เมื่อ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์เรื่อง ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ พูดถึง เต๋อ นวพล

เมื่อ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์เรื่อง ‘ฟรีแลนซ์ฯ’ พูดถึง เต๋อ นวพล

ฟรีแลนซ์ฯ.. ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เป็นหนัง GDH ที่โดดเด่นเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้ฉีกจากอารมณ์หนังของ GDH ออกไปพอสมควร มวลไอของฝีมือผู้กำกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ยังคงอบอวล และที่สำคัญ นี่เป็นหนังสตูดิโอเรื่องแรกของเต๋อ นวพล

เมื่อรู้ว่า วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้ ฟรีแลนซ์ฯ.. ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เราจึงก้าวเข้า GDH เพื่อคุยกับเธอเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับเต๋อ รวมถึงผลงานของเต๋อในสายตาของเธอ

คุณเจอเต๋อครั้งแรกที่ไหน

งานประกวดหนังสั้นแฟต จำได้ว่าไปดูพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ไปเป็นกรรมการตัดสิน ดูเรื่อง See (หนังสั้นของนวพลที่ส่งประกวดงานนั้น) แล้วสะดุดตา ชอบเรื่องนี้ ตัวตนคนทำมีความอินดี้ มีวิธีการเล่าที่อยากจะแตกต่าง แต่สิ่งที่เราสนใจคือแม้จะมีวิธีที่แตกต่างกับหนัง commercial แต่มันยังทำงานกับความรู้สึกและอารมณ์ของเรา วันประกาศผลก็ปรากฏว่าเรื่องนี้ได้รางวัลขวัญใจผู้ชม ทั้งๆ ที่เป็นหนังที่มีสองคัต และแต่ละคัตนานมาก แช่นานจนคนดูหงุดหงิด แต่มันทำงาน มี super มี copy ตามสไตล์ผู้กำกับสายอักษรศาสตร์อย่างนวพล ซึ่งชอบ

ตอนนั้นเต๋อไม่ได้ไว้ผมม้าแบบนี้ เป็นเด็กตี๋หน้าตาใสๆ รู้อีกทีคือมาฝึกงานที่บริษัท

เต๋อเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขามาฝึกงานที่ GDH แผนกตัดต่อ ทำไมคุณถึงโยกเขามาฝึกเขียนบทแทน

จริงๆ ไม่เชิงโยก พอเรารู้ว่าเต๋อฝึกตัดต่อก็ไม่คิดอะไร นึกว่าอยากทำตัดต่อ พอบังเอิญเจอก็คุยกัน เต๋อก็พูดขึ้นมาเองว่าผมอยากฝึกเขียนบทกับพี่เหมือนกันนะ เราบอกว่าฝึกงานกับพี่เดียว (วิชชพัชร์ โกจิ๋ว) ให้เสร็จก่อนมั้ย คือสมัยนั้นเราและพี่เก้งไม่รับเด็กฝึกงานเขียนบท ปีก่อนหน้าเคยรับปิง ฮอร์โมนส์ (เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น) แล้วเราไม่ค่อยมีเวลาให้น้อง รู้สึกว่าเหมือนเราทำตัวไม่ดี ก็เลยบอกเต๋อว่าปกติพี่ไม่มี แต่เต๋อบอกผมอยากลอง เราเลยบอกว่างั้นพี่จะให้ลองทำงานเลยละกัน คือไม่รู้ว่าจะฝึกยังไงที่ดีไปกว่าการได้ลองทำงานจริง คุยกันว่าถ้าอยู่ก็แปลว่าต้องทำยาวนะ ไม่ใช่ว่าฝึก 3 เดือนแล้วกลับ ตอนแรกเราคิดถึงผู้กำกับคนนึงไว้ น่าจะลองให้นวพลไปทำงานด้วย

ใคร

ทีแรกจะเป็นพี่ต้น (นิธิวัฒน์ ธราธร ผู้กำกับในเครือ GDH) ปรากฏว่าวันหนึ่งพี่ปิ๊ง (อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม) เดินมาบอกว่าเขาอยากชวนนวพลไปทำโปรเจกต์หนึ่ง ตอนนั้นความเห็นเราคือนวพลไม่มีอะไรที่เหมาะกับปิ๊งเลย (หัวเราะ) แต่ดีเหมือนกัน อยากจะรู้ว่าน้องที่ทำเรื่อง See กับปิ๊งซึ่งมีโจวซิงฉือเป็นไอดอลอยู่ด้วยกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หนังเรื่องนั้นคือ รถไฟฟ้า..มาหานะเธอ ทำงานกันประมาณ 6 เดือน

ตอนนั้นได้เห็นอะไรลึกขึ้นมั้ย

ก็เห็น จำได้ว่าครั้งแรกที่เราคุยกับเต๋อ บอกเขาว่าคุณเป็นผู้กำกับ ไม่ใช่คนเขียนบท แต่ถ้าอยากฝึกบท เราเห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าการที่คุณเขียนบทได้ด้วยตัวเองในฐานะผู้กำกับมันดีมากเลย ความจริงอาชีพคนเขียนบทในประเทศเราน้อยมาก จะหาคนที่มาซัพพอร์ตเราอยู่เสมอก็ยาก ถ้าเราทำได้ด้วยตัวเองจะดีมาก ก็เลยเชียร์ให้เต๋อฝึกเขียนบท

ที่บอกว่าน้องดูเป็นผู้กำกับ เพราะเขาเป็นคนที่มีทิศทางของงานที่ทำชัดเจนมาก มันเป็นทุกอย่างที่เขาอยากให้หนังเป็น ซึ่งถ้าเป็นคนเขียนบท เราต้องมีความยืดหยุ่นตรงนี้สูงกว่าเพื่อสนับสนุนทิศทางที่คนอื่นคิด นวพลจะไม่ค่อยมีคนอื่น คือมีตัวเขาชัดมาก ซึ่งเราว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้วเต๋อมีความเป็นผู้กำกับมากกว่า

เต๋อเล่าว่าเคยเอาหนัง 36 มาให้คุณดูด้วย เหตุการณ์ตอนนั้นเป็นยังไง

นวพลเป็นคนมีโปรเจกต์ตลอดเวลา ช่วงเบรก วัยรุ่นพันล้าน เต๋อไปทำ 36 ก่อน วันหนึ่งก็โทรมาบอกว่าพี่ครับ ผมทำ 36 แล้วใช้เงินตัวเองเยอะมาก อยากเอามาให้พวกพี่ดูว่าคิดว่าจะทำยังไงกับมันได้บ้าง

พี่เก้งชอบไอเดีย แต่ไม่ชอบหนัง (หัวเราะ) เราบอกนวพลตามตรงว่าชอบสัก 12 รูป คือดูได้แต่ไม่ใช่งานนวพลที่ชอบมาก เราดูแล้วเข้าใจว่าเขากำลังทำงานอีกแบบนึง เข้าใจคอนเซปต์และความคิด แต่ไม่ค่อยรู้สึก

แวบนึงก็เคยคิดว่าจะรีเมก แต่พอหนังได้รางวัลจากเทศกาลหนังที่ปูซาน เราก็รู้สึกว่าอย่าทำเลย ไม่ควร เหมือน 36 มันเดินทางก็ไปจนสุดทางของมันแล้ว

จำได้ว่าตอนที่ ฟรีแลนซ์ฯ ฉาย จะมีคนชอบมองว่า GDH ล้างสมองเต๋อ

(นิ่งคิด) ถ้าพูดขำๆ ก็เรียกว่าล้างสมอง คำมันตลกดี แต่ความจริงเราบอกนวพลตั้งแต่วันแรกว่า ถ้าจะทำงานด้วยกัน เต๋อต้องซื้อ GDH แล้วเราจะซื้อนวพล ไม่ได้หมายถึงเอาเงินซื้อ คือซื้อซึ่งกันและกัน อันนี้ศัพท์แบบคนโฆษณา เต๋อต้องอยากมีความเป็น GDH บางอย่างในงาน เพราะถ้าไม่ชอบเลยจะมาทำกับเราทำไม ในขณะเดียวกันถ้าเราทำงานกับน้อง เราจะชอบบางอย่างในความเป็นตัวตน ยอมให้เป็นแบบนั้น ไม่พยายามทำให้เต๋อเป็นโต้ง บรรจง แต่ก็ไม่ใช่ตัวตนแบบ 36 หรือ Mary Is Happy, Mary Is Happy เราว่านวพลอาจเคยชินกับการทำงานคนเดียว ควบคุมได้ทุกอย่าง ซึ่งมันจะเป็นธุรกิจรูปแบบนึง ตอนนี้มาทำหนังแบบ commercial ฉายโรงแบบ wide release ทำกับ GDH มันก็มีรูปแบบธุรกิจแบบนึง ไม่ใช่การทำงานคนเดียวอีกต่อไป

บทร่างแรกที่ส่งมาเป็นอย่างไร

ตอนแรกเป็นไอเดียเรื่องศาลเตี้ย คือเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่จะไปจับคนผิดมาลงโทษ ทันทีที่อ่านเราบอกเลยว่าไม่อยากทำ ไม่ใช่เพราะหนังดาร์ก แต่อ่านแล้วเราคิดถึงหนังแบบอื่นมากมาย แต่เราอยากทำงานกับนวพลคนที่ทำเรื่อง See

เรื่อง See เราว่าเขาทำขึ้นมาจากความรู้สึก มันมีความจริงของชีวิต เกือบทุกงานของนวพลมีสิ่งนี้ แต่มันจะทะลุรูปแบบของหนังขึ้นมาได้หรือเปล่า เราบอกว่าอยากทำหนังกับนวพลคนที่ความรู้สึกนำรูปแบบ เขาก็หายไปสักพักนึง กลับมาแล้วเล่าว่า พี่ครับ ตอนทำ วัยรุ่นพันล้าน ผมไปหาหมอ ขึ้นมาประโยคแรกรู้เลยว่าอันนี้โอเค (หัวเราะ)

เพราะอะไร

ไม่เกี่ยวว่ามันเป็นหนังรักนะ แต่เรารู้สึกว่าเขา ‘รู้สึก’ จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่อยากลองทำ หรืออยากลองเป็น หนังก็เป็นเรื่องของฟรีแลนซ์ ซึ่งทั้งหมดก็คือตัวเขานั่นเอง เต๋อเป็นยุ่น เหมือนกับผู้กำกับของเราคนอื่น ใครเขียนบทหนังเรื่องแรกเป็นพระเอกหมด เราว่าดี มันกลับไปเป็นธรรมชาติ เวลาทำงานกับเต๋อเราจะชอบแกล้ง ล้อ แหย่ให้ไม่ดูเป็นนวพลที่ดูเท่ในเฟซบุ๊ก เราชอบเพราะรู้สึกว่ามันธรรมชาติ ด้วยความที่เราไม่เล่นเฟซบุ๊ก เลยไม่รู้จักตัวตนเต๋อในนั้น รู้จักตัวตนเขาแบบนี้ มันจริงดี

เต๋อมีทิศทางของงานในหัวชัดมาก คุณเองก็ขับเคี่ยวเรื่องบทเยอะมาก จูนกันยังไง

ใช้เวลาปีครึ่ง บทเวอร์ชั่นแรกที่นวพลเขียนมาก็เป็นเรื่องนี้ เป็นเรื่องชีวิตยุ่น ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ มีเรื่องหมอ เจ๋ มีทุกอย่าง แต่มันค่อนข้างเป็นลูป เหมือนหนังที่ถูกคิดด้วยคณิตศาสตร์ มีหนัง 5 เรื่องแล้วหาจุดมาเชื่อม เราบอกว่าไม่รู้สึก จับรูปแบบได้มากเกินไป

เราบอกว่าต้องเลือกว่าในเรื่องทั้งหมด ประเด็นไหนจะเป็นเรื่องเด่นที่สุด ปีครึ่งที่ทำงานกับเขาจะเป็นการสมมติว่า เอ๊ะ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้มั้ยนวพล บางทีเวลาเราคุยบทกับคนเขียนหรือผู้กำกับ เราจะช่วยคิดด้วย แต่นวพลจะเป็นผู้กำกับที่เวลาเรายกตัวอย่าง เขาจะฟังแบบเข้าใจ แล้วจะกลับไปเขียนโดยที่ไม่เอาตัวอย่างของเรา จะดื้อเอาแบบอื่น เราโอเคว่าน้องไม่ต้องเอาตัวอย่างที่พี่ยกก็ได้ แต่ต้องเข้าใจว่าน้องต้องเอาชนะความรู้สึกของน้องได้ ด้วยวิธีการของตัวเอง

ตอนทำ Mary Is Happy, Mary Is Happy เต๋อประสบความสำเร็จด้านการเล่าเรื่องในโซเชียลมีเดียมาก ตอนทำฟรีแลนซ์ฯ มีความคิดว่าจะทำงานด้วยวิธีการคล้ายๆ กันอีกมั้ย

จริงๆ ฟรีแลนซ์ฯ เป็นงานที่กลุ่มคนในโซเชียลมีเดียและเอเจนซี ชอบมาก แต่ด้วยเนื้อหาของหนัง เราชื่นชมสิ่งที่นวพลทำมาก นวพลเป็นผู้กำกับที่เก่งมาก แต่ก็จะบอกเขาอยู่เสมอว่ามันคนละสนาม บางทีน้องอาจจะต้องการคนอื่นมาช่วย เหมือนน้องเล่นฟุตซอล 7 คนที่พอไปเล่นสนามใหญ่ น้องใช้ 7 คน ต่อให้เป็นเมสซี่ก็โดนยิงเละ การเล่าเรื่องผ่านโซเชียลมีเดียที่ดีก็ทำ แต่มันก็มีงานส่วนอื่น หนังตัวอย่าง โปสเตอร์ การสื่อสารกับคนที่ไม่ใช่แฟน Mary Is Happy, Mary Is Happy และ 36 ต้องทำยังไง

เราจะบอกว่าถ้านวพลเปิดใจนะ เขากำลังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ทำสิ่งใหม่ ซึ่งอาจจะน่ากลัวในระหว่างทาง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง แต่นี่คืองานของเราร่วมกัน เมื่อถึงฟากโปรโมตแล้วอ่ะ ก็จะมีทีมมาทำ เราก็ต้องเคารพความคิดเขา กลัวก็ต้องเชื่อ เหมือนนั่งเครื่องบิน เราก็ไม่ได้ขับเครื่องบินเอง ฝากชีวิตไว้กับกัปตันเพราะเราขับไม่เป็น

ตอนนี้คุณคิดยังไงกับ ฟรีแลนซ์ฯ บ้าง

(นิ่งคิด) เรารู้สึกว่าเป็นงานที่นวพลทำร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวแฮปปี้ นี่คืองานที่เราทำด้วยกัน แต่เราก็จะได้ยินว่า GDH ล้างสมองนวพลหรือเปล่า แฟน GDH ก็จะบอกว่าตอนท้ายมันจบอย่างนั้นดีแล้ว หรือตอนหนังไปฉายที่เวียดนามแล้วมีคนตัดหนังจบตั้งแต่ยุ่นหัวฟาด ซึ่งเป็นการกระทำที่แย่มาก แต่ในมุมนึงเราก็ต้องคิดว่า เอ๊ะ คนที่ตัดคงคิดว่าหนังจบได้ตั้งแต่ตรงนั้นแล้วว่ะ (หัวเราะ) สนุกดี ส่วนตัวเราคิดว่าถ้าไม่ใช่นวพล ฟรีแลนซ์ฯ ก็จะไม่เป็นแบบนี้ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่คิดว่าจะมีผู้กำกับคนไหนคิดคอนเทนต์แบบ ฟรีแลนซ์ฯ ขึ้นมาได้

ตอนนี้นวพลทำงานใหม่หรือยังครับ

เขียนอยู่ โดนดองมาประมาณ 6 เดือนแล้ว (หัวเราะ) นวพลแฮปปี้ในการทำงานกับพวกเราหรือเปล่าไม่รู้

ก็ดีนะครับ เท่าที่คุยนอกรอบ (หัวเราะ)

อย่างที่บอกว่านวพลชัด เขารู้ว่าอะไรใช่ไม่ใช่สำหรับเขา แต่อาจจะไม่ได้คิดว่าอะไรใช่ไม่ใช่สำหรับคนอื่น เป็นคนแบบนั้น ซึ่งก็ไม่มีถูก-ผิด เราพยายามสอนว่านวพลต้องรู้จัก let people in บ้าง การทำหนังไม่ได้เบ็ดเสร็จในตัวคนเดียว การให้คนอื่นมีส่วนร่วมในงานมันก็มีความสำคัญเหมือนกัน ไม่ว่าอาร์ม นักแสดง เขาทำอะไรที่เต๋ออาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นในทีแรก บางทีมันก็อาจจะดีกับงานนะ

ถามว่าเราเชียร์ให้มีคนอย่างนวพล ทำหนังแบบนี้อยู่ในวงการมั้ย เชียร์ เราคุยกับเขาเยอะเรื่องวงการ เราอยากให้เขาเข้าใจ อยากให้วงการมีหนังอินดี้นะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเมนสตรีม ไม่มีวงการไหนที่มีอินดี้แล้วไม่มีเมนสตรีมอะ เราเชียร์ให้มีทั้งหมด คนดูไม่ต้องเลือกก็ได้ว่าต้องมีแบบไหนอย่างเดียว

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ใน a day 209
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ http://godaypoets.com/aday209

AUTHOR