่ริมถนน ดูตึกสวยๆ แล้วหัวเราะออกมาว่า อ๋อ การหลุดพ้นมันเป็นแบบนี้นี่เอง แต่คงมีแค่การหลับตา แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเท่านั้นแหละที่จะช่วยให้คิดว่าปัญหาที่ไม่อยู่ตรงหน้าคือปัญหาที่ไม่คงอยู่จริง เพราะมันมีอยู่ไง ในประเทศที่เวลาเดินเร็วกว่าเรา 5 ชั่วโมง
มีความคิดอยากย้ายประเทศถาวรไหม
เคยมีความรู้สึกนั้นนะ โดยเฉพาะช่วงที่เหนื่อยมากหรือท้อใจ แต่สิ่งที่ทำให้ยังอยากอยู่ที่ไทยมันก็มี เพราะนี่คือที่ที่เราเกิด ครอบครัวเรา ความทรงจำดี-ไม่ดีก็อยู่ที่นี่ และที่สำคัญเลยคือเราว่ามันดีกว่านี้ได้ ดังนั้นทำไมเราต้องเป็นฝ่ายย้ายออกล่ะ ความอยากในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้มันก็เป็นสิทธิของเรา เป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ เราเลยตัดสินใจว่าถ้าอยู่ก็ขออยู่ให้เต็มที่
แต่กลับกันถ้ามีโอกาสในการทำงาน เราพร้อมไปนะ เรารักประเทศเกิดแต่ก็เป็นพลเมืองโลกด้วย ถ้าโลกให้โอกาสในการเรียนรู้ ให้ประสบการณ์ที่กว้างขึ้น เราก็ไปทำ เพราะแค่คุณเกิดมาก็มีความหมายแล้ว ดังนั้นถ้าคุณจะไปสร้างผลผลิตให้โลก ไม่ว่าจะบนผืนดินแห่งไหน มันก็เป็นการที่คุณได้ใช้ศักยภาพที่มีในการสร้างสรรค์
เกิดมาเป็นคนแล้วต้องไปให้ไกลที่สุด อย่าให้แผ่นดินเกิดมาเป็นโซ่ตรวน
สุดท้ายนี้ คุณยังมีหวังกับประเทศไทยแค่ไหน
ตอบยาก แต่เราแอบทำใจไว้ว่ามันจะไม่จบในรุ่นเราแบบที่หลายคนบอกไว้หรอก ดังนั้นเราขอเป็นแค่ก้อนอิฐก้อนหนึ่งที่ปูทางไปแล้วกัน เพราะเราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงต้องสะสมตามกาลเวลา
ที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้เพราะโดนตัดตอนรัฐประหาร เส้นทางของเราเลยไม่ค่อยสม่ำเสมอ หน้าที่ของคนรุ่นเราจึงอาจไม่ใช่หน้าที่ที่จะชนะ แต่เป็นหน้าที่ที่จะปกป้องอิฐในรุ่น ปูทางให้เรียบ อย่างเรื่องของ #saveบางกลอย เราก็ต้องรีบทำ เพราะมันเป็นการกลืนหายทางวัฒนธรรม เราอยากให้วันหนึ่ง ไม่ว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คนสามารถสู้เรื่องชาติพันธุ์ได้สบายและง่ายกว่านี้
(นิ่งคิด) ดังนั้นถามว่ามีหวังกับประเทศไทยไหม มีนะ แต่เป็นหวังกับอนาคต
ซึ่งอาจเป็นอนาคตอันไกลโพ้นก็ได้