ความรักในของเก่าและความประสงค์ครั้งใหม่ของ เอนก นาวิกมูล ชายผู้อุทิศหัวใจให้การสะสม

คงเป็นไปได้ยากหากจะให้นิยามว่า ‘เอนก นาวิกมูล’ เป็นใครในประโยคเดียว

ในบทบาทหนึ่ง เขาคือนักเขียนสารคดีชั้นครู ความสนใจเรื่องเพลงพื้นบ้าน สิ่งของ ภาพถ่าย และประวัติศาสตร์บ้านเมืองในยุคเก่าพาเขาไปศึกษาค้นคว้า เก็บข้อมูลภาคสนาม และสร้างสรรค์งานสารคดีให้นิตยสารหลายฉบับในอดีต งานของเขาถูกยกย่องว่าสามารถถ่ายทอดได้อย่างประณีตและหมดจด

รางวัลสารคดีเกียรติยศ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2553 คือเครื่องการันตีชั้นดีว่าเขาคือปูชนียบุคคลของแวดวงสารคดีไทย

เอนกยังเป็นนักวิชาการ นักสะสมของเก่า นักจัดรายการวิทยุ ช่างภาพ และหากใครได้รู้จักเขาอย่างใกล้ชิดจะรู้ว่า เขาเป็นคนใต้ที่ไม่กินแกงใต้ เป็นคนกินยากแต่อยู่ง่าย เป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ และเป็นพ่อของลูกสาวที่น่ารักทั้งสองคน

เอนก นาวิกมูล

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้สนิทสนมและเพิ่งจะได้พบกับเอนกอย่างเรา จากการสนทนากันเราพอจะสรุปได้ว่าเขาคือคนที่สนุกกับทุกสิ่งที่ทำ ในขณะเดียวกันก็จริงจังกับมันอย่างยิ่ง แม้ในวันที่เอนกอายุร่วม 66 ปีและผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน

เขาเขียนหนังสือกว่าสองร้อยเล่ม เคยเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อตามหาพ่อเพลงและแม่เพลงผู้อนุรักษ์เพลงท้องถิ่น เป็นผู้ก่อตั้ง ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ สถานที่เก็บของเก่าซึ่งรับบริจาคของจากคนทั่วไปมาจัดแสดงเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

เราสงสัยว่าหลังจากงานทั้งหมดที่เขาทำมา ยังมีสิ่งอื่นที่เอนกประสงค์จะทำอีกหรือไม่

“มี” คำตอบจากเขาทำให้เราประหลาดใจ

บทสนทนาหลังจากนั้นบอกเราว่าเขากำลังจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ถามว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน อาจยิ่งใหญ่เท่าบ้านหนึ่งหลัง

1 เอนก นาวิกมูล

เรามาถึงหน้าบ้านพิพิธภัณฑ์แต่เช้าตรู่

หากตัดสินด้วยสายตา ที่นี่ดูเหมือนบ้าน 3 ชั้นธรรมดาของผู้อยู่อาศัย ย่านปริมณฑล เพราะยังไม่ถึงเวลาเปิดบ้าน เราจึงเห็นเพียงประตูเหล็กดัดบานเลื่อนที่ปิดสนิท ผนังไม้ที่ผ่านวันเวลามาจนเก่า ถ้าไม่มีป้ายบอกก็คงเดาไม่ออกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์

อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเดาด้วยซ้ำ เพราะจุดประสงค์ของที่นี่คือการขมวดรวมคำว่าบ้านและพิพิธภัณฑ์เข้าด้วยกัน  

ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ซึ่งด้านในจัดแสดงของเก่าอย่างเป็นสัดเป็นส่วน คล้ายตลาดขนาดย่อมที่มีร้านขายแบบเรียน ร้านขายน้ำ ร้านตัดผม และอีกสารพัดร้านที่จำลองวิถีชีวิตในช่วงปี 2500 ราวกับยกสังคมสมัยคุณพ่อ คุณแม่ยังเด็กมาตั้งไว้ในบ้าน 

ที่นี่เปิดให้คนได้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ มีการเก็บค่าบัตรเป็นค่าบำรุงและค่าน้ำค่าไฟ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาทำงานให้นั้นเป็นอาสาสมัคร พูดได้ว่ามาด้วยใจล้วนๆ

สำหรับบางคน ที่ที่เราอยู่ด้วยใจ อาจเป็นความหมายของคำว่าบ้าน

เอนก นาวิกมูล

คงไม่มีใครที่เข้าใจคำนั้นได้เท่าชายผู้ดูแลที่แห่งนี้ แม้เอนกจะไม่เคยเรียกตัวเองว่าเจ้าของบ้าน แต่การคลุกคลีอยู่กับบ้านพิพิธภัณฑ์มายาวนานกว่า 18 ปีตอบคำถามได้ดีว่าเขาอยู่ที่นี่ในฐานะอะไร

“ผมนอนที่นี่” เอนกพูดในช่วงแรกเริ่มสนทนา

“ช่วงนี้วุ่นๆ นั่งประชุมมาเป็นเดือน เตรียมของอะไรอุตลุด” เขาอธิบาย ถึงสาเหตุของอาการเหนื่อยล้าในแววตา ด้วยเพราะกำลังเตรียมงานนิทรรศการ ‘บ้านพิพิธภัณฑ์: บ้านไร่ ใกล้ตลาด’ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนสร้างบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ 

ใช่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำลังจะย้ายบ้าน

ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม คือที่ตั้งของบ้านหลังใหม่

“เนื่องจากที่ตรงนี้มันคับแคบ รกขึ้น พอรกแล้วไม่น่าดู ผมก็อยากจะขยับขยายจึงไปซื้อที่ดินแถวงิ้วรายตั้งแต่ปี 2551”

“ทำไมต้องงิ้วราย”

“คงเป็นวาสนาที่ต้องไปเปิดตรงนั้น เราเห็นงิ้วรายมาตั้งนานแล้ว แหล่งท่องเที่ยวเยอะ แล้วมันก็สำคัญมากในช่วง 60 ปีก่อน เพราะตอนนั้นการเดินทางทางถนนยังไม่สะดวก เวลาคนจากสุพรรณบุรีจะมาทำธุระที่กรุงเทพฯ เขาจะนั่งเรือสองชั้นล่องมาทางแม่น้ำนครชัยศรี และมาขึ้นที่งิ้วราย มันเคยคึกคักมากในอดีต

“แล้วบ้านพิพิธภัณฑ์ตรงนี้มันหลังเล็ก เหมือนเอาตลาดมายัดใส่อาคาร แต่ถ้าไปงิ้วรายจะแผ่ออกกลางแจ้ง เดินเข้าไปก็เห็นร้านรวงเลย เหมือนเราสร้างตลาดที่ให้ความรู้และให้ความเพลิดเพลินเจริญใจ”

ด้วยเติบโตมากับลำคลองตั้งแต่เด็ก ความคิดแรกเริ่มของเอนกจึงตั้งใจอยากให้บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่มีรูปแบบคล้ายตลาดน้ำ แต่หลังจากปรึกษากับนักออกแบบเรื่องพื้นที่และงบประมาณที่จำกัด เอนกจึงเปลี่ยนใจ ให้บ้านหลังใหม่นั้นมีบรรยากาศท้องไร่ มีแปลงเกษตรอินทรีย์ตั้งใกล้กับส่วนจัดแสดงของเก่า ซึ่งถูกออกแบบให้คล้ายห้องแถวในตลาด โดยมีจุดประสงค์เพิ่มเติมนอกจากให้ความรู้คือการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติ

นั่นคือที่มาของ ‘บ้านไร่ ใกล้ตลาด’ บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่งิ้วราย 

แม้จะมีการวางแผนชัดเจน แต่สิ่งที่เอนกมีอยู่ในมือคือพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจำนวน 4 ไร่เท่านั้น ทว่าเหมือนสวรรค์ได้ยินเสียงในใจของเขา เมื่อต้นปี 2560 เอนกได้รับบริจาคตู้คอนเทนเนอร์จากมิตรสหายคนหนึ่งแบบฟรีๆ มาถึง 15 ตู้

เหตุการณ์นั้นเหมือนสัญญาณบอกว่าเขาควรเดินเครื่องโปรเจกต์บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ได้แล้ว     

“บางทีชีวิตก็คล้ายกับการผจญภัยเหมือนกันนะ เดินมาเจอคนนั้นคนนี้ เจอคนดีๆ เขาก็ชักนำไปในทางที่ดี”

กระนั้นการสร้างพิพิธภัณฑ์ในฝันย่อมมีค่าใช้จ่าย 

และ 18 ล้านบาทคือมูลค่าของความฝันครั้งนี้

ลำพังตัวเอนกเองคงไม่อาจหาเงินเยอะขนาดนั้นได้ในเวลาสั้นๆ เป็นเหตุผลให้เขาต้องจัดนิทรรศการเพื่อระดมทุนจากประชาชน 

“พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ใช่ของนายเอนก นาวิกมูล หรือใครทั้งสิ้น ไม่ใช่ของสมาคมกิจวัฒนธรรมโดยตรงหรอก เราเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่หาทางทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา เพื่อประชาชน ของประชาชน โดยประชาชน”

เอนก นาวิกมูล

2 เอนก นาวิกมูล

ภายในบ้านพิพิธภัณฑ์ มีมุมหนึ่งรวบรวมหนังสือที่เอนกเขียน ตั้งอยู่ท่ามกลางของเก่าเก็บจากอดีตที่ถูกแบ่งเป็นคูหาตามประเภทการใช้สอย

“ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก” เขาเล่าขณะพาเราชมชั้นวางที่มีหนังสือหลักร้อยเล่มจัดวางอยู่ กลิ่นความเก่าลอยฟุ้งในอากาศชวนให้นึกย้อนกลับไป “ในบ้านมีหนังสือเยอะ ทั้งเก่าทั้งใหม่ พ่อซื้อมาขายและเก็บ แกเป็นนักบันทึก เราเลยชอบบันทึกเหมือนแก มันอยู่ในสายเลือด”

เอนกเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 7 คน เขาเติบโตมากับร้านขายแบบเรียนของครอบครัว การเห็นปกหนังสือแบบเรียนสีสันสดใสของนักวาดฝีมือดีจุดประกายให้อยากขีดเขียน กอปรกับการได้อ่านงานอย่าง ภาษาภิรมย์ ของเปลื้อง ณ นคร และการเห็นรูปวาดของครูเหม เวชกร ในหนังสือหลายปก

ความประทับใจนี้ถูกเก็บเกี่ยวตั้งแต่ชั้นประถม ริมหน้าต่างห้องนอนคือมุมที่เอนกโปรดปรานที่สุดในบ้าน เพราะจินตนาการและการเขียนนิทาน เริ่มต้นจากตรงนั้น

ส่วนวัตถุดิบชั้นดีในการเขียน เอนกบอกว่าได้มาจากนอกบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเดินสำรวจแม่น้ำลำคลองที่เขาชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจ

“บ้านผมอยู่ใกล้คลองระโนด (อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา) ผมชอบพายเรือเล่นตอนน้ำท่วม เพราะสมัยก่อนน้ำท่วมไม่ใช่ภัยธรรมชาติ และเวลาหน้าน้ำเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนมันสวยมาก ผมชอบออกไปพายเรือ เที่ยวทุ่ง”

เที่ยวทุ่งเมื่อหน้าน้ำ คือหนึ่งในหนังสือที่เอนกได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์วัยเด็กของเขา ความประทับใจเรื่องธรรมชาติ วิถีชีวิต เพลง สิ่งของ โฆษณา และภาพวาด ในยุคนั้นตราตรึงจิตใจ และค่อยๆ หล่อหลอมตัวตนจนกลายเป็นเอนกในทุกวันนี้

“ศิลปะมีส่วนเยอะมากในการขัดเกลามนุษย์ ลองคิดดูว่าถ้ามนุษย์ไม่มีเพลง ไม่มีภาพวาด ไม่มีของสวยๆ ให้ดู ไม่มีเสียงนกร้องเพลง มันน่าจะเหงา 

“ผมโตมากับการได้ยินเสียงใบไม้ ได้กลิ่นข้าวที่มันหอม เวลาข้าวมันตั้งท้อง กลิ่นมันจะหอมระรวยเลย ตอนกลางคืนมีดอกซ่อนกลิ่น ตอนเช้ามืดมีดอกมะลิบานที่แม่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน มันหอมจริงๆ นะ แล้วพอเดือนหงาย แม่ไปนั่งที่สะพานข้ามบ่อน้ำเล็กๆ ที่ขุดกันหลังบ้าน แล้วลูกๆ ก็ไปนอนหนุนตักแม่ดูพระจันทร์ มันคลาสสิกมาก”

ได้ฟังดังนั้น ความสงสัยว่าทำไมเขาถึงผูกพันกับอดีตนักพลันหายไป

“การเติบโตมากับสิ่งนี้ ผมว่ามันทำให้จิตใจเราไม่แข็งกระด้าง”

3 เอนก นาวิกมูล

“เพราะผูกพันกับอดีตมาก คุณจึงชอบเก็บสะสมหรือเปล่า” เราถามชายวัย 66 ปี

“มีส่วน แต่ความจริงผมชอบสะสมตั้งแต่ ป.3-4 จำได้ว่าของสะสม ชิ้นแรกๆ ของผมคือเรือขนาดเท่านิ้วก้อย เป็นของแถมจากผงซักฟอกยี่ห้อหนึ่งที่เปิด 1 กล่องจะได้เรือ 1 ลำ มันประหลาดที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังสืบไม่ได้ ว่ามันคือผงซักฟอกยี่ห้ออะไร 

“แล้วก็มีตุ๊กตาลายทหาร มีรูปลอกที่แปะบนแขนและสมุด มีสมุดระบายสีแบบสมัยก่อนที่ใส่สีไว้ในตัวสมุด พอนำพู่กันชุบน้ำไปแตะก็เกิดสีขึ้นมา”

“คุณได้รับอิทธิพลเรื่องการสะสมมาจากใคร”

“ผมติดมาจากพ่อมั้ง พ่อเขาชอบเก็บ เก็บรูปยาซิกาแรตที่แถมในซองบุหรี่ เก็บรูปวาด หนังสือ ของจุกจิกต่างๆ เขาชอบการประดิษฐ์ ชอบการเก็บบันทึก ชอบฟังเพลง ผมก็ได้มาหมด”

ระหว่างที่คุยกัน เราเดินผ่านโซนของเล่นเด็กพอดี ของเล่นพลาสติกรุ่นเก่าที่เราไม่คุ้นตาจัดเรียงอยู่ในตู้กระจกและโถใส เอนกเดินไปหยิบเครื่องบิน 2 ลำขึ้นมาแล้วยื่นให้ ภาพนี้ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึง เอนกในวัยเด็กที่กำลังเล่นสิ่งนี้เป็นภาพซ้อนทับขึ้นมา 

“สำหรับคุณ ความสุขจากการสะสมเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน” 

“ตอนได้หยิบมาดูอีกครั้งหรือได้ใช้ประโยชน์จากของสะสมเหล่านั้น เช่นเอามาเขียนหนังสือ เอามาถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นได้รู้ บางเรื่องหายไปแล้วเราก็รื้อฟื้นให้เขาได้เห็น”

เขาอธิบายอย่างซื่อตรง ของที่เขาเก็บไว้ในวันนั้นส่งผลต่อวันนี้ยังไง ที่ที่เรายืนอยู่คือคำตอบชัดเจน

“ทำไมคนเราต้องเก็บสิ่งของด้วย แค่ชอบอย่างเดียวมันไม่พอหรือ” เราสงสัย

“สำหรับผม มนุษย์มีสิ่งที่ควรทำอยู่ 3 ขั้นคือ หนึ่ง เราทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง สอง เราเลี้ยงครอบครัว สาม ถ้ามีกำลังพอแล้วเราต้องเผื่อแผ่สังคม 

“เรื่องของสะสม เราเก็บของเรา ความรู้ก็อยู่แค่ในตัวเรา แต่เราอยากเผื่อแผ่ให้ทุกคนได้ความรู้ด้วย เราจึงเขียน ไม่พอก็ทำพิพิธภัณฑ์ให้คนได้มาศึกษา เป็นเหมือนงานจิตอาสา ทำให้เกิดความรู้ เกิดพลัง เราชอบ ในสิ่งนี้แล้วก็อยากให้คนอื่นได้เห็น”

“คุณมีความทุกข์จากการทำสิ่งนี้บ้างไหม”

“ถ้าลำพังเก็บเล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัวไม่เป็นไรหรอก แต่พอเก็บมากขึ้นเพื่อส่วนรวมก็ต้องหาที่เก็บ มันเหนื่อยตรงที่ไม่มีตังค์แล้วไปรนหาที่ทำ
ให้มันใหญ่ ที่จริงแล้วรัฐต้องทำแต่ไม่ทำแล้วเราทนไม่ได้”

“เป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วอยากหยุดบ้างไหม”

“หยุดไม่ได้ มันเป็นความชอบ เราหวังดี ไม่ได้พูดให้ตัวเองดูดีนะแต่มันอยากให้มี แค่นั้น”

“แปลว่าทุกวันนี้ก็ไม่ได้เก็บเพื่อตัวเอง แต่เก็บเพื่อคนอื่นด้วย”

“ต่อไปเราก็ตาย ดีกว่าให้มันเป็นปุ๋ยไปหมดทุกอย่าง”

4

หลังจากเดินทัวร์ชั้นแรกของพิพิธภัณฑ์จนจุใจ เอนกก็พาเดินขึ้นชั้นสอง เราเจอร้านค้ามากมายซึ่งจำลองจากของจริง เช่น ร้านถ่ายรูป ร้านตัดผมสมัยเก่า และที่เราประทับใจที่สุดคือโรงภาพยนตร์ขนาดย่อมที่มีการฉายหนังจริงจากยุคที่ถ่ายด้วยฟิล์ม

เราเอนกายดูภาพฉายจากอดีต สายตาจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า แต่ความ สนใจยังอยู่ที่ชายข้างกาย

“เข้าใจว่าชอบเก็บสะสมของจากอดีต แต่อะไรทำให้คุณตัดสินใจ

เปิดบ้านพิพิธภัณฑ์”

“เรารู้ว่าจุดอ่อนของบ้านเราคือเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีพิพิธภัณฑ์ไหนที่จัดแสดงอะไรแบบนี้ พิพิธภัณฑ์ทั่วไปก็แสดงแต่เทวรูป พระพุทธรูป แต่ที่จริงแล้วมันต้องเก็บทุกเรื่อง มันไม่ใช่แค่พระพุทธรูป ข้าวของในชีวิตชาวบ้าน ชาวตลาด ชาวเมืองก็สำคัญไม่แพ้กัน

“พิพิธภัณฑ์ไทยไม่มีของให้ศึกษา แถมไปแล้วยังห้ามถ่ายรูปอีก มันยากต่อการหาความรู้มากเลย หนังสือที่บันทึกเกี่ยวกับของเก่าที่เคยมีก็ไม่ได้อ้างอิงว่าข้อมูลมาจากไหน เมื่อมีปัญหาแบบนี้ก็เลยพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้มีพิพิธภัณฑ์ของเก่าเกิดขึ้น

“ผมเคยไปพิพิธภัณฑ์ที่ต่างประเทศ อย่างที่ญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์หลายแบบมาก รถดับเพลิง ของเล่นเก่า มีอาสาสมัครสอนให้เล่น บางแห่งก็จัดย้อนยุคเหมือนตลาดสามชุก เดินเพลินมาก ทางฝั่งยุโรปก็มีหลากหลาย ทั้งของประณีตศิลป์ งานศิลปะ ภาพถ่ายเก่า เทวรูปเก่า จนถึงพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยี

“เราไป Museo Nazionale della Scienza e della Tecnologia ‘Leonardo da Vinci’ ที่มิลาน เขาจำลองทุกสิ่งที่ดา วินชี ประดิษฐ์ใน 500 ปีก่อนออกมาให้เห็นว่าเป็นยังไง เฮลิคอปเตอร์ รถจักรไอน้ำ มันสนุกดีเพราะเราไม่ต้องเสียเวลาจินตนาการ”

“จุดร่วมของพิพิธภัณฑ์ที่ดีในความคิดของคุณคืออะไร”

“เข้าไปแล้วไม่เบื่อ สนุก เดินเพลิน กระทบใจเรา ดูแล้วได้ความรู้ ถ้าคนกลับไปอีกถือว่าใช้ได้”

“แล้วจากการทำบ้านพิพิธภัณฑ์มา 18 ปี คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง”

“เรียนรู้ว่ารัฐบาลไม่ให้ค่ากับงานพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ว่าคนไทยยังนิยมทำบุญเพื่อเอาบุญไม่ได้สนใจเรื่องวิทยาทานนัก เรียนรู้ว่าคนไทยชอบเที่ยว ห้างสรรพสินค้ามากกว่าพิพิธภัณฑ์ แต่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มเที่ยวพิพิธภัณฑ์ มากขึ้น และมีคนสนใจการเก็บสะสมมากขึ้น

“เพราะเขาเห็นว่าอันนี้ก็เก็บได้ อันนี้ก็แสดงได้ เราก็ดีใจ เพราะเราเป็นฝ่ายที่กระตุ้นทั้งเขียนหนังสือ ทั้งทำให้เขาเห็นจริงผ่านบ้านพิพิธภัณฑ์“

เอนก นาวิกมูล

5

“อยู่กับของเก่ามาทั้งชีวิต คุณคิดว่าของสมัยนี้แตกต่างจากสมัยนั้นยังไง”

เราถามขณะมองใบปิดหนังไทยยุคเก่าที่หน้าห้องฉายหนัง

เอนกชี้ให้เราดูศิลปะบนโปสเตอร์ใบนั้นอย่างพินิจพิเคราะห์ก่อนตอบ

“ของยุคก่อนคืองานหัตถศิลป์ ใช้มือวาดเป็นหลัก ฉลากยา การ์ตูน ไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยวาดกันแล้ว เขาใช้ภาพถ่าย หรือไม่ก็ใช้เครื่องมือช่วยเยอะมาก ถ้าให้วัดฝีไม้ลายมือกัน ผมว่างานของคนยุคก่อนดูแล้วมีเสน่ห์ตรงเส้นสายลายมือ ลายมือคนแก่สวยจะตาย”

“กาลเวลาช่วยเพิ่มคุณค่าของสิ่งของจริงไหม”

“ช่วยแน่นอน อย่างตอนผมไปเที่ยวที่ไหน ผมจะอยากไปดูของเก่า สถานที่เก่า เพราะของเก่ามีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันในแต่ละถิ่น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเก่าแล้วดีหมดทุกอย่าง เก่าแล้วไม่ดีก็คงมี เพราะฝีมือของคนไม่เท่ากัน มนุษย์มีภูมิปัญญาไม่เท่ากัน

“ของเก่าบางชิ้นก็ไม่ได้สวย อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างด้วย บางเพลงก็เพราะกว่า แต่อีกเพลงไม่ติดหูเลย ฉะนั้นบางเพลงถึงเป็นเพลงอมตะได้ พอนานไปมันมีพลังมากขึ้น ถ้าคนแต่งเพลงออกแบบให้ดีมันก็มีค่า คุณคิดว่าคนร่วมยุคกับดา วินชี มีกี่คนล่ะ แต่ดา วินชี ดังมากเพราะเขาคิดอะไรพิเศษ คนอย่างไอน์สไตน์มีกี่คน ที่เขาเด่นขึ้นมาได้เพราะเขาคิดต่างจากคนอื่น”

“รู้สึกยังไงที่เห็นว่าของเก่ากำลังตายไปเรื่อยๆ ในยุคนี้”

“เสียดาย แต่ผมว่าของแต่ละยุคก็ดีในแบบของยุคนั้น แต่อาจไม่ถูกใจ คนอีกยุคหนึ่งก็ได้ ผมไม่ค่อยชอบเพลงยุคนี้ แต่คนยุคนี้อาจบอกว่า เฮ้ย มันเพราะ ทีนี้ก็ต้องไปเถียงกันอีก เขาว่าเพราะ แต่สำหรับผมเนี่ย อักขระต้องถูกต้องชัดเจน ไม่ใช่ร้องแล้วฟังไม่รู้เรื่องว่ากำลังร้องอะไร ภาษาอะไร”

“ดูคุณเป็นคนคลุกคลีกับของเก่ามาก แล้วคุณปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ ในชีวิตประจำวันไหม”

แทนการตอบคำถาม เอนกดึงสมาร์ตโฟนออกมาให้ดู จนเราหัวเราะเสียงดัง

“ไม่ได้ใช้แต่ของเก่าหรอก ของใหม่ก็มีประโยชน์ เราไม่ใช่คนขวางโลก ขนาดนั้น 

“เพราะเราเอามาใช้งาน ต้องใช้ดิจิทัลก็ต้องยอมปรับตัว ตั้งแต่พิมพ์ดีดมาพิมพ์ดีดไฟฟ้า จนมาพิมพ์ดีดคอมพิวเตอร์ คือตั้งแต่ปี 2532 ก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ เพราะโลกมันเปลี่ยนไป แต่เราต้องยึดหลักว่าอันไหนเราไม่ถนัด ไม่ชอบ เราก็ไม่ได้ตามไปทุกอย่าง”

“แสดงว่าของใหม่ก็มีข้อดีของมัน”

“ใช่ ไม่อย่างนี้โลกจะพัฒนาไปได้ยังไง ไม่อย่างนั้นก็เดินชนกันตายน่ะสิ จากสงขลามากรุงเทพฯ ก็ต้องเดินสิ” เอนกโพล่งหัวเราะ “หรือจะให้นุ่งผ้าขาวม้ามาเหรอ ร้อนตายเลย เพราะฉะนั้นมันก็เปลี่ยนได้ แต่เกณฑ์มันต้องมี คือเปลี่ยนแล้ว หนึ่ง ไม่ทำให้ทุกข์เกินไป สอง ต้องเป็นประโยชน์กับเรา สาม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร”

6

สารภาพตามตรงว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่เราเคยตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไมอยู่บ่อยครั้ง

ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เราเรียนประวัติศาสตร์จากตัวหนังสือ บ้างเป็นรูปถ่าย บ้างเป็นภาพยนตร์ บ้างได้ไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์สำคัญ ในท้องถิ่น

สารภาพว่าตอนเดินพิพิธภัณฑ์เมื่อครั้งนั้น เราไม่ได้รู้สึกใฝ่เรียนเรื่องประวัติศาสตร์เท่าครั้งนี้

“ถึงตอนนี้แล้ว คุณค่าของพิพิธภัณฑ์ไทยอยู่ตรงไหน”

เอนกนิ่งคิดไปพักหนึ่ง แล้วตอบเราอย่างตรงไปตรงมาว่า 

“เราไม่ได้สร้างวัฒนธรรมเพื่อการเก็บและการศึกษามันถึงได้ถูกทิ้งขว้างจนทุกวันนี้ ตอนนี้คนยังไม่เห็นคุณค่ามากพอ เรื่องการทำบุญอีก เราคิดว่าการสร้างวัดได้บุญกุศล แต่ไม่คิดเลยว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ เป็นการสร้างความรู้ ได้บุญได้กุศลเหมือนกัน งานพิพิธภัณฑ์ก็เลยถูกทิ้ง ไม่มีใครสนใจแม้แต่รัฐบาล”

“คุณเคยเจอคนเห็นต่างกับการสร้างบ้านพิพิธภัณฑ์บ้างไหม อย่างเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เข้าใจสิ่งที่คุณทำ”

“บางคนเขาอาจมองว่าสร้างทำไม ไม่เข้าใจว่าจะต้องเก็บทำไม บางคนก็ว่างเปล่า เขาไม่ได้คิดอะไร มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่เห็นเดือดร้อนอะไรนี่ มันแล้วแต่คน 

“สำหรับผม เราจำเป็นต้องมีแหล่งเก็บความรู้เพื่อให้เรานำไปต่อยอด เช่น เราจัดแสดงของในปี 2500 และช่วงใกล้เคียง ถ้ามีคนรุ่นใหม่จะทำหนังย้อนยุค แล้วไม่มีแหล่งจัดแสดงแบบนี้เขาจะเดาได้ยังไง ถ้าไม่มีพิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกาย มีแต่ภาพแบนๆ เขาจะเดาได้เหรอ 

“พิพิธภัณฑ์เป็นตัวย่นย่อการหาความรู้ เอาความรู้จากแหล่งต่างๆ มาอยู่ในที่เล็กๆ ได้ อย่างน้อยก็ได้เห็นงานยุคเก่าที่มันประณีต คุณได้รับรู้สิ่งที่มันสวย อย่างน้อยก็ฝังอยู่ในใจคุณบ้างแหละ คุณมากับพ่อกับแม่อย่างน้อยก็ได้ความผูกพัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เกิดขึ้น เหมือนสายใยบางๆ ที่ถักทอโดยอัตโนมัติ”

เอนก นาวิกมูล

“การส่งต่อความทรงจำสำคัญแค่ไหนในยุคนี้”

“มันเกี่ยวกับประเทศชาติ ความมั่นคงของชาติด้วยนะ ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ให้เขาศึกษาว่าคุณเคยเป็นยังไง คุณขายแผ่นดินกินได้นะเพราะคุณไม่ผูกพัน  

“ของเก่าคือสมบัติของแผ่นดิน ถ้าเราไม่เรียนรู้จากมัน แล้วเกิดกรณีแย่งสิทธิกับชาติอื่น ถ้าเราไม่รู้ ไม่บันทึกไว้ มันก็ไม่มีหลักฐาน ข้าวของที่ตกอยู่ในแผ่นดินนี้ก็ต้องมีเนื้อหา เราต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่ามันมีความเป็นมา ยังไง ใช้ทำอะไรได้บ้าง และเราจะเอาไปใช้ประโยชน์ยังไง 

“มนุษย์เป็นคนช่างถามแล้วก็อยากรู้คำตอบเพื่อคิดต่อยอด อย่างสินค้าญี่ปุ่นแต่ละอย่างใน Daiso ที่เขาคิดขึ้นมาได้เพราะเป็นความคิดต่อยอด มาจากของเก่าของชาติเขาทั้งนั้น สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจได้ เวลาเราเห็นของที่สวยหรือมีประโยชน์ ถ้าเป็นเรา เราก็จะคิดว่าทำยังไงให้มันสวยขึ้น แล้วก็เอาไปทำขาย ไม่อย่างนั้นมันไม่มีสิ่งประดิษฐ์ออกมาตลอดเวลาหรอก เพราะฉะนั้นของพวกนี้สามารถจุดความคิดคนได้ด้วย”

7

เราออกมาจากบ้านพิพิธภัณฑ์ตอนตะวันตกดิน

สองวันหลังจากนั้น เราพบเอนกอีกครั้งที่งานนิทรรศการ ‘บ้านพิพิธภัณฑ์: บ้านไร่ ใกล้ตลาด’ หากครั้งนี้เราไม่ได้เข้าไปสนทนากับเขา เพียงแต่เดินเล่นชมของเก่าภายในงานด้วยมุมมองบางอย่างที่เปลี่ยนไป บทสนทนาสุดท้ายยังค้างตรึงอยู่ในความทรงจำของเรา ตอนนั้นเราถามเอนกว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเก็บสะสมของมาทั้งชีวิต

“ผมว่าการเก็บและศึกษาเรื่องของเก่าทำให้เราเห็นความสำเร็จและความล้มเหลวของมนุษย์ ความสำเร็จของวิวัฒนาการที่สามารถช่วยให้ชีวิตดีขึ้น จากเทปกลายเป็นซีดี จากเกวียนก็มาเป็นรถไฟ สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จ 

“ส่วนความล้มเหลว เราเห็นแล้วจะได้ไม่ทำต่อ อย่างเรื่องสงคราม ไปดูพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสงคราม อาจทำให้คิดได้ว่า มันเจ็บ มันตาย จะรบกันทำไม อย่างน้อยของเก่าก็ช่วยชะลอความคิด หรือช่วยหักห้ามจิตที่มันจะทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้มันน้อยลง

“สิ่งนี้คือคุณค่าที่นอกจากจะให้ความรู้ ความเพลิดเพลินกับจิตของมนุษย์ อย่างน้อยมันก็ลดความโหดร้ายของมนุษย์ได้”

“จนถึงตอนนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตบ้าง”

“ได้เรียนรู้ว่ามนุษย์มีหลายแบบ เรียนรู้ว่าให้คนยืมเงินแล้วอาจไม่ได้คืน (หัวเราะ) เรียนรู้ว่าทุกข์สุขมันปนกันมาตลอด เรียนรู้ว่ามนุษย์ต้องมีเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วในที่สุดก็ต้องจากกัน แม้ไม่รู้ว่าวันไหน แล้วเราก็ได้รู้ว่าสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำคือการไม่เบียดเบียนกัน 

“เกิดมาแล้วก็ควรทำประโยชน์ให้โลก อย่างที่บอกไป หนึ่ง อยู่เพื่อตัวเอง สอง เพื่อครอบครัว และสาม แบ่งปันให้แก่เพื่อนมนุษย์”

เอนกทำให้เราเปลี่ยนความคิดระหว่างสนทนา ตอนแรกเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขาจะทำนั้นยิ่งใหญ่เท่ากับบ้านหนึ่งหลัง

บางทีสิ่งที่เขาทำอาจไม่ใช่เพียงเพื่อบ้านพิพิธภัณฑ์

บางทีอาจหมายถึงบ้านหลังที่ใหญ่กว่านั้น

อย่างประเทศของเรา


บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ a day 229 The Collectors (เผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ.2562) สั่งซื้อได้ ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น