3
“เราเคยช่วยชะนีแม่ลูกมาไว้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้คือไม่สามารถให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกินได้”
ในปี 2529 ได้มีโครงการใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีคือโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้ป่าดงดิบผืนใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงจำนวนแสนกว่าไร่ต้องจมน้ำกลายเป็นทะเลสาบความลึกเกือบ 100 เมตร บริเวณที่เคยเป็นเนินเขาและภูเขาก็ถูกตัดขาดโผล่พ้นน้ำกลายเป็นเกาะน้อยใหญ่จำนวนถึง 162 เกาะ ส่งผลให้มีสัตว์ป่าจำนวนมากกว่า 300 ชนิด อาทิ เลียงผา สมเสร็จ ชะนี ค่าง เสือลายเมฆ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า ที่หนีน้ำไม่ทันต้องติดตามเกาะหรือหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามยอดไม้ รอวันตายเพราะขาดแคลนอาหาร
ภารกิจของโครงการฯ คือ อพยพสัตว์เหล่านี้ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย สืบ นาคะเสถียร ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากกรมป่าไม้ให้เป้นหัวหน้าโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า
“โครงการอพยพสัตว์ป่าที่นี่ถือเป็นการทำครั้งแรกในเมืองไทย เราเริ่มตั้งแต่การสำรวจสภาพป่าและสัตว์ว่ามีอยู่กี่ชนิด ไปจนถึงเตรียมการอพยพสัตว์ซึ่งไม่เคยทำกันมาก่อน แต่ก็พยายามจะทำให้ได้มากที่สุด สมมติว่ามีสัตว์ติดอยู่บนเกาะ 100 ตัว เราพยายามที่จะช่วยชีวิตมันไว้ทั้ง 100 ตัว ถ้าเราไม่ช่วยมันตายแน่ๆ …ไปไหนไม่ได้แล้ว สัตว์หลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ยิ่งถ้าเราไม่ช่วยมัน พวกพรานมีปืนทั้งหลายต้องถือโอกาสล่ากันสนุกมือ…ผมเชื่อว่าเวลาสร้างเขื่อนสมัยก่อนคงมีสัตว์ที่หนีไม่ทันตายเป็นจำนวนมากแน่ๆ”
เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย การช่วยชีวิตสัตว์จึงเริ่มต้นจากการคัดคนที่ใกล้ชิดกับสัตว์ตั้งแต่สัตวบาลไปจนถึงนายพรานที่ชำนาญในการดักสัตว์ พาคนเหล่านี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและศึกษาว่าต่างประเทศจับสัตว์กันอย่างไร จากหนังสือและวิดีโอรายการ ซิงเกอร์เวิลด์ ซึ่งมีสารคดีการช่วยชีวิตสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนที่ประเทศเวเนซูเอลา
ในแต่ละวัน ภารกิจของพวกเขาคือนำเรือออกตระเวนไปตามต้นไม้สูงๆ ที่กำลังยืนต้นตายกลางทะเลสาบ หากเจอชะนีหรือค่างติดอยู่บนยอดไม้ พวกเขาจะนำเรือเข้าไปใกล้ ทำทุกอย่างตั้งแต่ส่งเสียง พุ่งเรือชนต้นไม้ ไปจนถึงเลื่อยต้นไม้โค่นลงมา เพื่อให้สัตว์ตกใจกระโดดลงน้ำ จะได้ว่ายไปจับสัตว์เหล่านั้นได้
หากแล่นไปเจอเกาะก็ขึ้นไปบนเกาะ เอาตาข่ายขึงพาดกลางเกาะแล้วแบ่งคนเป็นสองฝ่าย ส่งเสียงดังตั้งแต่ท้ายเกาะเพื่อไล่ต้อนสัตว์ให้ตกใจวิ่งหนีมาชนตาข่ายที่ขึงไว้ ซึ่งมักได้สัตว์อย่างกระจง กวาง เลียงผา
ครั้งหนึ่งผมได้ล่องเรือไปกับพี่สืบเพื่อสังเกตการอพยพสัตว์ป่าเมื่อปลายปี 2529 วันหนึ่งขณะที่เราผูกเรือกับตอไม้กลางทะเลสาบเพื่อช่วยชีวิตชะนีตัวหนึ่ง ปรากฏว่างูจงอางสีดำมะเมื่อมขนาดลำข้อมือยาวร่วม 3 เมตร พุ่งทะยานออกมาจากโพรงในตอไม้ ทุกคนบนเรืออ้าปากค้างด้วยความตกใจและโล่งอกเมื่องูจงอางพุ่งลงน้ำ
หากใครโดนงูกัดคงไม่มีทางรอด งูจงอางไม่ใช่งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก แต่ปริมาณพิษของมันเยอะมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกกัดตายได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง และระยะทางจากเรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคงไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
“ตามมันไป จับมันให้ได้” หัวหน้าโครงการฯ สั่งทันทีพร้อมเสียงสตาร์ทของเครื่องยนต์ที่เร่งเครื่องสุดกำลังดังกระหึ่มขึ้น งูเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเร็วมากโดยเฉพาะจงอาง เราขับเรือคู่ขนานไปกับจงอาง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งตวัดสวิงขนาดใหญ่ที่มีด้ามยาวเป็นพิเศษตักงูไว้แต่ความยาวของงูก็ทำให้เกิดปัญหา ขณะกำลังจะยกสวิงเข้ามาในเรือ จงอางสะบัดอย่างแรงพุ่งออกจากสวิงอีกครั้ง ตกลงน้ำเฉียดเรือไปนิดเดียว พวกเราทุกคนถอนหายใจอีกเฮือกหนึ่งกับการผจญภัยที่ใกล้ความตายเข้าไปทุกที
สืบไม่ละความพยายาม เขาบอกว่า หากไม่ช่วยชีวิตงูก็ตายเพราะไม่มีทางว่ายไปถึงฝั่งที่ห่างไกลได้ มันจะหมดแรงตายเสียก่อน คราวนี้เมื่อเรือแล่นไปทันมัน เราสามารถใช้สวิงจับมันขึ้นมาอยู่บนหัวเรือได้สำเร็จ
คราวนี้ทุกคนหันหน้ามามองกันเลิกลั่ก ใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูพิษยัดใส่กระสอบ… ยังไม่ทันไรสืบใช้มือกดหัวจงอาง เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดสวิงอย่างแรงพร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใสๆ ไหลเยิ้มออกมาจนหมด จากนั้นพวกเราช่วยกันพลิกสวิงออกจากตัวงูและจับมันใส่ถุงกระสอบ ใช้เชือกผูกมัดแน่นหนา
หลังจากนั้นไม่นาน สืบก็บอกพวกเราว่า “ผมก็เพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต”
สืบ นาคะเสถียร อาจจะใช้ลูกน้องในการทำงานเสี่ยงตายครั้งนี้ก็ได้ แต่เขาก็ไม่ทำเช่นนั้น ลูกน้องทุกคนรู้ดีว่า หากงานใดเป็นงานเสี่ยงอันตราย เขาจะเป็นคนแรกที่ทำงานนี้และเป็นเช่นนี้จนถึงการทำงานครั้งสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้ง
วาที เจ้าหน้าที่โครงการผู้หนึ่ง พูดถึงหัวหน้าสืบว่า
“เขาเป็นคนจริงจัง มีความตั้งใจโดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยของตัวเอง มีความรู้สึกว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำโดยไม่คำนึงถึงเวลา มีความรู้สึกว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำโดยไม่คำนึงถึงเวลา สถานที่ ว่าจะยากลำบากแค่ไหน มีความตั้งใจสูง เห็นความเดือดร้อนของสัตว์มากกว่าความเดือดร้อนหรือความลำบากที่ตนเองจะได้รับงานแทบทุกงานเขาไม่เคยนั่งดูคนอื่นทำ เขามักจะเข้าไปทำเสมอ เจอสัตว์กำลังว่ายน้ำ พวกกระรอก ค่าง ชะนี เขากระโดดลงน้ำเอง สัตว์ที่อันตรายอย่าง เสือ งู เขาจะทำเอง เพราะเขาพูดว่าเขาเป็นผู้นำ เขาทำไม่ได้คนอื่นก็จะไม่มั่นใจ แต่ถ้าผู้นำทำงานหนัก ทำงานที่ลำบาก ทุกคนจะตั้งใจทำงาน มีกำลังใจมากขึ้น หัวหน้าเสียสละได้ ทุกคนก็เสียสละได้… ผมภูมิใจนะที่ได้ทำงานกับเขา เป็นผู้บังคับบัญชาที่ไม่เอาเปรียบรุ่นน้อง ไม่เคยเอาความดีความชอบใส่ตัว ไม่มีนาย มีแค่เพื่อนร่วมงาน ไม่เลือกว่าคนนั้นจะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน ไม่มีใครจริงจังและจริงใจเท่าเขาเลย”
หน้าที่หลักของสืบในโครงการนี้คือ การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่า แต่หลายครั้งที่ผมได้เห็นสืบเอาเรือออกไปลอยลำในอ่างเก็บน้ำ ฟังเสียงปืนคอยดักจับพวกล่าสัตว์ที่แฝงเข้ามาในรูปของนักจับปลา บางครั้งก็เข้าไปจับกุมพวกลักลอบตัดต้นไม้บริเวณนั้น สืบพูดให้ฟังเสมอว่าเขาอยากทำงานช่วยชีวิตสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่พอมาเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายแล้วอดไม่ได้ เขาคิดเสมอว่างานคนอื่นแต่คนอื่นไม่ทำ เขาจึงต้องทำแทน บางครั้งก็ท้อใจว่าทำเพื่อส่วนรวม จับไม้อย่างเคร่งครัด แต่ถูกหาว่าล้ำเส้นไปหน่วยงานอื่น
สองปีผ่านไป โครงการอพยพสัตว์ป่าสามารถช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าได้ 1,364 ตัวซึ่งเป็นจำนวนที่น่าพอใจ แต่เทียบไม่ได้กับสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่จมน้ำตาย อดอาหารตาย จากการสร้างเขื่อนครั้งนี้และสัตว์จำนวนหนึ่งที่ช่วยมาได้ก็ตายระหว่างการรักษาพยาบาล
“เราเคยช่วยชะนีแม่ลูกมาไว้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้คือไม่สามารถให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกินได้ ลูกมันก็ร้อง แม่ชะนีพยายามเอาลูกออกจากนม ผมคิดว่าตัวเมียคงเครียด พี่สืบไปโรงพยาบาลไปขอนมเลี้ยงเด็กมาชงให้ลูกชะนีกิน สุดท้ายลูกชะนีก็ตาย”
ไสวเล่าให้ฟังต่อว่า
“พี่สืบมักจะบ่นเสมอว่า ทำอย่างไรเราจะช่วยสัตว์ได้มากกว่านี้ แต่แกไม่เคยพูดถึงปัญหาอะไรให้ฟัง ถ้ามีปัญหาอะไร สิ่งที่แกจะแสดงออกคือการเงียบ สูบบุหรี่มวนต่อมวน ไม่เคยโวยวายกับเพื่อนร่วมงานเลย”
สืบเขียนบันทึกการอพยพสัตว์ป่าไว้ว่า
“นอกจากสัตว์ป่าที่น่าสงสารเหล่านี้จะต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมแล้ว ยังต้องเผชิญกับมนุษย์ที่เห็นแก่ได้บนความทุกข์ยากของสัตว์ป่าที่คอยจ้องไล่ล่าสัตว์ป่าเหล่านั้น โดยไม่สำนึกถึงบาปกรรม เสียงปืนที่ดังก้องกังวานอยู่ในหุบเขาของอ่างเก็บน้ำคลองแสงมันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่า วันหนึ่งเราได้พบซากสมเสร็จที่ถูกชำแหละเอาเนื้อไปแล้ว คงเหลือแต่คราบเลือดสีแดงสดอยู่บนพื้นดินประกอบกับส่วนเครื่องในที่ถูกโยนทิ้งพร้อมกับอุ้งตีนอีกสี่ข้างที่ถูกโยนทิ้งลงน้ำ พวกเราออกค้นเรือทุกลำในคลองแสงหวังจะได้พบซากสมเสร็จตัวนั้นจนรุ่งเช้าของวันใหม่ก็ยังไม่พบ เราไม่ย่อท้อ ตามไปถึงที่สุดที่จะเล่นงานพวกใจทราม…ใต้ท้องเรือลำนั้นมืดและสกปรก เราฉายไฟกราด ใช้มือล้วงลงไปควานหาหลักฐานที่น่าสงสัย แล้วเราก็พบไส้สมเสร็จที่ยาวกว่าหนึ่งเมตรปนคราบน้ำมันหลงเหลือยู่ใต้ท้องเรือ…”
ผู้ใกล้ชิดรู้ดีว่าแววตาของสืบจะปวดร้าวมากเมื่อเห็นสัตว์ตายไปต่อหน้า หลายครั้งที่เขาพยายามเก็บพืชป่ามาให้ชะนีให้ค่างกิน แต่มันไม่ยอมกินเพราะความเครียด เขาโกรธจัดที่เห็นเนื้อสัตว์ป่าที่ชำแหละแล้วในเรือของพรานที่ตรวจพบและหลั่งน้ำตาทุกครั้งที่พยายามผายปอดช่วยชีวิตเลียงผาและกวางขึ้นมาจากน้ำ แต่ต้องตายไปต่อหน้าเพราะความหิวโหยและความอ่อนเพลีย
ประสบการณ์การทำงานครั้งนี้ได้ทำให้สืบตระหนักดีว่าการอพยพสัตว์ป่าครั้งนี้ไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้เลย ยังมีสัตว์จำนวนมากที่ตายไปจากการสร้างเขื่อน เขาสรุปไว้ว่า
“ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
4
“วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัวเพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”
ในช่วงเวลานั้นเอง ที่จังหวัดกาญจนบุรีได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำและกำลังได้รับการคัดค้านจากนักอนุรักษ์ฯ นักวิชาการ ข้าราชการกรมป่าไม้บางส่วน และชาวเมืองกาญจนบุรี ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลและเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต
ในปี 2530 รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติโครงการขนาดยักษ์แห่งนี้ ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนถูกรัฐบาลกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และกำลังตกเป็นรองทั้งข้อมูลและการเผยแพร่
สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์มาเป็นเวลานานจึงได้เข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างแข็งขันโดยใช้บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชียวหลานเป็นกรณีศึกษา
วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ เพื่อนสนิทของสืบและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานั้น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชักชวนให้สืบ นาคะเสถียร ไปช่วยทำงานด้านข้อมูลในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน เขากล่าวว่า
“สืบก็รู้ว่าผมค้านเขื่อน ช่วงนั้นสืบเขาเป็นนักวิจัยไม่ค่อยมีมิติทางด้านงานเคลื่อนไหว สืบก็เล่าให้ฟังว่างานอพยพสัตว์ป่าไม่ประสบความสำเร็จ สัตว์รอดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทีนี้เขื่อนน้ำโจนก็มีโครงการอพยพสัตว์ป่าเหมือนกัน เราจึงคิดว่าน่าจะเอากรณีที่เชี่ยวหลานมาเป็นบทเรียนว่า สัตว์ตายมากเพียงใด สืบก็เห็นด้วย เราจึงจัดนิทรรศการทุ่งใหญ่นเรศวรเพื่อให้คนเมืองกาญจน์ได้รู้จักป่าทุ่งใหญ่ฯ ว่าคืออะไร สืบก็มาเสนอเรื่องถ้ามีเขื่อนแล้วการอพยพสัตว์จะมีปัญหาอะไร จำได้ว่าคนเมืองกาญจน์ประทับใจการพูดของสืบมาก และรู้สึกจะเป็นครั้งแรกที่สืบพูดว่า เขาพูดในนามของสัตว์ป่าที่กำลังจะตาย”
บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ยอมรับว่าสืบเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พ่อค้าอย่างเขากลายมาเป็นนักอนุรักษ์จนถึงทุกวันนี้
“คืนหนึ่งในงานนิทรรศการ คุณสืบฉายสไลด์เกี่ยวกับการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แกเป็นคนบรรยาย ทำให้เรารู้สึกว่าสัตว์ป่าในภาพมีชีวิต มันร้องขอชีวิต มันครวญคราง เจ็บปวดรวดร้าว มันออกมาพร้อมกับน้ำเสียงของคุณสืบ จากเหตุการณ์นั้นทำให้มองเห็นวิญญาณการต่อสู้และปกป้องสัตว์ป่าจากคำพูดของคุณสืบที่เราไม่เคยพบใครมาก่อน”
สืบเดินป่าเข้าทุ่งใหญ่ฯ เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน เพื่อเสาะหาข้อมูลและเมื่อได้สำรวจทางอากาศ เขาพบฝูงกระทิงอยู่รวมกันถึง 50 ตัว เป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในเมืองไทย เป็นหลักฐานแสดงความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ได้เป็นอย่างดี บางครั้งเขาได้มีโอกาสพานักข่าวลงพื้นที่ที่จะมีสร้างตัวเขื่อนน้ำโจน เล่าบทเรียนจากเขื่อนเชี่ยวหลานให้นักข่าวฟังว่า ในอนาคตบริเวณนี้จะกลายสภาพเป็นทะเลสาบ เนินสูงตรงนี้จะกลายสภาพเป็นเกาะจากการถูกน้ำท่วม สัตว์จะตายจากการสร้างเขื่อนได้อย่างไร
สืบใช้ความเป็นนักวิชาการของเขาอธิบายต่อสาธารณชนให้เห็นว่า เราจะสูญเสียสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใดหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน สืบยึดถือหลักความจริงในทางวิชาการอย่างเคร่งครัด เขาทนไม่ได้ที่จะมีใครพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการแม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของเขาเอง
อธิบดีกรมป่าไม้ในเวลานั้นได้ออกมาพูดสนับสนุนการสร้างเขื่อนในที่ประชุมแห่งหนึ่งว่า ปัญหาด้านสัตว์ป่าไม่น่าเป็นห่วง สามารถแก้ไขได้ โดยยกตัวอย่างเรื่องนกยูงที่ต้องอาศัยหาดทรายดำรงชีพว่าแม้ว่าน้ำจะท่วมหาดทรายแต่เราสามารถสร้างหาดเทียมขึ้นมาทดแทนได้
สืบ ข้าราชการกรมป่าไม้ชั้นผู้น้อย ซึ่งอยู่ในที่ประชุมในเวลานั้นได้กล่าวแย้งอย่างไม่เกรงใจว่า “ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย”
อาทิตย์สุดท้ายก่อนการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ สืบทำงานอย่างหนักจนสามารถจัดทำบทรายงานเรื่อง ‘การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน’ ได้สำเร็จ รายงานชิ้นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการพิจารณา เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน
ในวันตัดสิน สืบเข้าชี้แจงต่อกรรมการด้วยตัวเอง หลายฝ่ายสิ้นความสงสัยว่า สัตว์จำนวนมากต้องล้มตายลงหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน
“เราชนะแล้ว” สืบพูดสั้นๆ ภายหลังออกมาจากห้องประชุมด้วยรอยยิ้ม
ภายหลังเมื่อรัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน กลุ่มนักอนุรักษ์ได้วิเคราะห์มาน่าจะมีมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนในอนาคตอีก และในเวลานั้นประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จึงเห็นว่าสืบน่าจะมีส่วนสำคัญในการเขียนรายงานทางวิชาการเพื่อนำเสนอต่อกรรมการให้พิจารณาว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเหมาะสมที่จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
สืบสัมผัสกับป่าทุ่งใหญ่ฯ มากขึ้น เขาไม่ได้สนใจข้อมูลทางด้านธรรมชาติด้านเดียว แต่เขายังสนใจความเป็นอยู่ของชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร รักษาป่ากันอย่างไร ครั้งหนึ่งสืบลงไปเก็บข้อมูลด้านชุมชนที่หมู่บ้านแม่จันทะ เขาได้จดบันทึกเรื่องราวชีวิตของลุงเนียเต๊อะ ผู้เฒ่าที่ชาวกะเหรี่ยงบันถือมากและล่องแพมาถึงป่าดงวี่ ระหว่างทางที่ค้างคืนในป่าสืบมักจะเปิดเทปฟังกะเหรี่ยงที่เขาอัดเสียงมาตอนที่อยู่ในหมู่บ้าน วีรวัธน์ ผู้ร่วมเดินทางไปครั้งนั้นเคยตั้งคำถามกับสืบว่าทำไมชอบฟังเพลงกะเหรี่ยง
“ฟังแล้วรู้สึกสงสารพวกเขา เพลงกะเหรี่ยงเป็นเพลงที่ฟังแล้วเศร้าเหมือนกำลังจะบอกให้พวกเราช่วยเขา…ถ้าไม่ลงมาที่นี่ ไม่ได้ศึกษาดู ก็จะไม่รู้ว่าคนกะเหรี่ยงเป็นยังไง เขาอยู่กันอย่างไร”
นับแต่นั้นมาสืบได้พัฒนาความคิดจากการเป็นนักวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นนักอนุรักษ์ที่มีพื้นฐานทางวิชาการ สืบไม่เก็บตัวเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป เขาขึ้นไปพูดตามเวทีสาธารณะต่างๆ จนคนทั่วไปรู้จักสืบดี เพราะทุกครั้งสืบจะพูดออกมาจากหัวใจโดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
จากหนังสือ a day LEGEND พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2553