#ใครฆ่านานะ #ปลอมเปลือก #อยากกินสไปรท์ต้องใส่ถุง และกระแสแฮชแท็กเผ็ดร้อนมหาศาลในโลกออนไลน์ในรอบ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ สร้างไม่ใช่แค่ซีรีส์วัยรุ่นโด่งดัง แต่เป็นคลื่นวัฒนธรรมที่ครองใจคนรุ่นใหม่ทุกครั้งที่ตอนใหม่ออกฉาย
I HATE YOU I LOVE YOU และ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เป็นผลงานโดดเด่นล่าสุดของหนึ่งในผู้กำกับ ‘แฟนฉัน’ เจ้าของเดียวกับความลึกลับตื่นเต้นใน’เด็กหอ’และพลังฝันท่วมท้นของเถ้าแก่น้อยใน ‘วัยรุ่นพันล้าน’ ตลอดระยะทาง 15ปี เส้นทางกำกับของย้งเติบโตสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ดึงดูดผู้ชมและความสำเร็จมานักต่อนัก
เมื่อนั่งลงสนทนากับเขา เราขออนุญาตเข้าไปสำรวจวงจรการทำงานของนักสร้างสรรค์คนนี้
ทำไมหนังของคุณพูดถึงเด็กและวัยรุ่นเสมอ
เวลาทำอะไร เราจะต้องทำงานที่ตัวเองรู้จักและเข้าใจมันจริงๆไม่ใช่ว่าเราจะไม่สนใจคนช่วงวัยอื่น ที่จริงสนใจคนวัยทำงาน สนใจคนทุกวัย เพียงแต่ว่าเราผ่านช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นมาสักระยะแล้ว จนเราเข้าใจว่าตอนเป็นเด็กตอนเป็นวัยรุ่นเรารู้สึกยังไง พอเราโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป รู้สึกว่าเห็นมาทุกแง่มุม เราคิดว่าเราน่าจะถ่ายทอดช่วงวัยนี้ให้กับคนอื่นได้อย่างมีมิติ
ตอนที่ยังเด็กอยู่ เวลาเริ่มต้นเล่าเรื่อง เราจะเล่าจากสิ่งที่เราเคยมีประสบการณ์ชีวิตกับมัน แต่พอทำงานมาสักพักหนึ่ง เช่น ตอนทำ Hormonesซีซั่น 1 ก็ค้นพบว่าประสบการณ์ชีวิตเหล่านั้นถูกใช้ไปหมดแล้ว พอมา Hormones ซีซั่น 2 กับ 3 มันต้องเริ่มหาข้อมูลใหม่ๆ ลงไปทำความรู้จักวัยรุ่นกลุ่มที่เราไม่คุ้นเคย กลุ่มที่เราเคยไม่เข้าใจ
ทำอย่างไร
ต้องขอบคุณการทำ Hormones นะ เพราะว่าเราก็เป็นคนปกติแหละ เราชอบคนแบบนี้ ไม่ชอบคนแบบนี้ ตอนทำซีซั่น 1 เรายังเลือกเล่าเด็กที่เราชอบ เด็กที่รู้จักหรือเราสนใจพอซีซั่นถัดๆ มา เราต้องไม่ปิดกั้น ต้องไม่มีกำแพงกับเด็กทุกประเภท หมายถึงว่าเราต้องไม่รำคาญเด็กแบบที่เราเคยไม่ชอบ เราต้องไม่ judge เด็กแบบที่เรายิ่งไม่เข้าใจแล้วเราก็จะเปิดกว้างว่ามีตัวละครหลายๆ ตัวให้เราเลือกเล่าได้อีกเต็มไปหมด
พอเป็นแบบนั้น พวกเราทีมกำกับและเขียนบท Hormones ก็หาข้อมูล หาเด็กแบบนี้มาคุยว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนแบบไหน ทำไมเขาถึงตัดสินใจทำแบบนั้น เขาอยู่ในอารมณ์แบบนั้นเพราะอะไรอะไรเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้เขาไปถึงจุดนั้นได้ ในขณะเดียวกัน นอกจากคุยกับเด็กหลายๆคนแล้ว เราก็หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตด้วยว่าคนส่วนใหญ่มองเด็กแบบนั้นยังไง แล้วเราในฐานะที่เราเป็นคนเล่าเรื่องจะพยายามเป็นคนตรงกลาง พาคนไปเห็นมุมข้างหลังว่าเขามีชีวิตยังไง เขาเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน เผื่อคนดูจะเข้าใจเขามากขึ้น
เวลาที่เราสร้างตัวละครเด็กที่มีปัญหา ไม่ได้แปลว่าเราอยากให้เด็กทุกคนเลียนแบบและทำตาม แต่เราอยากให้เข้าใจ การเข้าใจมันจะช่วยหาทางออกจากปัญหาได้มากกว่าการตัดสินว่าเขาเป็นเด็กดีหรือไม่ดี เช่น ตัวละครสไปรท์ เราสนใจเด็กผู้หญิงคนนึงที่มีอะไรกับผู้ชายได้ง่ายๆ เราไม่ได้คิดว่าสิ่งนั้นถูกนะ แต่เราสนใจ คือมันอาจจะน่าสนใจในความแรง แต่ว่าถ้าเขามีแค่นี้ เราจะไม่มีทางเล่าเขา เพราะว่าเราไม่เข้าใจเหตุผลของเขา จนกระทั่งเราได้คุยกับน้องคนนึงเขาบอกว่าที่เขามีอะไรกับผู้ชายได้ง่าย เพราะเขาไม่คิดว่าผู้หญิงมีอะไรกับผู้ชายเป็นการเสียตัว เขารู้สึกว่าเขามีความสุข ไม่เห็นจะเสียอะไรเลย ถ้าการมีเซ็กซ์จะทำให้เขาไม่มีความสุข ก็เพราะท้อง เป็นโรค เพราะไม่ป้องกันดูแลตัวเอง
มันก็เลยเป็นที่มาของสไปรท์ว่าต่อให้ง่ายยังไงแต่ถ้าจะมีอะไรกับเขาคุณต้องใส่ถุงยางเพื่อที่จะเซฟ เราไม่อยากให้คนเข้าใจว่าสไปรท์แรง ง่าย หวือหวาฉูดฉาด มันเป็นแค่เปลือกที่ฉาบฉวย แต่เราอยากให้คนเข้าใจว่า ผู้หญิงแบบนี้จริงๆ เขาก็มีทัศนคติของเขาที่ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ แต่จะถูกหรือผิดก็อยู่ที่คนดูเป็นคนตัดสิน
พอได้ข้อมูลมาแล้ว คุณมีวิธีสร้างตัวละครยังไงให้ซับซ้อนจนคนดูติด
ในฐานะคนทำงาน เราต้องไม่ตัดสินคน เราต้องเป็นคนไม่ตัดสินใคร อย่างตอนที่ทำ HATE LOVE เราก็ย้อนกลับไปตอนเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ มันก็จะมีกลุ่มเด็กผู้หญิงสวยๆ เต็มไปหมดที่จับกลุ่มอยู่ด้วยกันเอง มีน้องผู้หญิงสวยๆ คนหนึ่งโดนใครก็ไม่รู้ไปใส่ร้ายป้ายสี แฉเบื้องหลังบางอย่างว่าเขาทำอะไรไม่ดีทุกคนในคณะก็ตกใจ แล้วหาตัวว่าใคร สุดท้ายก็เป็นเพื่อนสนิทในกลุ่มนั่นแหละ
เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงอยู่ด้วยกัน ถ้าเขาไม่ชอบกัน ทำไมเขายังคบกันเป็นเพื่อนอยู่ มันก็เลยเริ่มต้นจากว่าเราอยากเล่าความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งของกลุ่มเพื่อนผู้หญิง แต่เราไม่อยากให้มีตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นตัวละครร้ายแบนๆ คือ HATE LOVE เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวละครกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตสนุกกับความเกลียด ทีนี้ถ้าเรากำลังจะเล่าว่าซอลเป็นคนแบบนี้ แต่ไม่ได้เล่าเลยว่าเบื้องหลังชีวิตของเขา ครอบครัวเขาเป็นยังไง มันไม่ยุติธรรมกับตัวละคร ยิ่งถ้าพาเขาไปร้ายสุดๆ หรือดีสุดๆ ยิ่งต้องพาคนไปรู้จักเขาให้มากขึ้นว่าเขาเป็นคนแบบนั้นเพราะอะไร มันก็เลยมีความซับซ้อน
คุณใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกเรื่องขึ้นมาทำเป็นหนัง
ถ้าเป็นตอนเด็กๆ ประสบการณ์มันน้อย ก็จะมีอยู่ไม่กี่อย่าง แต่พอมาถึงทุกวันนี้ ไอเดียเรามาจากอะไรก็ได้ หลังๆ อยากทำอะไรที่ไม่เคยทำ เหมือนเวลาไปเที่ยวก็อยากไปที่ที่ไม่เคยไป
เพราะมันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น มันทำให้อะดรีนาลีนเราหลั่ง เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ตอนเราทำงานครั้งแรกแล้วเรามีไฟ
เราอยากทำงานกับเด็กและวัยรุ่น แต่จะพยายามไปในทิศทางเล่าเรื่องใหม่ๆ เพราะเวลาเราทำอะไรที่ไม่เคยทำเราจะตื่นเต้น เราจะกลัว เหมือนเวลาเราจะสอบ พอรู้สึกว่าวิชานี้ไม่เก่งก็จะตั้งใจอ่านหนังสือเยอะขึ้น เวลารู้สึกแบบนี้ปุ๊บ มันจะทำให้เวลาเขียนบทจะเขียนบทอย่างหนัก ให้เวลากับมัน เตรียมการอย่างดี พอไปออกกองจะทำให้มีโอกาสได้งานที่ดีสูง ดังนั้นทิศทางในการทำงานหลักๆ คือ ทำงานแบบที่ตัวเองไม่เคยทำ เช่น HATE LOVE เราอาจจะเคยทำงานกับวัยรุ่น แต่ไม่เคยเล่าเรื่องซีรีส์แบบ suspense thriller เลย เคยอยากทำหนังแต่ไม่รู้จะไปบอกนายทุนยังไงให้เขาให้เงินเรา แล้วไม่รู้ว่าทำแล้วคนจะดูไหม มันมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก พอจังหวะหนึ่งคนเริ่มเชื่อเราเพราะเราทำซีรีส์มาสักพักหนึ่งแล้วมันอยู่ในอินเทอร์เน็ต คนจะกลับมาดูเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าชอบเราเลยกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ
งานแบบเดิมที่คุณทำก็ประสบความสำเร็จแล้ว การที่เราทำอะไรเดิมๆ มันไม่ปลอดภัยกว่าเหรอ
เราว่ามันต้องบาลานซ์กันทั้งสองอย่าง ถ้าปลอดภัยไปทุกอย่างก็ดีแต่ไม่ตื่นเต้น เราชอบทำงานแล้วอะดรีนาลีนหลั่ง มันจะพลุ่งพล่าน รู้สึกมีพลังที่อยากลุกออกไปทำให้มันดี แต่เราก็จะบอกตัวเองตลอดว่าเราจะไม่ไปไกลเกินจนเอามันไม่อยู่มือ เช่น โปรดักชันยากมาก จนรู้สึกว่าทำงานมาสิบปียังไม่รู้เลยว่าจะเอามันอยู่หรือเปล่า ก็คิดว่าจะไม่ทำ จนกว่าเราจะมีประสบการณ์มากพอหรือมีงบประมาณมากพอที่เราจะทำให้มันอยู่มือ เพราะว่าเราไม่อยากพลาด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากทำงานทุกอย่างมันอยู่ใน safe zone ผลิตงานเดิมๆ แล้วเราก็เฉยๆ เบื่อๆ มัน แต่ก็ไม่ได้อยากจะบ้าทะลุกรอบจนประเมินตัวเองไม่ได้
อะไรคือกรอบว่าอันนี้เราจะไม่ทำแล้ว อันนี้เรายังโอเค ยังตื่นเต้นและยังปลอดภัยอยู่
หลังๆ เวลาทำงาน เราจะพยายามคิดแบบไม่มีกรอบ การทำอะไรนอกกรอบมันก็ดีแหละ แต่เราอย่าฝืนเลยถ้าเราไม่ได้เป็นคนนอกกรอบ เราควรทำงานที่มันเป็นตัวเราเอง ทำงานแบบที่เราไม่เคยทำแล้วเราสนุก ถ้าเป็นตัวเราแล้วคิดเท่าไรมันก็อยู่ในกรอบก็ช่างมันเถอะแค่อย่าไปเอากติกา รูปแบบบางอย่างที่ ปลอดภัยมาตีกรอบเราว่าไม่ให้คิดไปไกลเกินนี้
มันไม่มีอะไรบอกเราว่าตรงนี้คือชายแดน safe zone แล้ว แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันชิลล์ กำกับง่าย ก็เบื่อ ถ้าทุกอย่างมันอยู่มือหมดแล้ว จะรู้สึกไม่ตื่นเต้นเวลาทำงาน อย่างตอน HATE LOVE เราเล่าเรื่องจากมุมมองตัวละคร ซึ่งมีคนทำมาเยอะ แต่เป็นหนังสองชั่วโมงจบ มันทำให้คนดูอยู่ในสองชั่วโมงนั้นแล้วไม่ได้มีเวลาออกไปคิด แต่ของเรามันเป็นซีรีส์ พอเล่ามุมมองนึงจบเรามีเวลาให้คนออกไปคิด ออกไปฟุ้ง ออกไปเพ้อ ออกไปหา เราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ในงานที่อื่นมาก่อน แล้วถอดสูตรสำเร็จมาไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเห็น มันอาจจะแปลกใหม่แล้วดีหรือไม่ดีก็ได้ แล้วมันตื่นเต้นที่จะรอฟังคำตอบ สุดท้ายแล้วเราไม่ได้แคร์ว่ามันจะอยู่ในกรอบหรือนอกกรอบ แต่รู้สึกว่าตื่นเต้นที่ได้ทำมัน ก็ถือว่ามันพาเราไปอีกจุดหนึ่งที่เราไม่เคยไปแล้ว
พอเราไปที่ใหม่ๆ เรื่อยๆ มันไม่ตันบ้างเหรอ
คนที่ตันคือคนที่ไม่พาตัวเองไม่ยังจุดใหม่ๆ ถ้าเราคิดเรื่องรักแบบเดิมๆ วัยรุ่นแบบเดิมๆ เราตันแน่นอน ตอนเราอายุยี่สิบ เราก็ผ่านประสบการณ์ชีวิตยี่สิบปี ตอนเราอายุสี่สิบ เราก็ผ่านประสบการณ์ชีวิตตอนอายุสี่สิบปี เรามีวันใช้หมด
แต่ถ้าเราพาตัวเองไปในจุดใหม่ มันจะทำให้เรามีโอกาสได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ
แล้วมันจะเปิดอีกบานประตูบานนึงของเราขึ้นมา
เราค้นพบว่าจุดสูงสุดไม่มีอยู่จริง
วันนึงที่เราทำแฟนฉันสำเร็จ แล้วหลังจากนั้นเราจะไปยังไงต่อวะ พอมาทำ เด็กหอ ปุ๊บมีคนถามเราเยอะว่าทำสายดราม่าต่อมั้ย
ทำไมไม่ทำทางนี้ต่อ แต่เราอยากพาตัวเองไปอยู่ในหลายๆ จุด
ก่อนตายเราอยากทำงานหลายๆ แบบ คือเวลาเราทำงานนี้ เราจะไปให้สุดกับงานของมันนะ
แต่พอถึงงานต่อไป เราอาจจะไม่ได้กลับไปทำหนังแบบ เด็กหอ อีกแล้ว อาจจะไปทำแบบอื่น เพราะก่อนที่จะหมดเวลาการทำงานของเรา
เราอยากมีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย
วิธีรับมือกับอุปสรรคลดทอนความสร้างสรรค์ของคุณคืออะไร
พี่เก้งสอนเราตั้งแต่ทำ แฟนฉัน เลยว่าผู้กำกับต้องมีแพลนบี มันจะมีผู้กำกับที่อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ ซึ่งถูกแล้ว ไม่ผิดเลย แต่ถ้ามันเอาไม่ได้ จะทำยังไง เอาเวลาไปเสียใจ ไปนอยด์
หรือโทษว่าเพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หนังเลยออกมาไม่ดี ถ้าเราเต็มที่แล้วไม่ได้ มันก็ต้องรีบหาทางแพลนบีที่ดีที่สุดให้ทันในเวลานั้น พี่เก้งสอนเราในวันที่ไปถ่ายฉาก แฟนฉัน ที่เพชรบุรี
มีคนมาบอกว่าฉากที่เราขอไปถ่ายพรุ่งนี้เขาไม่ให้ถ่ายแล้ว เราก็เครียด นอยด์ ฟูมฟาย แต่พี่เก้งบอกว่าพวกมึงลืมไปเถอะ เดี๋ยวพระอาทิตย์จะตกแล้ว พอตกก็มีเวลาไม่กี่ชั่วโมงไปหาโลเคชั่นใหม่ เพื่อที่จะถ่ายซีนที่ต้องดีให้ได้อยู่ดี รีบลืมอันเก่าให้เร็วที่สุดแล้วหาสิ่งใหม่ดีกว่า มันไม่มีทางไม่ดีหรอก แล้วซีนที่มันไม่เกิดขึ้นจริงมันก็ไม่ถูกเปรียบเทียบ ซึ่งสุดท้ายมันก็ออกมาเป็นซีนที่พวกเราชอบจริงๆ
อุปกรณ์อย่างกล้องช่วยแก้ไขปัญหายังไง
เราใช้กล้องเหมือนเป็นตา พกติดตัวตลอดเวลา ทั้งที่เขาก็มีคนดูโลเคชัน บล็อกช็อตให้เราแล้ว แต่ถ้าเราไม่เอากล้องไปด้วยเหมือนเรามองไม่เห็นเฟรม สมมติเราไปโลฯ ที่เราชอบ แล้วรู้สึกอยากยกกล้องขึ้นมาถ่าย แปลว่าเราเห็นซีนในเฟรมแล้ว มันจะฟันธงได้ว่าโลเคชันนี้มันใช่ แต่ว่าถ้าไม่มีกล้องจะไม่แน่ใจ
ปกติเป็นคนไม่ค่อยจด ถ้าไปเที่ยวก็จะพกกล้อง เขียนไดอารี่ด้วยการถ่ายภาพ เพราะเขียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง ชอบภาพ ตัวหนังสือมันก็เล่าเรื่องได้ดี แต่มันไม่เห็นบรรยากาศ ภาพมันเห็นบรรยากาศ ถ้าเราถ่ายเอง พอกลับมาเห็นจะรู้ทันทีว่าบรรยากาศเป็นไง เราจะถ่ายภาพเยอะมาก แล้วกลับมาแตกช็อต คิดบล็อกกิ้ง ให้ตัวละครทำอะไรตรงไหน การเปิดภาพพวกนั้นมาดูจะทำให้เราคิดออกว่าจะเล่าเรื่องด้วยภาพยังไง การดูด้วยตากับกล้องมันคนละความรู้สึก เฟรมในหนังมันเป็นกรอบเครื่องมือผู้กำกับที่จะสโคปสายตาคนดูให้มองอะไร และมันทำให้เราคิดชู้ตติ้งสคริปต์ที่จะเอาไปใช้ได้ทีหลัง
เวลาที่เราถ่ายภาพยนตร์สมัยนี้ มันค่อนข้างแตกต่างจากเมื่อก่อนเยอะพอสมควรนะ เราต้องวางแผนว่าจะสื่อสารยังไงให้คนดูรู้เรื่องเหมือนเรา ความคมชัดของกล้องก็สำคัญ ตัวที่เราใช้ถ่ายบ่อยๆ ก็เป็นของโซนี่ A7S ซึ่งพกพาสะดวก และถ่ายทำได้ในที่แสงน้อยหรือตอนกลางคืน
กล้อง A7SM2 คู่ใจของผู้กำกับคนนี้มีเซนเซอร์ความไวสูงพิเศษ ระบบ BIONZ™ X เพื่อการแสดงรายละเอียดและการลดสัญญาณรบกวนอย่างเหนือชั้น เอาต์พุตวิดีโอ 4K พร้อมการอ่านแบบเต็มพิกเซล และระบบเลนส์ E-Mount แบบเปลี่ยนได้ สำหรับใครที่ต้องการรู้รายละเอียดของกล้องคู่ใจของผู้กำกับคนนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูต่อได้ในเว็บไซต์ของ Sony
ภาพ สลัก แก้วเชื้อ
วิดิโอ ภาณุ วิวัฒฑนาภา และ ชญาน์วัต สิริศุภนันท์