คุยกับประภาส ชลศรานนท์ 1/3

ประภาส ชลศรานนท์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อสิ่งพิมพ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ถึงขนาดสามารถคัดสรรบทสัมภาษณ์ดีๆ
ออกมารวมได้เป็นเล่ม-หลังตู้เย็น คือชื่อหนังสือเล่มนั้น

ไม่ต้องเสียเวลาแนะนำตัวว่าประภาสคือใคร

ไม่ต้องเสียเวลาคุยซ้ำในคำถามเดิมๆ ที่เขาเคยตอบไปแล้ว

วันนี้เขา คิด เห็น เป็น อยู่ อย่างไร ไปฟังกันเลย

คุณพิมพ์ Status ใน hi5 ของคุณว่า ‘หลังคาเป็นของแข็ง’ มันหมายความว่าอะไร

เรื่อง hi5 เนี่ยต้องเล่าก่อนว่า พอผมรู้ว่ามันมี
มันเป็นที่นิยมก็อยากรู้ให้ละเอียด ฟังเขาเล่าก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร
แล้วมันดียังไง มันเหมือนเขาบอกกินแห้วแล้วมัน เวลากัดมันจะรู้สึกแถวๆ ฟันหน้า
ใครไม่เคยกินแห้วไม่มีทางเข้าใจ hi5
กับผมตอนนั้นก็เหมือนแห้ว
ก็เลยเข้าไปเล่นดู ทำตามที่เขาบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ให้ทำอะไรก็ทำ ให้ใส่รูปก็ใส่
ก็คลิกเข้าไปหารูปในโฟลเดอร์ของตัวเอง แล้วเจอรูปนี้ (รูปหน้าจั่วบ้านของเขาเอง)
เป็นรูปแรก ก็ไม่ได้คิดอะไร ก็เอามาใส่เลย เขาให้เขียนคำโปรย ก็เลยเขียนคำนี้ลงไป
หลังคามันแข็งจริงๆ นี่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไรหรอก เป็นการพูดถึงสัจพจน์ง่ายๆ
การพูดเรื่องจริงแบบจริงๆ เนี่ยมันทำให้ความคิดสมถะ มันเป็นวิถีนึงของเซน
เมื่อน้ำไหลไป แล้วไงวะ (หัวเราะ) อ้าว แล้วจะถามทำไม ก็น้ำมันไหลไป
มันเป็นอย่างนั้น หลังคาเป็นของแข็ง ก็มันเป็นอย่างนั้น
มีไฮกุบทนึงของเซนที่ผมชอบมาก ดอกไม้บานอีกครา ม้านั้นมีขาถึงสี่ขา
แต่นกมีเพียงสอง จบ หลังคาเป็นของแข็ง จบ (หัวเราะ) วิถีของเซนมันเป็นอย่างนั้น
ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครจะเข้ามาอ่านบ้าง แค่อยากลองว่า hi5 เป็นแบบนี้เองเหรอ
มีเพื่อนแล้วก็ไปหาเพื่อนต่อ ผมก็เข้าไปหาคนที่แอดเราไว้
แค่พอรู้ว่ามันเป็นอะไรยังไง แล้วก็รู้เลยว่ามันเป็นเรื่องที่น่าจะสนุกมากสำหรับคนหนุ่มคนสาว
เป็นเหมือนเกมมนุษยสัมพันธ์ แต่ผมไม่ได้เข้าไปบ่อยๆ หรอก แค่อยากรู้
แล้วก็ทักทายคนบางคนที่น่าสนใจ มันไม่ใช่วิถีชีวิตของเรา วิถีชีวิต เออ
คำนี้ใช่เลยนะ มีหลายเรื่องที่เราไม่ปฏิเสธ แต่ไม่เอา เพราะมันไม่ใช่วิถีของเรา

เห็นอะไรในวิถีชีวิตแบบ hi5 บ้าง

มันเป็นโลกใบที่สองของมนุษย์ ผมมองเรื่องโลกใบที่สองมาตั้งนานแล้ว
คนเรามีโลกสองโลก โลกที่เราอยู่จริงๆ ในปัจจุบัน กับโลกอีกใบนึง
จะใบเล็กใบใหญ่ก็แล้วแต่ ตอนที่สุนทรภู่เขียน พระอภัยมณี
เขามีโลกอีกใบอยู่ที่เกาะแก้วพิสดาร นักอ่านบางคนมีอยู่ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์
ศิลปินบางคนมีอยู่ในภาพเพนต์ของตัวเอง วัยรุ่นบางคนอยู่ในเกมออนไลน์
เวลาที่เราเข้าไปดูหนัง ตอนเดินออกมาจากโรงฯ
เคยรู้สึกไหมว่าเราต้องปรับตัวกลับมาอยู่อีกโลกหนึ่ง เพราะตอนที่เราอยู่ในโรงฯ
เราเข้าไปอยู่ในโลกนั้นจริงๆ เวลาก็เป็นเวลาของหนัง พอหนังเลิกเดินออกมาเลยมีความมึนอยู่นิดๆ
มันมีความเชื่อมต่ออยู่ กี่โมงแล้ว กลับบ้านยังไง มันกลับมาหาความจริงแล้ว hi5
ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง
มันไม่หลุดเข้าไปเลย มันทับโลกจริงของเราไม่สนิท เลือนๆ อยู่
บางคนก็เลือนมากเลือนน้อย แต่สนิทเป๊ะนี่ไม่มี ผมมองว่า hi5 คือโลกใบที่สองของมนุษย์
เป็นอีกโลกที่เอามาให้เลือก

ทำไมเราต้องมีโลกใบที่สองด้วย

เราไม่ใช่หุ่นยนต์ มนุษย์มันไม่แห้งแล้งขนาดนั้น
เพราะจินตนาการของมนุษย์ทำให้เรามีอีกโลกหนึ่ง แต่มันก็มีดีกรีของมัน
ทำให้เราชุ่มชื่น จะว่าไปก็เหมือนกลูโคลส ให้พลังงาน หรือบางทีก็เหมือนคาเฟอีน
ทำให้เราตื่นตัว แต่กินมากติด เคยได้ยืนชื่อโรคฮิคิโคโมริ ที่ญี่ปุ่นไหม
คือเริ่มมีเด็กหนุ่มบางคนที่ไม่ยอมไปเรียน ใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์ทั้งวัน
มีชีวิตอีกโลกอยู่ในจอ นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน ไม่มีเพื่อนข้างนอก
ใช้ปากคุยกับคนน้อยเพราะใช้เมาส์กับคีย์บอร์ดแทน แต่ไม่ก้าวร้าวนะ
เขาจะออกมาจากห้องตอนหลังเที่ยงคืนเพื่อซื้อบะหมี่ซองไปเก็บ
คือเขาเริ่มเสพติดโลกใบที่สอง เขาอยู่กับมันมากกว่าโลกใบแรก

ตัวตนของเราในโลกจริงกับโลกใบที่สอง เหมือนหรือต่างกันยังไง

ก็อย่างที่บอกว่ามันแล้วแต่ดีกรี บางคนเหมือนคนละโลก บางคนก็คล้ายมาก
แม้แต่ตัวผมกับโลกที่ผมเขียนหนังสือให้คนอ่านก็ทับไม่สนิท
ภาษาพูดของผมกับภาษาเขียนก็ไม่สนิทเป๊ะ
เพราะเวลาอ่านคนอ่านเขาเอาโลกของตัวเองมาผสมด้วย
คนพูดช้าอ่านหนังสือผมก็ได้ยินเสียงผมช้า คนพูดเร็วจะได้ยินเสียงผมเร็ว
มันมีโลกของเขาผสมอยู่นิดๆ แม้ผมจะเขียนจากความคิดของผมทั้งหมด
หรือเขียนจากสิ่งที่ผมรู้สึกจริงๆ ไม่ได้เฟก แต่มันก็ไม่ทับตัวผมเป๊ะทั้งหมด
ผมพูดเร็ว บางครั้งพูดห้วน แต่เขียนหนังสืออย่างนั้นไม่ได้
เหมือนเวลาเราไปงานแต่งงานแล้วต้องใส่สูท อยู่บ้านผมนุ่งกางเกงชาวเล สูทก็ตัวผม
กางเกงชาวเลก็ตัวผม มันบอกไม่ได้หรอกว่าทับกันสนิทรึเปล่า
เพื่อนรุ่นผมทำเว็บบอร์ดไว้สื่อสารกัน ก็มีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง
ถ้าเจอหน้ากันเขาไม่พูดเลยนะ
แต่พอเข้าไปในโลกใบที่สองในเว็บบอร์ดนี่เขาเหมือนเจ้ายุทธจักรเลย ช่างพูด ช่างแซว
พอเจอหน้ากันเพื่อนก็ถาม เฮ้ย! เดี๋ยวนี้มึงคุยเก่งนะ เขาก็เงียบ ไม่พูดอะไร
ทุกคนก็งง แซวแรงๆ มันก็ไม่โต้ตอบ แล้วมันก็กลับไปอาละวาดต่อในเว็บบอร์ด
เหมือนเป็นอาณาจักรของมัน

คุณว่าตัวตนในโลกใบไหนจริงกว่ากัน

อย่าไปสนใจว่าอันไหนจริงกว่า เพราะมันอาจจะจริงทั้งคู่
คนเราไม่ได้มีบุคลิกเดียว อย่างเพื่อนคนที่ผมเล่า
เราไม่สามารถตอบได้นะว่าอันไหนจริงกว่าอันไหน แม้แต่ไปอยู่ในโลกฝันแบบสุดกู่
ดอนกิโฆเต้ไง คนดูละครเรื่องนี้ ยังไงก็คงต้องเชียร์ให้เขาอยู่ในโลกใบที่สอง
ถ้าถามว่าคนเราสามารถมีชีวิตในโลกใบที่สองได้ตลอดเวลาไหม ก็อาจจะมีนะ
อย่างที่เด็กญี่ปุ่นเป็นอยู่ ไม่รู้สิ ผมว่าโลกใบที่สองมันเหมือนของหวาน
มันเหมือนขนม มันทำให้ชีวิตชุ่มฉ่ำ ใครไม่มีก็แห้งแล้งล่ะ
โลกนี้ไม่มีช็อกโกแลตคงแห้งแล้งน่าดู
แต่เราจะกินมันอย่างเดียวหรือกินมันมากกว่าอาหารหลักไม่ได้นี่
เรื่องโลกสองใบนี่ผมว่ามันอยู่ที่การ ‘มอง’ มัน เราไม่ควรสรุป แต่เราควร ‘มอง’ มันอย่างไรมากกว่า
คนช่างฝันทุกคนมีโลกใบที่สองกว้างใหญ่
ผมอยากให้ถอยออกมามองมันทั้งสองโลกแล้วเลือกใช้
สร้างโลกใบที่สองให้แข็งแรงเพื่อเป็นแหล่งพลังงานมาใช้ในโลกใบที่หนึ่ง

สมดุลไง ไอนสไตน์พูดว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ที่เขาพูดอย่างนี้ได้เพราะเขามีความรู้เยอะมาก
เขาเลยมีสมดุลของความรู้กับจินตนาการ เช่นกัน ถ้าคุณเป็นคนช่างฝัน
คุณต้องเป็นคนที่ปรับตัวเก่งและอยู่ในโลกจริงได้อย่างไม่กระทบกระเทือนด้วย
ทุกเรื่องในชีวิตเลยล่ะที่เราต้องสมดุล

คุณสนิทกับเพื่อนในโลกไซเบอร์ไหม

ผมเข้าไปในโลกไซเบอร์ครั้งแรกจากเว็บบอร์ดของ thaimung คือมันเกิดจากคอลัมน์คุยกับประภาสก่อน
บัวไรเขาอยากเอามาทำให้ได้คุยกันต่อในเว็บ ผมก็เอาสิ แต่มันมาอิงกับคอลัมน์เป๊ะๆ
ไม่ได้ ต้องให้คนอ่านเขาคุยกันเอง แล้วเราเข้าไปคุยกับเขาด้วย
ก็รู้สึกว่าพวกเขาเป็นน้องเป็นนุ่ง เป็นลูกศิษย์ลูกหา
เพราะพวกนี้เขาเคยรวมตัวกันให้ผมสอนแต่งเพลง

ทำไมคุณถึงเลือกใช้นามแฝงว่า ‘ลุงชาลี’
แทนที่จะใช้ชื่อจริง

ก็ทำตามสมัยนิยม ไม่มีอะไรหรอก
เห็นเขาตั้งชื่อเป็นนามแฝงกันก็ตั้งบ้าง เออ
แล้วก็ตั้งคำถามในใจว่าเขาตั้งชื่อใหม่ทำไม เพื่อให้จับไม่ได้ว่าเป็นใครหรือเปล่า
หรือเพื่อให้สงสัยว่าเป็นใคร หรือว่าตั้งไว้สนุก ๆไม่มีอะไร
หรือตั้งเพราะจะเป็นโอกาสเดียวที่เราจะได้ตั้งชื่อตัวเอง
เพราะทุกคนเกิดมาไม่มีใครได้ตั้งชื่อตัวเอง แต่ละคนคงมีเจตนาไม่เหมือนกัน
หรือตั้งเพราะมันเป็นอีกโลกนึง เราเลยต้องเป็นอีกคนนึง ที่เรียกกันว่านามจอ ก็ผมเนี่ยแหละไปล้อเขา
ว่าอย่างนี้เรียกว่านามปากกาไม่ได้หรอก ต้องเรียกว่านามจอ
เพราะมันเป็นชีวิตที่อยู่แค่ในจอ แล้วผมก็ตั้งชื่อตามวัฒนธรรมกับเขาบ้าง
ชื่อลุงชาลีก็เป็นชื่อที่คิดออกเดี๋ยวนั้น แล้วก็เอาเลย
ของแบบนี้มันไม่ต้องใช้เหตุผลเยอะ มันเป็นชื่อไทยๆ แล้วก็ฝรั่งได้ด้วย เท่จะตาย
นางฟ้าชาลี มีนางฟ้า 3 คนมานั่งด้วยตลอดเวลา

คุณมี MSN ไหม

มี

เล่นไหม

ปีละ 2 ครั้ง (หัวเราะ) อ้า วันนี้ว่างแล้ว ตั้งใจ เตรียมเวลาเลย
เพราะรู้ว่าเป็นชั่วโมงแน่ พอเปิดเดี๋ยวก็มาแล้ว มิตรสหายเต็มไปหมด
ใครทักมาก็ทักกลับ ได้รับรู้ถึงมิตรภาพจากคนไม่เห็นหน้ากัน ก็ดีนะ แต่ทำบ่อยๆ
ไม่ไหว ไม่ใช่วิถีชีวิตเรา แล้วก็เคยใช้เปิดประชุมกับเพื่อน เป็นเรื่องงาน
อันนี้ต้องนัดกัน

คุณสนิทกับคนอ่านไหม

ผมรู้สึกว่าผมกับคนอ่านของผมเป็นคนชนิดเดียวกัน
รู้เลยว่าคุยด้วยไม่ยาก คุยแป๊บเดียวก็สนิทแล้ว แล้วผมก็จะกันเองจริงๆ
จะถามข่าวคราวอย่างที่ผมรู้สึกจริงๆ บางคนเข้ามาทัก
คุยกันสักพักก็รู้เลยว่าถ้าเรามีชีวิตอยู่ใกล้เราคงสนิทมาก

ทุกวันนี้มีคนอ่านเขียนอีเมลมาหาบ่อยไหม

หลังจากหยุดเขียนคอลัมน์คุยกับประภาสก็มีไม่มาก
แต่เพราะพ็อกเก็ตบุ๊กรวมเล่ม คุยกับประภาส ยังมีขายอยู่ ก็เลยอาจจะมีคนอยากถาม
แต่ไม่รู้ว่าผมไม่ได้ตอบที่ไหน จดหมายกระดาษนี่แทบจะไม่มีแล้ว คนใช้อีเมลกันหมด
คนที่เขียนมามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นคนทำงาน วัยหนุ่มสาว เคยมีพระสงฆ์ 2 – 3
รูปเขียนจดหมายมาเสวนาด้วย ก็เลยได้โอกาสเขียนไปเรียนธรรมกับท่าน
หรือล่าสุดอัดรายการ ยกสยาม ผมเดินเข้าไปดู มีข้าราชการบำนาญคนนึงเข้ามาทัก
เขาบอกว่าเพิ่งได้อ่านหนังสือผมจากห้องสมุด ที่เด็กสุดที่เคยเมลมาอยู่มัธยมต้น

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าเวลาเลี้ยงลูกจะทำอายุตัวเองให้เท่ากับอายุลูก
การได้กลับมาเป็นวัยรุ่นครั้งที่สองเป็นยังไงบ้าง

โชคดีที่ลูกผมไม่ได้เป็นวัยรุ่นแบบชอบเต้นชอบเที่ยว (หัวเราะ)
ผมก็เลยไม่ต้องกระชากวัยมาก

ทุกวันนี้ยังถูกเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยอยู่ไหม

ผมไม่ค่อยตอบรับเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยถนัด

ทำไมไม่ถนัด

หัวข้อที่จะให้บรรยายมันถนัดยาก แค่ฟังชื่อก็ยากแล้ว ประมาณเทคโนโลยีกับการสร้างสรรค์อะไรแบบนี้
คือย่างนี้นะ ถ้าเคยอ่านหนังสือผมนี่อาจจะนึกออก
ผมเป็นคนไม่ชอบพูดเรื่องอะไรที่เป็นบทสรุป เป็นฮาวทูแบบสำเร็จรูป
ผมมองเรื่องทุกเรื่องเป็นลูกโซ่เกี่ยวโยงกัน แล้วผมก็อธิบายอย่างนั้นทุกครั้ง
ยิ่งอธิบายด้วยนิทานด้วยเรื่องสั้นนี่ทำบ่อย อ่านแล้วถ้าถูกจริตก็จะเข้าใจทันที
แต่ถามว่าเข้าใจว่ายังไง ให้แยกพูดเป็นประโยคหรือเป็นเรื่องจะยากมาก
พอผมรู้ว่าตัวเองเป็นคนบุคลิกอย่างนั้น
ก็เลยไม่แน่ใจว่าจะไปพูดอย่างที่คนเขาเชิญมาได้หรือเปล่า

หัวข้อแบบไหนที่เชิญมาแล้วไปแน่ๆ

ไม่มีหัวข้อ เหมือนกับตอนที่คุณหนุ่มเมืองจันท์มาชวนไปเขียนคอลัมน์คุยกับประภาสในหนังสือพิมพ์
มติชน ผมถามว่าให้เขียนอะไร เขาก็บอกว่าเขียนอะไรก็ได้
งั้นผมเขียนอย่างที่คนอ่านชวนคุยในแต่ละครั้งได้ไหม
ก็เลยกลายเป็นคอลัมน์คุยกับประภาส ที่บอกไม่ได้ว่ามันเป็นคอลัมน์ประเภทไหนกันแน่

เวลาไปคุยกับเด็ก สิ่งที่คุณมักจะย้ำกับพวกเขาเสมอคืออะไร

ศรัทธา ทัศนคติ

มนุษย์เราทำอะไรก็ได้ ถ้าด้วยศรัทธาละก็ พลังมันจะมหาศาล
ไม่คิดถึงตัวเอง ไม่คิดถึงว่าคุ้มไม่คุ้ม อย่าไปบวกลบคูณหาร ไม่ว่าจะเรื่องเวลา
เรื่องเงินทอง เรื่องแรงกาย ซึ่งมันเหมือนคนจิตว่าง มันเป็นการทำเพื่อธรรม
ไม่ใช่ทำเพื่อเงินทอง ทำเพื่อทน หรือทำเพื่อเท่
ศรัทธาจะเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ชีวิตเราเดินต่ออย่างไม่หยุดยั้ง ส่วนทัศนคติดีๆ
มันจะควบคุมพลังอันมหาศาลของตัวศรัทธาได้

ถ้าคุณได้รับเชิญให้ไปพูดในงานปัจฉิมนิเทศของนักศึกษามหาวิทยาลัย
คุณจะบอกอะไรพวกเขา

ก็คงจะบอกว่า ให้เตรียมปลดปล่อยพันธนาการกับเรื่องที่เรียนมา
ให้เป็นอิสระได้แล้ว เราเรียนเพราะเราอยากรู้ อย่าไปยึด อย่าไปกอด
ข้างหน้ามันอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับที่เราเรียนมาเลยก็ได้
ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าที่เรียนมาไม่มีประโยชน์นะ แต่ความรู้มันเปลี่ยนทุกวัน
วันนี้บอกว่ากินไข่แล้วดี พรุ่งนี้มาอีกแล้วกินไข่แล้วไม่ดี
ความรู้มันเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เรียนไว้ให้ตกตะกอนนอนก้น เหมือนเราอ่านหนังสือ
อ่านเยอะๆ แต่อย่ากอด ถ้ามัวแต่กอดไว้ มือไม้จะไม่เหลือทำอะไร
แม้แต่จะป้องกันตัวเองก็ไม่ได้ ก็มือมันไม่ว่างนี่ ต้องยอมรับนะว่าคนที่เป็นบัณฑิต
ยิ่งได้เกียรตินิยม มันจะมีความฮึกเหิมอยู่ มีความทระนงอยู่ มันเหมือนชุดเกราะสวยๆ
ที่อัศวินได้รับมา มันป้องกันเราได้ก็จริงแต่มันหนักเหลือเกิน ถ้าผมจะพูดก็คือ
อย่าทระนงในความรู้อันมากมายของเรา ในโลกใบใหญ่มีคนมีความรู้มากมายเดินชนกันเต็มไปหมด
ไม่รู้กี่แขนงวิชา และทุกคนแทบจะใส่เกราะเดินชนกัน

แต่คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่มีความรู้ท่วมหัวเลย
กลับเป็นคนที่ไม่สนใจเกราะของตัวเองมากกว่า ก็แหง ก็เขาไม่ต้องแบกอะไรนี่
จะปีนต้นไม้ก็ได้ จะขึ้นม้าก็เร็ว จะหลบลงคูก็ได้ จะง้าวคันธนูก็ยิ่งคล่อง
ทีนี้ยิ่งเราไม่ได้ใส่เกราะใส่หน้ากากให้เกะกะ สายตาเราจะกว้างไกล
ในสนามรบนี่สายตาสำคัญที่สุด

ถ้าความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการทำงาน เด็กๆ
จำเป็นต้องมีอะไรอีก

ในสายตาผม
คนที่มองเห็นว่าผมล้มเหลวส่วนใหญ่มาจากทัศนคติอันคับแคบทั้งนั้น และหลายครั้งมันมาจากเกราะอันน่าเกะกะ
คนที่เก่งๆ เขาจะรู้ว่าจังหวะไหนต้องถอดเกราะ จังหวะไหนต้องใส่ ไหนๆ
ก็พูดถึงอัศวินแล้ว ขอสนุกกับการเปรียบเทียบต่อ ทัศนคติเป็นรถม้าศึกดีมั้ย
เคยเห็นใช่มั้ย แบบที่ม้าลากแล้วอัศวินยืนอยู่ข้างหลัง คือถ้าเรามีความรู้เยอะ
มีเกราะใหญ่ แต่มีทัศนคติกว้างไกลก็เหมือนมีรถม้าใหญ่ที่สมดุลกัน
ใส่เกราะยืนแล้วก็สง่าผ่าเผยดีนะ
เป็นแม่ทัพเลยล่ะ แต่ถ้าความรู้เยอะ ทัศนคติแคบ
เกราะใหญ่รถม้าเล็กดูน่าเกลียดนะ ใครจะมาทำงานด้วย มาขึ้นรถม้าด้วยก็ไม่มีที่ยืนนะ
บางคนหนักข้อกว่านั้น นอกจากจะมีเกราะที่ใหญ่แล้ว มีรถม้าเล็กแล้ว
ยังมีอัตตาใหญ่อีก อัตตานี่เหมือนคนอีกคนนึงเลย
ทีนี้อย่าว่าแต่มีที่ให้ผู้ร่วมงานยืนเลย ตัวเองก็ยืนลำบาก

อัตตามีประโยชน์บ้างไหม

ฤทธิ์เยอะ ตัวใหญ่ เป็นยักษ์ได้เลย คือมันไม่เชื่อใคร แข็งแรงมาก
ใช้ให้ดีก็คงมีประโยชน์ แต่ยักษ์ตัวนี้ไม่เคยเชื่อง ผมว่าน่ากลัวนะ
บางทีก็น่ากลัวมากจนไม่มีใครอยากทำงานด้วย ทำงานกับยักษ์นี่อันตราย
เก็บมันไว้ในตะเกียงเถอะ ไว้เรียกออกมาตอนจะใช้จริงๆ ดีกว่า

“มนุษย์ถูกสั่งให้เกิดมาแล้วคิดตลอดว่า
พรุ่งนี้ต้องไม่เหมือนวันนี้”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 95 กรกฎาคม 2551)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย

AUTHOR