โจน จันใด
คือชายไทยวัย 45
ทุกคนรู้จักเขาในฐานะของผู้บุกเบิกการสร้างบ้านดินยุคใหม่ในเมืองไทย
เขาบอกว่า
เขาไม่ได้ชอบสร้างบ้านดิน เขาสนใจเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์แท้
และวิถีชีวิตแบบพึ่งตนเองมากกว่า
ประวัติของเขายืดยาวกว่านี้
หลังได้นั่งสนทนาเป็นเวลาหลายนาน
ผมเห็นด้วยกับเขา
เราไม่ควรเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น
ชีวิตเป็นเรื่องง่าย
อย่าทำให้มันยาก
อะไรทำให้คุณหันมาสนใจใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเอง
ตอนแรกผมก็เป็นชาวไร่ชาวนาธรรมดา
เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ 7 ปี เป็นยามบ้าง เสิร์ฟอาหารบ้าง เป็นพนักงานโรงแรมบ้าง
ปูเตียง ทำความสะอาดห้อง ค่าแรงขั้นต่ำวันละร้อยบาท ผมก็ได้วันละร้อยบาท
อยู่โรงแรมก็ได้ทิปบ้าง แต่ผมไม่ชอบเพราะรู้สึกว่ามันเป็นงาน รู้สึกว่าเมื่อไหร่จะเที่ยง
เมื่อไหร่จะเลิก ผมทำงานหนักมาก วันละ 8 – 12 ชั่วโมงทุกวัน
ทำจนเริ่มคิดว่าทำไมคนเราต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ทำไมคนทำงานหนักแต่ไม่พอกิน
สมัยเป็นเด็ก พ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่เคยมีใครทำงานวันละ 8 ชั่วโมง คนไม่ใช้คำว่า ‘ทำงาน’ ด้วยซ้ำไป คนใช้คำว่า ‘ไปดำนา’ ‘ไปเกี่ยวข้าว’ ไม่มีใครใช้คำว่า
‘จน’ ด้วย คนใช้คำว่า ‘ทุกข์’ เมื่อเป็นทุกข์ วิธีแก้คือหาความสุข ใครๆ
ก็แก้ได้ แต่พอเริ่มพัฒนา เราก็เอาคำว่าจนมาใช้ การแก้ไขความจนคือต้องหาเงินทำให้รวย
สมัยก่อนคนมีความสุข
แล้วก็สบายมาก ทำงานปีละ 2 เดือน เกี่ยวข้าวเดือน ดำนาเดือน ที่เหลือคือเวลาว่าง
คนสมัยก่อนมีเวลาว่างมาก ทำให้ได้อยู่กับตัวเองมาก เลยเห็นตัวเอง
รู้ว่าชีวิตเกิดมาทำไม ชีวิตต้องการอะไร คนสมัยก่อนเห็นความสุขสำคัญมาก
คนก็แสวงหาความสุข เขาเลยมีความสุข สมัยนั้นมีคนนอนกลางวันเยอะมากเพราะว่าง
ตื่นมาก็นั่งนินทากัน หัวเราะตลกโปกฮากันตลอดเวลา
แล้วจัดงานเทศกาลนั้นนี้เต็มไปหมด มีแต่งานสนุกๆ ทั้งนั้น ทำให้ชีวิตมีความหมาย
ชีวิตมันน่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่าจะมาเป็นหุ่นยนต์ในเมือง
ในที่สุดผมก็กลับไปอยู่บ้านที่ยโสธร ไปลองใช้ชีวิตแบบคนสมัยก่อนดู
ชีวิตแบบคนสมัยก่อนเป็นยังไง
ผมคิดว่าต้องพึ่งตัวเองในด้านปัจจัย
4 ให้ได้ อาหาร บ้าน ผ้า และยา 4 อย่างนี้ต้องง่ายสำหรับทุกคน ที่ไหนก็ตามถ้าอาหาร
บ้าน ผ้า และยา แพงสำหรับทุกคน ถือว่าที่นั่นพัฒนาไปในทางที่เสื่อม
ที่นั่นไม่มีความก้าวหน้าในการมีชีวิตอยู่
ผมลองทำนาปีละ
2 เดือน ปรากฏว่าได้ข้าว 4 ตัน คน 6 คนกินข้าวไม่ถึงครึ่งตันต่อปี ที่เหลือก็ยังได้ขาย
ผมใช้เวลารดน้ำผักวันละ 30 นาที ก็มีผักเลี้ยงคน 6 คนทุกวัน
ยังมีพอให้แม่เอาไปขายที่ตลาดอีก ได้เงินวันละ 50 บาท 100 บาท
ก็รู้สึกว่าทำไมชีวิตมันง่ายอย่างนี้ ไม่มีอะไรยากเลย ทำไมผมไปอยู่กรุงเทพฯ 7 ปีแล้วไม่เคยกินอิ่มเลย
ผมไปทำงานอะไร ให้ใคร เราไม่ได้อะไรเลย
จะกลับมาเยี่ยมบ้านทีนึงก็ต้องขอค่ารถแม่กลับกรุงเทพฯ มันตลกมาก
หลังจากนั้นพอมีโอกาสได้ไปเห็นบ้านดินในอเมริกา
ก็ลองเอามาทำดู มันก็ง่ายดี บ้านคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราใช้เป็นที่พักอาศัย
ไม่ใช่เครื่องประดับหรือเครื่องเสริมบารมี
บางคนใช้เวลากว่าครึ่งของชีวิตเพื่อที่จะซื้อบ้านสักหลัง นั่นไม่คุ้ม
บ้านแค่หลังเล็กๆ ก็พอ เมื่อก่อนผมไม่คิดว่าในชีวิตนี้จะมีบ้านที่มั่นคงได้
แต่พอมาทำบ้านดิน ผมใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน ตี 5 ถึง 7 โมงเช้า 3
เดือนผมได้บ้าน 1 หลัง ในขณะที่เพื่อนคนหนึ่งเป็นครูพละตื่นตี 5 ไปวิ่งเหมือนกัน 3
เดือนเป็นหนี้สหกรณ์ครู 7 แสน ตอนนี้ยังจ่ายไม่หมด สร้างบ้านหลังหนึ่งหมด 7 แสน
ผมก็เริ่มคิดว่า ทำไมคนถึงทำให้ชีวิตยากขึ้นๆ ทำไมไม่ทำให้มันง่าย
ต่อมาก็เลิกซื้อเสื้อผ้า
ผมไม่ได้ซื้อเสื้อผ้ามาเกือบ 20 ปีแล้ว ใช้แต่ของเก่า
มันเป็นการเผชิญกับตัวเองในเรื่องของแฟชั่น แต่ก่อนผมรู้สึกว่าผมเป็นคนลาว
ไม่มีดั้ง ไปไหนก็อาย คนอื่นเขาต้องพยายามไม่เป็นลาว
คือใส่เสื้อผ้าให้เหมือนคนกรุงเทพฯ ผมกลับมองตรงกันข้าม
คนลาวไม่ว่าจะใส่เสื้อผ้าราคาแพงขนาดไหน ยี่ห้อดีขนาดไหน ก็ไม่มีดั้งเหมือนเดิม
ผมก็เลยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามแฟชั่น ถ้าเราวิ่งตาม เราจะไม่ทันเลย
แต่ถ้าเราไม่ตามแฟชั่น เราจะเป็นตัวของตัวเอง ทำไมคนต้องใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน
ทำไมผู้หญิงต้องใส่เสื้อผ้ารัดหน้าอกรัดตัวเหมือนกันหมด
ทำไมคนต้องใส่กางเกงยีนส์เหมือนกันหมด ถ้าอยากใส่เหมือนกัน ทำไมไม่ไปเป็นทหาร
เป็นตำรวจ หรือเป็นพระ จะได้ใส่ชุดเหมือนกันหมด ความหลากหลายคือความงาม
ความต่างคือความงาม คิดแบบนี้ได้ก็ไม่ห่วงเรื่องอะไรอีกเลย ใส่อะไรก็ได้ที่มี
ยารักษาโรคก็เน้นเรื่องการบริโภคให้น้อยลง
ร่างกายจะทำงานน้อยลง บริโภคมากหนี้สินก็มาก สุขภาพจิตจะเสื่อม
สุขภาพกายก็อ่อนแอไปด้วย เน้นใช้ประโยชน์จากอาหารให้เยอะขึ้น ใช้เทคนิคการนวด
ใช้สมุนไพร แต่ไม่ได้ปฏิเสธแพทย์แผนปัจจุบัน แค่พึ่งให้น้อยลง
การทำงานหาเงินไปซื้อปัจจัย
4 ไม่ใช่การพึ่งตนเองหรือ
มันเป็นทางอ้อมที่ทำให้ชีวิตคนยากและซับซ้อนมากขึ้น เราทำงานแค่ไม่ถึงครึ่งวันก็มีอยู่มีกินได้สบาย แต่พอเข้าสู่ระบบปัจจุบัน คนทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงยังไม่พอกิน แล้วรุ่นลูกผมต้องทำงานวันละกี่ชั่วโมง ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งเป็นทุกข์ แล้วจะพัฒนาไปทำไม เราต้องทำชีวิตให้มันง่าย ต้องกลับมาสู่การพึ่งตนเอง
จะได้มีเวลาว่างมากขึ้น
ชีวิตแบบชาวบ้านของคุณเป็นไปอย่างที่คิดไว้ไหม
ผมกลับไปอยู่บ้าน
แต่ไม่ได้อยู่แบบชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเขาปลูกเพื่อขาย
ผมมองเห็นว่ายิ่งปลูกเพื่อขายก็ยิ่งไม่เหลืออะไร
ผมมองเห็นภาพของชาวบ้านเหมือนกับทาสคนหนึ่งที่มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อนายทาสอย่างมาก
มากจนไม่คิดถึงตัวเอง ทุกวันนี้ชาวบ้านทั้งหมดทำงานเพื่อคนอื่นทั้งสิ้น
ไม่มีใครทำงานเพื่อตัวเอง คนในเมืองก็ไม่ต่างกัน เป็นทาสที่น่าสงสารมาก
ทุกวันนี้เราทำงานหนักยิ่งกว่าทาสทุกยุคทุกสมัย เราทำงานหนักแล้วเราไม่ได้อะไรเลย
เรากินอะไรก็ได้เพื่อให้มีเวลาทำงานมากขึ้น กินมาม่าทุกวัน กินบะหมี่
กินอะไรง่ายๆ โดยไม่ได้คิดถึงสุขภาพเลย วันหยุดเราก็ยังต้องคิดเรื่องงาน
ชีวิตแบบนี้มันผิดมาก เรากลายเป็นสัตว์ที่โง่ที่สุดในโลก
ใช้ชีวิตยากกว่าสัตว์ทุกชนิด มีสัตว์ชนิดไหนบ้างทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันทั้งชีวิต
ไม่มีเลย มีสัตว์ชนิดไหนบ้างไม่รักลูก แต่มนุษย์กลับไม่รักลูก พอมีลูก
เราก็ผลักลูกเข้าสถานเลี้ยงเด็ก เข้าโรงเรียนเลย
เพื่อที่พ่อแม่จะได้มีเวลาทำงานมากขึ้น ทั้งที่ลูกมันอยากอยู่กับพ่อแม่ อยากจะเรียนรู้ความรักจากพ่อแม่
ลูกโตขึ้นมาก็ไม่รู้จักอะไรเลย ไม่รู้จักความรัก ความผูกพัน
เพราะไม่ได้โตมากับพ่อแม่
ชาวบ้านปลูกข้าวโพด
ปลูกอะไรตลอดทั้งปีทั้งชาติ ยิ่งปลูกก็ยิ่งมีหนี้ แต่ไม่มีใครถามตัวเองเลยว่า
จะปลูกต่อไปทำไม เราจะพบว่า คนเหล่านี้ถูกปิดหูปิดตาไม่ให้เห็นความจริงในชีวิต
สื่อก็บอกว่า ถ้าคุณอยากมีความสุข คุณต้องซื้ออันนี้ ถ้าต้องการอิสระเสรีภาพต้องมีบัตรเครดิตแบบนี้
ไม่มีใครบอกเราเลยว่า คุณมีความสุขแล้ว นั่นทำให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสคิด
พวกเขาจึงกลายเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจโดยไม่รู้ตัว ระบบต่างๆ
ก็สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนมีอิสระในการหาเงินเท่านั้นเอง แต่ไม่มีระบบไหนสอนให้คนมีอิสระที่จะมีชีวิตอยู่
มีอิสระในการแสวงหาความสุข
ทันทีที่ชาวบ้านคิดจะลงทุนปลูกพืชผัก
เขาต้องหาเงินสดไปจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ายา ค่าปุ๋ย เริ่มต้นจากการเป็นหนี้
แล้วก็เสี่ยง เหมือนยืมเงินคนมาเล่นการพนัน เพราะปลูกผักจะได้หรือไม่ได้มันขึ้นกับดินฟ้าอากาศ
โรคและแมลง แล้วก็ขึ้นอยู่กับคนที่มารับซื้อ ปัจจัยเยอะเหลือเกิน
ชาวไร่ชาวนาทั้งหลายจึงอยู่ในสถานะของนักการพนันที่แย่ที่สุด
คนที่คิดจะปลูกเพื่อขาย ไม่มีใครรวย ไม่มีใครไม่เป็นหนี้
เพราะเราจะติดกับดักธุรกิจเกษตรเคมีทันที
ทางออกของคุณคืออะไร
ผมต้องการกลับไปสู่อดีต
ไปต่อยอดจากอดีตขึ้นมา เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและสุขขึ้น ชีวิตเราสั้นมาก
เราจะใช้ชีวิตบนโลกนี้เพื่ออะไร คิดตรงนี้แล้ว
ก็คิดว่าผมต้องแสวงหาความสงบสุขให้ตัวเอง แสวงหาความง่ายให้ตัวเอง
จะได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ผมจะทำเพื่อกิน เรากินพริก
กินมะเขือ กินหอม กินกระเทียม ก็ปลูก แต่ไม่เกินอย่างละ 5 ต้น ก็อยู่ได้แล้ว
กินไม่เคยหมด ถ้าเก็บไปขายเราจะได้เงิน 200 – 300 บาทต่อวัน อย่างกระจอกที่สุดคือ 50
บาท คนอื่นอาจคิดว่าเงิน 50 บาทไม่มีค่าอะไรเลย แต่ครอบครัวเราไม่มีค่าใช้จ่าย
เงิน 50 บาทถือว่ามาก
ครูที่โรงเรียนจบปริญญาตรีเงินเดือนหมื่นนึง
วันดีคืนดีก็ต้องมาขอยืมเงินแม่ผมที่จบ ป.4 ไม่มีรายได้อะไรมากมาย นั่นแสดงว่า
ถ้าอยากรวยจะจน ถ้าอยากจนจะมีเงินเหลือใช้ นั่นคือความจริงที่ผมค้นพบกับตัวเอง
ถ้าใครอยากปลดหนี้ต้องกลับมาสู่การพึ่งตนเอง ต้องกลับมาทำอยู่ทำกิน
เหลือกินแล้วขาย ทำอย่างนี้ไม่นานใช้หนี้ได้หมด เพราะผมทำมาแล้ว
ชีวิตไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่เราไม่ถูกสอนให้คิดอะไรที่มันง่าย
ชวนชาวบ้านเปลี่ยนวิธีคิดสำเร็จไหม
ผมไม่ถนัดชักชวนให้คนมาทำ
ผมไม่เคยพูดให้ชาวบ้านฟังเลยว่าต้องทำอย่างผมนะ เราจะไม่ไปหาชาวบ้าน
แต่จะให้ชาวบ้านมาหาเรา เรามีความเชื่อว่า เราจะไม่ไปเปลี่ยนความคิดของคนอื่น
เพราะในความเป็นจริง เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้หรอก เขาต้องเปลี่ยนตัวเขาเอง เราก็ทำในสิ่งที่เราอยากทำ
พอชาวบ้านเห็น เขาก็มาถามเอง
คุณทำเรื่องบ้านดินจนโด่งดัง
ทำไมถึงเปลี่ยนมาทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ล่ะครับ
จริงๆ
แล้วผมไม่ได้สนใจทำเรื่องบ้านดินเลย ผมไม่ชอบเรื่องก่อสร้างเลย แค่บ้านดินมันเป็นคำตอบของชีวิตให้คนได้
เป็นทางเลือกให้คนได้ ผมเลยพยายามทำบ้านดินให้แพร่หลาย พอมีคนทำมากพอแล้ว
ผมก็วางมือ ทุกวันนี้ผมไม่รับทำบ้านดินแล้ว ถ้าอยากเรียนก็มีที่ให้เรียนเยอะแยะ
หรือตอนที่พวกเราทำบ้านกันก็มาเรียนได้ คือมันไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากทำแล้ว
สิ่งที่ผมอยากทำมาสิบกว่าปีแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสคือการเก็บเมล็ดพันธุ์
“เราทำงานแค่ไม่ถึงครึ่งวันก็มีอยู่มีกินได้สบาย แต่พอเข้าสู่ระบบปัจจุบัน คนทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงยังไม่พอกิน แล้วรุ่นลูกผมต้องทำงานวันละกี่ชั่วโมง ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งเป็นทุกข์ แล้วจะพัฒนาไปทำไม เราต้องทำชีวิตให้มันง่าย ต้องกลับมาสู่การพึ่งตนเอง”
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 109 กันยายน 2552)
ภาพ ธาตรี แสงมีอานุภาพ