ทาคะชิ ยามาซากิ : ผู้กำกับ Always หนังในดวงใจของชาวญี่ปุ่น 1/2

ไม่ใช่เรื่องยาก
หากต้องเลือกชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นสักคนที่ทำหนังออกมาได้ถูกอกถูกใจคนไทยในวงกว้าง
เป็นหนังที่ใครดูใครก็รัก ใครดูใครก็หลง

ทาคะชิ
ยามาซากิ เจ้าของผลงาน Always:
Sunset on the Third Street
คือชื่อที่ลอยเด่นออกมาโดดๆ

เรื่องยากก็คือ
ทำอย่างไรถึงจะติดต่อขอสัมภาษณ์เขาได้

ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่นึกรักหนังน่ารักเรื่องนี้
Always ยังเป็นหนังอันเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นจำนวนมาก
ราวกับว่ามันทำขึ้นมาเพื่อบันทึกความทรงจำที่งดงามที่สุดช่วงหนึ่งของชาวญี่ปุ่น
ยอดรายได้ที่สูงลิ่ว และการกวาด 12 รางวัลใหญ่จากเวที Japan Academy Award
2006 คือเครื่องพิสูจน์ว่า
หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างครบครันทั้งในด้านเงิน กล่อง
และความรู้สึกของผู้ชม

Always พูดถึงญี่ปุ่นในยุคโชวะ
(รัชสมัยของจักรพรรดิองค์ที่แล้ว) เป็นรัชสมัยที่ยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น คือกินเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 – 1989 และเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในญี่ปุ่น
ตั้งแต่การเข้าร่วมสงครามโลกของญี่ปุ่น การแพ้สงคราม
บทบาทที่เปลี่ยนไปของจักรพรรดิ ภาวะข้าวยากหมากแพง
ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นหลังจากสงคราม ความพยายามในการสร้างชาติขึ้นมาใหม่
และในช่วงเวลาที่สังคมญี่ปุ่นกำลังบอบช้ำที่สุดจากภาวะสงคราม
รัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจทุ่มเงินมหาศาลสร้างโตเกียวทาวเวอร์
หรือหอคอยโตเกียว ขึ้นมาในปี 1958 มันคือสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในหลายๆ
ด้านของยุคนั้น สิ่งที่พิเศษที่สุดของหอคอยแห่งนี้ก็คือ
มันเป็นสัญลักษณ์แทนความหวังของชาวญี่ปุ่นทั้งมวล

เรื่องราวในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยมีภาพของโตเกียวทาวเวอร์ที่กำลังก่อสร้างเป็นฉากหลัง

ไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้ได้ใจจากคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ

ทาคะชิ
ยามาซากิ กำลังวุ่นกับหนังเรื่องใหม่ เขาจึงปฏิเสธที่จะคุยกับทุกสื่อในช่วงนี้
แต่มาซารุ ซาโต้ สไตลิสต์ชื่อดัง เพื่อนของฮิโรทะคะ คุรุซุ ผู้ประสานงานของเรา
ใช้ความสนิทสนมส่วนตัวชวนทาคะชิ ยามาซากิ มานั่งคุยกับเราจนได้

เรานัดกันช่วงหัวค่ำในร้านอาหารญี่ปุ่นร้านเก่าในย่านชิโมกิตาซาวะ
ร้านขนาดกะทัดรัดร้านนี้เปิดเพลงญี่ปุ่นเก่าๆ คลอจางๆ พวกเรามาถึงก่อนเวลานัดเล็กน้อย

จากประวัติที่เราหาข้อมูลมาได้
ทาคะชิ ยามาซากิ อายุ 44 ปี ตอนเป็นเด็กเขาได้ดูเรื่อง Star Wars แล้วชอบมาก
เขามีความฝันว่าอยากจะทำ Visual Effect แบบนั้นบ้าง
ในที่สุดเขาก็เอาตัวเองเข้าสู่งาน Visual Effect สำเร็จ
จากนั้นเขาก็มีโอกาสได้กำกับหนังแนวอวกาศ เอเลี่ยน หุ่นยนต์ แบบเดียวกับ Star
Wars
ซึ่งไม่เคยมีใครทำในญี่ปุ่นมาก่อน

Juvenile และ The Returner คือหนังสองเรื่องแรกของเขา
แล้วโชคชะตาก็พัดพาให้เขาได้ทำหนังย้อนยุคอย่าง Always เป็นเรื่องที่สาม

