Phulom ขนมไทยสุดป๊อปที่ชาวญี่ปุ่นหลงรัก

เราไปเที่ยวเล่นงาน Thai Pop Culture Market เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมด้วยความหมายมั่นปั้นมือจะไปสอยสินค้าน่ารักๆ ของน้องมะม่วง คาแรกเตอร์สุดคิวต์ผลงานของตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร และหมวก bomb on bus ของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ภายในงานยังมีความป๊อปของไทยอื่นๆ มาออกร้านอีกมากมาย เช่น กาแฟไทย ช็อกโกแลตไทย หนังสือยอดนิยมในไทยเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ แต่สองคนนั้นมีแฟนคลับในญี่ปุ่นเยอะ เราเลยตั้งใจพุ่งไปสองบูทนั้นก่อนของจะหมด 

ขณะที่กำลังเลือกของอย่างสนุกสนาน คิมุระซังผู้จัดงานก็เดินเข้ามาพอดี เขาบอกว่า ขนมไทยขายดีมาก คนต่อคิวยาวเหยียด 

เฮ้ย เซอร์ไพรส์มาก ขนมไทยฮิตในญี่ปุ่นขนาดนี้ตั้งเแต่เมื่อไหร่?

ตอนที่สาวไทย(คนนี้) อยากจะมุง ตลาดก็วายไปแล้ว ขนมขายหมดเกลี้ยง มีเพียงแค่ชื่อร้าน ‘ภูลม’ ให้เราตามไปส่องต่อ 

กัสจัง สาวน้อยหน้าใสวัย 24 ลูกครึ่งญี่ปุ่นไทยก่อตั้งแบรนด์ภูลมเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เธออาศัยอยู่ที่ประเทศไทยจนถึงอายุ 10 ปี จากนั้นก็กลับมาญี่ปุ่นยาวๆ ได้กลับไปเที่ยวไทยแค่ไม่กี่ครั้ง ครั้งล่าสุดที่เธอเดินทางกลับไปช่วงก่อนโควิด กัสจังได้กินขนมลูกชุบที่อยุธยาแล้วประทับใจมาก ยังไม่ทันได้วางแผนกลับไปกินอีก โรคระบาดก็สกัดสาวน้อยไว้ในโตเกียว เธอจึงตัดสินใจลองทำกินเองแม้จะไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับการทำขนมเลย

“เพราะไม่ค่อยได้กลับไทย เลยเพิ่งมาอินตอนโตนี่เองค่ะ ลองกินขนมไทยจริงจังแล้วว้าวมาก 

“พอกลับไทยไม่ได้เลยเริ่มทำเพราะอยากกิน จริงๆ แล้วที่โตเกียวก็มีลูกชุบค่ะ แต่เป็นแบบแช่แข็ง เราอยากกินของที่ทำใหม่ๆ เลยลองทำ

“อีกอย่างคืออยากให้คนอื่นได้กินด้วย น่าจะมีคนอยากกินเหมือนเรา สมัยก่อนยังไม่ค่อยมีคนทำ แต่ตอนนี้เริ่มมีเยอะขึ้นแล้ว”

ทำกินเองอยู่ประมาณ 2 เดือน แฟนของกัสจังก็เสนอไอเดียว่าน่าจะลองขายดู เธอมองขนมที่ตัวเองทำ ถ่ายรูปก็ดูสวยอยู่ เลยคิดว่า “เออก็ได้นี่” 

ภูลมไม่มีหน้าร้านและไม่ได้ขายออนไลน์ เน้นขายตามงานอีเวนต์หรือเปิดป๊อปอัพ กัสจังลองขายครั้งแรกด้วยการไปขอเช่าพื้นที่ร้านค้าในช่วงเวลาที่เขาไม่ได้ใช้เพื่อเปิดป๊อปอัพเล็กๆ ทดลองตลาด วันแรกที่ลองขายมีลูกค้ามาสิบกว่าคน ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะผลักดันให้เธอลุยต่อ

“ตอนแรกคิดแค่ว่าไม่มีคนมาซื้อก็เลิก ทำกินเอง (หัวเราะ)

“พอขายครั้งแรก มีคนมาสิบกว่าคน ดีใจมากที่เขามากินขนมของเรา แรกๆ คนมาลองกินมากกว่า แต่พอทำครั้งแรกแล้วมีคนมา เลยมีกำลังใจทำต่อ สองครั้งแรกเช่าที่ถูกมากๆ ครั้งที่ 3 เลยลงทุนเช่าคาเฟ่สวยๆ”

ช่วงนี้อาหารไทยเป็นที่นิยม ผักชียังป๊อปปัง แต่ขนมไทยนี่สิ ยังไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าคนญี่ปุ่นชอบ

ปรากฏว่า ต้องขอบคุณละครวาย!

ช่วงที่คนไม่กล้าออกจากบ้าน หลายคนว่างดูละครไทย จนกระแสเริ่มมาแรง อาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในละครก็ได้รับความสนใจไปด้วย 

“คนที่มาซื้อช่วงแรกๆ คือแฟนละครที่อยากกินขนมไทยแบบที่เคยเห็นในเรื่อง เช่น ขนมลืมกลืน บุหลันดั้นเมฆ ตอนแรกเราก็ไม่รู้ จนคนที่มาซื้อบอก เราเลยเจาะกลุ่มนี้ไปเลย”

แต่จะเกาะกระแสละครอย่างเดียวก็ไม่ได้ ลูกค้าหลายคนที่ไม่รู้จักขนมไทยหรือไม่ได้ชอบดูละครไทยเดินผ่านร้านก็แค่มองๆ แล้วจากไป กัสจังจึงอยากพัฒนาตัวเอง จนตอนนี้ทำขนมได้ถึงยี่สิบกว่าชนิด เช่น ขนมชั้น ขนมกล้วย หม้อแกงเผือก ข้าวเหนียวปิ้งไส้เผือก สังขยาฟักทอง

“ทำแต่ขนมที่มีในละคร คนที่ชอบไปเที่ยวเมืองไทยหรือชอบอาหารไทยก็จะไม่ค่อยสนใจ พอเราเริ่มทำขนมอื่นๆ ด้วย คนกลุ่มนี้ที่รู้จักขนมพวกนั้นอยู่ก่อนแล้วก็มาลองกิน ได้ลูกค้าเพิ่มอีกกลุ่ม

“คนที่ดูละครก็ชอบพวกลูกชุบ ส่วนคนที่ชอบเที่ยวเมืองไทยก็จะชอบขนมที่มีขายตามข้างทางอย่างขนมต้มค่ะ”

ทำขนมได้เยอะขึ้น มีฐานลูกค้าใหญ่ขึ้น แต่คนทำยังมีเพียงกัสจังคนเดียวเหมือนเดิม การไปออกบูทหรือเปิดป๊อปอัพแต่ละครั้งเลยต้องจำกัดชนิดขนมและปริมาณขนมที่ผลิตได้ในแต่ละวันยังไม่มากพอต่อความต้องการของลูกค้า อย่างวันสัมภาษณ์ซึ่งกัสจังมาออกร้านอีกที่ ขนมขายหมดตั้งแต่บ่ายสาม เธอง่วนทำขนมลืมกลืนไปด้วย จะได้มีขนมขายต่อตอนห้าโมงเย็น ซึ่งยังไม่ทันเอาขนมออกมาวาง ก็มีคนญี่ปุ่นมายืนต่อแถวรอไม่น้อย

“คนอุตส่าห์ตั้งใจมาแล้วไม่ได้ซื้อ เขาก็เสียใจ บางคนต่อว่ามาเลย เราก็เข้าใจเขาและต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ คิดว่าจะกลับมาเช่าที่เปิดร้านป๊อปอัพอาทิตย์ละครั้ง ลูกค้าจะได้มีที่ให้มาซื้อเป็นระยะ ไม่กระจุกรวมตัวกันตามงานเยอะๆ”

ขนมไทยขายดีที่ญี่ปุ่น คนไทยที่ไม่ค่อยกินขนมไทยอย่างเราก็แอบดีใจไปด้วย สมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีคนชวนไปทำเวิร์กช็อปขนมไทยกับคุณป้าเหล่าแม่บ้านในท้องถิ่น เราเลือกทำกล้วยบวชชี ปรากฏว่ามีคุณป้าท่านหนึ่งไม่ยอมกิน บอกว่ารับไม่ได้ที่ใส่เกลือลงไปในของหวาน แอบอยากรู้ว่าตอนนี้คนญี่ปุ่นเปิดใจให้ส่วนประกอบของขนมหวานมากขึ้นหรือยัง

“มีบางอย่างที่คนญี่ปุ่นไม่เข้าใจเหมือนกันนะคะ เช่น การใส่น้ำตาลในข้าวเหนียว หรือการใส่หอมเจียวในขนมหม้อแกง ทำขายคนญี่ปุ่น เราก็ต้องปรับบ้างเหมือนกันค่ะ เช่น ลดน้ำตาล เอาตัวเองอร่อยอย่างเดียวไม่ได้”

ขนมญี่ปุ่นโบราณก็หวานมากเหมือนกัน นอกจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมการกินบางอย่าง ขนมไทยของเราก็น่าจะเข้าไปอยู่ในหัวใจชาวญี่ปุ่นได้ไม่ยาก ไม่แน่ว่าหลังจากนี้ขนมไทยอาจจะฮิตไม่แพ้ผักชีหรือกะเพราก็ได้นะ อย่างน้อยก็มีกัสจังแห่งร้านภูลมตั้งใจจะทำขนมไทยต่อไปเรื่อยๆ 

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะทำงานเก็บเงินไปอยู่เมืองไทยค่ะ เพราะเบื่อความหนาวของที่นี่ พอได้ทำขนมแล้วรู้สึกแฮปปี้ที่จะอยู่ญี่ปุ่น ตอนนี้สนุก ไม่กลับไทยแล้วก็ได้” สาวน้อยนักทำขนมหัวเราะส่งท้ายก่อนจะหอบขนมที่ทำเสร็จใหม่ๆ ไปหาลูกค้าที่ตั้งแถวรอยาวเหยียด

AUTHOR