ปีนี้สอนให้รู้ว่า “เราควรใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาส” – กิตติ สิงหาปัด

Highlights

  • ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในวงการสื่ออย่างรวดเร็ว ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารที่ปิดตัวลงหลายหัว หรือสื่อโทรทัศน์หลายเจ้าที่มีการเลย์ออฟพนักงาน
  • ในโอกาสนี้ เราติดต่อขอพูดคุยกับ กิตติ สิงหาปัด นักข่าวผู้ยืนหยัดบนกระแสความเปลี่ยนแปลงในอาชีพนักข่าวมากว่า 30 ปี เขาบอกว่า ‘เราควรใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาส’ โดยที่ไม่ละทิ้งอุดมการณ์และปรัชญาในฐานะคนข่าวสายสาระ

เช่นเดียวกับทุกสิ่งที่ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี ช่วงปีสองปีที่ผ่านมาแวดวงสื่อสารมวลชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราได้ยินข่าวคราวการปิดตัวลงของนิตยสารหัวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งข่าวคราวการเลย์ออฟพนักงานข่าวหลายช่อง ดังเช่นกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมกับช่อง 3 ที่เลย์ออฟพนักงานเกือบร้อยคน

ซึ่งเมื่อข่าวการเลย์ออฟของช่อง 3 ออกสู่สาธารณะก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยน้ำหนักของการขยับตัวของสื่อเจ้าใหญ่ย่อมกระทบในวงกว้าง กระนั้นก็ไม่อาจสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของแวดวงสื่อโทรทัศน์ เพราะช่องข่าวหลายช่อง รายการข่าวหลายรายการ รวมถึงนักข่าวหลายคนก็ยังคงยืนหยัดท้าทายกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้

หนึ่งในนั้นคือ กิตติ สิงหาปัด แห่งรายการ ข่าว 3 มิติ ผู้ปักหลักอ่านข่าวในรายการข่าวว่าด้วยประเด็นทางสังคมที่ผู้คนให้ความสนใจ หรือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขในขณะนั้นมาเนิ่นนาน 

กิตติสละเวลามาพูดคุยกับเราในบ่ายวันหนึ่งที่ยังมีเวลาเหลือเฟือกว่าเขาจะต้องไปอ่านข่าว บทสนทนานั้นทำให้เรารู้ว่า ชีวิตของเขาขับเคลื่อนบนความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเปลี่ยนสายงานจากเซลส์ขายยามาสู่นักข่าวภาคสนาม การขยับขยายจากนักข่าวภาคสนามมาสู่ผู้ประกาศข่าว หรือกระทั่งการโยกย้ายจากช่องไอทีวีมาสู่ช่อง 3

“เราควรใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาส” เขาว่าอย่างนั้น พลางกำชับว่า แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนคือปรัชญาและอุดมการณ์ในการทำข่าวที่มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

กิตติ สิงหาปัด

ในฐานะคนที่เห็นทั้งการเลย์ออฟของไอทีวีเมื่อหลายปีก่อน และการเลย์ออฟในปีที่ผ่านมาของช่อง 3 คุณคิดว่าการเลย์ออฟ 2 ยุคนี้แตกต่างกันอย่างไร

มันคนละแบบกัน ตอนไอทีวีมันเกิดขึ้นเพราะช่องถูกรัฐบาลยึดไปเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ แต่เดิมไอทีวีเป็นเอกชน เมื่อไม่มีตัวบริษัทไอทีวีแล้ว กล่าวคือตัวบริษัทหยุดกิจการ เขาก็เลิกจ้าง เป็นธรรมชาติของกฎหมาย

ในแง่สภาพแวดล้อม ยุคนั้นโทรทัศน์มีแค่ 5-6 ช่อง พอคนถูกเลย์ออฟ ส่วนหนึ่งก็สมัครงานต่อเลย โอนมาเป็นพนักงานของช่องทีไอทีวีโดยกรมประชาสัมพันธ์ และอีกส่วนหนึ่งเขาก็สมัครทำงานที่อื่น สภาพแวดล้อมในวงการยังดีอยู่ ก็ไม่มีปัญหา