ทาคะชิ
ยามาซากิ เดินฝ่าฝนโปรยปรอยเข้ามาในร้านพร้อมกับชิมาโกะ ซาโต้ ผู้กำกับหนังเรื่อง K-20

เขาตอบทุกคำถามด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างเป็นกันเอง

ต่อไปนี้คือเรื่องที่เราคุยกันตลอด
1 ชั่วโมง

คุณทราบไหมว่า
Always เป็นหนังที่คนไทยดูแล้วประทับใจมากๆ
จริงเหรอ
(เสียงแปลกใจ) ผมไม่คิดว่ามันเป็นสากลจนคนต่างชาติต่างภาษาประทับใจได้ขนาดนั้นนะ
เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมากๆ

ทราบว่าคุณเพิ่งเปิดกล้องถ่ายหนังเรื่องใหม่
ใช่
Always ภาคสามหรือเปล่า
ไม่ใช่
ผมไม่ทำ Always แล้ว
(หัวเราะ) เรื่องนี้เป็นเรื่องพีเรียดเกี่ยวกับสงคราม การต่อสู้
มีหลายคนอยากให้ผมทำ Always ภาคสาม
แต่ตอนนี้ผมยังไม่ทราบว่าจะมีไหม เหมือนอย่างภาคสองผมก็ไม่ได้คิดจะทำ
ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะทำแค่ภาคเดียว ผมมีแผนเตรียมจะทำเรื่องอื่นแล้วด้วย
แต่มีคนเยอะมากบอกให้ผมทำภาคต่อ ภาคแรกก็ทำเงินได้ดี ผมก็เลยทำ
พระเอกนางเอกจะได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งด้วย
อีกอย่างคือหลังจากถ่ายเสร็จแล้วเซ็ตฉากทั้งหมดต้องถูกรื้อทิ้ง ผมว่ามันน่าเสียดาย
ผมก็เลยทำต่อเพื่อที่จะได้พบกับฉากเหล่านี้อีกครั้ง
แต่ความคิดที่จะทำภาคสองมันมาหลังจากทำภาคแรกเสร็จแล้ว ฉากเลยถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว

ก็เลยต้องสร้างฉากทั้งหมดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ใช่
(หัวเราะ) มีแค่ป้ายซูซูกิออโต้อันเดียวที่เป็นของเดิม
มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกดีนะ
เพราะผมรู้หมดแล้วว่าสิ่งที่จะสร้างทั้งหมดจะออกมาเป็นยังไง
เหมือนกับสร้างบ้านของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกรอบ แค่เห็นที่เปล่าๆ ก็รู้แล้วว่าในอนาคตจะเป็นยังไง
แล้วมันก็เสร็จเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

หนังสองเรื่องแรกของคุณเป็นแนวไซไฟ
แฟนตาซี ที่เต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษจนมีคนเปรียบว่าเป็น
Star Wars ของญี่ปุ่น แล้วคุณเปลี่ยนแนวมาทำหนังย้อนยุคได้ยังไง
พอทำหนังสองเรื่องแรกเสร็จแล้วโปรดิวเซอร์ของผมเขาอยากทำหนังเกี่ยวกับยุคโชวะมากๆ
อยากทำเรื่องที่พูดถึงโตเกียวทาวเวอร์ตอนที่กำลังสร้าง
แต่ผมคิดว่าเรื่องแค่นี้มันยังไม่พอ พอดีผมมีการ์ตูนเรื่อง Sunset on the
Third Street
วางอยู่บนโต๊ะ
ผมเลยบอกโปรดิวเซอร์ว่าเรื่องในการ์ตูนมันดี น่าเอามาทำหนัง
โปรดิวเซอร์คิดว่าผมอยากทำ เลยไปนัดทีมงานมาประชุมกัน นัดให้ผมไปเจอคนมากมาย
กลายเป็นว่าผมต้องทำ ทั้งๆ ที่ตอนแรกผมไม่ได้สนใจแนวนี้เลย ไม่ได้อยากทำเลย

คุณชอบอะไรในการ์ตูนเล่มนั้น
มันเป็นการ์ตูนที่ยาวแค่
16 หน้า ซึ่งถือว่าสั้นมาก ภาพก็น่ารักสมเป็นการ์ตูน พออ่านไปเรื่อยๆ
เรื่องราวก็พัฒนาไปโดยใช้ความน่ารักของภาพและการเล่าเรื่องทำให้คนอ่านประทับใจ
บางช่วงประทับใจมากจนเกือบจะร้องไห้ ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่ลายเส้นการ์ตูนธรรมดา
แล้วก็มีแค่ไม่กี่หน้า แต่ก็มีความดราม่าอยู่สูง ผมเลยประทับใจตรงที่คนเขียนเขาทำให้คนอ่านเกือบร้องไห้ได้ยังไง

คนในวงการหนังว่ายังไงกันบ้าง
ตอนที่รู้ว่าคุณกำลังจะทำหนังเรื่องนี้
ทุกคนคิดว่าหนังย้อนยุคแนวโชวะแบบนี้ไม่ทำเงินอยู่แล้ว
ก็เลยกลายเป็นความกดดัน ถ้าทำออกมาแล้วขายไม่ดีหรือล้มเหลว ผมก็เสียหน้า
ก็เลยต้องทำให้ดีที่สุด อีกอย่างฉากในเรื่องเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นแก่ๆ
เคยเห็นมาก่อน เราเลยทำออกมาไม่เหมือนไม่ได้
ก็เป็นความกดดันอีกอย่างที่ต้องทำฉากให้เหมือนของจริงที่สุด

พอรู้ล่วงหน้าแล้วว่าหนังแนวนี้ไม่ค่อยทำเงิน
ฉากก็ไม่ได้ทำง่ายๆ คุณหาทางรับมือยังไง
เรื่องทำเงินหรือไม่ทำเงินเป็นเรื่องที่เราก็ไม่รู้อยู่ดี
ถึงหนังมีแนวโน้มว่าจะไม่ทำเงินเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องตั้งใจทำก็ได้
ผมเลยตั้งใจทำเรื่องนี้มาก ให้มีคนดูมาดูเพิ่มอีกสักคนก็ยังดี
ทีมงานผมเขาอยากทำหนังแอ็กชั่นแนวอนาคตกัน ไม่มีใครอยากทำหนังย้อนยุคหรอก
ที่โอเคหน่อยอาจจะเป็นเรื่องที่ทีมงานคนรุ่นใหม่เขาได้ทำหนังที่พาพ่อแม่มาดูได้สักที
เหมือนเป็นการแสดงความกตัญญู เพราะสองเรื่องแรกพามาดูไม่ได้เลย ยิงกันทั้งเรื่อง
(หัวเราะ)

มีทีมงานคนหนึ่งชอบเรื่องเกี่ยวกับยุคโชวะมาก
เขาเลยอยากทำมาก คนรอบข้างก็พลอยได้รับอิทธิพลไปด้วย ค่อยๆ อินเพิ่มขึ้นทีละคน
ทีมงานที่ทำฉากก็ทำออกมาได้ดีมากๆ ทำให้ทีมซีจีต้องตั้งใจทำซีจีให้ดีตามไปด้วย

คุณสนใจอะไรในยุคโชวะที่สุด
พลัง
ผมประทับใจเรื่องเกี่ยวกับกำลังใจ ยุคนั้นเป็นยุคที่สงครามเพิ่งสิ้นสุด
ผู้คนในยุคนั้นคิดแต่จะก้าวไปข้างหน้า เหมือนคนแขนหัก ก็ต้องใช้พลังกายพลังใจมากเพื่อที่จะรักษาบาดแผลให้หาย
ผมประทับใจพลังนั้น ตอนนี้สังคมเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงหลายอย่าง
เราอยู่ในสภาพที่เหมือนถอยหลังไม่ได้แล้ว
เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีเงินแต่ไม่มีอนาคต เพราะเดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว
แต่ยุคในหนังเป็นยุคที่ทุกคนจนมากแต่ทุกคนเห็นว่ามีอนาคตที่ดีรออยู่
ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นแน่ๆ ซึ่งมันน่าอิจฉานะ

ในชีวิตจริง
คุณมีโอกาสได้สัมผัสช่วงเวลาของยุคนั้นบ้างไหม
ผมเกิดหลังจากยุคนั้นมาหน่อย แต่ผมเกิดในชนบท
เลยรู้สึกว่ามันเหมือนกัน

“ถึงหนังมีแนวโน้มว่าจะไม่ทำเงินเลย
ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องตั้งใจทำก็ได้”

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 99 พฤศจิกายน 2551)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ล่าม อาภากร อิโซ

AUTHOR