ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง : นางเอกสาวผู้ทำความรู้จักโลกกว้างผ่านการแสดง

ถ้าดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ
มองลึกเข้าไป เราเห็นอะไรหลังหน้าต่างบานนี้บ้าง

เราเห็นใบหน้าสวยเศร้าของ
ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง นักแสดงสาววัย 25 ปี เจ้าของบท พิชชา
หญิงสาวที่ผูกพันกับพี่ชายจนชีวิตผกผันในละครเรื่อง รักนี้ชั่วนิจนิรันดร์ หรือ Autumn in
My Heart
ละครเมโลดราม่าจากเกาหลี
ปรุงใหม่ให้กลมกล่อมด้วยฝีมือผู้กำกับไทย กานต์-ศิวโรจณ์ คงสกุล
จากหนังรางวัลเรื่อง ที่รัก โปรดิวซ์โดย อนันดา เอเวอริงแฮม
นี่คือบทนางเอกจอแก้วเรื่องแรกของเธอคู่กับ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี

เราเห็นรอยยิ้มสดใส
และความมุ่งมั่นในดวงตาเมื่อพูดถึงงานแสดงที่เธอรัก ตั้งใจ
และคว้าทุกโอกาสที่เธอพร้อมรับ ตั้งแต่บทน่ารักใสๆ อย่าง ครูบี๋ ในละคร พรพรหมอลเวง
บทสุดหม่นอย่าง เตย เด็กติดยาแสนอาภัพในละครสั้น ขยะ-ความรัก ศรัทธา ปาฏิหาริย์
โลดแล่นบนพื้นโรงละครเวทีใน กินรีสีรุ้ง โดย บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ
และบทเปิดตัวในวงการอย่าง พาย ใน Yes or No อยากรักก็รักเลย
หนังไทยที่พูดถึงความรักแบบหญิงรักหญิงได้แสนละมุนละไม

หนังเรื่องนี้เองที่ทำให้เธอดังไกลถึงจีนแผ่นดินใหญ่
มีแฟนคลับตาชั้นเดียวมากถึงขั้นทำให้สนามบินแตกมาแล้ว

ท้ายสุด
เราเห็นหญิงสาวที่ร่าเริงสมวัย รักดี ใฝ่ธรรมะ ครอบครัว ญาติมิตรสุขสันต์
แต่ชอบทำความรู้จักโลกกว้าง ผ่านการสวมบทที่แตกต่างจากตัวตน
ทำความรู้จักคนที่เธอไม่เข้าใจ ผ่านวิชาการแสดงที่เธอเชื่อและศรัทธา

พลังงานเหล่านี้อัดแน่นอยู่ในดวงตาออม
สุชาร์ ดวงตาที่บอกเราว่า
หัวใจของผู้อื่นที่เธอบุกเข้าไปทำความเข้าใจนั้นน่าค้นหาเพียงใด

ตอนถ่ายเรื่อง
รักนี้ชั่วนิจนิรันดร์ คุณร้องไห้บ่อยแค่ไหน
ทุกวัน
ถ้าวันไหนไม่มีจะแปลกมาก กลายเป็นว่าฉากที่ต้องห้ามร้องไห้ยากกว่า
อย่างซีนที่ออมโคม่าอยู่ในโรงพยาบาล ตัวละครนี้ท้ายๆ เรื่องจะเป็นลูคิเมีย
แล้วใจเขาเหมือนรอพี่ชาย เป็นฉากที่หนูต้องมีเครื่องช่วยหายใจ
พี่ติ๊กจะต้องพูดอ้อนวอนให้น้องสาวอยู่กับเขา ไดอะล็อกยาวมาก
พี่เขาพูดข้างหูแต่หนูต้องห้ามได้ยิน ห้ามขยับ มีหน้าที่แค่นอนเฉยๆ
หนูก็ต้องเปลี่ยนโฟกัส ไม่สนใจ ลืมตามาอีกที ตากล้อง ผู้กำกับ
ทุกคนร้องไห้ทั้งห้องแล้ว อึดอัดมาก อึดอัดที่เราไม่ได้ปล่อยอารมณ์ออกมา

เคล็ดลับในการเข้าฉากร้องไห้ทุกวันคือ
กินข้าวเยอะๆ
อดข้าวไม่ได้ ไม่งั้นไม่มีแรง (ยิ้ม) จริงๆ ชีวิตหนูแทบจะไม่ร้องไห้เลย

เป็นคนไม่ร้องไห้
แต่ต้องมาเล่นละครดราม่าน้ำตาท่วม คุณทำยังไง
ต้องใช้ความเข้าใจในตัวละครสูง
ก่อนหน้านี้เราไม่เคยดู พยายามหาคลิปที่เล่าทั้งเรื่องสรุปในตอนเดียว
ดูมู้ดแอนด์โทน ดูความรู้สึกของตัวละคร ทำสมาธิ หาเพลงฟังให้ช่วยไปกับเรื่องราว

ตอนที่ดูซองเฮเคียวเล่น
คุณเห็นอะไรในตัวเขา
การแสดงออกที่เป็นธรรมชาติสูงมาก
เหมือนเล่นน้อยแต่เขาเล่นเยอะ นั่นคือวิธีการแสดงของละครเกาหลี
แต่อย่างบ้านเราจะเล่นมากกว่านิดนึงซึ่งไม่มีอะไรผิดหรือถูก ตอนแรกเราตื่นเต้นมาก
แต่ก็ช่วยได้ด้วยการเวิร์กช็อป ทำความเข้าใจความต้องการของตัวละคร
พยายามให้ทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ เป็นความเข้าใจ เป็นการครีเอทีฟมากกว่าการดีไซน์

นักแสดงดีไซน์อะไรบ้าง
ดีไซน์คาแรกเตอร์
ทำความเข้าใจว่าเขาชอบอะไร มองโลกยังไง ทัศนคติที่มีต่อตัวละครทุกตัวเป็นยังไง
แล้วค่อยดีไซน์คาแรกเตอร์ออกมา เช่น ออมคิดว่าตัวละครนี้ชอบเอาผมทัดหูข้างซ้ายเวลาที่เขาเครียด
ทำให้ตัวละครดูมีชีวิตมากขึ้น ไม่ได้โฟกัสกับการท่องบทอย่างเดียว
มันเป็นสิ่งที่นักแสดงกับแอ็กติ้งโค้ชต้องทำการบ้านร่วมกัน

จบเรื่องนี้
คุณมองละครเมโลดราม่าเปลี่ยนไปไหม
เปลี่ยนไปนะ
แต่ออมพยายามไม่โฟกัสกับคำใดคำหนึ่งมาก ไม่อย่างนั้นเราจะล็อกตัวเอง เมโลดราม่าเป็นคำที่คนดูใช้เรียกงานของเรามากกว่า
กับการแสดง เราพยายามให้ทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติดีกว่า

ในแง่ประสบการณ์ในการทำงาน
ออมรู้สึกคุ้มมากที่ได้เล่น ถ้าออมอายุ 60 ปี
กลับมาดูเรื่องนี้ออมก็คิดว่ามันยังคลาสสิก มันไม่คลิเช่ เราเป็นคนเล่นเองก็ภูมิใจ

คุณเป็นนักแสดงหน้าใหม่
แต่ชอบเล่นบทยากดีนะ อย่างบทแจ้งเกิดในเรื่อง
Yes or No ก็ไม่ง่ายเลย
เป็นจังหวะและโอกาสมากกว่า
เพราะนักแสดงแถวหน้าหลายคนไม่เล่น เขาไม่อยากเสี่ยงกับการเล่นบทนี้
ตอนนั้นออมมาออดิชัน ได้ก็ดีใจ เมืองไทยไม่ค่อยมีบทแบบนี้
ไม่ค่อยมีคนกล้าทำเพราะกลัวเจ๊ง
ส่วนหนึ่งที่รับเล่นเพราะอ่านบทที่พี่เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน เป็นคนเขียน
บทมีความเป็นผู้หญิงสูงมาก มันมีความละเอียด ละมุนละไม เราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าน่ารัก เล่นดีกว่า

ที่ตลกคือ
ปกติหนูเป็นคนชอบดูดวง ก่อนรับเล่นก็ถามหมอว่าเล่นดีมั้ย เขาก็บอกว่าเล่นสิ
ดวงเราขึ้นกับอะไรแปลกๆ แต่ใจคือหมอตอบอะไรก็เล่น รู้สึกว่าการทำให้คนเขาเชื่อมันท้าทายดี

ทุกวันนี้ยังมีคนถามว่า
‘คุณเป็นดี้หรือเปล่า’ อยู่อีกมั้ย
มี
โดนบ่อยมาก ไม่มีใครมาจีบเราเลย (หัวเราะ) แม้แต่นักแสดงด้วยกันก็ถาม มันก็ดีนะ
แสดงว่าเขาเชื่อว่าเราเป็นอย่างที่เราเล่น

การจะไปถึงจุดนั้นได้
นักแสดงต้องการอะไรบ้าง
ร่างกายและจิตใจ
ออมไม่เชื่อว่าคนป่วยจะเล่นละครได้ ถ้าร่างกายไม่พร้อม ทุกอย่างมันก็ลดลง

ทุกครั้งที่เริ่มงานใหม่
ออมกลัวว่าเราจะไม่พร้อม ถ้าไม่พร้อม งานดีๆ
ที่เรารับไว้เราจะไม่มีพลังส่งมันขึ้นไป นี่คือสิ่งที่เรากลัว

ออมจะรู้ตัวเมื่อไหร่ว่าพร้อม
โห
เราจะมีพลังสูงมาก วันนั้นเราอยากจะเล่นละคร มาเลย แต่ถ้าวันไหนพักผ่อนไม่พอ
เหนื่อยมาก มันจะเสียดาย ร่างกายกับจิตใจต้องไปด้วยกัน

มีวิธีสร้างเสริมทั้งสองด้านยังไง
กินอาหารเสริม
กินวิตามิน นอนให้พอ ถ้ามีเวลาก็ต้องออกกำลังกาย สมาธิก็สำคัญมาก
ออมว่าใจสำคัญมากกว่าร่างกายนิดนึง

ธรรมะที่คุณสนใจช่วยฝึกเรื่องนี้มั้ย
โชคดีที่พี่บอยส่งไปเรียนการแสดงกับหม่อมน้อย
(หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) ก็เลยได้ทัศนคติในการแสดงจากหม่อมมา
ถือเป็นครูที่เปลี่ยนชีวิตออมเลย

เมื่อก่อนเราจะเล่นอะไรแต่ละฉากรู้สึกมันยากเหลือเกิน
แต่พอได้คุยกับหม่อม 80 เปอร์เซ็นต์ของการเรียนคือการคุยเรื่องธรรมะ แล้วเราเข้าใจ
พอมันคลิกแล้ว เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ
แล้วการเล่นละครไม่ใช่การพยายามทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

ธรรมะฟังดูไม่เกี่ยวกับการแสดงนะ
จริงๆ
เป็นเรื่องเดียวกันเลย คนไทยแปลคำว่าแอ็กติ้งว่าการแสดง การแสดงสำหรับคนไทยมันจะดูเฟก
ไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเราตีความหมายย้อนกลับไปว่าแอ็กติ้งหรือแอ็กชั่น
มันคือการกระทำ เราแค่ทำ ไม่ได้พยายามที่จะแสดงอะไร
มันเป็นการปรับพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงใหม่ มันก็เลยง่ายกับเรามากขึ้น

ออมไม่เคยรู้เลยว่าธรรมะจะมีประโยชน์ต่อการทำงานโดยตรง
จนได้ไปเรียนกับหม่อม หม่อมก็สอนว่า ร่างกายกับจิตใจคือสิ่งที่สัมพันธ์กัน
เมื่อไหร่ที่เราจูนมันได้ เราจะเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราคิด

ธรรมะยังช่วยให้เราเข้าใจโลก
เข้าใจความเป็นคนอื่น แบบที่เราไม่เคยเข้าใจ เราอาจเคยเกลียดเขา
แต่กลับมามองอีกมุมนึง เขาก็มีเหตุผลแบบนี้
ซึ่งมันเป็นเหตุผลที่เราต้องทำความเข้าใจในแต่ละบทบาทที่เราเป็น
เมื่อก่อนออมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้หนูร้องไห้ขนาดนี้ มันไม่เมกเซนส์
แต่หนูมองจากพื้นฐานความเป็นตัวหนูไงคะ ถ้าเรามองในพื้นฐานของตัวละคร
มันก็เป็นการแสดงที่ถูกต้องกับบทนั้น

ถ้าต้องรับบทเป็นคนที่เราไม่เข้าใจความคิด
ทำยังไง
อย่างบทพาย ใน Yes or No หนูทำการบ้านเยอะมาก
ทั้งในเรื่องของร่างกาย อ่านหนังสือหลายเล่ม เพื่อปรับพื้นฐานความรู้สึกตัวเอง
ยอมรับว่าตอนแรกเราไม่เข้าใจบท ก็ต้องล้างตัวเองใหม่หมดเลย เราต้องไม่มองว่า คิม
(คนรักของพาย) เป็นผู้หญิง แต่มองว่าเขาเป็นคนที่เรารัก
แล้วพยายามหาความดีและน่ารักในตัวละครตัวนั้น

หนูชอบหาวิธีทำให้ตัวเองพร้อม
ดิ้นไปเรื่อยๆ สมมติว่าเต็ม 10 เรารู้สึกว่ามีแค่ 5
ก็ต้องหาอะไรมาเพิ่มเพื่อให้เราอยู่ใน 10 แล้วเราจะพร้อมเป็นตัวละครตัวนั้น
เมื่อเราเข้าใจ พอเวลาผ่านไปหนูจะรีบเอาออก
เพื่อจะได้ไปทำความเข้าใจและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

เวลามีคนเสนอบท
คุณเลือกจากอะไร
ขึ้นอยู่กับโอกาส
ลองดูว่าบทดีไหม ถ้าบทไม่ดีมากอย่างที่ใจเราต้องการ
แล้วในงานนั้นมีอะไรดีที่มาทดแทนกัน ถ้าไม่มีและไม่คุ้มก็ไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ไม่ได้มองว่างานนั้นจะเงินเยอะหรือน้อย

หนึ่งในบทที่ดีใจมากที่ได้เล่นคือละครเรื่อง
ขยะ-ความรัก ศรัทธา ปาฏิหาริย์ ของแม่ชีศันสนีย์ ออมเล่นเป็นเด็กติดยา
นอนข้างถนน โดนตำรวจข่มขืน สุดท้ายท้องและเป็นเอดส์ คือเป็นอะไรที่ไม่ใช่ออมเลย
แต่ผู้กำกับเขาเชื่อใจเรา ดีใจที่คนได้ดูเราที่งานจริงๆ น้องสาวออมดูแล้วร้องไห้
ปกติเขาดูงานออมแล้วจะคิดว่านี่คือพี่สาว แต่เรื่องนี้เขารู้สึกว่านี่คือตัวละครตัวหนึ่งที่น่าสงสารมาก

คุณคิดยังไงเวลาคนมองว่าคนสวยเล่นบทแบบนี้ไม่ได้
เป็นธรรมชาติ
ทำอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถไปปรับทัศนคติคนอื่นได้
เราทำตัวเราให้ดีแล้วคนก็จะเปลี่ยนทัศนคติเอง เชื่อในตัวเราเองดีกว่า
ออมคิดว่าตัวเองโชคดีเพราะทุกงานที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นงานที่ดี
สงสัยเป็นเพราะพ่อออม เขาชอบสวดมนต์ ขอให้ออมเจออะไรดีๆ

แล้วเวลาออมสวดมนต์
ขอพรว่าอะไร
ปกติสวดมนต์เฉยๆ
ไม่ได้ขอพร ถ้าเจอที่ที่ให้ขอ จะขอให้มีสติ สมาธิ ปัญญา และความกล้าหาญในการแสดง
เพราะหนูคิดว่าเราต้องมีความกล้า ถ้าเราไม่กล้าที่จะเป็นอะไรในสิ่งที่เราคิด
ก็ไม่มีประโยชน์

“การแสดงสำหรับคนไทยมันจะดูเฟก
ไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเราตีความหมายย้อนกลับไปว่าแอ็กติ้งหรือแอ็กชั่น
มันคือการกระทำ เราแค่ทำ ไม่ได้พยายามที่จะแสดงอะไร
มันเป็นการปรับพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงใหม่”

(จากคอลัมน์ q & a day – a day 153 พฤษภาคม 2556 )

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR