คุยกับสองผู้อยู่เบื้องหลัง #YESICAN แคมเปญที่ชวนประชาชนมาสู้ไวรัส COVID-19 ไปด้วยกัน

คุยกับสองผู้อยู่เบื้องหลัง #YESICAN แคมเปญที่ชวนประชาชนมาสู้ไวรัส COVID-19 ไปด้วยกัน

Highlights

  • #YESICAN คือแคมเปญที่อยากเชิญชวนคนไทยทุกคนออกมาส่งต่อเรื่องราวและวิธีการช่วยเหลือกันและกันในวิกฤต COVID-19 เริ่มตั้งแต่ดารานักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ ไปจนถึงประชาชนคนธรรมดา หรือกระทั่งภาคธุรกิจและองค์กรเอกชน
  • ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากไอเดียของ เอี่ยว–ศิวะภาค เจียรวนาลี ครีเอทีฟไดเรกเตอร์เครือบริษัทสื่อ day poets และ ชาย–สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม ผู้บริหารดิจิทัลเอเจนซีชื่อดังอย่าง CJ WORX ที่อยากแก้ปัญหาโดยอาศัยการร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมไอเดีย ผ่านทางโลกออนไลน์ของทุกคน
  • แคมเปญนี้เน้นการกระตุ้นให้คนใช้ชีวิตโดยยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินไป สุดท้ายเมื่อสังคมเริ่มเคลื่อนไปได้ แต่ละคนเริ่มยืนได้ด้วยลำแข้งแม้รัฐไม่ยื่นมือมาช่วย พวกเขาเชื่อว่าผลกระทบที่หนักหนาในตอนนี้น่าจะบรรเทาลง

ไม่บอกก็รู้ใช่ไหมว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต การระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแทบจะรายนาที และไม่เพียงเรื่องสุขอนามัย ผลกระทบที่ว่าลุกลามติดต่อไปยังหลายมิติของชีวิต ความคิด การใช้ชีวิต เศรษฐกิจ ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างความเป็นไปในสังคม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทั้งหมดนี้คือ ‘ปัญหา’ ที่ต้องรีบหาทางแก้

ว่าแต่ ‘ทางแก้’ ที่ว่าคืออะไร

ที่ผ่านมาการจัดการของรัฐก่อให้เกิดคำถามและความเดือดดาลในสังคมมากขึ้นทุกวัน ทางแก้ที่ไม่มีประสิทธิภาพและการสั่งการที่ไม่เด็ดขาดทำให้เกิดเสียงสะท้อนอันนำมาซึ่งความต้องการในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญคือเบื้องหลังเสียงเหล่านั้นไวรัสยังคงแพร่กระจายต่อไปโดยปราศจากยารักษา 

‘แล้วเราทำอะไรกันได้บ้างในเวลาแบบนี้’ ความสงสัยนี้เกิดขึ้นในความคิดของ เอี่ยว–ศิวะภาค เจียรวนาลี ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ประจำเครือบริษัทสื่อ day poets และ ชาย–สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม ผู้บริหารดิจิทัลเอเจนซีชื่อดังอย่าง CJ WORX 

นั่นจึงเป็นที่มาของแฮชแท็ก #YESICAN แคมเปญที่พวกเขาเริ่มสร้างขึ้นมาร่วมกัน

อธิบายอย่างสั้น แคมเปญนี้คือการเชิญชวนคนไทยทุกคนออกมาส่งต่อเรื่องราวและวิธีการช่วยเหลือกันและกันในเวลานี้ เริ่มตั้งแต่ดารานักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ ไปจนถึงประชาชนคนธรรมดา หรือกระทั่งภาคธุรกิจและองค์กรเอกชน

พูดง่ายๆ คือเอี่ยวและชายอยากแก้ปัญหาที่เริ่มลุกลามในปัจจุบันโดยอาศัยการร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมไอเดีย จากทุกคนในสังคม

ไม่กี่วันที่ผ่านมาคนดังและประชาชนในโซเชียลมีเดียเริ่มแชร์วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ มากมายพร้อมติดแฮชแท็กนี้ กระแสที่เกิดขึ้นเริ่มจุดติด องค์ความรู้และกำลังใจเริ่มถูกส่งต่อ แต่ภายใต้ความเคลื่อนไหวที่เพิ่มเริ่มต้น ที่มาที่ไปของ #YESICAN คืออะไรกันแน่

เราถามคำถามนี้กับเอี่ยวและชาย

พวกเขาตอบรับในการเล่าเรื่องทั้งหมดกับเราว่า ‘Yes, I can.’ 

ทำไมต้องตอนนี้และเดี๋ยวนี้

เอี่ยว : ที่มาที่ไปของแคมเปญนี้เริ่มจากคำถามเล็กๆ ตอนที่เราเห็นว่าสถานการณ์ COVID-19 เริ่มไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตอนนั้นเราตั้งคำถามว่าเราทำอะไรได้บ้างที่มากกว่าการทำงานปกติ เพราะในฐานะของคนในแวดวงสื่อเราคิดว่าสิ่งที่สังคมต้องการมากๆ คือแสงสว่างบางอย่างที่มาคอยบอกว่าทุกคนควรทำอะไร นี่ไม่ใช่การสำคัญตนผิด แต่มันเกิดจากการที่เรารู้ว่าการสื่อสารของเรามีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

เรากำคำถามนี้ไว้ในใจ จนวันหนึ่งก็คิดว่าถ้าสิ่งนี้ออกมาเป็นแคมเปญบางอย่างน่าจะดี แต่เราเองรู้ว่าด้วยตัวคนเดียวเราอาจทำไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น เราน่าจะต้องหาคนมาร่วม ดังนั้นจึงคิดถึงคนในวงการสร้างสรรค์ที่พอรู้จัก และหนึ่งในนั้นที่เราคุยด้วยบ่อยคือ CJ WORX เราจึงลองคุยกับพี่ชายถึงไอเดียนี้

ชาย : ทางฝั่งผมพอเอี่ยวทักมาคุย ผมคิดทันทีว่าสิ่งนี้น่าสนใจ เพราะผมเป็นนักโฆษณาที่ผ่านมาผมได้รับโจทย์ให้ช่วยขายสินค้า แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังและอยากทำมากคือการได้ช่วยเหลือคนจริงๆ ไม่ใช่แค่โฆษณา ดังนั้นผมจึงมองว่าคำชวนนี้เป็นเรื่องดี ผมเองพอมีโมเดลบางอย่างอยู่ในหัวอยู่แล้ว ดังนั้นพอรับโจทย์มาผมคิดทันทีว่าเราน่าจะทำให้เกิดอะไรบางอย่างได้ เพียงแต่สิ่งที่ผมอยากให้เกิดกับแคมเปญนี้มากที่สุดคือแอ็กชั่น ไม่ใช่การไปบอกว่าอย่ากลัว COVID-19 นะ เพราะมันไม่จริง ทุกคนกลัวมัน แต่ผมคิดต่อไปว่า แล้วในภาวะแบบนี้ทำยังไงดีให้เศรษฐกิจไม่หยุด เพราะตอนนี้สิ่งที่ล็อกเราไว้คือความกลัวที่ทำให้เราไม่ใช้ชีวิต ห่วงโซ่ของการใช้เงินในเศรษฐกิจจึงหยุดลง ดังนั้นทีมเรานั่งเบรนสตอร์มกันอยู่หลายวันกับโจทย์ที่ว่า ‘ทำยังไงให้คนออกไปใช้ชีวิตปกติโดยที่อยู่ในขอบเขตของความปลอดภัย’ คิดไปคิดมาจนตกตะกอนออกมาเป็น #YESICAN

ทำไมปัญหาเรื่องไวรัสต้องเน้นแก้เศรษฐกิจ

ชาย : ผมเข้าใจว่าคนจำนวนหนึ่งอาจยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไขในจุดนี้ ผมคิดว่านั่นเป็นเพราะเรายังไม่อดอยาก แต่ประเด็นคือวิกฤตนี้กำลังทำให้อีกหลายคนมีปัญหาจริงๆ ตัวอย่างเช่นผมไปเจอข่าวหนึ่งที่ญี่ปุ่น บริษัทรถทัวร์ไล่คนงานขับรถที่ขับมาเป็น 10 ปีออกเพราะตอนนี้ไม่มีทัวร์จีนที่ญี่ปุ่นแล้ว คนงานที่ขับรถก็ไปทำอย่างอื่นไม่ได้เพราะเขาขับรถมาเป็น 10 ปี เขาไม่มีลู่ทางอื่น

ผมจึงมองว่านี่แหละคือปฏิกิริยาลูกโซ่ เศรษฐกิจคือปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากไวรัส และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้วเช่นกัน การที่ทุกคนหยุดจับจ่ายคือการตัดระบบและโอกาสของหลายคน อย่างที่ผมไปเจอมาคือตอนนี้หลายคนไม่มีงานและไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อหน้ากากด้วยซ้ำ ดังนั้นทำยังไงล่ะที่พวกเราจะช่วยเขาได้ คำถามนี้เองจึงเป็นที่มาสำคัญของแคมเปญ

แล้วคนที่ควรแก้ไขล่ะ

เอี่ยว : เราทราบว่าถ้ามองกันในเชิงโครงสร้างจริงๆ เราก่นด่าแน่นอน แต่สิ่งที่อยากชวนคิดคือแล้วมีทางอื่นไหมที่ทำให้ทุกอย่างในตอนนี้ดีขึ้น โกรธได้ ไม่ว่าเลย ควรโกรธ แต่ระหว่างนั้นพวกเราต้องดีขึ้นด้วย ดังนั้นเราระวังกันมากตอนที่คิดจะทำเมสเซจนี้ออกไป ใช่ เราอยากชวนคนลุกขึ้นมาสู้ด้วยกัน แต่เราก็ยืนยันว่าวิธีการสู้ต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับปัญหา คล้ายๆ กับการเอาปัญหามาวางบนโต๊ะและชวนทุกคนที่ถนัดแต่ละอย่างมาคิดว่าจะแก้ยังไงในแบบที่ปลอดภัย เราอยากแก้ปัญหานี้ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ซึ่งเราที่มาจากฝั่งสื่ออยากเป็นกระบอกเสียงที่บอกสังคมว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร รวมถึงส่งต่อคอนเทนต์ดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก

ชาย : สำหรับผมก็เหมือนกัน ผมอยากได้วิธีแก้ปัญหา เรารอกันไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาในตอนนี้ต้องรีบแก้จริงๆ ดังนั้นสิ่งที่เราทำจึงคล้ายกับการทำ crowdsourcing ผมคิดว่านี่เป็นการช่วยเหลือกันของสังคมที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด และทำได้ทันที

เรามีส่วนร่วมยังไงได้บ้าง

ชาย : แคมเปญนี้เป็นเหมือนการแชร์ไอเดียเพื่อกระตุ้นว่าพวกเราทำอะไรได้บ้าง อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เช่น ใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดมากกว่าจับธนบัตร ซื้อของออนไลน์ หรือถ้าจำเป็นต้องออกข้างนอกจริงๆ การจับจ่ายให้เงินหมุนเวียนในสังคมอย่างทั่วถึงก็เป็นสิ่งจำเป็น

ทั้งหมดนี้เป็นการขอความร่วมมือ ในเฟสแรกคือให้อินฟลูเอนเซอร์มาแชร์เรื่องราวตรงนี้ แต่ในเฟสที่ 2 จะไม่ใช่แค่ดารา เราอยากขอใจจากคนทั้งประเทศ เราอยากเห็นทุกคนมาพร้อมกับไอเดียแอ็กชั่นบางอย่าง ใครมีไอเดียในการช่วยเหลือสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง เราอยากรวมไว้ในที่เดียวใน #YESICAN เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่

สุดท้ายในเฟสที่ 3 เราอยากได้การช่วยเหลือจากเอกชน ไม่ใช่แค่เงินหรือการบริจาค อย่างนั้นผมไม่ต้องการ ผมอยากได้แอ็กชั่นที่ช่วยเหลือกันจริงๆ อย่างตอนนี้ที่ตกลงร่วมช่วยแล้วคือแบรนด์ Dettol เขาอาสาทำความสะอาดถนนสาธารณะให้ หรือห้างสรรพสินค้าอีกหลายเจ้าก็ตอบตกลงช่วยทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะบริเวณหน้าห้าง รวมถึงชุมชนบางแห่งเขาก็ตอบตกลงร่วมช่วยกับเรา เช่น ชุมชนบริเวณถนนข้าวสาร พวกเขาอาสาทำความสะอาดบริเวณนั้นทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ใครช่วยอะไรได้เราก็อยากให้ออกมาช่วยกัน และถ้าจิ๊กซอว์นี้ต่อกันทั้งประเทศมันคงเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเหตุการณ์นี้ยิ่งใหญ่ระดับโลก เราไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้เพียงหน่วยงานเล็กๆ ทุกคนต้องช่วยกัน

เอี่ยว : สุดท้ายเราอยากให้แคมเปญนี้เป็นเหมือนการแพร่กระจายของไวรัสนั่นแหละ แต่นี่ไม่ใช่ไวรัสที่คร่าชีวิต มันเป็นไวรัสที่ช่วยเหลือคนและเศรษฐกิจ สิ่งที่น่าประหลาดใจคือตอนนี้พอเราไปปรึกษาหรือขอความร่วมมือจากใคร ทุกคนมีสิ่งที่คิดจะทำอยู่แล้ว อยากช่วยอยู่แล้ว หรือบางคนเริ่มทำไปแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นในท้ายที่สุดเราตั้งใจให้ #YESICAN เป็นกระบอกเสียงให้คนเหล่านี้เพื่อให้วิธีแก้ไขปัญหากระจายต่อไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าหลายคนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างจากการเห็นคนอื่นทำ เราอยากให้แคมเปญนี้ช่วยเพิ่มพลังและความมั่นใจให้กับอีกหลายคนว่าเราต่างทำสิ่งนี้ได้

คาดหวังอะไรจากแคมเปญนี้

ชาย : เราต้องการตัวอย่าง อะไรที่คุณทำแล้วดีและปลอดภัยบอกเรามาหน่อย คุณช่วยคนอื่นได้จริงๆ

เอี่ยว : เราไม่อยากให้แคมเปญนี้เป็นแคมเปญที่โลกสวยมากๆ แล้วหายไป เราอยากให้มันเป็นแคมเปญที่ดีทั้งจิตใจ แอ็กชั่น และความรู้ที่ถูกต้อง เราให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ด้าน พูดตามตรงเรามีความหวังกับโปรเจกต์นี้มากเพราะมีคนทำอยู่แล้วจริงๆ เราแค่ไปหาเขาและเอาเมสเซจที่อยู่ในพื้นที่ของเขาออกมาสู่วงอื่น วงอื่นจะได้เห็น มีกำลังใจ และอาจต่อยอดได้

เราต้องการการร่วมมือกันครั้งใหญ่มากๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งอีกแล้ว

AUTHOR