อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร : นักร้องผู้สร้างบทเพลงจากความจริงในชีวิต 2/4

3.

แค่รู้ตอนนี้ฉันมีเธออยู่
และช่างอบอุ่นใจ
และหากว่านี่คือวันสุดท้าย
ขอให้เป็นคืนวันที่ดีของเรา

“4
ทุ่มครึ่งเองนะมึง 5 ทุ่มครึ่งก็เลิกแล้ว”

“กูว่า 2
ทุ่มโต๊ะเต็มแล้วแน่นอน”

ผมแอบฟังสองสาวคุยกันในร้านกาแฟ
ม่านฝนโถมกระหน่ำถนนนิมมานเหมินท์
ไม่ต้องบอกชื่องานผมก็พอรู้ว่าสองสาวกำลังพูดถึงโชว์คืนนี้ของ Greasy Café ที่ท่าช้าง คาเฟ่ ผับดังในตัวเมืองเชียงใหม่

อภิชัยยกขบวนจากกรุงเทพฯ
พร้อมทีมงานภาพยนตร์ แต่เพียงผู้เดียว นำโดยผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และโปรดิวเซอร์ โสฬส สุขุม
เพื่อโปรโมตการฉายหนังที่เชียงใหม่ ตารางเวลาอัดแน่นด้วยกิจกรรมหลากหลาย
มีทั้งงานเสวนา สัมภาษณ์คลื่นวิทยุ และมินิคอนเสิร์ตในหลายที่
หนึ่งในนั้นคือโชว์ที่ท่าช้าง คาเฟ่ ซึ่งเขามาซาวนด์เช็กก่อนเล่นหลายชั่วโมง

ใน แต่เพียงผู้เดียว
อภิชัยรับบทเป็น เล็ก
ช่างซ่อมกุญแจที่เข้าไปทำความรู้จักคนผ่านการลักลอบเข้าห้องคนคนนั้น
หนังตั้งคำถามถึงตัวตนที่ล้วนคัดลอกมาจากบุคคลอื่น
เมื่อบทเสร็จและผ่านการแคสต์ที่ล้มเหลวหลายครั้ง คงเดชตัดสินใจเรียกช่างภาพกองถ่ายและนักดนตรีมาลองเล่นหนังเป็นครั้งแรก

อภิชัยคิดว่าเขาโดนอำเมื่อมีทีมงานชวนไปเล่นหนัง
เมื่อรู้ความจริงเขาแฮปปี้ที่หนังเรื่องแรกในชีวิตเป็นหนังของคงเดช
ความส่วนตัวในหนังของคงเดชถูกจริตเขาไม่น้อย
อภิชัยตกลงเล่นและกระตือรือร้นกับมันมาก ถึงขั้นอ่านบทเสร็จเขาก็ตีความมันออกมาเป็นบทเพลงส่งให้ผู้กำกับฟัง

“เราไม่ใช่นักแสดง
ถ้าไปหาคงเดชแล้วบอกว่าต้องเล่นแบบนี้หรือเปล่า เรายังไม่เคยลอง แล้วจะรู้ได้ยังไง
เราคิดว่าสิ่งที่เชื่อมระหว่างเรากับคงเดชได้คือเพลง การเป็นนักร้องนำวงสี่เต่าเธอ
คงเดชคงมีเซนส์เรื่องเพลงประมาณนึง ก็เลยลองทำเพลงเพื่อบอกว่าเราเข้าใจบทแบบนี้
คงเดชคิดว่ายังไง”

มันเป็นเพลงบรรเลงแนวโพสต์ร็อก
ปัจจุบันเพลงนี้ถูกเก็บไว้ในเครื่องแมคบุ๊คของอภิชัย แม้จะไม่ถูกใช้ในหนัง
แต่คงเดชก็รู้ว่าเขาได้นักแสดงที่เต็มที่กับงานแน่นอน
จากคนทำงานเบื้องหลังต้องมายืนอยู่หน้ากล้อง
การเปลี่ยนบทบาทครั้งนี้ทำให้เขาพบอะไรใหม่ๆ ไม่น้อย

“ปกติเวลาไปถึงกองถ่าย
เราจะวางกระเป๋ากล้องแล้วก็เดินคุยเล่นกับคนโน้นคนนี้
แต่พอคุยเล่นสักพักก็จะมีคนถามว่า พี่เล็กกินข้าวยัง เดี๋ยวตักข้าวให้นะ
เอากาแฟมั้ย เรารู้สึกว่าอย่าทำแบบนี้กับเราเลย ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่เราเกรงใจเขามาก
เราก็คนธรรมดา”

แม้เป็นมือใหม่ด้านการแสดง
แต่เขาก็เรียนรู้เร็ว และมีวิธีแสดงที่ตัวเองเชื่อ เช่น ในฉากที่เล็กและก้อง
(แสดงโดย ปริญญา งามวงศ์วาน) ลักลอบเข้าไปในห้องคนแปลกหน้า
อภิชัยจะไม่เข้าฉากก่อนถ่าย “เราอยากให้เกิดความรู้สึกสงสัยจริงๆ
พอถ่ายจริงเราจะเดินเข้ามาสำรวจด้วยความสงสัยไปด้วย”

คงเดชทำหนังเรื่องนี้ด้วยความคิดที่ว่า
ตัวตนของเราล้วนถูกหยิบยืมและฉกฉวยจากบุคคลและผลงานที่เราชอบ ผมถามอภิชัยว่า
เขาเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองบ้างมั้ย

“เราไม่ได้คิดขนาดคงเดช
แต่ก็อาจเคยทำแบบนั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เวลาทำเพลง
เราไม่ชอบวิธีการแต่งเพลงให้เหมือนวงนี้ เราก็มีวงดนตรีที่ชอบมาก
แต่พอเอาเพลงเขามาเล่นก็ไม่เหมือนนะ
ในที่สุดแล้วคนเราทุกคนมันก็มีตัวตนประมาณนึงอยู่ ทำแบบที่เรารู้สึกจริงๆ เถอะ ผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง ใครจะไม่ชอบใครจะรักก็แล้วแต่
ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ได้หลอกตัวเองแล้ว คนอื่นก็จะไม่รู้สึกว่าโดนเราหลอก
การซื่อสัตย์กับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรามาก”

ตลอดทางที่อยู่ในเชียงใหม่
ทั้งแฟนหนังและแฟนเพลงต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น คงเดชบอกผมว่า Greasy Café เป็นศิลปินที่มี loyalty สูงมาก
แฟนเพลงที่รักเขาคือกลุ่มคนดูหลักของหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ และมีส่วนทำให้ แต่เพียงผู้เดียว
กลายเป็นหนังอิสระที่ทำรายได้เป็นประวัติการณ์
ผมยังจำภาพที่คนดูทั้งโรงแห่มาขอลายเซ็น Greasy Café
ตอนฉายที่กรุงเทพฯ ได้ แน่นอนว่าต้องยกเครดิตให้คงเดชและทีมงานที่ทำงานหนักเพื่อหนังเรื่องนี้ด้วย

ไม่มีสัญญาว่า
Greasy
Café ต้องแต่งเพลงประกอบในหนังที่เขาเล่น
แต่อภิชัยให้ของขวัญคงเดชด้วยการแต่งเพลง ป่าสนในห้องหมายเลข 1 ให้
เพลงนี้ถูกใช้โปรโมตและกลายเป็นอีกหนึ่งเพลงที่อภิชัยต้องเล่นในทุกโชว์
(คู่มากับเพลง ประโยคบอกเล่า ที่เขาแต่งให้หนังเรื่อง ซัมบาลา)

เราไปถึงร้านช่วงหัวค่ำ
คนเต็มทุกโต๊ะอย่างที่คิด เราเบียดแฟนเพลงเข้าไปโต๊ะด้านในสุด
เจ้าของร้านต้อนรับด้วยเหล้าขวดใหญ่ แต่อภิชัยขอแบรนด์ขวดใหญ่และ M-150 เขาดื่มเหล้าน้อยลงมาก
โดยเฉพาะวันที่ต้องเล่นสด ไม่ว่างานไหนทุกเวทีล้วนมีพลัง
เขาต้องใช้สมาธิเพื่อให้มั่นใจว่าจะเอาอยู่

เมื่อได้เวลา
เขาขึ้นไปทำหน้าที่บนเวที ท่ามกลางคนดูที่อยู่ในความมึนเมา
ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครตั้งใจฟังเพลงของ Greasy Café อยู่มากแค่ไหน
แต่เสียงเพลง ทิศทาง จากกีตาร์โปร่ง 1 ตัว ของนักร้องหนุ่มใหญ่ 1 คนก็มีพลังเหมือนทุกครั้ง

“เวลาที่เราเล่นกีตาร์โปร่งตัวเดียว
น้ำหนักเสียงจะดังขึ้นหรือเบาลงมาจากน้ำหนักมือเรา แต่กับกีตาร์ไฟฟ้า
ตีให้แรงแค่ไหนเสียงออกมาเท่ากัน
เราว่าการเล่นกีตาร์โปร่งเป็นเรื่องของอารมณ์มากๆ
จะเล่นยังไงให้ได้อารมณ์โดยไม่เสียบแอมป์ สมมติว่าเรามีเพลงใหม่มาเล่นให้ฟังสดๆ
เขาจะรับรู้ความรู้สึกในเพลงได้ไวกว่า”

ในคอนเสิร์ตหลายครั้งเขาชอบลงจากเวทีไปเล่นในระดับเดียวกับคนดู
ในงานมินิคอนเสิร์ต a book
fair 2012 เขาเล่นเพลงท่ามกลางแฟนเพลงที่ยืนห้อมล้อมประชิดตัวเขาทุกด้าน

“ก่อนงาน a book fair เราไม่ได้เล่นคอนเสิร์ตมาสักพักนึงแล้ว เราคิดถึงมาก
หันไปก็เจอแต่คนที่เคยมาดู เวทีก็ไม่ได้สูง แต่เรารู้สึกว่ามันไกลมาก
เรานั่งเล่นบนเวทีก็ได้แต่เราและคนดูจะไม่อิ่มเอมแน่ๆ
มันเหมือนการเจอเพื่อนเก่าที่เราอยากคุยกันใกล้ๆ มันไม่น่ามีกำแพงมาบังระหว่างกัน
เราเลยบอกว่ามาอยู่ใกล้ๆ กันเถอะแล้วช่วยกันร้องเพลง เราประทับใจคืนวันนั้นมาก
อยากกอดทุกคนเลย” น้ำเสียงเขาเต็มเปี่ยมด้วยความตื้นตัน

คืนวันนี้ Greasy Café เล่นเพลงยาวนานเกือบชั่วโมง เสียงกรี๊ดดังสนั่นเมื่อท่อนอินโทรเพลง ฝืน
บรรเลง ซึ่งเป็นเพลงที่ส่วนตัวที่สุดเพลงหนึ่งในอัลบั้ม
ความกล้าที่จะเล่าในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก ทำให้ผมนึกถึงคำที่อภิชัยพูดถึงแฟนเพลง
“แฟนเพลงให้กำลังใจที่ยิ่งใหญ่มาก
ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราคิดและทำมันอย่างซื่อสัตย์
ก็มีคนที่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”

ทุกคนทุกโต๊ะต่างร้องตามพร้อมเพรียงจนผมขนลุก
บรรยากาศรอบตัวดูเข้ากับเนื้อเพลงที่เขาเขียนไว้

แค่รู้ตอนนี้ฉันมีเธออยู่
และช่างอบอุ่นใจ
และหากว่านี่คือวันสุดท้าย
ขอให้เป็นคืนวันที่ดีของเรา

“ทำแบบที่เรารู้สึกจริงๆ
เถอะ ผลลัพธ์มันจะเป็นยังไง ใครจะไม่ชอบใครจะรักก็แล้วแต่
ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ได้หลอกตัวเองแล้ว คนอื่นก็จะไม่รู้สึกว่าโดนเราหลอก
การซื่อสัตย์กับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรามาก”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 145 กันยายน 2555)

ภาพ นวลตา
วงศ์เจริญ

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

AUTHOR