Pupe: Hello :))) Hi Everyone. Hi Kai. 🙂
Kai: Hi! Pupe!
การแสดง ‘A Perfect Conversation Oh Ode! X Blunt Knife Google Doc Jam’ เริ่มต้นขึ้นบนหน้ากระดาษสีขาวโพลนของ google docs
จากโปรแกรมที่ผู้คนคุ้นเคย ในการแสดงครั้งนี้มันกลายไปเป็นพื้นที่สร้างบทสนทนาและพื้นที่สำหรับการแสดงของ ปูเป้–ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ และ ไค–Eng Kai Er ร่วมกับแพลตฟอร์มยอดฮิตในช่วงเวิร์กฟรอมโฮมอย่าง Zoom และยูทูบ
ปูเป้เป็นศิลปินไทย ผู้อยู่ในประเทศไทย ส่วนไคเป็นศิลปินชาวสิงคโปร์ผู้ซึ่งตอนนี้พักอยู่ในเยอรมนี ในช่วงที่ขึ้นเวทีเดียวกันไม่ได้ ทั้งคู่จึงนำการแสดงเดี่ยวที่แต่ละคนเคยทำมาปัดฝุ่น เปลี่ยนรูปแบบเป็นการแสดงออนไลน์ที่คนดูมีส่วนร่วมได้ ทั้งการมาแอบอ่านบทสนทนาของพวกเขาใน google docs ชมวิดีโอบนยูทูบและประชุมผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom
ในโลกของละครเวที มีการแสดงหลายเรื่องที่นักแสดงใช้วิธีพูดคุยกับผู้ชมบางส่วนเพื่อทำให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของละคร แต่การแสดงที่ชวนให้ผู้ชมทุกคนสามารถเลือกที่จะมีส่วนร่วมกับบทสนทนาไปพร้อมๆ กับนักแสดงผ่านตัวอักษรบน google docs ไม่ใช่สิ่งที่เราได้เห็นบ่อยนัก และเมื่อชื่อของการแสดงยังกำกับไว้ว่า ‘A Perfect Conversation’ หรือ ‘บทสนทนาที่สมบูรณ์แบบ’ มันยิ่งชวนให้เราตั้งคำถามว่า บทสนทนาที่สมบูรณ์แบบคืออะไร
“บทสนทนาที่สมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่เราพยายามพูดถึงและตั้งคำถามในการแสดงครั้งนี้ ไอเดียคือบางทีความสมบูรณ์อาจไม่มีอยู่จริงก็ได้ การสร้างบทสนทนาที่สมบูรณ์แบบก็เหมือนการไล่ตามสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงตั้งแต่ต้นเพราะไม่มีบทสนทนาไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามแตะประเด็นว่าทำไมเราถึงต้องใฝ่ฝันหาความสมบูรณ์แบบนั้นด้วย” ปูเป้เล่า
บทสนทนาที่ตามหาความสมบูรณ์แบบเขาพูดอะไรกัน? ให้หน้าเว็บไซต์นี้พาไปชม
Document shared with you
การสนทนาครั้งนี้เริ่มต้นมาจากสมาชิกคณะกรรมการของเทศกาลละคร Bangkok International Performance Performing Arts Meeting (BIPAM) ที่สนใจชวนไคมาแสดงผลงาน ‘Blunt Knife’ ในเทศกาลปีนี้ ในขณะเดียวกันสมาชิกคณะกรรมการอีกท่านหนึ่งก็นึกขึ้นว่า งานแสดง ‘โอ้โอด’ ที่ปูเป้เคยทำนั้นมีความคล้ายคลึงกันในประเด็นเรื่องร่างกายและเพศ
สำหรับใครที่ไม่เคยดูการแสดงทั้ง 2 ชิ้นมาก่อน Blunt Knife (2019) เริ่มต้นด้วยฉากไคสวมรองเท้าเสกตเคลื่อนไหวไปในห้องสี่เหลี่ยม ด้านหลังมีโปรเจกเตอร์ฉายสคริปต์เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างเธอในวัยเยาว์และครูสอนไอซ์เสกต ความรัก ความเจ็บปวด ความสับสนแฝงอยู่ในทุกท่วงท่าของเธอ โดยเฉพาะเมื่อเธอพยายามถอดรองเท้าเสกตออกหนึ่งข้างและเต้นต่อด้วยรองเท้าเสกตเพียงข้างเดียว
ส่วน โอ้โอด หรือ Oh Ode! (2017) ปรากฏภาพปูเป้ร่างกายเปลือยเปล่า ตั้งนิ้วมือกรีดเกร็งตามรูปแบบการรำไทย ร่างกายค่อยๆ ถูกปูนโบกทับทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นชุดนางรำ เราจะเห็นว่าภายใต้ปูนและสีปรากฏร่างกายที่สั่นไหว รอยแตกเกิดไปทั่วรูปปั้น ก่อนที่นางรำผู้นั้นจะค่อยๆ จะปลดเปลื้อง กะเทาะตัวเองออกจากปูนที่ห่อหุ้มในที่สุด เพื่อตั้งคำถามกับความสมบูรณ์แบบแบบไทยๆ ที่คนเพรียกหาหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่อาจกดทับและฝังลึกถึงเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์
“ตอนแรกโปรแกรมของ BIPAM จะจัดแสดงผลงานของศิลปินหญิงเป็นเรื่องๆ ไป แต่พอเราได้คุยกับไค ไคเสนอไอเดียว่าอยากลองนำเสนอ Blunt Knife ในมุมมองอื่นดูบ้าง” ปูเป้เล่าทั้งจากแว่นของ Artistic Director ของ BIPAM และศิลปินร่วมของงานชิ้นนี้
“พวกเรารู้สึกว่ามีพื้นที่ให้งานของเราต่อยอดกันได้อยู่ เราเลยเสนอว่ามาจัดงานในรูปแบบที่สามารถพูดถึงงาน 2 ชิ้นไปพร้อมๆ กันดีไหม” บทสนทนาของไคและปูเป้ในครั้งนั้นทำให้ศิลปินที่รู้จักกันมากว่า 5 ปี และได้พูดคุยพบปะเป็นครั้งคราวตามเทศกาลละครได้ร่วมงานกันอีกครั้งผ่านแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่
“เรื่องรูปแบบที่ใช้ google docs ต้องยกเครดิตให้ไคเลย กระบวนการทำงานครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ไคเสนอการแสดงแบบนี้ขึ้นมา เราก็สนใจสร้างสรรค์งานที่สามารถพูดถึงงานของเราทั้งสองชิ้นไปพร้อมๆ กันได้ ก็เลยค่อยๆ ซ้อม ทดลองกระบวนการหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กันและมาทบทวนดูว่ามีอะไรที่เราทั้งสองคนชอบ ไม่ชอบ ส่วนชื่อการแสดง A Perfect Conversation เกิดขึ้นทีหลัง”
“จริงๆ แล้วฉันก็ไม่ใช่คนที่คิดจะใช้แพลตฟอร์มนี้คนแรก ฉันเคยเข้าคลาสเรียนหนึ่งที่อาจารย์ให้เราเข้า google docs ของเขา กดดูลิงก์ยูทูบที่เขาแปะไว้ในไฟล์ และให้กลับเข้าไปพูดคุยกันใน google docs อีกที มันเป็นจุดที่ทำให้เราสนใจแพลตฟอร์มนี้ในฐานะเครื่องมือการทำงานร่วมกัน เราสามารถแก้ไขสิ่งที่คนอื่นพิมพ์มาได้ คอมเมนต์สิ่งที่คนอื่นเขียนได้ ทำให้เราสามารถเป็นนักเขียนร่วมกับคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในกล่องแชตทั่วไป” ไคอธิบายถึงไอเดียการใช้แพลตฟอร์มสร้างเอกสารเป็นเวทีการแสดง
The artists have scheduled a meeting
กับละครเวทีทั่วไป เมื่อการแสดงใกล้เริ่ม ผู้ชมทยอยเดินเข้าไปจับจองที่นั่งหน้าเวที ก่อนไฟจะดับลง และไฟบนเวทีจะสว่างขึ้น แต่กับ A Perfect Conversation ผู้ชมเพียงกดเข้าห้องประชุม Zoom ที่ศิลปินทั้งสองตั้งเอาไว้เพื่อจะเจอปูเป้ที่เปิดกล้องเพียงคนเดียวตลอดการแสดง
ในกล่องแชตของ Zoom ผู้ชมจะเจอลิงก์ google docs ให้กดเข้าไปอีกที พื้นที่หน้ากระดาษนั้นเริ่มมีข้อความของศิลปินทั้งสองโผล่มาทักทาย ชวนคุยถึงเรื่องสัพเพเหระสบายๆ เช่น ใครได้เป็นสัตว์อะไรใน google docs หรือช่วงนี้มีใครรู้สึกมีปัญหากับไอเดียเรื่องความสมบูรณ์แบบหรือไม่ จากนั้นปูเป้ก็โยนลิงก์การแสดงโอ้โอดมาให้ดู เมื่อจบก็เป็นคิวของไคที่โยนลิงก์การแสดง Blunt Knife ตามมา
ขณะที่คลิปวิดีโอการแสดงดำเนินไป ในเอกสาร ปูเป้และไคก็ค่อยๆ พิมพ์ถ้อยคำที่เผยความรู้สึก ความกังวล ความคิดแบบวินาทีต่อวินาที ในขณะที่ผู้ชมก็พูดคุยต่อยอดประเด็นของศิลปินได้ด้วย บทสนทนาที่ไหลแล่นทำให้เราเห็นเบื้องลึกจิตใจของศิลปินขณะชมงานของตนเอง ปูเป้เผยถึงความกังวลในเรือนร่างของตัวเองในช่วงต้นคลิป พูดถึงความไม่พอใจบทวิจารณ์ที่จัดให้ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานแบบเฟมินิสต์เพราะเป็นการลดทอนใจความสำคัญของงาน ในขณะที่ผู้ชมยังชวนต่อบทสนทนาถึงช่องว่างระหว่างศิลปินและผู้ชมในการตีความศิลปะ
ส่วนขณะที่คลิปการแสดง Blunt Knife เล่น แทบไม่มีผู้ชมส่งเสียงผ่านตัวอักษร อาจเป็นเพราะทุกคนถูกสะกดด้วยท่วงท่าการแสดงที่ทรงพลังและข้อความอันจริงใจของไคที่เผยเหตุผลที่เลือกการเต้นเป็นเครื่องมือเล่าเรื่อง แต่เมื่อคลิปจบลง ทุกคนก็เริ่มกล่าวขอบคุณที่ไคเล่าเรื่องได้อย่างจริงใจเหลือเกิน
แม้การแสดงทั้งหมดจะไม่มีเสียงดนตรีประกอบ ยกเว้นตอนศิลปินทั้งสองคนผลัดกันเปิดคลิปวิดีโองานแสดงของแต่ละคน แต่ความเงียบนั้นก็ไม่สามารถกลบเสียงบทสนทนาบนหน้าจอลงได้
บทสนทนาครั้งนี้ไม่ใช่บทสนทนาที่มีศิลปินทั้ง 2 คนที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ศิลปินยังให้ผู้ชมเข้ามาเป็นเจ้าของบทสนทนา อนุญาตให้นำพาบทสนทนาไปในทิศทางที่ไม่ได้กะเกณฑ์ไว้ล่วงหน้า และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมเป็นเจ้าของความคิดเห็นของตัวเอง
“ศิลปะการแสดงเหมือนเป็นกิจกรรมทางสังคมในตัว การซ้อมละครต้องมีบทสนทนา การคุยกับโปรดิวเซอร์ก็ต้องมีบทสนทนา การสื่อสารกับผู้ชมก็คือบทสนทนาอย่างหนึ่ง” ไคอธิบาย
“หลายๆ ครั้งฉันมักพยายามหาในอินเทอร์เน็ตว่าจะทำยังไงให้การสื่อสารสมบูรณ์แบบ แล้วก็มักจะเจอกฎว่า ถ้าอยากให้การประชุมมีประสิทธิภาพ ทุกคนต้องมีโอกาสได้พูดในที่ประชุม แม้คนนั้นจะนั่งเงียบตลอดทั้งการประชุมก็ตาม
“แต่สำหรับการแสดงครั้งนี้ เราทำตรงกันข้าม ถ้าผู้ชมอยากพูดก็พูด และถ้าไม่อยากพูดก็ไม่ต้องพูด บางทีอาจจะมีเหตุผลที่ดีที่ทุกคนก็ไม่จำเป็นต้องพูดในทุกๆ เหตุการณ์ก็ได้” ไคเล่าถึงกระบวนการตามหาการสนทนาที่สมบูรณ์แบบ แม้มันอาจจะขัดกับสิ่งที่เคยมีคนบอกไว้
หรือกระทั่งว่าอาจไม่มีจริง
“นั่นเป็นเนเจอร์ของ google docs ด้วย คุณจะทำอะไรก็ได้ในนั้น ไม่ต้องทำตามที่เราบอกก็ได้ มันเป็นพื้นที่ที่ให้คุณได้ตัดสินใจเองว่าจะทำอะไร” ปูเป้เสริม
A perfect performance art (?)
ถึงศิลปินทั้งคู่จะตั้งคำถามกับการมีอยู่ของความสมบูรณ์แบบ แต่ในการแสดงนี้พวกเขาก็ยังอยากทำให้เต็มที่ที่สุด
“ระหว่างกระบวนการสร้างงานชิ้นนี้เราพยายามทำให้มันสมบูรณ์แบบอยู่นะ” ไคหัวเราะเล็กน้อย
“เราเริ่มซ้อมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่ไม่ได้ซ้อมเป็นประจำทุกอาทิตย์ เหมือนเป็นกระบวนการที่เราทำต่อเนื่องด้วยกันมาเรื่อยๆ” ปูเป้ทบทวน
“ระหว่างทาง เราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย มีจุดที่คิดว่าเราทำไม่ได้แน่เลย เพราะการพิมพ์บน google docs เป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับเรามาก เราเป็นคนที่ถนัดใช้ร่างกายในการสื่อสาร เราไม่เคยเขียนงานอย่างบทละคร หรืองานเขียนในเชิงศิลป์ในขณะที่ไคทำงานแนวนี้ได้ดีมาก
“ไคเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองที่ชัดเจนและโดดเด่น มีไอเดียชัดเจนซึ่งเราชื่นชมและนับถือเสมอ ระหว่างการทำงานชิ้นนี้เราจึงได้รับแรงสนับสนุน ความเข้มแข็ง และความกล้าหาญจากไคที่ทำให้เรากล้าที่จะดำดิ่งไปกับความไม่รู้ ความไม่แน่นอน ของการแสดงรูปแบบใหม่ๆ”
ส่วนไคเอง ถึงแม้จะเคยแสดงผลงานผ่าน google docs มาแล้วแต่งานชิ้นนี้ยังทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน
“ประสบการณ์ของเราจะแตกต่างกับปูเป้หน่อยเพราะเราเคยแสดงโชว์ผ่าน google docs หลายครั้ง ช่วงที่โควิด-19 ระบาด แต่การทำงานครั้งนี้ การทำงานหรือพลังของปูเป้ช่วยให้เราไม่ยึดติดกับแนวทางหรือความคิดเดิมๆ ทำให้เราได้ค้นพบวิธีการใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ตั้งคำถามถึงข้อสรุปที่เราเคยมีว่าต้องเป็นยังไง ปูเป้เป็นคนที่ตั้งคำถามในสิ่งที่เราไม่เคยฉุกคิดมาก่อน ทำให้เราได้ปลดปล่อยตัวเองจากประสบการณ์การทำงานในครั้งก่อนๆ กับแพลตฟอร์มนี้ ทำให้การทำงานครั้งนี้เป็นเหมือนการค้นหาอะไรใหม่ๆ สำหรับตัวเราทั้งคู่”
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานหรือบทสนทนาที่ออกมาก็ตาม เราถามพวกเขาว่าทั้งคู่ได้พบความ ‘สมบูรณ์แบบ’ หรือยัง
“การแสดงชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ imperfectly perfect หรือ perfectly imperfect ก็ได้ เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ชิ้นงานสมบูรณ์แบบที่สุด สุดท้ายแล้วอาจขึ้นอยู่กับผู้ชมที่จะตัดสินใจว่าความสมบูรณ์แบบคืออะไร หรืออาจเป็นผู้ชมเองที่ช่วยให้บทสนทนานี้สมบูรณ์แบบ” ปูเป้ตอบอย่างมั่นใจ
การแสดง A Perfect Conversation เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ BIPAM 2021 ที่ชวนผู้ชมและศิลปินมาพบกันแบบออนไลน์ ภายใต้ธีม Ownership หรือความเป็นเจ้าของ
ผู้สนใจสามารถมาร่วมสร้างหรือตั้งคำถามกับบทสนทนาที่สมบูรณ์แบบได้ในการแสดง A Perfect Conversation วันที่ 1-5 กันยายน 2564 สามารถซื้อบัตรเข้าร่วมเทศกาลได้ที่เว็บไซต์ bipam.org หรือเพจเฟซบุ๊ก BIPAM