สืบ นาคะเสถียร : ชีวิตและลมหายใจในผืนป่าของวีรบุรุษผู้เสียสละ 1/3

ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ผมเดินทางกลับไปอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกครั้งหนึ่งในรอบหลายปี เพื่อเป็นวิทยากรให้กับทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สำหรับหลายคน เขื่อนเชี่ยวหลานอาจจะเป็นสถานท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพแปลกตา เห็นเกาะหินปูนรูปร่างแปลกอยู่กลางอ่างเก็บน้ำราวกับทะเลสาบกุ้ยหลินของเมืองจีน

แต่สำหรับผมแล้ว การไปเขื่อนเชี่ยวหลานครั้งแรกของผมเมื่อ 20 กว่าปีก่อนเป็นภาพที่อยู่ในใจไปตลอดชีวิต เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

ผมดั้นด้นไปตามหาสืบ นาคะเสถียร กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน เมื่อได้ทราบว่าเขาเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าซึ่งถือเป็นโครงการอพยพสัตว์ป่าครั้งแรกในประเทศไทย

ไม่กี่ปีต่อมา ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ ผู้นี้ได้กลายเป็นบุคคลในตำนาน ภายหลังการยิงตัวตายในป่าห้วยขาแข้ง และเหนืออื่นใด ความตายของเขาได้สั่นสะเทือนผู้คนในสังคมไทยที่ทราบข่าวอย่างรุนแรง

มีผู้คนมากมายพากันตั้งคำถามว่า เหตุใดหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจึงตัดสินใจยิงตัวตาย

วันที่ผมไปรอรับศพพี่สืบที่นำมาจากป่าห้วยขาแข้งเอามาตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุ บางเขน ในความรู้สึกถึงเพื่อนและพี่ชายคนนี้ ผมเขียนบันทึกสั้นๆ ไว้ว่า

‘หากมีวันหนึ่ง คุณถูกคนร้ายจับล่ามโซ่ ภรรยาของคุณกำลังถูกคนร้ายข่มขืน คุณไม่สามารถช่วยเหลือคนรักของคุณได้ คุณดิ้นสุดขีดแต่ไร้ผล คุณตะโกนก้องเพื่อให้คนอื่นมาช่วย แต่คนเหล่านั้นแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน บางคนบอกว่าให้คุณช่วยตัวเองไปก่อน คุณดิ้นพล่านเมื่อเมียรักร้องด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่มีใครสนใจ’

‘แล้วสุดท้ายคุณก็มิอาจทนกับสภาพอันบัดซบที่เกิดขึ้นต่อหน้าคุณโดยที่คุณไม่อาจช่วยภรรยาอันเป็นที่รักยิ่งได้ และถึงเวลานั้นคุณแทบไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ คุณอาจเลือกทำร้ายตัวเองเพื่อบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของคุณ’

คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง แต่สำหรับสืบ นาคะเสถียรแล้ว เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่ามากกว่าตัวเองและครอบครัวเสียอีก เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง เขาวิ่งพล่านไปทั่วเพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์และทำลายป่าเมืองไทย

…ไม่มีใครสนใจเสียงตะโกนของเขา ไม่มีใครอยากได้ยิน

ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนนัดหนึ่งจึงดังกึกก้องในป่าห้วยขาแข้ง

สองอาทิตย์ต่อมา ห่างจากบริเวณที่เกิดเสียงปืนดังไม่กี่สิบเมตร ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคนได้แห่กันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน

สืบ นาคะเสถียร รอวันนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง

หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมครั้งนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

1

‘เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน’

ธันวาคม 2542 อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานผลการสำรวจประชามติความคิดเห็นของคนไทยเพื่อสะท้อนภาพรวมสังคมในด้านต่างๆ ก่อนที่จะย่างเข้าสู่ปี 2000 หนึ่งในแบบสำรวจประชามติมีการตั้งคำถามว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด 10 อันดับ

ผลปรากฏว่า อันดับ 1 คือ หลวงปู่แหวน อันดับ 2 คือ สืบ นาคะเสถียร มีคะแนนนำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มิตร ชัยบัญชา และ พุทธทาสภิกขุ

มีบางคนกล่าวว่า แม้สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะตายจากไปครบยี่สิบปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสืบได้กลายเป็นวีรบุรุษคนล่าสุดในดวงใจของคนไทยที่ให้การยอมรับมากที่สุด

ในชีวิตจริง สืบอาจจะไม่ใช่คนดีในนิยามของหลายคน เขาเป็นคนธรรมดาที่กินเหล้าสูบบุหรี่จัด และเคยทำอะไรผิดพลาดมาก่อน

สืบ นาคะเสถียรมีบ้านพักอยู่ในย่านฝั่งธนฯ เป็นบ้านไม้เก่าแก่ของตระกูลที่เขาพักอาศัยอยู่กับน้องชาย บนฝาผนังบ้านมีภาพถ่ายพ่อสมัยเป็นนายอำเภอหนุ่มถ่ายกับซากเสือโคร่งที่ลงมากินชาวบ้านเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน และยังมีเขาละองละมั่งคู่หนึ่งอันเป็นสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานแล้ว เป็นเขาสัตว์เก่าแก่ที่นายพรานสมัยนั้นล่าได้และเป็นสมบัติตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน

สืบ นาคะเสถียร เคยพูดให้ผมฟังว่า “เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน”

ในวัยเด็ก สืบก็เป็นนักยิงนกตัวยงคนหนึ่ง

สืบเป็นคนเมืองปราจีนบุรี มีนามเดิมว่า สืบยศ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2482 เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องสามคน ตระกูลของแม่มีอาชีพทำนาและเก็บค่าเช่านา สืบเคยเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า

“สมัยเด็กๆ แม่สอนผมทุกอย่าง แม่ยังคิดว่าจะเป็นลูกผู้หญิง ผมเย็บจักรได้ ทำกับข้าวเป็น ตื่นเช้าผมจะต้องถูบ้าน ต้องหุงข้าวใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน กลับมาบ้านผมจะต้องไปเก็บกวาด แม่สอนผมทุกอย่าง”

บางครั้งสืบยังต้องช่วยแม่ทำนายามว่างมักชวนเพื่อนไปเที่ยวยิงนกตกปลาตามประสาเด็กบ้านนอก โดยมีไม้ง่ามหนังสติ๊กเป็นเพื่อนคู่ใจ

สืบได้รับการศึกษาชั้นประถมต้นในโรงเรียนประจำจังหวัด พอจบชั้นประถมสี่ สืบก็ย้ายจากปราจีนบุรีไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะพ่ออยากให้ลูกชายได้เรียนในโรงเรียนดีๆ นับเป็นการจากบ้านเป็นครั้งแรก เขาเริ่มรับผิดชอบตัวเอง มีผลการเรียนที่ดี ชอบวาดรูปและเล่นดนตรีเก่งจนได้เป็นนักทรัมเป็ตมือหนึ่งของวงดุริยางค์ประจำโรงเรียน พอปิดเทอม สืบก็นั่งรถไฟกลับบ้าน เอารูปที่ตัวเองวาดไปอวดพ่อแม่ บางครั้งสืบจะไปช่วยแม่ยกคันนา เพราะชาวบ้านข้างเคียงไถนาเข้ามาในที่นาของแม่จนที่นาเว้าเข้ามา สืบกับแม่ช่วยกันยกคันนาท่ามกลางแดดแผดกล้า ทำให้เขารู้สึกรสชาติความยากลำบากของชาวนามาตั้งแต่เยาว์วัย แม้บางครั้งสืบและน้องชายจะเกเรไม่ยอมทำงาน แต่พอเห็นแม่ทำงานคนเดียว สองพี่น้องก็ละอายใจ

ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง สืบยังชอบไปเที่ยวเล่นกับน้องชายเหมือนเดิม ต่อมาเริ่มหัดทำปืนเถื่อน ซึ่งนิยมกันมากในจังหวัดชายแดนสมัยนั้น ฝีมือการยิงเฉียบคมมากจนเป็นที่รู้กันในละแวกบ้านว่า สืบยิงปืนสั้นแม่นมากจนพ่อที่เป็นนายอำเภอขู่ลูกชายทั้งสองให้เลิกปืนเถื่อน มิฉะนั้นจะจับไปโรงพัก สองพี่น้องต้องเอาปืนทิ้งคลอง

กอบกิจ นาคะเสถียร หรือโด่ง น้องชายผู้สนิทกับสืบที่สุดเล่าให้ผมฟังเมื่อคราวไปเยี่ยมบ้านพี่สืบที่ย่านฝั่งธนฯ ว่า “พวกเราทำปืนเถื่อนกันเองทั้งนั้นใช้เหล็กมาเจาะเอา ดินปืนเราก็ตำเอง พี่สืบชอบใช้ปืนสั้น ส่วนผมถนัดปืนยาวมีอยู่ครั้งหนึ่งพี่เขาเสียใจมาก เพราะไปยิงลูกนก แม่นกตามลูกนกแต่เราไปพรากลูกพรากแม่ ตอนนั้นเรายิงด้วยความภาคภูมิใจ ยิงเอาสนุก จริงๆ ตอนเด็กเราก็ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก พี่เขารักป่าแต่เราก็ไปทำลายชีวิตนกอย่างสัตว์ป่าเราก็เคยเลี้ยง ชาวบ้านเอาค่างเอาชะนีมาให้ เราก็เลี้ยงตามมีตามเกิดแบบไม่ถูกวิธี ตายไปก็เยอะ บางทีเราเอาเชือกผูกคอ มันก็รัดคอจนตายเอง”

เมื่อเรียนถึงชั้น ม.ศ.3 สืบก็เลิกยิงนกตกปลาล่าสัตว์โดยเด็ดขาดตามนิสัยของคนที่ทำอะไรจริงจัง

“ผมกับน้องสาวจะใกล้ชิดกับครอบครัวมากกว่าเพราะพี่สืบจากบ้านไปเรียนตั้งแต่เด็ก จึงมักตัดสินใจด้วยตนเองเป็นตัวของตัวเองตามประสาคนที่ต้องพึ่งตัวเองสูง แต่ใจร้อนมาก วัยเด็กถ้าทำอะไรไม่ได้ดังใจ จะแสดงอาการโมโห ถ้าโกรธจะตอบโต้และพยายามเอาชนะให้ได้ แต่พอโตขึ้น ก็ไม่ค่อยตอบโต้ โกรธใครก็จะไม่ว่า” โด่งเล่าให้ฟัง

“แต่ผมก็รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในตัวแก กลางค่ำกลางคืนไปไหนผมจะอุ่นใจ เขาจะคอยปกป้องน้องชายเสมอ ผมจำได้ว่าคราวหนึ่ง เราไปตีผึ้งด้วยกัน ผึ้งมักจะอยู่บนยอดไม้ แกก็บอกให้ผมเอาควันรม ผมกลัวผึ้งจะมาต่อย แกบอกว่าไม่ต้องกลัว สองมือแกจับขาผมไว้มั่น ผมเชื่อมั่นว่าแกจะไม่ทำให้ผมหล่นจึงปีนขึ้นไป แล้วเราก็ได้รังผึ้งมาอย่างไม่น่าเชื่อ ผมมั่นใจคำพูดแก ผมไม่กลัวตกเลย”

นิสัยอีกประการหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กคือ หากจะทำอะไรต้องทำให้ได้ดี แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยก็ตาม

สืบมีฝีมือด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เขามักจะเอาไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมายละแวกบ้าน มาเหลาทำเป็นว่าว
บางทีก็เอาดินมาปั้นเป็นรถเก๋งอย่างสวยงาม สืบจะรักษาสมบัติของตัวเองมากแต่เมื่อน้องชายเอาเชือกมาลากรถไปมาจนฟัง หรือเอาว่าวไปเล่นจนขาด พี่ชายก็ไม่ได้ว่าอะไร

“ช่างมันเถอะ” สืบพูดสั้นๆ

2

‘พ่อผมไม่เคยโกงใครกิน…ทำไมผมถึงดีใจและภาคภูมิใจกับพ่อผมมาก เพราะพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร’

เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ สืบตั้งใจสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรม ตามประสาคนชอบวาดรูป เคยวาดการ์ตูนเป็นเล่มให้เพื่อนนักเรียนอ่านกัน เล่าลือกันว่าฝีมือลายเส้นเฉียบขาดมาก แต่สุดท้ายเขาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบเล่าให้ฟังว่า

“ตอนแรกผมไม่อยากเรียนวนศาสตร์ ผมไม่อยากเป็นป่าไม้เพราะผมไม่ชอบป่าไม้ แต่ผมเลือกไปอย่างนั้นเอง ผมเลือกอันดับ 5 พอผมติด ผมบอกแม่ว่า ผมไปเรียนดีกว่านะ อายุมันก็มากแล้ว รอปีหน้าก็ไม่รู้จะสอบสถาปัตย์ได้รึเปล่า ถ้าปีหน้าสอบไม่ได้อีกก็แย่ ต้องเกาะแม่กินไปเรื่อยๆ”

นพรัตน์ นาคสถิตย์ เพื่อนสนิทร่วมรุ่น วน.35 ได้ถ่ายทอดชีวิตสมัยเป็นนักศึกษาให้ฟังว่า

“สืบเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนตัวสูงกว่าเพื่อน แต่เวลานั่งฟังเลกเชอร์มักไปนั่งข้างหน้าห้อง ชอบจดงานลงสมุดอย่างละเอียดเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็วาดรูปประกอบด้วย ตอนอยู่ปี 4 ผมเคยพักห้องเดียวกัน มีเพื่อนอยู่ด้วยกันสามสี่คน ทุกวันกลับจากกินข้าวเย็นพวกเราก็นั่งคุยกันเฮฮา แต่สืบจะอ่านหนังสือทุกวัน อ่านจนกระทั่งพวกเราต้องเงียบเสียงกันไปเองจนพวกเราเข้านอนแล้วก็ยังเป็นสืบอ่านหนังสืออยู่ เขาเป็นคนทำอะไรจริงจังขนาดเวลาเล่นฟุตบอลก็เล่นแบบจริงจังในตำแหน่งแบ็ก ยากที่พวกเราจะพาลูกผ่านไปได้เพราะขายาวๆ มารบกวน และสืบว่ายน้ำเก่งมากจนได้เป็นนักกีฬาโปโลน้ำของมหาวิทยาลัยด้วย”

สลับ นาคะเสถียร พ่อของสืบ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดังคนหนึ่งในสมัยนั้นแต่สืบไม่เคยบอกใครเลย เพราะไม่ต้องการอภิสิทธิ์ใดๆ แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหารสืบก็ไม่ได้บอกสัสดีจังหวัดเลยว่าเขาเป็นลูกผู้ว่าฯ

สืบเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมกลับไปที่บ้าน ผมไม่เคยขออะไรจากพ่อ ผมไปติดต่อธุระที่อำเภอ ผมไม่เคยบอกเจ้าหน้าที่ว่าผมเป็นลูกใคร ผมไปเกณฑ์ทหารที่ปราจีนฯ ผมก็ไม่ได้บอกพ่อว่า พ่อช่วยหน่อย เพราะผมเห็นใจคนอีกเยอะที่ไม่มีโอกาสในสังคมแบบนี้ บังเอิญผมโชคดีจับได้ใบดำ”

เมื่อเรียนจบคณะวนศาสตร์ สืบไม่ยอมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยเหตุผลที่ว่ายังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะรับปริญญา

สืบว่างงานอยู่สองปีเพราะกรมป่าไม้ไม่มีตำแหน่งว่าง เขาจึงไปทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ประจำฝ่ายสวนสาธารณะ มีหน้าที่ปลูกต้นไม้ตามหมู่บ้านจัดสรร ทำงานอยู่ไม่นานก็ลาออกมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ เขาให้เหตุผลว่า “ไหนๆ ก็แหย่ขาเข้าไปในป่าไม้แล้ว” ระหว่างที่เรียน สืบสามารถสอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับ 3 ซึ่งในเวลานั้น คนที่สอบได้อันดับ 1-10 มีสิทธิ์เลือกบรรจุกองไหนก็ได้ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเลือกเป็นป่าไม้เพื่อมีโอกาสจะก้าวไปเป็นป่าไม้จังหวัดหรือป่าไม้เขตในอนาคต แต่สืบกลับเลือกอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่
จังหวัดชลบุรี ในปี 2518 โดยให้เหตุผลว่า

“ผมเลือกที่นี่เพราะเกลียดพวกป่าไม้ แม้เรียนป่าไม้ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ก็รู้สึกว่า ไม่ชอบป่าไม้เรื่องที่ว่าป่าไม้มันโกง พวกป่าไม้มันร่ำรวยมาจากการโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกนี้ดี เพราะสมัยนั้นพ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมันผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้”

ในบรรดาศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น 35 จำนวนทั้งหมด 120 คน มีมาสนใจงานด้านอนุรักษ์เพียง 5 คนเท่านั้น

ที่เขาเขียว สืบ นาคะเสถียร เริ่มอาชีพข้าราชการกรมป่าไม้เต็มตัว เขาทุ่มเทให้แก่การทำงานด้านปราบปราม ลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่าหรือพรานที่มาส่องสัตว์ล่าสัตว์กลางคืนได้นับร้อยคน “ผมมีหน้าที่ลุยอย่างเดียว จะใหญ่มาแค่ไหนผมจับหมด”

การที่สืบดำรงตนเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ อาจเพราะได้แบบอย่างมาจากพ่อของเขาซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น ลูกชายคนโตคนนี้ภูมิใจในตัวพ่อมาก เขาเคยพูดว่า “พ่อผมไม่เคยโก่งใครกิน…ทำไมผมถึงดีใจและภาคภูมิใจกับพ่อผมมาก เพราพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร”

ปีนั้นเอง สืบส่งบทกลอนเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยคณะวนศาสตร์ และได้รางวัล กลอนบทนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกของสืบที่มีต่อสัตว์ป่าได้ชัดเจนที่สุด

‘สัตว์ป่า’


เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ


ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน


ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น


แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา


โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา


ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่าใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม


ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน


โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน

สืบทำงานที่เขตเขาเขียวฯ ได้พักหนึ่งก็สอบชิงทุนของบริติชเคานซิลไปเรียนปริญญาโทด้านอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ แต่ทำได้ไม่นานก็ขอย้ายตัวเองมาทำงานวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมา และรู้สึกว่างานวิจัยเป็นงานที่ตัวเองสนใจมากที่สุด

สืบให้สัมภาษณ์ว่า “ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา เหมือนกับไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่คนในสังคมในฐานะที่ผมมีหน้าที่ที่ต้องรักษาป่า ผมก็เลยขอไปทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าแทน”

ดูเหมือนว่างานวิชาการเป็นสิ่งที่เขาชอบและมีความสุขที่จะทำมากที่สุด งานนี้เหมาะกับอุปนิสัยส่วนตัว ที่เป็นคนช่างสังเกต ชอบจดบันทึก สเกตช์รูป ถ่ายรูป ซึ่งทำให้งานวิจัยสัตว์ป่าของเขามีคุณค่ามากขึ้น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายากไม่ว่าจะเป็นกวางผา เลียงผา นกกระสาคอขาวปากแดง ไปจนถึงภาพการบุกรุกทำลายป่าทุกรูปแบบ รวมไปถึงภาพจากวิดีโอหลายสิบม้วนที่สืบลงทุนแบกเข้าไปถ่ายในป่าและหิ้วเทปมาเช่าห้องตัดต่อเองในกรุงเทพฯ ข้อมูลทุกชิ้นถูกจัดใส่แฟ้มเป็นหมวดหมู่เรียบร้อยและไม่เคยปฏิเสธเมื่อมีคนขอภาพถ่ายไปเผยแพร่

งานสำคัญในช่วงนี้คือ ศึกษาการกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยของเลียงผา ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากการที่สืบเห็นพ่อค้าเอาน้ำมันเลียงผาที่ทำจากหัวเลียงผามาขายจนน่าเป็นห่วงว่าเลียงผาอาจสูญพันธุ์ได้ และรวมไปถึงศึกษาเก้งหม้อ ควายป่า และเป็ดก่า ซึ่งทำให้เขามีโอกาสเข้าป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น

ในระหว่างที่สืบมาทำวิจัยที่ป่าห้วยขาแข้ง เขาได้ยินเสียงปืนของนักล่าสัตว์เป็นประจำ เขาพยายามถามเจ้าหน้าที่ในนั้นว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมมีการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ไม่มีใครยอมพูดอะไร สืบบอกกับตัวเองว่า วันหนึ่งเขาจะหาคำตอบให้ได้

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

จากหนังสือ a day LEGEND พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2553

AUTHOR