ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า “ถ้ามีนา มีวัวควาย หรือมีป่า ก็มีกินมีใช้” – ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า “ถ้ามีนา มีวัวควาย หรือมีป่า ก็มีกินมีใช้” – ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

Highlights

  • ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า 'พะตีตาแยะ' คือปราชญ์ชุมชนวัย 72 ปีชาวปกาเกอะญอจากบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้เคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปี
  • งานหลักของเขาคือการเคลื่อนไหวต่อรองนโยบายรัฐที่สร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธ์ุที่พึ่งพาอาศัยป่า รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชาวปกาเกอะญอให้ผู้คน โดยเฉพาะเรื่องวิถีชุมชนที่เป็นการปกป้อง เกื้อกูลกันระหว่างคนกับป่าอย่างลึกซึ้ง
  • เพราะต้นตอปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาติพันธ์ุนั้นคือความไม่เข้าใจ นำไปสู่การปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ให้สังคม การสื่อสารเรื่องชุมชนโดยคนในชุมชนเองจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและงอกงาม

1. คนของป่า

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

เด็กหญิงกับน้องเล็กส่งเสียงเจื้อยแจ้วตามหลังพ่อผู้แบกจอบเหน็บพร้าก้าวฉับๆ มุ่งหน้าสู่ท้องไร่ ภาพและบรรยากาศตรงหน้าชวนให้ ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ วัย 72 ย้อนนึกไปถึงความลิงโลดในวัยเยาว์ ทุกเมื่อที่ปู่พาเขาเลาะดงพงไพรไปเลี้ยงควายกลางไร่ท้ายป่า แวะเก็บหาพืชผักสมุนไพร พลางสอดแทรกบทเรียนภูมิปัญญาและวิถีความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ห้ามทำนากิ่วดอย ห้ามฉี่ลงห้วยลบหลู่ผีน้ำ ห้ามสร้างบ้านจากต้นไม้ที่มีเถาวัลย์เกาะ และอีกสารพัดคำสอนของปู่ที่เขาจดจำมานำทางชีวิตและประดับวิธีคิดแก่ลูกหลาน ร้อน ฝน หนาวผันผ่านมาเกินกว่าครึ่งทาง พะตีตาแยะ (พะตี ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่า ลุง) ไม่เพียงเป็นหัวหน้าครอบครัวที่คอยฟูมฟักสมาชิกให้เคารพรักต่อธรรมชาติ แต่เขายังมีบทบาทเป็นปราชญ์ชุมชนแห่งบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเคลื่อนไหวต่อรองอำนาจรัฐจากนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พึ่งพาอาศัยป่า รวมถึงเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมปกาเกอะญอแก่สาธารณะ อันเป็นแนวทางปกป้องรักษาและเกื้อกูลกันระหว่างคนกับป่าอย่างลึกซึ้ง

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

“ความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอคือนับถือผี มีทั้งผีปู่ย่า ผีข้าว ผีฝาย หรือผีไฟ โดยก่อนที่จะมีการเผาไร่เพื่อทำไร่หมุนเวียน ทุกคนจะต้องทำแนวกันไฟและประกอบพิธีขอขมาท่านให้ช่วยเผาเศษวัชพืชต่างๆ ในแปลงเพาะปลูกให้เรียบร้อย ราบรื่น ไม่ลุกลามไหม้ป่า และเมื่อข้าวออกรวงก็จะนำไปเลี้ยงขอบคุณ หรืออย่างผีน้ำที่หมู่บ้านพะตีเพิ่งจัดพิธีเลี้ยงไปก็ถือเป็นอีกรูปแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวชาวบ้านจะไม่กล้าเข้าไปทำมาหากินเลยเพราะเกรงกลัวผี นี่เป็นพิธีกรรมความเชื่อหนึ่งซึ่งเราทำกันมานานมากแล้ว”

นานนับพันปี หากนับย้อนไปถึงรุ่นบรรพบุรุษของพะตีตาแยะที่โยกย้ายถิ่นฐานทุกครั้งที่ผู้นำชุมชนเสียชีวิต ร่อนเร่จากผืนป่าแม่แจ่ม แม่แดด แม่หยวก แม่ลา สู่สบลาน ก่อนอพยพออกจากบ้านภายหลังเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในยุคสัมปทานป่าไม้รุ่งเรือง

นานนับร้อยปี หากนับจากวันที่รัฐบาลยกเลิกสัญญาสัมปทาน และชาวปกาเกอะญอกลุ่มเดิมก็หวนกลับมาตั้งรกรากขยับขยายเติบโตเป็นชุมชนบ้านสบลานจนกระทั่งปัจจุบัน

 

2. นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

“โตขึ้นมาให้ขยันทำนาทำไร่” คือคาถาเอาชนะความลำบากยากจนที่พ่อแม่ของพะตีตาแยะพร่ำสอนเสมอ ทว่าความฝันอยากมีบ้าน มีภรรยา มีที่นา และมีวัวควายสักฝูง ความเป็นจริงวันนี้มีต้นทุนที่ต้องแลกมากกว่านั้น

“เมื่อก่อนตอนพะตียังเด็กจำได้ว่าครอบครัวจนมากถึงขั้นไม่มีข้าวกิน พอเริ่มโตเลยตัดสินใจออกไปหางานทำในเมืองได้ 5 ปี แล้วกลับมาเป็นลูกจ้างตีตราประจำต้นไม้ในช่วงที่มีการทำสัมปทานป่าแม่ขาน ตอนนั้นพะตีไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรสักอย่าง คิดแค่ว่าอยากมีเงินมาเบิกนากับซื้อควายสักคู่ เขาให้ค่าแรงต้นละ 2 บาท ทำอยู่หนึ่งปีก็เริ่มเข้าใจกระบวนการตัดไม้และได้เห็นผลกระทบจากสัมปทานป่า ทั้งความเสียหายในแปลงเกษตรของชาวบ้านที่ถูกช้างลากซุงบุกรุก ป่าความเชื่อของบรรพบุรุษที่ถูกทำลาย หรือปัญหาไฟป่าที่รุนแรงขึ้นกว่าปีก่อนๆ ภายหลังเสร็จสิ้นการทำสัมปทานเป็นช่วงที่ชาวบ้านลำบากกันมาก แต่ก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในการโต้แย้งเพราะว่าไม่รู้กฎหมาย ทุกคนจึงทำได้แค่เพิ่มพื้นที่แนวกันไฟ”

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

ต้นตอปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานใจกลางผืนป่า ส่วนหนึ่งนั้นมีสาเหตุจากความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะชุมชนชาวปกาเกอะญอ กลุ่มชาติพันธ์ุที่มีวิถีผูกพันแน่นแฟ้นกับป่าและเป็นผู้รักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าตะวันตกและป่าทางภาคเหนือของไทยมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งยังมีการปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนว่าปัญหาตัดไม้ทำลายป่าเกิดจากคนบนดอยทำไร่เลื่อนลอย ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนซึ่งช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชและแหล่งอาหาร จนนำมาซึ่งการทวงคืนผืนป่าหรือการรุกล้ำทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านผ่านการจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย

“พะตีก็ไม่เคยคิดนะว่าจะได้มาทำงานแบบนี้ แต่มีช่วงหนึ่งที่พะตีตามพี่เขยซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวไปลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน แล้วก็มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ปัญหาชุมชนมูเซอหลังเมือง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นชาวบ้านกำลังจะอพยพเพราะมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าบ้านเรือนของพวกเขาตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ พะตีเลยเข้าไปถามไถ่ว่าที่อยู่ปัจจุบันกับที่กำลังจะย้ายไปอยู่ใหม่ตรงไหนดีกว่ากัน ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นี่สบายกว่าเพราะมีนา มีวัวควาย มีที่ทำกิน ถ้าย้ายไปเขาจะให้ไปทำงานรับจ้าง ได้เงินมาก็ต้องเอาไปซื้อข้าวกินอยู่ดี ฟังแล้วพะตีก็รู้สึกสงสารและเข้าใจคนอื่นที่เขาได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน เลยหาคนช่วยยื่นหนังสือเรียกร้องให้ชาวบ้านมีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินผืนเดิม”

เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พะตีตาแยะก้าวสู่บทบาทนักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เดินสายจุดประกายองค์ความรู้เรื่องการปกป้องสิทธิ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสมาชิกชุมชนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือกันยามได้รับผลกระทบ พร้อมพัฒนาข้อตกลงที่อยู่อาศัยร่วมกับป่าซึ่งต่อยอดภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณี ให้กลายเป็นกฎเกณฑ์ที่แสดงให้เห็นแนวทางการจัดการป่าเชิงประจักษ์ เช่น จัดทำแผนที่ขอบเขตพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่า กำหนดเขตคุ้มครองสัตว์ป่าและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หรือแต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านดูแลเรื่องการตัดไม้ใช้สอย

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

ต่อมาใน พ.ศ. 2536 เมื่อทางกรมป่าไม้มีแผนเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ซึ่งแนวเขตของอุทยานฯ ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนบ้านสบลาน พะตีตาแยะพร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือและมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจึงได้รวมตัวกันคัดค้าน นำเอกสารต่างๆ และแผนที่แนวเขตหมู่บ้านที่ได้จากการเดินสำรวจพิกัดโดยระบบจีพีเอสไปเจรจาหาข้อตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พะตีตาแยะบอกเล่าประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน อธิบายแนวทางการดูแลรักษาป่าตามวิถีปกาเกอะญออย่างชัดเจน ฉะฉาน ผลที่ตามมาคือมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นก็ทำให้ทางกรมป่าไม้ยอมชะลอการพิจารณาประกาศเขตอุทยานฯ

“จริงๆ เราเป็นคนชายขอบที่มักโดนโจมตีบ่อยเรื่องทำลายป่า บางคนเขาด่าเราว่า ‘มอบป่าให้คนพวกนี้ก็เหมือนมอบไม้ให้มอด’ พะตีเคยเสียใจที่ได้ยินอะไรแบบนี้ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าเขาแค่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ การออกมารวมตัวเดินขบวนเรียกร้องจึงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาที่พะตีมองว่าจะช่วยเปิดโอกาสให้เราได้เจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกๆ ฝ่ายอย่างสันติวิธี ไม่ใช่การด่าทอกันไปมาหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งเราก็เคยทำมาก่อนแต่มันไม่เคยสำเร็จผล

24 วันถ้วนในป่าจิตวิญญาณชุมชนบ้านสบลาน พะตีตาแยะเดินนำเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ สำรวจแนวเขตและเก็บข้อมูลชุดใหม่เพื่อส่งให้ทางจังหวัดพิจารณาอีกหนเมื่อปีกลาย แม้สถานการณ์ภายหลังการผุดขึ้นมาของนโยบายทวงคืนผืนป่าและการรื้อฟื้นเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใหม่อีก 21 แห่ง อันรวมถึงอุทยานแห่งชาติออบขาน จะยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่พะตีเชื่อมั่นเสมอในความเข้มแข็งของชุมชนที่ดำรงวิถีอย่างนอบน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ และเห็นความหวังจากหนุ่มสาวหลายคนที่สนใจมาเรียนรู้ปัญหา ร่วมด้วยช่วยกันขบคิดและพัฒนาข้อมูลด้านการดูแลจัดการป่าให้มีพลังมากยิ่งขึ้น

 

3. รักษาป่าด้วยความเชื่อ

“พะตีเคยโดนดูถูกหลายครั้งว่าเป็นคนไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หนังสือหนังหา แล้วจะดูแลรักษาป่าได้ยังไง พะตีลองมาคิดๆ ดู การดูแลป่ามันไม่เกี่ยวกับความรู้หรือกฎหมายนะ แต่มันเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธามากกว่า สิ่งนี้ต่างหากที่ช่วยรักษาป่าไว้”

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

พะตีตาแยะชี้ให้มองดูต้นไม้สูงใหญ่เรียงรายในชายป่าแล้วบอกว่า เหล่านี้คือต้นไม้ที่ได้รับการอนุรักษ์จากความเชื่อ ‘เดปอทู่’ หรือ ‘ต้นสะดือ’

ชาวปกาเกอะญอทุกคนจะมีต้นไม้ประจำตัวคนละต้น เพราะทันทีที่ปกาเกอะญอคนหนึ่งลืมตาดูโลกพ่อแม่จะตัดสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ไปผูกติดไว้กับต้นไม้ ซึ่งจะกลายเป็นต้นสะดือของคนคนนั้น และห้ามใครก็ตามตัดทำลาย กระทั่งเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ญาติๆ ก็จะช่วยกันรวบรวมข้าวของผู้ตายใส่ย่ามวางไว้ใต้ต้นไม้แห้งในป่าช้า ด้วยเชื่อว่าต้นไม้จะช่วยส่งวิญญาณไปยังเมืองผี โดยป่าช้านั้นมีสถานะเป็นอีกพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำมาหากิน จึงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณนี้เขียวขจีอุดมสมบูรณ์

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

ความเชื่อดูแลน้ำ ดูแลป่า และปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ของชาวปกาเกอะญอ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ชาวสบลานส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปทำคลอดที่โรงพยาบาล แต่พะตีตาแยะบอกว่าพ่อแม่ทุกคนยังขอสายสะดือลูกกลับมาผูกต้นสะดือกันอยู่ เพราะอยากให้เด็กที่เกิดมารักต้นไม้ เหตุนี้เองกว่า 8,700 ไร่ของชุมชนบ้านสบลานในปัจจุบันจึงมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์จากความเชื่อมากถึง 7,000 ไร่ ซึ่งผูกพันและมีคุณค่ากับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

“ป่ามีบุญคุณกับคนเยอะมากๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะปกาเกอะญอที่พึ่งพาอาศัยป่า อย่างเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้เงินเดือนก็เพราะดูแลป่า หรือเวลามีคนกรุงเทพฯ มาเที่ยวที่หมู่บ้าน พะตีจะบอกตลอดว่าป่าพวกนี้ไม่ใช่แค่ป่าของเรา แต่เป็นป่าของเขาด้วยเหมือนกัน เพราะทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า และถ้าป่าอุดมสมบูรณ์คนปลายน้ำก็จะมีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ถ้าใช้เป็น ใช้แล้วรักษา รุ่นลูกหลานเราก็ใช้ต่อได้ไม่มีวันหมด สำคัญสุดคือห้ามเอาไปขาย ห้ามเปลี่ยนป่าเป็นเงินเด็ดขาด ถ้ากลายเป็นเงินเมื่อไหร่หมดแน่ไม่ว่าอะไรก็ตาม”

 

4. โรงเรียนวิถีชีวิต

เมื่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไม่เพียงสะท้อนรากเหง้าตัวตน แต่ยังสามารถปกปักวิถีชุมชนและรักษาผืนป่าได้อย่างยั่งยืน ‘โจ๊ะมาโลลือหล่า’ หรือโรงเรียนวิถีชีวิตจึงงอกงามขึ้นภายใต้ความมุ่งมั่นของพะตีตาแยะและมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้รับโอกาสทางการศึกษาควบคู่กับซึมซับมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านปกาเกอะญอ

“ที่ผ่านมาเด็กๆ จะต้องไปเรียนหนังสือนอกหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากการเดินทางลำบาก การเรียนการสอนจากหลักสูตรส่วนกลางยังทำให้หลายคนห่างไกลจากรากเหง้าวัฒนธรรมตัวเอง แล้วตอนนี้พะตีเห็นคนเรียนสูงๆ จบมาตกงานเยอะแยะ ในหมู่บ้านก็มีนะจบ ม.6 แล้วไปทำงานต่อในตัวเมืองเชียงใหม่ได้ไม่ถึงปีก็กลับมาเพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ค่าจ้างน้อย การสอนให้เด็กทุกคนเรียนรู้รากเหง้าวัฒนธรรมก็เพื่อให้พวกเขาสามารถเอาตัวรอดได้ในภายหน้าเมื่อตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในชุมชน อย่างน้อยที่สุดให้รู้ว่าถ้ามีนา มีวัวควาย หรือมีป่า พวกเขาก็มีกินมีใช้”

สำหรับความแตกต่างของโรงเรียนแห่งนี้ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของหลักสูตรที่มีการเพิ่มองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยมีพะตีตาแยะเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาภาษาปกาเกอะญอ บทธา (บทกวีปกาเกอะญอ) นิทานปกาเกอะญอ รำกระบี่กระบอง รวมถึงการเรียนการสอนจากประสบการณ์จริง เช่น พานักเรียนไปร่วมประเพณีแต่งงาน ดูพิธีกรรมในไร่นา เดินป่าศึกษาพืชสมุนไพร ต้นไม้ ภูเขา และป่าจิตวิญญาณ เพื่อปลูกฝังความเข้าใจในขนบธรรมเนียมและการใช้ชีวิตอย่างเคารพหวงแหนธรรมชาติ ส่วนหลักสูตรขั้นพื้นฐานอย่างภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และกฎหมายในชีวิตประจำวัน จะมีครูอัตราจ้างและครูอาสาจากกรุงเทพฯ มาช่วยสอนสม่ำเสมอ

“พอพ้นหน้าแล้ง เกี่ยวข้าวเสร็จ พะตีก็จะดูว่าควายตัวไหนที่พอขายได้ก็ขายไป บางปีได้อยู่ 40,000-50,000 บาท แต่ปีไหนควายแพงก็ได้เป็นแสนเหมือนกัน พะตีใช้เงินเยอะเพราะต้องทำเรื่องการศึกษา แต่เรื่องปากท้องของพะตีนี่ง่ายนะเพราะมีดิน มีน้ำ มีป่า สำหรับพะตีสามสิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่าเงินทองหรือไฟฟ้าเพราะทำให้มีข้าวกินและความมั่นคง ไฟฟ้ากับการพัฒนาก็จำเป็น บางอย่างมีประโยชน์จริง แต่เราต้องรู้จักใช้ ไม่ใช้สะเปะสะปะเกินไป มันจะสร้างปัญหาให้เราได้”

ถึงแม้งบประมาณสนับสนุนในการจ้างครูผู้สอนจะพร่องไปได้พักใหญ่ แต่พะตีตาแยะยังคงสานต่อความตั้งใจด้วยการหารายได้มาดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโรงเรียน ทั้งจากการขายควายและการรับหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการศึกษาทางเลือกตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนต้อนรับคณะนักศึกษาที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องป่า วิถีชีวิตปกาเกอะญอ และทำกิจกรรมธรรมชาติบำบัดฟื้นฟูกายใจให้สงบร่มเย็น

5. นิทานเรื่องเงินผิดข้าว

นิทานปกาเกอะญอเปรียบเสมือนบทเรียนนอกตำราซึ่งสอดแทรกเนื้อหา ความเชื่อ แนวคิด และจิตวิญญาณ ไว้อย่างแยบยลและสนุกสนาน เช่นนิทานเรื่องโปรดเรื่องนี้ที่พะตีตาแยะชอบเล่าให้เด็กๆ ฟัง 

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีอยู่ 2 คน คนหนึ่งมั่งคั่งทรัพย์สินเงินทอง อีกคนมีข้าวสารกองเหลือล้น วันหนึ่งเศรษฐีรวยทรัพย์แวะไปหาเศรษฐีข้าวแล้วเอ่ยกับข้าวว่า ‘เกิดเป็นข้าวช่างน่าสงสาร ดูสิพอเจ้าของเจ้ากินจนอิ่มก็เขี่ยเศษทิ้งขว้าง ส่วนตัวข้ารักเงินทองมาก ยามจะนอนก็สอดใต้หมอนไว้นอนหนุน’ ข้าวได้ฟังดังนั้นก็นึกน้อยใจแล้วไม่นานก็หนีหลบไปอยู่ในถ้ำ

“ต่อมาเมื่อลูกของเศรษฐีรวยทรัพย์ร้องไห้งอแง แม้แช่เงินแช่ทองให้ดื่มก็ไม่เป็นผล จนบังเอิญเจอเมล็ดข้าวติดบนขนหมา ผู้เป็นพ่อเลยลองหยิบมาแช่น้ำให้ลูกกิน พอเด็กน้อยได้ชิมก็เลิกร้องไห้จ้า นั่นเองที่ทำให้เศรษฐีเริ่มตระหนักว่าข้าวมีค่ามากเสียยิ่งกว่าเงิน ทว่าบัดนี้ข้าวนั้นหนีหาย มนุษย์ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงคิดหาวิธีนำข้าวกลับคืนนา โดยขอแรงมดแต่มดก็ขนไม่ไหว ให้หนูเข้าไปก็เอาแต่แทะกิน สุดท้ายจึงวานนกผีดช่วยเหลือ ฝ่ายนกผีดยินดีรับใช้แต่มีเงื่อนไขว่ามนุษย์จะต้องแบ่งข้าวให้มันกินหากภารกิจนี้สำเร็จ ตกลงเสร็จสรรพก็บินถลาเข้าถ้ำ แต่ระหว่างย้อนกลับออกมานั้นปากถ้ำก็ปิดลงกะทันหันทับร่างของมัน บังเอิญโชคดีที่นางมารร้ายผ่านมา นางจึงเปิดกระโปรงช่วยให้ถ้ำหัวเราะลั่นและเผลออ้าปาก นกผีดเลยเป็นอิสระและกลับออกมาพร้อมกับเมล็ดข้าว บัดนั้นเป็นต้นมามนุษย์จึงมีพันธุ์ข้าวทำนาและหุงหาเป็นอาหารจวบจนปัจจุบัน

“รู้ไหมว่าพอข้าวออกจากถ้ำมันสาปแช่งเอาไว้ ถ้าใครทำนาเกินปีละหนจะต้องตกทุกข์ได้ยาก คนสบลานเลยทำนากันแค่ปีละครั้ง ข้อดีของการเว้นช่วงคือวัวควายจะมีที่อึที่ฉี่ นั่นแหละปุ๋ยอย่างดีที่ทำให้ดินที่นี่อุดมสมบูรณ์”

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ

พะตีตาแยะเล่าเสริมเกร็ดจากนิทานที่สอดประสานกับวิถีแห่งการงานของชาวชุมชน เพื่อสอนให้เด็กๆ ได้หยุดคิดในยุคสมัยที่สังคมหล่อหลอมให้ทุกคนจ้องแต่จะวิ่งไขว่คว้าหาเงินทอง จนหลงลืมความสำคัญของข้าวที่เปรียบดังชีวิต

“คนเฒ่าคนแก่บอกว่าเงินเหมือนน้ำบ่อหน้า ส่วนข้าวเหมือนน้ำบ่อหลัง เวลาจะขุดน้ำบ่อหน้าเราต้องรักษาน้ำบ่อหลังด้วย เพราะถ้าขุดน้ำบ่อหน้าแล้วน้ำไม่ขึ้น กลับมากินน้ำบ่อหลังก็ยังได้อยู่”

วงนิทานจบลงแล้วเราจึงขยับสู่วงอาหารกลางวัน หน่อปลิ๊ ลูกสาวคนโตของพะตียกสำรับมา มีปลากระป๋องกับข้าวสวย ข้าวถ้วยปลาตัว คนก็อิ่มท้อง ส่วนลูกแมวที่เฝ้าคลอเคลียได้ข้าวคลุกซอสก็เคี้ยวหยับๆ หลับตาพริ้ม หลังกินจนอิ่มแปล้ พะตีก็แยกไปมวนใบยา ส่วนผมไต่ขึ้นมายืนหอบแฮกอยู่ภายในรั้วโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ท่ามกลางความร่มรื่นจากต้นไม้นานาและอาคารเรียนมุงใบก้อ 

“ถ้าร่างกายพะตีเดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวก พะตีก็จะอยู่ดูแลโรงเรียน สร้างลูกพะตีมาเป็นครูสอน สร้างคนรุ่นใหม่มาสานต่อแนวทางให้พวกเขาสามารถ ‘ทำได้’ และ ‘เจรจาได้’ เหมือนกับพะตี เพื่อดูแลป่าผืนนี้และปกป้องชุมชนของเราให้เข้มแข็งต่อไป”

ผมยังจำถ้อยคำมั่งมุ่นและสีหน้าแววตาภาคภูมิใจครู่ก่อน เมื่อพะตีตาแยะเอ่ยถึงศิษย์ที่จบจากโจ๊ะมาโลลือหล่าแล้วสามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นเพียงพอแล้วกับคำตอบที่ทำให้ตอนนี้ผมหมดคำถามว่าทำไมชายวัย 72 ถึงต้องยอมทุลักทุเลขึ้น-ลงทุกวี่วันเพื่อสอนลูกศิษย์เพียง 7 คน และยังหวังใจไว้ว่าเขาจะทำมันจวบจนบั้นปลายของชีวิต

ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

พะตีเป็นนักเคลื่อนไหวและทำงานเครือข่าย ทุกวันพะตีจึงมีชีวิตที่คิดเพื่อลูกหลาน ช่วยเหลือคนอื่นที่มีปัญหาเหมือนกัน รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ถึงแนวทางการอนุรักษ์ป่าโดยชุมชน เพื่อจะได้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในอนาคต

เหตุการณ์ที่มอบบทเรียนสำคัญกับชีวิต

คงจะเป็นการรวมตัวเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้พะตีได้เจอเพื่อน เครือข่าย ครูบาอาจารย์ พะตีจึงได้เรียนรู้เยอะมาก อีกทั้งยังได้เข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมันทำให้พะตีรู้สึกว่าตนเองก็มีสิทธิมีเสียง มีความมั่นใจ และได้สร้างเครือข่ายความเข้มแข็งเพื่อปกป้องผืนป่าและชุมชนของเราด้วย

อยากให้คนจดจำตัวเองแบบไหน

พะตีไม่เคยคิดว่าจะต้องมีคนจดจำอยู่แล้ว ถามว่าการจดจำมันมีค่าไหม มันก็มีนะ แต่ในทางกลับกันถ้าเขาจดจำเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วเราทำมันไม่ได้อีกต่อไป มันกลับจะซ้ำเติมเราด้วยซ้ำ อย่างมีหลายคนเรียกพะตีว่าปราชญ์ชุมชน จริงๆ พะตีก็ไม่ค่อยเข้าใจนะว่ามันหมายความว่าอะไร อาจเพราะพะตีสามารถเจรจาพูดคุยกับคนนู้นคนนั้นได้ ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าตามผิด ปราชญ์ชุมชนจึงเป็นแค่คำคำหนึ่ง ไม่ได้สำคัญอะไร พะตีเลยคิดว่าเราไม่ต้องจดจำกันก็ได้ แค่มารู้จักกันแบบธรรมดาๆ จะดีกว่า


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ a day 232 ฉบับชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า ที่รวมเรื่องราวชีวิตจาก 20 ผู้สูงวัยด้วยเชื่อว่าบางบทเรียนของผู้อาวุโสอาจทำให้เราผ่านชีวิตไปได้อย่างไม่ร้อนรนและทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่าอะไร”

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน