คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างนิสิตนักศึกษาในยุคของคุณกับยุคของลูกคุณ
มันต่างอยู่แล้ว แต่ผมไม่เคยมองว่าอะไรดีกว่าหรือแย่กว่า
มันเป็นเรื่องของยุคสมัย
แล้วผมก็ค่อนข้างรำคาญผู้ใหญ่ที่ชอบบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เรื่อง
มันวัดกันไม่ได้หรอก มันต้องว่ากันเป็นคนๆ ไป ยุคสมัยมันไม่เหมือนกัน
สิ่งรอบตัวก็ไม่เหมือนกัน อย่างสมัยผมไปคณะทุกวัน
นัดเพื่อนบ่ายสามก็ต้องรอถึงทุ่มนึง เพราะมันยังไม่มา
เวลาตั้งแต่บ่ายสามถึงทุ่มนี่ ทำให้เรานั่งคุยกัน ทำให้เราคิดจะทำนู่นทำนี่กัน
สมัยนี้มันมีเทคโนโลยี ก็โทรถาม เฮ้ย! ถึงไหนแล้ววะ มันไม่เหมือนกัน เราจะไปว่าเด็กสมัยนี้ไม่อยู่ติดคณะไม่ได้
ก็เขามีโทรศัพท์มือถือ ก็รู้ว่าต้องไปไหนเมื่อไหร่ แล้วจะให้มาติดคณะทำไม
คนรุ่นพ่อผมก็อาจจะบอกว่าคนรุ่นผมไม่ได้เรื่องก็ได้
ผมว่าทุกยุคสมัยที่ต่างกันไป
มันต่างกันตรงสิ่งที่เขารับรู้ว่าเขารับรู้ผ่านอะไร ยุคที่ผมเด็กๆ
คนรุ่นก่อนเป็นยุค 14 ตุลา สิ่งที่เขารับรู้มันเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง
แล้วพอขึ้นชื่อว่าเป็นปัญญาชน เขารับอย่างเดียวไม่ได้ เขารู้อย่างเดียวไม่ได้
เขาต้องคิดแล้วก็ต้องแสดงออก ยุคนั้นคนหนุ่มสาวแสดงออกเรื่องมาร์กซิส
เรื่องอะไรก็ว่าไป ผมก็เป็นคนในยุคที่รับละครเอพิกของเยอรมนี ดูหนังฝรั่งเศส
ดูหนังของคุโรซาว่า ของมันก็ขึ้น แล้วคนหนุ่มสาวฮอร์โมนมันแรง ทำอะไรก็แรงไปหมด
แต่พอยุคฮอลลีวู้ดเรืองอำนาจสูงสุด คนก็อยากเป็นร็อก เป็นบลูส์ เป็นแจ๊ซ
ทำหนังสั้น มนุษย์มันแสวงหากันตลอด
เพราะมนุษย์ถูกสั่งให้เกิดมาแล้วคิดตลอดว่าพรุ่งนี้ต้องไม่เหมือนวันนี้
รู้สึกไหมว่าเนื้อหาของงานศิลปะในยุคนี้ประเด็นมันเล็กลง
วนเวียนอยู่กับตัวเองมากขึ้น
ศิลปะมันก็เป็นอย่างนี้ เหมือนแฟชั่น มีวัฏจักรของมันอยู่ พูดเรื่องตัวเอง
แล้วก็พูดเรื่องโลก แล้วก็กลับมาพูดเรื่องตัวเอง
ภาพดังระดับโลกที่แวนโก๊ะตัดหูตัวเอง นั่นไม่ใช่พูดเรื่องตัวเองหรือ
เวลามองงานศิลปะในหนังในเพลง บางทีผมก็เคยสงสัยว่า
ตอนนี้เรากำลังกลับไปยุคบาโรกอยู่หรือเปล่า ร็อกโคโค่หรือเปล่า
แล้วมันจะเข้าสู่ยุคเรเนซองส์เมื่อไหร่
ถ้าเราพูดถึงสิ่งที่วัยรุ่นกำลังพูดผ่านงานศิลปะก็ต้องบอกว่า
เขากำลังทำงานศิลปะในแง่ที่เป็นมีเดียมากนะ ยิ่งมีคอมพิวเตอร์ก็ยิ่งทำงานง่าย
เผยแพร่ง่าย รับง่าย ทุกวันนี้เพลงมีคุณค่าน้อยลง มีไว้เปิดคลอจากคอมพิวเตอร์
ไม่ได้รอฟังจากดีเจคนโปรด คอมพิวเตอร์ทำให้ทุกอย่างทำงานง่ายขึ้น แม้แต่ศิลปะ
ทั้งเสียงทั้งภาพ ทีนี้ยิ่งง่ายก็ยิ่งเยอะ ยิ่งเยอะก็ยิ่งโดดเด่นได้ยากขึ้น มันแปรผันกัน
สุดท้ายงานไหนจะโดดเด่นมันก็อยู่ที่เนื้อหาแล้ว เพราะกระพี้มันง่ายนี่
ศิลปะพอพูดถึงเนื้อหาก็ต้องบอกว่ามันก็มีเรื่องเดียวคือ ศรัทธา
ใครศรัทธาอะไรก็ทำเรื่องนั้นออกมา ใครสนใจเรื่องคนก็ทำเรื่องคน
ใครสนใจเรื่องโลกก็ทำเรื่องโลก กลับไปดูในอดีตก็ได้
ศิลปะสมัยก่อนของฝรั่งมีแต่เรื่องเทวดากับพระเจ้า
ของไทยเราก็มีแต่เทวดากับพระพุทธเจ้า คนสมัยก่อนไม่กล้าเอาศิลปะมารับใช้ตัวเองหรอก
เพลงในยุคแรกๆ ก็เกิดในโบสถ์พิธีกรรม แต่ขนบมันเปลี่ยนไป คนกล้าใช้ศิลปะมาอธิบายความรู้สึกตัวเองมากขึ้น
คนที่เขายังไม่มีศรัทธาอะไร เขาก็เลยพูดแต่ตัวเอง
วันนึงเขาเจอศรัทธาเขาก็จะสร้างงานชนิดใหม่เอง จอห์น เลนน่อน นั่นยังไง
บีเทิลส์ยุคแรกนี่มีแต่ Love Me Do มีแต่ She Loves You แล้วก็ร้องเย้
เย้ เย้ แต่พอเขาโตขึ้นเขามีศรัทธาอะไรบางอย่าง เขาก็เขียน Imagine สันติภาพของโลกล้วนๆ
หนุ่มสาวยังมีพลังพอจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ไหม
เราเปลี่ยนแปลงโลกได้ เจอรูตรงไหนก็อุดๆ ไปเหอะ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเอง
อาจจะไม่ได้เปลี่ยนขนาดที่กาลิเลโอหรือไอน์สไตน์เปลี่ยน แต่สิ่งที่เราคิดอยู่
ทำอยู่ มันก็อาจจะช่วยเปลี่ยนโลกได้ทีละนิด
เคยได้ยินข่าวลือเรื่องประเทศจีนจะสร้างเขื่อนขนาดยักษ์เพื่อกั้นน้ำ
แล้วปล่อยให้น้ำตกลงมาแรงๆ แรงขนาดว่าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักสิบยี่สิบปีแกนโลกจะเปลี่ยนองศามั้ย ความคิดนี้ฟังดูบ้ามาก
ที่เขาจะทำอย่างนั้นเพราะต้องการให้แกนโลกเปลี่ยนเพื่อประเทศของเขาในส่วนที่หนาวจะได้หนาวน้อยลง
ผมฟังแล้วผมก็คิดแวบแรกเลยว่า มันบ้าแล้ว ไม่มีทางทำได้หรอก
แต่แวบที่สองก็คิดต่อว่า ไอ้ความคิดบ้าๆ แบบนี้แหละเป็นจริงมามากแล้ว
หรือถ้าไม่จริง ความคิดบ้าๆ แบบนี้แหละ
ที่จะกระตุ้นให้คนกล้าคิดเปลี่ยนแปลงโลกต่อได้ ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า
ถ้าอยากจะเปลี่ยนโลก ไม่ว่าจะคิดใหญ่คิดเล็กแค่ไหนก็คิดไปเถิด
คุณอยากเห็นโลกใบนี้เป็นแบบไหน
ผมชอบความเอื้ออาทร ชอบโลกที่มีมุทิตาจิต คือโลกที่ชื่นชมคนอื่น อย่าชื่นชมตัวเองอย่างเดียว
มันทำให้โลกเบา ผมชอบแบบนั้น ผมไม่ชอบให้ฝรั่งเป็นเจ้าโลกคนเดียว
เขาครองโลกมาหลายร้อยปีแล้วนะ
ก็เลยพยายามเปลี่ยนโลกให้เป็นแบบนั้น
ไม่ได้พยายาม ผมเป็นนักเขียน เป็นนักแต่งเพลง ก็พูดไปเรื่อยๆ
แรงเราไม่เท่าน้ำตกที่ตกมาจากเขื่อนของจีนหรอก เป็นถึงน้ำหยดหรือเปล่าก็ไม่รู้
กี่เพลงๆ ก็พูดเรื่องนี้ เพลง อื่นๆ อีกมากมาย เพลง ต้นชบากับคนตาบอด หรือแม้แต่เพลง เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ มันก็คือกราฟิกรูปคำว่า ‘อย่าเห็นแก่ตัว’
รูปนั้นแหละ
แต่นำเสนอผ่านสื่ออีกแบบหนึ่ง
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ก็ส่งไปเรื่อยๆ
ใช่ ไม่เป็นถึงขนาดน้ำตกที่ตกจากเขื่อน เป็นแค่ละอองน้ำฝอยๆ ก็เอา
ละอองฝอยไปเรื่อยๆ ก็ชุ่มชื้นดีนะ เดี๋ยวตะไคร่ก็ขึ้นเอง
เดี๋ยวกล้วยไม้ก็ออกดอกเอง
โลกเปลี่ยนไปในทางที่คุณอยากเห็นมันเป็นมากขึ้นไหม
โลกมันใหญ่มากนะ ผมแค่มองอาณาเขตของตัวเอง แล้วก็พยายามทำรอบๆ
ตัวให้เป็นแบบนั้น ผมคิดเหมือนตอนทำเพลงเฉลียงชุดแรก ชุดที่สอง ทำโดยที่ไม่ได้คิดว่าใครจะเอาด้วยหรือเปล่า
เหมือนวิ่งจ๊อกกิ้งไปเรื่อยๆ
อะไรคือพลังที่ทำให้คุณยังคงวิ่งจ๊อกกิ้งมาได้เกือบ 30 ปี
ไม่รู้นะ สิ่งที่ผมได้รับจากครูบาอาจารย์ของผมไม่ว่าจะทางอ้อมหรือทางตรง
ทุกวันนี้มันยังอยู่ นอกจากนั้นผมว่าผมยังได้รับอะไรบางอย่างกระเด้งกลับมา
แค่มีคนบอกว่าฟังเพลง อิฐก้อนหนึ่ง ที่ผมแต่งแล้วทำให้เขากลับมาดูตัวเองมากขึ้นว่าเขาจะทำอะไรให้สังคมได้
แค่คนเดียวผมก็ถือเป็นพลังงานแล้ว และอาจเป็นเพราะผมไม่คาดหวังมากด้วยมั้ง
เลยทำให้แรงเสียดทานน้อย
ครูบาอาจารย์ของผมให้ ‘ทัศนคติ’ ผม คนฟังเพลงของผม
คนอ่านของผมทำให้ผมรู้ว่าผมไม่ได้ ‘ศรัทธา’
สิ่งนั้นอยู่คนเดียว
บางคนอาจเคยมีความฝันว่าอยากเปลี่ยนแปลงโลก แต่พอเจอข้อจำกัดมากมาย
เลยเปลี่ยนความคิด คุณอยากบอกอะไรกับคนเหล่านี้
ผมจะบอกว่า ให้คิดแบบนี้แค่วูบเดียวนะ ผมว่าทุกคนก็เคยเป็น
เปเล่ก็เคยเป็น แหม พูดถึงเปเล่ก็แก่ไป (หัวเราะ) ผมก็เคยเป็น แต่ให้เป็นแค่วูบเดียว
เพราะมันเหนื่อยอยู่ มันหิวอยู่ มันร้อนอยู่ หรือมันท้อใจอยู่
แต่รุ่งขึ้นแล้วให้กลับมาคิดอย่างเดิม มนุษย์เราเป็นไปได้ที่ท้อแท้
แต่อย่าเอาอารมณ์นั้นมายืดมาสรุปแล้วทำลายอุดมคติของตัวเอง
อย่าไปเอาอารมณ์แบบก่องข้าวน้อยรอข้าวจากแม่
ความสุขของการเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดของคนจำนวนมากคืออะไร
ผมว่าผมมีความสุข เพราะผมไม่ได้คาดหวังว่าผมจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดคน
จริงๆ ผมก็ไม่คิดว่าผมเป็นอย่างนั้นหรืออยากเป็นอย่างนั้นนะ
แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่ผมทำพอจะไปให้คนต่อยอดความคิดได้ หรือถ้ามันทำให้บางคนมีพลัง
มีกำลังใจบ้าง ผมก็ดีใจที่มันมีประโยชน์ และขอขอบคุณที่ชมกัน
แต่อย่าชมกันขนาดนั้นเลย
ถ้ามีอะไรสักอย่างทำให้คุณเลิกสร้างงาน สิ่งนั้นคือ
แรงน้อยลง ด้วยวัย ด้วยเครื่องมือเครื่องไม้ ต้องยอมรับว่าต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือด้วย
ภาษาเอย ความทันสมัยเอย อายุคนมีผลเหมือนกันนะ
มันมีส่วนทำให้บางครั้งเราก็วางเฉยมากขึ้น
เคยมีช่วงที่เฉียดๆ จะมีความรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม
มันก็วางเฉยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย มันคงไม่ทีเดียวหักโป๊ะหรอก
ก็ไปเรื่อยๆ ก็ต้องคอยดูว่าถ้ามันไม่มีอะไรใหม่ๆ ก็จะไม่ทำ เราจะรู้ตัวเองดีที่สุด
ถ้าตัวเองทำแล้วชักไม่ตื่นเต้นก็แสดงว่ามันซ้ำ
การวางเฉยกับสิ่งรอบตัวถือเป็นศัตรูกับความคิดสร้างสรรค์?
ผมก็เคยคิดเหมือนกัน พอคิดอย่างนี้แล้วก็กลับไปคิดอีกว่า
หรือบางทีเราอาจจะนำเสนอเรื่องที่เรารู้สึกวางเฉยออกมาอีกก็ได้ นำเสนอเรื่องการวางเฉยให้สนุก
เออ น่าสนุกนะ แม้กระทั่งวางเฉยผมว่ามันก็มีศิลปะอยู่ เป็นศิลปะแห่งการวางเฉย
หรือเปล่า (หัวเราะ)
วางเฉยกับเพิกเฉยเหมือนกันไหม
เพิกเฉยนี่มันมีอารมณ์ต้านนะ แต่วางเฉยอยู่ตรงกลาง อาจจะใกล้ๆ
กับอุเบกขามากกว่า
ในช่วงวัยรุ่น เวลาเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวเรามักอยากวิจารณ์
อยากแสดงความคิดเห็น ฟันธงไปเลยว่าดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ แต่พอโตขึ้น เรามักเลือกที่จะปรับตัว
ปรับใจ ให้เข้ากับงานที่เราไม่ชอบ แทนการวิจารณ์
ก็เป็นไปได้ แต่เราต้องพูดกันบนบรรทัดฐานที่ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ความสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว
การไม่วิจารณ์อาจจะไม่ได้แปลว่าเราไม่สร้างสรรค์
ตอนนี้เวลาที่คุณดูผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างหนัง เพลง หนังสือ
มันยังทำให้คุณตื่นเต้นได้ไหม
ถ้าเจออันที่มันจับใจก็ยังเป็น ผมดูหนัง 15 ค่ำ เดือน 11 ของเก้ง (จิระ
มะลิกุล) นี่ผมตื่นเต้นนะ โหมโรง ของอิท (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์) ผมก็ตื่นเต้น
โฆษณาหลายตัวตอนนี้ผมก็ตื่นเต้น ผมเป็นคนชื่นชมผู้คน อย่างหนังสือนิ้วกลมอ่านสนุก
ผมก็ชื่นชม a day ทำเล่มแรกออกมาผมก็ชื่นชม จะว่าตื่นเต้นก็ได้ อาจจะมีคนบอกว่าหนังสือมันเด็ก
ก็ดีแล้ว อยากอ่านหนังสือที่เหมาะกับตัวเองก็ไปหาเล่มอื่นอ่านสิ
เรากำลังพูดถึงหนังสือเล่มนี้อยู่ไม่ใช่เหรอ ล่าสุดเพิ่งไปดู อินเดียน่าโจนส์ มา
ดูไปถึงกลางๆ เรื่อง ผมขำอย่างมีความสุขเลย เออ สปีลเบิร์กมันก็เป็นอย่างนี้นะ
มันไม่มีอะไรใหม่ๆ เลยนี่หว่า แต่มันทำถึงทุกฉาก ผมเป็นคนที่ดูหนังยุคนั้นทุกภาค
ดูแล้วหายคิดถึงเลย เหมือนเขาตีโจทย์แตกว่าทำให้คนแก่ดู แม้จะไม่มีอะไรใหม่เลย
ผมก็ตื่นเต้นว่าเขาทำให้เราหายคิดถึงได้
แล้วกับการสร้างงานใหม่ๆ ของคุณเองล่ะ คุณยังตื่นเต้นกับมันไหม
ถ้าเป็นเรื่องที่เราเคยทำแล้วและคิดว่าเราเชี่ยวชาญแล้ว ก็ไม่ตื่นเต้น
แต่จะใช้ความเก๋าของเราไปช่วยคนอื่นเขาทำ ไปโปรดิวซ์ให้มากกว่า ไม่ใช่ว่าเบื่อ
แค่เปลี่ยนบทบาท แต่งานที่เราไม่เคยทำก็ยังตื่นเต้น สนุก รอคอยที่จะได้ทำ
ทุกอย่างในโลกนี้เหมือนจะมีคนคิดคนทำมาหมดแล้ว
มันยังเหลือสิ่งใหม่ให้เราได้สร้างสรรค์อีกหรือ
ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีออริจินัลไอเดีย ฟังดูโหดร้ายไหม
ฟังแล้วความคิดเชิงลบมากเลยมั้ย แต่ไม่หรอกนี่แหละ positive thinking เลยล่ะ
มันไม่มีสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเองเดี่ยวๆ หรอก มันจะมาจากอีกสิ่งหนึ่งเสมอ
สิ่งนั้นอาจจะมาจากการที่เราเห็นด้วยกับมัน บางคนอาจลอกเลียนมาเลย
แต่บางคนลอกนิดหน่อยแล้วบิด บางคนเอามาแต่แก่นแล้วใส่เปลือกใหม่ บางคนต่อต้านไปเลย
อีกแบบคือต่อยอดไปเรื่อยๆ คนหนึ่งพูดว่าโลกแบน คนที่พูดว่าโลกกลมไม่ใช่ออริจินัลนะ
เพราะเขาคิดต่อต้าน ทุกอย่างไม่ได้ถูกพูดไว้หมดแล้ว มันยังรอให้เราคิดต่อต้าน
คิดต่อยอดอีกเยอะมาก ถ้าบอกว่าทุกอย่างถูกทำไปหมดแล้ว ดาวินซี่ก็คงไม่วาดโมนาลิซา
แองเจโลก็คงไม่ปั้นเดวิด ก็เขาวาดเขาปั้นกันมาเป็นแสนเป็นหมื่นแล้ว
สุนทรภู่ก็คงไม่เขียน พระอภัยมณี
เพราะเสภาเรื่องเจ้าชายเดินทางกลางป่าก็มีคนเขียนเยอะแยะแล้ว มนุษย์คิดทุกอย่างจากสิ่งที่มีมาก่อนทั้งนั้น
เครื่องบินก็คิดจากนก โถส้วมก็คิดจากถังส้วม
อย่าไปสนใจว่าเราจะคิดออริจินัลได้ยังไง มันไม่มีออริจินัลในโลกนี้
แล้วก็ไม่จริงหรอกที่ว่าไม่มีอะไรเหลือให้เราได้สร้างสรรค์อีก
ทุกอย่างที่มีอยู่บนโลกนี้แล้วล้วนรอให้เราสร้างสรรค์ต่อ
คุณว่าการออกแบบจำเป็นต่อโลกใบนี้ไหม
ตอนที่เราไม่มีชักโครก คนอาจจะคิดว่ามันคิดมาทำไมวะก็ได้นะ
มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ สู่สิ่งที่เราคิดไม่ถึง วันที่เบลล์ (อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม
เบลล์) ประดิษฐ์โทรศัพท์ คนเขางงนะ คิดทำไม แค่พูดข้ามแม่น้ำหรือข้ามอะไรนี่เอง
เดินไปบอกก็ได้ คนเรามีเรื่องด่วนอะไรอย่างนั้นเลยเหรอ ถ้าด่วนขี่ม้าไปบอกก็ได้
เรายังนึกไม่ออกหรือเปล่าว่าสิ่งที่เราออกแบบในตอนนี้มันจะมีผลอะไรต่ออนาคต นี่คือมิติหนึ่ง
แต่ถ้ามองว่าสิ่งที่ออกแบบมันเบียดบังทรัพยากร ไร้สาระ
จะว่าไปมันก็ไม่มีอะไรที่ไร้สาระหรอก การคิดของเบลล์ยังถูกมองว่าไร้สาระเลย
ทุกวันนี้คนที่อเมริกาตดเรายังได้ยินก็เพราะสิ่งประดิษฐ์ของเขา
ในขณะที่ยุคที่เขามองว่าไร้สาระ หรือจะมองว่าจะคุยกันไปทำไมทั้งโลก ไม่ต้องรีบหรอก
ก็ได้ แต่ถ้ามองด้วยวิถีเซน การไม่ออกแบบก็ถือเป็นการออกแบบอย่างหนึ่งนะ
เหมือนคุณจะเชื่อว่าโลกใบนี้ไม่มีขาวจัดดำจัด ไม่มีผิด ไม่มีถูก
ตัวโน้ตในดนตรีสากลนี่เราก็รู้ว่ามันคือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด๊
โดกับเรเนี่ยคนดนตรีเขาบอกว่ามันก็ห่างกันเสียงนึง แต่มีกับฟานี่มันห่างกันครึ่งเสียง
ทั้งโลกก็ตกลงกันว่าเสียงในโน้ตนี้มันมีห่างกันครึ่งเสียงกับหนึ่งเสียง
แต่ในดนตรีของฮินดู เขาเรียกว่าราคะ คล้ายๆ สเกลในภาษาดนตรี บางราคะนี่เขาแบ่งละเอียดไปอีก
คือครึ่งของครึ่งเสียง ผมกำลังจะบอกว่าการที่เราคิดว่ามันมีหนึ่งเสียงหรือครึ่งเสียง
มันก็ไม่ได้ผิดหรือถูก แต่มันแบ่งเป็นครึ่งของครึ่งได้อีก ผิดกับถูกมันห่างกัน 1
แล้ว แต่โลกนี้มันมีเรื่องที่ห่างกันครึ่งก็มี แล้วไอ้ที่มันห่างกันครึ่งของครึ่งก็มี
มันเป็นดีกรี
อย่าไปสนใจว่าเราจะคิดออริจินัลได้ยังไง มันไม่มีออริจินัลในโลกนี้ แล้วก็ไม่จริงหรอกที่ว่าไม่มีอะไรเหลือให้เราได้สร้างสรรค์อีก ทุกอย่างที่มีอยู่บนโลกนี้แล้วล้วนรอให้เราสร้างสรรค์ต่อ
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 95 กรกฎาคม 2551)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย