​วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ : หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของค่ายหนัง GTH (และ GDH) 2/2

อะไรทำให้มั่นใจว่าโปรเจกต์แปลกๆ อย่าง Final Score หรือ SuckSeed จะไม่เจ็บตัว

 

ไม่มั่นใจ จริงๆ ก็เสียวทุกโปรเจกต์แหละ (หัวเราะ)
ไม่มีโปรเจกต์ไหนไม่เสียวหรอก วันที่หนังได้เงินแล้ว คนก็คิดว่าหนังอย่าง
กวน
มึน โฮ
มันต้องได้เงินแน่นอน
แต่ก็มีหนังที่ไปถ่ายเกาหลีแล้วไม่ได้เงินเหมือนกันนะ วันที่เราทำ
รถไฟฟ้า
มาหานะเธอ
คือ 3 ปีที่แล้วมันก็มีคำถามว่าหนังผู้หญิง 30 ไม่เคยมีแฟนจะมีคนดูเหรอ
ในวันที่เราทำ
Season Changes ก็มีคนถามว่าหนังเด็กวัยรุ่นเล่นดนตรีคลาสสิกเนี่ยนะจะมีคนดู
ในวันที่เราทำ
Final Score ก็มีคนถามว่ากล้าทำหนังสารคดีเลยเหรอ
จุดเริ่มต้นในการทำหนังทุกเรื่องก็เสี่ยงพอๆ กัน ตื่นเต้นพอๆ กัน
ไม่มีเรื่องไหนที่เรารู้สึกว่า โห เรื่องนี้หน้าหนังแข็งมากๆ ต้องได้เงินแน่ๆ
ไม่เคยเลย

เหมือน รถไฟฟ้าฯ จะเป็นหนังที่สร้างความคึกคักและอะไรใหม่ๆ
ให้จีทีเอชเยอะเหมือนกัน

หาสปอนเซอร์ให้ กวน มึน โฮ ด้วย
เนื่องจากมีคนเข้าใจผิดเยอะว่าเราทำหนัง
รถไฟฟ้า มาหานะเธอ
เพราะได้สปอนเซอร์จากรถไฟฟ้า
เลยมีลูกค้าถามมาว่าหนังรักเรื่องต่อไปของจีทีเอชคืออะไร
เราก็บอกว่ามีหนังรักถ่ายทำในเกาหลีเรื่อง
กวน มึน โฮ
เลยเป็นอานิสงส์ที่โต้ง บรรจง ได้รับต่อจากพี่ปิ๊ง
เราก็บอกโต้งว่าต้องไปเลี้ยงข้าวพี่ปิ๊งด้วย (หัวเราะ)

เรื่องรถไฟฟ้าฯ นี่ BTS ได้โปรโมตไปเต็มๆ

เขาไม่ได้จ่ายเงินให้เราเลยนะ เป็นลักษณะขอความร่วมมือมากกว่า
สิ่งที่เขาให้เราก็พิเศษมาก เพราะเราได้ไปถ่ายในสถานที่ที่ไม่เคยมีใครได้ถ่าย
ระบบความปลอดภัยของเขาก็สุดยอดมากเพราะเป็นระบบของ Siemens จากเยอรมนี
ทุกอย่างเป๊ะหมด กองถ่ายหนังเรื่องอื่นอาจมีเลตมากแต่เรื่องนี้ต้องทำงานตามเวลาเป๊ะ
เราไปถ่ายในรถไฟฟ้าทั้งหมดโดยเขาไม่คิดค่าใช้จ่าย ร่วมมือกันในลักษณะนี้
นักแสดงและทีมงานทุกคนต้องไปติวระบบรถไฟฟ้า ห้ามทำผิดกฎ ฉากสุดท้ายที่รถไฟฟ้าดับ
คุยกันตั้งนานกว่าเขาจะยอมให้ถ่าย เริ่มถ่ายไปแล้วยังต้องพรีเซนต์ฉากนี้ให้ BTS ฟังอยู่เลย
เขาไม่อยากให้มีฉากรถไฟฟ้าดับเพราะมันเสียภาพลักษณ์ แต่สุดท้ายคุณสุรพงษ์
เลาหะอัญญา (กรรมการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์) บอกว่า
ผมให้ถ่ายครับเพราะมันเป็นหนัง

