ภาวะ infodemic : เมื่อโรคระบาดแพร่กระจายไปพร้อมข้อมูลปลอม

Highlights

  • โรคระบาดครั้งนี้ก่อให้เกิดข่าวปลอม (Fake News) ขึ้นมากมายจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนให้ระมัดระวังภัยจาก Infodemic ด้วย
  • Infodemic เป็นคำผสมจาก Information (ข้อมูล) + Pandemic (โรคระบาด) มาประกอบกันแปลว่า คือภัยพิบัติจากข้อมูลข่าวสารผิดเพี้ยนอันเกิดขึ้นคู่กับภัยโรคระบาดที่กระจายไปทั่ว เป็นภัยที่สามารถส่งต่อได้ง่ายเพียงคลิกแชร์หรือเล่าต่อ

เมื่อเกิดโรคร้าย เราจมไปในคลื่นแห่งข้อมูลจนสับสนหลงทาง ทำตัวไม่ถูก

“เพื่อนที่อยู่ในเมืองจีนบอกว่า…”
“วงในบอกว่า….”
“หมอบอกว่า….”
“ได้ข่าวมาว่า….”

ตั้งแต่ต้นปี 2020 หลังเกิดการอุบัติภัยโรคระบาดของไวรัสโคโรนาหรือไวรัส COVID-19 พอโรคแพร่กระจายตัวจากเพียงถิ่นหนึ่งไปสู่ทั้งโลกอย่างรวดเร็ว หลายคนได้รับข่าวปลอมนับครั้งไม่ถ้วนจากทุกช่องทาง มีข้อมูล ข่าวสาร คำบอกเล่าหลั่งไหลไม่ขาดสายให้เราได้รับทราบ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไว ชวนให้หวั่นระวังภัย

สิ่งที่ติดตามมากับโรคร้ายคือ ‘ข่าวปลอม’ และ ‘ข่าวลือ’ ระบาดทั่วไปทั้งโลก ทุกแพลตฟอร์ม

 

infodemic โปรดระวังภัยข้อมูลที่หลั่งไหลไม่ขาดสายแพร่ไปพร้อมกับโรคระบาด

เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือโรคร้าย เกิดข่าวสารและคำกล่าวอ้างมากมายทำให้เราตื่นตระหนก การระบาดครั้งนี้ก่อให้เกิดข่าวปลอม (fake news) ขึ้นมากมายจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนให้ระมัดระวังภัยจาก infodemic ที่ตามมาด้วย

infodemic (n.) มาจาก information (ข้อมูล) + pandemic (โรคระบาด) ประกอบกัน แปลว่า ภัยพิบัติจากข้อมูลข่าวสารผิดเพี้ยนอันเกิดขึ้นคู่กับภัยโรคระบาดที่กระจายไปทั่ว เป็นภัยที่สามารถส่งต่อได้ง่ายเพียงคลิกแชร์หรือเล่าต่อให้สู่คนรอบตัว เพราะเมื่อมีข้อมูลหรือข่าวโคมลอยออกมามากเกินไป ข่าวจำนวนมากเป็นเพียงคลื่นรบกวน ข้อมูลจำนวนมากไม่ใช่ ‘ข้อเท็จจริง’ บ้างมีอคติปนผสมอยู่ เป็นเพียงความคิดเห็น บ้างเป็นการโจมตีสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยขาดหลักฐาน

นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อข้อมูลวิธีการรักษาอันน่าอัศจรรย์จำนวนมากแต่น่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม น้ำมะนาว ปัสสาวะ หรือยาวิเศษอื่นใดที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าช่วยป้องกันโรคหรือช่วยบรรเทาโรคให้หายได้จริงโดยไม่ต้องพึ่งแพทย์ ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งต่อจนกลายเป็นสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ และความเข้าใจผิดให้กับคนทั่วไปแทนที่จะเข้ารับการรักษาและป้องกันการแพร่กระจายอย่างถูกวิธี

นอกจากต้องระวังตัวจากโรคระบาด ในยุคนี้เราต้องระวังตัวให้ปลอดภัยต่อข่าวปลอมและเรื่องเท็จ เพราะเราต่างมีโอกาสที่จะตระหนกตกใจ เผลอส่งต่อข่าวปลอมออกไปสู่เพื่อนฝูงคนรอบตัวด้วยความที่ไม่รู้แต่หวังดี ข่าวลวงเหล่านี้ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการตัดสินใจเพื่อการหาทางออกที่เหมาะสม ทำให้เราทำสิ่งที่ไม่จำเป็น วิตกเกินกว่าเหตุ เกิดความคิดไม่เป็นเหตุเป็นผลบางประการ แต่ละเลยสิ่งที่ควรทำ

เมื่อเห็นถึงภัย infodemic ที่เกิดขึ้น WHO ร่วมมือกับ Pinterest แพลตฟอร์มสำหรับแชร์ภาพ ให้ทุกครั้งที่มีคนเสิร์ชหาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ระบบจะลิงก์ไปหน้าข้อมูลรวมภาพถูกต้องเพื่อช่วยสรุปความเข้าใจผิดหรือ mythbuster เกี่ยวกับโรคระบาดนี้ เช่น

  • วิธีลดความเสี่ยง
  • เมื่อไหร่ที่ควรสวมหน้ากาก
  • วิธีการล้างมือที่ถูกต้อง
  • ก่อนสวมและถอดหน้ากากควรล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำเปล่า
  • การระวังเรื่องอาหารที่ปลอดภัย
  • วิธีการเดินทางให้ปลอดภัย เมื่อไหร่ที่ควรระวัง งดการเดินทาง

 

WHO ยังต้องร่วมมือประสานงานกับบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่คนใช้ในการส่งต่อข่าวสารในชีวิตประจำวัน เช่น Facebook, Twitter, Google, WeChat รวมถึง Tiktok เพื่อนำพาไปสู่ข้อมูลที่ถูกต้องและร่วมกันกำจัดข่าวเท็จหรือข่าวลือให้หายไปจากไทม์ไลน์ของผู้ใช้  รวมทั้งแทรกข้อมูลที่ถูกต้องในประสบการณ์การใช้งาน เช่น ทุกครั้งที่คนเสิร์ชกูเกิลจะมีข่าวสารที่ถูกต้องขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ 

ข้อมูลเหล่านี้ที่ผู้คนส่งต่อให้กันในช่วงแรกของโรคก่อนจะระบุได้ชัดเจนเป็นทางการ กลายเป็น archive ให้นักวิจัยได้ใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อศึกษาแพตเทิร์นของข้อมูลเมื่อเกิดการอุบัติของโรคระบาดในอนาคตได้

นอกจากนี้แพลตฟอร์มอย่าง Weibo และ WeChat ในประเทศจีนกลายเป็นศูนย์รวมความอาลัย รำลึกแด่ผู้ที่จากไปด้วยไวรัสนี้ และเป็นที่รวมข่าวสารการแพร่กระจาย รวบรวมการบริจาค อาสาสมัคร และช่วยเหลือกันในชุมชน

การเซนเซอร์ข่าวด้านลบให้หายไปก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี เมื่อเกิดการปิดบังข้อมูล ผู้คนในสังคมเลยต้องส่งต่อข้อมูลกันเอง และ ‘ข้อเท็จจริง’ ก็มีโอกาสปนเปื้อนได้ง่ายมาก การปกปิดความจริงทำให้ผู้คนเสียความมั่นใจและเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาล และประเมินสถานการณ์ไม่ถูกว่าควรระวังตัวแค่ไหน ทำให้คนส่วนหนึ่งละเลยไม่เตรียมตัวป้องกันเท่าที่ควร

 

ภัยของข้อมูลร้ายๆ กระทบเราทุกคนได้อย่างไร

สิ่งที่ทรมานใจไม่แพ้โรคร้ายคือการติดตามข่าวด้วยความวิตกกังวลหรือโกรธแค้น บางคนนอนไม่หลับ และเกิดอาการ panic attack กำเริบ และเกิดความเครียดจนดำรงชีวิตอย่างไม่เป็นสุข หรือกระทั่งหักห้ามตัวเองจากชีวิตประจำวันปกติ

ด้วยความหวาดวิตกในโรคใหม่นี้ เราได้เห็นข่าวคนเชื้อสายเอเชียถูกเหยียดผิวและเชื้อชาติทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตประจำวัน เพียงเพราะพูดภาษาจีน หน้าตาดูเป็นคนเอเชีย โดนถูกเหมารวมว่าเป็นตัวเชื้อโรคที่อันตรายน่ารังเกียจ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเลยก็ตาม เพราะไม่ใช่คนจีนทุกคนที่เป็นพาหะนำโรค หลายคนเป็นพลเมืองประเทศตะวันตก เกิดและโตที่นั่น และไม่เคยเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดหรือได้ปฏิสัมพันธ์กับคนในกลุ่มเสี่ยงด้วยซ้ำ

อย่าลืมว่าโรคนี้ไม่ได้ผูกติดกับเชื้อชาติหรือสีผิว เราตัดสินคนจากรูปพรรณสัณฐานอย่างเดียวไม่ได้ ควรตรวจดูประวัติการเดินทางและปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ใครก็สามารถเป็นพาหะได้ สืบพบว่าชายชาวสหราชอาณาจักรคนหนึ่งที่มาสัมมนาที่สิงคโปร์เป็นต้นตอของผู้ติดเชื้ออีกหลายรายในยุโรปและอังกฤษ โดยที่เขาไม่ได้แสดงอาการป่วย

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกผู้ที่แพร่โรคต่อให้คนจำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ย คือ super spreader โรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ทั้งโลกพยายามเข้าใจ แถมยังติดต่อได้ง่ายมาก หากรู้สึกว่าเสี่ยงก็ควรรีบไปตรวจมากกว่ากลัวการถูกประณามจากสังคม ชาวเกาหลีคนหนึ่งเชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดเคสใหม่ถึงหลายรายในเกาหลี ทำให้เคสผู้ติดเชื้อในประเทศเกาหลีเพิ่มอย่างรวดเร็ว

COVID-19 เป็นโรคใหม่ที่ทั่วโลกกำลังพยายามเข้าใจและถอดรหัส คนที่ติดเชื้อก็คือคนอย่างเราๆ และอาจไม่แสดงอาการจนสามารถส่งต่อให้คนอื่นได้จำนวนมาก 

 

ภัยอีกอย่างจาก infodemic คือความวิตกของมวลชนที่มีอย่างท่วมท้น ทำให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเบื้องต้นไม่กล้าออกไปขอความช่วยเหลือจากทางการ ไม่กล้าไปรับการตรวจและการรักษา เพราะกลัวว่าจะถูกสังคมรังเกียจว่าเป็นตัวแพร่โรคร้ายที่อันตราย แต่ยิ่งปล่อยทิ้งไว้ยิ่งมีโอกาสแพร่ต่อให้คนรอบตัวได้มากขึ้นไปอีก

การตั้ง ‘ชื่อโรค’ มีผลกับทัศนคติของผู้คนที่มีต่อโรค โรคระบาดของไวรัสโคโรนาหรือชื่อเดิมที่ไม่เป็นทางการคือ ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ และต่อมาได้รับการตั้งชื่อสากลอย่างเป็นทางการว่า COVID-19 เพราะ WHO เห็นว่าการผูกชื่อโรคไว้กับ ‘สถานที่’ นั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ควรหาชื่อเรียกที่เรียกง่าย ใช้ทั่วไป และไม่ผูกไว้กับเชื้อชาติ สัตว์สปีชีส์ไหน หรือสถานที่แห่งใด

แน่นอนว่า มนุษย์อย่างเราๆ ย่อมต้องสนใจและตกใจกับข่าวร้ายและโรคภัยเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ข่าว เหตุการณ์ที่น่ากลัว และตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทำให้เราต้องตื่นตัวและระวัง เรายอมตื่นตระหนก ประหวั่นพรั่นพรึง ดีกว่าระวังไม่มากพอจนต้องเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากความละเลย

พอข้อมูลข่าวสารที่มีมากทั้งวัน ติดต่อกันหลายวัน แถมยังมีข่าวปลอมเยอะกว่าจริงทำให้คนเริ่มเบื่อหน่ายเลิกสนใจไปเอง เพราะเราแทบไม่แน่ใจว่าอันไหนจริงไม่จริง ทำให้ผู้คนลดความระมัดระวังลงไปจากการป้องกันตัว จนเตรียมตัวและเตรียมใจไม่ถูก และประเมินไม่ได้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงแค่ไหน ใช้ชีวิตแบบไหนดี เรากลัวมากไปหรือน้อยไป

ข้อมูลที่ผิดหรือ misinformation เกิดขึ้นได้ง่ายมากเมื่อมีความกลัวและความตื่นตระหนกเป็นตัวกลางชั้นดี นำไปสู่การซื้อของที่ไม่จำเป็นจากความตื่นตระหนก (panic buying) จนของหมดจากชั้นในร้านสะดวกซื้อ ก่อให้เกิดความลำบากกับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ เกิดการโก่งราคาสินค้า เกิดการแชร์ข้อมูลด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ด้วยความกลัว ความหวังดี ที่ไม่ได้ใช้วิจารณญาณก่อนแชร์

 

ที่ฮ่องกงมีการจัดการด้านอนามัยที่ดีในที่สาธารณะ เช่น มีพนักงานเดินเช็ดทำความสะอาดเสาจับรถไฟฟ้าทุกรอบ ตามตึกสูงมีแผ่นสติกเกอร์พลาสติกครอบปุ่มลิฟต์ที่เปลี่ยนใหม่ทุกชั่วโมง ทุกครั้งที่เข้าอาคารใหญ่และสนามบินจะมีน้ำยาเจลแอลกอฮอล์จากระบบเซนเซอร์อัตโนมัติ ก๊อกน้ำในห้องน้ำสาธารณะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติแทบทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องสัมผัสโดยไม่จำเป็น ทำให้ล้างมือได้ง่ายและบ่อยกว่าที่ไทยเสียอีก 

แต่ความหวาดหวั่นในโรคและความไม่มั่นใจก็ทำให้สายการบินฮ่องกงต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก ย่านธุรกิจร้านค้าเงียบเหงาว่างเปล่าผิดหูผิดตา สนามบินโล่ง เที่ยวบินต้องยกเลิก แขกเข้าพักในโรงแรมเหลือเพียงหลักหน่วย เพราะนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 99% เป็นตัวเลขที่รุนแรงชัดเจนมาก เชื่อว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคน่าจะได้รับผลกระทบหนักในปีนี้

สถานการณ์โกลาหลที่ขับเคลื่อนความกลัวและความแพนิกของมวลชนเช่นนี้เปิดโอกาสให้คนที่พร้อมจะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อขายบริการและสินค้าบางอย่างในราคาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จำเป็น หรือใช้สถานการณ์เพื่อสอดแทรก agenda ส่วนตัวลงไปในข้อความแห่งความกลัว ไม่ว่าจะสอดแทรกทัศนคติที่เหยียดเชื้อชาติ เหยียดประเทศ หวังผลทางการเมือง 

ข่าวสารข้อมูลอันมากมายที่ถาโถมเข้ามาให้เราสับสนอาจแยกเราจากข้อมูลสำคัญอันจำเป็น 

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การระวังตัวให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคร้าย หรือการระวังไม่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ส่งต่อข่าวปลอมให้แพร่ระบาดไปยังคนรอบตัวเรา 

ภูมิคุ้มกันต่อข่าวเท็จนั้นเราป้องกันได้เลย ณ ตอนนี้ เพียงแค่คิดพิจารณาให้ดีก่อนแชร์

 

 

อ้างอิง

cnbc.com

nytimes.com

pinterest.ch

technologyreview.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