ปีนี้สอนให้รู้ว่า “รางวัลเป็นแค่ความเห็น ไม่ใช่คำตัดสิน” – วีรพร นิติประภา

Highlights

  • ตอนแรกจากซีรีส์คอลัมน์พิเศษ 'ปีนี้สอนให้รู้ว่า' ขอประเดิมด้วยบทสนทนากับ วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ประเภทนวนิยายจากผลงาน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ
  • ปีนี้ของวีรพรเต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลายและคอลลาจไม่แพ้ผลงานของเธอ ตั้งแต่การขายตุ้มหู การเปิดเวิร์กช็อปการเขียน ไปจนถึงการได้ซีไรต์หนที่สองติดต่อกันในประเภทเดียวกัน
  • แม้จะดูยิ่งใหญ่ แต่วีรพรมองมันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสำหรับเธอ รางวัลเป็นเพียงความเห็น ไม่ใช่คำตัดสิน และชีวิตยังเต็มไปด้วยเรื่องอีกมากมายหลายสิ่งกว่านั้น

เชื่อว่าใครที่กดติดตามเฟซบุ๊กของวีรพร นิติประภา ย่อมจะเห็นตรงกันว่าปี 2018 ยังคงเป็นอีกหนึ่งปียุ่งๆ ของนักเขียนคนนี้

นับตั้งแต่ต้นปีที่เราเห็นเธอไปออกร้านขายตุ้มหูอยู่ตามงานอีเวนต์ต่างๆ จากนั้นไม่นานเราก็เห็นเธอประกาศเปิดเวิร์กช็อปการเขียนชื่อว่า ‘ประมาณเวิร์คช็อป’ ยิ่งพอมาถึงเดือนตุลาคม ไม่เพียงแต่วีรพรจะคว้ารางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายเป็นหนที่สองจาก พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ เท่านั้น หาก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายเล่มแรกของเธอยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย

ไหนๆ อีกไม่กี่วันก็จะพ้นปี เราคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะชวนวีรพรมานั่งพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตุ้มหู้ เวิร์กช็อป หรือดับเบิลซีไรต์

แหม่ม วีรพร นิติประภา

แหม่ม วีรพร นิติประภา

ตุ้มหูและเวิร์กช็อป

“จริงๆ ช่วงปลายปีที่แล้วเราเริ่มว่างพอจะมีเวลาเขียนเรื่องบ้าง แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัลอีกก็เลยลองทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ หลายคนมักจะถามเราว่า ทำไมเราถึงเขียนงานคอลลาจได้ ก็เพราะว่าเราทำงานแบบนี้มา เราอยู่กับการทำเครื่องประดับซึ่งเป็นงานอยู่แล้ว ตุ้มหูที่ทำไปขายก็มีที่ขายได้บ้างแต่ไม่ได้เทน้ำเทท่าอะไร ถือว่าทำสนุกๆ เพราะยอดขายหนังสือของเราก็ไม่ได้จะพอกิน” วีรพรเล่าเมื่อเราถามถึงเรื่องที่เธอไปขายตุ้มหูเมื่อช่วงต้นปี

“แล้วเราก็เริ่มคิดเรื่องเวิร์กช็อป คิดว่าถ้าได้มีคลาสก็คงดี เพราะเป็นความตั้งใจลับๆ ของเราตั้งแต่ที่เริ่มเขียนนิยายแล้วว่า เราอยากบอกว่าโลกนี้ยังมีวิธีคิดมากกว่าที่คุณคิดว่ามี ยังมีวิธีเขียนแบบอื่นๆ อยู่อีก โดยเฉพาะในประเทศนี้ที่ทุกอย่างซ้ำซากไปหมด คนทำงานอยู่ไม่กี่แบบ แต่งตัวอยู่ไม่กี่แนว คิดอยู่ไม่กี่อย่าง”

วีรพรอธิบายว่า เวิร์กช็อปการเขียนของเธอไม่ได้จัดขึ้นเพื่อจะเลกเชอร์ผู้เข้าร่วมว่าการเขียนที่ดีเป็นอย่างไร ควรจะเปิดเรื่องด้วยเทคนิคไหน หรืออธิบายสูตรสำเร็จของการเขียน แต่เป็นการให้พวกเขาได้มาพูดคุยกัน ได้มาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน

“การมานั่งบอกขั้นตอน หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า มันไม่ทำให้คนอยากเขียน เราเลยลองมานั่งถามตัวเองว่า แล้วอะไรล่ะทำให้เราสนุกที่จะเขียน มันคือคำถามเดียวกับว่า อะไรที่ทำให้เราอยากพูดหรืออยากโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กนั่นแหละ เพราะพื้นฐานมันคือบางครั้งเราก็ไม่อยากติดตายอยู่ในตัวเอง

“เราหวังว่าผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปจะได้รู้ว่ามันมีทางออกจากตัวเราอยู่ ซึ่งสำคัญนะ เพราะเรามักถูกสอนให้จมอยู่กับตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ดูจะจมดิ่งลงเรื่อยๆ ในความเพ้อเจ้อ ความโง่เง่า ความเศร้าของตัวเอง แต่ถ้าสมมติว่าคุณออกจากมันมาได้แล้วมองย้อนกลับไป คุณย่อมจะเห็นปัญหามากขึ้น เราพบว่าการเขียนถึงสิ่งที่พะวง เขียนถึงสิ่งที่เจ็บช้ำน้ำใจ สิ่งที่ไม่เข้าใจ เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการเขียน”

ด้วยเหตุนี้เวิร์กช็อปของวีรพรจึงกระตุ้นให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เข้าร่วม แต่เรื่องราวที่พูดคุยกันย่อมไม่ใช่เรื่องดินฟ้าอากาศทั่วไป เพราะคลาสนี้เปรียบเสมือนวิชาเปิดใจที่นักเรียนแต่ละคนจะได้หยิบฉวยปมปัญหาและบาดแผลในจิตใจมาเปิดเปลือยให้นักเรียนทุกคนในห้องได้รู้

“ถ้าคุณจะเป็นนักเขียน คุณต้องกล้าพอที่จะเปิดเปลือยตัวเอง คุณต้องกล้าพอจะบอกคนอื่นว่ากูเฮงซวยว่ะ กูโง่ว่ะ ชีวิตกูพลาดว่ะ นักเขียนที่ดีในความคิดเราคือนักเขียนที่สามารถยอมรับความงี่เง่าของชีวิตตัวเองได้ เพราะหาไม่แล้วเราจะเจอแต่งานเขียนเอาเท่และไม่เป็นธรรมชาติ นักเขียนส่วนใหญ่ไม่กล้าจะบอกว่า กูแม่งเพิ่งผ่านนรกมาสดๆ ร้อนๆ ว่ะ ไม่กล้ายอมรับความเป็นปุถุชนของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของการเป็นนักเขียนเลยนะ เพราะสำหรับเรา การทำงานเขียนคือการพูดถึงมนุษย์ในฐานะมนุษย์”

แหม่ม วีรพร นิติประภา

แหม่ม วีรพร นิติประภา

ดับเบิลซีไรต์ และ The Blind Earthworm in the Labyrinth

แม้วีรพรจะบอกว่าไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รางวัลซีไรต์อีกครั้งจากนวนิยายเล่มที่สอง ถึงอย่างนั้นเราก็อดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่า เธอจะไม่มีหวังกับ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ หน่อยเลยเหรอ 

“เราคิดว่าเราทำเต็มที่ ถามว่าควรค่าจะได้รางวัลไหม ก็คิดนะ แต่ไม่รู้ว่าคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่า เพราะมนุษย์ทุกคนคงเป็นอย่างนี้ พอถึงงานตัวเองก็จะ blind blind หน่อย จริงๆ เราค่อนข้างแน่ใจว่าเขาไม่น่าจะให้เราซ้ำ ถึงจะมีนักเขียนคนอื่นๆ ที่เคยได้ดับเบิลซีไรต์ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนจะได้สองซีไรต์ติดกันในประเภทเดียวกันแบบนี้

“เราคิดว่ากรรมการเองก็ลำบากใจไม่น้อย เพราะถ้าเราได้ก็ย่อมจะมีคำถามว่า หล่อนเพิ่งได้ไปรอบที่แล้วเองนะ ทำไมไม่ให้คนอื่นบ้าง ซึ่งการให้คนอื่นสำหรับเราก็ fair enough นะ สมมติเขาจะตัดเราออกจากรายชื่อไปเลยเพราะคิดว่าเพิ่งได้รางวัลไป และต่อให้เขาจะรู้สึกว่าเล่มที่สองของเราดีกว่าเล่มแรก เราก็คิดว่าแฟร์อยู่ดี สรุปสั้นๆ คือ เราไม่คิดว่าจะได้”

แต่แล้วในวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ก็ได้ประกาศให้ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายประจำปี 2561 เราถามวีรพรว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อรางวัลที่ไม่คิดว่าจะได้ กลับกลายเป็นของเธออีกครั้ง

“คือพอหนังสือเข้า shortlist เราก็ลุ้นอยู่แล้วแหละ แต่มันจะลุ้นแบบสองจิตสองใจว่าจะได้หรือไม่ได้ จะบอกตัวเองว่ากูคงไม่ได้มันก็ไม่เชื่อแล้ว แต่พอจะบอกว่ากูน่าจะได้ก็ไม่เชื่ออีก เราอยู่ในสภาวการณ์ที่แปลกประหลาดมาก

“ตอนที่นั่งรอเขาประกาศผล เรารู้สึกพิพักพิพ่วนและอยากอ้วก เราคิดในใจว่า ได้โปรดเถอะ คราวหน้าอย่าเป็นอย่างนี้อีก เราต้องทำหน้ายังไงวะ ในเมื่อมีนักเขียนที่นั่งอยู่ตรงนั้นอีกแต่ไม่ได้รางวัล เราต้องทำหน้าดีใจเหรอ หรือทำหน้าเฉยๆ คือถ้าเป็นนิยาย เราดีไซน์ไม่ถูกจริงๆ ว่าฉากนี้ตัวละครควรแสดงความรู้สึกยังไง”

แหม่ม วีรพร นิติประภา

บางคนอาจมองว่าการได้ชื่อเป็นนักเขียนสองซีไรต์ย่อมจะตอกย้ำว่าวีรพรเป็นนักเขียนมือฉกาจ แต่สำหรับสาวพังก์วัย 56 คนนี้กลับมองว่า รางวัลทางวรรณกรรมเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นหนึ่งเท่านั้น

“เรามักจะพูดกับหลายๆ คนในเวิร์กช็อปอยู่เสมอว่า รางวัลเป็นแค่ความเห็น ไม่ใช่คำตัดสิน มันไม่ได้ช่วยให้คุณทำงานดีขึ้น อย่าไปสนใจมาก ถ้าคุณเป็นพังก์ที่ไม่ยอมให้ใครตัดสินว่าคุณเลว คุณก็ต้องอย่าให้ใครตัดสินว่าคุณดี ยังไงก็แล้วแต่ สิ่งต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับงานชิ้นต่อไปของคุณอยู่ดี เราหวังว่าเราจะยังสนุกกับการเขียน การคิด และสามารถเขียนนิยายที่น่าพอใจออกมาได้ และยังเห็นว่ามีคนอ่านอยู่บ้าง”

วีรพรเล่าอย่างทีเล่นทีจริงว่า จริงๆ แล้วเธอตั้งใจจะเขียนนิยายแค่เล่มเดียวแล้วไปขายหมูปิ้งด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นลำพังแค่การเขียนนิยายได้ถึงสองเล่มจึงน่าตื่นเต้นมากพอแล้ว 

“ในหลายๆ แง่ รางวัลก็เหมือนกับการที่ใครสักคนมาแนะนำหนังสือให้คุณอ่าน คือเขาจะแนะนำจากสิ่งที่เขาเห็น ซึ่งมันเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน และมันอาจ mislead ก็ได้ 

“ได้รางวัลสองเล่มเราก็เฉยๆ นะ คือถ้าเขียนเล่มสามมาแล้วขายไม่ดี เราก็แค่ลองไปขายหมูปิ้ง (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้เกิดมาจะเป็นนักเขียนหรือนักอะไรทั้งนั้น เราไม่ได้คาบแล็ปท็อปออกมาจากท้องแม่ เราไม่รู้หรอกว่าข้างหน้าจะมีอะไรน่าสนใจกว่านี้ไหม เรายังอยากทำหนัง อยากทำเพลง หรือสักวันหนึ่งอาจลองเพนต์งานศิลปะดู ซึ่งเราก็อาจพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบงานเพนต์ก็ได้ เรายังเปิดพื้นที่ให้ตัวเองอยู่ ไม่คิดว่าจะต้องมานั่งปิดตายอยู่กับรางวัลซีไรต์ การเขียน หรืออะไรเลยด้วยซ้ำ”

แหม่ม วีรพร นิติประภา

แหม่ม วีรพร นิติประภา

พ้นไปจากรางวัลซีไรต์แล้ว ปีนี้ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายเล่มแรกของวีรพรยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Blind Earthworm in the Labyrinth ซึ่งถือเป็นอีกหมุดหมายที่น่าสนใจของงานวรรณกรรมไทย วีรพรยิ้มกว้างขณะเล่าถึงเรื่องนี้

“ผลตอบรับดีมากนะ แต่ทั้งนี้เพราะเครดิตของคุณก้อง (ก้อง ฤทธิ์ดี – ผู้แปล) แหละ เพราะพอเป็นฉบับแปล โดยเฉพาะกับงานที่มีความเฉพาะตัวสูง ถ้าเราไม่ได้คุณก้องช่วย อย่าว่าแต่จะมีคนอ่านแล้วชอบ-ไม่ชอบเลย แค่การจะถูกอ่านยังเป็นเรื่องยาก เพราะตัวเราและภาษาของเราไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ การมีคนมาช่วยให้สื่อสารออกไปได้จึงสำคัญ

“คุณก้องเคยถามเรานะว่า ระหว่างที่เขียนไม่คิดเลยเหรอว่านวนิยายจะได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ (หัวเราะ) เพราะงานของเรา นอกจากจะมีเรื่องของน้ำเสียงแล้ว ยังมีความสวิงสวายเต็มไปหมด แต่คุณก้องเก็บมู้ดและฟีลในนวนิยายของเราไว้ได้ ซึ่งจริงๆ เรา concern เรื่องที่นักแปลจะสามารถเก็บน้ำเสียงของต้นฉบับไว้ได้น้อยมากเลยนะ ตราบเท่าที่มันเมคเซนส์ เพราะแม้แต่งานแปลฝรั่งมาเป็นไทยหลายๆ เล่ม คุณก็อย่าคิดว่าในภาษาเดิม เขาจะเขียนอย่างที่คุณได้อ่านจริงๆ”

แหม่ม วีรพร นิติประภา

Veeraporn is Happy, Veeraporn is Happy 

ทั้งการไปเป็นแม่ค้าขายตุ้มหู จัดเวิร์กช็อปการเขียน ได้รางวัลซีไรต์อีกครั้ง รวมถึงนิยายเล่มแรกได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราพบว่าปี 2018 ของวีรพรก็สุดแสนจะคอลลาจไม่แพ้งานเขียนของเธอ 

“แฮปปี้กับปีนี้ไหม” เราถามไปอย่างง่ายๆ วีรพรหัวเราะก่อนจะตอบคำถามด้วยน้ำเสียงสดใส

“ถ้าคุณอายุเท่าเรา คุณจะแฮปปี้ทุกปีแหละตราบที่ยังหายใจได้ บอกกงๆ เพราะอาจมีบางปีที่ อ้าว หยุดหายใจเสียแล้วว่ะ คนแก่นะ (หัวเราะ) เราแฮปปี้กับหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้ เพียงแต่มันดูจะเกิดขึ้นช่วงปลายปีมากกว่าต้นปีน่ะ อย่างพอได้ซีไรต์รอบสอง เราคิดว่าคนคงจะไม่อะไรกับเรามาก ที่ไหนได้ ก็ค่อนข้างชุกอยู่ แต่เราก็คิดว่าเป็นหน้าที่นะเพราะกรรมการเขาอุตส่าห์ให้รางวัล หรือยังมีคนที่อยากอ่านหนังสือเรา อยากรู้ว่าเราคิดอะไร อย่างที่คุณมาสัมภาษณ์เราอยู่นี้ ถ้าสมมติว่าปล่อยไปแล้วไม่มีใครอ่าน เขาก็คงเลิกจ้างให้คุณมาสัมภาษณ์เราไปเอง (หัวเราะ) แต่ถ้ายังมีคนมาสัมภาษณ์เรา นั่นแปลว่าเราคงจะยังอยู่ในความสนใจ

“เรายังสนุกกับการเขียน มันยังมีความเป็นไปได้ของการเลี้ยงดูตัวเองและยึดเป็นอาชีพได้อยู่ เทียบกับพวกคุณที่ยังต้องทำงานออฟฟิศ เราสบายกว่ามาก เราคิดว่าตัวเองโชคดีนะ เพราะคนส่วนใหญ่ในวัยห้าสิบมักจะไม่รู้ว่าจะทำอะไร แอ๊วผู้ชายก็ไม่อยากแอ๊ว หนังก็ไม่อยากดู ข้าวก็กินมาหมดทุกร้านแล้ว mid-life crisis จริงๆ แต่เรากลับพบว่ามีสิ่งที่อยากทำเยอะแยะไปหมด ตอนนี้เรามีโปรเจกต์เต็มหัวไปหมด” วีรพรยิ้มก่อนจะขอตัวไปสูบบุหรี่ข้างนอกร้าน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย