‘เดินสู่อิสรภาพ’ ไปกับประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญาผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย 1/4

อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
เกิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียนจบชั้น ป.4 ก็เดินทางออกมาจากเกาะมารับจ้างกรีดยางพารา
เป็นกรรมกรรับจ้างสารพัด ในช่วงปี 2514 ที่มีการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ครูโกมล
คีมทอง และเพื่อนของอาจารย์ประมวลหลายคนเสียชีวิตลง
ด้วยความกลัวตายที่เกิดขึ้นใกล้ตัวทำให้เด็กหนุ่มวัย 18
ปีตัดสินใจบวชเพราะเชื่อว่าน่าจะพาเขาออกจากความกลัวได้

จากเด็กหนุ่มที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ
เขาก็เปลี่ยนมาท่องตำราอย่างหนักแทน เขาเริ่มต้นเรียนรู้จากการท่องจำ
ท่องแม้กระทั่งหน้าคำนำหรือเชิงอรรถท้ายหน้า เพราะเขาไม่รู่ว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ
เมื่อพระอาจารย์เห็นว่าเขามีพรสวรรค์ในการท่องจำหนังสือทั้งเล่มได้ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน
จึงส่งเสริมทุกทางให้เขาเป็นนักบวชที่ดีให้ได้

จากเด็กที่เรียนจบเพียงแค่ ป.4
เขาเรียนการศึกษานอกโรงเรียนจนจบ ม.6 แล้วเขาก็ได้ไปเรียนปรัชญาที่อินเดีย
ที่นั่นเขาต้องเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งในวันแรกที่เข้าเรียน
เขาฟังไม่ออก พูดไม่ได้เลยสักคำ แต่ในที่สุดเขามุมานะจนเรียนจบปริญญาโท
จากนั้นเขาตัดสินใจสึกและเรียนต่อปริญญาเอกจนจบ

กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนหนังสืออยู่ได้ 16 ปี เขาก็ตัดสินใจลาออก
เพื่อออกเดินทางด้วยเท้าจากเชียงใหม่สู่เกาะสมุยบ้านเกิด
จุดมุ่งหมายของเขาก็คือทำสมาธิขณะเดินและใคร่ครวญขบคิดถึงสิ่งต่างๆ
ที่ผ่านเข้ามาในขณะที่หยุด

บนหลังของเขามีเป้ใบเล็กๆ 1 ใบซึ่งข้างในมีเสื้อผ้าบางๆ 1 ชุด ยา วิตามิน สมุดบันทึกและไปรษณียบัตร 100
แผ่นเพื่อเขียนส่งหาภรรยาทุกวัน กฎ 2 ข้อในการเดินทางของเขาก็คือไม่ใช้เงิน
และไม่ติดต่อกับใครทั้งนั้น

อาจารย์ประมวลลาออกจากราชการในวันที่
23 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ และออกเดินทางในวันที่ 17
พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นวันครอบรอบแต่งงาน ทั้ง 2 วันนี้ อาจารย์สมปอง เพ็งจันทร์
ผู้เป็นภรรยากำหนดให้

อาจารย์ประมวลบันทึกเรื่องราวการเดินทางตลอดทั้ง
66 วันไว้ในหนังสือชื่อ ‘เดินสู่อิสรภาพ’ หนังสือที่ใครอ่านแล้วต่างก็อิ่มใจด้วยความรู้สึกว่า

สิ่งที่เราได้รับจากการเดินทางครั้งหนึ่ง
มันเต็มไปด้วยมิตรภาพและความรู้สึกดีๆ มากมายเพียงนี้เชียวหรือ


อาจารย์เป็นคนที่ชอบเดินทางอยู่แล้วหรือครับ

ใช่ครับ
ตอนเด็กๆ ผมเคยฝันที่จะไปให้สุดขอบฟ้าตรงจุดที่น้ำกับฟ้ามันพบกัน เด็กทะเลนี่ครับ
พอเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ผมยังจำภาพได้นะครับ ผมขี่เรือลำเล็กๆ
ออกจาบ้านที่เกาะสมุยเพื่อไปทำงาน หลังจากนั้นผมก็เดินทางมาตลอด
ผมอาจจะไม่เคยเป็นเด็กเลยด้วยซ้ำ พอเรียนจบ ป.4 ผมก็เข้าสู่การทำงานหาเงิน
ต้องรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่