การเลย์ออฟในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 หรือที่อื่น เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตอนดำเนินธุรกิจดิจิทัล แต่ละช่องก็รับคนเข้ามาเยอะเพื่อขยายธุรกิจแบบเต็มที่ เอาคนมาทำงานให้เต็ม เมื่อธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาด ก็ต้องลดคนลงมาให้เท่ากับปริมาณงานที่มีอยู่

สำหรับช่อง 3 การเลย์ออฟในยุคนี้มี 2 ส่วน หนึ่ง คือพนักงานที่มีอายุเกิน 60 ปีซึ่งมีหลายสิบคน ช่อง 3 ไม่เคยมีระเบียบการนี้มาก่อน ปกติจะจ้างงานกันแบบตลอดชีพ และส่วนที่สอง คือกลุ่มพนักงานที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี แต่บริษัทคงคิดแล้วว่าต้องลดคนเลยเชิญกลุ่มนี้ออกส่วนหนึ่ง

ฉะนั้นการเลย์ออฟในช่วง 2 ยุคนี้ อาจจะเปรียบเทียบกันลำบากเพราะสถานการณ์มันคนละแบบกัน

กิตติ สิงหาปัด

จากการเลย์ออฟทั้ง 2 ยุค คุณได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง

ยุคไอทีวีมันเป็นการเลย์ออฟซึ่งไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อ ไม่ได้มีการปรับตัวอะไรเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้คือ ไม่ว่าอาชีพอะไรก็มีความไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่เป็นคัมภีร์สำหรับลูกจ้างไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม คือจงทำตัวให้เข้มแข็ง ในทีนี้หมายถึงต้องเป็นพนักงานที่ทำงานเก่ง ให้ตัวเองมีความสำคัญกับงานอยู่ตลอดเวลา ต่อให้มีการเลย์ออฟมันก็จะไม่มาถึงเรา ในกรณีที่การเลย์ออฟคิดเป็นสัดส่วน เช่น พนักงาน 100 คน ให้ออก 10 คน ยังไง 10 คนหลังก็ต้องออก เพราะฉะนั้น 90 คนที่เก่งในกระบวนการของบริษัทก็ต้องไม่ถูกไล่ออก

ส่วนการเลย์ออฟยุคนี้มันเกิดขึ้นในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อไม่ได้ขยายตัวและเติบโตเหมือนเมื่อก่อน เพราะมันมีสิ่งอื่นมาแย่งชิงงานออกไป ซึ่งถ้าคนทำงานโทรทัศน์รู้เรื่องพวกนี้ก็ต้องเพิ่มสมรรถภาพให้ตัวเอง ต้องมีความรู้ที่หลากหลายและทำได้หลายสื่อ เขียนหนังสือพิมพ์ได้ ทำทีวีได้ ทำวิดีโอ ทำบล็อกได้ ถึงจะอยู่รอด ที่สุดแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับความเก่งของแต่ละปัจเจกบุคคล บางคนที่ปรับตัวอยู่เสมอ ไม่ได้ถูกเลย์ออฟแต่ลาออกไปทำอย่างอื่นก่อนก็มี

กิตติ สิงหาปัด

นักข่าวต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

นักข่าวต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้สื่อไม่ได้มีน้อยเหมือนยุคเก่าที่ไม่ว่าจะทำอะไรคนก็ติดตาม เพราะหนังสือพิมพ์มีแค่ 3 ฉบับ ทีวีมีแค่ 4 ช่อง วิทยุมีไม่กี่คลื่น

ผมเคยทำวิทยุ ทำโทรทัศน์ทั้งรูปแบบรายการข่าวและสารคดี สิ่งที่ผ่านมาสอนผมว่าธุรกิจมันมีช่วงเฟื่องฟู ช่วงตกต่ำ เพราะฉะนั้นเราต้องหาที่ยืนของตัวเอง ตราบใดที่เรายังเข้มแข็ง ทำตัวให้มีคุณค่า มีคนติดตามเรา เราก็จะอยู่ได้ เพียงแต่มันอาจไม่หวือหวา ร่ำรวย หรือเติบโตมหาศาลแบบเมื่อก่อนที่มีทีวีไม่กี่ช่อง

สิ่งแรกที่นักข่าวต้องปรับตัวแน่นอนคือเรื่องเทคโนโลยี อันนี้เป็นธรรมชาติของทุกอาชีพ นักข่าวก็เช่นเดียวกัน อย่างเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานที่เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ สมัยก่อนเราใช้เทป เอาเทปมาใส่เครื่องตัดต่อ แล้วเอาเทปไปยัดออกอากาศ มาถึงยุคหนึ่งพอตัดต่อเสร็จแล้วสามารถ transfer เป็นไฟล์ดิจิทัลได้แล้วออกอากาศได้เลย จากนั้นก็เริ่มถ่ายมาเป็นการ์ด จนตอนนี้เอากล้องไปถ่ายข้างนอกแล้วออกอากาศสดได้เลย

อีกประเด็นของเทคโนโลยีคือเรื่องแพลตฟอร์ม เมื่อก่อนเราทำอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว พอมีสื่อในหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น เราก็ต้องคิดแล้วว่า เวลาผลิตงานชิ้นหนึ่ง นอกจากออกอากาศแบบโทรทัศน์แล้ว งานชิ้นนั้นมันต้องไปอยู่บนเว็บไซต์ อยู่บนโซเชียลมีเดียด้วย

นอกจากเรื่องเทคโนโลยี เราต้องปรับตัวในเชิงการแข่งขันกับสื่ออื่น ในกรณีที่เราทำข่าวที่คนอื่นทำด้วย เราต้องคอยดูว่า ประเด็นแบบนี้สื่อออนไลน์จะเสนอแบบไหน หนังสือพิมพ์จะเสนอแบบไหน แล้วของเราควรจะเพิ่มอะไรเข้าไป ซึ่งเวลาเลือกประเด็น ผมยึดแนวทางที่ว่า ผมจะไม่เล่นอะไรที่โซเชียลมีเดียเสนอกันมากๆ แล้ว เพราะในเมื่อคนรู้หมดแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำในสื่อของเรา แบบนี้ประโยชน์ต่อคนดูมันจะน้อย ผมจะทำประเด็นที่อยู่ในโซเชียลมีเดียแล้วก็ต่อเมื่อมันเป็นประเด็นที่อาจจะยังไม่เคลียร์ หรือเราต้องไปลงพื้นที่เพิ่มเติม สัมภาษณ์คนมาเพิ่มเติม เราต้องทำให้งานของเรามีคุณค่าเพียงพอที่คนจะดู

กิตติ สิงหาปัด

ข่าวที่มีคุณค่าเป็นแบบไหน

ข่าวที่มีประโยชน์ ข่าวที่ดีกับสาธารณะ ข่าวที่สร้างการเปลี่ยนแปลง เวลาเราทำข่าว เราอยากเป็นสื่อกลางในการช่วยคน อาจจะเป็นเคสเล็กๆ ไม่ใหญ่ แต่พอทำข่าวออกไปปุ๊บ พรุ่งนี้เขาได้รับการช่วยเหลือเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ไปช่วย ไปแก้ ไปสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งแปลว่าการทำข่าวของเรามันมีผล ไม่ใช่ทำข่าวไปแล้วล่องลอยในอากาศ ไม่มีการตอบสนองอะไรเลย

 

ถ้ามองในฐานะผู้ประกาศข่าว คุณอยากอ่านข่าวแบบไหนมากที่สุด

ถ้ามองในฐานะคนธรรมดาด้วย สิ่งที่ผมอยากตื่นขึ้นมาเจอมากที่สุดในแต่ละวันคือข่าวดี ผมไม่ได้อยากลีด ข่าว 3 มิติ ด้วยข่าวสึนามิที่อินโดนีเซียพัดถล่มคนตาย 200-300 คน ข่าวโรงงานนิวเคลียร์ระเบิด คนตายมหาศาล แม้ว่าข่าวเหล่านี้จะดีในแง่ของคุณค่าข่าวก็ตาม

อย่างพวกข่าว break through ในวงการต่างๆ เช่น ‘สวัสดีครับคุณผู้ชม วันนี้ขอรายงานท่านด้วยความดีใจว่านักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนี้ได้ค้นพบยารักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็งได้แล้ว’ ผมอยากเจอข่าวแบบนี้ตลอด แล้วถ้าเจอแหล่งข่าวที่ดีเราจะให้นักข่าวลงไปทำอย่างละเอียดเลย เพราะผมชอบข่าวลักษณะนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันเป็นข่าวดีที่คนอ่าน คนฟัง คนดูแล้วมีความสุข

กิตติ สิงหาปัด

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมารายการ ข่าว 3 มิติ เพิ่งจะครบรอบ 10 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

โดยปรัชญาและอุดมการณ์ไม่เปลี่ยน ในชีวิตที่ผมทำข่าวมา ผมทำข่าวในสายที่เรียกว่าสายสาระ สายข่าวหนัก ไม่ค่อยเล่นข่าวหวือหวา ข่าวประเด็นชาวบ้าน ข่าวพวกนั้นมีคนทำอยู่เยอะแล้ว นานๆ ผมถึงจะทำทีหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำ แล้วก็เน้นการทำข่าวเดี่ยว ข่าวฉีก ข่าวสืบสวนสอบสวน ผมจะเน้นข่าวแบบนี้ ข่าวที่ให้นักข่าวลงทำข่าวในภาคสนามเอง จะไม่เอาข่าวคนอื่นมาเขียน มายำ และจะไม่ใส่ความเห็น ไม่วิพากษ์วิจารณ์ เหล่านี้เป็นหลักของผม

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ผมก็ยังคงทำข่าวแบบนี้ แต่ที่เปลี่ยนก็เป็นเรื่องภูมิทัศน์สื่ออย่างที่คุยกันไป ซึ่งมันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ในแง่วิธีการทำงานง่ายขึ้นด้วยซ้ำ สมัยก่อนจะรายงานสดจากพื้นที่ต้องไปเช่าสัญญาณดาวเทียม แต่เดี๋ยวนี้เอาเครื่องส่ง streaming 4G ถือไปเครื่องหนึ่งเราก็ยืนออกอากาศได้เลย

กิตติ สิงหาปัด

อะไรที่ขับเคลื่อนชีวิตชีวิตนักข่าวของคุณมาตลอดสามสิบกว่าปี

อาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่เติบโตได้โดยไม่ต้องมีเส้นสาย ไม่ต้องมีระบบ ไม่ต้องมีซีต่างๆ แบบราชการ ผมเป็นเด็กชนบทแล้วยังเติบโตได้ในอาชีพนี้ อีกทั้งพอเราทำงานดี องค์กรและผู้ชมก็จะเห็นเอง ตั้งแต่ทำอาชีพนี้มาผมไม่เคยหยุด และกล้าพูดได้ว่าจากนักข่าวที่อ่านข่าว ณ ขณะนี้ในหน้าจอโทรทัศน์ ผมเป็นคนที่ทำอาชีพนี้ยาวนานที่สุด โดย 7 ปีก่อนหน้านี้ผมอ่าน ข่าว 3 มิติ ทุกวันจนกระทั่งเริ่มป่วยเลยขอหยุดวันเสาร์-อาทิตย์

ผมคิดว่าอาชีพนี้ให้ทั้งเป้าหมายชีวิตส่วนตัวและให้รายได้ทางเศรษฐกิจที่เราอยู่ได้ แล้วอาชีพนี้ก็มีส่วนช่วยสังคม พอผมเป็นที่รู้จักในอาชีพนี้ การช่วยเหลือคนอื่นก็ง่ายขึ้น ผมทำอาชีพนี้มาสามสิบกว่าปีไม่เคยรู้สึกว่า เฮ้ย วันจันทร์อีกแล้ว ข่าวมันกำหนดไม่ได้ว่าให้เกิดเวลาไหน แล้วผมก็ไม่มีความรู้สึกว่า มาทำงาน ตอกบัตร ถึงเวลาเลิกงาน เสาร์-อาทิตย์หยุด

สิ่งเหล่านี้มันหล่อเลี้ยงให้ผมอยู่ในอาชีพนี้มาอย่างยาวนาน หลายคนถามว่า ‘คุณจะเลิกอ่านข่าวเมื่อไหร่’ ผมก็ไม่รู้ ประกอบกับอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล เคยพูดว่า อาชีพของเราขึ้นอยู่กับความนิยมของประชาชน หมายความว่าการทำอาชีพสื่อมันขึ้นอยู่กับผู้ชมของเรา อย่างถ้าคุณทำสำนักพิมพ์แล้วคนไม่อ่าน คุณก็อยู่ไม่ได้ ต้องปิดสำนักพิมพ์ เช่นเดียวกัน คุณทำทีวีแล้วไม่มีคนดูก็ต้องปิดรายการ สิ่งนี้เป็นสัจธรรมเลย ถ้าประชาชนยังดูเราอยู่ เราก็ทำได้ยันแก่

กิตติ สิงหาปัด

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายในปีนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ในสภาวะที่อาชีพผมถูก disrupt อันดับแรกเราต้องรู้ว่า เราอยู่ตรงไหนขององคาพยพที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งการเพิ่มขึ้นของช่องโทรทัศน์ 20-30 ช่อง การที่โลกไร้สายมาสู่ยุค 4G 5G แปลว่าคนสามารถเสพสื่อได้หลายช่องทางอย่างรวดเร็วกว่าเดิม เราพยายามเกาะติดเทคโนโลยี แต่ก็รู้ว่าไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีพวกนี้ได้เลย เราเป็นคนทำข่าว คงไม่แข่งกับ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก หรือ บิล เกตส์ แต่เราต้องคิดว่า เราทำข่าวออกมา ยิ่งมีแพลตฟอร์มมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีประโยชน์ต่อพวกเราเท่านั้น แต่ก่อนคนดูข่าวผ่านโทรทัศน์อย่างเดียว ตอนนี้คนดูผ่านมือถือได้ ดูย้อนหลังก็ได้ และยังไปอยู่ช่องทางอื่นๆ อีก

ตราบใดถ้าเรายังคิดว่า งานของเราดี มีคุณค่าพอ เราควรใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นโอกาส ไม่ให้เป็นอุปสรรคของเรา แต่ขณะเดียวกันเราต้องดูว่าอะไรที่มันกระทบเรา เราต้องปรับตรงนั้น อย่าไปกลัว ผมเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีวิวัฒนาการ เรียนรู้และปรับตัว อาชีพสื่อมวลชนยังต้องเป็นอาชีพที่สำคัญกับสังคม ไม่ใช่ว่าใครมีมือถือแล้วถ่ายเหตุการณ์นั้นสังคมก็จะอยู่ได้ สมมติเหตุการณ์ไฟไหม้คนถ่ายรายงานสถานการณ์มาแล้วก็จบ อาจไม่ได้ใส่รายละเอียดว่ามีคนเสียชีวิตกี่คน ไฟไหม้โดยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ กระทั่งการโกงในโครงการต่างๆ เราจะรู้ได้อย่างไร ต้องมีสื่อมวลชนที่เข้าไปขุดคุ้ย หาความจริงมาบอก เป็นหมาเฝ้าบ้าน  

ผมเชื่อว่าไม่ว่าอาชีพไหนๆ ก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอด หาจุดแข็งและรักษาจุดยืนไว้ เพื่อให้คนที่ติดตามเราเขาเห็นคุณค่าเหล่านี้ รวมถึงการรักษาจรรยาบรรณที่จะทำให้เราอยู่ได้ดีในอาชีพของตัวเอง

กิตติ สิงหาปัด

คำถามสุดท้าย ความสุขของคุณในปีนี้คืออะไร

ในแง่อาชีพการงาน ผมมีความสุขที่ได้ทำงานในแนวทางที่ชอบ มันเป็นพื้นที่ที่เราสามารถอยู่สู้กับมันได้ แต่ความสุขเหนือกว่าสิ่งอื่นใดของผมในปีนี้ก็คือสุขภาพ ปีที่แล้วผมป่วย แต่ปีนี้กลับมาแข็งแรง กลับมาเตะบอล เล่นกีฬาได้ปกติ แล้วลูกคนโตก็เพิ่งเรียนจบ นั่นก็เป็นความสุขเหมือนกัน

PHOTOGRAPHER

จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต

ช่างภาพอิสระที่เชื่อในความธรรมดา และสนใจความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์