โจน จันใด : ชายผู้ชวนทุกคนกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่มนุษย์ควรจะเป็น 2/4

ปัญหาของเมล็ดพันธุ์คืออะไร
ผมเห็นปัญหาหลักๆ อยู่ 3 ปัญหา หนึ่ง คือการสูญหายไปของเมล็ดพันธุ์แท้ สอง พันธุ์ถูกพัฒนาให้อ่อนแอลง
สาม อาหารของมนุษย์ไม่ปลอดภัยเพราะมีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้น ผมคิดว่า 3 อย่างนี้อาจทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้

ถึงเมล็ดพันธุ์สูญหายไปบ้าง
แต่เราก็กินที่เหลืออยู่ได้ไม่ใช่หรือครับ
เมล็ดพันธุ์ที่เราเอามาปลูกเพื่อใช้กินอยู่ทุกวันนี้ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์มาจากพันธุ์ผสม หมายถึงพันธุ์ที่เอาไปปลูกต่อจะไม่ได้ผลผลิตเหมือนเดิม
มันจะกลายพันธุ์ แล้วเมล็ดพันธุ์ที่มีในตลาดตอนนี้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นพันธุ์ที่จำกัดการงอก
คือมีการพัฒนาพันธุ์แบบใหม่ด้วยการฉายรังสีเข้าไป หรือเอายีนบางตัวออกเพื่อให้ไม่มีเมล็ดเลย
ทำให้คนปลูกต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูก นี่คือการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อการตลาด
เพื่อการผูกขาดเป็นหลัก ไม่ได้พัฒนามาเพื่อให้คนกิน ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ผักมากมายราคากิโลละเกินหนึ่งหมื่นบาท
อย่างแตงโมนี่หมื่นสอง มะละกอหมื่นสามหมื่นสี่ พวกผักสลัดนี่บางพันธุ์กิโลละหกหมื่นบาท
ชาวไร่ชาวนาที่มีรายได้เฉลี่ยปีละสองสามหมื่น ถ้าต้องปลูกผักในราคาเท่านี้ เขาจะอยู่กันยังไง

การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เราได้ยินกันบ่อยๆ
ก็ไม่ได้พัฒนาเพื่อคนหรือ
ข้าวทุกวันนี้ไม่ได้มีคุณค่าดีไปกว่าแต่ก่อนเลย
เขาพัฒนาเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก น้ำหนักดีเท่านั้นเอง แต่รสชาติมันเปลี่ยนไป คุณค่าทางอาหารมันเปลี่ยนไป
มองลึกๆ แล้วเขาไม่ได้พัฒนาเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณค่าขึ้น เขาพัฒนาเพื่อให้ได้ของแปลกเอาไปขายเท่านั้นเอง

สมัยจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ เมืองไทยต้องการพัฒนาข้าวเพื่อส่งออก ต้องการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ก็ไปจ้างนักวิชาการจากสหรัฐฯ มาคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าว นักวิชาการคนนี้สั่งให้รวบรวมพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ
ได้มาสองร้อยกว่าชนิดก็ลองปลูก เอาปุ๋ยไปใส่ แปลงไหนที่ตอบสนองต่อปุ๋ยดี คือใส่ปุ๋ยแล้วโตดี
เขาก็เก็บไว้ แปลงไหนไม่ชอบปุ๋ยก็ตัดออก พันธุ์ข้าวที่ได้คือพันธุ์ที่ชอบปุ๋ยทั้งสิ้น
มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สอนเทคนิคเดียวกันหมด ทุกวันนี้เราเลยพัฒนาแต่พันธุ์ที่ตอบสนองต่อสารเคมีทั้งสิ้น
พันธุ์ที่เราปลูกกันอยู่ทุกวันนี้จึงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เพราะเขาเลือกแต่พันธุ์อ่อนแอพวกนี้ไว้
คนปลูกจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีตลอด เวลาขายก็ขายเป็นเซ็ต ชื้อเมล็ดพันธุ์แล้วก็ต้องซื้อปุ๋ยกับยาฆ่าแมลงไปด้วย
ไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะมันจะไม่โต