ถ้าวันนั้นเขาไม่อนุญาต คุณจะทำยังไง

ก็ต้องเปลี่ยน อย่างตอนถ่ายหนังเราไม่มีสิทธิ์สั่งหยุดรถแม้แต่ขบวนเดียวเพราะมันจะทำให้ระบบเขารวนไปหมด
ซึ่งมันเป็นเงื่อนไขที่เข้าใจได้ รถไฟฟ้าเขาก็วิ่งบริการไปตามปกติ เราก็ถ่ายไป
ตอนนั้นคนยังไม่ได้รู้จักคริส หอวัง มาก คริสก็วิ่งเข้าออกรถไฟฟ้า
คนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าทำอะไรกัน ตอนถ่ายเราใช้วิธีขึ้นขบวนนี้แล้วก็วนลงมาใหม่
ทำงานแบบกองโจรมาก
เราเอาตัวประกอบทีมงานเราไปบล็อกตรงประตูเพราะไม่อยากให้คนเข้ามาตู้ที่เราถ่าย
แต่บางคนก็แทรกเข้ามาจนได้ พอเห็นกล้องเขาก็หันมามอง หลังถ่ายเสร็จต้องให้กันตนาทำ
CG จับหน้าคนนี้บิดหลบไม่มองกล้อง ยากมาก (หัวเราะ) ทำได้ไงไม่รู้
เก่งมาก

อย่างหนังเรื่องล่าสุด Top Secret คนจำนวนมากก็เข้าใจว่าเถ้าแก่น้อยจ้างจีทีเอชทำ

เถ้าแก่น้อยไม่เคยจ้างจีทีเอชทำหนังเรื่องนี้เลย
เราคุยกับต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์
เจ้าของธุรกิจเถ้าแก่น้อยว่าอยากขอชีวิตของเขามาทำเป็นหนัง
เราเคยอ่านข่าวของต๊อบแล้วก็คุยกันเล่นๆ ว่าถ้าเราทำหนังเรื่องคนที่รู้ว่าทำยังไงถึงจะรวยจะมีคนดูมั้ย
พี่เก้งก็เล่าให้ฟังว่าตอนที่เขียนบทหนังเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 พี่เก้งไปเขียนที่ร้านเดิมทุกวัน
วันหนึ่งก็มีคนเดินเข้ามาบอกว่าเงินค่าเขียนบทของพี่เก้งในหลักแสน
เขาหาเงินเท่านี้ได้ภายในวันเดียวเองนะ ผู้ชายคนนั้นบอกว่า
คุณทำเรื่องอากู๋สิผมอยากดู นี่เป็นเรื่องโจ๊กที่เล่าแล้วก็ลืมกันไป

ผ่านไปอีก 3 ปี เรามาอ่านบทสัมภาษณ์ต๊อบ
เขาพูดว่าเคยเป็นเด็กติดเกมออนไลน์
เคยหาเงินได้จากเกมออนไลน์เดือนละเป็นแสนตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมปลาย
เรารู้สึกสนใจขึ้นมาทันที อยากรู้ว่า ณ จุดเริ่มต้นของเด็กคนนี้
จนถึงวันที่เขาเป็นเจ้าของธุรกิจสาหร่ายเถ้าแก่น้อย ถ้าเทียบว่ามันเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ
เราอยากรู้ว่าเสาแต่ละต้นมันคืออะไร ไอเดียเริ่มมาจากตรงนี้
เราก็ลองติดต่อขอสัมภาษณ์เขา โดยให้คุณหนุ่มเมืองจันท์เป็นคนไปสัมภาษณ์
เพราะว่าเราไม่อยากเจอเจ้าตัวเขาจนกว่าเราจะแน่ใจว่าเรื่องของเขาเป็นหนังได้
ยังไม่อยากรู้จักตัวจริงเขามากเกินไป เดี๋ยวไม่กล้าโม้
แล้วก็พบว่าต๊อบเป็นวัยรุ่นที่มีประสบการณ์ชีวิตหวือหวากว่าพวกเราทุกคน
ต๊อบลาออกจากมหาวิทยาลัยมาทำธุรกิจ จนได้เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โต ดูแลพนักงานหลักพันคน
ในขณะที่อายุเพิ่งจะเข้าเบญจเพส เราชอบเรื่องราวชีวิตจริงของเขามาก
จากนั้นถึงได้เริ่มต้นทำโปรเจกต์นี้ แล้วก็ไปขอเขาเหมือนที่เราเคยขอรถไฟฟ้า
คือต๊อบไม่ต้องมาจ่ายเงินเรา
แค่อนุญาตให้เราทำโดยไม่ต้องจ่ายเงินให้ต๊อบค่าที่เอาชีวิตคุณมาทำก็พอ

ความท้าทายต่อไปของจีทีเอชคืออะไร มีอะไรที่ต้องพิสูจน์อีกมั้ย

พิสูจน์ว่าเราจะยืนอยู่ต่อไปได้ เราอยู่มาได้ 7 ปีแล้ว
มันหยุดตัวเองไม่ได้นะ เราต้องสร้างบุคลากรเพิ่ม ต้องพัฒนาตัวเอง
ถ้าเราทำหนังได้ดีขึ้น วงการจะเกิดการแข่งขัน ทุกคนพยายามทำหนังให้ดีขึ้น
คนดูก็จะเก่งขึ้น ตรวจสอบเราได้มากขึ้น เราก็จะทำหนังดีขึ้น
คนทำงานของจีทีเอชทุกคนควรจะคิดสิ่งนี้ เพราะเด็กสมัยนี้เก่งมากนะ
ถ้าเราไม่พัฒนาก็โดนเด็กๆ แซง วันนึงเรามีเด็กขึ้นมาทำงานด้วย
เราก็อยากให้เด็กรู้สึกอยากมาทำงานกับเรา
ไม่ใช่ให้เขารู้สึกว่าไม่เห็นอยากจะทำงานด้วยเลย

สิ่งที่คนทำหนังรุ่นใหม่สอนคนทำหนังรุ่นใหญ่ได้คืออะไร

ความไม่กลัว ยิ่งเราทำงานมาเยอะ เราเคยพลาดเราจะไม่กลัว
พอเรามีประสบการณ์ชีวิตมาก เราจะมีทักษะในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ในขณะเดียวกันเราก็จะมีความกลัวมากขึ้น ในขณะที่เด็กแม้ไม่มีทักษะในการใช้ชีวิตเท่าไหร่
แต่เขาจะไม่ค่อยกลัว เราจะได้อะไรใหม่ๆ จากความกล้าและความไม่รู้ของเด็ก
อยู่ที่ว่าเราจะปรับใจให้เด็กได้แค่ไหน

อย่างหนัง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ
พวกเราสนุกมากในการทำงานกับแก๊งที่เด็กกว่าหลายปี
แล้วก็เห็นตลอดเวลาว่าน้องมันมีพลังชีวิตสูงสุด ทุ่มทุกอย่างลงไปในหนัง หนังไม่ได้สมบูรณ์เพอร์เฟกต์ไปทั้งหมด
แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีเสน่ห์และมีลูกบ้า ซึ่งเราว่ามันเป็นเสน่ห์ของการทำงานและเป็นชีวิตชีวาในการทำงานหนังมากเลย
บางทีเราไม่ได้มองหาความเพอร์เฟกต์นะ
เรามองหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเกิดแรงบันดาลใจและความตื่นเต้นน่ะ

ทุกวันนี้ยังดูหนังสนุกอยู่ไหม

สนุก คือดูหนังแบบดูเนื้อเรื่องก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะคิดว่า เอ๊ะ
ไอเดียนี้ดีมาก ทำไมคนนี้เลือกทำด้วยไดเรกชันนี้ แต่ถ้าเป็นเราเราอยากจะทำไปทางนี้มากกว่า
คนทำหนังจะดูหนังแบบนี้ แต่ดูแบบคนทำก็สนุกนะ เป็นคนสนุกในการได้ทำความเข้าใจ
สนุกที่ได้วิเคราะห์เนี่ยแหละ ไม่รู้ทำไม

ความรู้สึกตอนดูหนังก่อนทำหนังกับหลังทำหนังต่างกันไหม

(ตอบทันที) ต่างมาก ก็อย่างที่บอกว่าตอนเรียนเราเคยเป็นแต่คนดู
เราก็คิดเป็นคนดูตลอด ต่อให้ดูหนังเก่งมาก เข้าใจหนัง เข้าใจเรื่อง เข้าใจผู้กำกับ
เข้าใจ symbolic ต่อให้เรียนหนังก็เถอะ ล่าสุดก็สอนน้องๆ
ว่าจงยอมรับซะเถอะว่าเจ้าเป็นคนดูมาตลอดชีวิต เจ้าไม่เคยเป็นคนทำ
ต่อไปนี้จงหัดคิดแบบคนทำได้แล้ว มันเป็นคนละวิธีคิด

คุณมีความสุขกับขั้นตอนไหนของการทำหนังที่สุด

มี 2 วัน วันแรกคือวันที่คิดได้ว่าจะทำอะไร วันที่สองคือวันที่หนังฉายรอบสื่อมวลชน
เราแทบไม่ได้ดูหนังเลย ดูคนดูอย่างเดียว ว่าจะได้อย่างที่คิดหรือเปล่า
ตรงนี้คนหัวเราะมั้ย ตรงนี้คนตกใจหรือเปล่า ถ้าฟีดแบ็กดีเราก็แฮปปี้กับมัน
เก็บความรู้สึกนั้นไว้แล้วก็ลืมมันไป เราไม่เคยดูอีกเลย
ดีวีดีมีทุกเรื่องแต่ไม่เคยแกะเลย เพราะเราจำได้ทุกฉาก แทบจะท่องบทได้แล้ว
พอหนังเจอคนดูแล้ว จากนี้มันจะมีชีวิตของมัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
คนดูจะชอบหรือเกลียดมัน ได้เงินหรือไม่ได้เงิน เราทำอะไรไม่ได้แล้ว

การได้เป็นคนทำหนังเปลี่ยนชีวิตคุณยังไง

มันสอนอะไรเราเยอะนะ สมัยก่อนเราเป็นคนอยู่กับความคิดเยอะ ทุกวันนี้ก็เรียนรู้ว่า
การคิดแล้วไม่ทำมันไม่มีประโยชน์อะไร ทำได้ดีหรือทำไม่ได้ดี
เอาเข้าจริงโลกมันไม่ได้แตกสลายไปสักเท่าไหร่ เราพลาดแล้วก็ทำใหม่
ไม่ต้องเก่งตั้งแต่นับหนึ่งก็ได้ เราพลาดบ้าง แล้วเราก็เก่งขึ้นๆ
การทำหนังมันสอนเราเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันพอเราทำงานกับคนอื่น
บางครั้งเราคิดว่าไอเดียเราดีมาก แต่ถ้าคนที่ทำงานกับเราเขารู้สึกว่ามันไม่ดี
เราจะทำยังไง สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำเมื่อเกิดความขัดแย้งคืออะไร
การทำหนังสอนอะไรพวกนี้

การทำหนังไทยระหว่างทางมันเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ
บางทีเงินก็ไม่พอ คิวถ่ายก็ไม่ได้ ปัญหาก็เกิด ฝนก็ตก แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้
สมัยก่อนเราไม่ใช่คนคิดแบบนี้ อยากลงมือทำแล้วดีเลย สมบูรณ์
แต่เอาเข้าจริงมันไม่มีหรอก ก็ทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่ามันผ่อนคลายกว่า สนุกกว่า
การที่เราไม่ได้อย่างใจเราบ้าง มันสอนอะไรเราเหมือนกันนะ

ไม่อยากทำหนังเองบ้างเหรอ

ตอนนี้ยัง เพราะกำลังสนุกกับการคิดไอเดียใหม่ๆ
และทำงานกับผู้กำกับและคนเขียนบทหลายๆ คนพร้อมๆ กัน
อีกอย่างคือยังไม่มีไอดียที่เข้มข้นมากขนาดอยากหยุดงานทุกอย่างที่ชอบเพื่อไปทำไอเดียนี้ไอเดียเดียว
ตอนนี้เรายังไม่มีเวลาว่างมากพอจะอยู่นิ่งๆ แล้วถามตัวเองว่าเราอยากทำเรื่องอะไร
แต่ถ้าไม่เกิดขึ้นเราก็ไม่ดิ้นรนว่าต้องเป็นผู้กำกับ
ไม่รู้สึกว่าการเป็นผู้กำกับจะดีกว่าการเป็นคนเขียนบทหรือการเป็นคนทำงานหน้าที่อื่น
แต่คนที่ตัดสินใจเป็นผู้กำกับแล้วควรคิดว่าอาชีพผู้กำกับดีกว่าตำแหน่งอื่นนะ
ไม่อย่างนั้นโปรเจกต์หนังของผู้กำกับคนนั้นจะดูน่าเป็นห่วงมากเลย

คุณแทบไม่เคยออกสื่อเลย คุณไม่อยากได้รับการยอมรับเหรอ

เราอยากได้รับการยอมรับ เพราะมันมีผลต่อการทำงาน
เราว่าการยอมรับเกิดขึ้นได้ด้วยการทำงาน ตอนที่เราเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ
ทำไมเขาต้องมายอมรับเรา ในเมื่อเราก็ยังไม่มีผลงานอะไรให้เขายอมรับ
เราอยากให้คนยอมรับในเชิงการทำงาน แต่ไม่ได้อยากออกเบื้องหน้า
ไม่อยากให้คนรู้จักเยอะๆ

ชื่อเสียงกับเครดิตจำเป็นกับชีวิตคุณไหม

ชื่อเสียงไม่จำเป็น เครดิตก็ไม่จำเป็น แต่มีประโยชน์
ถึงเวลาเราจะรู้ว่างานหนังเป็นงานที่ต้องพิสูจน์ตัวเองใหม่ทุกครั้งอยู่ดี
แต่เวลาเจอคนใหม่ๆ ที่อาจจะไม่รู้จักเรา เครดิตก็ช่วยได้นิดนึง
ถ้าเขาไม่เคยรู้ว่าเราทำอะไรมาบ้าง เราจะต้องเริ่มนับหนึ่งกับทุกคนซึ่งมันเหนื่อย
มีเครดิตบ้างก็ดีเหมือนกันจะได้ไม่เหนื่อยมาก แต่เราไม่ต้องการชื่อเสียง

เพราะไม่เป็นที่รู้จัก คุณเลยแทบไม่เคยถูกชวนไปบรรยายหรือสอนหนังสือที่ไหน
ทั้งๆ ที่คุณเหมาะจะไปพูดมาก

ใช่ๆ เคยรู้สึก สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ทำให้เรารู้สึกอยากเป็นที่รู้จัก
อยากให้มีคนชวนไปสอนเรื่องบท เพราะไม่ค่อยมีคนมาถาม สงสัยจะวิชาการไป
ส่วนใหญ่คนจะสนใจเรื่องจีทีเอชมากกว่า

สนุกกับการสอนหนังสือไหม

ก็สนุกดีเหมือนกัน ไปเจอเด็กๆ แล้วรู้สึกดี เพราะเด็กๆ
กล้าถามเราในสิ่งที่เราก็ไม่เคยถามตัวเอง ล่าสุดเจอน้องถามว่า
ทำไมพี่ถึงตั้งชื่อตัวละครแบบนั้นแบบนี้ จริงๆ ก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับวิชาหนังเท่าไหร่
แต่มันทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่า เออ ทำไมเราตั้งชื่อตัวละครแบบนี้
อีกเหตุผลหนึ่งที่เริ่มรู้สึกอยากไปสอนคือ
ถ้าเราไม่พูดแล้วเกิดมีเด็กอยากโตขึ้นมาเป็นคนเขียนบท
ไม่อยากเป็นผู้กำกับบ้างจะดีใจมาก วงการหนังจะได้บาลานซ์หน่อย
จำนวนผู้กำกับมันล้ำหน้าคนเขียนบทไปเยอะแล้ว

คุณชอบสอนเรื่องอะไร

เราชอบบอกเด็กว่า ในการทำหนัง อย่าอยากเป็นคนอื่น
เพราะเรารู้ว่าเด็กทุกคนโตมาจากการชอบดูหนัง ดูหนังคนอื่นมาเยอะ
ชื่นชมและอยากเป็นคนนั้นคนนี้ซึ่งมันไม่ผิด เพราะมันคือแรงบันดาลใจ
แต่ในวันที่เราเป็นคนทำหนังจริงๆ เราต้องอย่าอยากเป็นคนอื่น
ต้องอยากเป็นตัวเองให้ดีที่สุด วงการหนังไม่ต้องการคริสโตเฟอร์ โนแลน คนที่สอง
ไม่รู้จะเอามาทำไม คริสโตเฟอร์ โนแลน มันก็มีอยู่แล้ว
ทำยังไงที่เราจะเป็นตัวเราแล้วทำหนังแบบของเราได้ดีที่สุด

คุณเชื่อไหมว่าทุกประเด็นสามารถทำให้กลายเป็นหนังที่สนุกได้

เชื่อ ทุกเรื่องในโลกเป็นหนังได้หมด สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกยังทำให้เป็นหนังได้
เพราะสำหรับเราหนังคือความคิดเห็นที่มีจินตนาการ

งานของคุณเลยเหมือนการสอดส่องว่าตอนนี้น่าเอาประเด็นไหนในสังคมมาทำเป็นหนัง

ไม่ใช่การสอดส่อง เรียกว่าเปิดรับดีกว่า ทำตัวเซนซิทีฟกับทุกอย่าง
ตอนนี้คนสนใจอะไรกันนะ ทำไมตอนนี้เรารู้สึกสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา
แต่จะไม่พยายามมากนัก
ไม่ถึงขนาดช่วงนี้ต้องพยายามดูข่าวทุกช่องเพื่อจะคิดให้ได้ว่าทำหนังอะไรถึงจะฮิต
ไม่เคยทำแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่ามันฝืนธรรมชาติ อยากทำหนังให้เป็นธรรมชาติน่ะ

ตอนนี้คุณกำลังสนใจเรื่องอะไร

บอกไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะมันอาจจะกลายเป็นโปรเจกต์หน้า

“เราต้องสร้างบุคลากรเพิ่ม ต้องพัฒนาตัวเอง ถ้าเราทำหนังได้ดีขึ้น วงการจะเกิดการแข่งขัน ทุกคนพยายามทำหนังให้ดีขึ้น คนดูก็จะเก่งขึ้น ตรวจสอบเราได้มากขึ้น เราก็จะทำหนังดีขึ้น”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 133 กันยายน 2554)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่
ตอนที่ 1

ภาพ สลัก แก้วเชื้อ

AUTHOR