ธนญชัย ศรศรีวิชัย : ผู้กำกับโฆษณาชื่อดังระดับโลกที่ความคิดน่าสนใจมาก 3/4

ตอนนี้คุณต้องการอะไรในชีวิต
ผมเป็นคนที่ทำผิดพลาดในชีวิตบ่อย เวลาผิดก็จำ แล้วถามตัวเองว่าทำไมถึงทำผิด เวลาใช้ชีวิตผมเลยคิดตลอดว่า นี่คือชีวิตที่ต้องการหรือเปล่า ผมต้องการให้ชื่อเสียงขจรขจาย ตายไปแล้วคนยังจำชื่อได้หรอ ก็ไม่ สิ่งที่ผมสนใจที่สุดก็คือ เวลาที่ใช้ชีวิต ผมต้องการใช้ชีวิตที่มีปลายทางคือความสุข ก็ต้องตั้งคำถามว่า ความสุขจริงๆ คืออะไร ความสุขคือการที่เรามีใช่หรือไม่ มีเงินมีทอง มีรถ มีบ้าน มีความมั่นคง มี มี มี มี ต้องมีคุณถึงจะมีความสุข สิ่งที่ตลกที่สุดสำหรับผมก็คือ มีเยอะๆ แล้วมันเหนื่อย ปวดหัว มีเยอะๆ ก็กลัว กลัววันหนึ่งจะไม่มี พอไม่มีมันก็โล่ง มีน้อยๆ มันก็สบายใจ โอเค ตอนนี้ผมเป็นคนที่มี แต่ผมจะไม่เดือดร้อนเลยถ้ามันจะไม่มี เพราะสิ่งที่เรามีเดี๋ยววันหนึ่งเราตายไปมันก็ไม่มีแล้ว นี่คือทางกายภาพ ส่วนเรื่องความคิด เราก็ควรที่จะยึดติดว่าเรามี เราเป็น ไม่ตัวกูของกู ความคิดกู ไอเดียกู ยินดีต้อนรับการขโมยความคิดเสมอ เอาไปเลย เอากันไปเยอะๆ สนับสนุนด้วย เพราะความคิดของผมหรือสิ่งที่ผมทำไม่ได้เป็นสิ่งที่ใหม่ที่สุด ผมก็ได้รับความคิดดีๆ จากคนอื่นเหมือนกัน และถ้าผมต้องตายไปก็ไม่ต้องเขียนอะไรที่หลุมฝังศพผม

คนที่ยังไม่เคย ‘มี’ จะขอลองสัมผัสการ ‘มี’ ก่อนได้ไหม
อยากมีก็มีไปก่อน แต่มีแล้วต้องคิดด้วยว่า สิ่งที่คุณมีคือความสุขหรือเปล่า คิดเยอะๆ การที่เรามีตัวตนอยู่ การประสบความสำเร็จ เป็นหลุมพรางที่ทำให้ชีวิตเราหยุด หยุดเพื่อชื่นชมมัน ปลาบปลื้มอิ่มเอิบกับความสำเร็จ มีสื่อมาสัมภาษณ์ ต้องขับรถ รถก็ติด เพียงเพื่อไปออกทีวี ไอ้พวกนี้ทำให้ชีวิตผมไม่เดินหน้าต่อ เพราะต้องหยุดมาทักทายสิ่งเหล่านี้ มันเสียเวลา ผมเลยตัดสินใจว่าจะไม่หยุดชื่นชมความสำเร็จ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ดีกว่า

คำว่า ‘ผู้กำกับหนังโฆษณาอันดับ 1 ของโลก’ ที่ต่อท้ายชื่อคุณ ให้อะไรกับคุณบ้าง
เวลาผมพูดก็จะมีคนฟังผมมากขึ้น นอกนั้นไม่มีอะไร แขนขาผมก็เหมือนเดิม ทำงานเยอะๆ เหมือนเดิม

คุณเคยบอกว่าไม่เชื่อเรื่องการทำงานหนักเพื่อเก็บเงินจะได้สบายตอนแก่
ความสบายคือสิ่งที่มนุษย์ต้องการจริงหรือ ผมเคยถามคนทำยาสีฟันว่า ยาสีฟันเดี๋ยวนี้มีสารโน่นนี่ดีมาก แต่มนุษย์ยุคก่อนไม่มียาสีฟัน ทำไมเราขุดซากขึ้นมาถึงเจอฟันเกือบครบทุกซี่ เขาบอกเมื่อก่อนเราไม่มีช็อกโกแลต กาแฟ มันชวนให้เราตั้งคำถามว่า ตอนนี้เราอยู่ในชุดความคิดที่ว่า เราต้องทำงาน หาเงินเยอะๆ เพื่อให้เราสบาย มีรถขับเพื่อย่นระยะทาง มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่เดินเข้าไปแล้วมีทุกอย่าง มีระบบเงินเพื่อทำให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น ป่วยก็ไปหาหมอ เกิดมาไม่ต้องเรียนเยอะ รู้แค่เฉพาะอย่างแล้วเอาไปเชื่อมต่อกับส่วนอื่น โลกเป็นระบบสายพานการผลิตในโรงงานไปแล้ว ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทำให้มนุษย์ตายเร็ว เรากำลังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องหรือเปล่า ความสบายทำให้เราอ่อนแอ เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกายเรา เผลอๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา ทำให้เราอ่อนแอ ผมเคยเห็นคนแก่อายุเกือบ 70 ที่เชียงใหม่ แบกกล้วยมาเป็นเครือ แข็งแรงมาก คนแก่ต่างจังหวัดที่ไม่มีลูกหลานดูแล ทำงานทั้งวัน ดูเหมือนลำบาก แต่ด้วยความที่เขาดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ต้องพึ่งตัวเอง เขาแข็งแรงฉิบหายเลย ไม่เหมือนคนรวยในเมือง คนจนตายช้า คนรวยตายเร็วเพราะสบายเกินไป คนรวยอยากสบายตอนแก่ เลยต้องทำงานหนักเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อยา เป็นความคิดที่ตลกดี

ความสบายไม่ควรเป็นเป้าหมายของมนุษย์
แม่ผมเพิ่งล้ม ต้องเข้าโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ หมอว่าคนแก่มวลกระดูกไม่แข็งแรง วิธีที่จะทำให้แข็งแรงคือต้องเดินบ่อยๆ ต้องมีการปะทะ เณรที่วัดเส้าหลินต้องชกกำแพงทุกวัน ชกทุกวันกระดูกก็แข็งขึ้น นักมวยก็ต้องเอาขวดเคาะหน้าแข้งทุกวัน ขามันถึงจะแข็งขึ้น ความเข้มแข็งมาพร้อมกับความเจ็บปวดเสมอ แต่เป็นความเจ็บปวดที่งดงาม ถ้าเราปล่อยให้ลูกเดินบนพื้นดินเปล่าๆ ไม่ต้องใส่รองเท้า แรกๆ ก็เจ็บ แต่พอหนังเท้าหนา เหยียบอะไรก็ไม่เจ็บแล้ว นอนบนพื้นกระดานแข็งมันไม่สบาย แต่มันคือการนอนที่ดีที่สุด ไม่ปวดหลัง การนั่งขี้ยองๆ ขี้ใต้ต้นไม้ มันเมื่อย แต่เป็นการขี้ที่ดีที่สุด เร็วที่สุด และถูกสุขภาวะที่สุด มนุษย์สร้างอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายเพื่อความสบาย แต่สุดท้ายเราก็พบว่า มันก็จะสร้างปัญหาต่อไปไม่รู้จบ เช่น ไมโครเวฟ นี่หรือคือการพัฒนาที่ถูกต้อง

การพัฒนาที่ถูกต้องควรเป็นยังไง
ทุกวันนี้เราคิดว่าการพัฒนาที่ฉลาดคือ ต้องเรียนหนังสือ ต้องแข่งขัน ต้องติว ต้องกวดวิชา ต้องเอนทรานซ์ เข้ามหาวิทยาลัยตามคณะต่างๆ พอเรียนจบก็ต้องแข่งกันสมัครงาน พอได้งานก็ทำงานหาเงินซื้อรถ พอได้รถก็ขับรถ ขับไปไหน ก็ขับไปซูเปอร์มาร์เก็ต จอดรถ เสียค่าจอดรถ จอดเสร็จก็เดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อที่จะไปซื้ออาหาร พอทำงานไปเยอะๆ รู้สึกว่าร่างกายอ่อนแอ ก็หาเงินอีกเพื่อไปเสียค่าสมาชิกฟิตเนส ต้องเสียเวลาคุยว่า ค่าสมาชิกรายปีรายเดือนเป็นอย่างไร ไปซื้อรองเท้า ถุงเท้า ซื้อเครื่องวัดชีพจรและอื่นๆ อีกมากมาย การที่เราจะใช้ชีวิตในปัจจุบันมันเหนื่อยมาก มันอ้อมมาก และสิ่งที่ดีกว่านี้ ฉลาดกว่านี้คืออะไร ภาพที่ผมเห็น คือชาวสวนธรรมดาๆ คนหนึ่งกำลังขุดดินเพื่อปลูกผัก จบ ในภาพนั้นบอกเราว่า หนึ่ง คุณออกกำลังกาย สอง คุณสร้างอาหาร สาม คุณได้กิน จบ สั้นที่สุด ง่ายที่สุด ฉลาดที่สุด มนุษย์เมื่อก่อนผนวกการล่าสัตว์หาอาหารกับการออกกำลังกายไว้ด้วยกัน ไม่ใช่ถ้าอยากออกกำลังกายต้องเข้าฟิตเนส แต่เกิดจากการทำอะไรด้วยตัวเอง แล้วพึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง ถ้าเป็นความเข้มแข็งทางจิตใจก็คือยึดเหนี่ยวคนอื่นให้น้อย พึ่งสติของตัวเองให้มากที่สุด หัดปรึกษาตัวเอง จิตใจเราจะเข้มแข็งขึ้น เมื่อให้คำปรึกษาตัวเองได้ ก็ย่อมเป็นที่ปรึกษาผู้อื่นได้

น่าแปลกที่คนเมืองเรียนสูงๆ ทำอะไรด้วยตัวเองไม่เป็นเลย กลับมองว่าตัวเองเก่งกว่าชาวบ้านที่ทำทุกอย่างได้เองหมด
มันเป็นความคิดที่โง่ที่สุด เขาใช้เงินเป็นตัวแบ่งสถานภาพของสังคม ในขณะที่ภูฏานใช้ความสุขเป็นตัววัด ถามว่าคุณมีเงินเยอะแล้วชีวิตดีขึ้นหรือเปล่า คุณแค่มีกระเป๋าพราด้า พูดภาษาอังกฤษคล่อง แต่การพูดภาษาอังกฤษได้มันเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เรียกว่าปัญญานะ ความรู้ในโลกแบ่งเป็น instinct intellect intuition คุณมีสมองแค่ระดับ intellect เท่านั้น ระดับ intuition คือไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว คือการให้ผู้อื่น คือระดับปัญญาญาณ นั่นคือชาวบ้าน ถามว่าคุณอยู่ในเมืองคุณเคยให้แกงข้างบ้านไหม เคยไปช่วยเขาซ่อมหลังคาไหม เคยให้อะไรคนอื่นไหม ถ้าเอากรอบแบบตะวันตก กรอบทุนนิยมมาครอบ ใช่ คุณเจ๋ง คุณรวย แต่ถ้าเอาอภิปรัชญาของศาสนาพุทธมาพูด คุณด้อยค่าเหลือเกิน คุณรู้ภาษาอังกฤษ แต่คุณอ่านหนังสืออะไร คุณพูดภาษาอังกฤษได้ แล้วคุณพูดอะไรออกมา ผมพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่คนต่างชาติก็พยายามฟังว่าผมพูดอะไร คุณไม่จำเป็นต้องพูดให้ถูกหลักหรอก มันสำคัญตรงที่ความคิดที่คุณจะพูดคืออะไร

ทำไมคุณถึงสนใจความคิดของปราชญ์ชาวบ้าน
คนอย่างพ่อผายเป็นต้นแบบที่ทำให้พบว่า เรามีชีวิตอย่างสะดวกสบายได้ด้วยการพึ่งตัวเอง ในขณะที่โครงสร้างของสังคมกำลังนำเราไปสู่การแบ่งหน้าที่การทำ ทำให้เราเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง อ่อนแอลง แต่ปราชญ์ชาวบ้านสอนให้เรารู้จักเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน เป็นหัวขบวนของการพึ่งตัวเอง

ตอนหนุ่มๆ เคยคิดไหมว่าวันนึงคุณจะหันมาสนใจอะไรแบบนี้
ไม่เคยคิดเลย สมัยหนุ่มๆ ผมคิดแต่ชีวิตที่ดีที่สุดคืออะไร ซึ่งไม่ใช่แบบนี้เลย ตอนนั้นผมมีฮีโร่หลายคน บิลล์ เกตส์, วอเรน บัฟเฟต เท่ๆ รวยๆ ทั้งนั้น จนชีวิตผ่านอะไรมามากขึ้น ก็พบว่าฮีโร่จริงๆ ของผมคือ พระพุทธเจ้า, ในหลวง, คานธี, แมนเดล่า, ท่านติช นัท ฮันห์ คนเหล่านี้ต้องการอะไรในชีวิตน้อยมาก แต่เป็นคนที่มีความสุขมาก ใช้ชีวิตได้คุ้มค่ากับการเกิดมามาก

อะไรทำให้คุณศรัทธาในความดี
ตอนเด็กๆ ผมเคยตั้งคำถามกับความดี แม่บอกว่าทำดีมันยาก แต่ก็ต้องทำ บ้านผมไม่ได้ถึงกับจน แต่ก็ไม่รวย พ่อเป็นข้าราชการที่ไม่โกง มีลูก 4 คน ได้กินแต่น้ำพริกกับผัก ลูกข้าราชการคนอื่นขับรถไปโรงเรียน แต่พวกเราขี่จักรยาน เงินก็ไม่ค่อยมี วันนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นคนดี แต่วันนี้ผมรู้แล้ว มันทำให้เรากล้าพูดถึงอดีตของเรา มันทำให้เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ แม่ผมบอกว่า มันทำให้เรามั่นใจว่าถ้าเราทำดีก็ไม่ต้องกลัวอะไร

ชีวิตช่วงที่คุณเริ่มมีเงินใหม่ๆ คุณใช้จ่ายไปกับอะไรเยอะที่สุด
ผมผ่านชีวิตช่วงที่ไม่มีเงินมาก่อน นั่งรถเมล์ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่ 8 บาท ซื้อปลากระป๋องมากระป๋องนึงแบ่งกินกับพี่ชาย วันนั้นผมคิดว่าถ้ามีเงินมากกว่านี้คงจะดี ผมอยากมีชีวิตที่สบาย แต่ทุกครั้งที่สบายผมก็ดันชอบกลับไปนึกถึงตอนลำบาก เออ ตอนนั้นมันดีนะ ได้ทำโน่นทำนี่เอง แข็งแรงดี แต่พออายุ 22 – 23 ผมเริ่มทำงาน มีเงินมากขึ้น ผมก็เอาไปซื้อหนังสือหมดเลย ที่บ้านผม พ่อกับแม่ไม่ค่อยซื้ออะไรให้ลูก ยกเว้นหนังสือ พ่อแม่ผมสอนว่า ความรู้สำคัญกว่าเงิน ตอนนั้นผมซื้อหนังสือเยอะมาก อ่านพวกหนักๆ ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ การตลาด การลงทุน จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และอื่นๆ จนถึงทุกวันนี้ ผมหมดเงินไปกับหนังสือรวมๆ กันแล้วเป็นล้าน พอผมอ่านเยอะผมก็รู้มากขึ้น พอรู้มากขึ้นผมก็เก่งขึ้น ทำงานดีขึ้น พองานดี คนก็เอางานมาให้ผมทำมากขึ้น ผมก็เลยมีตังค์มากขึ้น ลืมตามาอีกที ฉิบหายกูรวยขึ้นนี่หว่า ผมก็เอาเงินมาซื้อที่ดิน ผมซื้อมันด้วยเหตุผลหลายข้อ หนึ่ง การลงทุน สอง เพราะผมชอบต้นไม้ ผมชอบธรรมชาติ สาม เพื่อความอยู่รอด เพราะเมื่อประชากรเยอะขึ้น โลกร้อนมากขึ้น การเติบโตของไบโอดีเซล สนามกอล์ฟโง่ๆ ทำให้พื้นที่ผลิตอาหารลดลง พื้นที่ที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้เหลือน้อยเต็มที ผมพบว่าทุกอย่างงอกจากดิน อาหารของมนุษย์งอกจากดิน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราก็อยู่ไม่ได้

ผมซื้อที่ดินครั้งแรกตอนอายุ 27 ด้วยเหตุผลนึง แต่พอผมอายุ 33 ผมก็ซื้อที่ดินด้วยอีกเหตุผลนึง ผมต้องการที่ดินเพื่อไปทำอะไรบางอย่างที่ตั้งใจไว้ ก็คือโปรเจกต์ปลูกป่าที่เชียงใหม่

อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องต้นไม้ใบหญ้า
มันเริ่มจากผมมีพ่อเป็นนายอำเภอ ต้องตามไปพ่อไปดูชาวไร่ชาวนา ขึ้นเขาลงห้วย เดินข้ามเขาเป็นลูกๆ พ่อผมเป็นคนรักธรรมชาติ มันเลยปลูกฝังผมตั้งแต่เด็ก แต่พอมาทำงานด้านดีไซน์ ด้านโฆษณา มันก็ชักจะห่างจากสิ่งที่ผมเคยเป็น แต่ความรักยังอยู่

บ้านใหม่ที่คุณกำลังสร้างอยู่บนแนวคิดที่เคารพธรรมชาติมาก
เวลาจะสร้างบ้าน ส่วนใหญ่สถาปนิกจะคิดถึงบ้านก่อนว่าหน้าตาจะเป็นยังไง พอได้หน้าตาบ้านแล้ว ก็ค่อยไปดูพื้นที่ ต้นไม้ไหนขวาง แม่งสั่งตัดต้นไม้ก่อนเลย เพราะคุณมีภาพในหัวไว้แล้วว่า คุณต้องการบ้านแบบนี้ โดยไม่เคยถามดินตรงนั้น ไม่เคยถามต้นไม้ตรงนั้นว่าพวกมันอยากได้อะไร เราควรเดินคุกเข่าย่อตัวลงไปศึกษาพื้นดินแห่งนั้นอย่างเคารพว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพื้นดินแห่งนี้ เพื่อเราจะขอเข้าไปอยู่กับเขา ถ้าเราจะทำบ้าน เราก็ต้องทำความเข้าใจกับพื้นที่ก่อน สถาปัตยกรรมก็เหมือนอาหาร อาหารที่มีคุณค่าสูงสุดคืออาหารที่ถูกปรุงแต่งน้อยที่สุด งานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าสูงสุดก็คืองานที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด เข้าใจบริบทของพื้นที่ให้มากที่สุด

คุณว่าบ้านคืออะไร
คือสถานที่ที่เราใช้อยู่อาศัย แล้วก็ทำให้เรามีความสุข การจะมีความสุขได้ต้องไม่ปวดหัว ถ้ามีสวนฝรั่งเศสเนี้ยบๆ ให้คอยดูแล อันนี้ปวดหัว มีสนามหญ้า ก็ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ต้องคอยรดน้ำ ต้องเสียเงินค่าหญ้า ค่าคนสวน ค่าคนดูแล ค่าเครื่องตัดหญ้า บ้านที่มีห้องเยอะก็ปวดหัว ห้องรับแขก indoor ห้องรับแขก outdoor ห้องน้ำสำหรับห้องรับแขก ห้องหนังสือ ห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องดนตรี ห้องฟิตเนส ห้องสำหรับวางโต๊ะสนุกเกอร์ ห้องกินข้าวเล็ก ห้องกินข้าวใหญ่สำหรับแขกพิเศษ ห้องครัวฝรั่ง ห้องครัวไทย ห้องนอนพ่อแม่ ห้องนอนแม่ของพ่อ ห้องนอนลูกชายคนที่หนึ่ง ห้องนอนลูกชายคนที่สอง ห้องนอนแขก ห้องนอนคนใช้ ห้องน้ำของห้องนอนพ่อกับแม่ ห้องน้ำของห้องนอนแม่ของพ่อ ห้องน้ำของลูกชายคนที่หนึ่ง ห้องน้ำของลูกชายคนที่สอง ห้องน้ำของห้องนอนแขก และห้องน้ำของห้องคนใช้ ยิ่งห้องเยอะ ยิ่งต้องมีคนรับใช้เยอะ พอคนรับใช้เยอะขึ้น ก็ยิ่งต้องทำห้องให้คนใช้อีก บ้านก็ต้องใหญ่ขึ้น พอบ้านใหญ่ขึ้นก็ต้องดูแลมากขึ้น เสียเงินมากขึ้น ปวดหัวมากขึ้น หลายคนคิดว่ารวยๆ จะสบาย แต่ผมว่าน่าสงสาร ที่ตลกก็คือพอบ้านคุณห้องเยอะขึ้นกลับทำให้คุณอึดอัด เพราะห้องคุณเยอะคุณเลยได้แต่ละห้องที่เล็กลง ผมว่าบ้านที่น่าอยู่ คือบ้านที่เก็บของมีค่าไว้น้อยที่สุด มีห้องน้อยที่สุด และไม่ต้องดูแลมาก วิธีทำบ้านให้น่าอยู่ก็คือการที่ไม่มี หรือมีให้น้อยที่สุด คุณจะไม่กลัวขโมย มึงเข้ามาเลย บ้านกูมีแต่หนังสือ มึงขโมยไปเลยหนังสือ เอาไปอ่าน สนามหญ้าไม่ต้องมี ปล่อยให้มันเป็นป่า เพื่อนฝูง ลูกเด็กเล็กแดงมาก็ให้มานั่งดูแมลง ดูกิ้งกือ ดูไส้เดือนไป ใบไม้ตกลงพื้นก็ปล่อยมันเน่า ปล่อยให้ไส้เดือนเป็นคนสวน ไม่ต้องไปคอยกวาด ดูแลนิดหน่อย ปล่อยธรรมชาติให้เค้าจัดการกันเองบ้าง ตอนนั้นความสวยงามที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ต้องไปป่าไปเขา ไปสวนสาธารณะ อยู่บ้านเราเอง อยู่ในป่าของเราเอง

บ้านใหม่ของคุณอยู่แถวไหน
ในหมู่บ้านธารารมย์ แถวรามคำแหง กว้าง 350 ตารางวา มีจามจุรี 9 ต้น อันนี้แหละที่ดูดให้ผมซื้อ อาจารย์จุลพร นันทพานิช (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช.) บอกว่าที่ผืนนี้ไม่มีใครรุกล้ำมาเกือบ 50 ปี เป็นที่ดินเก่าที่ไม่มีใครมาจัดการ มีเฟิร์นขึ้นน่ะ มีความหลากหลายมากในพื้นที่ 1 ตารางฟุต มันสุดมาก เชื่อไหม พอเห็นแบบนี้ มาฝรั่งเศสแล้วผมไม่ชอบสวนฝรั่งเศสเลยนะ ผมว่ามันไม่สวย มองไปก็เห็นแต่สิ่งที่มนุษย์เข้าไปจัดการ ทุกอย่างเป็นระเบียบ อยู่ในความควบคุม อยู่ในสายตาของมนุษย์ ไม่เห็นสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ไม่มีการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีความหลากหลาย เห็นแต่การกำหนดว่ากูจะตั้งต้นไม้ตรงนี้เป็นแนวนี้ จะตัดตรงนี้ให้ตรง มันไม่มีชีวิต แต่ป่ามีชีวิต ทุกตารางนิ้วถูกกำหนดมาแล้วด้วยแสง ด้วยลม เขาจัดระเบียบของเขาเอง มหัศจรรย์มาก

คุณได้เรียนรู้อะไรจากการสร้างบ้านหลังนี้
สถาปนิกคนที่ทำบ้านหลังนี้ชื่อคุณเอกและคุณพร เป็นแฟนกัน เป็นคนน่ารักมาก ไม่มีอีโก้ ขยันมาก และคิดเยอะมาก คุณเอก คุณพร และผม คุยกันเยอะมาก เนื้อหาที่เราคุยก็เป็นเรื่องชีวิตคืออะไร ที่อยู่อาศัยคืออะไร เราคุยกันว่าทำอย่างไรให้บ้านถูกที่สุด ถูกใจที่สุด ดีที่สุด ดูแลน้อยที่สุด อยู่สบายที่สุด และสวยที่สุด ในความคิดของเรา สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า รูปร่างหน้าตาบา้นควรจะกลืนไปกับพื้นที่ ไปกับต้นไม้ พูดง่ายๆ เหมือนมีบ้านแต่มองไม่เห็น เห็นแต่ต้นไม้ คุณเอกบอกว่า ทำบ้านกับพี่ผมเขียนหนังสือได้เล่นนึงเลย ผมตั้งคำถามว่า เราเกิดมาพร้อมความเชื่อที่ว่า มนุษย์เป็นผู้กำหนดทุกสิ่ง เป็นผู้กระทำ เป็นผู้มีอำนาจ เวลาผ่านไปนับร้อยนับพันปี มนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่โง่เขลา ไม่เคยฟังเสียงธรรมชาติ มนุษย์ต้องการดำรงสถานภาพแห่งตัวตนอยู่ตลอดเวลา สีทาบ้านต้องเป็นสีที่รักษาพื้นผิวอย่างดี แผ่นไม้ต้องทาเคลือบให้ดำรงอยู่จนลืมไปว่า ถ้าซูมเข้าไปในโมเลกุลไม้มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทันทีที่คุณทาเสร็จ มันก็เริ่มเสื่อมแล้ว ทุกอย่างมีความเสื่อม แต่มนุษย์พยายามแอนตี้เรื่องความเสื่อมตลอดเวลา ทั้งๆ ที่รู้ว่าทำไม่ได้ แล้วไงล่ะ คุณอยากให้บ้านสวยตลอด แต่ทำไมเวลาไปเที่ยวถึงไปน้ำตก ไปทะเล ไปป่าล่ะ เพราะลึกๆ คุณคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วธรรมชาติคืออะไร ก็คือการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมก็เลยทำบ้านด้วยการเอาความเสื่อมเป็นความงามไปเลย โบกปูนก็โบกให้มันหยาบๆ ผนังถ้ามันต้องเปลี่ยนแปลง ก็เอาโยเกิร์ตราดให้ตะไคร่ขึ้น ราขึ้น ทำให้เขาอยู่อย่างมีความสุขไปเลย ผนังบ้านผมก็จะเป็นผนังที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที โดยเชื้อเชิญเลยว่า คุณครับขึ้นมาบนผนังผมเลยครับ ไม้ก็ไม่ต้องไปทาเคลือบอะไร ถ้ามันเสื่อมมันผุก็สวยดี จะสกปรกก็ของเรื่องของมัน มีตะขาบ หนอน ไส้เดือนก็อยู่ร่วมกันไป สนุกดีออก มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ถ้าต้องอยู่ในบ้านที่โมเดิร์น แล้วมีสนามหญ้าเรียบๆ ตื่นมาก็เหมือนเดิมทุกวัน ตายดีกว่า

เป็นสถาปัตยกรรมที่สนุกมาก เป็นสถาปัตยกรรมที่แอนตี้สถาปัตยกรรมอีกที เป็นบ้านที่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีสนามหญ้า ปล่อยรกเป็นป่าไปเลย แล้วทำสะพานเชื่อมไปที่ตัวบ้าน อาจารย์จุลพรบอกว่า ไม่ต้องไปทำอะไรเลย แค่เอาสิ่งที่มนุษย์สร้างอย่างเศษอิฐ เศษปูน เศษพลาสติกออกก็พอ ที่เหลือธรรมชาติจะจัดการเอง โอโห นี่มันคือสุดยอด พอไม่ต้องจัดการ ก็ประหยัดต้นทุนได้เยอะมาก แล้วก็งาม เป็นความงามที่มนุษย์สร้างไม่ได้ ในยุคนี้ผมเห็นแต่สิ่งที่มนุษย์สร้างอยู่รอบตัว มันน่าเบื่อจะตาย ปั๊มปึ้งๆๆ รู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวออกจากรางมามันก็เหมือนกัน โรเล็กซ์มึง โรเล็กซ์กู ก็เหมือนกัน แต่ผมอยากเห็นธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างตรงหน้าผม เช่น ป่า ผมอยากดูว่ามันเติบโตขึ้นมาได้ยังไง ผมไม่อยากได้เฟอร์รารี่หรือโรเล็กซ์ในบ้านผม แต่ผมอยากเห็นต้นไม้ว่ามันมีชีวิตยังไง มีสัตว์มาอยู่ในที่ของผม ต้นไม้ทุกต้น สัตว์ทุกตัว ไม่เคยเหมือนกัน ขนาดฝาแฝดยังไม่เหมือนกัน นี่คือความมหัศจรรย์

การทำบ้านก็คือการค้นหาตัวเองว่าจริงๆ แล้วตัวเราเป็นยังไง ต้องการอะไร และอยากใช้ชีวิตยังไง พบว่า ทุกอย่างมันต้องเสื่อม ชีวิตผมไม่มีอะไรอยู่แล้ว วันนึงก็ต้องตาย ก็เลยถามตัวเองว่า เราเป็นคนยังไง ก็เป็นคนไม่มีอะไร ตื่นมาก็ทำงาน มีกาแฟแก้วนึงก็นั่งทำโน่นทำนี่ไป พอหิวก็กินข้าว ผมอยากมีสวนครัว จะได้เดินไปเด็ดผักมาผัดกิน กินเสร็จก็นั่งเล่น แล้วก็กลับไปทำงานต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ห้องนั่งเล่นของผมไม่มีทีวี ใครเอาปืนมาจ่อหัวแล้วบอกว่า ถ้าคุณทำบ้าน บ้านคุณต้องมีโซฟา มีทีวี (ทำเสียงเป็นสถาปนิก) เอาล่ะครับ คุณธีรชัย เดี๋ยวผมจะออกแบบ อันนี้เป็นห้องนั่งเล่น ทีวีตั้งตรงนี้ เจ้าของบ้านก็พยักหน้าหงึกๆ แบบ เออ ห้องนั่งเล่นต้องมีทีวี แล้วคุณไม่ถามตัวเองบ้างเลยเหรอว่าคุณดูทีวีมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน ผมสังเกตว่าเวลาใครมาหาผมที่บ้าน ที่ที่ดีที่สุดคือนั่งคุยกันนอกบ้าน ดื่มไวน์กัน ผมไม่เคยเห็นเพื่อนๆ ที่มาบ้านผมจะนั่งดูทีวีกับผมเลย คิดไปคิดมา ผมว่าทีวีนี่แหละ ตัวปัญหา และรายการบางรายการในทีวีก็เป็นตัวปัญหา เชื่อไหม ผมเลิกดูทีวีมาปีนึงแล้ว ถ้าดูก็ดูแต่ดีวีดี สิ่งมหัศจรรย์คือ เวลาผมเหลือเยอะมาก เพราะฉะนั้นบ้านใหม่ที่ผมกำลังจะทำ ผมจะทำให้มันด้อยค่าลงไป มันจะอยู่ในมุมมุมนึงของห้องนอนเท่านั้น บางทีถ้าเราอยากดูดีวีดีงานก็ดู พอบ้านไม่มีห้องนั่งเล่นก็เบาขึ้นเยอะ ห้องน้อยลง การดูแลรักษาน้อยลง ชีวิตง่ายขึ้น เมื่อจัดการน้อยลง ก็มีเวลามากขึ้น นั่นหมายความว่า เราจะมีเวลามากหรือไม่มากขึ้นกับตัวเรา เราเป็นคนกำหนดเอง ผมคำนวณหมด แม้แต่การคุยกับแม่บ้าน บอกว่าให้ไปช่วยเช็ดตรงนี้หน่อย เพราะห้องมันเยอะ อันนี้มันเสียเวลา ผมก็เสียเวลา แม่บ้านก็เสียเวลา เอาออกให้หมด ให้เหลือน้อยที่สุด พอไม่มีเราก็มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น ถ้าบอกว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า ทำไมเราถึงใช้เวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีค่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตผมคือเวลา ไม่ใช่เงิน เงินเสียไปยังเอาคืนได้ แต่เวลาเสียไปแล้วเอาคืนไม่ได้ เลยใช้คุ้มมาก ไม่ใช่คุณมีตังค์แล้วต้องทำห้องเยอะๆ ไม่มีใครบอกให้คุณทำแบบนั้น คุณทำเยอะเองคุณก็เหนื่อยเอง ถ้าคุณรวย คุณก็มีชีวิตอยู่เรียบๆ ได้นี่ แล้วก็เอาเงินไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ ไปทำป่าทำเขาดีกว่า

“ตอนเด็กๆ ผมเคยตั้งคำถามกับความดี แม่บอกว่าทำดีมันยาก แต่ก็ต้องทำ บ้านผมไม่ได้ถึงกับจน แต่ก็ไม่รวย พ่อเป็นข้าราชการที่ไม่โกง มีลูก 4 คน ได้กินแต่น้ำพริกกับผัก ลูกข้าราชการคนอื่นขับรถไปโรงเรียน แต่พวกเราขี่จักรยาน เงินก็ไม่ค่อยมี วันนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นคนดี แต่วันนี้ผมรู้แล้ว มันทำให้เรากล้าพูดถึงอดีตของเรา มันทำให้เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 120 สิงหาคม 2553)

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์อื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 4

ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย

AUTHOR