อย่างข้าวหอมมะลิแท้
เมล็ดเล็กๆ ก้นเรียวๆ หุงแล้วหอมไกลมาก แต่ทุกวันนี้เราพัฒนาให้เมล็ดใหญ่ ให้รวงดก แต่กลิ่นไม่เหมือนเดิม
ไม่หอม รสชาติก็ไม่เหมือนเดิม แต่ได้ผลผลิตสูง ปลูกแล้วขายได้ การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาให้คนกิน
แต่เพื่อขาย เพื่อยึดครองตลาด เท่านั้นเอง เวลาชาวบ้านเขาพัฒนาพันธุ์ข้าว เขาเลือกพันธุ์ที่ดีจริงๆ
เอามาปลูกต่อ แจกจ่ายต่อ แต่ภาคธุรกิจกับรัฐบาลกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือเขาพัฒนาพันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด
แต่ให้ผลผลิตมาก รสชาติไม่ต้องพูดถึง แย่ อายุก็สั้นมาก อย่างมะเขือเทศพื้นบ้าน ถ้าดินดี
น้ำดี อาหารดี มันอยู่ได้เป็นปี พันธุ์ที่ผมปลูกต้นเดียวเลี้ยง 2 ครอบครัวได้สบาย เก็บทีนึงเป็นถัง แต่พันธุ์ที่ไปซื้อเมล็ดมา ลูกมันจะดกมาก
3 เดือนกว่าๆ ลูกเต็มต้นเลย ออกครั้งเดียวแล้วก็ตายเลย รสชาติแย่

รู้ไหมว่าทำไมมะเขือเทศที่เรากินทุกวันนี้ถึงเหนียว
เพราะฟาร์มใหญ่ๆ ที่ปลูกมะเขือเทศมีพื้นที่เป็นพันไร่ มันเสียเวลามากที่จะใช้คนขนมะเขือเทศ เขาเลยใช้สายพานส่งมะเขือเทศจากปลายไร่กลับมาในโรงงาน
มะเขือเทศก็กลิ้งมาตามสายพาน ถ้าเป็นมะเขือเทศปกติมันจะช้ำและแตก เขาก็เลยออกแบบให้มันเหนียว
จะได้ขนส่งไกลๆ ได้ หรือบางอย่างก็ออกแบบให้มีสีแดงแต่ยังไม่สุก จะได้เก็บไว้ขายได้นานๆ รสชาติไม่ได้เรื่อง
รสชาติของอาหารคือสิ่งที่บอกถึงคุณค่าที่มีอยู่ในอาหาร ผักพื้นบ้านมีรสฝาด รสขม รสเปรี้ยว หลายๆ รส
แต่ผักที่เราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้รสชาติเหมือนกันหมด คือจืด น้ำเยอะ เป็นผักที่เติบโตจากไนโตรเจน
ฟอสฟอรัส โพแตสเซียม ทุกวันนี้เราเหมือนกินพืชสังเคราะห์ไม่ใช่พืชธรรมชาติ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอาบร็อกโคลี
มะเขือเทศ มันฝรั่ง มาทำวิจัยพบว่า สารอาหารลดลงกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ บางอย่างก็
60 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราใส่ปุ๋ยเร่งให้โตเร็ว ออกลูกเร็ว ออกลูกใหญ่
การโตเร็วทำให้ไม่สามารถสะสมสารอาหารอย่างอื่นได้ เหมือนกับไก่ ปลา เราเร่งให้มันโตเร็ว
รสเลยจืดมาก ไก่ปกติใช้เวลา 3 เดือนถึงจะหนัก 1 กิโล แต่ไก่ที่เรากินทุกวันนี้ใช้เวลา 28 วัน ผักบุ้งที่ขายในตลาดอายุ
14 วัน ใส่แต่น้ำกับยูเรีย นั่นแหละคือสิ่งที่เรากิน เวลาคนแก่ตามบ้านนอกเข้ามาในเมือง
เขาเลยกินอะไรไม่ค่อยได้ กินปลาก็ไม่อร่อยเพราะเป็นปลาเลี้ยง เนื้อมันยุ่ย กินไก่ย่างก็บอกว่าจืดเหมือนกินฟองน้ำ
เพราะเป็นไก่ฟาร์ม คนที่โตมากับไก่ฟาร์มอาจจะบอกว่าไก่พื้นบ้านมันเหนียวเกินไป เพราะเราไม่คุ้น
ทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจเรื่องรสชาติอาหารแล้ว เราถูกฝึกให้กินในสิ่งที่เขาอยากให้กิน
ตอนนี้อะไรจะอร่อยหรือไม่อร่อยมันขึ้นกับผงชูรสกับซอส การปรุงอาหารเมื่อก่อนมีแต่เกลือ
แต่ทุกวันนี้ซอสอะไรต่ออะไรเป็นแถวเลย เพราะอาหารที่เรากินมันไม่มีรสชาติ ต้องหารสชาติมาใส่เข้าไปเยอะๆ
จนไม่รู้ว่าเรากินอะไรบ้างแล้ว ทำให้ทุกวันนี้เรากินอาหารเยอะๆ อาหารดีๆ แต่ก็ยังเป็นโรคขาดสารอาหาร

อาหารของเราอยู่ในภาวะวิกฤตมาก
เมล็ดพันธุ์ของเราสูญหายไป และอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน แล้วคนไม่กี่คนก็พัฒนาเมล็ดพันธุ์มาเพื่อผูกขาด
ไม่ได้พัฒนาเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น อันนี้ทำให้เราเห็นว่าจำเป็นต้องรีบทำอะไรสักอย่างเพื่อระงับวิกฤตที่จะตามมาในเร็วๆ นี้
วิกฤตทางอาหารถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร ไม่มีอาหารเราก็อยู่ไม่ได้

เมื่อก่อนชาวไร่ชาวนาก็พัฒนาพันธุ์กันเอง
ทำไมยุคนี้ถึงไม่ทำเอง
พันธุ์ผสมมันอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง สังคมตลาดด้วย
เขาก็บังคับให้ชาวบ้านปลูกพันธุ์ผสมทั้งหมด ปลูกไป 2 – 3 ปี พันธุ์พื้นบ้านก็หมด
จะกลับมาหาก็ไม่มีเมล็ดพันธุ์แล้ว ก็ไม่มีทางเลือก บริษัทบอกให้ปลูกอะไรก็ต้องปลูก
ถ้าไปเอาพันธุ์อื่นมาปลูกเขาก็ไม่รับซื้อ นอกจากจะปลูกแล้วเอาไปหาทางขายเอง ซึ่งเกษตรกรไม่ค่อยชอบ
เพราะเขาชอบปลูกมากกว่าชอบขาย ทำให้ไม่มีใครคิดจะเก็บหรือเพาะเมล็ดพันธุ์เอง ใครๆ ก็รู้สึกว่าซื้อเอาง่ายกว่า ยื่นเงินให้ก็ได้มา
แต่ไม่มีใครคิดว่า ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะได้เงินมา

พอได้เมล็ดพันธุ์แท้มาแล้ว
คุณทำยังไงต่อไป
บริษัทขายกิโลละหมื่น
แต่เราแจกฟรีให้ชาวบ้านคนละหยิบมือ เพื่อให้เขาเอาไปปลูกแล้วเก็บเมล็ดต่อเอง คนที่อยากได้ก็เขียนจดหมายมาขอจากทั่วประเทศ
อาทิตย์หนึ่งก็เกือบๆ 300 ฉบับ เราเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่สินค้า แต่เมล็ดพันธุ์คือชีวิต เราไม่ควรขายชีวิตให้ใคร
เราต้องแจก โดยไปเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีมากมายในเมืองไทย เราผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เขา
เขาก็ปลูกผักอินทรีย์ด้วยเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ได้ แล้วเราก็พยายามให้ชาวบ้านเอาไปแจกต่อ

ทำไมถึงมองว่าเมล็ดพันธุ์คือชีวิต
เงินไม่ใช่ความมั่นคงอีกแล้ว
อาหารคือสิ่งที่มั่นคงมากกว่าเงิน เศรษฐกิจกำลังทรุดลง อีกไม่นานเงินสกุลต่างๆ จะพังลง
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวอาร์เจนตินา พ่อของเขาเป็นข้าราชการ ทำงานหนักแทบตาย มีเงินเก็บอยู่ล้านกว่าๆ
หวังว่าเกษียณแล้วจะใช้เงินนี้ในบั้นปลายชีวิต พอดีเจอเศรษฐกิจทรุด เงินล้านลดค่าเหลือไม่กี่แสน
แทบจะฆ่าตัวตาย เงินมันไม่มีความมั่นคง แต่คนยังเชื่ออยู่ว่าเงินคือความมั่นคง แต่อาหารนี่สิ
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไฟฟ้าดับ น้ำมันหมด เศรษฐกิจพัง เราก็ยังกินได้ตลอดเวลา ถ้ามีเงินกองเบ้อเริ่มเทิ่มอยู่
หิวขึ้นมาเราไม่ได้กินเลยนะ แต่อาหารกินได้ นี่คือความมั่นคงที่แท้จริง แทนที่เราจะสะสมเงิน
เราต้องสะสมอาหาร ในสภาวะปัจจุบันกำลังบีบให้คนกลับมาสู่เรื่องนี้มากขึ้น ผมเห็นว่า
ตอนนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะแนะนำว่าอาหารคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ทุกวันนี้คนจำนวนมากกำลังตื่นเต้นกับการหาเงินแข่งกัน
แต่ก็มีอีกส่วนที่ท้อแท้เหนื่อยหน่ายกับการแข่งขันที่ไม่มีที่สิ้นสุด อยากปลีกตัวออกมาหาชีวิตทางเลือกที่ดีขึ้น
ถ้าไม่มีเมล็ดพันธุ์ให้เขา เขาก็เริ่มไม่ได้ หรือถ้าวันข้างหน้าเศรษฐกิจพัง คนไม่มีทางเลือกต้องกลับมาหาเกษตร
แต่กลับมาแล้วไม่มีเมล็ดพันธุ์จะกลับไปไหนล่ะ เราต้องไปกราบไหว้บริษัทข้ามชาติกี่บริษัท
แล้วเขาจะให้อะไรเรามา เขายึดครองเมล็ดพันธุ์ คือยึดครองอาหาร คนที่ยึดครองอาหารคือคนที่ยึดครองได้ทั้งโลก
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอยู่บนโลกนี้ร่วมกัน ทำไมเราต้องยึดครองอาหาร ทำไมเราต้องไปจดลิขสิทธิ์อาหาร
คนที่จดลิขสิทธิ์อาหารก็คือคนที่ไปแย่งอาหารคนอื่นมาเป็นของตัวเอง แล้วคนอื่นจะกินอะไร
มันเป็นความคิดที่แย่มาก

ผู้บริโภคในเมืองอย่างเราช่วยอะไรได้บ้าง
คนเมืองคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหานี้
คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นหน้าที่ของเกษตรกร แต่คนเมืองต่างหากเป็นคนกำหนดให้เกษตรกรปลูกอะไร
เพราะคนเมืองไม่กิน เกษตรกรก็ไม่มีทางปลูก เราต้องพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น รณรงค์กันมากขึ้น
เพื่อส่งเสริมให้คนกลับมากินอาหารอินทรีย์มากขึ้น พอคนปลูกมากขึ้นราคาก็จะถูกลง ถ้าไม่มีคนกิน
ชาวนาเขาจะเอาพืชผักอินทรีย์ไปขายที่ไหน คนที่ทำงานที่เดียวกันอาจจะรวมกลุ่มกันติดต่อให้ชาวบ้านส่งพืชพันธุ์ไปให้กิน
ปีนึงก็มาเยี่ยมชาวบ้านสักครั้งจะได้รู้ว่าอาหารของเราเป็นยังไง ปลูกยังไง คนเมืองกับชนบทก็จะใกล้ชิดกันมากขึ้น
พืชผักเหล่านี้แหละที่จะเป็นเลือดเนื้อของเราในวันพรุ่งนี้ ชีวิตคนเกิดมาครั้งเดียว
ถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง เราเกิดมาทำไม จะเกิดมาเพื่อทำงานหนักให้คนอื่นรวย แล้วเราก็ตายไปด้วยความทุกข์ทรมานเพื่ออะไรกัน

“รสชาติของอาหารคือสิ่งที่บอกถึงคุณค่าที่มีอยู่ในอาหาร ผักพื้นบ้านมีรสฝาด รสขม รสเปรี้ยว หลายๆรส แต่ผักที่เราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกวันนี้รสชาติเหมือนกันหมด คือจืด น้ำเยอะ เป็นผักที่เติบโตจากไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแตสเซียม ทุกวันนี้เราเหมือนกินพืชสังเคราะห์ไม่ใช่พืชธรรมชาติ”

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 109 กันยายน 2552)

ภาพ ธาตรี แสงมีอานุภาพ

AUTHOR