หลังจากที่ผมได้บวชพระ
ผมก็ฝาฝันที่จะเดินทางไปประเทศอินเดีย มีอยู่วันหนึ่งผมได้อ่านเรื่อง ‘พบถิ่นอินเดีย’ ท้ายเล่มมีชื่อและที่อยู่ผู้แปลคือ
อาจารย์กรุณา กุศลาสัย อยู่ด้วย ผมก็ไปที่บ้านของแกตรงพรานนกเลย
ตอนนั้นผมเป็นพระอยู่นะ ผมบอกว่าอ่านหนังสือแล้วอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับอินเดีย
เลยอยากมาคุยกับอาจารย์ ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ท่านเคยเดินทางจากประเทศไทยไปอินเดีย
สมัยนั้นมีพระภิกษุชาวอิตาลีคนหนึ่งชื่อพระโลกนาถ
ท่านหวังจะประกาศศาสนาไปทั่วโลกเลยประกาศรับสมัครภิกษุสามเณรใจสิงห์ร่วมเดินทางไปด้วยกัน
แล้วหนึ่งในกลุ่มบุคคลนั้นมีหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แล้วมีอาจารย์กรุณาซึ่งเป็นสามเณรตัวน้อยๆ รวมอยู่ด้วย ไปกันไม่เยอะเท่าไหร่ ถึงพม่าก็กลับบ้างเพราะมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
เจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ความคิดไม่ตรงกันบ้าง
แต่สามเณรกรุณาเดินไปถึงอินเดียแล้วได้เป็นสามเณรในอินเดีย

เรื่องเล่าของอาจารย์กรุณาเป็นแรงบันดาลใจว่าผมสามารถไปอินเดียได้
สมัยนั้นอาจารย์กรุณาอายุน้อยกว่าผม แล้วก็ไม่ใครสนับสนุนอะไรเลย
แต่ผมมีความสามารถที่จะไปได้ แล้วผมก็ตัดสินใจเดินทางไปอินเดีย

ไปเพื่ออะไรครับ

ตอนนั้นเป็นความใฝ่ฝันว่าอินเดียคงเป็นแหล่งของการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
เป็นแหล่งของการเรียนรู้ที่ทำให้เราเข้าถึงความรู้ที่เราอาจจะหาไม่ได้ในประเทศไทย
จุดเปลี่ยนผ่านครั้งแรกในชีวิตของผมคือเปลี่ยนจากชีวิตของเด็กชาวบ้านที่แสวงหาความสนุกสนานมาสู่ชีวิตของนักบวช
เป็นการแสวงหาทางจิตวิญญาณ แสวงหาในมิติจิตใจภายใน ช่วงเวลาที่ผมได้บวชเป็นพระ
แล้วผมก็อยากแสวงหาอะไรที่มากกว่านั้น
และการไปอินเดียก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
ผมไปอินเดียด้วยความสำนึกรู้เลยว่าเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้าชีวิตมันจะจบ ณ ที่นั้น
ผมก็จะไม่มีปัญหาอะไร นั่นคือสิ่งที่ผมเตรียมการไว้แล้ว

การเดินทางไปอินเดียมีอะไรน่ากลัวหรือครับ

ผมไม่รู้ว่าจะเจออะไร
ไม่ประมาท ก็ทำใจไว้แล้วว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้กลับมาประเทศไทยอีก
ผมหยิบเอาดินจากบ้านผมที่เกาะสมุยติดตัวไปอินเดียด้วยความคิดว่าถ้าวันหนึ่งผมไม่มีโอกาสได้กลับมาสู่ประเทศไทย

บรรยากาศการเรียนรู้ที่อินเดียเป็นยังไงบ้างครับ
น่ากลัวเหมือนที่คิดไว้ไหม

ผมเรียนในระบบการศึกษาปกติครับ
แต่ได้อยู่ในสังคมที่มันมีบรรยากาศ
มีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเรียนรู้ได้ดีกว่าอยู่เมืองไทย
ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกครั้งในชีวิตผม
ที่เมืองไทยผมเรียนรู้ธรรมะหรือศาสนาในแง่มุมที่แคบมาก คือเรียนในแง่เรื่องส่วนตัว
เรารู้ว่าความดีความงามคืออะไร
แต่มันอยู่ในมุมของความคิดจิตใจที่ค่อนข้างจะไม่เกี่ยวกับคนอื่น เรานั่งอยู่เฉยๆ
คนเดียวก็เป็นคนดีได้
แต่ที่อินเดียสอนให้ผมรู้ว่าชีวิตเรามันยึดโยงผูกพันกับคนอื่น
เราไม่มีทางพบอะไรที่ประเสริฐได้ด้วยตัวของเราคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวเด็ดขาด เพราะในอินเดียมีเรื่องของความทุกข์ยากของประชาชน
ความขัดแย้งทางสังคมมากมาย
แล้วความเป็นพระของผมก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ตอนผมไปอยู่อินเดียใหม่ๆ
ผมถูกท้าทายมาก ผมโกนหัวโล้นก็มีเพื่อนมาลูบหัวเราเล่น

