อนาคตที่ดูมืดมนของสื่อไทยกับพายุที่เพิ่งเริ่ม

Highlights

  • ข่าวการปลดพนักงานออกของสื่อเจ้าใหญ่ชวนให้เรากลับมาครุ่นคิดเรื่องอนาคตของสื่อไทยอีกครั้ง ในเมื่อการเพิ่มช่องทางออนไลน์ไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ไขได้ทุกอย่าง สื่อดั้งเดิมจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไรในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกวันๆ ทั้งจากสื่อออนไลน์เจ้าเล็กเจ้าใหญ่ และจากเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิล
  • ลึกไปกว่าสถานการณ์ในแวดวง อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการศึกษาด้านสื่อมวลชนในบ้านเรามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสร้างบุคลากรที่ปรับตัวได้เท่าทันยุคสมัยและผลิตผลงานที่มีคุณภาพมากพอแล้วหรือยัง เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญไปกว่าการอยู่รอดของสื่อก็คือการอยู่รอดของสังคมที่เสพสื่อเหล่านี้นั่นเอง

ข่าวการปลดพนักงานจากสื่อใหญ่ย่านพระราม 4 สร้างเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับที่มีการดูข้อมูลมากขึ้นแล้วพบว่ามูลค่าธุรกิจสื่อหลายรายลดลงอย่างต่อเนื่อง บางรายเรียกว่ามูลค่าหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในช่วงเวลาแค่ 4 ปีเท่านั้น นั่นยังไม่นับข่าวการปิดตัวช่องทีวีหรือนิตยสารที่หลายๆ คนคุ้นเคย การปลดพนักงานในสายอาชีพสื่อ ฯลฯ ซึ่งมันก็ไม่แปลกที่จะทำให้เกิดการพูดถึงว่าอนาคตของสื่อไทยจะเป็นอย่างไร จะไปรอดไหม รวมไปถึงการตั้งคำถามว่าการศึกษาเพื่อสร้างคนทำงานอาชีพสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ถ้าเราดูความเคลื่อนไหวของแวดวงสื่อต่างๆ นั้น การที่ผู้บริโภคหันไปเสพคอนเทนต์ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือยูทูบนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะก็เกิดขึ้นในทั่วโลก เรตติ้งของช่องทีวีต่างๆ ก็ลดลงเพราะคนดูกระจายไปใช้เวลากับช่องทางอื่นๆ แต่สิ่งที่สื่อไทยอาจจะเจอหนักกว่าคนอื่นก็คือการปรับตัวที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงประกอบกับปัญหาเชิงคุณภาพของสื่อที่สะสมกันมานาน

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเราก็เห็นการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้งในเรื่องคุณภาพรายการทีวีไทยหรือคุณภาพของการทำข่าวต่างๆ ว่าไม่มีการยกระดับ ไม่มีการพัฒนา เช่น รายการทีวีที่จำเจ เนื้อหาที่ดูซ้ำซาก พล็อตเรื่องที่ไม่น่าสนใจอาศัยแต่ขายดารา ส่วนข่าวก็เน้นเล่นกับกระแส พาดหัวข่าวแรงๆ หรือการทำข่าวที่ทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานวิชาชีพสื่อครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อเหล่านี้ ดูทีวีช่องเดิมๆ ที่เคยมี เรตติ้งและยอดจำหน่ายของสื่อที่เราวิจารณ์กันว่าไม่ได้คุณภาพจึงยังอยู่กันต่อไปได้ เม็ดเงินโฆษณาก็ยังไหลไปหาสื่อเหล่านี้อยู่ จนเกิดเป็นชุดความคิดว่า ทำแบบนี้แล้วขายได้

อย่างไรก็ตาม วิกฤติใหญ่เกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคอย่างเราๆ มีตัวเลือกถล่มทลายจากดิจิทัล ไม่ว่าจะบริการใหม่ๆ อย่าง Netflix ที่มาพร้อมกับซีรีส์และภาพยนตร์มากมายชนิดดูแทบไม่ทัน เพจมากมายบนเฟซบุ๊กที่มีคอนเทนต์น่าติดตาม แถมบางคนเขียนบทความดียิ่งกว่าคอลัมนิสต์ ถ่ายรูปสวยประหนึ่งช่างภาพอาชีพ ส่วนบนยูทูบก็มียูทูบเบอร์ที่ทำรายการได้สนุกยิ่งกว่ารายการทีวี ส่วนเรื่องข่าวต่างๆ นั้นก็ไปติดตามทางสื่อออนไลน์ดีกว่า เพราะเร็วกว่า หลากหลายกว่า แถมอาจจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การผูกขาดคนดูที่เคยมีมามันก็หายไป คนมีตัวเลือกมากขึ้นและมันก็ไม่แปลกที่คนจะเริ่มเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้กับตัวเอง ซึ่งผมคงไม่ต้องบอกหรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับงานที่ไม่ได้คุณภาพหรือคุณภาพด้อยกว่า

ผมมักพูดเสมอว่าไม่ใช่คนไทยไม่ดูทีวี ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ เพราะถ้ารายการทีวีดีเราก็ยินดีที่จะดู เหมือนที่เราดู บุพเพสันนิวาส จนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับประเทศ แต่คำถามน่าคิดคือทำไมเราไม่มีละครดีๆ ไม่มีรายการดีๆ ที่จะสามารถพยุงให้คนยังดูทีวีต่อไปได้อยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ถ้าเราดูบนโลกออนไลน์นั้นจะมีคอนเทนต์ดีๆ สับเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นกระแสอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากยังเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วนั้น มันก็คงยากที่สื่อดั้งเดิมจะรักษาฐานคนดูเอาไว้ได้

ซึ่งมันก็คงต้องกลับไปดูกันถึงระดับการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้วว่าหลักสูตรต่างๆ ที่มีในปัจจุบันนั้นจะสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและมีมุมมองในการทำสื่อที่มีคุณภาพเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ และถ้าหากวิชานิเทศศาสตร์ในปัจจุบันยังเรียนกันอยู่บนบริบทเดิมๆ วิธีคิดแบบเดิมๆ ด้วยแล้ว มันก็น่าห่วงว่าคนที่จบออกมาทำงานจะสามารถเอาตัวรอดในสงครามสื่อยุคนี้ได้หรือเปล่า

ทีนี้หลายคนก็มองว่าวันนี้หลายๆ สื่อมีการปรับตัวไปทำช่องทางออนไลน์มากขึ้น มีการโฟกัสธุรกิจไปทำเฟซบุ๊กเพจ ทำยูทูบแชนแนล แล้วก็พยายามหาทางปั้นตัวเลขต่างๆ นานาเพื่อไปขายโฆษณากับสปอนเซอร์ได้บ้างแล้ว ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นทางรอดที่พอจะเห็นและจับต้องได้ในวันนี้ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจสื่อสมัยก่อน แต่ก็ยังดีเสียกว่าไม่มีอะไรกลับมาเลย

แต่ก็นั่นเองที่หลายๆ องค์กรเริ่มมองเห็นว่าแม้จะทำช่องทางออนไลน์นั้นก็ใช่ว่าจะรอด เพราะเม็ดเงินสื่อที่มาทางออนไลน์ก็ไม่ได้มากพอจะครอบคลุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายเดิมที่มี แถมคู่แข่งที่แย่งเม็ดเงินโฆษณาวันนี้ก็มหาศาล ผู้ลงโฆษณาและสปอนเซอร์มีตัวเลือกมากมายในตลาด ยิ่งถ้าจะมองว่าคู่แข่งที่แท้จริงคือเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลซึ่งสามารถลงโฆษณาได้แม่นยำ เข้าถึงคนหมู่มากได้ บรรดาสื่อที่เคยขายโฆษณาก็คงต้องปาดเหงื่อกันอย่างหนัก

“สื่อจะรอดไหม?” คงเป็นคำถามใหญ่ของวงการสื่อ ไม่ใช่แค่กับสื่อดั้งเดิมซึ่งตอนนี้ดูจะร่อแร่เต็มทน เพราะแม้แต่สื่อออนไลน์เองก็จะเห็นว่ามีคนที่ดังเปรี้ยงแล้วก็หายวับไปอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น หนักขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าถามผมแล้ว ผมคิดว่าก็มีทั้งคนที่รอดและไม่รอด อยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้เร็วกว่ากัน มองเกมธุรกิจและสามารถขยับตัวได้ก่อน

แต่อย่างไรเสีย นอกจาก ‘สื่อรอด’ แล้ว สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญกว่าก็คือ ‘สังคมรอด’ เพราะถ้าหากสื่อต้องการรอดโดยทำทุกวิถีทางให้มีคนดู มีคนอ่าน มีคนตามแล้ว เราก็คงจะเห็นอะไรวุ่นๆ ในสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์เป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวข่าวที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ การขยี้ประเด็นที่ฉูดฉาด ไม่สนว่าจะสร้างสรรค์หรือไม่ จรรโลงสังคมหรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ต่อให้สื่อรอด (ชั่วคราว) สังคมเราก็จะตายไปเรื่อยๆ จากมะเร็งร้ายที่สื่อเหล่านี้ปล่อยออกมาให้นั่นเองล่ะครับ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer/ Illustrator สิ่งที่ชอบคือ ของต๊อง /หมา /Gin /Sample Sales และด้วง