ส่องไต้หวันผ่านวิกฤตไวรัส COVID-19 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก WHO แต่การแพทย์ติดอันดับ

Highlights

  • ไต้หวันคือหนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวต่อการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 เป็นประเทศแรกๆ
  • เหตุผลหนึ่งที่ไต้หวันจริงจังอย่างมากในเรื่องสาธารณสุขเพราะไต้หวันไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิก WHO หลายครั้งจึงไม่ได้รับข้อมูลหรือความช่วยเหลือจากนานาชาติ
  • ในแง่ภูมิศาสตร์ไต้หวันเสี่ยงต่อการระบาดจากจีนมากๆ แถมยังมีปัจจัยด้านการเมืองเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นไปอีก
  • ไต้หวันเองก็เรียกร้องอยู่บ่อยๆ ว่าการสาธารณสุขไม่ควรถูกกีดกันและนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

หัวข้อใหญ่ในช่วงนี้ยังไงก็คงหนีไม่พ้นเรื่องไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 และก็เป็นอีกครั้งที่ไต้หวันมีบทบาทในฐานะอีกตัวละครโดดเด่นในฐานะด่านหน้าที่อยู่ติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ และหนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวต่อการระบาดเป็นประเทศแรกๆ และมีนโยบายที่หลายฝ่ายชื่นชม

นโยบายหลักๆ ของไต้หวันที่หลายคนพูดถึงก็คือนโยบายการจำกัดจำนวนและขายหน้ากากอนามัยในราคาถูกของรัฐบาล เพื่อให้มีการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึงในภาวะที่อาจเกิดการกักตุนสินค้าเกิดขึ้น แต่อะไรที่หลายคนพูดถึงไปแล้วเราก็จะไม่พูดซ้ำในบทความนี้ ขอเล่าถึงด้านอื่นๆ ที่ยังไม่ค่อยพูดกันดีกว่า

เรื่องการสาธารณสุขไต้หวันนั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วทั้งในเรื่องคุณภาพและการบริการ โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) ลองจินตนาการถึงระบบบัตรทองบ้านเราที่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าหน่อย (50-550 NTD ต่อครั้ง) แต่สามารถเข้ารับบริการได้ทั้งในคลินิกใกล้บ้าน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ หรือกรณีที่ผู้ป่วยติดเตียงก็มีแพทย์ไปให้บริการถึงบ้าน รองรับทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนจีน ทันตแพทย์ ไม่ต้องนั่งรอนานเป็นวัน มีการกระจายเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์อย่างทั่วถึง มีคุณภาพถึงระดับที่คนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ไม่จำเป็นต้องคิดถึงการซื้อประกันอื่นๆ เสริมอีก

และที่สำคัญคือ บริการนี้ครอบคลุมทั้งชาวไต้หวันทุกเพศทุกวัย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไต้หวันทุกกรณีด้วย

 

สถานการณ์ Covid-19 และความจริงจังของไต้หวัน

ในความเห็นของเรา เหตุผลหนึ่งที่ไต้หวันจริงจังอย่างมากในเรื่องสาธารณสุขเพราะไต้หวันไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิก WHO หลายครั้งจึงไม่ได้รับข้อมูลหรือความช่วยเหลือจากนานาชาติเท่ากับประเทศสมาชิก ไต้หวันจึงเร่งพัฒนาการแพทย์และระบบสาธารณสุขให้ดี ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด อีกส่วนก็เพื่อใช้ความก้าวหน้าตรงนี้เจรจาขอเข้าร่วมกับการประชุมของ WHO ในฐานะสมาชิก

สำหรับสถานการณ์ Covid-19 ในไต้หวัน ณ ตอนที่เรากำลังเขียนบทความนี้อยู่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อบนเกาะมีทั้งหมด 28 ราย เสียชีวิต 1 ราย (ข้อมูลอัพเดตวันที่ 23 กุมภาพันธ์) ความเคลื่อนไหวแรกๆ ของไต้หวันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ทางการจีนรายงานถึงเคสของโรคลึกลับในอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 ทางการเริ่มตรวจเช็กผู้โดยสารบนไฟลต์ทุกไฟลต์ที่บินตรงจากอู่ฮั่นทันที

ต่อมาวันที่ 15 มกราคมก็ประกาศให้เป็นโรคติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวัง ทำให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ต้องรายงานเคสที่เข้าข่ายต่อส่วนกลางอย่างรวดเร็ว และอีกวันถัดมารัฐบาลก็แจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น และปัจจุบันก็แนะนำให้ชาวไต้หวันเลี่ยงเดินทางไปยังจีน ฮ่องกง และมาเก๊า และห้ามประชาชนจากทั้งสามแห่งเดินทางเข้าไต้หวันเรียบร้อย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลี อยู่ในลิสต์ประเทศที่แนะนำให้ชาวไต้หวันดูแลสุขภาพเป็นพิเศษระหว่างเดินทาง ส่วนไทย ให้ดูแลสุขภาพตามข้อแนะนำปกติ

 

ประชาชนต้องมาก่อน

มีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ชวนให้คิดว่ารัฐบาลไต้หวันคิดถึงประชาชนเป็นหลักดีจัง และทางฝั่งเอกชนก็แอ็กทีฟกับประเด็นสาธารณะกันมากในช่วงวิกฤตไวรัสครั้งนี้

อย่างแรกคือการเพิ่มข้อมูลประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างจีน ฮ่องกง มาเก๊า ลงในบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHI Card) โดยจะเพิ่มข้อมูลส่วนนี้เฉพาะในบัตรของผู้มีประวัติการเดินทาง และเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดเท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ตรวจสอบได้รวดเร็วและป้องกันการโกหกของผู้ป่วย

อย่างที่สองคือรัฐบาลเขากำลังร่างกฎหมายให้ผู้ที่ต้องกักบริเวณตัวเองยังสามารถได้รับเงินเดือนได้ตามปกติ หรือถ้านายจ้างไม่ยินยอมจ่ายให้ รัฐบาลก็จะเป็นคนจ่ายเงินชดเชยให้เอง และยังครอบคลุมไปถึงเงินพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเททำงานหนักในช่วงนี้ด้วย

อย่างสุดท้ายที่เราประทับใจมากๆ คือทางเอกชนของไต้หวันอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสจากทางการที่เปิดเป็นสาธารณะมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มแสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเข้าใจง่ายที่ mask.goodideas-studio.com บอกรายละเอียดเกี่ยวกับการหาซื้อหน้ากากอนามัยว่ายังมีที่ไหนขายอยู่บ้าง แต่ละร้านเหลือหน้ากากอนามัยอยู่เท่าไหร่ และที่ coronavirus.app ที่อ้างอิงข้อมูลจากหลายแห่ง มีทั้งเวอร์ชั่นภาษาจีนตัวเต็ม ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเกาหลี ทำเป็น interactive infographic บอกสถิติของผู้ติดเชื้อทั่วโลกและสถานที่หาซื้อหน้ากากอนามัยในไต้หวัน

 

การเมืองเรื่อง COVID-19

อีกข่าวหนึ่งที่อยากเล่า เพราะเป็นข่าวใหญ่โด่งดังมากในไต้หวันแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไหร่ในต่างประเทศคือเรื่องที่มีชาวไต้หวันติดอยู่ในอู่ฮั่นจำนวนมากหลังจากปิดเมือง เมื่อทางการไต้หวันติดต่อขออพยพชาวไต้หวันกลับมา แรกๆ ก็ถูกทางการจีนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าชาวไต้หวันได้รับการดูแลอย่างดีและสุขภาพแข็งแรงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่สุดท้ายก็มีการตกลงว่าทางการจีนจะจัดไฟลต์ส่งตัวชาวไต้หวันชุดแรก 247 คนกลับมาโดยสายการบิน China Eastern Airlines โดยให้สิทธิกับผู้ที่มีความจำเป็นมากกว่าก่อนอย่างเด็กและคนชรา

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ไฟลต์ที่ว่าก็ลงจอดที่สนามบินเถาหยวน เรื่องราวกลับกลายเป็นว่าไฟลต์บินดังกล่าวมีคนไม่สบาย 3 คน ภายหลังตรวจพบว่าติดเชื้อโคโรน่า 1 คน และในจำนวน 247 คนนั้นมีหลายคนที่เป็นคู่สมรสหรือบุตรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไต้หวัน กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ชาวไต้หวันหลายคนโมโหกันมาก เพราะนอกจากจะทิ้งบอมบ์ผู้ป่วยติดเชื้อไว้บนเครื่องบินแล้ว ยังให้สิทธิกับคนที่ไม่ใช่คนไต้หวันและไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องส่งตัวกลับก่อนอีก

หลังเหตุการณ์นี้มีคนใหญ่คนโตถึงกับร้องไห้ออกสื่อ 2 คน คนแรกคือนายเฉินซื่อจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่กลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวระหว่างแถลงข่าวยืนยันผู้ติดเชื้อจากไฟลต์ดังกล่าว ซึ่งนับเป็นรายที่ 11 ของไต้หวัน ส่วนอีกคนคือนายสวีเจิ้งเหวิน สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง และชาวไต้หวันที่รับหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากฝั่งจีนจัดรายชื่อผู้โดยสารบนไฟลต์ดังกล่าวก็ให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาหลังถูกโจมตีอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่าชาวไต้หวันที่ได้อพยพไม่ควรต้องทิ้งลูกเมียไว้ลำพัง และทุกคนควรได้อยู่พร้อมหน้าหลังจากพลาดโอกาสในช่วงตรุษจีนไปแล้ว

 

สัปดาห์ต่อมา ไต้หวันประกาศไม่อนุญาตให้ลูกครึ่งไต้หวัน-จีนที่อาศัยในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง หรือมาเก๊า และไม่ได้ถือสัญชาติไต้หวันเข้าประเทศ โดยบอกว่าเป็นการตัดปัญหาความเสี่ยงของโรคระบาดที่จะเพิ่มแรงกดดันให้กับเจ้าหน้าที่การแพทย์ และเมื่อตัดสินใจเลือกสัญชาติไปแล้วก็ต้องยอมรับผลของการตัดสินใจด้วย แถมพอ WHO ประกาศเปลี่ยนชื่อเรียกของไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่นเป็น COVID-19 ไต้หวันก็ฟาดกลับเบาๆ ว่าการสื่อสารใดๆ ไปยังคนทั่วไปควรทำให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย ทางเราไม่เห็นว่าการเปลี่ยนชื่อไปมาจะช่วยตรงนี้อย่างไร เลยจะยังใช้ชื่อไวรัสอู่ฮั่นเหมือนเดิมเพื่อป้องกันการสับสนในการสื่อสารแก่คนทั่วไป

ในแง่ภูมิศาสตร์ ไต้หวันเสี่ยงต่อการระบาดจากจีนมากๆ แถมยังมีปัจจัยด้านการเมืองเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นไปอีก แต่เพราะความตื่นตัวเป็นพิเศษของทุกฝ่ายบนเกาะทำให้ยังควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แม้ความตื่นตัวเป็นพิเศษส่วนหนึ่งจะมาจากสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับจีนแผ่นดินใหญ่แต่เรื่องนี้ก็ไม่อาจนับเป็นเรื่องดีๆ ที่มากับปัญหาได้

เพราะไต้หวันเองก็เรียกร้องอยู่บ่อยๆ ว่าการสาธารณสุขไม่ควรถูกกีดกันและนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ก็ดูเหมือนไต้หวันกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ยังไงๆ ก็หนีกันไม่พ้นจริงๆ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