เขาไม่รู้หรือครับว่าอาจารย์เป็นนักบวช

อาจจะรู้หรืออาจจะไม่รู้
คือคนอินเดียจะไม่โกนผมหมดทั้งหัว การโกนผมถือว่าเป็นคนไม่ดี
เช่นคนทำผิดที่ถูกลงโทษ
การที่เราโกนหัวโล้นก็เท่ากับเรามีข้อที่ทำให้สงสัยว่าเราเป็นคนดีหรือไม่ดี
เขาจึงเอามือมาจับหัวเราเล่นได้โดยไม่ลำบากใจ ในขณะที่เราถือเป็นอย่างมาก
ไอ้ความรู้สึกโกรธนี่มันเป็นอะไรที่ท้าทายผมมากในตอนนั้น มันรู้สึกปั่นป่วน นั่นทำให้ผมรู้ว่าการเป็นพระไม่ใช่เป็นพระอยู่คนเดียว
แต่มันต้องมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างกับสังคม ผมรู้เลยว่าความเป็นพระ
มันถูกทำให้เกิดขึ้นมาในสังคม เพราะฉะนั้นทันทีที่เราก้าวพ้นสังคมชาวพุทธ
ความเป็นพระของเราไม่มีเหลืออยู่เลย มันยังอยู่ในใจเราก็จริง แต่มันก็ค่อยๆ
หมดพลัง

ตอนผมเรียนระดับปริญญาตรี
พอกลับมาที่ห้องพัก สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือดูว่าวันนี้มีลายเซ็นใครบนจีวรบ้าง
เพื่อนที่นั่งข้างหลังชอบดึงจีวรเรามาเซ็นชื่อเล่น ซักได้ก็ซัก
ซักไม่ได้ก็ติดเป็นที่ระลึกไว้ คือเพื่อนเราไม่ได้โกรธเกลียดเรานะ
แต่สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมเกิดความรู้สึกที่ต้องปรับตัว

แล้ววันหนึ่งผมก็ตอบตัวเองได้ว่า
ความเป็นพระมันอยู่ที่ใจของเรา
ความเป็นพระที่ใจเรามันหนักแน่นมั่นคงถาวรกว่าความเป็นพระที่ไปอยู่ที่จีวร สังคมอินเดียสอนความเป็นพระที่ลึกซึ้งกว่าสังคมไทย
สังคมไทยเพียงแค่เราเข้าสู่วัด เขาบวชให้เรา จากเช้าเราเป็นเด็ก
เที่ยงวันนั้นเราเป็นพระเป็นพระมีคนกราบไหว้เราแล้วโดยที่เรายังงงๆ อยู่เลย
เพราะเราก็เป็นคนเดิม แต่เราเป็นพระในทางสังคมแล้ว แต่ในอินเดียไม่ใช่

อะไรคือสิ่งที่อาจารย์ได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตในอินเดีย 11 ปีครับ

ผมเรียนรู้ในห้องเรียนน้อยมาก
ผมเรียนนอกห้องซะมากกว่า ตลอด 11 ปี ผมไม่เคยอยู่ที่ไหนซ้ำนานๆ เลย
พอเรียนปริญญาตรีจบ ก็ย้ายไปเรียนปริญญาโทอีกเมืองหนึ่ง
เรียนปริญญาเอกอีกเมืองหนึ่ง ผมมีที่ที่อยากไปเยอะแยะเลย
ปัจจุบันนี้ผมก็ยังกลับไปอินเดียอยู่เสมอเพื่อเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม
อินเดียเป็นเหมือนห้องอาบน้ำที่ทำให้ผมสะอาด ผมไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยมีมลพิษนะ
แต่อินเดียมันความง่ายจนกระทั่งเราคิดว่าชีวิตมันแค่นี้เองเหรอ
มีครั้งหนึ่งที่ผมกลับไปอินเดีย แล้วมีคนติดตามผมไปเที่ยวด้วย
มีที่หนึ่งเขาเข้าไปเที่ยว ผมก็รออยู่ด้านนอกพอแกออกมาก็เห็นผมนอนหลับอยู่
โดยเอารองเท้ามาหนุนตัว ข้างๆ ผมมีขอทานนอนอยู่ด้วย พอผมลุกขึ้นเอารองเท้ามาสวม
แกขำผมมากเลยแกบอกว่าผมเป็นอินเดีย ผมว่าคำนี้มันใช่เลย
เพราะคนไทยเราไม่ทำแบบนี้กัน แต่ในอินเดีย
วัตถุชิ้นหนึ่งมันจะเป็นรองเท้าหรือหมอนหนุนก็ได้ถ้าเราต้องการ
ความคิดแบบนี้ทำให้ผมกลับไปหาอินเดียเสมอ

ตอนอยู่ที่อินเดียอาจารย์ได้เที่ยวบ่อยไหมครับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่น่าใช้คำว่า
เที่ยวเกือบทั่วประเทศอินเดียได้ ทั้งๆ ที่มันกว้างมาก ผมชอบไปในที่ที่คนอินเดียถือว่าศักดิ์สิทธิ์
เพราะผมเชื่อว่าคงจะมีท่าทีต่อสถานที่ต่อสถานที่นั้นอีกแบบ
แล้วการไปสัมผัสกับความศักดิ์สิทธิ์มันทำให้ตัวเรามีความหมายอะไรบางอย่าง
ถ้าเราไปสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่มีความหมาย ตัวเราก็จะไม่มีความหมาย
ความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่มันมีพลัง ทำให้คนอินเดียกลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน อดทน
เพียรพยายาม คนอินเดียจาริกไปยังที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเดินเท้า
ยิ่งเป็นชาวพุทธทิเบต
เขาไปสถานที่สำคัญทางศาสนาด้วยการใช้ร่างกายกราบไปกับพื้นถนนเพื่อเป็นพุทธบูชา
อะไรก็ตามที่เราทำเพราะมันศักดิ์สิทธิ์ จะทำให้ชีวิตเรามีความหมาย เช่น
ถ้าเราไม่มีข้าวกิน เราจะรู้สึกแย่มาก แต่ถ้าเราบอกว่าวันนี้เราถือศีลอด
เราก็หิวเหมือนเดิม แต่การอดอาหารครั้งนี้
มันจะมีความหมายอีกแบบที่ไม่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด รำคาญ โกรธเกรี้ยว

การเดินทางของผมในอินเดียเป็นการเดินทางที่ใช้กำลังของเราเป็นข้อกำหนด
ให้ความสามารถของเราเป็นตัวกำหนดความเร็ว ทั้งร่างกาย กำลังใจ
จิตใจของเราที่สำคัญนะ ว่ามีความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไป
ความยุ่งยากลำบากก็เป็นการทดสอบพลังจิตใจเราว่าเราจะไปไหม
ทั้งที่มันยุ่งยากขนาดนี้ การท่องเที่ยวไม่ใช่ความสนุกในความหมายของความสะดวกสบาย
แต่สนุกในด้านอารมณ์ที่ได้ผจญเผชิญความยุ่งยาก

อะไรคือความสนุกของการได้ผจญภัยกับเรื่องยุ่งยากครับ

ผมเข้าใจว่ามนุษย์เรามีคุณสมบัติอย่างหนึ่งในด้านนามธรรมก็คือความอดทน
เช่น ในเรื่อง ‘สิทธารถะ’ ของแฮร์มัน เฮสเส สิทธารถะบอกว่าเขามีความสามารถที่จะอดทนและรอคอยเป็นเวลานานเท่าไหร่ก็ได้
ความสามารถนี้ทำให้สิ่งที่เป็นปัญหารบกวนไม่มาทำลายเรา
ทุกวันนี้ผมคุยกับนักศึกษาเสมอว่า พวกคุณมีบางสิ่งบางอย่างที่งดงามประเสริฐมาก
แต่พวกคุณไม่เห็นค่ามัน เพราะคุณไม่ได้ผ่านการอดทนและรอคอย
สมัยที่ผมจีบผู้หญิงคนแรก ผมรอคอยมาก ตอนนั้นผมเป็นลูกจ้างกรีดยางพารา
กรีดเสร็จประมาณเที่ยงวัน
ผมต้องเดินจากสวนยางไปหาผู้หญิงคนที่ผมรักตั้งแต่เที่ยงไปถึงนั่นประมาณ 4 โมงเย็น เมื่อก่อนไม่มีมอเตอร์ไซค์นะครับ
ต้องเดินข้ามเขาเป็นลูกๆ ได้แค่เห็นหน้าผู้หญิงแล้วก็กลับเลย
เพราะต้องรีบกลับไม่งั้นมืด ผมต้องกรีดยางตอนกลางคืนอีก
ผมทำอย่างนี้เป็นเวลานานมาก
แล้ววันหนึ่งผู้หญิงคนนี้ก็ยิ้มให้ผมครั้งหนึ่งผมมีความสุขมาก
มันเป็นรอยยิ้มที่มีค่ามหาศาล กว่าจะมีรอยยิ้มบนในหน้าของเธอ ผมต้องเดินเป็นร้อยเป็นพันกิโล แต่พวกเราทุกวันนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย
มีเพื่อนผู้หญิง มีเพื่อนผู้ชาย มีความประทับใจ มีรอยยิ้มให้กัน
แต่ไม่เห็นค่าเพราะไม่เคยผ่านความยุ่งยากลำบากอะไรมาเลยบางครั้งก็ทิ้งความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกันได้โดยง่าย

ความสามารถในการอดทนรอคอยเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและเป็นสิ่งที่เป็นคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์ ถ้าทำแบบนี้ได้ ก็จะทำให้สิ่งที่อยู่รอบตัวเราเป็นสิ่งที่งดงาม
แม้ว่าสิ้งนั้นจะยุ่งยากและลำบาก

ความคิดเรื่องการเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุย เริ่มต้นมาจากไหนครับ

มันอยู่ในใจผมมานานแล้ว
ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วก็มีกิจวัตรสัมพันธ์กับนักศึกษาเป็นจำนวนมาก
มีคนหนุ่มสาวมากมายมาให้พบรุ่นแล้วรุ่นเล่า
แล้วผมก็ไม่ได้พบกับคนเหล่านั้นอย่างผ่านไปเฉยๆ แต่ผมพบอย่างละเอียด
และผมพบว่ามันมีบางอย่างที่เขาจากผมไปแล้วก็จริง
แต่เขาก็ทิ้งคำถามทิ้งประเด็นอะไรไว้มากมายมหาศาลในใจผม
ผมไม่เคยปล่อยให้คำถามของนักศึกษาสักข้อผ่านใจของผมไปโดยไม่คิด
เพราะถ้าเขาถามก็แปลว่าเขาต้องมีอะไรอยู่ในใจ ไม่ได้หมายความว่าผมตอบได้หมดนะครับ
มันมีคำถามมากมายเกี่ยวกับชีวิตคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ผมคิดว่าควรจะหาคำตอบให้กับเขา
อาจตอบไม่ได้ทุกคน แต่อย่างน้อยถ้ามีใครสักได้คำตอบที่ผมหามาได้ เช่น
ผมพูดกับเขาเสมอว่า ถ้าคุณเข้าใจชีวิตที่ดี คุณจะว่าชีวิตที่มีอยู่
มันมีความสุขได้ไม่ยากเลย
ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่คุณมีทรัพย์สินมากมายไม่ได้เกิดจากการประสบความสำเร็จในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้
แต่ความสุขคือคุณมีความพร้อมความพอใจที่จะทำอะไรบางอย่างให้กับคนอื่นได้

ถ้าอาจารย์เลือกการเดินทางเพื่อหาคำตอบ
ก็ไม่ต้องถึงกับลาออกจากราชการก็ได้นี่ครับ

ผมต้องการชีวิตที่มันอิสระเลย
ไม่งั้นแสดงว่าเราห่วงหาอาลัยอยู่กับภาระหน้าที่การงาน
หลายคนเป็นห่วงว่าผมจะไปทำอะไร ผมก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง ผมสามารถอยู่ได้
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ติดตัวผมมาแต่กำเนิด ผมเป็นเด็กที่ไม่มีการศึกษามาก่อน
เป็นคนต่ำต้อยมาก่อน วันหนึ่งผมก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีคนเคารพให้เกียติ
ผมรับได้ถ้ามันจะจากผมไป สิ่งที่ผมต้องการคือการไม่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย
แต่ก็ยังให้บางสิ่งบางอย่างแก่เยาวชนได้ ผมบอกคนอื่นเสมอว่า
ผมกำลังออกจากโรงเรียนไปสู่โลกที่เป็นห้องเรียนที่ใหญ่กว่า
ถ้าเคารพและคิดถึงผมก็เชิญไปเรียนรู้ร่วมกัน
ผมว่าการเดินก็คือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าผมกับนักศึกษา

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 79 มีนาคม 2550)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR