Locall Thailand แพลตฟอร์มเดลิเวอรีโดยชุมชน เพื่อชุมชน จากประตูผีสู่พื้นที่อื่นทั่วไทย

Highlights

  • Locall Thailand คือแพลตฟอร์มที่ทีม SATARANA คิดขึ้นเพื่อช่วยให้ตัวเองพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ในยามที่ปิดประเทศ ไร้นักท่องเที่ยวเข้าพักใน Once Again Hostel พวกเขายังทำตามคอนเซปต์เดิมคือทำงานเพื่อชุมชน
  • ในวันนี้ที่ 'บริการเดลิเวอรี ส่งทุกสิ่งจากชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน' เติบโตขึ้นจากย่านประตูผี ขยายต่อไปยังย่านอื่นๆ ตามไปบุกฐานทัพของ Locall นางลิ้นจี่ คุยกับ พลอย–เพียงพลอย จิตรปิยธรรม และ พี–รวมพร ถาวรอธิวาสน์

พลอย–เพียงพลอย จิตรปิยธรรม ทำงานอยู่ในทีม SATARANA หรือเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเมืองในระดับนโยบาย พวกเขาทำงานกับชุมชน สนใจความเป็นชุมชนในแง่ที่อยากให้คนตัวเล็กๆ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและเลือกใช้ชีวิตตามวิถีและความคิดความเชื่อของตัวเอง 

SATARANA อยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับหน่วยงานที่มุ่งมั่นทำงานตามแนวทางธุรกิจเกื้อกูล (inclusive business) คือทำงานอย่างเป็นมิตรและใกล้ชิดกับชุมชน ได้แก่ Once Again Hostel โฮสเทลในซอยสำราญราษฎร์, Trawell องค์กรที่ดึงเอาศักยภาพของการท่องเที่ยวมาผสมกับโอกาสในการพัฒนาเมือง หรือกระทั่ง MAYDAY! กลุ่มคนผู้หมายมุ่งปรับปรุงและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Once Again Hostel ที่ถือเป็นธุรกิจหลักได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก พวกเขาจึงต้องหาทางหนีทีไล่ ผุดธุรกิจใหม่ แต่ยังคงหัวใจสำคัญของตัวเองเอาไว้ เกิดเป็น Locall Thailand แพลตฟอร์มขนส่งอาหารแบบกึ่งแอนะล็อกที่อาสาเป็นตัวกลางรับสั่งอาหารจากร้านค้าเล็กๆ ย่านเสาชิงช้าและประตูผีผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์หรือสายโทรศัพท์ แล้วประสานให้พนักงานและคนในย่านไปซื้อและไปส่งถึงมือลูกค้า เพื่อให้ทุกคนยังมีรายได้จุนเจือแม้ในยามล็อกดาวน์

ภายในเวลาสั้นๆ พวกเขาได้พิสูจน์ให้ใครต่อใครเห็นข้อดีของการก้าวเดินฝ่าวิกฤตไปพร้อมกันกับชุมชน จากจุดตั้งต้นที่ย่านประตูผี บริการเดลิเวอรีรับ-ส่งทุกสิ่งจากชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน จึงขยับขยายออกไปยังหลากหลายย่านทั่วกรุงเทพฯ เช่น เยาวราช นางลิ้นจี่ ตลาดพลู ราชพฤกษ์ และคลองเตย แถมยังเดินทางออกไปสู่ต่างจังหวัดอย่างเชียงใหม่และสระบุรีอีกต่างหาก

ฟังพลอยเล่าถึงเรื่องราวของแพลตฟอร์มที่ว่านี้ พร้อมตามเธอไปนางลิ้นจี่เพื่อทำความรู้จักกับ พี–รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ผู้หยิบยืมแนวคิดและวิถีปฏิบัติของ Locall ไปปรับใช้ในย่านของตัวเอง

 

01 เมื่อการเปลี่ยนแปลงเคาะประตู จงคิดถึงสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี

เหมือนกับหลายๆ ธุรกิจที่เริ่มจับสัญญาณได้ว่าโควิด-19 คงส่งผลกระทบมาถึงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ธุรกิจที่พักอย่าง Once Again Hostel เองก็หนีไม่พ้น ช่วงสามเดือนก่อนล็อกดาวน์มีสัญญาณให้เห็นจากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจองห้องพักจากหลักร้อยกลับลดลงเหลือแค่หลักหน่วย ยอดผู้ติดเชื้อจากประเทศที่เป็นท็อป 5 ของแขกที่มาเข้าพักเริ่มพุ่งสูงขึ้น แล้วไหนจะข่าวว่าจะปิดหรือไม่ปิดประเทศที่เริ่มได้ยินจนหนาหู

เหมือนเป็นสัญญาณที่บอกอยู่แล้วว่ายังไงก็คงโดนโควิด-19 ซัดแน่ๆ แค่จะโดนยังไงและเมื่อไหร่ 

“เรามองว่าเราต้องรอดก่อนเหมือนกัน แต่ด้วยบรรยากาศรอบตัวและงานที่ทำมามันทำให้เรามองคนอื่นเร็วขึ้น ช่วงนั้นเราเริ่มเห็นว่าคนที่ทำอะไรได้ดีก็จะเอาสิ่งนั้นมาทำเพื่อคนอื่นไม่มากก็น้อย คนไหนมีเงินก็ใช้วิธีบริจาค คนไหนหาพาร์ตเนอร์เก่งก็เริ่มดีลสิ่งของไปช่วยเหลือคนอื่น เราเองก็เริ่มคิดจากสเตปแบบนั้น คือหาว่าทีมสาธารณะทำอะไรได้ดี”

ก่อนหน้านี้สิ่งที่พลอยและทีมทำได้ดีคือ การเป็นเจ้าบ้านที่ดียามนักท่องเที่ยวมาพักที่ Once Again Hostel พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงรีเซปชั่น แต่ยังคอยแนะนำให้แขกที่มาพักได้ใช้ชีวิตในย่านประตูผีอย่างสนุกสนานและคุ้มค่าแก่เวลา เมื่อมองเห็นจุดแข็งที่ตัวเองและทีมทำมาตลอด พลอยจึงคิดว่าทำไมถึงต้องหยุดทำสิ่งเหล่านั้นเพียงเพราะเจอโควิด-19 หรือเพียงเพราะไม่มีแขกมาพักในช่วงนี้ 

เธอจึงเปลี่ยนที่พักให้เป็นฐานทัพของ Locall เปลี่ยนพนักงานรีเซปชั่นให้เป็นทีมงานหลังบ้าน เขียนคอนเทนต์แนะนำย่าน ประสานงานกับลูกค้า เดินไปสั่งอาหาร และช่วยเตรียมอาหารสำหรับจัดส่ง 

“จริงๆ แล้วสายป่านเราก็ไม่ได้ยาวนะ” พลอยย้อนนึกถึงตัวเองในตอนนั้น “แต่วินาทีที่รู้ว่าสายป่านเราไม่ยาว เราก็รู้ทันทีว่าขนาดเรายังเป็นอย่างนี้ แล้วคนอื่นๆ ล่ะ น้องในทีม ป้ารถเข็นร้านข้างๆ ในเมื่อสายป่านเราน่าจะยาวกว่าพวกเขา มันเลยต้องพากันไป เป็นเพราะเราทำงานกับชุมชนมา เรารู้ว่าตัวละครในชีวิตเรามีชุมชนอยู่ในนั้น เราเลยคิดถึงเขาไปด้วยโดยอัตโนมัติว่าจะรอดไปด้วยกันได้ยังไง”

พลอยบอกด้วยว่าสุดท้ายแล้วงานที่เธอกับทีมทำก็เป็นงานเดิมนั่นแหละ “ก่อนหน้านี้เราแนะนำให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวชุมชน แต่ในวันนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปเราก็แนะนำให้คนนอกชุมชนรู้จักกับของดีในชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว ทำให้ทุกคนอยู่กันได้ มันเลยออกมาเป็น Locall” 

 

02 สิ่งที่ดูเผินๆ คล้ายเป็นปัญหาอาจเป็นเสน่ห์ก็ได้

อาจด้วยวิธีการทำงานแบบกึ่งแอนะล็อกที่มีคนมาเกี่ยวข้องแทบทุกกระบวนการของ Locall นั้นต่างไปจากระบบเดลิเวอรีเจ้าอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด การรับออร์เดอร์ทางไลน์ สั่งอาหารทางโทรศัพท์ และให้วินมอเตอร์ไซค์รับและนำส่งให้คนในแต่ละพื้นที่ จึงเป็น 3 เสาหลักที่เป็นหัวใจในการดำเนินงานที่ย่านไหนๆ ก็เอาไปทำต่อได้ 

ถึงพลอยจะบอกเสมอว่าสิ่งที่เธอและทีมคิดและเริ่มต้นทำมาจนวันนี้จะยังไม่พร้อมดีนัก แต่แพลตฟอร์มที่พวกเขามีเวลาคิดเพียงแค่ 7 วันในตอนนั้นก็ขยับขยายไปไกล มีหลากหลายคนติดต่อขอนำไปทำต่อ  

หนึ่งในนั้นคือพี เจ้าของบริษัทเอเจนซีอย่าง ‘ติโตติโต’ ที่รับไอเดียของทีมสาธารณะมาทำต่อในย่านของตัวเองตั้งแต่วันที่ Locall ประตูผียังเพิ่งตั้งไข่ ไร้ผลลัพธ์ช่วยยืนยันความสำเร็จ แต่เพราะเธอรู้จักกับศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ก่อตั้ง Once Again Hostel และเคยเห็นผลงานการทำเพื่อชุมชนของทีมสาธารณะมาก่อนแล้ว เธอจึงขอร่วมด้วยโดยไม่ลังเล

“ตอนที่รับ Locall มาทำเราไม่ได้คิดถึงชุมชนก่อน เราคิดถึงคนของเรา” พีเล่าย้อนด้วยท่าทีสบายๆ 

โควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจที่พัก แต่เอเจนซีของพีก็ถูกลูกค้าสั่งพักงานเกือบทั้งหมด ในยามที่บริษัทไร้งาน นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นว่าจะเดินไปด้วยกันต่อ ไม่ลดเงินเดือน ไม่ไล่ออกจากงาน หัวหน้าอย่างเธอจึงต้องพยายามไม่ให้ลูกน้องอยู่ในสภาวะผักหรือไม่มีอะไรทำ

แม้บริการเดลิเวอรีจะไม่ใช่สิ่งที่เธอและทีมถนัด แถมยังไม่เคยลงชุมชนหรือคลุกคลีกับย่านนางลิ้นจี่เลยสักนิด เพราะเพิ่งย้ายออฟฟิศมาตั้งที่นี่ได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น แต่พีมองว่าการทำ Locall ยังทำให้ทีมได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเก่า จากเดิมที่ครีเอทีฟเคยทำงานด้านดีไซน์ก็ได้ลองเปลี่ยนมาเขียนคอนเทนต์ โดยหาจุดน่าสนใจภายในย่านแล้วถ่ายทอดออกมา โปรดิวเซอร์ที่เคยจัดการปัญหาเฉพาะหน้าก็ผันตัวไปเป็นแอดมินที่คอยตอบคำถามลูกค้า รวมทั้งจัดการปัญหาในการรับ-ส่ง ไรเดอร์ก็มาจากเมสเซนเจอร์ของบริษัทและสามีของพนักงานที่ตกงาน อีกทั้งยังมีพนักงานเสิร์ฟจากคอมมิวนิตี้มอลล์ข้างๆ ที่ตกงานมาเป็นกำลังเสริม จากที่ไม่เคยรู้จักนางลิ้นจี่มาก่อน ทั้งทีมจึงได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น 

“เมื่อก่อนเราเก่งแค่แถวซอยออฟฟิศ เรารู้ว่าข้างหน้าซอยมีป้าสายที่ขายจิ้มจุ่ม คอหมูย่าง แต่เราไม่เคยไปเดินดูย่านนางลิ้นจี่แบบจริงๆ จังๆ การทำ Locall เลยเป็นครั้งแรกที่เราได้รู้ว่าย่านเราสุดยอด มีของกินหลากหลาย ทั้งสตรีทฟู้ดไทย จีน ไปจนถึงอาหารฝรั่งแบบโฮมเมด มีสวนสาธารณะ มีศิลปินเยอะมาก เราเลยได้รู้ว่าย่านเราสนุกมาก และจะเอาความชิคของย่านเรานี่แหละมาเป็นจุดเด่น” พีหัวเราะ

“สิ่งนี้เป็นเสน่ห์ของ Locall เหมือนกันคือ แต่ละย่านมีจุดเด่นที่แตกต่างออกไป ไม่ซ้ำกัน คอนเทนต์ของแต่ละย่านก็เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากสื่ออื่น เหมือนกอสซิปที่มาจากคนที่รู้เรื่องราวของย่านนั้นจริงๆ เพราะอยู่ที่นั่นเขาจึงรู้ดีกว่าใครว่าอะไรอร่อย รู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละร้าน” พลอยที่นั่งฟังอยู่ช่วยเสริมความพิเศษ

“การทำ Locall ทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราอาจเคยกินอาหารที่ร้าน แต่ตอนนี้เราได้รู้จักเจ้าของร้าน รู้จักประวัติ ได้รู้เรื่องราวในมุมที่เราไม่เคยรู้จัก โควิดทำให้เราห่างกัน แต่พอทำ Locall เรากลับยิ่งใกล้กัน ได้เห็นหน้า ได้รู้จักชีวิตคนคนหนึ่งมากยิ่งขึ้น เราเป็นคนจากที่อื่นก็จริง แต่ทุกวันนี้เราได้เป็นลูกเป็นหลานของคนในย่าน มันเป็นความภาคภูมิใจที่เวลาไปร้านใครแล้วเขาจำเราได้ เหมือนที่พี่พีบอก เมื่อก่อนเราเก่งในซอย แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเก่งในย่านกันแล้ว”

นอกจากความแตกต่างของแต่ละย่านที่ถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว เสน่ห์อีกอย่างที่สัมผัสได้จากการใช้ Locall ไม่ว่าในย่านไหนๆ ก็คือการทำงานที่มีมนุษย์มาเกี่ยวข้องในแทบทุกกระบวนการ แถมยังเป็นการทำงานแบบลุงๆ ป้าๆ แถวบ้านที่บางคนอาจมองว่าเป็นปัญหา แต่ทั้งพลอยและพีมองเป็นความน่ารัก พวกเธอยกตัวอย่างเรื่องชวนหัวให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นป้าที่ขอไปยืดเส้นก่อนทำกับข้าว ป้ายำแหนมที่หายไปจากจุดจอดประจำจนต้องโทรไปแคนเซิลลูกค้า หรือตอนที่โทรตามป้าคนหนึ่งอยู่นานกว่าจะโทรติด แต่คนรับกลับเป็นหลานที่กำลังดูการ์ตูนอยู่

“หลายคนอาจเคยชินว่าระบบเดลิเวอรีจะมีความเป็นโรบอต ทุกอย่างต้องเป๊ะไปหมด แต่พอมาเจอความลุงความป้าเข้าไปความโกรธทั้งหมดทั้งมวลของลูกค้ามันเลยหายไป เพราะเขาสามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตเขาได้ว่าเคยเจอแบบนี้เหมือนกัน เคยขับรถไปหน้าร้านแล้วเจอว่าวันนี้ร้านปิด บางปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Locall คือสิ่งเหล่านี้ที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราก็ดีใจที่พอ Locall ขยายไปหลายๆ ย่าน ทำให้มีคนได้รับรู้ ได้เห็นเสน่ห์ตรงนี้เพิ่มขึ้น และเขาคงช่วยส่งเสน่ห์พวกนี้ไปให้คนอื่นอีกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

 

03 ลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ เพราะนั่นอาจหมายถึงความเป็นไปได้ในรูปแบบอื่นๆ

แม้ก่อนหน้านี้เราจะบอกว่า Locall เป็นแพลตฟอร์มที่ย่านอื่นๆ สามารถนำไปเริ่มทำได้ง่ายๆ แต่ถึงอย่างนั้นการทำ Locall ก็ไม่เหมือนกับการทำแฟรนไชส์ที่พอพีบอกว่าเอาด้วยก็ได้รับเฟรมเวิร์กทุกอย่างไป แล้วลงมือทำได้เลย มุมหนึ่งคือพีรับเอาปัญหาไปด้วย ไม่เฉพาะด้านการทำงาน แต่เป็นปัญหาเชิงสังคมในแง่กระบวนการเติบโตของย่าน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาก่อนแล้ว 

“โมเดลของ Locall สนับสนุนให้แต่ละย่านเป็นคนบริหารย่านของตัวเอง เพราะปัญหาของแต่ละย่านอยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน” พลอยอธิบาย “เราบอกวิธีการได้แค่คร่าวๆ บอกได้ว่ารูปแบบของ Locall คือมีหนึ่งธุรกิจในย่านมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน มีร้านค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์คอยรับส่ง เหมือนเราเป็นแค่โครงสร้างของบ้าน แต่ระบบข้างในจะเป็นแบบไหน เราเปิดกว้างให้ลองทำ ลองแก้ปัญหา ลองสนับสนุนการเติบโตของย่าน ในรูปแบบของเขาเอง”

พลอยยอมรับว่าก่อนหน้านี้เธอเคยคิคว่าจะส่งต่อโมเดล Locall ให้กับผู้ที่มีเจตจำนงในการทำงานเพื่อชุมชนเท่านั้น เพราะเธอเคยทำงานกับชุมชนที่แข็งแรง มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยากใช้โมเดล Locall สร้างรายได้ให้กับทุกคนในชุมชนจริงๆ แต่พอได้ลองเปิดใจทำงานกับคนที่มีแนวคิดเชิงธุรกิจนำ พลอยถึงได้เข้าใจว่าการเปิดพื้นที่ให้คนที่เคยโฟกัสแค่การทำธุรกิจได้หันมามองเรื่องชุมชนเพิ่มขึ้นก็นับเป็นเรื่องดี จากสองมุมมองนี้เธอจึงตกผลึกได้ว่า การบริหารจัดการ Locall นั้นไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรตายตัว

เพราะเท่าที่คุยกันมาสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาอย่าง Locall ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ไม่ว่าจะกับย่านที่เป็นจุดเริ่มต้นอย่างประตูผี หรือย่านใหม่ที่รับแนวคิดมาทำอย่างนางลิ้นจี่ พวกเธอและทีมต้องพร้อมปรับตัว พร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหลากหลายอย่าง จนเรานึกสงสัยว่าทำไมทั้งคู่ต้องยอมเหนื่อยกับสิ่งนี้ขนาดนั้น

พลอยนิ่งคิดสักพักก่อนบอกเราว่าในแง่ของการทำธุรกิจ การทำให้ย่านกลับมาแข็งแรงอาจหมายความว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ เธอจะยังสามารถทำธุรกิจได้ดังเดิม และเสน่ห์ของย่านก็จะยังคงอยู่เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง และพลอยมองว่าย่านคือที่ที่ต้องใช้ชีวิต การได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงย่านที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นก็หมายถึงการเพิ่มโอกาสต่างๆ หมายถึงคุณภาพชีวิตคนที่ดีขึ้น หมายถึงความปลอดภัยที่มากขึ้น  

“ต่อให้มองแค่ในมุมของตัวเองก็เห็นเหตุผลที่ทุกคนควรพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยเต็มไปหมดแล้ว แต่ถ้ามองไปไกลกว่านั้น ในฐานะที่จบเอกประวัติศาสตร์เรารู้สึกเสียดายอะไรหลายๆ อย่างในประวัติศาสตร์ที่ตอนนี้มันหายไปแล้ว เราไม่อยากเสียดายว่าทำไมวันนั้นถึงไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เราอยากบอกกับตัวเองได้ว่าเราทำเต็มที่กับทุกอย่างเท่าที่เราทำได้แล้ว” 

ส่วนพีเล่ามุมมองของคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ว่า “เศรษฐกิจควรจะต้องหมุนเวียนไป มีการจ้างงาน มีการซื้อ-ขาย มีการทำงานในย่าน เรามองว่าสิ่งที่ Locall ทำคือการกระจายความช่วยเหลือให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง หมุนเวียนเศรษฐกิจในย่านให้มีความสมดุล เศรษฐกิจส่งผลต่อสังคมและความปลอดภัย ทุกอย่างที่เราทำมันกลับไปที่ระบบเศรษฐกิจ ถ้าย่านเราดี เราทำงานในย่านได้อย่างครบวงจร มันก็น่าจะลดปัญหาทั้งเรื่องการตกงาน การว่างงาน และการเกิดอาชญากรรม

“ย่านเป็นหน่วยที่มีขนาดกำลังพอเหมาะพอดี เราเริ่มสร้างวัฒนธรรมหลายๆ อย่างในย่านได้ สิ่งที่เราทำเป็นต้นแบบที่เราเชื่อว่ามีแรงกระเพื่อมมากพอ สามารถเป็นตัวอย่างให้คนอื่นทำตามและพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต ตอนนี้มันอาจเป็นแค่ไอเดียแรก แต่หลังจากนี้ถ้าใครอยากนำไปพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่เราก็ยินดี เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าพวกเราช่วยกันใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาเมืองได้” 

 

04 แม้จะทำดีแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อทุกวัน

ในวันนี้นอกจากความสำเร็จที่เห็นได้ชัดจากคนใกล้ตัว อย่างน้องๆ ในทีมที่ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ ได้เรียนรู้และเติบโตจากการลองผิดลองถูก การได้ช่วยเหลือแต่ละย่านก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่พลอยและพีภูมิใจอย่างมาก แต่แน่นอนว่าพวกเธอจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้

“แม้เราจะได้เห็นแล้วว่า Locall เป็นเครื่องมือในการกระจายอำนาจสู่ย่านได้จริงๆ และเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่อยากทำงานเพื่อชุมชน แต่ปลายทางสุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องพิสูจน์กันต่อว่ามันจะยั่งยืนไหม คุณภาพของย่านและการบริการทั้งหมดตอบโจทย์ลูกค้าจริงหรือเปล่า เหล่านี้คือความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ เราไม่อยากให้คนใช้ Locall เพราะสงสาร แต่เราอยากให้พวกเขาใช้เพราะมันเป็นบริการที่ดี ทุกอย่างเลยต้องพัฒนาทุกวัน” พลอยแชร์เป้าหมายข้างหน้าโดยมีพีช่วยเสริม

“ถ้าวัดความยั่งยืนจากตัวเงินเพียงอย่างเดียว เราเองก็บอกไม่ได้ว่าต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะยั่งยืน ถึงจะบอกว่าสุดยอดแล้ว แต่เราวัดความยั่งยืนจากความพอใจของพวกเราในตอนนี้ เราเหนื่อยประมาณนี้แล้วเราโอเค ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทุกคนอยู่ได้ มีความสุข มีเงินซื้อข้าวให้ลูก มีเงินให้พ่อแม่ ภาพความยั่งยืนของเราเป็นประมาณนี้”

ทุกวันนี้พลอยและพีจึงมองว่าการทำ Locall นั้นมีแต่ได้กับได้ ทั้งได้ช่วยคนอื่น ได้ช่วยตัวเอง ได้ทำอะไรสนุกๆ ที่ปกติคงไม่ได้ทำ ได้ผ่านโควิด-19 ไปแบบหัวซุกหัวซุน

ถึงโควิด-19 จะทำให้เห็นแล้วว่าเราไม่อาจคาดเดาอนาคตได้เลย แต่สิ่งที่พลอยและพีมั่นใจคือต่อให้ภายภาคหน้ามีอะไรเข้ามาเขย่าให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงอีก พวกเธอและทีมก็จะก้าวผ่านทุกอุปสรรคไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!