Fahsuwaree ศิลปินที่ใช้ปรัชญาอิจิโกะ อิจิเอะ เก็บทุกโมเมนต์ของชีวิตเป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย

ทุกขณะที่เราใช้ชีวิตหลายคนอาจหลงลืมความจริงข้อหนึ่งไปว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย

ต่อให้เรากลับบ้านด้วยเส้นทางเดิมเหมือนกันทุกวัน ทั้งผู้คนที่เดินสวนกัน แสงแดด ใบไม้ ก้อนเมฆ อุณหภูมิ ทุกสิ่งที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราไม่มีทางเหมือนเดิม อย่างน้อยวันที่ก็ต่างออกไป

แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใส่ใจทุกห้วงขณะปัจจุบันมีจุดตั้งต้นจากพิธีชงชาตั้งแต่อดีต ในนิกายเซนของญี่ปุ่น เรียกว่า “อิจิโกะ อิจิเอะ 【一期一会】”  ที่เชื่อว่าเราอาจพบเจอกันครั้งนี้เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องสร้างสัมพันธ์กับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างดีที่สุด เพราะห้วงขณะนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้พบกัน นั่นจึงทำให้คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการพบและลาจากเป็นพิเศษ

หากไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่รู้แน่ชัดว่าคนที่รักกำลังจะจากไปคงจินตนาการถึงคุณค่าของเวลาได้ยาก แต่สำหรับ ฟ้า – สุวารี ศิริโชคธนวัชร์ หรือ Fahsuwaree ซึ่งกำลังจะสูญเสียคุณพ่อไป ทำให้เธอเข้าใจความหมายของทุกช่วงเวลาได้อย่างดี

ฟ้าคือศิลปินที่ใช้ปรัชญาอิจิโกะ อิจิเอะกับผลงานในโปรเจกต์ Leave Your Mark ภาพกราฟิกที่บันทึกรูปร่างของดอกไม้ตั้งแต่ช่วงสดใหม่จนถึงเริ่มโรยรา และอุทิศให้กับพ่อของเธอที่เพิ่งจากไปในขณะนั้น เพื่อปลอบโยนคนที่เพิ่งผ่านการสูญเสียคนรักไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากเกินไป

ศิลปินสาวคนนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนับตั้งแต่การปรากฎตัวในงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ด้วยลายเส้นที่โดดเด่นด้วยลายเส้นเรขาคณิต โดยเฉพาะงานชุด A-Z Machine และ 0-9 Machine ที่นำเสนอการผสมผสานระหว่างรูปทรงของวัตถุ โปรดักต์ เฟอร์นิเจอร์ ก่อนค่อยๆ พัฒนาด้วยการลดทอนรายละเอียดสิ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วโฟกัสที่ความทรงจำและอบอวลไปด้วยมวลของความสุข ทั้งดินสอเปลี่ยนไส้สีสดใสที่เราเคยใช้ในวัยเด็ก แก้วเบียร์ที่ทำให้นึกถึงปาร์ตี้เล็กในเย็นวันศุกร์ และมื้ออาหารพิเศษในความทรงจำ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้พาเธอไปไกลมาขึ้น จนถูกรับเลือกให้ไปแสดงใน Unknown Asia 2023 นิทรรศการศิลปะประจำปีที่คัดเลือกศิลปินทั่วเชียมาจัดแสดงในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และคว้ารางวัล Sponsor Prize ในงานนี้มาในที่สุด 

ในจังหวะเริ่มต้นการเดินทางในฐานะศิลปินนักวาดภาพประกอบ เราชวนทุกคนไปมองโลกผ่านรูปทรงเรียบง่ายแบบของฟ้า ศิลปินที่มองเห็นความสุขในสิ่งเล็กๆ 

หลังจากการไปแสดงงานที่ญี่ปุ่นถูกเช็กลิสต์สุดยอดความฝันของฟ้าไปเรียบร้อยแล้ว ก้าวต่อไปเธอคาดหวังอะไร เบื้องหลังโปรเจกต์ Leave Your Mark ทิ้งอะไรไว้ให้กับเธอบ้าง ไกลไปถึงที่ทางของศิลปินนักวาดภาพประกอบที่ไม่ได้ถูกจริตกับคนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร  

เราตั้งใจเดินทางไปพูดคุยกับเธอราวกับว่านี่คือครั้งสุดท้ายที่เราจะได้พบกัน

มองโลกผ่านฟอร์มเรขาคณิต

ช่วยนิยามสไตล์ภาพวาดในแบบของคุณหน่อย

ช่วงงาน BKKIF ก็มีคนถามเยอะว่าเรียกว่าสไตล์อะไร เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เลยลองคิดเวลาเราวาด เราวาดจากอะไร ด้วยความที่เราเรียนการออกแบบอุตสาหกรรม (industrial design) เวลาขึ้นรูปดรออิ้ง อาจารย์จะให้สเกตช์สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม ทุกครั้งที่วาดเราจะวาดจากฟอร์มเรขาคณิต เราเลยคิดว่าน่าจะเป็นสไตล์ที่เอารูปทรงของเรขาคณิตมาทำให้ภาพต่างๆ มีมิติขึ้น

มีเหตุผลไหมว่าทำไมถึงรู้สึกชอบการวาดภาพเรขาคณิต

คิดว่าเป็นคนคิดอะไรนามธรรมไม่ค่อยถูก (ยิ้ม) เลยต้องขึ้นด้วยรูปร่างที่มีอยู่แล้ว จะวาดได้ลื่นไหลได้มากกว่า รู้สึกว่าตัวเองเวลาเห็นสิ่งของ (object) อะไรน่ารักแล้วจะจำ เห็นกาน้ำรูปร่างแปลกๆ ชอบอะ ทำไมกาน้ำอันนี้หูมันยาวกว่าคนอื่น เลยชอบความน่ารักเล็กๆ ในนั้น เหมือนมันไม่มีอยู่จริง แต่มันมีนะ สมมติมีโจทย์ให้วาดเกี่ยวกับความกลัว เราจะคิดถึงสิ่งของก่อนว่าแล้วอะไรทำให้เรากลัว เราจะไปจับกับ object นั้นมากกว่า

เริ่มรู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากเป็นนักวาดภาพประกอบ

เราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ออกแบบกราฟิก ให้ Kinnest group แล้วมีโอกาสได้ไปอยู่กับ Teaspoon studio เขาเป็นสตูดิโอที่วาดรูปจัดๆ เลย แล้วเราก็มีโอกาสได้วาดรูปให้ลูกค้า แล้วเราก็รู้ว่า อ๋อ เราก็วาดรูปได้นี่นา เพิ่งรู้ตอนนั้นเลย

เราชอบวาดภาพ แต่ตั้งแต่เรียนจนถึงการเป็นดีไซเนอร์ ความเป็นนักออกแบบเรามักวาดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า แต่งานวาดภาพประกอบไม่ใช่งานตอบโจทย์ลูกค้าแล้ว แต่ทำให้ตัวเอง เราเลยรู้ว่าพอไม่มีลูกค้าเราก็ทำสิ่งนี้ได้เหมือนกัน

แรงบันดาลใจภาพวาดแต่ละชิ้นมาจากไหน

แต่ละอันไม่เหมือนกันเลย ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้นเวลานั้น เช่น ภาพชุดนึงที่ทำตอนโควิด เราไปเห็นรูปเพื่อนในไอจี เขาลงรูปว่าเขาโดนกักตัวแล้วเปิดประตูห้องมาแล้วเจอข้าววางอยู่หน้าประตู เรารู้สึกว่ามันน่ารักมากเลย เราเลยหยิบโมเมนต์นั้นมาวาด สิ่งนี้มันแปลว่าคนที่ทำกับข้าวให้เราเขาแคร์เรามาก มันเป็นความใส่ใจรูปแบบนึง 

รูปภาพส่วนใหญ่ก็จะเป็นโมเมนต์ที่นึกถึง รูปของเล่นตอนเด็ก หรืออันล่าสุดเป็นดินสอเปลี่ยนไส้ ก็เป็นความทรงจำว่าตอนเด็กใช้อันนี้ แต่พอโตมามันไม่มีแล้ว แล้วเราไม่รู้ว่าจะไปหามาจากไหนอีกเราก็เลยวาด แล้วก็มีคนที่รีเลตกับเรา “อันนี้เขาก็เคยใช้” แรงบันดาลใจเลยคิดว่ามันเป็นความทรงจำรอบๆ ตัวในช่วงเวลานั้น 

คุณทำให้ฟอร์มเรขาคณิตธรรมดาเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนได้อย่างไร

ฟ้าคิดว่าฟ้าทำเรื่องที่ตัวเองเชื่อก่อน เช่น อาหารจานนี้มันถูกทำจากคนที่รัก พอเราวาด เราก็วาดจากแอคชั่นของการทำ ปกติเขาต้องใส่เครื่องปรุง แต่อันนี้เราเปลี่ยนเครื่องปรุงเป็นหัวใจ เหมือนเขาใส่หัวใจลงไปนะ ฟ้ารู้สึกว่าคนที่ดูงานแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับงานเพราะเขาก็เจอเหตุการณ์นั้นเหมือนกัน เขาเลยเข้าใจงานเรา

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจทำงานกราฟิกดีไซเนอร์

เรารู้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าชอบงานกราฟิก ตอนเด็กๆ แค่ชอบวาดรูป แต่ตอนเรียนรู้สึกว่าเราสนใจสิ่งนี้มากเป็นพิเศษ ชอบความสวยงาม ชอบดูว่าเขาวางฟอนต์ยังไง เขาวางเลย์เอาต์ยังไง เราชอบเสพสิ่งนี้ อยากทำเป็น พอเรียนก็รู้สึกว่าเข้าใจและทำได้ดีที่สุดกว่าอย่างอื่น เราเรียนออกแบบมา เราก็จะรู้ว่าเพื่อนคนไหนถนัดอะไร ให้เขียนดรออิ้งขวดน้ำเราก็ไม่เก่ง แต่ถ้าเป็นภาพประกอบ จัดเลย์เอ้า เรารู้สึกว่าเราทำได้ดีกว่า เลยรู้ว่าตัวเองอยากทำอาชีพนี้   

พอได้มาทำงานนี้จริงๆ มันรู้สึกดีเหมือนที่เคยคิดว่าอยากทำมั้ย

มันรู้สึกดีทุกครั้งที่เห็นงานเราออกมาเป็นรูปธรรม ยิ่งมันเกิดขึ้นจริง เรารู้สึกว่า โห เราทำด้วยมือเราเอง ยิ่งรู้สึกว่าชอบการได้เป็นนักออกแบบมากๆ 

ครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน

ช่วยเล่าเบื้องหลังโปรเจกต์ Leave Your Mark 

ตอนนั้นเข้าไปเรียนกับ Practical Design Studio แล้วมันเป็นการทำ Side project ตอนนั้นมีโจทย์ว่าให้ออกมาจากความคุ้นเคย อาจารย์ก็ถามว่าช่วงนี้คุณสนใจอะไรอยู่ ตอนนั้นเราเป็นคนที่คิดโจทย์ไม่เก่ง สมมติให้วาดรูปจะนึกไม่ออกว่าวาดอะไรดี แล้วช่วงชีวิตนั้นเพิ่งสูญเสียคุณพ่อไป เราไปเจอบทความนึงก่อนที่คุณพ่อจะเสีย เป็นลูกศิษย์ของติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุนิกายเซนที่เขาเพิ่งเสียไป เขารู้ว่าท่านกำลังจะเสีย ลูกศิษย์เขาใช้วิธีระลึกว่าท่านกำลังจะไปจากเราทุกวัน ทุกลมหายใจ ถึงท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่ท่านจะอยู่ในลมหายใจของเราในทุกนาทีที่เราปฏิบัติธรรม 

เวลาที่เราอ่านสิ่งนี้ เรารู้สึกว่าโห มันคือการเตรียมพร้อมสำหรับคนที่เรารักกำลังจะจากไป เราจะต้องคิดยังไง เราจะพร้อมไหม ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากให้กำลังใจคนอื่่นที่เขาก็อยู่ในช่วงเวลานี้เหมือนกัน (น้ำตาคลอ) เราอยากให้กำลังใจคนที่เขากำลังเจอสิ่งนี้ เหมือนวันที่เราอยู่ตรงนั้นที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือเราอยากให้กำลังใจคนเหล่านั้นจังเลย ให้เขารู้ว่าการเตรียมพร้อมว่าคนที่เรารักกำลังไปจากเราทำอย่างไร 

อาจารย์เลยให้ลองหยิบอะไรที่มันกำลังจะร่วงโรยไปในทุกๆ วันเหมือนชีวิตเรา มันก็คือดอกไม้ เพราะดอกไม้ช่อนึงมันเคยสวยมาก แต่ทุกๆ วันมันจะเหี่ยวลงไป ก่อนที่จะเป็นภาพสุดท้ายของเรา มันมีการพัฒนามาก่อนหน้านั้นคือฟ้าเอาดอกไม้มาวาดดอกนั้นทุกวันเลย ช่วงที่มันร่วงโรยมันสวยมาก จนเป็นภาพสุดท้ายที่ไม่มีอยู่แล้วเพราะวันนั้นเราต้องเอาไปทิ้ง แต่สิ่งที่มันยังอยู่คือมวลรอบๆ ตัวมัน 

เหมือนเวลาที่มองพ่อแล้วรู้สึกว่าวันนี้เราเห็นเขา แต่วันนึงฟ้าจะเห็นเขาเหลือแค่ภาพเงาจางๆ มันเหมือนรูปดอกไม้ที่เราวาด ดอกไม้ที่มันจะหายไปสักวันนึง แต่ไม่เป็นไร มันยังมีกลิ่นจางๆ มีฟอร์มมันอยู่ ความสวยงามในแบบของมันยังอยู่ ก็เลยเป็นคอลเล็กชั่นนั้น 

คุณเรียนรู้อะไรจากปรัชญานี้

อิจิโกะ อิจิเอะ มันเป็นปรัชญาที่คนญี่ปุ่นเขายึดถือกันว่าเวลาเขาใช้ชีวิต การที่เขาไปดูซากุระในทุกๆ ปี เขาตั้งใจไปดูกันทุกครอบครัวเลย เพราะเขารู้ว่ามันเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว อาจารย์แนะนำว่า เวลาเราใช้ชีวิตด้วยกัน เราควรคิดว่านี่คือโมเมนต์สุดท้ายที่เราจะเจอกันแล้วหรือเปล่า เราจะได้ไม่ทำตัวแย่ใส่กัน หรือเราจะทำให้ดีที่สุดยังไง เพราะว่าวันนึงเราก็ต้องตายจากกัน 

ภาพของคุณมักเป็นภาพที่ทำให้รู้สึกมีความสุข ด้วยรูปที่วาดหรือการใช้สี จริงๆ คุณมองว่าตัวเองเป็นคนมองโลกในแง่ดีมั้ย

ไม่เลยค่ะ (ยิ้ม) เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนมองโลกในแง่ดีนะ แต่ว่าเป็นคนที่อยากให้คนอื่นพอเห็นงานเราแล้วเขารู้สึกดี เวลาทำงานไม่อยากให้รูปนี้ไปทำให้เขารู้สึกแย่มากขึ้น อยากให้คนมองงานแล้วรู้สึกดีกลับไป มันเลยทำให้งานมันออกมาเป็นแบบนั้น อยากให้รู้สึกร่าเริงขึ้นนะ สดใสขึ้นนะ เราพอจะช่วยเธอได้มั้ย เราก็ช่วยได้ในแบบที่เราวาดรูปเนี่ยแหละ 

แต่ถ้าถามว่าเป็นคนโพสิทีฟมั้ย จริงๆ ก็ไม่ขนาดนั้น อยากให้โลกนี้มันดีขึ้นมั้ง อยากให้ภาพวาดมันควรจะเป็นอะไรที่มีหน้าที่ของมัน แล้วเราก็รู้สึกว่าเราทำหน้าที่นี้ได้แหละที่ทำให้คนมีความสุข 

ถ้าให้คุณเลือกบันทึกช่วงเวลาหนึ่งในตอนนี้จะเป็นอะไร

เราคิดว่าถ้าให้วาดสิ่งที่วาดอันสุดท้าย จะวาดโมเมนต์รอบๆ ตัว เช่น หมาสองตัว แมวหนึ่งตัว กลุ่มเพื่อน อาหารที่ชอบตอนนี้ มือถือ หรือกระติกน้ำ ยังอยากเก็บภาพนั้นไว้รวมกัน 

บางคนบอกว่าการเก็บอะไรไว้มากเกินไปก็อาจทำให้เราหนักได้นะ

ก็จริงค่ะ แต่คิดว่าฟ้าเป็นคนเก็บ แต่เมื่อไหร่ที่ต้องทิ้ง ก็ทิ้งได้เหมือนกัน ถ้าวันไหนเราไม่ได้รู้สึกกับมันแล้ว เราก็ทิ้งมันได้ เหมือนเราปล่อยได้ง่ายมั้งคะ  เพื่อนๆ จะชอบบอกว่าฟ้าเป็นคนพอใจอะไรง่าย สมมุติทำงานบางคนอาจจะต้องทำจนแบบสวยที่สุด แต่ฟ้ารู้สึกว่าถ้าแค่นี้พอแล้ว เราใส่ความพยายามไปแค่ 50% แล้วมันโอเคสำหรับสิ่งนี้แล้ว ก็พอแล้ว ไม่ต้องมากกว่านี้แล้ว ยิ่งเราทำไปก็มีแต่เราที่จะเหนื่อยขึ้น ทั้งๆ ที่ 50% มันอาจจะใช้ได้แล้วก็ได้ คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ด้วยมั้ง เลยทำสิ่งนี้ได้ดี 

สุดยอดความฝัน

การได้ไปแสดงงานที่ญี่ปุ่นคุณเห็นอะไรบ้าง

มันเริ่มจากปีที่แล้วได้เข้าร่วม BKKIF 2022 เขาก็จะมี reviewer มาคัดเลือกเรา ซึ่งตอนนั้นเขาก็มีตัวแทนจาก Unknown Asia มาดูงานด้วย เขาก็จะคัดเลือกทั้งหมด 3 ศิลปิน ฟ้าก็ได้เป็นหนึ่งในนั้น เขาเดินมาแล้วก็คุยกันเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วก็เดินไป ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะได้ เพราะเหมือนเขาแค่ดูๆ แล้วก็เดินไป แต่ก็แอบใจชื้น เพราะเขาก็ตั้งใจเดินมาบูธเรา เลยเป็นโอกาสให้ได้ที่นั่น

มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ไปนอกประเทศแล้วเอางานตัวเองไปโชว์ รู้สึกดีที่ผ่าน BKKIF มาแล้ว 1 ครั้ง เลยมีเวลาในการจัดบูทประมาณนึง แต่พอไปถึงบูทข้างๆ เขาก็เป็นคนอินโดนีเซีย สิ่งที่ไปแล้วรู้สึกประทับใจคือได้เห็นงานคนอื่นที่มันสุดยอดมาก คนอินโดนีเซียที่เขาปักพรมแบบละเอียด หรือคนญี่ปุ่นที่เขาปั้นดิน ปั้นเซรามิกแล้วมันสวยมาก มันดีมากเลยที่เราเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ได้ไปดูงานที่มันสวยมาก มีศิลปินอีกหลายแบบที่เจ๋ง รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

คุณคิดมาก่อนไหมว่าวันหนึ่งคุณจะได้มาแสดงงานที่ต่างประเทศ

ตั้งแต่ทำงาน illustration มา ไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นอะไร แค่ทำไป ทำที่ชอบ รู้สึกว่าดีใจมากที่ได้ไปจุดนั้น ไม่คิดไม่ฝันว่าตัวเองจะได้ไป 

แต่ตั้งแต่เราสมัคร BKKIF แล้วรู้ว่ามีรางวัลนี้ จริงๆ เราหวังอยู่ในใจตั้งแต่ในใจตั้งแต่วันแรกว่าเราอยากได้งานนี้ที่สุด แล้วเราได้ทำมันจริงๆ ตอนนี้ก็รู้สึกขอบคุณตัวเองแหละ แต่มันก็แอบคิดเหมือนกันนะว่าแล้วเอาไงต่อ เหมือนเราได้สิ่งที่เราอยากได้มากๆ แล้วมันเกิดขึ้นแล้ว เราได้มันมาจริงๆ แล้วต่อไปเราต้องทำอะไร มันก็เป็นคำถามในใจเหมือนกัน เหมือนต้องสร้างเป้าหมายต่อไปของตัวเองให้เจอ 

คุณทำยังไงกับสถานการณ์นี้

จริงๆ ตอนนั้นมันคือตอนนี้แหละ (หัวเราะ) การไปญี่ปุ่นครั้งนั้นคือสุดยอดความฝัน แต่ เออ มันจบแล้วนี่หว่า ก็อาจจะแค่คิดว่าแล้วจะไปประเทศไหนต่อดี ไปยุโรปได้มั้ย ไปอเมริกาได้มั้ย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดนั้นยังไง มันก็เลยค่อนข้าง struggle ในตอนนี้ว่าเราจะทำยังไงต่อไปดี

ถ้ามันมีอะไรเข้ามา เราก็คิดว่าเราจะพยายามไปอยู่ตรงนั้น เช่น พอเรากลับมามันก็มี BKKIF 2023 พอดี เราก็ส่งอีก หรือถ้ามันจะมีอะไรเราก็คงชาเลนจ์ตัวเองว่ามีใครอยากให้ประกวดอะไรก็ส่ง ตอนนี้มันก็เป็นคำถามในใจของเราเหมือนกันว่าแล้วเราจะอยากทำมันไปทำไม อยากชนะเหรอ ก็ไม่ใช่ แค่อยากให้คนออกไปเห็นงานมากขึ้น 

ในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์เป้าหมายสูงสุดของคุณคืออะไร

ไม่เคยตั้งเลย เหมือนเราเพิ่งขึ้นมาอยู่จุดนี้มั้ง เราแค่อยากทำงานออกไป แล้วเราก็อยากให้งานทุกงานมันมีความหมายกับทุกคน คงอยากให้คนรู้จักมากขึ้น เข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ อยากให้คนเข้าใจมัน

การที่คุณดูเหมือนเป็นคนมองภาพชัดเจนมาตลอดว่าอยากทำงานสายนี้ เคยมีช่วงเวลาที่ลังเล หรือไม่อยากวาดภาพบ้างมั้ย

ไม่มีเลยค่ะ (ตอบทันทีเสียงมั่นใจ) เหมือนการวาดภาพมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเลิก เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการวาดภาพมั้ง เราเศร้าเราก็วาด เรามีความสุขเราก็วาด ถ้าเรามีความรู้สึกแบบไหน เราก็วาดมันออกมา มันก็เลยไม่มีความรู้สึกที่แบบว่า เราต้องเลิก เหมือนเศร้าเรายังวาดได้เลย เลยไม่มีจุดนั้นเลยว่าเมื่อไหร่ที่จะเลิก แต่มีจุดที่ไม่รู้จะวาดอะไรมากกว่า เราเคยฝึกตัวเองให้วาด แล้วทำไม่ได้ เราอยากวาดเมื่อไหร่เราก็วาดแล้วกัน อาจจะเป็นคนชิว ก็เลยไม่บังคับตัวเอง

ช่วงเวลาไม่รู้ว่าจะวาดอะไรคุณทำยังไง

เคยมีช่วงนึงที่ได้โจทย์ตอนเป็น illustrator ใหม่ๆ แล้วมีคนมาจ้าง เราได้โจทย์มา เรารู้สึกว่าวาดไม่ได้ ไม่เข้าใจ ทำไมวาดไม่ได้ คิดไม่ออก เรามานั่งคิดกับตัวเองว่า อ๋อ เราไม่อินมั้ง เป็นประสบการณ์ที่เราไม่มีอะ มันคือการให้เราวาดโรดทริป การขับรถเที่ยวฤดูต่างๆ แล้วเราวาดออกมาไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำคือคุยกับเพื่อนที่เขาอินเรื่องโร้ดทริปมากกก แล้วตาเขาเป็นประกายเวลาเขาเล่า เขาชอบขับรถมาก เลือกเพลย์ลิสต์เวลาจะขับ รู้ว่าจะต้องไปจังหวะนี้เขาก็ทำเพลย์ลิสต์ขึ้นมาเพื่อโร้ดทริป แล้วเราแบบ โห ไอเดียมันเยอะมากเลย แค่การเลือกเพลย์ลิสต์เราก็วาดเป็นรูปได้แล้ว เราเลยรู้สึกว่าทุกครั้งที่เราคิดไม่ออก คือเราไม่มีประสบการณ์ แล้วคิดว่าจะแก้ได้ยังไง ลองมาหลายครั้งแล้ว เราจะทักไปหาคนอื่น แล้วเพื่อนมีไอเดียเยอะมาก แล้วเพื่อนเขาอินของเขา แบบ เขาชอบเวลามองไปกระจกข้างหลังแล้วเห็นภูเขาข้างหลัง โห มันเป็นภาพในหัวเราขึ้นมาได้เลย เวลาเขาเล่า ก็เลยผ่านโปรเจกต์นั้น คิดว่าอันนี้เป็นวิธีที่ดีมาก คือไปถามคนอื่น

ที่ทางของนักออกแบบภาพวาดนอกกระแส

เส้นทางการเป็น illustrator ในไทยสำหรับคุณเป็นเรื่องยากไหม แม้ว่าจะทำในสายงานนี้อยู่แล้ว

คิดว่า 60 เปอร์เซ็นแล้วกันที่รู้สึกว่ายาก เราไม่รู้ว่าเราต้องไปทางไหน เรารู้จักแค่ BKKIF เลย เรารู้จักแค่หนึ่งแพลตฟอร์ม เราไม่รู้ว่าถ้าวันนี้เราไม่อยู่ที่ BKKIF เราต้องไปอยู่ตรงไหนเหรอ เรารู้สึกว่าแกลเลอรี่ในไทยหรือหอศิลป์มันน้อยมั้ง มันก็มีแค่ริเวอร์ซิตี้หรือหอศิลป์ที่เรารู้สึกคอนเน็ค แล้วถ้าสองที่นี้เขามีประกาศอะไร เราก็อยากจะเข้าร่วม แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ก็ไม่รู้จะเอาตัวเองไปอยู่ที่ไหนเหมือนกัน

งาน BKKIF เป็นใบเบิกทางที่ทำให้คนรู้จักผลงานคุณมากขึ้นเลยไหม

ใช่เลยค่ะ เหมือนเป็นที่เปิดทางเลย ตอนแรกเราก็ทำของเราในไอจี แต่พอลง BKKIF ก็มีคนรู้จักมากขึ้น มีคนมาตามไอจีมากขึ้น แล้วเขาก็ดูผลงานในไอจี ล่าสุดในงาน BKKIF มีน้องคนนึงวิ่งมาแล้วบอกว่า หนูจำพี่ได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราก็เลยแบบ เฮ้ย จำได้ไง เราก็แบบมีแฟนคลับประมาณนึง (ยิ้ม) เราก็ชอบนะ ไม่เคยเจอสิ่งนี้

คุณคิดว่างาน illustration ในไทยหลากหลายมากพอหรือยัง ด้วยงานของคุณค่อนข้างมีเอกลักษณ์ แต่ในอีกแง่ก็อาจทำให้คนเข้าถึงได้ยากหรือเปล่า

จริงๆ นักวาดในไทย หลากหลายสุดๆ ไปเลย ทุกคนมีความยูนีคเป็นของตัวเอง เราเห็นงานเรายังชอบ เราเห็นงานเราเห็นว่ามันมีหลากหลายมากๆ แต่เรารู้สึกว่าคนที่ไปหยิบนักวาดเหล่านั้นมาใช้มันยังน้อยมากๆ เขาเลือกที่จะหยิบแค่บางแบบ แบรนด์ต่างๆ ที่จะใช้นักวาด เขาก็จะหยิบสไตล์เดิม เราว่าทุกคนมีดีแต่ว่าเขายังไม่ได้ถูกเอาไปใช้งานให้ถูกต้อง รู้สึกว่ายากนิดนึงในไทย 

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คนได้เจองานที่หลากหลายมากขึ้น 

คิดว่ามันคงต้องมีพื้นที่เล่าเรื่องของคนเหล่านี้มากกว่านี้ อย่างงานเรา ก็จริงที่มันดูยากสำหรับบางคน ตอนไป BKKIF เรารู้เลยว่าคนไหนไม่ชอบ เขาก็จะเดินผ่าน แต่ถ้าใครชอบ เขาก็จะวิ่งเข้ามาเลย 

เราก็รู้สึกว่างานเรามันไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคน แต่สิ่งเรากล้าเล่าคือคอนเซปต์ เรารู้ว่ามันต้องมีคนรีเลต ถึงเขาจะไม่ได้ชอบสไตล์งานก็ตาม 

แต่ตอนนี้มันไม่มีพื้นที่ให้เราเล่ามั้ง เขาไม่ได้มายืนฟังเรา คนดูก็อาจจะต้องมีที่ให้เขาดู ให้เขาเสพมากขึ้น เขาก็จะรู้ว่ากว่ามันจะมาได้แบบนี้เขาคิดมาเยอะนะ โปรเซสมันเยอะ เขาควรจะได้รู้สิ่งนี้ ผ่านพื้นที่ หรือการเล่าเรื่องในโซเชียลหรือเปล่าที่มันจะมีมากขึ้น เรารู้สึกว่าการวาดภาพประกอบขั้นตอนกว่าจะมาถึงจุดสุดท้ายมันสำคัญเหมือนกันนะ บางทีนักวาดภาพประกอบไม่มีที่ให้เล่า

คุณเชื่อเรื่องการฝึกฝนหรือพรสวรรค์มากกว่ากัน

คิดว่าเชื่อเรื่องการฝึกฝน แต่ก็แอบคิดอีกอย่างนึงด้วยว่าเวลาจะฝึกมันอาจจะต้องมีพรสวรรค์มาด้วยสัก 5 เปอร์เซนต์หรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าตอนที่เราทำอะไรบางอย่างได้ดีกว่าคนอื่นๆ สักหน่อย เราจะเริ่มรู้สึกว่า หรือเรามีสิ่งนี้วะ แล้วจากนั้นมันคือการฝึกฝนล้วน 

แต่จุดประกายแรกมันต้องมีอะไรมาบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า “หรือพระเจ้าให้สิ่งนี้กับเรามา” เลยคิดว่าเชื่อเรื่องพรสวรรค์ประมาณ 5 แล้วกัน แล้วทีเหลือคือการฝึกฝน เพราะกลับไปดูรูปเมื่อก่อน มันก็ไม่ได้สวย พอมาดูรูปช่วงนี้มันก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นเพราะเรายังคงวาดมันอยู่ แล้วเห็นว่าเราฝึกมันจริงๆ เหมือนตอนเด็กๆ เราอยู่วงโยทวาทิต ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่ง อันนั้นคือการฝึกฝนล้วนๆ แต่ตอนที่เราลงไปทำสิ่งนั้น มันจะมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย เราก็ทำได้นี่หว่า

ถ้าย้อนกลับไปบอกเด็กหญิงฟ้าที่ชอบวาดรูปคนนั้นจะบอกว่าอะไร

ถ้าให้กลับไปบอกเด็กคนนั้น ในวันนั้น จะบอกว่าหนังสือทุกเล่มที่อ่าน ทุกเพลงที่ฟัง ทุกสีที่ได้ระบาย มันมีคุณค่ามาก มันทำให้เราเป็นเราวันนี้ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าทำไปทำไม เราทำแค่เพราะเราอยากทำ เรารู้ว่าตัวเองตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย ก็แค่ทำ เรารู้สึกขอบคุณมาก แค่ทำมันต่อไป เพราะว่ามันมีประโยชน์ในวันนึง แล้วก็ดีใจที่ตัวเองทำมา ขอบคุณที่ทำมันมีคุณค่ามาก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream