​วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ : หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของค่ายหนัง GTH (และ GDH) 1/2

วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ เป็นใคร

วิธีทำความรู้จักเธอง่ายที่สุด คือการพลิกปกหลังดีวีดีหนังของค่ายจีทีเอช ชื่อของเธอส่วนใหญ่ปรากฏในตำแหน่งอำนวยการสร้างและบทภาพยนตร์ แต่ตามความหมายที่แท้จริง วรรณฤดีเป็นมากกว่าคนเขียนบทมากกว่าโปรดิวเซอร์ที่ดูแลงบทำหนังไม่ให้บานปลาย เธอเป็นคนอยู่เบื้องหลังแทบทุกกระบวนการสำคัญในการทำหนังเกือบทุกเรื่องของจีทีเอช ตลอดอายุ 7 ปีของจีทีเอช เธอมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น

หลังจากเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รุ่นเดียวกับปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับ บอดี้ศพ#19 และโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล) วรรณฤดีหันเหไปทำเนื้อหาให้เว็บไซต์บันเทิงแห่งหนึ่ง จากนั้นได้รับการทาบทามจาก วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ มาเป็นกองบรรณาธิการรุ่นแรกของนิตยสาร HAMBURGER และเขียนวิจารณ์หนังในคอลัมน์ indie reviewed ของ a day จนกระทั่งเธอเริ่มตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ตัวเองต้องการอาจไม่ใช่การทำหนังสือแต่เป็นการทำหนัง เธอค้นพบคำตอบด้วยการเข้ามาทำงานในค่ายหนัง GTH ตั้งแต่คอหนังชาวไทยยังไม่รู้จักคำว่า ‘หนังฟีลกู๊ด’ ด้วยซ้ำ

วรรณฤดีบอกว่างานของเธออธิบายให้เข้าใจยาก สิ่งที่เราไม่เข้าใจอีกอย่างคือ ทำไมเธอจึงไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงมากนักในวงการหนังไทย ทั้งที่งานของเธอเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของค่ายหนัง เกี่ยวข้องไปเกือบทุกส่วนในกระบวนการทำหนัง เธอเปรียบเสมือนต้นน้ำ เป็นคนคิดริเริ่มโปรเจกต์ ดูแลและขัดเกลาบทหนังให้แหลมคม (เพื่อให้กิมมิก ‘บางครั้งวิญญาณก็แค่อยากอยู่ใกล้คนที่รัก’ ของหนังเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ชัดเจนขึ้น เธอเป็นคนเสนอให้ผีเนตรเลือกจะขี่คอพระเอกตลอดไปแทนที่จะฆ่าให้ตาย, เหล่าศิลปินที่ปรากฏออกมายามที่เปิดฟังเพลงอินๆ ใน SuckSeed เป็นอีกหนึ่งความคิดเธอ) เสนอความเห็นในการวางแผนโปรโมตหนังให้โดดเด้ง เป็นคนตั้งชื่อหนัง อาทิ เพื่อนสนิท, Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, สี่แพร่ง-ห้าแพร่ง รวมถึงหนังรวมตัวห่วยอย่าง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ ด้วย

น่าสนใจว่าทุกความคิดที่ผ่านสมองของวรรณฤดีในการทำหนังหนึ่งเรื่องผ่านการกลั่นกรองและขบคิดมากน้อยแค่ไหน กว่าจะมาเป็นสื่อบันเทิงมอบความสุขในโรงภาพยนตร์

อย่าเพิ่งรีบลุกออกจากโรง เครดิตของเธอกำลังจะเริ่มฉายแล้ว

ผู้กำกับทำหนังคนละเรื่อง แต่คุณทำหนังทุกเรื่อง

เราเคยไปเลี้ยงปิดกล้องหนังเรื่องหนึ่งแล้วนัดคุยงานหนังอีกเรื่องหนึ่งด้วย หนังเสร็จวันรุ่งขึ้นก็ต้องทำเรื่องต่อไปแล้ว ทุกวันนี้พ่อแม่รู้ว่าเราทำหนังแต่ไม่รู้ว่าทำอะไร งานเรามันซับซ้อนน่ะ เราว่าคนในบริษัทยังไม่รู้เลยว่าเราทำงานอะไร (หัวเราะ)

งานของคุณคืออะไร

เราทำอยู่ 2 หน้าที่ คือเป็นโปรดิวเซอร์กับเป็น Script Supervisor เราไม่ใช่โปรดิวเซอร์ที่ดูแลเรื่องเงินในการออกกอง แต่เป็นโปรดิวเซอร์ที่สร้างโปรเจกต์ขึ้นมา ถ้าไอเดียมาจากเรา เราก็จะต้องคิดว่าควรจะให้ผู้กำกับคนไหนทำ ควรให้ใครเขียนบท แต่ถ้าไอเดียมาจากผู้กำกับเราก็จะปรึกษากัน เริ่มทำเรื่องย่อหรือทรีตเมนต์แล้วเอามาเสนอจีทีเอชว่าทำโปรเจกต์นี้กันมั้ย ถ้าจีทีเอชอนุมัติเราก็เริ่มต้นทำ ดูแลไปจนหนังเสร็จ เรียกว่ามีหน้าที่เป็นเพื่อนผู้กำกับก็ได้
ก่อนหน้าที่หนังจะฉายเราก็มีหน้าที่ช่วยให้ความเห็นกับทีมโปรโมตของบริษัทว่าควรโปรโมตหนังเรื่องนี้ยังไง
เพราะเราอยู่กับมันมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งหนังฉาย

โดยปกติค่ายหนังจะเป็นเจ้าของทุน ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะทำโปรเจกต์ไปเสนอค่ายเพื่อขอทุนมาทำ ค่ายไม่ได้ดูแลใกล้ชิดหรอก จีทีเอชเองก็เคยวางตัวเป็นเหมือนสตูดิโอหรือค่ายหนัง รอให้ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์มาเสนองาน แต่ปรากฏว่าไม่มี หรือมีแต่เรารู้สึกว่าโปรเจกต์ยังไม่ดีพอ ผ่านไปสักระยะเราก็เริ่มเรียนรู้ว่าต้องสร้างขึ้นมาเอง เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะสร้างงานและคนขึ้นมา

เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการหนังไทย

ใช่ ช่วงแรกพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) รับเรามาทำงานในฐานะคนดูแลบทภาพยนตร์อย่างเดียว มีหน้าที่คิดโปรเจกต์ขึ้นมาแล้วทำบท ทำเสร็จเรียบร้อยก็ส่งต่อให้แผนกอื่นๆ แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตาม ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า หนังไทยเป็นหนังที่เต็มไปด้วยการแก้ปัญหาเนื่องจากงบจำกัด คนที่รับงานต่อจากเราจะสื่อสารกับผู้กำกับยากมาก เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจเท่าเราว่าหนังเรื่องนี้เริ่มมาจากอะไร ผู้กำกับก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวมาก ปีหลังๆ จีทีเอชถึงต้องเริ่มปรับตัวว่าต้องมีโปรดิวเซอร์ที่อยู่กับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ยืนเป็นเพื่อนผู้กำกับไปด้วยกันจนจบ ถึงเกิดหน้าที่แบบนี้ เราก็กลายเป็นโปรดิวเซอร์ไปโดยปริยาย เพราะเราทำบทกับผู้กำกับมาเป็นปี รู้ว่าเขาต้องการอะไรจากบท ถ้าเกิดปัญหาอะไรเปลี่ยนได้ อะไรเปลี่ยนไม่ได้ เลยเป็นวิธีที่ลงตัวที่สุดกับจีทีเอช อาจไม่ใช่สูตรที่ค่ายหนังอื่นเอาไปใช้ได้

ร่ำลือกันว่าคุณแม่นเรื่องการแก้ไขบทภาพยนตร์มาก ไปเรียนรู้วิชานี้มาจากไหน

มันเป็น common sense บวกกับการเรียนรู้จากหนังที่เราทำ เรารู้สึกว่าบทมันน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ก็ลองแก้จนรู้สึกว่ามันดีขึ้น เมื่อออกมาเป็นหนัง เราก็เรียนรู้จากสิ่งที่ปรากฏออกมา บางอย่างที่เราคิดว่าจะดี เออ มันดีจริงว่ะ บางอย่างเราคิดว่าน่าจะดี ผลออกมาแย่มากเลย การคิดทบทวนในทุกๆ เรื่องเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นับจากวันที่เราเริ่มทำบทจนถึงหนังฉาย เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สุดท้ายออกมาเป็นยังไง หนังไปถึงเส้นชัยที่เราอยากจะไปรึเปล่า สิ่งเหล่านี้แหละที่สอนเรา เราเชื่อว่าตัวเองเก่งขึ้นจากการทำงาน แต่ไม่ได้รู้หมดทุกอย่างเกี่ยวกับการทำบท
แค่รู้มากขึ้น

จีทีเอชเขียนบทหนังเรื่องละปี ทำไมถึงนานขนาดนั้น

ก็ควรจะนานนะ บทไม่ต้องใช้เวลาเป็นปีก็ได้ แต่ถ้ายังไม่เก่ง ยิ่งเขียนนานก็จะได้บทที่ดีขึ้น ลงทุนค่ากระดาษดีกว่าลงทุนค่าถ่ายทำ ขั้นตอนการทำบทเป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อยที่สุดแล้วในโปรดักชัน ถ้าเรามั่นใจกับบทหนังเรื่องนี้แล้ว ไม่ว่าเวลาออกไปถ่ายมันเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นก็น่าจะเอาตัวรอดได้ เหมือนบ้านที่มีโครงสร้างที่ดีน่ะ ลมพัดก็แค่ฝาหลุดไปบ้างแต่ไม่ถึงขั้นถล่มลงมา เราจึงต้องเคี่ยวกับบทมากที่สุด

บทที่ดีพอจะออกไปถ่ายได้ต้องเป็นอย่างไร

บทควรเริ่มต้นจากไอเดียที่เป็นตัวของตัวเอง มีรายละเอียดที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นความเห็นของผู้กำกับและคนเขียนบทจริงๆ ไม่ได้อยากเท่เหมือนหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ในเชิง cinematic ของภาพยนตร์ไม่ว่ามันจะสมบูรณ์หรือไม่
อย่างน้อยต้องมีความจริงใจ มีความคิดที่คนทำต้องการสื่อสารกับคนดูอย่างชัดเจน สำหรับเราหนังคือการบาลานซ์ระหว่าง what กับ how เรากำลังเล่าเรื่องอะไร และเล่าอย่างไร มีศิลปะในการเล่าแค่ไหน บทหนังที่ดีก็น่าจะเป็นบทที่มี what กับ how สมดุลกัน ไม่มากไปน้อยไป หลังๆ มีคนเชิญไปพูดเรื่องการเขียนบทเราก็พยายามบอกว่าการเขียนบทไม่ใช่การเขียนหนังสือ แต่คือการเขียนหนังในจินตนาการออกมา เพราะฉะนั้นเวลาเราอ่านบทแล้วเห็นว่าหนังในหัวของเรามันยังไม่ดี เราก็จะพยายามแก้

จีทีเอชพบสูตรที่ทำให้หนังได้ร้อยล้านหรือยัง

เรากับผู้กำกับที่นี่ไม่ค่อยคิดว่าทำหนังอะไรแล้วจะได้เงิน เราเริ่มต้นทำหนังจากความสนใจในเรื่องอะไรสักเรื่อง แล้วค่อยไปหาทางทำให้มันได้เป็นหนังกันเถอะ เราหาทางทำบทให้ดีๆ กันเถอะ บอร์ดจีทีเอชจะได้ให้เงินเรามาทำหนัง
ไม่เคยทำหนังจากโจทย์ทางการตลาดเลยสักเรื่อง คนชอบคิดว่าจีทีเอชทำหนังด้วยหลักการตลาดที่แข็งแรงยิ่งใหญ่ทรงพลัง นั่นอาจเป็นเพราะเราคิดตลอดเวลาว่าเราอยากจะสื่อสารกับคนดู แต่เราไม่เคยเริ่มต้นคิดจากว่าทำหนังอย่างนี้ได้เงินแน่เลย เราว่ามันเป็นการคิดที่ยากมากเลยนะ ไม่เคยทำได้ (หัวเราะ)

มีเรื่องไหนที่ทำบทเสร็จแล้วรู้สึกว่ามีโอกาสได้ร้อยล้านแน่ๆ

ไม่รู้เลยว่าจะได้ร้อยล้านหรือไม่ได้ แต่รู้ว่าหนังเรื่องนี้ใกล้เคียงจินตนาการที่เราเริ่มเมื่อวันแรกแค่ไหน ไม่มีหนังเรื่องไหนเหมือนจินตนาการเราเป๊ะหรอก บางเรื่องดีกว่า บางเรื่องแย่กว่า เรื่องไหนที่เรารู้สึกว่าไม่เห็นสู้จินตนาการได้เลย คนดูก็รู้สึกได้เหมือนกัน ในฐานะคนทำ เรารู้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่จะร้อยล้านหรือไม่ มันมีปัจจัยนานาไม่ใช่แค่บทภาพยนตร์ เราเลยไม่กล้าฟันธง

หนังจีทีเอชทุกเรื่องมีความคล้ายกันพอสมควร ไม่อยากทำหนังฉีกออกไปแนวอื่นบ้างหรือ

อยาก แต่ตอนนี้เราไม่มีคนที่จะทำได้ดี แล้วจะทำทำไม ทำไมเราต้องรู้สึกว่า ไม่เอาแล้วคนแซวเราเรื่องหนังฟีลกู๊ดเยอะ มาทำหนังแนวฆาตกรโหดกันเถอะ จะเอาผู้กำกับที่เป็นคนตลกมากและสนใจแต่เรื่องฟุตบอลมาทำหนังฆาตกรรมโหดทำไม ในเมื่อผู้กำกับที่เรามีเขาสนใจเรื่องราวฟีลกู๊ด เขาอยากทำหนังฟีลกู๊ด เราก็ทำหนังฟีลกู๊ด เมื่อไหร่ที่เราทำหนังแนวอื่นๆ ได้ดี เราก็จะทำ การอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้กับสิ่งที่เราทำได้จริงมันต่างกันน่ะ

การจบแบบฟีลกู๊ดเป็นสิ่งที่ผู้กำกับทุกคนถนัดเหมือนกัน

เป็นทัศนคติที่คิดคล้ายๆ กัน พี่เก้งเคยบอกว่า ถ้าจะพูดว่าเราอยากให้โลกนี้เป็นสีเขียว เขาจะทำหนังว่าด้วยการปลูกป่า แต่จะไม่อยากทำหนังที่ว่าด้วยการตัดป่าให้หมดแล้วดูว่าโลกนี้จะพินาศยังไง นี่คือเรื่องของทัศนคติซึ่งไม่มีถูกผิด เพียงแต่ตอนนี้คนทำหนังที่เรามีตอนนี้เป็นประเภทชอบปลูกป่า ไม่ค่อยมีคนคิดอยากจะตัดป่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ชอบหนังแบบตัดป่านะ ถ้ามีใครเอาบทว่าด้วยการตัดป่าที่พออ่านแล้วไม่กล้าตัดป่าตลอดชีวิต
จีทีเอชก็จะทำนะ เพียงแต่เราอาจไม่ใช่คนคิดแบบนั้นโดยธรรมชาติ แต่เราชอบมันได้ เหมือนเราชอบหนังอินดี้ได้ ชอบหนังอาร์ตได้ แต่ตัวตนไม่ใช่คนทำหนังอินดี้หรือหนังอาร์ตโดยธรรมชาติ

มีโอกาสที่จีทีเอชจะทำหนังอาร์ตไหม

อยู่ที่ให้คำจำกัดความหนังอาร์ตว่าอะไร ทุกวันนี้คนเข้าใจผิดเพี้ยนไปเยอะ สำหรับเรา หนังแมสคือหนังที่สื่อสารกับคนทั่วไป เป็นหนังกระแสหลักเข้าโรงทั่วไป หนังอาร์ตคือหนังที่ทำเพื่อส่งเสริมศิลปะภาพยนตร์อย่างแท้จริง หนังอินดี้กับหนังอาร์ตก็ไม่เหมือนกัน หนังอินดี้คือหนังที่ใช้เงินทุนอิสระ และไม่ได้อยู่ในระบบของสตูดิโอ หนังอินดี้อาจจะพูดประเด็นเดียวกับหนังแมสก็ได้ เพียงแต่ใช้ทุนอินดี้ ทุกวันนี้ค่ายหนังบางค่ายบอกว่าทำหนังอินดี้ซึ่งเรางงมากว่าเป็นอินดี้ได้ไง ในเมื่อเป็นเงินจากค่ายหนังกระแสหลัก พอคนไม่เข้าใจก็เลยเรียกกันงงไปหมด

ถามว่าอยากทำหนังอาร์ตมั้ย คำตอบคือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่อยากทำหนังประเด็นเล็กๆ สื่อสารกับคนกลุ่มที่เล็กกว่ากระแสหลัก ไม่ได้หมายความว่าเราไม่อยากทำหนังที่มีเนื้อหาหลากหลาย เราอยากทำ แต่เราจะไม่ทำหนังอาร์ตที่ว่าด้วยการส่งเสริมศิลปะภาพยนตร์เพียวๆ เพราะหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน สอง ไม่ใช่การทำธุรกิจ เมื่อจีทีเอชเป็นบริษัทธุรกิจ การทำหนังศิลปะเพียวๆ ไม่ใช่ธุรกิจแน่นอน เราจึงไม่ทำ หนังอาร์ตสำหรับเราคือ art for
art’s sake จีทีเอชปฏิเสธหนัง art for art’s sake และหนังอินดี้เพราะเราเป็นสตูดิโอ ทำหนังอินดี้ไม่ได้ แต่เราทำหนังประเด็นเล็กๆ ได้

รู้สึกไหมว่าบทหนังของจีทีเอชเป็นมิตรกับคนดูมาก

เรากับพี่เก้งบอกทุกคนเสมอว่า หนังมี 2 แบบ คือหนังสำนักสื่อสารและหนังสำนักศิลปะ จีทีเอชเป็นสำนักสื่อสาร เราพยายามทำหนังที่สื่อสารกับคน ไม่ทำหนังเพื่อศิลปะหนังเพียวๆ ต้องเข้าใจจุดยืนนี้ร่วมกันก่อน ไม่งั้นเราจะทำงานด้วยกันไม่ได้ สมมติมีงานชิ้นนึงเราคอมเมนต์ว่า เฮ้ย อันนี้เราไม่เข้าใจ แล้วผู้กำกับบอกว่าผมชอบที่มันไม่เข้าใจ จะเถียงกันไม่ได้เลย เราต้องเห็นด้วยกันก่อนว่า เราต้องพยายามทำให้คนดูเข้าใจ อย่างที่สอง เราเป็นฟิล์มเมกเกอร์ เราพยายามทำหนังให้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน ทันทีที่หนังฉายและเก็บค่าตั๋วคน นี่คือการทำธุรกิจ แน่นอน หนังมีต้นทุน
หนังจีทีเอชแต่ละเรื่องใช้ทุนประมาณ 20 – 30 ล้าน ไม่รวมงบโปรโมต เราต้องทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศให้ได้ 40
ล้านถึงจะเท่าทุน ทุกวันนี้คนดูเห็นหนังฉลอง 100 ล้าน โรงหนังได้ 50 ล้าน คนทำหนังได้ 50 ล้าน นี่คือสิ่งที่คนนอกไม่เคยรู้ เราคุยกันตลอดว่าเราไม่กลัวที่หนังได้กำไรน้อย แต่ในการทำธุรกิจเราไม่ควรขาดทุน เพราะบริษัทเราจะอยู่ไม่ได้ แล้วเราจะทำงานนี้เป็นอาชีพไม่ได้ ทุกวันนี้พวกเราไม่ทำงานอื่น ทำหนังอย่างเดียว เราอยากมีอาชีพเป็นคนทำหนังน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเลี้ยงดูตัวเราให้มีอาชีพนี้อยู่ไปได้ยาวนานด้วย

ถ้าค่าตั๋วหนัง 100 บาท หนังทำเงิน 40 ล้านคือมีคนดู 4 แสนคน หรือประมาณ 7 สนามราชมังคลากีฬาสถาน ลองคิดภาพว่าถ้าเราต้องจับมือเดินกับคน 4 แสนคนไปพร้อมๆ กัน เราไม่ควรจะกระโดดทีละ 5 – 6 ก้าวเพราะมันจะหัวทิ่มกันหมด แม้เราจะรู้ว่าต้องพยายามสื่อสารกับคนประมาณ 4 แสนคนในทุกๆ เรื่อง เราก็พยายามเดินให้ก้าวไปข้างหน้า แต่เราอาจก้าวเร็วมากไม่ได้ จนกว่าคน 4 แสนคนนี้จะเข้าใจกันจริงๆ และเดินไปพร้อมๆ กันได้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกคนทำหนังที่จะมาทำกับจีทีเอช และถ้าคุณยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ไม่ได้ คุณก็จะทำหนังที่นี่ไม่ได้

คุณคิดยังไงที่สุดท้ายเราจดจำหนังแต่ละเรื่องว่าทำรายได้ได้เท่าไหร่ แทนที่จะจำว่าเนื้อหาดีแค่ไหน

คนที่จำว่าหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้รายได้เท่าไหร่มีแต่สื่อและคนทำธุรกิจหนังเท่านั้นแหละ เราว่าคนดูไม่ได้จำหนังจากรายได้เลย เขาจะจำหนังจากความรู้สึกตอนที่เขาดู คนที่ชอบ SuckSeed อาจไม่รู้ว่าหนังทำเงินไม่ถึง 100 ล้าน เหมือนที่เราก็ไม่รู้ว่าหนังฝรั่งที่เราชอบมันรายได้เท่าไหร่

คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนทำหนังเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ เขาไม่มั่นใจในหนังเรื่องนี้เลย คุณกล่อมให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่คุณคิดยังไง

ที่นี่เราทำงานกันบนความเชื่อ บอร์ดจีทีเอชทุกคนค่อนข้างเชื่อในตัวเราและพี่เก้ง บางทีเรากับพี่เก้งก็ทำอะไรขึ้นมาสักอย่างโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน แน่นอนว่าเขาก็จะรู้สึกว่ามันจะเป็นยังไงนะ สิ่งที่บอกได้ดีที่สุดคือวันที่เราส่งบทให้อ่าน จากที่คุณวิสูตรเคยถามว่าหนังเกี่ยวกับผู้หญิงอายุ 30 ที่ไม่เคยมีแฟน ใครจะดู คนดูหนังมันต้องวัยรุ่น แต่ทันทีที่คุณวิสูตรอ่านบท เขาบอกว่าชอบมาก แล้วเดินไปตบไหล่พี่ปิ๊ง (อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม) ว่าอยู่ที่คุณแล้วล่ะ เราว่ามันไม่ใช่การพูด มันเป็นการทำงาน งานเราต้องชนะใจคนได้ เวลาใครมาเสนองานที่นี่ เรากับพี่เก้งจะบอกตลอดว่าให้ส่งบทมา ไม่ต้องเล่า เพราะงานมันบอกทุกอย่าง ถ้าเขียนมาแล้วเรารู้สึกว่ามันต้องเป็นหนังที่ดีแน่เลย ไอเดียน่าสนใจมาก เราก็อยากทำ เวลาหนังฉายผู้กำกับไม่ได้มานั่งเล่าอยู่ข้างจอนี่

การทำงานบนความเชื่อสำคัญกับจีทีเอชยังไง

เราว่ามากจริงๆ เพราะตอนทำบทนี่เรากำลังพูดถึงอากาศธาตุเลยนะ ก่อนหน้าจะมี รถไฟฟ้า มาหานะเธอ เราไม่รู้ว่าเหมยลี่เป็นใคร เราไม่รู้ว่าหนังมันจะออกมาเป็นยังไง เวลาถึงทางเลือกถ้าเราเลือก A เราจะไม่ได้เห็น B อีกแล้ว อะไรทำให้เราคิดว่า A ดีกว่า B มันคือความเชื่อล้วนๆ มันต้องอาศัยความเชื่อร่วมกันระหว่างเรากับผู้กำกับในระดับผิดปกติเลยแหละ

เราชอบเปรียบเทียบว่าการทำหนังก็เหมือนปลูกต้นไม้ เราเลือกไอเดียมา 1 เมล็ดแล้วเริ่มเพาะมัน เราฝันว่าโตมาเป็นต้นแล้วมันจะสวยแค่ไหน เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่าเมล็ดจะโตขึ้นไปเป็นต้นรูปร่างหน้าตายังไง แต่พอมันโตขึ้นมาจริงๆ มันอาจจะกลายเป็นต้นไม้ที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าหนังก็มีชีวิตของมัน ถ้าเราทุกคนเป็นคนทำให้มันเหี่ยวเฉาแห้งตายมันก็ไม่โทษกัน ไม่เป็นไรหาเมล็ดปลูกใหม่ ใช่ว่าจีทีเอชไม่เคยทำหนังเจ๊ง อยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้แล้วทำงานต่อไปด้วยกันอีกยังไง

เคยเชื่อผิดไหม

โอ้ย บ่อย (หัวเราะ) หนังที่เจ๊งเมื่อกลับไปคิดมันก็เข้าใจได้ทั้งนั้นแหละ เราถึงเริ่มต้นเซ็ตระบบบอร์ดบริษัทขึ้นมา เพราะมันต้องมีคนตัดสินใจว่าโปรเจกต์ไหนจะทำหรือไม่ทำ แน่ในเนื้อหาตัวหนังจริงๆ บอร์ดบริษัทไม่ได้ยุ่งเกี่ยว เป็นโปรดิวเซอร์และผู้กำกับไปดูแล แต่คนจะเข้าใจผิด นึกว่าบอร์ดมีสิทธิ์ไปทำอะไรกับตัวหนังก็ได้ คนก็จะกลัว แต่จริงๆ มันไม่ใช่

“เราไม่กลัวที่หนังได้กำไรน้อย แต่ในการทำธุรกิจเราไม่ควรขาดทุน เพราะบริษัทเราจะอยู่ไม่ได้ แล้วเราจะทำงานนี้เป็นอาชีพไม่ได้”

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่
ตอนที่ 2

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 133 กันยายน 2554)

ภาพ สลัก แก้วเชื้อ

AUTHOR